วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ เลี้ยงลูกหลานอย่างไรให้ได้ดี เรียบเรียงจากพระธรรมเทศนา พระเดชพระคุณพระภาวนาวิริยคุณ (หลวงพ่อทัตตชีโว)

 

 

 

เรียบเรียงจากพระธรรมเทศนา
พระเดชพระคุณพระภาวนาวิริยคุณ
(หลวงพ่อทัตตชีโว)

วันอาทิตย์ที่ ๑๑ เดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๔๗



              พวกเราที่มาวัดกันเป็นประจำ ถึงแม้ว่าจะเคยได้รับการอบรมอย่างดีมาจากคุณพ่อ คุณแม่ จนกระทั่งสามารถตั้งเนื้อตั้งตัวเป็นหลักเป็นฐานได้ แต่เมื่อโตมาเป็นผู้ใหญ่แล้ว หลายคนต้องสะท้านใจว่า คุณพ่อคุณแม่ของเราหลายๆ คน ทั้งๆ ที่อ่านก็ไม่ออก เขียนก็ไม่ได้ หลายท่านพูดไทยไม่ชัดอีกต่างหาก แต่ท่านเหล่านั้นกลับเลี้ยงดูอบรมพวกเรามาจนได้ดี ส่วนพวกเราเอง แม้สามารถตั้งหลักตั้งฐานดีแล้ว แต่เมื่อต้องมาเลี้ยงลูกเอง กลับเลี้ยงสู้คุณพ่อคุณแม่ของเราที่เลี้ยงเราไม่ได้


เหตุแห่งการเลี้ยงลูกไม่ได้ดีดังใจ

              สาเหตุที่เราเลี้ยงลูกได้ไม่ดีเท่าคุณพ่อ คุณแม่ของเรานั้น ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากเมื่อเล็กๆ เรามีความรู้สึกว่า ตัวเองลำบากในการหาเลี้ยงชีพ ต้องปากกัดเท้าถีบ ใช้ความทรหด อดทนสารพัด เพราะฉะนั้นครั้นโตขึ้นตั้งตัวได้แล้ว มีลูกก็อยากให้ลูกสบาย ไม่ต้องมาลำบาก เหมือนเราตอนเด็กๆ ลูกอยากจะได้อะไรก็ ตามใจ หามาให้หมด ลูกเลยเสียคน เพราะธาตุทรหดอดทนที่เคยได้รับถ่ายทอดมาจากรุ่น พ่อแม่มาขาดตอนเสียตรงนี้ แล้วมาตั้งความหวังใหม่ว่า เราส่งลูกให้เรียนโรงเรียนดี ๆ แล้ว จะประสบความสำเร็จ แต่ก็หาได้เป็นอย่างนั้นไม่ เพราะความรู้อย่างหนึ่ง นิสัยก็อีก อย่างหนึ่ง

               วันนี้ มีคนไทยจำนวนมากที่ไม่รู้จักวิธีเลี้ยงลูก เพราะฉะนั้นลูกถึงไปยกพวกตีกัน ไปติดยาเสพติด แล้วก็ล้นคุกล้นตารางอย่างที่เป็นอยู่ ลักษณะอย่างนี้ ไม่ใช่เกิดเฉพาะในรุ่นพวกเราเท่านั้น แต่เกิดกันทั่วโลก ทุกวงศŒตระกูล

               พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อครั้งยังทรงเป็นพระโพธิสัตว์เคยพูดไว้ว่า ความรู้ทางด้านวิชาการ หากเกิดกับคนที่ไม่มีศีลธรรม และธาตุทรหดอดทนยังไม่พอ มีแต่จะนำความฉิบหายมาให้ เพราะเขาจะเอาความรู้นั้นมาใช้ในทางที่ผิด

               วันนี้ หลวงพ่อเลยขอถือโอกาสพูดเรื่อง หลักการเลี้ยงลูก เพื่อให้สังคมเกิดบุคคลเป็นที่สบาย โดยผ่านหัวข้อบุคคลเป็นที่สบาย ซึ่งเป็นข้อหนึ่งในปฏิรูปเทส ๔

               เนื่องจากหัวข้อที่พูดเป็นเรื่องของบุคคลเป็นที่สบายที่อยู่ในวัด ตรงนี้หมายถึงคุณสมบัติของพระภิกษุใหม่ที่ก้าวเข้ามาบวชวันแรก พวกเราฟังแล้วให้ปรับเอามาใช้เป็นหลักการเลี้ยงลูกที่บ้านของเรา

               พระองค์ทรงให้คุณสมบัติเอาไว้ ๕ ข้อ ดังนี้คือ


คุณสมบัติข้อที่ ๑ มีศรัทธา

              ศรัทธา หมายถึง ความเชื่อมั่นในเรื่อง กฎแห่งกรรม และการสั่งสมบารมีของ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

              พระพุทธองค์ทรงต้องการพระภิกษุที่เข้ามาบวชเป็นผู้มีศรัทธามั่นคง ในการเลี้ยงลูก เลี้ยงหลานนั้น คำถามแรกที่เราต้องถามตัวเอง เลยว่า ทำอย่างไรจะปลูกศรัทธาลูกหลานได้มั่นคง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศรัทธาในเรื่องของพุทธประวัติ เรื่องของกฎแห่งกรรม เรื่องของชาดก

              ถ้าปลูกศรัทธาตรงนี้ได้ ก็สมกับที่มาเป็นพ่อคนแม่คน ถึงแม้เราจะยากจน หรืออ่านหนังสือออกไม่ออกก็ไม่เป็นไร เพราะเราไม่ได้ปล่อยให้ลูกอดตาย แล้วยังสามารถปิดนรกให้กับลูกหลานได้ ตรงกันข้าม ถึงแม้จะรวยล้นฟ้า เลี้ยงลูกให้แข็งแรงเติบโตเท่าไร แต่ไม่สามารถปลูกศรัทธาให้ลูกได้ แสดงว่ายังปิดนรกเปิดสวรรค์ให้ลูกไม่ได้ ตรงนี้อันตรายกว่า


คุณสมบัติข้อที่ ๒ มีอาพาธน้อย

               เท่าที่หลวงพ่อสังเกตเห็น พวกเราหลายคนยังดูแลสุขภาพตัวเองได้ไม่ดีพอ เราลองนึกดูว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราเมื่อวันออกบวช ตลอดชีวิตของพระองค์ทรงอยู่แต่ในวังมาตลอดชีวิต ๒๙ พรรษา อยู่ดีๆ ออกบวชเข้าป่าไป แล้วทรงไม่มาล้มหมอนนอนเสื่อ ไม่เป็นไข้ป่า แสดงว่าพระองค์ดูแลสุขภาพได้ดีเยี่ยมจริงๆ อย่างพวกเราการดูแลสุขภาพยังทำไม่ได้ดีเท่าพระองค์

              เพราะฉะนั้น การเลี้ยงลูก นอกจากเราจะดูแลสุขภาพให้ลูกแล้ว ยังต้องปลูกฝังความรู้พื้นฐานในเรื่องการดูแลรักษาสุขภาพตัวเอง การบริหารร่างกาย การใช้สมุนไพรหยูกยาเบื้องต้นให้เพียงพออีกด้วย

              ความรู้ในเรื่องของการดูแลสุขภาพ ตัวเอง ขอให้ทุกคนอย่ามองข้าม ถ้ามองข้าม เมื่อถึงคราวเราต้องไปบำเพ็ญเพียรสมาธิกันจริง ๆ จะนั่งได้ไม่นาน เดี๋ยวก็สู้ไม่ไหว แต่ใครที่รู้จักรักษาสุขภาพดีจริง ๆ รักษาความสมดุลของธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ ในร่างกายได้ดี คนประเภทนี้เท่านั้นจึงจะนั่งสมาธิได้ก้าวหน้าจริง ตรงนี้หลวงพ่อกล้ายืนยัน เพราะเห็นตัวอย่างจากคุณยาย ทˆานรักษาสุขภาพดีมากๆ ขอ ฝากเตือนไว้


คุณสมบัติข้อที่ ๓ ไม่โอ้อวด ไม่มีมารยา

              "โอ้อวด" คือ ทำอะไรนิดหน่อย ก็คุยโวโอ้อวดมาก โม้จัด
              "มารยา" คือ เจ็บน้อยทำเป็นเจ็บมาก ป่วยน้อยทำเป็นป่วยมาก

              เท่าที่หลวงพ่อสังเกตมาตลอดชีวิต พวกขี้โม้มีอยู่ ๒ พวกใหญ่ คือ

              พวกที่ ๑ ตั้งแต่เล็ก พ่อแม่เขาไม่เคยสอนให้ทำงาน ยิ่งมีคนรับใช้ งานทุกอย่าง โยนให้คนใช้ทำ เลยทำงานใหญ่ไม่เป็น แต่ ตัวเองก็อยากให้คนอื่นชมว่าเก่ง เมื่อทำไม่ได้ก็ เอาปากทำแทน แล้วก็คุยโม้ไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้น ใครไม่ต้องการให้ลูกขี้โม้ ก็ต้องหัดให้ลูกทำงานเป็นตั้งแต่หัวเท่ากำปั้น ตั้งแต่ล้างถ้วย ล้างชาม ซักเสื้อผ้า อาบน้ำ เป็นต้น

              พวกที่ ๒ ปล่อยให้ลูกโกหกตั้งแต่เล็ก คนที่ขี้โม้โอ้อวดก็มาจาก หัดพูดโกหกตั้งแต่เรื่องเล็กๆ หรือเมื่อลูกติดการพนัน เด็กก็ต้องมีโม้ มีคุยข่มกันบ้าง เมื่อเป็นอย่างนี้เข้า ลูกพูดอย่างไรก็ไม่ทำอย่างนั้น ทำอย่างไรไม่พูด อย่างนั้น เพราะฉะนั้นนิสัยโอ้อวด มีมารยาก็เลยเกิดมาตั้งแต่เล็ก

              ถามว่าโรคประเภทนี้ ใครทำให้เกิดขึ้นกับลูก คำตอบคือ พ่อแม่ทำเอง หรือไม่อย่างนั้นก็เป็นลูกที่พ่อแม่ไม่ได้สั่งสอน เพราะว่าเลิกกัน เลยต้องเป็นอย่างนี้

              ถ้าใครมาตกอยู่ในภาวะที่พ่อแม่ก็ทิ้งเราไปแล้ว ให้รีบสอนตัวเองก็แล้วกันว่า นับแต่วันนี้ไปเราพูดอย่างไรจะทำอย่างนั้น ทำอย่างไรจะพูดอย่างนั้น และอะไรที่ยังทำไม่ได้ก็ฝึกเข้าไป สักวันหนึ่งก่อนตายคงทำได้


คุณสมบัติข้อที่ ๔ ปรารภความเพียร

              " ปรารภความเพียร" คือ นั่งสมาธิไม่มีเลิกรา ถึงเวลานั่งเป็นนั่ง ถึงเวลานอนเป็นนอน ถึงเวลาทำงานเป็นทำงาน
ใครที่ถูกฝึกมาตั้งแต่เล็กว่า ให้เป็นคนตรง ถึงเวลากินก็กิน ถึงเวลานอนก็นอน ถึงเวลาเรียนก็เรียน ถึงเวลาเล่นก็เล่น ถึงเวลาทำงานก็ทำงาน ทำอย่างนี้นิสัยชอบปรารภความเพียรจึงจะปรากฏ

              แต่ถ้าคิดว่า ลูกยังเป็นเด็กอยู่ จะเล่นไปบ้างก็ช่าง ตักข้าวใส่จานไปแล้ว ก็กินบ้าง เล่นบ้างไปเรื่อยๆ ข้าวจานเดียว กินเป็นชั่วโมงยังไม่จบ คนประเภทนี้ ไม่ปรารภความเพียรเสียแล้ว

              หรือใครที่ถึงเวลาแล้วจะต้องไปดูหนังสือ แต่เดี๋ยวก่อน ยังเล่นเกมอยู่ คนพวกนี้จะไปปรารภความเพียรเอง ย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะเป็นคนประเภทที่ตัดใจไม่เป็น

              ถ้าฝึกพื้นฐานตรงนี้ดี คนอย่างนี้จะปรารภความเพียรได้ เพราะเขาเป็นประเภทตัดสินแล้วก็ตัดใจ มีอุปสรรคอะไรอย่ามาขวาง เพราะขวางไม่อยู่


คุณสมบัติข้อที่ ๕ มีปัญญา

              พระพุทธองค์ต้องการคนมีปัญญา เราเองก็อยากฉลาด แต่ความฉลาดนั้นเป็นผลของทั้ง ๔ ข้อแรก คือ ต้องมีทั้งศรัทธา รักษาสุขภาพ ไม่ขี้โม้โอ้อวด ปรารภความเพียร เมื่อเป็นอย่างนี้ จึงจะมีปัญญางอกงามขึ้นมาในใจมาตามลำดับ เกิดความช่างสังเกตขึ้นมา

               จากสิ่งเหล่านี้ ที่อบรมมาจากบ้านบ้าง โรงเรียนบ้าง ที่ทำงานบ้าง ถ้าเขามีคุณสมบัติพร้อมเช่นนี้ ถ้าจะมาบวชเป็นพระภิกษุ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็พร้อมจะอ้าอกรับ ถ้าจะอยู่ทางโลกเส้นทางเศรษฐี มหาเศรษฐีก็เปิดสำหรับเขา หรือแม้ที่สุดเนื่องจากเป็นผู้หญิง มาบวชไม่ได้ ขอให้มีคุณสมบัติครบ ๕ ข้อนี้ การบรรลุธรรมถึงแม้จะยาก แต่ก็มีโอกาสทำได้

               คุณสมบัติทั้ง ๕ ข้อนี้ ไปทบทวนว่ามีครบหรือไม่ ใครยังมีไม่ครบ ไปช่วยเติมให้เต็มด้วย แล้วก็นำไปปรับใช้กับการฝึกอบรมบุตรหลานของพวกเราให้ดี อนาคตข้างหน้า ในบ้านเรา เมืองเราจะได้เต็มไปด้วยบุคคลเป็นที่สบาย แล้วประเทศไทยก็จะก้าวหน้าทั้งศีลธรรมและเทคโนโลยีที่สร้างสรรค์ ความเดือดร้อนวุ่นวายเพราะปัญหาเยาวชน จะได้หมดสิ้นไปจากประเทศไทย

 

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

บทความอยู่ในบุญทั้งหมด ฉบับที่ ๑๙ ประจำเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๗

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล