เรียบเรียงจากพระธรรมเทศนา พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (หลวงพ่อธัมมชโย)
วันจันทร์ที่ ๕ เดือนเมษายน พ.ศ.๒๕๔๗
การสร้างบารมีของพระสัมมาสัมพุทธเจ้างดงามทั้งเบื้องต้น ท่ามกลางและเบื้องปลาย พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นต้นแบบที่สมบูรณ์ที่สุดของมนุษย์และเทวดาทั้งหลายตลอดทั่วทั้งภพสาม
การบังเกิดขึ้นของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ย่อมยังตลอดภพสามให้สว่างไสว ดับความเร่าร้อนของกิเลส ทำให้สรรพสัตว์ทั้งหลายมีหนทางพ้นจากทุกข์ภัยในวัฏสงสาร
การแสดงธรรมของพระองค์เสมือนบุคคลหงายของที่คว่ำเปิดของที่ปิด หรือบอกหนทางแก่คนหลงทาง ประดุจส่องประทีปในที่มืด เพื่อให้คนที่มีตาดีได้มองเห็น
พระองค์ทรงเป็นผู้ห่างไกลจากกิเลส หรือพ้นจากกิเลสแล้ว เพราะทรงกำจัดเสียซึ่งกิเลสทั้งหลาย
พระองค์บริสุทธิ์ผุดผ่องประดุจแท่งทองชมพูนุท หรืออีกนัยหนึ่งว่าใสประดุจ ดวงแก้วอันประมาณค่ามิได้
เป็นผู้ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ หมายถึงทั้งรู้ ทั้งเห็นอย่างถูกต้อง โดยอาศัยธรรมจักษุและญาณทัสสนะ ซึ่งสิ่งทั้งหลายที่พระองค์รู้เห็นนั้นก็ตรงไปตามความเป็นจริง ไม่ใช่ว่าคาดคะเนหรือว่าอนุมานเอา
พระองค์ทรงเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ หมายถึงรู้สิ่งที่กำจัดความมืดคืออวิชชา และทรงมีศีลาจารวัตรที่งดงาม
สุคโต ทรงเป็นผู้เสด็จไปดีแล้ว หมายถึง เสด็จไปสู่พระนิพพาน และเมื่อพระพุทธองค์ ผู้ประพฤติดีทั้งกาย วาจา ใจ อย่างสม่ำเสมอมานับภพนับชาติไม่ถ้วน เมื่อเสด็จไปถึงที่ใด ย่อมยังสรรพสัตว์ทั้งหลายให้เกิดความชุ่มเย็นด้วยพระบุญญาบารมีของพระองค์
คำว่า สุคโต ใช้กับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะพระองค์เสด็จไปดีอย่างถาวร ซึ่ง แตกต่างจากมนุษย์จะใช้คำว่า สุคติ คือ ไปดีแบบชั่วคราว เพราะยังต้องเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสาร
ทรงรู้แจ้งโลก หมายถึง ทรงรู้ทุกสิ่ง ทุกอย่างที่อยู่ในภพสาม นอกภพก็รู้ นิพพาน ภพสาม โลกันต์ รู้หมดเลย ทั้งรู้ทั้งเห็นด้วยสัพพัญญุตญาณ ด้วยธรรมจักษุและด้วยญาณทัสสนะ แทงตลอดทั้งขันธโลก สัตวโลก โอกาสโลก แทงตลอดหมดเลยตั้งแต่จิตใจมนุษย์ ขันธ์ ๕ สิ่งแวดล้อมออกไป ประกอบเหตุอย่างนี้จะไปเป็นผลอย่างไร เจอผลอย่างนี้ มาจากประกอบเหตุอย่างไร เรื่องเหตุเรื่องผลพระองค์แทงตลอดหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวอะไรก็ตาม พระองค์ทรงรู้เห็นหมดทุกเรื่องที่ปรารถนาจะรู้ด้วยสัพพัญญุตญาณ
บางท่านมีคำถามว่า พระองค์สร้างจรวดได้ไหม แค่ไปส่องดูก็รู้แล้ว ทั้งรู้ทั้งเห็นถึงวิธีการอะไรทุกอย่างหมด แต่ความรู้นี้ไม่เกิดประโยชน์ จะไปถึงไหนกิเลสตัวเดิมก็ยังติดตัวไป เพราะฉะนั้นพระองค์รู้แต่ไม่ทำแล้วก็ไม่สอนใครด้วย เพราะมันไม่เกิดประโยชน์ ไม่ใช่หนทางดับทุกข์
พระพุทธเจ้าทรงเปรียบเสมือนสารถี ผู้ฝึกสอนคนเป็นอย่างดี จะหาผู้อื่นเสมอเหมือนมิได้ ครูบาอาจารย์ตามสถาบันการศึกษาต่างๆ สอน ยังติดอยู่ในภพ สอนแต่เรื่อง วิชาชีพ แต่พระองค์สอนวิชชาชีวิตให้บรรลุมรรคผลนิพพานได้ หลุดจากกิเลสอาสวะได้ พ้นจากสังสารวัฏได้ ซึ่งไม่มีใครสอนได้อย่างพระองค์ เพราะทรงทราบว่าชีวิตในสังสารวัฏขึ้นอยู่กับบุญและบาปเท่านั้น ถ้ายังไม่พ้น ตรงนี้ก็ยังตกอยู่ภายใต้กฎแห่งกรรม
ทรงเป็นพระบรมครูของมนุษย์และเทวดาทั้งหลาย ก็ยังไม่เคยเห็นศาสดาใดเป็นครูของเทวดา มีแต่อ้อนวอนเทวดา มีแต่มีเทวดาเป็นครู แต่พระองค์ทรงสอนมนุษย์และเทวดา ตลอดกระทั่งถึงพรหม โดยการแสดงธรรมสั่งสอน ให้กับพุทธบริษัททั้ง ๔ แล้วก็แก้ปัญหาให้กับเหล่าเทวดาในยามเที่ยงคืนทุกวัน
คำว่า เทวดา ในที่นี้ไม่ใช่หมายถึง สมมุติเทวดาคือพระราชาหรือผู้ปกครองประเทศเท่านั้น หากแต่หมายถึงเทวดาจริงๆ ที่มีรัศมีโอภาส เสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นต่างๆ มายืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง เพื่อมาซัก ถามปัญหาพระองค์ เพราะเทวดาก็ใช่ว่าจะรู้เรื่องราวไปทั้งหมด เพราะเทวดาก็คือ อดีตมนุษย์ แล้วก็ยังมีกิเลสอาสวะอยู่ คือยังมีเครื่องบดบังดวงตา การเห็นแจ้งและรู้แจ้ง เพราะทิพยจักษุจะไปแทงตลอดในธรรม ทั้งปวงไม่ได้ ต้องธรรมจักษุ
ทรงเป็นผู้เบิกบานเปรียบดอกปทุมชาติ ที่เปรียบกับดอกปทุมชาติ เพราะมนุษย์เคยเห็น แค่ดอกปทุมชาติ ถ้าอุปมาอย่างนี้เขาเห็นชัด แต่ถ้าบอกเบิกบานเหมือนดอกไม้บนสวรรค์มนุษย์ไม่เห็นก็จะไม่เข้าใจ เนื่องจากพระพุทธ-องค์ทรงสมความปรารถนาที่ทรงตั้งปณิธาน บำเพ็ญบารมีมานับภพนับชาติไม่ถ้วน เพื่อที่จะได้มาเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ทรงเป็นผู้จำแนกธรรมทั้งหลาย คือ กำหนดหัวข้อธรรมเป็นหัวข้อเรียงไปตามลำดับซึ่งไม่ใช่ง่าย เช่น สูตรแห่งความสำเร็จมี ๔ ประการ คือ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ทำไมพระองค์จำแนกได้ เพราะพระองค์ไปเห็น มาด้วยภาวนามยปัญญา เห็นเรียงเป็นข้อๆ และจะต้องเริ่มต้นด้วยฉันทะ มีใจรักที่จะทำพระนิพพานให้แจ้ง วิริยะ ทำความเพียร จิตตะ ใจต้องจดจ่อ วิมังสา หมั่นสังเกตพิจารณาดูว่า มีข้อบกพร่องอย่างไร แล้วก็จะพบวิธีแห่งการแก้ไข พบช่องทางแห่งความสำเร็จ จะมีเป็นข้อๆ ๑.ฉันทะ ๒.วิริยะ ๓.จิตตะ ๔.วิมังสา จะเป็นดวงธรรมอยู่ในดวงธรรม ในแต่ละดวงมีลักษณะไม่เหมือนกัน ฉันทะดวงหนึ่ง วิริยะดวงหนึ่ง จิตตะดวงหนึ่ง วิมังสาอีกดวงหนึ่ง พอเข้าไปถึงดวงฉันทะ จะรู้เลยว่า รสชาติฉันทะเป็นอย่างนี้ มีลักษณะอย่างนี้ มีคุณสมบัติอย่างนี้ เข้าไปในดวงที่ ๒ วิริยะ มีรสชาติอย่างนี้ เป็นอย่างนี้ จนครบ ๔ ดวง ไม่มีดวงที่ ๕, ๖, ๗ นี่คือ จำแนกธรรม ไม่อย่างนั้นจะเรียกจำแนกธรรม ได้อย่างไร
ไม่มีนักคิดคนใดในโลกคิดเรื่องราวเหล่านี้ได้ คิดไม่ออก คิดแล้วกะโหลกบานสติเฟื่อง แต่นักคิดทั้งหลายมักจะคิดว่า พระองค์ทรงเป็นนักคิดคนหนึ่งที่คิดขึ้นมาเป็นข้อๆ แต่ความจริงแล้วความรู้นี้ไม่ได้เกิดจากการคิด แต่เป็นความรู้ที่เกิดจากการเห็น พระองค์ไปเห็น พอเห็นแจ้งก็รู้แจ้งในทันทีว่ามีลักษณะเป็นอย่างนี้ๆ แล้วก็เห็นเป็นเรื่องราวว่า ใครที่รู้สูตรนี้ ประสบความสำเร็จอย่างไรทั้งทางโลกและทางธรรม พระองค์เห็นภาพเป็นเรื่องราว เพราะฉะนั้นทรงเป็นผู้จำแนกธรรมทั้งหลายให้เห็นชัด และนำมาเปิดเผยมาเล่าให้ฟัง ทำให้สาวกได้รู้เห็นและรับปฏิบัติสืบต่อๆ กันมา
ทรงประกาศพรหมจรรย์ คือแบบแห่งการประพฤติอันประเสริฐ บริสุทธิ์ บริบูรณ์ ไพเราะทั้งเบื้องต้น ท่ามกลาง และในที่สุด คือข้อวัตรปฏิบัติในการที่จะป็นผู้บริสุทธิ์ กาย วาจา ใจ ทำอย่างไร จุลศีลเป็นอย่างไร มัชฌิิมศีลเป็นอย่างไร มหาศีลเป็นอย่างไร หรืออธิศีลเป็นอย่างไร
ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ ที่จะรื้อสัตว์ขนสัตว์ให้พ้นจากทุกข์ภัยในวัฏสงสาร
ทรงยังสรรพสัตว์ทั้งหลายให้ดำรงอยู่ในอริยภูมิอันประเสริฐ คือสอนให้ทุกคน เข้าถึงอริยภูมิ ภูมิแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ทรงเป็นที่พึ่งอันเกษมอย่างสูงสุดของสรรพสัตว์ทั้งหลาย เป็นที่พึ่งคือทรงแนะนำสั่งสอน และนำคือทรงทำให้ดู และก็ยังเป็นแหล่งแห่งบุญที่พึ่งต่อสรรพสัตว์ทั้งหลาย และแม้พระองค์ดับขันธปรินิพพานไปแล้วก็ยังเป็นที่พึ่ง แค่ระลึกนึกถึงพระองค์ท่านด้วยพุทธานุสติก็ปิดประตูอบายภูมิ เปิดประตูสวรรค์
ทรงขับไล่อวิชชา คือความไม่รู้ ให้ออกไปจากขันธสันดานของสรรพสัตว์ทั้งหลาย คือเมื่อมวลมนุษย์ชาติได้ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระองค์ ก็จะขับความไม่รู้ที่อยู่ในใจของมวลมนุษยชาติให้หมดสิ้นไป เปลี่ยนมาเป็นความรู้แทน
ทรงเป็นผู้รู้เรื่องราวความเป็นจริงของโลกและชีวิตอย่างแจ่มแจ้งแทงตลอด
ถึงแม้จะเสด็จดับขันธปรินิพพานนานมาได้ ๒,๕๔๗ ปีแล้วก็ตาม ถึงกระนั้นพระพุทธคุณอันไม่มีประมาณ ก็ไม่ได้เลือนหายไปจากใจของเราชาวพุทธบริษัท ๔ เลย
เพราะฉะนั้น ถึงเวลาแล้วที่พุทธบริษัท ๔ ทั้งหลาย จะต้องหันกลับมาศึกษาพุทธประวัติอย่างจริงจัง จะได้มีจิตเลื่อมใสในพระองค์ในฐานะที่ทรงเป็นพระบรมครู ตั้งใจศึกษาฝึกฝนและปฏิบัติ แล้วก็จะได้มาเป็นพยานในการตรัสรู้ธรรมของพระองค์ เป็นแบบอย่างในการสร้างบารมีติดตามพระพุทธองค์ไปสู่ พระนิพพาน อันเป็นเป้าหมายสูงสุดในการเกิดมาเป็นมนุษย์