บทความพิเศษ
เรื่อง : นวธรรมและคณะนักวิจัย DIRI
หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ
(ตอนที่ ๔๔)
สมาธิราชสูตรกับคำสอนของพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ
นับตั้งแต่ปีใหม่มานี้ พวกเราซึ่งเป็นลูกศิษย์หลานศิษย์ของมหาปูชนียาจารย์ คือพระเดชพระคุณหลวงปู่ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ครูผู้ค้นพบวิชชาธรรมกายนั้น ก็ได้สั่งสมบุญสร้างบารมีกันมาอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมตักบาตรปีใหม่กิจกรรมธรรมยาตรา และเมื่อล่วงเข้าในเดือนกุมภาพันธ์ก็เป็นเดือนที่ระลึกถึงพระคุณของมหาปูชนียาจารย์ (๓ กุมภาพันธ์) และมีวันสำคัญคือวันมาฆบูชา (ปีนี้ครบรอบปีที่ ๔๙ ของวัดพระธรรมกาย) วันที่ระลึกถึงการประชุมสงฆ์ครั้งแรกในพระพุทธศาสนา เป็นวันที่เราจะได้มาทบทวนถึงหลักการอันสำคัญของพระพุทธศาสนา ซึ่งพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ประทานไว้
อันความกตัญญูนั้น เป็นคุณธรรมที่อัศจรรย์ยิ่งนัก สำหรับผู้เขียนแล้วพบว่า ด้วยการที่เราได้น้อมระลึกถึงความกตัญญูที่มีต่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา หรือด้วยการที่เราได้น้อมระลึกถึงคำสอนอันลึกซึ้งของครูบาอาจารย์ของเราอยู่อย่างสม่ำเสมอนั้นบ่อยครั้งด้วยอานุภาพของความกตัญญูนั้น มักจะนำพาให้เกิดแสงสว่างแห่งปัญญาขึ้นเนือง ๆ โดยเฉพาะในหลาย ๆ ครั้งที่อยู่ในระหว่างการศึกษาพิจารณาหัวข้อหรือประเด็นที่เกี่ยวข้องกับมหาปูชนียาจารย์ ด้วยความกตัญญูต่อท่าน ก็มักอำนวยผลให้ผู้เขียนเกิดพุทธิปัญญาที่ชัดเจนขึ้น และนำพาให้ภารกิจหรืองานนั้น ๆ ลุล่วงไปได้อย่างดี
ในเรื่องของสมาธิราชสูตรก็เช่นเดียวกัน ถือเป็นพระสูตรในยุคแรก ๆ อีกพระสูตรหนึ่งในพระพุทธศาสนา ซึ่งไม่ปรากฏนามผู้รจนา สันนิษฐานว่าน่าจะมีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๒-๖ รูปแบบการดำเนินเรื่องราวเป็นการถามตอบระหว่าง “จันทรประภา” กับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า รูปแบบการรจนาเป็นร้อยแก้วผสมกับร้อยกรอง โดยร้อยแก้วนั้นใช้ภาษาสันสกฤตมาตรฐานตามไวยากรณ์ของปาณินิ ขณะที่ร้อยกรองแต่งโดยใช้ภาษาสันสกฤตผสม มีบทร้อยกรองทั้งสิ้น ๒,๐๕๖ โศลก วัตถุประสงค์ในการรจนาคือ การแสดงถึงคุณค่าของศูนยตา การสอนให้เข้าใจถึงการมีจิตตั้งมั่นไม่หวั่นไหวต่อโลกธรรม การดำรงตนอยู่ในทางสายกลางคือ มัชฌิมาปฏิปทา ซึ่ง “สมาธิราชสูตร” นี้ ถือกันว่าเป็นพระสูตรที่นำเสนอเกี่ยวกับ “หลักการชั้นยอดในการปฏิบัติสมาธิ” หรือ สมาธิชั้นยอด จึงถูกเรียกว่า “สมาธิราชสูตร” โดยเฉพาะในเนื้อหาที่เป็นการสนทนากันระหว่าง “จันทรประภา” กับพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น มีเนื้อหาหลัก ๆ ที่ สำคัญเกี่ยวกับหลักปฏิบัติต่าง ๆ ของพระบรมโพธิสัตว์ โดยเฉพาะในเรื่องของการฝึกสมาธิ (ซึ่งมีอยู่อย่างหลากหลาย เช่น การใช้ “พุทธานุสมฤติ” (พุทธานุสสติ) หรือการน้อมรำลึกนึกถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้า การสละความสนใจในทางโลกอย่างสิ้นเชิง การมีความกรุณาต่อสรรพชีวิตรอบตัว หรือการยอมสละแม้ชีวิตของตนเพื่อประโยชน์ต่อผู้อื่น เป็นต้น1
กล่าวในส่วนของสถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย (DIRI) เองนั้น ก็ต้องถือว่ามีบุญลาภอย่างยิ่งด้วยเช่นกันที่ได้นักวิจัยของสถาบันถึง ๒ ท่าน (คือ พระเกียรติศักดิ์ กิตฺติปญฺโญ และพระวีรชัย เตชํกุโร) ผู้เคยศึกษาค้นคว้าคัมภีร์สมาธิราชสูตรนี้มาแล้ว โดยที่พระเกียรติศักดิ์ได้ศึกษาวิเคราะห์สมาธิราชสูตรเป็นวิทยานิพนธ์ปริญญาโทจากมหาวิทยาลัย Cambridge ประเทศอังกฤษ โดยค้นคว้าใน Version ภาษาจีน ขณะที่พระวีรชัยได้ศึกษาจากคัมภีร์ที่จารึกด้วยอักษรพราหมี พบที่หุบเขากิลกิตบามิยัน ซึ่งมีอายุชั้นคัมภีร์ราว ๑,๓๐๐-๑,๔๐๐ ปีทีเดียว (ปัจจุบันคัมภีร์ชุดนี้เป็นสมบัติของสถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย : DIRI Collection) ทั้งนี้เนื้อหาในส่วนที่พระวีรชัยศึกษานั้น เป็นส่วนของบทที่ ๒๘ ว่าด้วยอานิสงส์ ๑๐ ประการที่พระโพธิสัตว์จะพึงได้...ซึ่งในการนำไปวิจัยถอดความนั้น พระวีรชัยได้รับความช่วยเหลือแนะนำอย่างใกล้ชิดจากท่านศาสตราจารย์เจน บราวิค หนึ่งในที่ปรึกษาของสถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย (DIRI) เนื้อหาในส่วนนี้ควรนับว่าเป็นเนื้อหาในส่วนที่สำคัญมากเพราะแต่เดิมนั้น ผู้เชี่ยวชาญด้านคัมภีร์โบราณท่านหนึ่ง คือ ดร.แอนดรูว์ สกิลตัน ได้เคยทำการศึกษาวิจัยไว้ก่อนหน้านี้ (คือได้ศึกษาชิ้นส่วนพระคัมภีร์หมายเลขที่ ๒๗ และข้ามไปที่หมายเลขที่ ๒๙ โดยขาดไปไม่พบชิ้นส่วนหมายเลขที่ ๒๘ ซึ่งเป็นสมบัติของสถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย และต่อมาพระวีรชัยได้นำไปทำวิจัย จึงทำให้ชิ้นส่วนดังกล่าวนี้มาต่อเชื่อมในส่วนที่ขาดหายไป)ดังนั้นการได้พบชิ้นส่วนคัมภีร์ชิ้นนี้และสถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัยได้มีโอกาสนำมาศึกษาครั้งนี้ จึงเท่ากับเป็นการเติมเต็มองค์ความรู้เกี่ยวกับสมาธิราชสูตรให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น
พระเกียรติศักดิ์ กิตฺติปญฺโญ และ
Dr. Imre Galambos (Reader in Chinese)
อาจารย์ที่ปรึกษา ณ มหาวิทยาลัย Cambridge ประเทศอังกฤษ
พระวีรชัย เตชํกุโร ขณะกำลังนำเสนอ
ผลงานวิจัยในงาน DIRI Seminar 2018 ณ มหาวิทยาลัยโอทาโก ประเทศนิวซีแลนด์
พระเกียรติศักดิ์ กิตฺติปญฺโญ
ขณะกำลังศึกษาอยู่ ณ มหาวิทยาลัย
คัมภีร์ที่จารึกด้วยอักษรพราหมี พบที่หุบเขากิลกิตบามิยัน
ซึ่งมีอายุชั้นคัมภีร์ราว ๑,๓๐๐-๑,๔๐๐ ปีทีเดียว ปัจจุบันคัมภีร์ชุดนี้เป็นสมบัติของสถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย (DIRI Collection)
เป็นที่น่าสนใจยิ่งว่า โดยสาระหลักของสมาธิราชสูตรซึ่งให้ความสำคัญกับการตรึกระลึกนึกถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ การวางใจให้เป็นกลาง ๆ ไม่ยึดเกาะกับสิ่งอื่น (คือโลกธรรมทั้งปวง) นั้น ล้วนสอดคล้องอย่างมีนัยสำคัญกับพระธรรมเทศนาของพระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) หลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ครูผู้ค้นพบวิชชาธรรมกายอย่างยิ่ง ทั้งที่สมาธิราชสูตรนี้มิเคยได้รับการเผยแผ่หรือตกทอดมายังผืนแผ่นดินสุวรรณภูมินี้มาก่อน (โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทยของเรา) ยิ่งไปกว่านั้นก็เป็นพระสูตรที่ถูกค้นพบในแถบเอเชียกลางด้วย แต่เมื่อพิจารณาจากถ้อยคำในโศลกแล้ว ก็สร้างความตื่นตาตื่นใจให้แก่ผู้ใฝ่ใจปฏิบัติและลูกหลานของพระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ครูผู้ค้นพบวิชชาธรรมกายไม่น้อย ดังความตอนหนึ่งว่า ....
ปริวรรตที่ ๔ พุทธานุสมฤติ ปริวรรต
(ว่าด้วยการตามระลึกนึกถึงพระพุทธเจ้า)
“ก็พระโพธิสัตว์ดำรงอยู่เฉพาะในสมาธินี้แล้ว จงกรมอยู่ในที่จงกรม
ย่อมเห็นพระพุทธเจ้าหมื่นล้านรูป ซึ่งมากกว่าทรายในแม่น้ำคงคา
ผู้ดำรงมั่นอยู่ในธรรมกาย รู้ภาวะทั้งหมดว่ามิใช่ภาวะ ทำให้แจ้งความรู้พร้อมในอภาวะแล้ว
ย่อมไม่เห็นพระผู้เป็นจอมแห่งผู้ชนะด้วยรูปกาย”
“เราบอกและแจ้งให้รู้ จิตซึ่งมีธรรมกายนั้นเป็นนิมิต ย่อมเป็นไปตามที่ตนได้ตรึกตรองมาก
ด้วยความตรึกตรองที่อาศัย (คือฝึกไปตาม) ธรรมกายเหล่านั้น”
“เมื่อชนระลึกถึงพระจอมมุนีอย่างนี้ และรู้จักโดยอาการที่ประมาณมิได้
และเมื่อเจริญอนุสมฤติตลอดเวลา จิตก็จะน้อมตรงไปหาพระจอมมุนีนั้นฯ”
ข้อความในโศลกส่วนใหญ่มีลักษณะที่อธิบายถึงคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในลักษณะเช่นนี้เอง และเป็นที่น่าพิจารณาอย่างยิ่งว่าเป็นคำอธิบายที่เป็นไปในทางเดียวกับพระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) แทบทั้งสิ้น ทั้งนี้แม้จะเลือกพระธรรมเทศนาของท่านมาเพียงบทใดบทหนึ่ง ตอนใดตอนหนึ่งที่แตกต่างกัน เช่น พระธรรมเทศนาเรื่อง “สมาธิ” (วันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๗) พระธรรมเทศนาเรื่อง “รัตนสูตร” : ว่าด้วยพุทธรัตนะ(วันที่ ๒๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๗) หรือพระธรรมเทศนาเรื่อง “รตนตฺตยคมนปณามคาถา” การนอบน้อมถึงพระรัตนตรัย (วันที่ ๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๒) นั้น ก็จะพบว่ามีสาระหรือใจความสำคัญที่เน้นให้เห็นถึงวิถีการปฏิบัติ (ธรรม) ให้เป็นไปตามรอยทางของพระบรมศาสดาทั้งสิ้น ทั้งนี้โดยมิได้เป็นเพียงข้อความแบบปริยัติเพียงอย่างเดียว แต่มีลักษณะที่สอดประสานกันทั้งปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธไปพร้อม ๆ กัน และที่สำคัญ มีการกล่าวถึงคุณของการตามระลึกนึกถึงคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าดุจเดียวกับที่ปรากฏในสมาธิราชสูตรด้วย ทั้งที่สมาธิราชสูตรนั้นเป็นคัมภีร์โบราณมีอายุย้อนไปไกลว่ายุคสมัยของพระเดชพระคุณหลวงปู่ฯ นานนับพันปี ถือว่าเป็นสิ่งอัศจรรย์ทั้งนี้ จากการศึกษาพระธรรมเทศนาของพระเดชพระคณุ หลวงปู่ฯ ผู้เขียนขอโอกาสยกข้อความบางตอนจากรัตนสูตรมาแสดงไว้ดังนี้
“ทำไมรู้ว่าพระตถาคตเจ้านั้น คือ พุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ พระองค์รับสั่งกับวกฺกลิภิกฺขุว่า อเปหิ วกฺกลิ วักกลิจงถอยออกไป อิมํ ปูติกายํ ทสฺสนํ มาดูใยเล่าร่างกายของตถาคตอันเป็นของเปื่อยเน่า โย โข วกฺกลิ ธมฺมํ ปสฺสติ โส มํ ปสฺสติ แน่ะ สำแดงวักกลิผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นเราตถาคต ธมฺมกาโย อหํ อิติปิ ตถาคตคือธรรมกาย” “…ที่เราเข้าถึงธรรมกายแล้วนี่เป็นรัตนะสูงสุด... รัตนะในพื้นมนุษย์ หรือเป็นรัตนะในพื้นสวรรค์ ๖ ชั้น หรือรัตนะในพื้นพรหม ๑๖ ชั้น หรือรัตนะในอรูปพรหม ๔ ชั้น ...ที่เป็นสวิญญาณกรัตนะก็ดีอวิญญาณกรัตนะก็ดี สู้พระตถาคตเจ้าไม่ได้....”
เปรียบเทียบสาระสำคัญระหว่างโศลกในสมาธิราชสูตรกับพระธรรมเทศนาของ
พระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร)
สาระสำคัญ |
สาระสำคัญ ในพระธรรมเทศนา |
การกล่าวเปรียบเทียบ |
การสรรเสริญคุณของ |
การน้อมรำลึกถึง พระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ (พุทธานุสสติ) |
ผู้ใดตั้งมั่นอยู่ในธรรมกาย จะ |
ให้ระลึกรู้ว่าธรรมทั้งหลาย |
ให้ทำใจหยุดนิ่งอยู่ภายใน |
พระธรรมกายเป็นของจริงแท้ |
เมื่อเราพิจารณาถึงข้อความในพระธรรมเทศนาของพระเดชพระคุณหลวงปู่ฯ นี้ เราจะเห็นได้ว่า สาระหลักของข้อความที่ยกมาแม้จะเป็นการกล่าวถึงพระธรรมกายซึ่งเราทุกคนต่างคุ้นเคยก็จริง และเป็นข้อความที่กล่าวระบุให้เห็นถึงคุณค่าของพระธรรมกายที่มีอยู่ในตัวของเรา (ซึ่งควรใส่ใจปฏิบัติให้ถึง) ก็จริง หากแต่สิ่งที่เหมือนกันระหว่างพระธรรมเทศนาของพระเดชพระคุณหลวงปู่ฯ กับ “สมาธิราชสูตร” คืออะไร ? คำตอบคือ การชี้ให้เห็นว่าทุกสิ่งในโลกทั้งปวง (รวมทั้งสวรรค์และพรหมทั้งหลาย รวมทั้งสมบัติและรัตนะอันมีค่าทั้งหลายนั้น)ล้วนแต่เทียบมิได้เลยกับการตรึกระลึกนึกถึงรัตนะ (คือ พระพุทธเจ้าที่ดำรงอยู่ภายใน) เทียบไม่ได้เลยกับการทำใจของเราให้ตั้งมั่นอยู่ในตน อยู่ในสมาธิ ฯลฯ อนึ่ง ความมหัศจรรย์ของการที่เนื้อหาในสมาธิราชสูตรซึ่งมีอายุเก่าแก่นับพันปีจะมีความสอดคล้องเป็นไปในทางเดียวกันกับพระธรรมเทศนาของพระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ดังที่เราเห็นนี้ ก็ควรนับว่าเป็นสิ่งที่ควรแก่การบันทึกไว้อีกประการหนึ่ง ทั้งนี้เพราะความสอดคล้องกันเช่นนี้ย่อมมิใช่เป็นเรื่องธรรมดาสามัญ หากแต่ต่อ ๆ ไป สิ่งนี้ย่อมจะกลายเป็นประจักษ์พยานที่เข้มแข็งจริงจังอีกทางหนึ่ง ที่ช่วยชี้ให้เห็นว่าคำสอนของพระเดชพระคุณหลวงปู่ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) เกี่ยวกับวิชชาธรรมกายนั้น มิใช่เป็นเรื่องที่เลื่อนลอยไร้หลักฐาน หากแต่เป็นของแท้ของดั้งเดิม เป็นของเก่าแก่แต่โบราณ ที่ชาวพุทธต่างส่งทอดต่อ ๆ กันมาหลายยุคหลายสมัยแล้ว สมดังวาระพระบาลีที่ว่า “สันทิฏฐิโก (ผู้ปฏิบัติย่อมเห็นผลด้วยตนเอง) อกาลิโก (ผู้ปฏิบัติไม่ว่าเวลาใด ย่อมได้รับผลเสมอกันไม่จำกัดกาลเวลา) เอหิปัสสิโก (เพราะว่าเป็นของดี ของจริงผู้เห็นผลจากการปฏิบัติแล้วจึงชี้ชวนผู้อื่นมาดูให้เห็นจริง) โอปนยิโก (เมื่อพบว่าดีแล้ว จึงควรน้อมเข้าไว้ในตน) ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ (ธรรมของพระพุทธองค์นั้น เป็นของที่รู้ได้เฉพาะตน)
ท้ายที่สุดนี้ ผู้เขียนขออาราธนาบารมีพระนิพพาน บารมีของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์ พระปัจเจกพุทธเจ้าทุกพระองค์ ตลอดจนบารมีของมหาปูชนียาจารย์ในวิชชาธรรมกายทุก ๆ ท่าน ได้โปรดปกป้องคุ้มครองลูกหลานนักสร้างบารมีทุก ๆ ท่าน ให้เป็นผู้มีความกตัญญูอย่างเต็มเปี่ยมในการสร้างบารมี มีดวงปัญญาที่สว่างไสวในการศึกษาและค้นพบความรู้ที่ถูกต้องจริงแท้ของพระพุทธศาสนาตลอดกาลนานเทอญฯ
ขอเจริญพร
1 สมาธิราชสูตรเป็นหนึ่งในคัมภีร์พระพุทธศาสนาที่สำคัญที่พบครั้งแรกในหุบเขากาฐมาณฑุ ประเทศเนปาล ในปี พ.ศ. ๑๘๒๔ โดยนักการทูตท่านหนึ่งคือ BRIAN HODGSON ต่อมามีการนำไปศึกษาและตีพิมพ์โดย CONSTAINTY REGAMEY ในงานที่ชื่อว่า “THREE CHAPTERS FROM SAMATHI RAJASUTRA” โดยเป็นการตีพิมพ์ในบทที่ ๘, ๙ และ ๑๒ ในช่วงประมาณปี ค.ศ. ๑๙๓๘ นอกจากนี้มีการค้นพบจารึกสมาธิราชสูตรที่หมู่บ้านกิลกิต แคว้นจัมบุ และแคชเมียร์ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในประเทศปากีสถาน ซึ่งจารึกนี้เป็นจารึกบนเปลือกไม้