ธรรมะเพื่อประชาชน พร้อมภาพประกอบ คติธรรม ข้อคิดสอนใจ

ดูก่อนท่านผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร ท่านทั้งหลายอย่ากลัวต่อบุญเลย เพราะคำว่าบุญนี้เป็นชื่อของความสุข ดูก่อนท่านผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร เราย่อมรู้ชัดผลแห่งบุญอันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ที่เราเสวยแล้วตลอดกาลนาน

ชาดก : ธรรมะเพื่อประชาชน Dhamma for peopleรวมนิทานอีสปพร้อมภาพประกอบ  ข้อคิดสอนใจ

ธรรมะเพื่อประชาชน :   ธรรมโอสถ              


ธรรมะเพื่อประชาชน :   ธรรมโอสถ              

Dhamma for people
ธรรมะเพื่อประชาชน

 

DhammaPP136_01.jpg

ธรรมโอสถ 

               พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน คิลานสูตร ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในคนไข้ ๓ ประเภทนั้น คนไข้ผู้ได้อาหารพอเหมาะ ได้ยาที่พอเหมาะ ได้คนพยาบาลที่สมควร จึงหายจากอาพาธ ไม่ได้อาหารที่เหมาะสม ยาที่เหมาะสม แล้วก็พยาบาลที่สมควร ย่อมไม่หายจากอาพาธ ความทุกข์ประจำสังขาร เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ทุกคน มากบ้างน้อยบ้าง ขึ้นอยู่กับแต่ละคนว่า ใครจะมีวิธีการบำบัดทุกอย่างไร ทุกที่เกิดจากการเจ็บไข้ได้ป่วยนั้น เป็นสิ่งที่เราหลีกเลี่ยงได้ยาก ทุกคนต่างก็ต้องเผชิญกับการเจ็บป่วย มากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่เหตุปัจจัยของแต่ละคน 


                    แม้แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ยังไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงสิ่งเหล่านี้ได้ พระองค์จึงตรัสแนะนำวิธีการที่จะบำบัดทุกข์ จากทุกข์มากก็จะทุกข์น้อย จากทุกข์น้อยก็ให้พ้นทุกข์ ให้หายจากโรคภัยอย่างรวดเร็ว วิธีการนี้พระองค์ตรัสไว้ ๓ วิธีคือ การได้รับประทานอาหารที่เหมาะสม การได้ยารักษาที่ถูกกับโรคและการดูแลรักษาจากหมอ พยาบาลและคนเยี่ยมไข้ที่ดี หากมีองค์ประกอบครบทั้ง ๓ อย่างนี้ ก็จะทำให้โรคภัยไข้เจ็บนั้น หายได้อย่างรวดเร็ว สำหรับวันนี้หลวงพ่อมีตัวอย่างของการเยี่ยมไข้คนป่วยที่พุทธองค์ตรัสแนะนำพระอานนท์ และทรงทำเป็นแบบอย่างในการปฏิบัติ มาเล่าให้ลูกๆได้รับฟังกันนะจ๊ะ  


                    เรื่องก็มีอยู่ว่า ในสมัยที่พระผู้มีพระเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ท่านพระคิริมานนท์เกิดอาพาธเป็นไข้หนัก พระอานนท์จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า    แล้วกราบทูลอาการป่วยของพระคิริมานนท์ให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาคตรัสวิธีการเยี่ยมภิกษุผู้ป่วยให้พระอานนท์ทราบว่า ดูก่อนอานนท์ถ้าเธอเข้าไปเยี่ยมไข้แล้วกล่าวสัญญา ๑๐ ประการแก่พระคิริมานนท์อาพาธจะระงับโดยฉับพลัน 


                    สัญญา ๑๐ ประการคือ 
                         อนิจจสัญญา 
                         อนัตตสัญญา 
                         อสุภสัญญา 
                         อาทีนวสัญญา 
                         ปหานสัญญา 
                         วิราคสัญญา 
                         นิโรธสัญญา 
                         สัพพโลเกอนภิรตสัญญา 
                         สัพพสังขาเรสุอนิจจสัญญา 
                         อานาปานัสสติ 


                    ดูก่อนอานนท์อนิจจสัญญาเป็นอย่างไร ภิกษุในธรรมะวินัยนี้ไปสู่ป่าก็ดี ไปสู่โคนไม้ก็ดี ไปสู่เรือนว่างก็ดี ย่อมพิจารณาเห็นว่า รูป เวทนา สัญญา สังขารและวิญญาณเป็นของไม่เที่ยง เธอย่อมเป็นผู้พิจารณาเห็นในอุปทานขันธ์ ๕ นี้ โดยความเป็นของไม่เที่ยง อย่างนี้เรียกว่า อนิจจสัญญา 

                  ดูก่อนอานนท์ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ไปสู่ป่าก็ดี ไปสู่โคนไม้ก็ดี ไปสู่เรือนว่างก็ดี ย่อมพิจารณาเห็นว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสและธรรมารมณ์เป็นของไม่ใช่ตัวตน เธอย่อมเป็นผู้พิจารณาเห็นอายตนะทั้งหลาย ทั้งภายในและภายนอกนี้ โดยความเป็นอนัตตาที่เรียกว่า อนัตตสัญญา 

                   ดูก่อนอานนท์ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นกายนี้ว่า ตั้งแต่พื้นเท้าขึ้นไปและตั้งแต่ปลายผมลงมา มีหนังหุ้มอยู่โดยรอบ เต็มไปด้วยของไม่สะอาด มีประการต่างๆ ในกายนี้มีผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ปอด ตับ ม้าม ไต หัวใจ เป็นต้น ย่อมพิจารณาเห็นโดยความเป็นของไม่งาม นี้ก็เรียกว่าอสุภสัญญา

                      ดูก่อนอานนท์ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ไปสู่ป่าก็ดี ไปสู่โคนไม้ก็ดี ไปสู่เรือนว่างก็ดี ย่อมพิจารณาเห็นกายนี้ว่า มีทุกข์มากมีโทษมาก เป็นบ่อเกิดแห่งโรคทั้งหลาย เพราะฉะนั้นอาพาธต่างๆ ยังเกิดขึ้นในกายนี้เช่น โรคตา โรคหู โรคจมูก โรคที่มีลมเป็นสมุฏฐาน โรคอันเกิดจากบริหารกายไม่สม่ำเสมอ โรคอันเกิดจากความเพียรเกินกำลัง โรคอันเกิดจากวิบากกรรม เกิดจากความหนาว ความร้อน ความหิว ความกระหาย ปวดอุจจาระ ปวดปัสสาวะอย่างนี้เป็นต้น ย่อมพิจารณานาเห็นโดยความเป็นโทษในกายนี้ นี้เรียกว่าอาทีนวสัญญา

                    ดูก่อนอานนท์ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ไม่รับความครุ่นคิด เรื่องกาม เรื่องพยาบาทปองร้าย เรื่องการเบียดเบียนผู้อื่นและเรื่องอกุศลธรรมอันชั่วช้า แม้ว่าความคิดชั่วเกิดขึ้นแล้ว ก็สามารถละ บรรเทาทำให้สิ้นสุด ทำให้ถึงความเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป นี้ก็เรียกว่าปหานสัญญา

                    ดูก่อนอานนท์ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ไปสู่ป่าก็ดี ไปสู่โคนไม้ก็ดี ไปสู่เรือนว่างก็ดี ย่อมพิจารณาเห็นว่าธรรมชาตินั้นสงบประณีต เป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง เป็นที่สละคืนอุปธิทั้งปวง เป็นที่สิ้นไปแห่งตัณหาเป็นที่สำรอกกิเลส ดับกิเลสและกองทุกข์คือพระนิพพานนี้เรียกว่าวิราคสัญญา

                    ดูก่อนอานนท์ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ไปสู่ป่าก็ดี ไปสู่โคนไม้ก็ดี ไปสู่เรือนว่างก็ดี ย่อมพิจารณาเห็นว่า ธรรมชาตินั้นสงบประณีต เป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง เป็นที่สละคืนอุปธิทั้งปวง เป็นที่สิ้นไปแห่งตัณหา เป็นที่ดับโดยไม่เหลือ ธรรมชาติเป็นที่ดับกิเลสและกองทุกข์คือ พระนิพพาน นี้เรียกว่า นิโรธสัญญา

                    ดูก่อนอานนท์ภิกษุในธรรมวินันนี้ ละตัณหาทิฏฐิและอุปทาน อันเป็นเหตุให้ยึดมั่นถือมั่นและเป็นกิเลสนอนเนื่องอยู่ภายในใจ ย่อมเว้นขาดไม่ยึดมั่นถือมั่นเสียได้ นี้เรียกว่า สัพพโลเกอนภิรตสัญญา

                    ดูก่อนอานนท์ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมอึดอัด ย่อมระอาและย่อมรังเกียจสังขารทั้งปวง นี้เรียกว่าสัพพสังขาเรสุอนิจจสัญญา

                     ดูก่อนอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ไปสู่ป่าก็ดี ไปสู่โคนไม้ก็ดี ไปสู่เรือนว่างก็ดี นั่งขัดสมาธิคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรงดำรงสติมั่น เธอเป็นผู้มีสติ กำหนดลมหายใจเข้าออก นี้เรียกว่าอานาปานัสสติ


                    ดูก่อนอานนท์ ถ้าเธอกล่าวสัญญา ๑๐ ประการนี้ ให้คิริมานนท์ภิกษุได้ฟัง อาพาธของคีรีมานนท์ภิกษุนั้น ก็จะสงบระงับไปโดยฉับพลัน เพราะได้ฟังสัญญา ๑๐ ประการนี้ พระอานนท์รับพุทธบัญชาแล้ว ก็ตั้งใจจดจำและก็เรียนสัญญา ๑๐ ประการจนขึ้นใจ จากนั้นก็เข้าไปหาท่านพระคิริมานนท์ถึงที่พัก แล้วก็ได้กล่าวสัญญา ๑๐ ประการให้ท่านฟัง 


                    ขณะนั้นเองพระคิริมานนท์ แม้จะมีร่างกายที่อ่อนเพลีย นอนซมอยู่บนเตียง แต่ท่านก็ได้ปล่อยใจไปตามเสียงธรรมเทศนาของพระอานนท์ ท่านได้พิจารณาสัญญา ๑๐ ประการไปตามลำดับ อาพาธของท่านก็ค่อยๆ สงบระงับลงอย่างรวดเร็ว เพราะได้ฟังสัญญาทั้ง ๑๐ อย่างนี้ ไม่นานท่านก็หายจากอาพาธนั้นและสามารถทำให้ท่านได้บำเพ็ญสมณธรรมอย่างมีความสุขตลอดมา


              เห็นไหมจ๊ะว่า ในยามเจ็บไข้ได้ป่วสิ่งที่สำคัญมากที่สุดคือกำลังใจ หมอและพยาบาลสามารถรักษาได้เพียงแต่ร่างกาย แต่การรักษาใจนั้น เป็นหน้าที่ของผู้ป่วยและบุคคลรอบข้าง ฉะนั้นเวลาที่เราไม่สบายเจ็บป่วยไข้หรือไปเยี่ยมผู้ที่กำลังป่วยก็อย่าลืมทำตามหลักวิชาที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ไว้คือ ไปพูดในเรื่องธรรมะเรื่องบุญกุศลเรื่องที่ผู้ฟัง ฟังแล้วจิตผ่องใส เบิกบาน คลายจากความทุกข์ ความกังวลใจและดีที่สุดก็คือ ชักชวนให้ประพฤติปฏิบัติธรรม ทำใจหยุดใจนิ่งให้เข้าถึงที่พึ่งภายใน ถ้าทำได้อย่างนี้ ภายนอกก็มียาและหมอเป็นที่พึ่ง ภายในก็จะมีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งที่ระลึกกันทุกคนนะจ๊ะ


                
พระธรรมเทศนาโดย : พระเทพญาณมหามุนี (หลวงพ่อธัมมชโย) 

 

 

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล