Dhammaforpeople
ธรรมะเพื่อประชาชน
ตอน โปริสาท ตอนที่ 18
มีธรรมภาษิตที่ปรากฏอยู่ในสุตโสมชาดก ความว่า
บุคคลใดมีความเสพคุ้น มัวรักษาของรักอยู่ว่า นี่เป็นที่รักของเรา แล้วทำตนให้เหินห่างจากความดี มัวเสพของรักทั้งหลายอยู่เหมือนนักเลงดื่มสุราที่เจือด้วยยาพิษ บุคคลนั้นจะได้ทุกข์ในเบื้องหน้า เพราะความประพฤติชั่วนั้นเป็นเหตุ
ความเสพคุ้นหมายถึงอุปนิสัยที่เคยปฏิบัติติดต่อกันมาข้ามภพข้ามชาติจนกลายเป็นนิสัยที่ฝังแน่นอยู่ในใจ พอติดแน่นมากเข้าก็กลายเป็น ขันธสันดาน ที่ยากต่อการเปลี่ยนแปลง
เนื่องจากมีความสืบต่อแห่งจิต คือกระแสจิตที่เกิดดับ เกิดดับอยู่ตลอดเวลา ในระหว่างนั้นก็มีการกระทำทั้งดีและชั่วสืบต่อเนื่องกันมายาวนาน
พูดง่าย ๆ ก็คือ การกระทำซ้ำ ๆจะเป็นอุปนิสัยติดตัวที่มาจากภพในอดีตนั่นเอง การจะเปลี่ยนแปลงอุปนิสัยของแต่ละคนไม่ใช่ทำกันได้ง่าย ๆ ถ้าเป็นอุปนิสัยฝ่ายดีก็โชคดีไป มีแต่หมั่นสั่งสมให้เจริญงอกงามไพรบูรณ์ยิ่ง ๆขึ้นไป แต่ถ้าเป็นอุปนิสัยที่ไม่ดี
หากต้องการแก้ไขจะต้องอาศัยพลังใจที่มุ่งมั่น กล้าหักดิบ ตัดใจ เอาชีวิตเป็นเดิมพันถึงจะแก้ได้ เหมือนการหักดิบตัดใจไม่กินเนื้อมนุษย์ของจอมโจรโปริสาท
ตอนที่แล้วหลวงพ่อเล่าถึงว่าพระเจ้าสุตโสมทรงขอพรจากโปริสาทได้แล้วสามข้อ ต่อมาก็เป็นพรข้อสุดท้าย เป็นพรที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมอันชั่วช้าของโปริสาทอย่างเด็ดขาด พระโพธิสัตว์ทรงขอพรข้อสุดท้ายว่า
“รัฐมณฑลของพระองค์เป็นช่อง ไม่เป็นปึกแผ่นเพราะนรชนจำนวนมากหวาดกลัวต่อความตายจึงได้พากันหลบหนีหาที่ซ่อนเร้น ขอพระองค์จงเว้นจากเนื้อมนุษย์เสียเถิด นี้เป็นพรข้อที่สี่ที่เราปรารถนา” โจรโปริสาทได้ฟังแล้วก็ถึงกับอึ้งไปชั่วขณะ เพราะนึกไม่ถึงว่าพระเจ้าสุตโสมจะขอในสิ่งที่ตัวเองให้ไม่ได้
จึงปรบมือหัวเราะ ทูลว่า “พระสหายสุตโสม พระพรข้อนี้เท่ากับชีวิตของข้าพเจ้าเชียวนะ ข้าพเจ้าจะถวายพรนี้แด่พระองค์ได้อย่างไร ถ้าพระองค์ใคร่จะรับก็จงรับพรอย่างอื่นเถิด เพราะนั่นเป็นอาหารอันโปรดปรานของข้าพเจ้า ข้าพเจ้ายอมสละบัลลังก์เข้าป่าก็เพราะเนื้อมนุษย์ ละจะให้งดอาหารชนิดนี้ได้อย่างไร”
พระโพธิสัตว์ตระหนักดีว่าการขอรับพรข้อสุดท้ายนี้เป็นเหมือนพิพากษาประหารชีวิตโปริสาท เพราะโปริสาทบอกเสมอว่าถ้าไมได้กินเนื้อมนุษย์ก็ขอยอมตาย การที่ยอมสละราชบัลลังก์ก็เพื่อให้ได้กินเนื้อมนุษย์ แม้ว่ากาฬหถีเสนาบดีพยายามพูดเกลี้ยกล่อมสรรหาเรื่องราวต่างๆมาเล่าให้โจรโปริสาทได้เกิดจิตสำนึก แต่คำแนะนำหรือเหตุผลของเสนาบดีก็ไม่เกิดผลแต่อย่างดี เพราะฉะนั้นการที่พระโพธิสัตว์ขอพรข้อนี้จึงเป็นสิ่งที่จอมโจรโปริสาทให้ไม่ได้เช่นกัน
แต่พระโพธิสัตว์เป็นผู้มีปัญญามาก การที่พระองค์ยอมให้จอมโจรโปริสาทจับตัวมาได้อย่างง่ายโดยไม่ใช้กำลังเข้าต่อสู้ทำร้ายกันเลยก็เพื่อการนี้ คือประสงค์จะใช้ปัญญาญาณสอนให้โจรโปริสาทได้เห็นโทษของการกินเนื้อมนุษย์และเลิกกินเนื้อมนุษย์อย่างเด็ดขาด
จึงตรัสว่า “ท่านกล่าวว่าไม่อาจเลิกกินเนื้อมนุษย์ได้ เพราะเนื้อเป็ฯของรักอย่างยิ่ง โปริสาทสหายรัก ผู้ใดทำบาปเพราะเหตุของรัก ผู้นี้เป็นอันธพาล คนเช่นท่านมัวคิดอยู่ว่าสิ่งนี้เป็นที่รักของเราจึงทำให้เหินห่างจากความดี”
“จะไม่ได้ประสบสิ่งที่รักทั้งหลาย ตนแลประเสริฐที่สุด ประเสริฐอย่างยอดเยี่ยมทีเดียว เพราะบุคคลที่ฝึกตนดีแล้ว ภายหลังจะได้สิ่งที่รักทั้งหลาย”โจรโปริสาทได้ฟังเหตุผลที่ยากต่อการโต้แย้งเช่นนั้นก็เกิดอาการหวาดหวั่นมือไม้สั่นเทาไปหมด เหมือนคนที่ไร้เรี่ยวแรง คิดรำพึงว่าเราไม่อาจให้ท่านสุตโสมเลิกขอพรข้อนี้เสียแล้ว
แต่การจะให้เลิกกินเนื้อมนุษย์เราก็ทำไม่ได้ ถ้าไม่ได้กินคงต้องตายแน่ ทำอย่างไรถึงจะให้เท้าเธอตรัสขอพรอย่างอื่น หากเราถวายพรตามที่ขอนี้จะมีชีวิตอยู่อย่างไร ครั้นคิดถึงคำสัตย์ที่ได้ลั่นวาจาเอาไว้ก็ร้องไห้ พร้อมกับอ้อนวอนโพธิสัตว์ให้ขอรับพรอย่างอื่นว่า
“ท่านสุตโสม เนื้อมนุษย์เป็นอาหารโปรดของหม่อมฉัน ขอพระองค์โปรดเห็นความจำเป็นของหม่อมฉันด้วยเถิด หม่อมฉันไม่อาจเลิกกินเนื้อมนุษย์ได้จริงๆ ขอพระองค์จงเลือกพรอย่างอื่นเถิด” แต่ด้วยความเมตตาปรารถนาดี พระโพธิสัตว์ก็ยังยืนการที่จะขอพรข้อนี้ จึงกล่าวสอนธรรมต่อไปว่า
คนใดมัวรักษาของรักอยู่ว่านี่เป็นที่รักของเรา ทำตนให้เหินห่างจากความดี เสพของรักทั้งหลายอยู่เหมือนนักเลงดื่มสุราที่เจือด้วยยาพิษ คนนั้นจะได้ทุกข์ในเบื้องหน้าเพราะความประพฤติชั่วนั้นเป็นเหตุ ส่วนบุคคลใดมีความสำนึกผิดยอมละของรักได้ เสพอริยธรรมแม้จะต้องฝืนใจเหมือนคนไข้ดื่มโอสถที่มีรสขม เหมือนคนปวดฟันยอมอดทนให้ทันตแพทย์ถอนฟันให้ บุคคลนั้นจะได้สุขในเบื้องหน้าเพราะความประพฤติธรรมนั้นเป็นเหตุ
โจรโปริสาทฟังแล้วก็ยังรับไม่ได้ ไม่กล้าถวายพรข้อนี้อยู่ดี เอาแต่คร่ำครวญรำพึงรำพังว่า “หม่อมฉันละทิ้งพระชนก พระชนนี ทิ้งความสะดวกสบายเข้ามาอยู่ในป่าก็เพราะเนื้อมนุษย์เป็นเหตุ หม่อมฉันจะถวายพระพรนั้นแก่พระองค์ได้อย่างไร”
จากเบื้องต้นพระโพธิสัตว์เหมือนจะเป็นฝ่ายเสียเปรียบ คือแทนที่จะเป็นผู้อ้อนวอนขอชีวิต กลายกลับเป็นว่าจอมโจรโปริสาทต้องอ้อนวอนขอร้องเสียเอง อย่างไรก็ตามพระโพธิสัตว์ก็ไม่ยอมลดละที่จะให้โปริสาทหักดิบตัดใจ เพื่อจะได้มีชีวิตใหม่ที่ไม่ผิดพลาดอีกต่อไป ทรงนึกถึงปัญญาบารมีที่เคยสั่งสมมาทั้งหมด แล้วกล่าวสั่งสอนโปริสาทด้วยความเมตตาว่า
“บัณฑิตทั้งหลายไม่กล่าววาจาเป็นสอง สัตบุรุษทั้งหลายมีปฏิญาณสัตย์ ท่านเพิ่งให้คำปฏิญาณกับเราว่าพระสหายจงรับพร ท่านได้พูดยืนยันเอาไว้อย่างหนักแน่น แต่บัดนี้ท่านกลับกลอก ไม่ยอมให้พรตามที่เราขอ ท่านจะยอมเป็นสัตบุรุษที่เลวทรามต่อไปอย่างนั้นหรือ”
โปริสาทฟังถ้อยคำที่เสียดแทงใจดำอย่างนั้นก็ยิ่งร้องไห้ คร่ำครวญหนักขึ้นไปอีก ได้กล่าวด้วยความรันทนใจว่า “หม่อมฉันเข้าถึงบาปทุจริต มีความเศร้าหมองมาก หาบุญไม่ได้ เป็นผู้เสื่อมยศเสื่อมเกียรติก็เพราะเนื้อมนุษย์เป็นเหตุแล้วจะให้หม่อมฉันถวายพระพรนี้แด่พระองค์ได้อย่างไร”
เราจะเห็นว่าพระโพธิสัตว์ของเรานั้นทรงยึดมั่นในคำสัตย์เป็นนิสัยติดตัวข้ามภพข้ามชาติ ท่านมีใจประเสริฐ นอกจากสอนตนเองได้แล้วยังสอนผู้อื่นได้อีกด้วย ท่านยอมตายแต่ไม่ยอมทิ้งคุณธรรมความดี แต่ตอนนี้เหตุการณ์กลับกัน โจรโปริสาทกลับรักตัวกลัวตาย หมายถึงว่าถ้าตนไม่ได้กินเนื้อมนุษย์ก็คงจะต้องตาย คนที่ไม่หนักแน่นในความสัตย์จึงมักกลัวตายเป็นธรรมดา
นี่ก็เป็นมุมมองที่น่าศึกษาไว้ เพราะคนส่วนใหญ่มักเห็นแก่ตัวจึงกลัวตาย ได้ทอดทิ้งคำสัตย์ ส่วนคนมีสัจจะ จะไม่หวั่นไหวต่อมรณะภัย อีกทั้งมั่นใจต่อปรโลกอีกด้วย