อ่านอดีต ขีดอนาคต
เรื่อง : พระมหาพงศ์ศักดิ์ ฐานิโย, ดร.
ย้อนอดีต...ท่องประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา
ตอนที่ ๒๓ : ความสัมพันธ์และความสำคัญของศีล สมาธิ ปัญญา
ใน “มหาปรินิพพานสูตร” พระพุทธองค์ประทาน “ธรรมาทาส” (dhammādāsa) หรือ “แว่นธรรม” กล่าวคือ มีศรัทธาตั้งมั่นในพระรัตนตรัยและมีศีลอันบริสุทธิ์ที่เป็นไปเพื่อสมาธิ เพื่อให้พระพุทธสาวกพยากรณ์คติภพเบื้องหน้าของตนเอง ผู้ใดประกอบด้วยธรรมเหล่านี้ ย่อมเป็นเหตุให้ไม่ตกไปในทุคติภูมิ เป็นพระโสดาบันผู้ที่จะสำเร็จเป็นพระอรหันต์ต่อไปในอนาคต
หากมองโดยผิวเผิน อาจทำให้เราเข้าใจไปว่า “ขอให้มีเพียงศรัทธาและศีลเท่านั้น เราก็จะสามารถบรรลุมรรคผลนิพพานได้”แต่หากเราพิจารณาถึงพระพุทธดำรัสช่วงท้ายที่ว่า “ศีลที่พระอริยะชอบใจ...เป็นไปเพื่อสมาธิ” นั่นหมายความว่า “นอกจากมีศีลอันบริสุทธิ์แล้ว จะต้องเจริญสมาธิภาวนาด้วย” ซึ่งเมื่อศึกษาใน “มหาปรินิพพานสูตร” ต่อไป เราจะพบถึงความเชื่อมโยงดังต่อไปนี้
“ศีลมีลักษณะอย่างนี้ สมาธิมีลักษณะอย่างนี้ ปัญญามีลักษณะอย่างนี้ สมาธิอันบุคคลอบรมโดยมีศีลเป็นฐาน ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก ปัญญาอันบุคคลอบรมโดยมีสมาธิเป็นฐาน ย่อมมีผลมากมีอานิสงส์มาก จิตอันบุคคลอบรมโดยมีปัญญาเป็นฐาน ย่อมหลุดพ้นโดยชอบจากอาสวะทั้งหลาย คือ กามาสวะ ภวาสวะ และอวิชชาสวะ” (ที.ม.๑๐/๑๔๓/๘๙, ๑๐/๑๕๕/๑๐๐, ๑๐/๑๕๙/๑๐๔, ๑๐/๑๖๒/๑๐๘, ๑๐/๑๘๖/๑๓๔, ๑๐/๑๘๘/๑๓๗ แปล. มจร)
พระพุทธดำรัสนี้ พระพุทธองค์ตรัสถึง ๖ ครั้ง ใน ๖ แห่ง คือ อัมพลัฏฐิกาวัน โกฏิคาม นาทิกคามอัมพปาลีวัน ภัณฑุคาม และอานันทเจดีย์ในโภคนคร โดยตรัสถึงความเชื่อมโยงของศีล สมาธิ ปัญญากล่าวคือ สมาธิที่มีผลมาก ต้องมีศีลเป็นฐาน และปัญญาที่มีผลมาก ต้องมีสมาธิเป็นฐาน นอกจากนี้พระพุทธองค์ยังได้ตรัสถึงความสัมพันธ์ระหว่างสมาธิและปัญญาไว้เป็นพิเศษใน “ธรรมบท” ที่ว่า “ฌานย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่มีปัญญา ปัญญาก็ย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่มีฌาน ผู้มีทั้งฌานและปัญญานั่นแลจึงนับว่าอยู่ใกล้นิพพาน” (ขุ.ธ. ๒๕/๓๗๒/๑๔๙) ซึ่งเป็นการกล่าวถึงความสัมพันธ์และเป็นการยืนยันถึงความสำคัญของสมาธิและปัญญา ว่าเป็นสิ่งที่เกื้อกูลกันและไม่สามารถทิ้งขาดจากกันได้นั่นเอง
ดังนั้น เมื่อเราศึกษาพระไตรปิฎก ซึ่งเป็นแหล่งบันทึกพระธรรมวินัยของพระพุทธองค์ รวมถึงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของพระพุทธศาสนา เราจึงต้องค้นคว้าและพิจารณาอย่างถี่ถ้วน เพื่อป้องกันการเข้าใจที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนไป