วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ "วิชชา ๓" ขจัดความสงสัยเรื่องอจินไตย เรียบเรียงจากพระธรรมเทศนา พระเดชพระคุณพระภาวนาวิริยคุณ (หลวงพ่อทัตตชีโว)

เรียบเรียงจากพระธรรมเทศนา
พระเดชพระคุณพระภาวนาวิริยคุณ
(หลวงพ่อทัตตชีโว)

วันอาทิตย์ที่ ๑๒ เดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๖

 

                       ในพระพุทธศาสนามีคำสอนอยู่เรื่องหนึ่งคือ "อจินไตย" คือเรื่องที่ไม่ควรคิด เรื่องนี้ถ้าฟังเผิน ๆ แล้ว ดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่ขัดแย้งกับคำสอนในพระพุทธศาสนา เพราะพระพุทธศาสนานั้นเป็นศาสนาเดียวในโลกที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงกล้าประกาศว่า คำสอนทุกคำประกอบด้วยเหตุผล มีความลุ่มลึก ไปตามลำดับ จากง่ายไปหายาก ตื้นไปหาลึก สามารถพิสูจน์ได้ว่า ใครทำกรรมอย่างไรไว้ ตนจะต้องได้รับผลของกรรมนั้น ทำดีต้องได้ดี ทำชั่วต้องได้ชั่ว และธรรมะของพระองค์ต้องน้อมนำมาไว้ในตัว ยิ่งเรียนแล้วยิ่งรู้จักตัวเอง เป็นผลให้เข้าใจคนทั้งโลกจะตามมา พระพุทธศาสนาสอนให้มีเหตุผล แต่ทำไมถึงมาสอนเรื่องที่ไม่ควรคิด เพื่อขยายความเรื่องนี้ให้ชัดเจน หลวงพ่อจะมาพูดคุยกับพวกเราเรื่อง "อจินไตย"

ทำไมจึงไม่ควรคิดเรื่องอจินไตย

                        ความจริงแล้วธรรมะทุกข้อที่ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้ ควรแก่การขบคิดทุกข้อ เพียงแต่ว่าเมื่อจะขบคิดอะไรนั้น ต้องมีพื้นฐานในเรื่องนั้นเพียงพอ ถ้าพื้นฐานไม่พอ แล้วไปคิดเข้า อาจจะมีส่วนแห่งความเป็นบ้าได้

                        ยกตัวอย่าง เด็กอนุบาลไปคิดเรื่องคณิตศาสตร์ว่า ทำอย่างไรถึงจะไป ดวงดาวได้ด้วยจรวด ยิ่งคิดเดี๋ยวก็จะยิ่งบ้าเท่านั้น เพราะพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ ดาราศาสตร์ วิทยาศาสตร์ของเด็กไม่เพียงพอ แต่ว่าถ้าจบมหาวิทยาลัยแล้ว ประสบการณ์ความรู้มากพอ คิดจะไปดวงดาว ดวงเดือนไหน ก็สามารถเป็นไปได้

                        ในทำนองเดียวกัน ธรรมะทุกข้อของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าล้วนเป็นเรื่องจริง มีความละเอียดลุ่มลึกหลายระดับ เพราะฉะนั้นใครจะตรองหาเหตุผลข้อใดก็ตาม ต้องมีความรู้พอเหมาะพอสมกับเรื่องนั้น ๆ ด้วย


เรื่องอะไรที่ไม่ควรคิด

                        พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย อจินไตย คือเรื่องที่ไม่ควรคิดนั้น มี ๔ ประการ ดังนี้

                        ประการที่ ๑ พุทธวิสัย คือ ความเป็นไปในอานุภาพของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย ซึ่งไม่เหมือนกับมนุษย์ทั่วไป

                        ประการที่ ๒ ฌานวิสัย คือ วิสัยของผู้ได้ฌานตั้งแต่ปฐมฌานขึ้นไป

                        ประการที่ ๓ วิบากแห่งกรรม คือ ผลของกรรม ทำกรรมอย่างไรไว้จะได้ รับผลของกรรมตามนั้น

                        ประการที่ ๔ ความคิดเรื่องโลก หรือโลกจินดา คือ ความคิดเรื่องโลก ดวงอาทิตย์ ดวงดาว ดวงจันทร์ ใครเกิดก่อนกัน ใครเป็นคนสร้าง เป็นต้น

                        ทั้ง ๔ ประการนี้ ยากต่อการนึกคิดหรือเดา ถ้าพื้นฐานทางธรรมยังไม่พอ อย่าเพิ่งไปตรองมาก เอาแค่รับรู้ รับไว้ แต่ห้ามปฏิเสธ แล้วลงมือฝึกฝนตัวเอง จนกว่าระดับใจของเราจะละเอียดลุ่มลึกไปถึงขั้นที่ตรองได้


จะเป็นกัลยาณมิตรต้องเข้าใจเรื่องอจินไตย

                        สาเหตุที่หลวงพ่อต้องยกเรื่องอจินไตยขึ้นมาพูด เพราะเรื่องนี้มีความจำเป็นในความเข้าใจเรื่องของธรรมะอย่างอื่นต่อไป ซึ่งมีเรื่องโยงใยถึงกัน และมีความจำเป็นในฐานะที่เราต้องไปบำเพ็ญตนเป็นกัลยาณมิตรให้แก่ชาวโลก คือเวลาจะพูดอะไรกับใครต้องวัดภูมิปัญญาเขาให้ได้ก่อน ถ้าวัดยังไม่ได้ อย่าไปพูดอะไรมากนัก ถ้าพูดมาก ทั้งที่เรื่องนั้นเป็นเรื่องจริง เดี๋ยวเขาจะปฏิเสธ แล้ว กลายเป็นทะเลาะกัน ทำให้เสียทั้งเขาเสียทั้งเรา

                        เพราะฉะนั้น ใครที่จะบำเพ็ญตนเป็นกัลยาณมิตรให้กับผู้อื่น จะอธิบายธรรมะแต่ละเรื่อง นึกถึง ๔ คำนี้ให้ดีว่า

                        - เรื่องนี้เป็นพุทธวิสัยโดยเฉพาะหรือเปล่า

                        - เรื่องนี้เป็นฌานวิสัย วิสัยของผู้ได้ฌานเฉพาะเท่านั้นหรือเปล่า

                        - เป็นเรื่องของผลกรรมที่สัตวโลกทำเอาไว้ ยากแก่การอธิบายหรือเปล่า

                        - เป็นปัญหาโลกแตกหรือเปล่า

                        ถ้าเป็นเราต้องคิดแล้วค่อย ๆ พูด ถ้าเราระมัดระวังตัวอย่างนี้ ก็มีโอกาสที่จะสามารถบำเพ็ญตนเป็นกัลยาณมิตรให้กับชาวโลกได้ หลวงพ่อขอขยายความในเรื่องที่ไม่ควรคิดต่าง ๆ ไว้ในที่นี้ เพื่อที่ต่อไปภายภาคหน้า เมื่อถูกซักถามปัญหาธรรมะ เราจะได้เตรียมคำพูด ถ้อยคำที่พอเหมาะได้


๑. พุทธวิสัย

                        ในเรื่องพุทธวิสัยนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสกับพระอานนท์ว่า "ในสมัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพระนามว่าสิขี มีพระอรหันต์รูปหนึ่งชื่อว่าพระอภิภู เวลาท่านพูดจะได้ยินไปถึงสหัสสีโลกธาตุ หรือโลกธาตุขนาดเล็ก ประกอบด้วยจักรวาล ๑,๐๐๐ จักรวาล"

                        ขนาดพูดทีเดียวให้ดังไปทั้งโลก เรายังนึกไม่ออกเลยว่า จะพูดอย่างไร แล้วพระอภิภูท่านพูดทีเดียวดังไปถึงพันโลกธาตุ จะเป็นไปได้หรือ

                        พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า "เป็นไปได้ เพราะพระอรหันต์รูปนี้เวลาท่านพูด ท่านไปยืนที่พรหมโลกแล้วพูด เลยทำให้ได้ยินเสียงไปไกลถึงพันโลกธาตุ"

                        พระอานนท์ฟังแล้ว แม้ท่านยังทำตามไม่ได้ เพราะเป็นเพียงแค่ พระโสดาบันเท่านั้น แต่พอตรองตามได้ จึงไม่ปฏิเสธ แล้วยังถามพระองค์ต่อไปอีกว่า "แล้วพระสัมมาสัมพุทธเจ้าล่ะ ถ้าต้องการพูดให้ดัง จะดังไปกี่โลกธาตุ"

                        พระพุทธองค์รอให้พระอานนท์ถามถึง ๓ ครั้ง จึงได้ตรัสตอบว่า "อานนท์ ตถาคตเมื่อมีความจำนงจะพูดไปไกลถึงแสนโกฏิจักรวาล (คือติสหัสสีโลกธาตุหรือโลกธาตุขนาดใหญ่) ก็ไม่ยากเลย ตถาคตจะพึงแผ่รัศมีไปทั่วทั้งแสนโกฏิจักรวาลนั่นแหละ สัตวโลกในจักรวาลนั้นๆ พอเห็นแสงสว่างนั้น ตถาคตก็จะเปล่งเสียงให้สัตว์เหล่านั้นได้ยินด้วยวิธีอย่างนี้แล"

                        พระพุทธองค์เวลาจะตรัสอะไรให้ฟัง จะตรัสด้วยเหตุผล คล้ายจะบอกว่า "อานนท์ อีกหน่อยเธอก็ทำได้ในระดับหนึ่ง แม้ไม่เท่ากับเราตถาคตก็ตาม เพราะว่าพระอภิภูเคยทำมาได้แล้ว แต่ถ้าจะทำแบบอย่างพระองค์ทำนั้น เธอทำไม่ได้หรอก เพราะนั่นเป็นพุทธวิสัย"

                        เรื่องพุทธวิสัยจึงเป็นเรื่องอย่าไปเที่ยวคาดคะเน อย่าเพิ่งปฏิเสธ อย่าเพิ่งไปไล่เหตุผล เพราะแค่คิดว่า พระพุทธองค์ทำอย่างไร รัศมีจึงแผ่ออกจากกายข้างละหนึ่งวาก็ยากแล้ว แล้วจะเลยไปคิดว่า จะแผ่รัศมีอย่างไรให้คลุมไปตลอดแสนโกฏิจักรวาลยิ่งยากกว่า แล้วจะคุยกันไม่จบ


๒.ฌานวิสัย

                        สำหรับเรื่องฌานวิสัยนั้น พวกเราคงได้ยินมามากเรื่องการเหาะเหินเดินอากาศ แต่ว่าในฐานะที่เป็นนักเผยแผ่ที่จะบำเพ็ญตนเป็นกัลยาณมิตรให้กับชาวโลก ถ้าจะไปบอกเขาแต่เพียงว่า พวกคนมีฌานเขาทำได้ อาจจะมีบางคนไม่เชื่อ รับไม่ได้ แต่ถ้าเราให้เหตุผล เขาก็จะสามารถเข้าใจ พอตรองตามได้

                        ยกตัวอย่างพวกที่เหาะเหินเดินอากาศได้ เดินบนน้ำได้ เดินบนดินได้ ดำดินก็ได้ เขาทำได้อย่างไร โม้เกินไปหรือเปล่า ไม่โม้ ที่ยังทำไม่ได้ เพราะเรานึกแบบคนไม่เคยฝึกสมาธิก็เลยทำไม่ได้ แต่ผู้ที่ฝึกสมาธิเมื่อนั่งสมาธิได้ถูกส่วนแล้วจะมีลักษณะกายเบาเท่ากับใจได้ เหมือนกับไม่มีอนุภาคอะไร พูดง่ายๆ ตอนนั้นกายของเราเบาเท่ากับเงาตัวเอง เบาขนาดนั้น ถ้าคิดจะดำดินลงไป คิดจะลอยไปบนน้ำ หรือคิดจะลอยไปกลางอากาศก็คงไม่ยากจนเกินไป เรายอมเสียเวลาอธิบายสักเล็กน้อย พอให้เขาตรองตามได้ ก็ไม่ต้องเถียงกัน แต่จะเพิ่มศรัทธาเขาได้ตั้งมากมาย จับหลักเหตุผลง่าย ๆ แล้วสิ่งที่เป็นอจินไตยก็เริ่มไม่อจินไตย จะมีลักษณะกายเบาเท่ากับใจได้ เหมือนกับไม่มีอนุภาคอะไร พูดง่ายๆ ตอนนั้นกายของเราเบาเท่ากับเงาตัวเอง เบาขนาดนั้น ถ้าคิดจะดำดินลงไป คิดจะลอยไปบนน้ำ หรือคิดจะลอยไปกลางอากาศก็คงไม่ยากจนเกินไป เรายอมเสียเวลาอธิบายสักเล็กน้อย พอให้เขาตรองตามได้ ก็ไม่ต้องเถียงกัน แต่จะเพิ่มศรัทธาเขาได้ตั้งมากมาย จับหลักเหตุผลง่าย ๆ แล้วสิ่งที่เป็นอจินไตยก็เริ่มไม่อจินไตย


๓.วิบากแห่งกรรม

                        ในเรื่องวิบากแห่งกรรมนั้นก็อีกเหมือนกัน มีคำถามอยู่มากมาย เช่น เป็นไปได้หรือที่คนทำกรรมอย่างนั้น จะต้องเป็นอย่างนี้ นรกมีจริงหรือเปล่า จะเป็นไปได้อย่างไรที่คนจะเกิดไปเป็นสัตว์ สัตว์ก็ต้องเกิดเป็นสัตว์ คนก็ต้องเกิดเป็นคน เป็นต้น ในการที่จะมาอธิบายในสิ่งเหล่านี้ เป็นเรื่องที่มีความยากพอสมควร แต่ไม่ใช่จะอธิบายไม่ได้ พอมีวิธีเทียบเคียงได้

                        ปีแรกที่หลวงพ่อเข้าวัดยังไม่ได้บวชเมื่อถูกถามเรื่องนี้ หลวงพ่ออาศัยประสบการณ์เล็กๆ น้อยๆ จากการฝึกสมาธิ อธิบายให้เขาฟัง โดยยกเรื่องนิสัยของคนและสัตว์ขึ้นมาอธิบายว่า นิสัยของคนนั้น มีความเมตตา กรุณา ไม่อาฆาตพยาบาท ไม่ขี้อิจฉาตาร้อนกัน พูดง่ายๆ คือ ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง ส่วนนิสัยของสัตว์นั้น มีความโลภ เห็นแก่กิน แล้วก็โกรธง่าย

                        พวกเราเคยเป็นไหม วาระไหนที่ควบคุมตัวเองไม่ได้ ก็จะไปโลภอยากได้ของคนอื่นจนลืมหูลืมตาไม่ขึ้น ไปโกรธอาฆาตแค้นคนอื่นอย่างชนิดที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ บางครั้งก็ไปอิจฉาตาร้อนเขา ซึ่งภาวะจิตของเราตอนนั้นหมดสภาพจิตคนแล้ว เข้าสู่สภาพจิตของสัตว์แทน เพียงแต่โชคดีว่า ร่างกายของเราประกอบด้วยเลือดเนื้อ กระดูกที่มีโครงสร้างแข็งแกร่ง ถ้าร่างกายนี้ประกอบด้วยธาตุที่เบาๆ เป็นแค่น้ำเหลวๆ หรือฟองอากาศ รูปร่างของเราก็เปลี่ยนสภาพไปแล้ว จากคนคงกลายเป็นสัตว์ทันที ก็เป็นไปได้ เพียงแค่อธิบายเท่านี้ จากอจินไตยก็กลายเป็นไม่อจินไตยได้


๔.ความคิดเรื่องโลก

                        แม้ในเรื่องความคิดเรื่องโลกก็เช่นกัน มีคำถามว่า โลกเกิดมาได้อย่างไร ใครเป็นคนสร้างโลก แล้วเขาเอาอะไรมาปั้นเป็นดวงดาว ดวงเดือน ดวงจันทร์ เป็นต้น
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนว่า ถ้าจะคิดอะไรสักเรื่องหนึ่ง ขอให้เรื่องนั้นเป็นไปเพื่อการปรับปรุงตัว เพื่อการบรรเทาทุกข์

                       ถ้าไปจับแง่คิดผิด นอกจากไม่บรรเทาทุกข์ลงแล้ว ยังเพิ่มความบ้าให้กับตัวเองอีกด้วย ให้เราจับแง่คิดใหม่ เรื่องบางอย่างไม่จำเป็นต้องรู้ก็ได้ บางอย่างถึงจำเป็นต้องรู้ ก็ไม่จำเป็นว่าต้องรู้เดี๋ยวนี้ รออีกระยะหนึ่งค่อยรู้ก็ได้
เหมือนกับที่พระพุทธองค์ทรงอุปมาเรื่องคนที่ถูกยิงด้วยธนูอาบยาพิษ เมื่อถูกยิงแล้ว มีแต่ตายกับตายเท่านั้น ถ้ารู้ตัวว่าถูกยิงแล้ว เราลองมาดูว่าใครโง่หรือฉลาด คนหนึ่งเมื่อถูกยิงเข้า จะเป็นใครยิงก็ช่าง เขารีบไปหาหมอรักษาก่อน อย่างนี้มีสิทธิ์รอดตาย ส่วนอีกคนหนึ่ง เมื่อถูกยิงก็ประกาศไปเลยว่า ตราบใดที่ยังไม่รู้ว่าใครยิง มีวัตถุประสงค์อะไร ชื่อเสียงเรียงนามอะไร ยิงมาจากทิศไหน ถ้าไม่รู้ ยังไม่ยอมรักษาหรอก ถ้าเป็นอย่างนี้ก็บอกได้อย่างเดียว ตายแน่

                       เช่นกัน ความรู้บางอย่างถ้ารู้ได้ก็ดี เช่น รู้ว่าโลก ดวงดาวต่างๆ เกิดมาได้อย่างไร ใครเป็นคนสร้าง แต่ว่าอายุของเราในยุคนี้ไม่ถึงหนึ่งร้อยปี ถ้ามัวแต่ไปไล่ว่าโลกเกิดมาอย่างไร คงจะตายไปก่อน

                       แต่ถ้ามาคิดว่า ทำอย่างไรก่อนตายจะให้กิเลสของเราหมดหรือเบาบางไป จะได้ทุกข์น้อยลง หรือก่อนตายจะใช้หนี้ให้หมดเสียก่อน จะได้ไม่เป็นหนี้ข้ามชาติ หรือทำอย่างไรก่อนตายจะเก็บเสบียงข้ามชาติไว้มากๆ ชาติหน้าจะได้ไม่ต้องมาจนอีก หรือก่อนตายทำอย่างไรจะได้ฉลาดกว่านี้ ชาติหน้าจะได้ไม่ต้องกลับมาโง่อีก เราต้องรู้จักเลือกคิดเลือกจับมุมมองมาค้นคว้ากันให้เหมาะสมจะดีกว่า เพราะชีวิตมนุษย์ไม่ยืนยาว เพียงแค่ให้สติ เดี๋ยวเขาก็จะได้คิด


วิชชา ๓ ขจัดความสงสัยเรื่องอจินไตย

                       ทีนี้ โดยส่วนตัวเราเองจริงๆ ลึกๆ เรายังมีเรื่องที่สงสัยอยู่อีกมาก ถ้าสงสัย ๔ เรื่องที่ว่ามานี้ เก็บความสงสัยไว้ แต่ไม่ได้เอาทิ้ง เก็บเอาไว้เป็นกำลังใจว่า ก่อนตายจะต้องรู้เรื่องนี้ให้ได้ พระพุทธองค์ทรงทิ้งวิธีแก้สงสัยนี้เอาไว้ให้แล้วเป็นวิชชาประจำโลก ๓ วิชชา คือ

                       วิชชาที่ ๑ ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ คือ ระลึกชาติได้ วิชชานี้เริ่มต้นนับหนึ่งเมื่อถึงปฐมมรรคแล้ว ถ้าใครยังไม่ถึงปฐมมรรค วิชชาพวกนี้ไม่ต้องคุย เพราะฉะนั้นเมื่อเราอยากจะรู้พุทธวิสัย ฌานวิสัย วิบากแห่งกรรม และโลกจินดา เมื่อไรก็ให้เตือนตัวเองว่า เราจะต้องขยันนั่งสมาธิให้มากๆ ไม่ช้าก่อนตายคงได้เข้าถึงธรรมะ รู้ ๔ เรื่องนี้แน่ ที่เป็นอจินไตยสำหรับใคร จะไม่เป็นอจินไตยสำหรับเรา

                       วิชชาที่ ๒ จุตูปปาตญาณ คือ ระลึกชาติของผู้อื่นได้ เมื่อเราทำได้ การให้ผลแห่งกรรมจะมองเห็นอย่างชัดเจน เช่น ตอนชาตินั้นเราสวยอย่างกับนางฟ้า เลยไปค่อนขอดคนอื่นเขาว่า "โอ้ย ยายนั่นก็อ้วน ยายนี่ก็ดำ" ชาตินี้เราเลยเกิดมาอ้วนแล้วตัวดำด้วย วิบากแห่งกรรมเป็นอย่างนี้เอง

                       วิชชาที่ ๓ อาสวักขยญาณ คือ กำจัดกิเลสให้หมดไปได้ ที่เรียกว่าพระอรหันต์ ท่านบรรลุอาสวักขยญาณตรงนี้ ท่านเลยไปเห็นกิเลสที่อยู่ในใจของท่านชัดๆ แล้วอาศัยความที่ทำใจให้หยุดให้นิ่งอยู่ในศูนย์กลางกายได้อย่างถาวร เกิดความสว่างจนกระทั่งเห็นกิเลสของตัวเอง เห็นโปรแกรมที่กิเลสชักใยอยู่ในตัว ก็เลยฆ่ากิเลสไป เหมือนกับดวงอาทิตย์พอโผล่พ้นขอบฟ้าขึ้นมา ก็ฆ่าความมืดที่ห่อหุ้มโลกออกไปอย่างนั้น

                       เป็นอันว่าเรารู้แล้วว่า ในโลกนี้วิชชาหลักที่ต้องรู้จริงๆ มีแค่ ๓ เรื่อง แค่นั้น แต่ที่เราไปเรียนกันตามหลักสูตรอะไรต่างๆ ยิ่งเรียนยิ่งโง่ เพราะฉะนั้นพวกเรามาเรียนวิชชา ๓ กันเถิด เร่งให้เข้าถึงปฐมมรรค เร่งเข้าถึงธรรมกายให้ได้ แล้วคำว่า "อจินไตย" จะได้ไม่มีค้างใจอีกต่อไป

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

บทความอยู่ในบุญทั้งหมด ฉบับที่ ๑๔ ประจำเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๖

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล