เรื่องน่าอ่าน
เรื่อง : พระมหาพงษ์ศักดิ์ ฐานิโย, ดร.
STORY จาก TOCHIGI, JAPAN
ศาสนทายาท ณ แดนอาทิตย์อุทัย
"…… sabbadukkha(サッバドゥッカ) nissaraṇa(ニッサラナ), nibbāna(ニッバーナ) sacchikaraṇatthāya (サッチカラナッターヤ), imaṃ(イマン) kāsāvaṃ(カーサーワン) gahetvā (ガヘットワー), pabbājetha(パッバージェータ) maṃ(マン) bhante (バンテー), anukampaṃ(アヌカンパン) upādāya(ウパーダーヤ) ……"
(ขอท่านโปรดอนุเคราะห์รับผ้ากาสาวะนี้ และให้การบวชแก่กระผม
เพื่อทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน อันเป็นเครื่องสลัดออกจากทุกข์ทั้งปวงเถิด)
เสียงธรรมทายาทชาวญี่ปุ่นและชาวต่างชาติที่กำลังท่องคำขอบรรพชาในขณะนี้ ณ วัดพระธรรมกายโทชิหงิ แม้จะมีสำเนียงที่แตกต่างไปจากที่คุ้นเคย แต่ก็สร้างความประทับใจได้ไม่แตกต่างจากที่เคยเป็น ท่ามกลางสาธุชนนับร้อยผู้เดินทางมาร่วมอนุโมทนาจากทั่วสารทิศธรรมทายาททั้ง ๑๒ ท่าน ต่างเสียสละเวลาอันมีค่าและหาได้ยากในสังคมที่มีอัตราการแข่งขันทางธุรกิจสูงอย่างประเทศญี่ปุ่น ได้ตั้งใจเข้ามาบรรพชาอุปสมบท เพื่อศึกษาพระธรรมวินัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และประพฤติปฏิบัติธรรม เจริญสมาธิภาวนา
"…… ayante(アヤンテー) patto(パットー) (āma(アーマ) bhante(バンテー)), ayaṃ(アヤン) saṅghāṭi (サンガーティ) (āma(アーマ) bhante(バンテー)), ayaṃ(アヤン) uttarāsaṅgo(ウッタラーサンゴー) (āma(アーマ) bhante(バンテー)), ayaṃ(アヤン) antaravāsako(アンタラワーサコー) (āma(アーマ) bhante (バンテー)) ……"
“...... นี้คือบาตร (ขอรับท่าน) นี้คือผ้าสำหรับห่มซ้อนนอก (ขอรับท่าน)
นี้คือผ้าสำหรับห่ม (ขอรับท่าน) นี้คือผ้าสำหรับนุ่ง (ขอรับท่าน) ......”
หลังจากธรรมทายาททุกท่านได้บรรพชาและอุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา โดยมีพระครูปลัดสุวัฒนโพธิคุณ (สมชาย ฐานวุฑฺโฒ) เมตตามาเป็นพระอุปัชฌาย์ ต่างได้เดินทางไปยังศูนย์ปฏิบัติธรรมธรรมกายนานาชาติโทชิหงิ (Dhammakaya International Meditation Center Tochigi) เพื่อใช้เวลาที่มีค่าและจำกัดนี้ในการศึกษาพระธรรมวินัยทั้งภาคปริยัติและปฏิบัติอย่างเต็มที่
พระธรรมทายาททุกรูปได้ตั้งใจศึกษาวิถีชีวิตของสมณะผ่านกิจวัตรกิจกรรม โดยมีคณะพระอาจารย์และพระพี่เลี้ยงคอยดูแลอย่างใกล้ชิด เริ่มจากพระวินัยเบื้องต้น อาทิ นิสสัย ๔ (เครื่องอาศัย ๔ อย่าง) อันตรายิกธรรม ๔ (ข้อปฏิบัติอันเป็นอันตราย ๔ ประการ) สิกขาบท ๒๒๗ รวมถึงพระสูตรสำคัญ อาทิ ธัมมจักกัปปวัตนสูตร นอกจากนี้ พระธรรมทายาทยังได้มีโอกาสศึกษาพุทธประวัติและประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา และที่ขาดเสียไม่ได้ คือ การเจริญสมาธิภาวนา เพื่อให้เข้าถึงพระธรรมกายภายใน อันเป็นหัวใจหลักของการอบรมในครั้งนี้
ด้วยสัปปายะทั้งปวงอันประกอบด้วย อาหาร (บิณฑบาต) สถานที่ (กุฏิ ห้องปฏิบัติธรรม) บุคคล (คณะพระอาจารย์ พระพี่เลี้ยง เพื่อนสหธรรมิก) และ ธรรมะ ที่เหมาะสมลงตัว ได้มีส่วนสำคัญต่อการศึกษาธรรมะทั้งภาคปริยัติและภาคปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของผลการปฏิบัติธรรม เจริญสมาธิภาวนา ต่างได้ชื่นชมผลจากการปฏิบัติ ตั้งแต่ความโล่งโปร่งเบาสบายไปจนถึงแสงสว่างภายใน สร้างความปลื้มปีติใจให้แก่พระธรรมทายาทเอง คณะพระอาจารย์พระพี่เลี้ยง เจ้าหน้าที่ รวมถึงสาธุชนผู้เดินทางมาร่วมสนับสนุนปัจจัยสี่ตลอดโครงการอบรม
โครงการบรรพชาอุปสมบทธรรมทายาทชาวญี่ปุ่นและชาวต่างชาติในครั้งนี้ ได้แสดงให้เห็นอย่างประจักษ์แล้วว่า การศึกษาและปฏิบัติธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น เชื้อชาติ ศาสนา หรือแนวคิดที่แตกต่าง ย่อมไม่เป็นอุปสรรค ต่างได้รับผลแห่งการปฏิบัติตาม ความวิริยอุตสาหะที่มี สมกับสุภาษิตของชาวญี่ปุ่นที่ว่า 仏も昔は凡夫なり(hotoke mo mukashi wa bonpu nari) แปลว่า “แม้พระพุทธเจ้าเอง ในอดีตก็เป็นปุถุชนเช่นกับเรา” อันเป็นการเสริมสร้างกำลังใจ ให้ประพฤติปฏิบัติตามพระพุทธองค์ แล้ววันหนึ่งก็จะเป็นเช่นพระองค์ ด้วยกำลังสามารถแห่งความเพียร