Dhammaforpeople
ธรรมะเพื่อประชาชน
ตอน เลี้ยงดูแม่พ่อเกิดก่อสวรรค์
สภาพใจของคนทั่วไปที่ยังไม่ได้ฝึกฝน มักจะส่ายไม่หยุดนิ่ง ดิ้นรนไปมาเหมือนปลาที่ถูกยกขึ้นบนบก มีแต่ดิ้นรนเพื่อกลับไปหาแหล่งน้ำ ร่างกายของคนเรานั้นแม้จะมีการเปลี่ยนแปลง เจริญขึ้นตามวัย อีกทั้งเป็นรูปธรรม แต่กลับไม่มีใครสามารถบังคับให้อยู่ในอำนาจตามต้องการได้
ผิดกับใจที่ดูเหมือนว่ามองไม่เห็นด้วยตาเปล่า กลับพร้อมที่จะยอมรับการฝึกฝนให้เป็นไปตามต้องการ และเมื่อฝึกฝนจนกระทั่งละเอียดอ่อนนุ่มนวลควรแก่การงานแล้ว ก็สามารถที่จะโน้มน้าวไปที่ไหนก็ได้ ตามปรารถนา
มีวาระพระบาลีที่มาในสุวรรณสามชาดก ว่า
โย มาตรํ ปิตรํ วา มจฺโจ ธมฺเมน โปสติ
อิเธว นํ ปสํสนฺติ เปจฺจ สคฺเค ปโมทติ
ผู้เลี้ยงดูบิดามารดาโดยธรรม นักปราชญ์ย่อมสรรเสริญผู้นั้นในโลกนี้ บุคคลนั้นละจากโลกนี้ไปแล้ว ย่อมบันเทิงอยู่ในสุคติโลกสวรรค์
ปัจจุบันมีหลายประเทศทั่วโลก ที่ได้รับการยอมรับว่า เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยวัดกันที่มาตรฐานการศึกษา ค่าครองชีพ และเทคโนโลยีต่างๆ แต่มีสิ่งหนึ่งที่มาพร้อมความเจริญด้านวัตถุ คือพ่อแม่ที่แก่เฒ่า ถูกทอดทิ้งเพิ่มมากขึ้น จนกลายเป็นปัญหาสังคม ทางรัฐบาลต้องทุ่มงบประมาณจำนวณมหาศาลเพื่อลงไปแก้ไข ด้วยการจัดสถานที่รองรับคนชราที่ลูกไม่ได้เลี้ยงดู
ผู้สูงอายุเหล่านั้นต้องทนอยู่ในความโดดเดี่ยว อ้างว้าง บางท่านต้องเข้าไปอยู่บ้านพักคนชราเพราะความจำเป็นก็มี จำใจไปก็มี เช่น บางคนไปอยู่เนื่องจากไม่อยากให้ลูกต้องมาลำบากเพราะพ่อแม่ อยากให้ลูกได้มีความสุขกับชีวิตครอบครัว ได้ทำงานอย่างเต็มที่ แต่ลูกบางคนบอกว่าไม่มีเวลาดูแลจึงให้พ่อแม่ไปอยู่ที่นั่นและก็ส่งเงินไปให้ใช้เป็นประจำ
มีบางท่านอยากให้พ่อแม่อยู่บ้านเหมือนกัน แต่ลูกๆไม่รู้วิธีการเอาใจคนแก่ว่าต้องการอะไร เมื่อพ่อแม่เห็นว่าลูกไม่เอาใจใส่ตัวเองมัวแต่ยุ่งเกี่ยวกับธุรกิจการงาน ก็ทำให้เกิดอาการน้อยใจ จึงตัดสินใจหนีไปอยู่บ้านพักคนชรา ทำให้คุณธรรม คือความกตัญญูกตเวทีระหว่างลูกที่มีต่อบิดามารดาผู้เป็นบุพการีก็ลดลงไปเรื่อยๆ
ตัวอย่างหน้าที่ของลูกที่พึงปฏิบัติต่อบิดามารดา เป็นเรื่องของพระภิกษุรูปหนึ่ง แม้ท่านบวชมาแล้วก็ยังทำหน้าที่พระลูกชายยอดกตัญญู ออกบิณฑบาตมาเลี้ยงบิดามารดาผู้บังเกิดเกล้า เรื่องมีอยู่ว่า ในสมัยพุทธกาลที่กรุงสาวัตถี มีลูกชายเศรษฐีท่านหนึ่งเป็นคนมีบุญ เมื่อได้ฟังธรรมจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วเกิดศรัทธา
จึงขอพ่อแม่ออกบวช แต่ก็ได้รับการปฏิเสธ แต่ก็ไม่ยอมแพ้ จึงอดอาหารประท้วง ไม่ยอมทานอาหารถึง ๗ วัน พ่อแม่จึงคิดว่าถ้าไม่ยอมให้บวช ลูกต้องตายแน่ แต่ถ้ายอมให้ลูกบวชก็ยังมีโอกาสเห็นหน้าลูกชายบ้าง จึงพร้อมยอมให้บวช
ลูกชายดีใจรีบกราบแทบเท้าบิดามารดาแล้วรีบไปวัดเชตะวันเพื่อขอรับการบรรพยาอุปสมบท เมื่อได้บวชแล้วก็ตั้งใจศึกษาคันถธุระอยู่ ๕ พรรษาแล้วจึงปลีกวิเวกด้วยการเข้าไปบำเพ็ญเพียรอยู่ในป่าตามลำพัง ท่านทำความเพียรอยู่ ๑๒ ปี แต่ก็ไม่ได้คุณวิเศษอะไร
ส่วนโยมพ่อโยมแม่ของท่าน เมื่อไม่มีลูกชายแล้วก็ไม่อาจรักษาทรัพย์สมบัติเอาไว้ได้ เพราะความแก่เฒ่า ธุรกิจการค้าก็ถูกเขาคดโกงเอาไป แม้แต่ข้าทาส คนรับใช้ ก็ขโมยทรัพย์สินไปหมด ในที่สุด แม้แต่บ้านก็ต้องขายไป ไม่มีที่อยู่อาศัย จำต้องเลี้ยงชีพด้วยการขอทาน อย่างน่าเวทนา
มีอยู่วันหนึ่งท่านได้ข่าวคราวของโยมพ่อโยมแม่กับภิกษุอาคันตุกะ ว่ากำลังตกทุกข์ได้ยาก ต้องขอทานเขากิน ก็รู้สึกสงสารขึ้นมาอย่างจับจิตจับใจ ประกอบกับช่วงนั้นท่านก็รู้สึกท้อที่ผลการปฏิบัติธรรมไม่ได้ก้าวหน้า จึงคิดอยากสึกไปเป็นคฤหัสถ์ เพื่อเลี้ยงดูมารดาบิดา
ท่านรีบเดินทางกลับกรุงสาวัตถีทันทีเมื่อเดินทางกลับทางสองแพร่ง ระหว่างไปบ้านเกิดกับไปวัดเชตะวัน ท่านก็คิดว่าไหนๆก็จะสึกแล้ว ไปเข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก่อนดีกว่า ในเช้านั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมเรื่องความกตัญญู
เมื่อท่านได้ฟังเช่นนั้นก็เกิดความวิริยะ อุตสาหะ ที่จะบำรุงดูเลี้ยงดาบิดามารดาในเพศบรรพชิต ได้ออกตามหามารดาบิดาจนพบ มองเห็นท่านทั้งสองกำลังนั่งขอทานอยู่ จึงเดินเข้าไปยืนใกล้ๆ หนึ่งในผู้เฒ่าทั้งสองก็กล่าวว่า
“นิมนต์พระคุณเจ้าข้างหน้าเถิดค่ะ” โยมแม่ของท่านพูดโดยไม่กล้ามองหน้าพระ ฝ่ายพระลูกชายก็ได้แต่ยืนนิ่ง น้ำตานองหน้า เพราะสงสารมารดาเหลือเกิน แม้โยมแม่จะกล่าวนิมนต์ให้ไปข้างหน้าหลายครั้ง แต่ท่านก็ยืนนิ่งเฉยอย่างนั้น ฝ่ายบิดาเริ่มเอะใจ จึงสังเกตดูภิกษุรูปนี้ ในที่สุดก็จำได้ว่าเป็นลูกชายของตน ทั้งสามจึงร่ำไห้
พระลูกชายก็ปลอบใจโยมทั้งสองว่า “โยมพ่อ โยมแม่ ไม่ต้องลำบากหรอก จากนี้ไปไม่ต้องมาขอทานแล้ว พระจะบิณฑบาตไปให้โยมพ่อโยมแม่เอง” ตั้งแต่นั้นมา อาหารบิณฑบาตที่ได้มาท่านก็นำมาให้มารดาบิดารับประทานก่อน ผ้าจีวรที่มีผู้ถวายมา ท่านก็นำมาให้มารดาบิดาซักย้อมและตัดเย็บสวมใส่
ฉะนั้นพระลูกชายจึงมีอาหารไม่พอฉันท์ แต่ก็สู้อดทนเลี้ยงดูด้วยความกตัญญูกตเวที จนในที่สุดท่านก็ซูบผอม ร่างกายผอมเหลือง สะพรั่งไปด้วยเส้นเอ็น เพื่อนสหธรรมิกเห็นอาการผิดปกติเช่นนั้น จึงไต่ถามดูว่า “อาวุโส เมื่อก่อนท่านมีผิวพรรณวรรณะผ่องใส แต่เดี๋ยวนี้ร่างกายผ่ายผอม สะพรั่งไปด้วยเส้นเอ็ม ท่านป่วยเป็นด้วยโรคอะไรหรือ”
ท่านก็ตอบไปว่าไม่ได้ป่วยเป็นโรคอะไรหรอก เพียงแต่ว่าอาหารไม่พอฉันท์ เนื่องจากต้องแบ่งอาหารไปให้โยมพ่อโยมแม่ เพื่อสหธรรมิกได้ยินเช่นนั้น เนื่องจากเป็นผู้เคร่งครัดในธรรมวินัย จึงตำหนิท่านว่า การนำอาหารที่เขาถวายมาด้วยศรัทธาไปเลี้ยงดูคฤหัสถ์เป็นสิ่งที่ไม่สมควร เรื่องการเลี้ยงอาหารแก่คฤหัสถ์ จึงถูกโจทย์ขานขึ้นในหมู่สงฆ์ ภิกษุสงฆ์จึงกราบทูลเรื่องนั้นให้พระผู้มีพระภาคเข้าทรงทราบ
พระพุทธองค์จึงตรัสเรียกท่านขึ้นมาสอบถามในท่ามกลางมหาสังฆสมาคม ท่านก็ได้แต่ก้มหน้านิ่ง ยอมรับคำตำหนิท่ามกลางสงฆ์ เมื่อพระบรมศาสดาตรัสถามว่า “ดูก่อนภิกษุ เธอนำอาหารที่เขาถวายด้วยความศรัทธา ไปเลี้ยงดูคฤหัสถ์จริงหรือ”
ท่านก็ตอบไปว่าจริง พระพุทธองค์จึงถามต่อว่า “เธอเอาอาหารไปเลี้ยงดูคฤหัสถ์ไหนล่ะ”
ท่านจึงบอกว่าเป็นมารดาบิดาของท่านเอง เตรียมใจรับคำตักเตือนจากพระบรมศาสดาด้วยความเคารพ
แต่สิ่งที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น เมื่อได้ยินเสียงสาธุการจากพระองค์ถึงสามครั้งว่า “สาธุ สาธุ สาธุ เธอทำถูกต้องแล้ว แม้เราในอดีตก็บำรุงเลี้ยงดูบิดามารดาเหมือนกัน” แล้วพระองค์ตรัสเล่าเรื่องสุวรรณสามชาดก ซึ่งเป็นพระชาติหนึ่งของพระองค์ ที่บำรุงเลี้ยงดูบิดามารดาผู้ตาบอดทั้งสองข้าง ด้วยความขยันขันแข็ง แม้ว่าจะประสบเภทภัยจนเกือบถึงแก่ชีวิต ก็ไม่อาลัยกับชีวิตตน จิตห่วงใยแต่มารดาบิดา และด้วยแรงกตัญญู จึงทำให้ท่านรอดพ้นจากอันตรายครั้งนั้นมาได้ ภิกษุหนุ่มฟังแล้วก็ปลื้มใจ อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
เพราสิ่งที่ท่านทำลงไป นอกจากจะไม่ผิดธรรมวินัยแล้ว ยังได้รับการยกย่องจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอีกด้วย เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเห็นท่านมีจิตแช่มชื่นเบิกบานดีแล้ว ก็เริ่มแสดงอริยสัจ ท่านได้ปล่อยใจไปตามกระแสพระธรรมเทศนา ศูนย์กลางกลายของท่านที่เคยมืดมิดมาตลอด ๑๒ ปี ก็สว่างขึ้น มีใจหยุดใจนิ่ง ในที่สุดก็เข้าถึงพระธรรมกายโสดาบัน เป็นพระอริยเจ้า
การเลี้ยงดูบิดามารดา มีอานิสงส์ใหญ่ นอกจากมนุษย์และเทวดาทั่วไปจะพากันยกย่องสรรเสริญแล้ว กระทั่งพระพุทธองค์ก็ทรงอนุโมทนาด้วย พ่อแม่ถือว่าเป็นยอดแห่งบุพการีชน เป็นประดุจพระอรหันต์ของลูกๆทุกคน เพราะฉะนั้น แม้ลูกจะอยู่ในสถานะไหนก็ตาม ลูกทุกคนก็มีหน้าที่ต้องเลี้ยงดูบิดามารดา ขนาดพระพุทธองค์ยังอนุญาตให้ภิกษุสามารถเลี้ยงดูบิดามารดาได้
ดังนั้น เรามีโอกาสดีแล้ว ต้องมีจิตสำนึกของความเป็นลูกกตัญญู เลี้ยงดูบิดามารดาทั้งทางกายและทางใจ อย่าให้บิดามารดาต้องน้ำตานองหน้า อยู่โดดเดี่ยวเดียวดาย นั่งเหม่อลอยอยู่ตามบ้านพักคนชรา เพราะลูกหลานไม่เหลียวแล อย่าทำให้ท่านตรอมใจ ตำหนิลูกหลานอยู่ในใจว่าเป็นคนอกตัญญู ไม่รู้บุญคุณคน