พระพุทธศาสนาคืออะไร

วันที่ 25 สค. พ.ศ.2559

พระพุทธศาสนาคืออะไร

พระพุทธศาสนาคืออะไร , ความรู้พื้นฐานทางพระพุทธศาสนา , กลุ่มวิชาความรู้ทั่วไปทางพระพุทธศาสนา , DOU , พระพุทธศาสนา , วัดพระธรรมกาย , เรียนพระพุทธศาสนา , หนังสือเรียน DOU

      คำว่า "พระพุทธศาสนา" มาจากคำ 3 คำประกอบกันคือ พระ  พุทธ  ศาสนา คำว่า "พระ" เป็นคำที่ใช้ประกอบหน้าคำอื่นแสดงความยกย่อง คำว่า "พุทธ" แปลว่า ตรัสรู้เองไม่ใช่ผู้อื่นทำให้ความหมายถึง พระสัมมาสัมพุทธเจ้านั่นเอง คำว่า "ศาสนา" แปลว่า คำสอน ดังนั้นความหมายโดยรวมของคำว่า พระพุทธศาสนา คือ คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งเป็นผู้ตรัสรู้เองไม่ใช่ผู้อื่นทำให้รู้ หลักคำสอนสำคัญของพระองค์ว่าด้วยเรื่องพระรัตนตรัย ได้แก่ พุทธรัตนะคือพระพุทธ ธรรมรัตนะคือพระธรรม และสังฆรัตนะคือพระสงฆ์

     พระรัตนตรัยมี 2 ประเภทคือ พระรัตนตรัยภายในซึ่งมีอยู่ในตัวของมนุษย์ทุกคน เป็นสรณะคือที่พึ่งที่ระลึกอันสูงสุดที่ช่วยให้พ้นทุกข์ได้ และพระรัตนตรัยภายนอกอันเป็น สื่อที่ช่วยให้เข้าถึงพระรัตนตรัยภายใน ได้แก่ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรมคำสอนของพระองค์ และพระสงฆ์สาวกของพระองค์

      โดยสรุปพระพุทธศาสนา คือ คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าด้วยเรื่องพระรัตนตรัยซึ่งเป็นสรณะคือที่พึ่งอันเกษมที่ทำให้พ้นทุกข์ได้ และในพระธรรมคำสอนอันหลั่งออกมาจากพระรัตนตรัยภายในนั้นกล่าวถึง "อริยสัจ" อันเป็นความจริงของชีวิต แนวทางการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง เพื่อประโยชน์สุขของมนุษย์แต่ละคนตลอดจนมวลมนุษยชาติ

      คำว่า "พุทธศาสนา" ปรากฏครั้งแรกในวันที่พระ มณโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมเรื่องโอวาทปาฏิโมกข์แก่พระอรหันต์ 1,250 รูป ที่มาประชุมกันโดยไม่ได้นัดหมายในวันเพ็ญเดือน 3 หรือที่ชาวพุทธรู้จักกันในนามวันมาฆบูชา โอวาทปาฏิโมกข์เป็นพุทธประเพณีที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์ทรงแสดงเหมือนกัน เช่น พระวิปัสสีสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นต้น ดังใจความตอนหนึ่งว่า

สพฺพปาปสฺส อกรณ     การไม่ทำบาปทั้งปวง
กุสลสฺสูปสมฺปทา          การยังกุศลให้ถึงพร้อม
จิตฺตปริโยทปน             การทำจิตของตนให้ผ่องแผ้ว
เอตํ พุทธาน สาสนํ         นี้เป็นคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย

      คำว่า "พุทธาน สาสนํ" ก็คือพุทธศา นานั่นเอง คำว่า "สาสน" เป็นภาษามคธหรือที่รู้จักกันทั่วไปว่าภาษาบาลีส่วนคำว่า "ศาสนา" เป็นภาษาไทยซึ่งมาจากภาษาสันสฤตว่า "ศาสน"

 เหตุที่กล่าวว่าหลักคำสอนสำคัญของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าด้วยเรื่องพระรัตนตรัยนั้นอ้างอิงจากมหาปรินิพพานสูตรคือ ก่อนพระพุทธองค์จะปรินิพพานทรงรับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า

     "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความสงสัยเคลือบแคลงในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มรรค หรือในข้อปฏิบัติ จะพึงมีแก่ภิกษุแม้รูปหนึ่ง พวกเธอจงถามเถิด อย่าได้มีความร้อนใจภายหลังว่า พระศาสดาอยู่เฉพาะหน้าเราแล้ว เรายังมิอาจทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าที่เฉพาะพระพักตร์"

     เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสอย่างนี้แล้วพวกภิกษุเหล่านั้นก็พากันนิ่งอยู่ แม้ครั้งที่สอง แม้ครั้งที่สาม ภิกษุเหล่านั้นก็พากันนิ่งอยู่... ในครั้งนั้นไม่มีภิกษุรูปใดถามข้อสงสัยเลย เพราะภิกษุทุกรูปในที่นั้นได้บรรลุธรรมเป็นพระอริยสงฆ์กันหมดแล้ว

    พระดำรัสนี้เป็นการสอบถามภิกษุทั้งหลายว่าสิ่งที่พระองค์สอนมาตลอด 45 พรรษานั้น มีภิกษุรูปใดสงสัยอะไรบ้าง ให้รีบถาม เพราะเมื่อพระองค์ปรินิพพานไปแล้ว จะไม่มีโอกาสถามอีก คล้าย ๆ กับเวลาเราเรียนหนังสือในห้องเรียนก่อนหมดเวลาแต่ละคาบหรือก่อนปิดคอร์สครูก็จะถามว่าที่สอนมาทั้งหมดมีใครสงสัยตรงไหนบ้างก็ให้ถาม

      ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า หลักคำสอนสำคัญตลอดพระชนม์ชีพของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีเพียงประการเดียวคือ พระรัตนตรัย ได่แก่ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ส่วนเรื่องมรรคและข้อปฏิบัติต่าง ๆ นั้น สงเคราะห์เข้าในหมวดพระธรรม พระรัตนตรัยจึงเป็น "แก่นของพระพุทธศาสนา"

 

1. ทำไมต้องศึกษาพระพุทธศาสนา
   จากที่กล่าวแล้วว่าพระพุทธศาสนา คือ คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าด้วยเรื่องพระรัตนตรัยซึ่งเป็นสรณะคือที่พึ่งอันเกษมที่ทำให้พ้นทุกข์ได้ และในพระธรรมคำสอนอันหลั่งออกมาจากพระรัตนตรัยภายในนั้นกล่าวถึง "อริยสัจ" อันเป็นความจริงของชีวิต แนวทางการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องเพื่อประโยชน์สุขของมวลมนุษยชาติ

ดังนั้นเป้าหมายหรือเหตุผลในการศึกษาพระพุทธศาสนาจึงมีอย่างน้อย 2 ประการคือ
      1) เพื่อให้ทราบความจริงของชีวิตและดำเนินชีวิตได้ถูกต้อง
      2) เพื่อประโยชน์สุขของตนเองและเพื่อนร่วมโลก


1.1 เพื่อให้ทราบความจริงของชีวิตและดำเนินชีวิตได้ถูกต้อง
     พระพุทธศาสนาตอบคำถามเกี่ยวกับความจริงของชีวิตต่าง ๆ ที่ค้างคาใจชาวโลกทั้งหลายได้ คือเกิดมาทำไม อะไรคือเป้าหมายของชีวิต ตายแล้วไปไหน นรก สวรรค์มีจริงหรือไม่ ทำอย่างไรตายแล้วจึงจะไปสวรรค์ ทำไมมนุษย์และสัตว์ทั้งหลายจึงมีความแตกต่างกัน เพราะเหตุใดบางคนได้เกิดในตระกูลที่ร่ำรวยในขณะที่บางคนต้องเป็นลูกขอทาน ทำไมคนนั้นจึงหล่อสวย แต่บางคนกลับขี้ริ้วขี้เหร่ อะไรทำให้บางคนขยันฉลาดแต่ยังยากจนอยู่ ทำอย่างไรชีวิตจึงจะมีความสุขความสำเร็จ ทำอย่างไรจึงจะร่ำรวย ฯลฯ

       คำตอบของคำถามเหล่านี้มีอยู่ในพระพุทธศาสนามากว่า 2,500 ปีแล้ว ปัจจุบันได้บันทึกไว้ในพระไตรปิฎกและมักถูกเก็บลืมไว้ตามห้องสมุดต่าง ๆ มีคนกล่าวไว้ว่า "น่าเสียดายที่ธรรมะในพระไตรปิฎกอันเป็นประดุจภูเขาทองยังกองอยู่อย่างเปิดเผย" โดยไม่ค่อยมีใครสนใจศึกษาหรือแม้แต่หันไปเหลียวแลบางแห่งกลายเป็นคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์สำหรับไว้กราบไหว้ไปเสียก็มี ซึ่งไม่ตรงวัตถุประสงค์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ชาวโลกกลับให้ความสำคัญกับตำราต่าง ๆ ที่เขียนขึ้นโดยคนที่ยังมีกิเลสหนาปัญญาหยาบอยู่ด้วยเหตุนี้ปัญหาและความทุกข์เพราะกิเล เป็นรากเหง้าจึงรุมล้อมมวลมนุษย์อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

    บางคนอาจจะอ้างว่า ก็เวลาชีวิตมีน้อย แค่ทำงานงก ๆ แต่ละวันเวลาก็แทบจะไม่พออยู่แล้วจะเอาเวลาที่ไหนไปศึกษาพระพุทธศาสนา

     หลักการบริหารเวลาสากลของชาวโลกคือ จัดลำดับความสำคัญของสิ่งที่ต้องทำ ให้เวลากับสิ่งที่สำคัญที่สุดมากที่สุด แล้วค่อย ๆ ลดลำดับปริมาณเวลาลงมาตามความสำคัญหากเรายังไม่รู้ความจริงของชีวิตแล้ว เราจะรู้ได้อย่างไรว่า อะไรเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิต การที่เราให้เวลาทั้งชีวิตไปกับการทำมาหากินและครอบครัวนั้น ถูกต้องแล้วหรือ จะรู้ได้อย่างไรว่าสิ่งที่เราทำอยู่ถูกต้องแล้ว เหตุที่หลายคนยังยากจนอยู่ แม้ขยันทำงานจนไม่มีเวลาหยุดพักนั้นเป็นเพราะโชคไม่ดีจริงหรือ แล้วทำไมบางคนจึงโชคดีอยู่บ่อยครั้ง

      ก่อนที่เราจะซื้อเครื่องมือหรืออุปกรณ์มาใช้งาน เราจำเป็นต้องศึกษาให้รู้จริงเกี่ยวกับสิ่งนั้นก่อนจึงจะซื้อได้ตรงกับความต้องการ และใช้งานได้อย่างถูกต้อง คงไม่มีใครซื้อรถมาขับโดยไม่ได้ศึกษามาก่อน

      แต่เรื่องชีวิตทำไมชาวโลกจึงไม่ค่อยได้เรียนรู้กันว่า ชีวิตคืออะไร อะไรคือสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตที่เราจะต้องทำไม่ทำไม่ได้ ปัจจุบันมนุษย์ให้ความสำคัญกับวิชาชีพเสียมาก วิชาชีวิตกลายเป็นสิ่งที่ถูกมองข้ามเมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ชีวิตแต่ละคนจะเป็นอย่างไร คงไม่ต่างอะไรกับการขับรถโดยไม่ได้ศึกษาวิธีการใช้ผลสุดท้ายคือ "รถพัง" รถพังยังซื้อใหม่ได้ แต่ถ้าชีวิตพังแล้วเราจะหาซื้อจากที่ไหน เคยคิดเรื่องนี้กันบ้างไหม

     หากนรก สวรรค์มีจริงและวันนี้คุณต้องตาย คุณจะทำอย่างไร คุณเชื่อมั่นหรือไม่ว่าจะได้ไปเสวยสุขบนสวรรค์ เพราะตลอดชีวิตคุณไม่เคยได้ศึกษาเลยว่า ทำอย่างไรจึงจะไปสวรรค์ได้ แม้บางคนจะแข็งใจเชื่อว่า ตายแล้วสูญ สวรรค์อยู่ในอกนรกอยู่ในใจ แต่นั่นก็เป็นความเชื่อ คุณไม่อาจจะเปลี่ยนแปลงความจริงได้แม้คนตาบอดจะเชื่อว่าโลกนี้ไม่มีแสงสว่าง แต่ความเชื่อนี้ก็ไม่อาจทำให้ดวงอาทิตย์หยุดเปล่งแสงได้

     มีหลายสิ่งที่เราไม่อยากให้เป็นเรื่องจริง แต่ก็เป็นเรื่องจริงมาชั่วกัปชั่วกัลป์ ชีวิตหลังความตายก็เช่นกัน แม้เราเชื่อว่าไม่มีด้วยความทะนงตน หรือแม้เราภาวนาขออย่าให้มี หรือแม้เราสามารถรณรงค์ให้คนทั้งโลกเชื่อว่า ชาติหน้าเป็นนิทานเหลวไหล แต่ความจริงก็คือความจริง ไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้ และที่สำคัญคือความตายเป็นการสอบครั้งเดียวที่ไม่มีโอกาสให้แก้ตัวใหม่อีกรอบ

     คนฉลาดจึงแบ่งเวลาศึกษาความจริงของชีวิตเอาไว้บ้าง เพื่อจะได้ดำเนินชีวิตได้ถูกต้องด้วยการทำความดีเอาไว้ หากนรก สวรรค์มีจริงตายแล้วจะได้ไป สวรรค์ ไม่ต้องทุกข์ทรมานอยู่ในนรกดังภาพในผนังโบสถ์ที่เคยเห็นในวัยเด็ก แต่คนที่มีปัญญายิ่งกว่านั้นจะให้เวลากับการศึกษาความจริงของชีวิตมากๆ เมื่อทราบแล้วจะได้ทุ่มเวลาให้กับสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตมาก ๆ

     นักศึกษาหลายท่านอาจจะคิดว่า แล้วเราจะเชื่อได้อย่างไรว่า คำสอนในพระพุทธศาสนาถูกต้องพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่เคยอ้อนวอนให้ใครต่อใครเชื่อพระองค์ แต่กลับบอกอย่างชัดเจนไว้ในเกสปุตติสูตรซึ่งสรุปความได้ว่า "อย่าปลงใจเชื่อในคำสอนใด ๆ ไม่ว่าคำสอนนั้นจะน่าเชื่อถือเพียงใดก็ตาม จนกว่าเราจะได้ทดลองพิสูจน์คำสอนนั้นจนรู้ได้ด้วยตนเองว่าดีหรือไม่ดี ถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง" เพราะฉะนั้นนักศึกษาจึงต้องศึกษา และพิสูจน์คำสอนในพระพุทธศาสนาด้วยตัวเอง

 

1.2 เพื่อประโยชน์สุขของตนเองและเพื่อนร่วมโลก
      เป้าหมายการศึกษาพระพุทธศาสนาข้อนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากข้อที่หนึ่ง กล่าวคือ เมื่อศึกษาจนรู้ความจริงของชีวิตและได้ดำเนินชีวิตอย่างถูกต้องแล้ว ตนเองก็จะได้รับประโยชน์สุขต่าง ๆ อีกทั้งเพื่อนร่วมโลกก็จะได้รับประโยชน์สุขเหล่านั้นจากเราด้วย

     ประโยชน์ตามคำสอนในพระพุทธศาสนามีอยู่ 3 ประการคือ ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์คือประโยชน์ในปัจจุบันชาติสัมปรายิกัตถประโยชน์คือประโยชน์ในภพชาติหน้า และปรมัตถประโยชน์คือประโยชน์สูงสุดในชีวิต

      1) ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ คือ ประโยชน์ในปัจจุบันชาติ
   เป็นการตั้งเป้าหมายชีวิตเพื่อประโยชน์คือความสุขความสำเร็จในชาตินี้ นั่นคือ ต้องสร้างตัวสร้างฐานะให้มั่นคง ประกอบอาชีพที่สุจริต ไม่ผิดกฎหมาย ไม่ผิดศีลธรรมเพราะจะทำให้ชีวิตตกต่ำ จะเป็นอาชีพอะไรก็ตามความถนัดของแต่ละคน ไม่ว่าจะเป็นนักธุรกิจ แพทย์ ครู พ่อค้า ชาวนา ชาวไร่ เมื่อตั้งเป้าหมายชีวิตแล้ว ก็มุ่งมั่นฝึกฝนตนเองสร้างตัวสร้างฐานะให้บรรลุเป้าหมายชีวิตให้ได้ โดยมีหลักการว่าต้องสร้างตัวสร้างฐานะไปพร้อมกับการสร้างศีลธรรมในตน หากทำอย่างนี้ได้ตนก็จะเป็นสุขและประสบความสำเร็จตามความสามารถของตน อีกทั้งการมีศีลธรรมจะทำให้เราไม่เป็นภัยแก่ใคร แต่จะเป็นต้นแบบที่ดีและเป็นประโยชน์แก่สังคมในด้านต่างๆ อีกด้วย

      2)สัมปรายิกัตถประโยชน์ คือ ประโยชน์ในภพชาติหน้า
   เป็นการตั้งเป้าหมายชีวิตเพื่อประโยชน์คือความสุขความสำเร็จในชาติหน้า เพราะพระพุทธศาสนาสอนไว้อย่างชัดเจนว่า ตายแล้วไม่สูญ ตราบใดที่ยังไม่หมดกิเลสก็ยังต้องเวียนว่ายตายเกิดไปเรื่อย ๆ คำสอนในพระพุทธศาสนาระบุชัดว่า นรก สวรรค์มีจริง หากต้องการไปเกิดเสวยสุขบน สวรรค์ต้องสั่งสม "บุญ" ไว้มาก ๆ มีการให้ทาน รักษาศีล และเจริญสมาธิภาวนา เป็นต้น ผู้ที่สั่งสมบุญไว้มากเมื่อได้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีก ก็จะสมบูรณ์พร้อมมาก ทั้งรูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติ และคุณสมบัติ เรียกว่า หล่อ สวย รวย ฉลาด สมปรารถนาในสิ่งต่าง ๆ เมื่อสมบูรณ์พร้อมแล้วก็จะสามารถช่วยเหลือผู้อื่นได้มากอีกด้วย และการสั่งสมบุญมาก ๆ นี้ยังเป็นปัจจัยสำคัญให้บรรลุประโยชน์สูงสุดได้อย่างรวดเร็วเช่นกัน

      3) ปรมัตถประโยชน์ คือ ประโยชน์สูงสุดในชีวิต
     เป็นการตั้งเป้าหมายชีวิตเพื่อประโยชน์สูงสุดคือ การบริสุทธิ์หลุดพ้นจากกิเลสอันเป็นต้นเหตุแห่งทุกข์นั่นคือการเป็นพระอรหันต์นั่นเอง แต่จะก้าวขึ้นสู่ภูมินี้ได้จะต้องสั่งสมบุญและเจริญสมาธิภาวนาอย่างยิ่งยวด เพื่อให้เข้าถึงพระรัตนตรัยภายในซึ่งเป็นสรณะที่ช่วยกำจัดกิเลสให้หมดสิ้นไปจากใจได้ เมื่อกิเลสหมดสิ้นแล้วความทุกข์อันเป็นผลงานของกิเลสก็จะดับอย่างถาวร เมื่อถึงคราวหลับตาลาโลกก็จะไปเสวยสุขนิรันดร์อยู่ในอายตนนิพพาน ไม่ต้องทนทุกข์กับการเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป หากการได้เกิดอยู่เรื่อยไปเป็นสุขจริงคงไม่มีข่าวคนฆ่าตัวตายให้ได้ยินอยู่บ่อย ๆ ด้วยเหตุนี้พระพุทธศาสนาจึงสอนว่า การเวียนว่ายตายเกิดเป็นทุกข์ เป้าหมายสูงสุดของทุกชีวิตคือการหยุดวงจรนี้เสียให้ได้

     ผู้ที่เข้าถึงพระรัตนตรัยภายในแล้วแม้จะอยู่ในระดับที่กิเลสยังไม่หมด ถึงกระนั้นก็จะได้รับความสุขอันไพศาลกว่ากามสุขทั่วไป และสามารถเผื่อแผ่ความสุขนี้ไปสู่เพื่อนร่วมโลก ด้วยการทำหน้าที่กัลยาณมิตรคือสอนให้เขาได้เข้าถึงสรณะภายใน เมื่อชาวโลกได้เข้าถึงพระรัตนตรัยในตัวกันมาก ๆ แล้วสันติสุขภายในที่แต่ละคนได้รับก็จะแผ่ขยายออกไปเป็นสันติภาพของโลกสงครามจะยุติ คนจะรักและสามัคคีกัน เพราะต้นเหตุแห่ง สงครามคือกิเลสในใจได้รับการควบคุมและค่อย ๆ กำจัดออกไปด้วยพระรัตนตรัยในตัว

      ปรมัตถประโยชน์นี้ คือ ประโยชน์สูงสุดที่สมควรได้จากความเป็นมนุษย์ คือ ความสุขสูงสุดที่มวลมนุษยชาติควรจะได้รับ

      หากจะมองความสุขแบบชาวโลกบ้าง บางคนนั่งชมทะเลอย่างเหม่อลอยก็เป็นสุขแล้ว ไม่ต้องคิดอะไรเกี่ยวกับความเป็นมนุษย์อีก หลายคนได้เสพกามไปวัน ๆ ก็เป็นสุขแล้ว หลายคนตั้งเป้าหมายและมุ่งมั่นบากบั่นไปจนถึงปลายทางสักครั้งเดียวก็เต็มอิ่มกับความเป็นมนุษย์แล้ว แต่มีคนน้อยเท่าน้อย ที่ตั้งคำถามกับตนเองอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันว่า อะไรคือประโยชน์สูงสุดที่ สมควรได้จากความเป็นมนุษย์

      แม้บางคนจะเคยตั้งคำถามนี้กับตัวเอง แต่ก็เพียงชั่วครั้งชั่วคราว แล้วก็ถูกกลบให้เลือนหายไปด้วยภารกิจเร่งด่วนประจำวัน โดยที่ยังไม่ได้รับคำตอบแต่อย่างใด จริง ๆ แล้วโชคดีเหลือเกินที่เราได้เกิดมาเป็นมนุษย์ แต่มีน้อยคนนักที่ฉวยโอกาสำคัญนี้ ทำความรู้จักกับความเป็นมนุษย์ได้อย่างสมบูรณ์ด้วยการศึกษาคำสอนในพระพุทธศา นา ด้วยเหตุนี้คนที่เกิดมาเป็นมนุษย์แล้วตายฟรีจึงมีจำนวนมาก และมีมากเหลือเกินที่ชีวิตติดลบ คือ ดำเนินชีวิตผิดพลาดจนต้องตกนรกหมกไหม้อย่างยาวนาน ทั้งนี้เพราะไม่ได้ศึกษาความจริงของชีวิตนั่นเอง


 


หนังสือ GB 101 ความรู้พื้นฐานทางพระพุทธศาสนา
กลุ่มวิชาความรู้ทั่วไปทางพระพุทธศาสนา

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.035880899429321 Mins