ในการทำงานร่วมกันเป็นทีม มักเกิดปัญหากระทบกระทั่งกันเสมอ ทำอย่างไร ถึงจะแก้ปัญหานี้ได้เจ้าคะ?
ในเรื่องของการทำงาน ไม่ว่าการทำงานที่เป็นทีม หรือไม่เป็นทีมก็ตาม สาเหตุที่มักจะก่อให้เกิดเป็นปัญหาขึ้นมา คือการขาดแคลนสิ่งต่างๆ ดังนี้
๑. ความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับงานที่ทำ
๒. อุปกรณ์ เครื่องไม้เครื่องมือในการทำงาน
๓. สถานที่ทำงาน
๔. เวลาสำหรับการทำงาน
ทั้ง ๔ เรื่องนี้ มักจะก่อให้เกิดปัญหาในการทำงานเสมอ แต่ว่าพอถึงเวลาทำงานเข้า จริงๆ เมื่อได้ทำไป ศึกษาไป ไม่ช้าก็จะค่อยๆ แก้ไขได้เป็นลำดับๆ ไป
ส่วนในการทำงานเป็นทีมนั้น แม้ความรู้ ความเข้าใจในงานก็มี อุปกรณ์ก็มี สถานที่ก็ดี เวลาในการทำงานก็มีพอสมควร ไม่ถึงกับบีบรัดจนเกินไปนัก แต่ปรากฏว่า ปัญหาที่มักจะหนี ไม่พ้นก็คือ การกระทบกระทั่งระหว่างผู้ที่ร่วมทำงานด้วยกัน
ถ้ากระทบกระทั่งกันด้วยเรื่องเล็กๆ น้อยๆ หรือกระทบกระทั่งกันเพราะการขาดแคลนใน ๔ เรื่องที่กล่าวมาข้างต้น การกระทบกระทั่งนั้น จะไม่หนักหนาจนเกินไปนัก ทำงานต่อไปสักพักก็สามารถแก้ไขได้ แต่ที่แก้ไขได้ยากกลับอยู่ที่นิสัยของคน
นิสัยที่ทำให้คนเราเกิดการกระทบกระทั่ง กัน จนกระทั่งทำงานร่วมกันเป็นทีมไม่ได้ หรือบางครั้งถึงกับแตกกันไปเลยก็มี ได้แก่
๑. นิสัยชอบเอาเปรียบคนอื่น คือ พอทำงานร่วมกันหลายๆ คนเข้า ก็เริ่มมีการเอาเปรียบกันเอง จนกลายเป็นที่มาแห่งการเกี่ยงงาน การแย่งชิงผลประโยชน์กัน
๒. นิสัยปากเสีย ในหลายๆ แห่ง แม้ไม่มีการเกี่ยงงาน แต่ก็ยังไม่วายกระทบกระทั่งกัน สาเหตุก็คือมีคนปากเสียอยู่ในที่ทำงานนั้น คือขอให้ได้พูดกระแนะกระแหน พูดยุให้รำตำให้รั่ว พูดข่ม พูดค่อนขอดชาวบ้านเขาสักหน่อยเถอะ
๓. นิสัยแล้งน้ำใจ บางทีอะไรก็ดีอยู่หรอก แต่ว่าผู้คนช่างแล้งน้ำใจเหลือเกิน เวลาใครติดขัดขึ้นมาก็ไม่ช่วยเหลือกัน นอกจากไม่ช่วยแล้ว บางทียังซ้ำเติมกันเสียอีก
๔. นิสัยไม่มีความรับผิดชอบ ในที่ทำงานบางแห่ง แย่งชิงผลประโยชน์กันจนกระทั่ง มีการแทงกันข้างหลัง มีการปัดความรับผิดชอบ เช่น เวลางานที่ทำเป็นเค้าเป็นโครงขึ้นมา มีทีท่าว่าจะเป็นผลสำเร็จแล้ว ต่างคนต่างก็เสนอหน้าเข้ามา จะมาเอาความดีความชอบ ว่าฉันเป็นคนทำงานนั้นเอง
แต่พอรู้ตัวว่า งานที่กำลังทำอยู่นั้น อาจจะมีความผิดพลาด หรือมีทีท่าว่าจะเกิดความเสียหายขึ้นมา ต่างคนต่างโดดผางออกไป รีบปัดความรับผิดชอบของตัวเอง ไปให้คนอื่นทันที ทั้งที่เมื่อวานบอกว่า ฉันเป็นคนทำเอง แต่วันนี้กลับปัดไปให้คนอื่นเสียแล้ว เพราะมีแววว่าจะเกิดความเสียหาย จนกลายเป็นการแทงกันข้างหลังก็มี
สิ่งเหล่านี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราทรงมองทะลุปรุโปร่ง จึงได้ทรงสอนเอาไว้ว่า ในการที่จะทำงานเป็นทีมนั้น ก่อนอื่นต้องปรับนิสัยของคนในทีมงานให้ได้เสียก่อน
คนที่จะมาทำงานร่วมกันเป็นทีมได้นั้น เขาจะต้องเป็นนักให้ คือ
๑. ให้วัตถุสิ่งของ คือ มีข้าวมีของอะไร ก็แบ่งปันกันให้ถ้วนหน้า ที่พระพุทธองค์ทรงเรียกว่า "ทาน" นั่นเอง
๒. ให้คำพูดดีๆ คำพูดที่เพราะๆ คือ พูดให้กำลังใจคนเป็น คำพูดประเภททอนน้ำใจกัน ต้องอย่าให้มี การให้อย่างนี้ไม่ต้องลงทุนลงแรงอะไรเลย แต่ว่ามีผลดีเกิดขึ้นมากมาย
เพราะสิ่งที่ทอนน้ำใจคน ทำให้เกิดการ กระทบกระทั่งได้มาก ไม่มีอะไรเกินคำพูดที่ทอนกำลังใจกัน แต่ถ้าเป็นคำพูดเชิงสร้างสรรค์เมื่อไร กำลังใจมาเป็นพายุทีเดียว คำพูดดีๆ คำพูดที่ไพเราะๆ นี้ พระพุทธองค์ทรงใช้คำว่า ปิยวาจา
๓. ให้เรี่ยวแรง ให้ความรู้ เมื่อเพื่อน ร่วมงานขาดความรู้ในเรื่องใด ก็รีบสอนให้เขาทันที ไม่หวงความรู้ หรือว่าเขาไม่ได้ขาดความรู้ แต่กำลังคนของเขาขาด อย่างนั้นฉันก็ยินดีที่จะโดดลงไป ลุยฝุ่น ลุยโคลน กับคุณทันทีอีกเหมือนกัน
การให้เรี่ยวแรง ให้ความรู้ ให้ความช่วยเหลือทุกรูปแบบอย่างนี้ พระพุทธองค์ทรงใช้คำว่า "อัตถจริยา"
๔. ให้ความเสมอต้นเสมอปลาย การให้ความเสมอต้นเสมอปลายสมกับที่เรารับตำแหน่งในงานนั้นๆ จะมีผลทำให้เกิดความปลอดภัย ไม่ต้องคอยระแวงกัน การแทงกันข้างหลัง การเลื่อยขาเก้าอี้กัน ก็จะไม่มี เมื่อไม่มีการแทงกันข้างหลัง ไม่มีการเลื่อยขาเก้าอี้กันเสียแล้ว การ กระทบกระทั่งกันก็ไม่มี
การทำตัวให้เสมอต้นเสมอปลาย ไม่ขึ้นๆ ลงๆ นี้ พระพุทธองค์ทรงใช้คำว่า "สมานัตตตา"
เพราะฉะนั้น การที่จะทำงานเป็นทีมโดยไม่มีการกระทบกระทั่งกัน จะต้องเป็นนักให้ คือ ให้ทั้งสิ่งของ ให้ทั้งคำพูด ให้ทั้งความรู้ ความสามารถ แล้วก็ให้ความปลอดภัยกับทุกๆ คน
แต่นั่นแหละลูกเอ๊ย การให้ทั้ง ๔ ประการนี้ ไม่ใช่ให้กันแค่ประเดี๋ยวประด๋าว ไม่ใช่ให้กันเป็นครั้งเป็นคราว แต่ต้องเพาะให้เกิดเป็นนิสัยขึ้นมาให้ได้ เมื่อเพาะจนเกิดเป็นนิสัยได้แล้ว การกระทบกระทั่งกับใครก็จะไม่เกิด ไม่ว่าคนๆ นั้นจะไปร่วมทำงานเป็นทีมกับใคร เขาก็จะไปนั่งอยู่ในดวงใจของทุกๆ คน