พระสัมมาสัมพุทธเจ้าคือใคร

วันที่ 31 สค. พ.ศ.2559

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าคือใคร

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าคือใคร , ความรู้พื้นฐานทางพระพุทธศาสนา , กลุ่มวิชาความรู้ทั่วไปทางพระพุทธศาสนา , DOU , พระพุทธศาสนา , วัดพระธรรมกาย , เรียนพระพุทธศาสนา , หนังสือเรียน DOU

      สมัยหนึ่ง พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จพระพุทธดำเนินทางไกลอยู่ในระหว่างเมืองอุกกัฏฐะกับเมืองเสตัพยะ พราหมณ์ชื่อโทณะก็กำลังเดินทางอยู่ในเส้นทางนั้นเช่นกัน โทณพราหมณ์ได้เห็นรูปจักรในรอยพระบาทของพระพุทธองค์ ประกอบด้วยซี่กำนับ 1,000 มีกง มีดุม บริบูรณ์ด้วยลักษณะพร้อมสรรพคิดว่า คงจักไม่ใช่รอยเท้ามนุษย์

    ครั้งนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จแวะไปประทับนั่งสมาธิอยู่ที่โคนต้นไม้แห่งหนึ่ง โทณพราหมณ์เดินตามรอยพระบาทไป พบพระองค์ดูผุดผ่องน่าเลื่อมใสจึงเข้าไปใกล้

ครั้นแล้วโทณพราหมณ์จึงทูลถามว่า     "ท่านผู้เจริญเป็นเทวดาหรือ"
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสตอบว่า          "เราไม่เป็นเทวดา"
โทณพราหมณ์ถามว่า                          "เป็นคนธรรพ์หรือ"
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสตอบว่า          "ไม่เป็นคนธรรพ์"
โทณพราหมณ์ถามว่า                          "เป็นยักษ์กระมัง"
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสตอบว่า          "ไม่เป็นยักษ์"
โทณพราหมณ์ถามว่า                          "เป็นมนุษย์สิ"
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสตอบว่า          "ไม่เป็นมนุษย์"

     โทณพราหมณ์ กล่าวว่า "ข้าพเจ้าถามว่า ท่านเป็นเทวดา... เป็นคนธรรพ์... เป็นยักษ์... เป็นมนุษย์หรือ ท่านก็ตอบว่า ไม่เป็น ๆ" โทณพราหมณ์ถามว่า "ถ้าเช่นนั้นท่านเป็นใครกัน"

     พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสตอบว่า "... อาสวะเหล่าใดที่เราละไม่ได้ อาสวะเหล่านั้นเราละได้แล้ว... ดอกอุบลก็ดี ดอกปทุมก็ดี ดอกบุณฑริกก็ดี เกิดในน้ำ เจริญในน้ำ แต่ขึ้นมาตั้งอยู่พ้นน้ำ น้ำไม่กำซาบเข้าไปได้ฉันใด เราก็ฉันนั้น เกิดในโลก เติบใหญ่มาในโลก แต่เราอยู่เหนือโลก โลกไม่เข้ามากำซาบได้ แน่ะพราหมณ์ ท่านจงจำเราไว้ว่า "เป็นพุทธะ" เราจะพึงได้กำเนิดเป็นเทวดา หรือว่าเป็นคนธรรพ์ผู้เหาะเหินได้ เพราะอาสวะใด เราจะพึงได้อัตภาพยักษ์ และอัตภาพมนุษย์ เพราะอาสวะใด อาสวะเหล่านั้นของเราสิ้นไปแล้ว เราทำลาย ทำให้ขาดสายแล้ว แน่ะพราหมณ์ ดอกบัวย่อมขึ้นมาอยู่พ้นน้ำ น้ำไม่กำซาบเข้าไปได้ฉันใด เราก็ฉันนั้น โลกไม่เข้ามากำซาบใจเราได้ เพราะฉะนั้น เราจึงเป็นพุทธะ"

 

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าคือใคร , ความรู้พื้นฐานทางพระพุทธศาสนา , กลุ่มวิชาความรู้ทั่วไปทางพระพุทธศาสนา , DOU , พระพุทธศาสนา , วัดพระธรรมกาย , เรียนพระพุทธศาสนา , หนังสือเรียน DOU

1. ความหมายของพุทธะ
    พระสัมมาสัมพุทธเจ้าคือ ธรรมกาย ซึ่งเป็นกายตรัสรู้ธรรม เป็นพุทธรัตนะที่อยู่ภายในพระวรกายของพระพุทธองค์ เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะนั่งสมาธิจนเข้าถึงธรรมกายแล้วจึงได้ชื่อตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สำหรับในหัวข้อนี้นักศึกษาจะได้เรียนความหมายของ "พุทธะ" ในนัยอื่น ๆ ที่ปรากฏอยู่ในอรรถกถา ดังนี้

       คำว่าพุทธะมีคำแปลไว้หลายนัยดังที่บันทึกไว้ในอรรถกถาว่า "ชื่อว่า พุทธะ เพราะอรรถว่า ตรัสรู้สัจจะทั้งหลาย, ชื่อว่า พุทธะ เพราะอรรถว่า ทรงปลุกหมู่สัตว์ให้ตื่น, ชื่อว่า พุทธะ เพราะทรงรู้ทุกอย่าง,ชื่อว่า พุทธะ เพราะทรงเห็นทุกอย่าง, ชื่อว่า พุทธะ เพราะตรัสรู้เองไม่ใช่ผู้อื่นทำให้รู้, ชื่อว่า พุทธะ เพราะบานแล้ว, ชื่อว่า พุทธะเพราะนับกันว่าเป็นผู้สิ้นกิเลสแล้ว..." 

       คำว่า "พุทธะ" จึงหมายถึง ผู้ตรัสรู้สัจจะทั้งหลายคืออริยสัจ 4 ด้วยพระองค์เอง เป็นผู้หมดกิเลสแล้วเป็นผู้รู้เห็นทุกอย่าง เป็นผู้ปลุกสัตว์ให้ตื่นคือสอนให้ผู้อื่นตรัสรู้ตาม เป็นผู้บานแล้วด้วยพระคุณนานาประการเหมือนดอกปทุมบาน

     แต่การจะตรัสรู้อริยสัจ 4 ได้จะต้องเข้าถึงพระธรรมกายก่อน  จึงอาจจะสรุปให้ง่ายเข้าได้ว่า พุทธะคือพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น เป็นบุคคลในประวัติศาสตร์ที่ได้เข้าถึงพระธรรมกายแล้วตรัสรู้อริยสัจ 4 และได้สอนให้ชาวโลกได้ตรัสรู้ตามพระองค์

 

2. พระนามของพุทธะ
     พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีพระนามต่าง ๆ มากมายดังนี้ พระพุทธเจ้า, พระสัมมาสัมพุทธเจ้า, พระผู้มีพระภาคเจ้า, พระศาสดา, ตถาคต, ธรรมกาย, พรหมกาย, ธรรมภูต, พรหมภูต, พระพิชิตมาร พระอรหันตอนันตชินะ, พระชินเจ้า, พระชินสีห์, พระสัพพัญูพุทธเจ้า, และพระพุทธองค์ เป็นต้น แต่ละพระนามมีความหมายหลายนัย ในที่นี้จะกล่าวเพียงโดยย่อดังนี้

       (1) พระพุทธเจ้า มาจากคำว่า พระ  พุทธ  เจ้า คำว่า "พระ" ใช้ประกอบหน้าคำอื่นแสดงความยกย่อง คำว่า "พุทธ" ก็มีความหมายดังกล่าวมาแล้วส่วนคำว่า "เจ้า" ใช้เติมท้ายคำเรียกผู้ที่นับถือดังนั้นคำว่า พระพุทธเจ้า จึงมีความหมายเหมือนกับคำว่า "พุทธะ" เพียงแต่เติมคำว่า พระ และ คำว่า เจ้าเข้ามาเพื่อแสดงความยกย่องนับถือเท่านั้น

       (2) พระสัมมาสัมพุทธเจ้า คำนี้เติมคำว่า "สัมมาสัม" เข้ามา คำว่า "สัมมา" แปลว่า โดยชอบหรือ โดยถูกต้อง คำว่า "สัม" คำหลัง แปลว่า ด้วยพระองค์เอง คือ ไม่ต้องมีผู้สั่งสอน ดังนั้น คำว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงเป็นชื่อที่เน้นย้ำว่า พระองค์ตรัสรู้โดยถูกต้องด้วยตนเอง

    (3) พระผู้มีพระภาคเจ้า คำนี้ไม่มีคำว่า "พุทธะ" แต่มีคำว่า "ผู้มีพระภาค" แทนคำว่า "พุทธะ เป็นคำกล่าวโดยความเคารพ" เมื่อกล่าวคำนี้จึงเป็นการแสดงความเคารพต่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั่นเอง

       (4) พระศาสดา คำว่า ศาสดา แปลว่า ผู้อบรมสั่งสอน ในปัจจุบันใช้เรียกผู้ตั้งศาสนา

      (5) พระพิชิตมาร คำว่า พิชิตมาร แปลว่า ผู้ชนะมาร เหตุที่ได้ชื่อนี้เพราะว่าก่อนตรัสรู้ทรงเอาชนะเหล่ามารต่าง ๆ ที่มาขัดขวางพระองค์ได้

      (6) พระอรหันตอนันตชินะ  พระนามนี้นักบวชชื่ออุปกาชีวกเคยถามพระองค์ว่า  "เหตุใดท่านจึงปฏิญาณว่าเป็น 'อรหันตอนันตชินะ' พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า 'ผู้ที่ถึงอาสวักขัยเช่นเรา ย่อมเป็นผู้มีนามว่าชินะ เพราะเราชนะบาปธรรมทั้งหลายแล้ว' " ส่วน คำว่า "นิพพาน เรียกว่า อนันตะ" กล่าวคือ เมื่อชนะกิเลสก็ได้ถึงนิพพานนั่นเอง

      (7) พระชินเจ้า คือ ผู้พึงชนะมาร อีกนัยหนึ่งคือ ผู้ชนะบาปธรรม

    (8) พระชินสีห์ คือ ผู้มีชัยชนะดุจราชสีห์ ราชสีห์เป็นราชาแห่งสัตว์ทั้งหลายฉันใด พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เป็นราชาแห่งมนุษย์และเทวดาทั้งปวง ฉันนั้น

      (9) พระสัพพัญูพุทธเจ้า คำว่าสัพพัญู แปลว่า ผู้รู้ทุกสิ่งทุกอย่าง หมายความว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้รู้ทุกสิ่งทุกอย่างนั่นเอง แต่ไม่ได้รู้ทุกอย่างตลอดเวลา กล่าวคือ เมื่อทรงประ สงค์จะรู้เรื่องใด ก็ตรวจดูเรื่องนั้นเป็นเรื่อง ๆ ไป

     (10) พระพุทธองค์ เป็นสรรพนามบุรุษที่ 3 คือเป็นคำแทนชื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

     (11) พรหมกาย อรรถกถากล่าวไว้ว่า "ชื่อว่าพรหมกายเพราะมีธรรมเป็นกายนั่นเอง แท้จริง พระธรรมท่านเรียกว่าพรหม เพราะเป็นของประเสริฐ"

     (12) ธรรมภูต อรรถกถากล่าวไว้ว่า ธรรมภูต ได้แก่ ทรงมีธรรมเป็นสภาพ

   (13) ธรรมกาย คือ พุทธรัตนะภายในตัวพระโพธิสัตว์ทั้งหลายตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็เพราะได้เจริญสมาธิภาวนาจนเข้าถึงธรรมกายในตัว

     (14) พรหมภูต อรรถกถากล่าวไว้ว่า พรหมภูต ได้แก่ ทรงเป็นผู้ประเสริฐสุดเป็นสภาพ

  (15) ตถาคต เรียกว่า "ตถาคต เพราะว่า ตรัสรู้พร้อมเฉพาะซึ่งธรรมอันแท้ตามเป็นจริง, เรียกว่าตถาคต เพราะทรงเห็นแท้จริง, เรียกว่า ตถาคต เพราะตรัสวาจาจริง, เรียกว่า ตถาคต เพราะทรงทำจริง ..."

 

3. ประเภทของพุทธะ
    "พุทธะ" แบ่งออกเป็นประเภทต่าง ๆ ได้ 4 ประเภท คือสุตพุทธะ, จตุสัจจพุทธะ, ปัจเจกพุทธะและสัพพัญูพุทธะ

    (1)สุตพุทธะ หรือ พระสุตพุทธเจ้า หมายถึง ภิกษุผู้เป็นพหูสูต คือ ได้ศึกษาพุทธพจน์มามาก เช่น พระอานนทเถระ หรือ ภิกษุผู้ทรงพระไตรปิฎกต่าง ๆ เป็นต้น พระสุตพุทธเจ้าตามความหมายที่อรรถกถาให้ไว้ ไม่ได้ระบุว่าต้องตรัสรู้ธรรมเพียงแต่เป็นผู้ศึกษามากเท่านั้น

     (2) จตุสัจจพุทธะ หรือ พระจตุสัจจพุทธเจ้า หมายถึง ภิกษุผู้มีกิเล อาสวะสิ้นแล้ว คำว่า จตุสัจจะ คือ อริยสัจ 4 ในที่นี้คือ ผู้ได้ตรัสรู้อริยสัจ 4 ตามคำ อนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จตุสัจจพุทธะ อาจจะเรียกว่า พระอนุพุทธะ คือ ผู้ตรัสรู้ตามพระพุทธเจ้าก็ได้

    (3) ปัจเจกพุทธะ หรือ พระปัจเจกพุทธเจ้า หมายถึง ผู้ที่แทงตลอดปัจเจกพุทธญาณ คือ ตรัสรู้ได้ด้วยตนเองแต่ไม่สอนใคร

  (4)สัพพัญูพุทธะ หรือ พระสัพพัญูพุทธเจ้า หมายถึง ผู้แทงตลอดพระสัพพัญุตญาณคือเป็นผู้ตรัสรู้ได้ด้วยตนเองและสอนให้ผู้อื่นตรัสรู้ตามได้ ได้แก่ พระสมณโคดมพุทธเจ้า เป็นต้น ดังนั้นผู้เป็นศาสดาซึ่งตั้งพระพุทธศาสนาขึ้นนั้นจึงหมายเอาพระสัพพัญูพุทธเจ้าเท่านั้น แต่พระนามที่ชาวพุทธคุ้นเคย คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

   พระสัพพัญูพุทธเจ้ายังแบ่งออกเป็น 3 ประเภทคือ พระปัญญาธิกพุทธเจ้าคือพระพุทธเจ้าผู้ยิ่งด้วยปัญญา, พระสัทธาธิกพุทธเจ้าคือพระพุทธเจ้าผู้ยิ่งด้วยศรัทธา และพระวิริยาธิกพุทธเจ้าคือพระพุทธเจ้าผู้ยิ่งด้วยความเพียร

 

4. ตำแหน่งพุทธะสาธารณะแก่ทุกคน
     พุทธะเป็นตำแหน่งกลาง ๆ หากใครปรารถนาจะเป็นก็ให้ตั้งใจสั่งสมบุญสร้างบารมี เมื่อบารมีเต็มเปียมแล้วก็จะเป็นพุทธะประเภทนั้น ๆ ได้สำหรับพระสัพพัญูพุทธเจ้าผู้เป็นศาสดานั้น หลวงปู่วัดปากน้ำกล่าวไว้ว่ามีมากมายนับไม่ถ้วน ปัจจุบันปรากฏอยู่ด้วยพระธรรมกายในอายตนนิพพาน ด้วยเหตุนี้เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสโอวาทปาฏิโมกข์จึงตรัสว่า "นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย" ใช้คำว่าพระพุทธเจ้า "ทั้งหลาย" คือพระพุทธเจ้าทั้งในอดีตปัจจุบันและอนาคตก็สอนอย่างนี้ ในพุทธวงศ์มีพระนามพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ 25 พระองค์คือ ตั้งแต่พระทีปังกรพุทธเจ้าจนถึงองค์ปัจจุบันคือพระสมณโคดมพุทธเจ้า ทั้ง 25 พระองค์นี้คือผู้ที่ได้ตรัสรู้ธรรมในยุคท้าย ๆ นี้ ก่อนหน้านี้มีผู้มาตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วนับพระองค์ไม่ถ้วน และในอนาคตจะมีผู้มาตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอีกจำนวนมาก

     ผู้ที่ตั้งใจสร้างบารมีเพื่อเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นเรียกว่า "พระโพธิสัตว์" หมายถึงสัตว์ผู้ปรารถนาพุทธภูมิ พระโพธิสัตว์ก็เป็นปุถุชนคนธรรมดาทั่วไป แต่เป็นผู้ที่มีความตั้งใจพัฒนาศักยภาพตัวเองด้วยการสร้างบารมีอย่างแรงกล้า เมื่อบารมีเต็มเปียมแล้วก็ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้สามารถเป็นศาสดาสอนผู้อื่นให้ตรัสรู้ตามได้ ตำแหน่งศาสดาในพระพุทธศาสนาจึงไม่ได้มีใครมาแต่งตั้งให้ เป็นของสาธารณะทั่วไปแก่ทุกคน

  ส่วนศาสนาเทวนิยมทั้งหลายมักกล่าวว่า พระเจ้าเป็นผู้แต่งตั้งศาสดาในศาสนานั้นๆ จึงเป็นตำแหน่งที่ไม่สาธารณะแก่คนทั่วไป เช่น พระอัลเลาะห์แต่งตั้งให้มุัมหมัดเป็นศาสดาสั่งสอนศาสนาอิสลามเป็นศาสนทูตคือตัวแทนของพระเจ้าบนพื้นพิภพ มีศาสนทูตปรากฏอยู่ในคัมภีร์อัลกุรอาน 25 ท่าน โดยมุฮัมหมัดเป็นศาสนทูตคนล่าสุด... พระอัลเลาะห์จะไม่ส่งศาสนทูตมาอีก ในศาสนาโซโรอัสเตอร์บันทึกไว้ว่าพระเจ้าคือ พระอหุระ มา-ซดะ แต่งตั้งให้โซโรอัสเตอร์เป็นศาสดาสอนศาสนาของพระองค์ท่าน "นานัก" ศาดาในศาสนาซิกข์ก็เช่นเดียวกัน วันหนึ่งท่านเข้าไปบำเพ็ญจิตในป่าและได้พบพระเจ้า พระเจ้าทรงยื่นน้ำทิพย์ถ้วยหนึ่งให้นานักดื่ม แล้วบอกให้นานักออกประกาศศาสนา

 


หนังสือ GB 101 ความรู้พื้นฐานทางพระพุทธศาสนา
กลุ่มวิชาความรู้ทั่วไปทางพระพุทธศาสนา

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.026276699701945 Mins