การเวียนว่ายตายเกิด
1. สังสารวัฏวงจรการเวียนว่ายตายเกิด
สังสารวัฏ หมายถึง การเวียนว่ายตายเกิด คำที่มีความหมายเหมือนกันมีอีก เช่น วัฏสงสาร,สังสารทุกข์,สังสารจักร,สังสาร และ สงสาร จากความหมายนี้ทำให้เราทราบว่า ชีวิตมนุษย์และสัตว์ทั้งหลายไม่ได้มีเพียงชาติเดียว คนเราตายแล้วไม่สูญ แต่จะมีการเวียนว่ายตายเกิดไปเรื่อยๆหากยังมีเหตุปัจจัยแห่งการเกิดอยู่ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่าการเวียนว่ายตายเกิดนี้ไม่สามารถกำหนดเบื้องต้นและเบื้องปลายได้ กล่าวคือ ไม่อาจบอกได้ว่า สรรพสัตว์มีการเวียนว่ายตายเกิดกันมาตั้งแต่เมื่อไรและจะสิ้นสุดลงเมื่อไร
สมัยหนึ่ง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ กรุงราชคฤห์ ครั้งนั้นพระพุทธองค์ตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่าสงสารกำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้ เมื่อบุคคลหนึ่งท่องเที่ยวไปมาอยู่ตลอดกัปหนึ่ง พึงมีโครงกระดูก ร่างกระดูก กองกระดูกใหญ่เท่าภูเขาเวปุลละนี้... ภูเขาเวปุลละนั้นเป็นภูเขาที่อยู่ไม่ไกลกับภูเขาคิชฌกูฏ
ในอัสสุสูตรพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สงสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้... น้ำตาที่หลั่งไหลออกของพวกเธอผู้ท่องเที่ยวไปมาโดยกาลนานนี้แหละมากกว่าน้ำในมหาสมุทรทั้ง 4... พวกเธอได้ประสบมรณกรรมของมารดา... บิดา... ของพี่ชายน้องชาย พี่สาวน้องสาว...ของบุตร... ของธิดา... คร่ำครวญร้องไห้อยู่... เพราะพลัดพรากจากสิ่งที่พอใจนั่นแหละมากกว่าส่วนน้ำในมหาสมุทรทั้ง 4 ไม่มากกว่าเลย... นอกจากนี้พระพุทธองค์ยังตรัสอีกว่า ผู้ที่ไม่เคยเป็นบิดามารดา พี่ชายน้องชาย พี่หญิงน้องหญิง บุตรธิดา ไม่เคยเป็นสามีภรรยากัน ฯลฯ มิใช่หาได้ง่ายเลย
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเองก็เวียนว่ายตายเกิดมานับภพนับชาติไม่ถ้วน ได้พลัดพรากจากบิดามารดาและบุคคลอันเป็นที่รักมามากเช่นกัน ครั้งหนึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จบิณฑบาตในเมืองสาเกตพราหมณ์ผู้หนึ่งเห็นพระทศพลแล้ว ได้หมอบลงแทบพระยุคลบาท ยึดข้อพระบาททั้งคู่ไว้แน่นพลางกราบทูลว่า "พ่อมหาจำเริญ ธรรมดาว่าบุตร ต้องปรนนิบัติมารดาบิดาในยามแก่มิใช่หรือ" จากนั้นจึงพาพระศาสดาไป
เรือนของตน
พระศาสดาเสด็จไปที่เรือนของพราหมณ์ ประทับนั่งเหนืออาสนะที่เขาจัดไว้พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ฝ่ายพราหมณ์ ได้ข่าวว่าบัดนี้บุตรของเรามาแล้ว ก็มาหมอบแทบบาทยุคลของพระบรมศาสดา แล้วร่ำไห้ว่า "พ่อคุณทูนหัว พ่อไปไหนเสียนานถึงปานนี้ ธรรมดาบุตรต้องบำรุงมารดาบิดายามแก่มิใช่หรือ" แล้วบอกให้บุตรธิดาพากันมาไหว้ด้วยคำว่า "พวกเจ้าจงไหว้พี่ชายเสีย" พราหมณ์ทั้งสองผัวเมียดีใจ ได้ถวายมหาทานแก่พระศาสดาและภิกษุสงฆ์ เมื่อพระศาสดาเสวยเสร็จแล้วก็ตรัสชราสูตรแก่พราหมณ์ทั้งสองนั้น ในเวลาจบพระสูตรทั้งสองคนก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระอนาคามี
เมื่อพระพุทธองค์และภิกษุสงฆ์กลับมาถึงวัดแล้ว พวกภิกษุได้นั่งประชุมกันในโรงธรรม สนทนากันว่าพราหมณ์ก็รู้อยู่ว่า พระบิดาของพระตถาคตคือพระเจ้าสุทโธทนะ พระมารดาคือพระนางมหามายา ทั้ง ๆ ที่รู้อยู่ก็ยังบอกพระตถาคตกับนางพราหมณีว่า "บุตรของเรา" ถึงพระศาสดาก็ทรงรับข้อนี้เป็นเพราะเหตุไรหนอ
พระศาสดาตรัสอธิบายว่า "พราหมณ์ทั้งสองเรียกบุตรของตนนั่นแหละว่าบุตร เพราะว่าในอดีตกาลพราหมณ์นี้ได้เป็นบิดาของเราตลอด 500 ชาติ เป็นอาของเรา 500 ชาติ เป็นปู่ของเรา 500 ชาติ ติดต่อกันไม่ขาดสาย แม้นางพราหมณีนี้ ก็ได้เป็นมารดาของเรา 500 ชาติ เป็นน้า 500 ชาติเป็นย่า500 ชาติ ติดต่อกันไม่ขาดสายเลยดุจกัน"
แม้นักศึกษาเองก็อาจจะเคยนึกสงสัยว่าทำไมเรารู้สึกคุ้นเคยกับคนบางคนมาก ทั้ง ๆ ที่เพิ่งเห็นหน้ากันเป็นครั้งแรก มีคู่สามีภรรยาจำนวนไม่น้อยที่พบกันครั้งแรกแล้วรู้สึกว่า "ใช่เลย" คนนี้แหละคือคู่ชีวิตของตน แม้แต่สัตว์เลี้ยงที่เราเลี้ยงไว้ หรือ ทีมงานที่ทำงานร่วมกันเป็นอย่างดีในองค์กรต่าง ๆ บางคนอาจจะมีความรู้สึกว่าคุ้นเคยกันมาก่อน แต่ก็อธิบายไม่ได้ว่า ทำไมจึงรู้สึกอย่างนี้ จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นผลมาจากการที่เราและสัตว์ทั้งหลายเวียนว่ายตายเกิดกันมานับภพนับชาติไม่ถ้วนนั่นเอง จึงทำให้เรามีความสัมพันธ์กับใครต่อใครมากมาย เมื่อได้มีโอกาสมาพบกันอีกในชาติต่อมาจึงทำให้รู้สึกว่า คุ้นเคยหรือผูกผันกันอยู่ลึก ๆ
2. หลักฐานแห่งการเวียนว่ายตายเกิด
จะเชื่อได้อย่างไรว่าชีวิตมีการเวียนว่ายตายเกิดจริง หลักฐานสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้เชื่อได้ว่า มีการเวียนว่ายตายเกิดจริง ตายแล้วไม่สูญ โลกหน้ามีอยู่จริง คือ กรณีคนที่สามารถระลึกชาติหนหลังได้ ซึ่งเรื่องนี้มีตัวอย่างยืนยันทั้งในพระไตรปิฎกและในโลกยุคปัจจุบัน แม้เราจะไม่ค่อยพบเห็นกันได้ทั่วไป แต่ก็พอมีตัวอย่างให้ประหลาดใจอยู่พอสมควร ยิ่งยุคนี้เป็นยุคแห่งข้อมูลข่าวสาร เราสามารถรับรู้เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นทั่วโลกได้ด้วยเวลาเพียงไม่กี่วินาที หากนักศึกษาได้ค้นคำว่า "การกลับชาติมาเกิด" ในอินเตอร์เน็ต ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับผู้สามารถระลึกชาติได้ จะพบว่า มีคำนี้อยู่ 4,590,000 รายการ และในเว็บไซท์ยูทูบ (youtube) มีวิดีโอเกี่ยวกับผู้ระลึกชาติได้มากกว่า 100 เรื่อง
เมื่อวันอังคารที่ 5 มีนาคม พ.ศ.2552 รายการโทรทัศน์ในเมืองไทยชื่อ "รายการตีสิบ" ได้นำเสนอตัวอย่างบุคคลในปัจจุบันที่สามารถระลึกชาติหนหลังได้คือ คุณชนัย ชูมาลัยวงษ์ เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2510 ที่จังหวัดพิจิตร ปัจจุบันอายุ 41 ปี เขาเล่าว่าสามารถระลึกชาติได้ตั้งแต่มีอายุได้ 3 ปี คุณชนัยบอกว่า ในชาติที่แล้วตัวเองเป็นครู มีชื่อว่า "บัวไข หล่อนาค" อนอยู่ที่โรงเรียนท่าบ่อ อำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร มีภรรยาชื่อ "สวน" และมีลูกทั้งหมด 5 คน เป็นหญิง 3 คน ชาย 2 คน ครูบัวไขเสียชีวิตในวัย 35 ปี คือในปี พ.ศ. 2505 เนื่องจากถูกลอบยิง ขณะกำลังเดินทางไปสอนหนังสือที่โรงเรียน
เด็กชายชนัยในวัย 3 ขวบเมื่อระลึกชาติได้ จึงพยายามรบเร้ายายของตนให้พาเขากลับไปหาครอบครัวเดิม เนื่องจากคิดถึงภรรยาและลูก แต่ผู้เป็นยายไม่ได้สนใจนัก จนเด็กชายชนัยตัดสินใจหนียายออกไปตามหาอดีตของตนด้วยตัวเอง คือเดินทางไปหาครอบครัวของนางสวนนั่นเอง เขาสามารถเดินทางไปได้อย่างถูกต้องทั้ง ๆ ที่ในชาตินี้ไม่เคยไปที่นั่นเลยแม้แต่ครั้งเดียว
เมื่อเด็กชายชนัยไปถึง ครอบครัวหล่อนาคก็ต้องตกตะลึง เพราะชนัยในวัย 3 ขวบทักทายทุกคนอย่างคุ้นเคย จนสมาชิกในครอบครัวและเพื่อน ๆ อดแปลกใจกับเรื่องเหลือเชื่อนี้ไม่ได้ พร้อม ๆ กับอาการเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง พ่อแม่ของครูบัวไข รวมทั้งนางสวนและลูก ๆ จึงทดสอบชนัย ด้วยการถามคำถามต่าง ๆ ที่มีแต่ครูบัวไขและครอบครัวเท่านั้นที่รู้ ซึ่งชนัยกลับสามารถตอบได้ถูกต้องทั้งหมดโดยไม่ลังเลแม้แต่น้อย และรู้ว่าสิ่งของใดเป็นของครูบัวไข รู้ว่าลูกสาวชอบทานอะไร หรือรู้แม้กระทั่งว่าครูบัวไขเก็บของอะไรไว้ที่ไหน จนครอบครัวหล่อนาคเชื่อเรื่องราวที่ชนัยเล่า และยอมรับอย่างสนิทใจว่า ชนัยคือครูบัวไขของพวกเขาในชาติที่แล้วจริง ๆ
จากข้อมูลที่กล่าวมาทั้งหมดนี้จึงเป็นเหตุผลที่สำคัญที่ทำให้เชื่อได้ว่า ตายแล้วไม่สูญ โลกหน้ามีจริงซึ่งโลกหน้าอาจจะเป็นการได้มาเกิดเป็นมนุษย์อีกครั้ง หรือไปเกิดยังภพภูมิอื่น ๆ ได้แก่ นรกหรือสวรรค์ เป็นต้นทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับบุญและบาปที่ทำเอาไว้เป็นสำคัญ
3. ไตรวัฏปัจจัยแห่งการเวียนว่ายตายเกิด
ไตรวัฏ แปลว่า วงจร 3 หมายถึง ปัจจัยหรือสาเหตุแห่งการเวียนว่ายตายเกิด 3 ประการ ได้แก่ กิเลสกรรม และวิบาก กล่าวคือ กิเลสที่มีอยู่ในใจเป็นเหตุให้สร้างกรรม แล้วส่งผลเป็นวิบากคือการเวียนว่ายตายเกิดเพื่อไปรับผลกรรมที่ทำไปเรื่อย ๆ ไตรวัฏนี้ปรากฏอยู่พระสูตรต่าง ๆ เช่น ปฐวีสูตร ที่กล่าวแล้วว่า "สงสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้ เมื่อเหล่าสัตว์ผู้มี 'อวิชชา' เป็นที่กางกั้น มี 'ตัณหา' เป็นเครื่องประกอบไว้ ท่องเที่ยวไปมาอยู่ที่สุดเบื้องต้นไม่ปรากฏ" และดังคำกล่าวของพระองคุลิมาลอรหันตสาวกที่ปรากฏในอังคุลิมาลสูตรสรุปความได้ว่า "เมื่อก่อนเราเป็นโจรชื่อองคุลิมาล ถูกกิเลสดุจห้วงน้ำใหญ่พัดไป เรากระทำกรรมคือฆ่าคนที่จะให้ถึงทุคติไว้มาก อันวิบากของกรรมถูกต้องแล้ว"
จากที่กล่าวมานี้สรุปได้ว่า "กิเลส" ได้แก่ อวิชชา และตัณหา เป็นต้น เป็นเหตุให้สร้าง "กรรม" ต่าง ๆ เช่น โจรองคุลิมาลสร้างกรรมด้วยการฆ่าคนถึง 999 คน ซึ่งปกติกรรมนี้จะส่งผลให้เกิด "วิบาก" คือ "การเวียนว่ายตายเกิด" ไปสู่ทุคติภูมิ ได้แก่ นรก เปรต อสุรกายสัตว์เดรัจฉาน
กรรมขององคุลิมาลหนักมาก ปกติแล้วเมื่อตายไปต้องไปตกนรกยาวนาน แต่เนื่องจากภายหลังองคุลิมาลออกบวชและได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ เป็นเหตุให้พ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด จึงไม่ต้องไปรับผลกรรมอันเป็นวิบากในทุคติภูมิอีก แต่ยังต้องรับวิบากแห่งกรรมในปัจจุบันชาติอยู่คือ ถูกชาวบ้านปาก้อนหินใส่จนหัวแตกเลือดอาบ
1) ความหมายและตระกูลของกิเลส
กิเลส หมายถึง สิ่งที่ทำให้จิตเศร้าหมอง ดังพุทธพจน์ที่ว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จิตนี้ผุดผ่อง แต่ว่าจิตนั้นแลเศร้าหมอง ด้วยอุปกิเลสที่จรมา" ในที่นี้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าใช้คำว่า "อุปกิเลส" อุป แปลว่า เข้าไป หมายถึง อาการที่กิเลสเข้าไปทำให้จิตเศร้าหมองนั่นเอง
อีกคำหนึ่งที่มักใช้เรียกแทนกิเล คือ คำว่า "อาสวะ" เหตุที่กิเลสมีชื่อเรียกว่า อาสวะ เพราะไหลไป คือประสบสังสารทุกข์ต่อไป หมายถึงเป็นเหตุให้มนุษย์และสัตว์ทั้งหลายที่ยังมีกิเลสอยู่ต้องได้รับทุกข์จากการเวียนว่ายตายเกิดต่อไป อีกนัยหนึ่ง กิเลสชื่อว่า อาสวะ เพราะเป็นสิ่งที่เข้ามาหมักดองอยู่ในจิตของเรานานแล้ว
กิเลสจึงเป็นสิ่งแปลกปลอมที่เข้าไปแฝงตัวอยู่ในจิต ทำให้จิตเศร้าหมองคือเสื่อม ภาพลงจากเดิมกิเลสจึงคล้าย ๆ กับเชื้อโรคที่เข้ามาอยู่ในร่างกายของเรา ซึ่งเชื้อโรคบางอย่างก็เข้ามาอยู่ในตัวของเราตั้งแต่เรายังอยู่ในครรภ์มารดาด้วยซ้ำ กิเลสก็เช่นกันเข้ามาแฝงอยู่ในจิตเราตั้งแต่เรายังไม่คลอดออกมาจากท้องมารดา หากถามว่ากิเลสมาจากไหน คำถามนี้จึงไม่ต่างกับถามว่าเชื้อโรคมาจากไหน คำตอบที่เป็นกลางที่สุดคือ กิเลสก็ดี เชื้อโรคก็ดี เป็นสิ่งที่มีอยู่แต่เดิม หรืออาจกล่าวได้ว่ามีอยู่แล้วในธรรมชาติเหมือนกับต้นไม้ ท้องฟ้า ภูเขา น้ำตก เป็นต้น
กิเลสนั้นแบ่งแยกย่อยออกเป็นประเภทต่าง ๆ ได้มากมาย แต่โดยรวมแล้วจัดเป็น 3 ตระกูลใหญ่ ๆ คือ ตระกูลโลภะ ตระกูลโทสะ และตระกูลโมหะ
(1) กิเลสตระกูลโลภะ
คำว่า โลภะ แปลว่า ปรารถนา ความอยาก และความต้องการ ได้แก่ กิเลสจำพวกที่ทำให้จิตหิว อยากได้ของคนอื่น ผู้ที่ถูกโลภะครอบงำ แม้จะเป็นคนมั่งมีอยู่ดีกินดี ก็ยังรู้สึกว่าหิว ไม่รู้จักอิ่มไม่รู้จักพอ ไม่รู้จักเต็ม เปรียบเหมือนไฟไม่อิ่มด้วยเชื้อ มหาสมุทรไม่เต็มด้วยน้ำฉันนั้นโลภะมีชื่อเรียกอย่างอื่นอีกคือ "โลภะนั้นเรียกว่า 'ราคะ' ด้วยอำนาจความยินดี เรียกว่า 'นันทิ' ด้วยอำนาจความเพลิดเพลิน เรียกว่า 'ตัณหา' ด้วยอำนาจความอยาก"
(2) กิเลสตระกูลโทสะ
คำว่า โทสะ แปลว่า ความโกรธ ความขัดเคือง ความขุ่นเคือง ความแค้น ความพลุ่งพล่านความคิดประทุษร้าย การคิดปองร้าย ความดุร้าย ความอาฆาต ความปากร้าย ความไม่แช่มชื่นแห่งจิตโทสะเป็นกิเลสที่ทำให้จิตร้อน อยากล้างผลาญ อยากทำความพินาศให้แก่คนอื่นสิ่งอื่น กิเลสพวกนี้เมื่อเกิดขึ้นแล้วทำให้จิตเดือดพล่าน
(3) กิเลสตระกูลโมหะ
คำว่า โมหะ แปลว่า ความไม่รู้ที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจแห่งความหลงและความงมงาย ได้แก่ ความไม่รู้ตามเป็นจริง ความไม่แทงตลอด ความไม่พิจารณา ความทรามปัญญา ความโง่เขลา ความไม่รู้ชัดความลุ่มหลง ความไม่รู้ในทุกข์ ความไม่รู้ในเหตุแห่งทุกข์ ความไม่รู้ในความดับทุกข์ ความไม่รู้ในหนทางดับทุกข์อวิชชา
ดังนั้น 'โมหะ' จึงหมายถึง 'อวิชชา' ด้วย โดยอวิชชานั้นเป็นมูลรากของกิเลสทั้งปวงดังที่พระสัมมาสัม-พุทธเจ้าตรัสว่า "บุคคลตัดความผูกโกรธด้วย... และความโลภอันชั่วช้าด้วย ถอนตัณหาพร้อมทั้งอวิชชาอันเป็นมูลรากเสียได้ อย่างนี้จึงออกไปจากทุกข์ได้"
2) ความหมายและประเภทของกรรม
กรรม หมายถึง การกระทำที่ประกอบด้วยเจตนา ดังพุทธพจน์ที่ว่า "เจตนาห ภิกขเว กมฺม วทามิเจตยิตฺวา กมฺม กโรติ กาเยน วาจาย มนสา" หมายความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวเจตนาว่าเป็นกรรม บุคคลคิดแล้ว จึงกระทำกรรมด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ
เจตนา หมายถึง ภาพความนึกคิดที่มีความจงใจเป็นสิ่งประกอบสำคัญ คือ ต้องคิดไว้ก่อนล่วงหน้าแล้วจึงกระทำ เจตนาจึงจัดเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของการกระทำ
กรรมนี้สามารถแสดงออกมาได้ 3 ทาง ได้แก่ การกระทำทางกาย ทางวาจา และทางใจ และกรรมนั้นแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายกุศลกรรม และฝ่ายอกุศลกรรม โดยกุศลกรรมนั้นหากบุคคลใดสั่งสมเพิ่มพูนจนถึงที่สุดแล้วก็จะหลุดพ้นจากไตรวัฏและสังสารวัฏได้ ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไปส่วนอกุศลกรรมเป็นกรรมที่ส่งผลให้มนุษย์และสรรพสัตว์ทั้งหลายติดอยู่ในวังวนแห่งการเวียนว่ายตายเกิดอยู่ร่ำไป
(1) ฝ่ายกุศลกรรม หมายถึง กรรมฝ่ายดี เป็นการกระทำที่บุคคลทำด้วยอโลภะ อโทสะ อโมหะ คือ กระทำโดยไม่มีความโลภ ความโกรธ ความหลง เป็นเหตุ จึงเป็นการกระทำที่ไม่มีโทษ ไม่เดือดร้อนในภายหลัง มีจิตแช่มชื่นเบิกบาน มีสุขเป็นผล
พฤติกรรมที่จัดเป็นกุศลกรรม คือกุศลกรรมบถ 10 สามารถแบ่งออก 3 ทาง ตามการกระทำที่เกิดขึ้นทางกาย วาจาและใจ ดังนี้คือ
-กายสุจริต หมายถึง การกระทำดีทางกาย มี 3 ประการ คือ ปาณาติปาตา เวรมณี งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ที่ยังมีชีวิต, อทินนาทานา เวรมณี งดเว้นจากการลักขโมยของที่ผู้อื่นไม่ให้ และกาเมสุมิจฉาจาราเวรมณี งดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม
-วจีสุจริต หมายถึง การกระทำดีทางวาจา มี 4 ประการ คือ มุสาวาทา เวรมณี งดเว้นจากการพูดเท็จ, ปิสุณาย วาจาย เวรมณี งดเว้นจากการพูดส่อเสียด, ผรุสาย วาจาย เวรมณี งดเว้นจากการพูดคำหยาบ, และสัมผัปปลาปา เวรมณี งดเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ
-มโนสุจริต หมายถึง การกระทำดีทางใจ มี 3 ประการ คือ อนภิชฌา ไม่คิดเพ่งเล็งอยากได้สิ่งของผู้อื่น, อัพยาบาท ไม่คิดปองร้ายเบียดเบียนผู้อื่น, และสัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูก
กุศลกรรมบถ 10 นี้ท่านเรียกว่า มนุษยธรรม หมายถึง ธรรมของมนุษย์ เป็นธรรมพื้นฐานประจำตัวที่มนุษย์ทั่วไปต้องมี หากคนใดไม่มีธรรมทั้ง 10 ประการนี้ได้ชื่อว่า เป็นมนุษย์ที่ไม่ สมบูรณ์เนื่องจากมีความประพฤติคล้ายสัตว์คือ ฆ่ากัน ลักขโมยกัน มั่วสุมทางเพศกัน เป็นต้น เมื่อละโลกไปแล้วก็ต้องไปรับผลกรรมชั่วในมหานรก พ้นจากนรกแล้วก็ต้องมาเกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉานต่าง ๆ ไม่อาจจะเกิดเป็นมนุษย์ได้ เพราะตอนเป็นมนุษย์เขาไม่มีมนุษยธรรม
กุศลกรรมหมวดบุญกิริยาวัตถุ
กุศลกรรมอีกหมวดธรรมหนึ่งซึ่งนักศึกษาคุ้นเคยกันดีคือ "บุญกิริยาวัตถุ" โดยเฉพาะบุญกิริยาวัตถุ 3 อันได้แก่ ทาน ศีล และภาวนา2 หรือมีชื่อเต็มดังนี้
- ทานมัย หมายถึง บุญสำเร็จด้วยการบริจาคทาน เช่น ตักบาตร ถวายปัจจัยไทยธรรม หมายรวมถึงการให้อภัยทาน และให้ความรู้ที่เรียกว่า วิทยาทาน หรือ ธรรมทานด้วย
- ศีลมัย หมายถึง บุญสำเร็จด้วยการรักษาศีล เช่น การรักษาศีล 5 ได้แก่ ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม ไม่พูดโกหก และไม่ดื่มสุรา รวมทั้งศีลในดับสูงขึ้นไปคือ ศีล 8 และศีลของนักบวชด้วย
- ภาวนามัย หมายถึง บุญสำเร็จด้วยการเจริญภาวนา คำว่า "ภาวนา" แปลว่า "เจริญ" หมายถึง การเจริญ "สมาธิ" หรือ การนั่งสมาธินั่นเอง
กุศลธรรมทั้ง 2 หมวดคือ กุศลกรรมบถและบุญกิริยาวัตถุสามารถสงเคราะห์กันได้ดังนี้ กายสุจริต และ วจีสุจริตสงเคราะห์เข้ากับ "ทาน" และ "ศีล" ในบุญกิริยาวัตถุ ในส่วนของศีลนั้นนักศึกษาคงเข้าใจดีเพราะมีเนื้อหาตรงกัน แต่สำหรับทานนั้นนักศึกษาหลายท่านอาจจะสงสัยว่าจัดให้อยู่ตรงนี้ได้อย่างไร
จริง ๆ แล้วศีลนั้นก็จัดเป็นทานประเภทหนึ่ง กล่าวคือ การงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ถือเป็นการให้ความปลอดภัยในชีวิตแก่สัตว์ทั้งหลาย การงดเว้นจากการลักขโมยของที่ผู้อื่นถือเป็นการให้ความปลอดภัยในทรัพย์สินแก่ผู้อื่น และการงดเว้นจากการประพฤติผิดในกามถือเป็นการให้ความปลอดภัยแก่คู่ครองของผู้อื่น เป็นต้น นอกจากนี้บุคคลที่ให้ทานบ่อย ๆ ใจของเขาจะยิ่งใหญ่และจะไม่คิดขโมยทรัพย์สินของคนอื่น เพราะแม้แต่ของตัวเองก็ยัง ละให้คนอื่นได้ ดังนั้นการให้ทานก็จะช่วยส่งเสริมการรักษาศีลได้เป็นอย่างดี
แต่ทั้งนี้บุญกิริยาวัตถุนั้นมีความหมายกว้างกว่ากุศลกรรมบถ 10 ตรงที่มีการกล่าวถึงการให้วัตถุสิ่งของเป็นทานด้วย ได้แก่ การถวายปัจจัยไทยธรรมแก่พระภิกษุ เป็นต้น
มโนสุจริตสงเคราะห์เข้ากับ "ภาวนา" ในบุญกิริยาวัตถุ เพราะภาวนานั้นเป็นการบำเพ็ญเพียรเพื่อกำจัดกิเลสในใจ
และที่สำคัญคือ คู่ปรับของโลภะคือทาน คู่ปรับของโทสะคือศีล และคู่ปรับของโมหะคือภาวนา หากได้ให้ทาน รักษาศีล และเจริญภาวนาอยู่ ม่ำเสมอ ก็จะช่วยลดกิเลส ทั้ง 3 ตระกูลคือ โลภะ โทสะ และโมหะ ไปเรื่อย ๆ จนหมดในที่สุด
(2) ฝ่ายอกุศลกรรม หมายถึง กรรมฝ่ายชั่ว เป็นการกระทำที่บุคคลทำด้วยโลภะ โทสะ โมหะ เป็นการกระทำที่มีโทษ เดือดร้อนในภายหลัง มีทุกข์เป็นผล
พฤติกรรมที่จัดเป็นอกุศลกรรม คืออกุศลกรรมบถ 10 สามารถแบ่งออก 3 ทาง ตามการกระทำที่เกิดขึ้นทางกาย วาจา และใจ ดังนี้คือ
- กายทุจริต หมายถึง การกระทำชั่วทางกาย มี 3 ประการ คือ ปาณาติบาต การจงใจฆ่าสัตว์ที่ยังมีชีวิต, อทินนาทาน การจงใจลักขโมยของที่ผู้อื่นไม่ให้, และกาเมสุมิจฉาจาร การจงใจประพฤติผิดในกาม
- วจีทุจริต หมายถึง การกระทำชั่วทางวาจา มี 4 ประการ คือ มุสาวาท การจงใจพูดเท็จ , ปิสุณายวาจา การจงใจพูดส่อเสียด, ผรุสวาจา การจงใจพูดคำหยาบ, และสัมผัปปลาปะ การจงใจพูดเพ้อเจ้อ
- มโนทุจริต หมายถึง การกระทำชั่วทางใจ มี 3 ประการ คือ อภิชฌา คิดเพ่งเล็งอยากได้สิ่งของ ของผู้อื่น, พยาบาท คิดปองร้ายเบียดเบียนผู้อื่น, และมิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิด
3) ความหมายและประเภทของวิบาก
คำว่า วิบาก แปลว่า ผลที่เกิดขึ้น หมายถึง ผลแห่งกรรมผลแห่งกรรมนั้นมี 2 ระดับคือ เบื้องต้นนั้นจะเกิดเป็นบุญและบาปขึ้นก่อน กล่าวคือ ขณะที่เราทำกุศลกรรมก็จะเกิดบุญขึ้น แต่เมื่อทำอกุศลกรรมก็จะเกิดบาปขึ้น และเมื่อถึงเวลาที่เหมาะ สมบุญและบาปเหล่านั้นก็จะส่งผลให้ผู้เป็นเจ้าของมีวิถีชีวิตไปตามกรรมต่าง ๆ ที่ทำเอาไว้
บุญและบาปเมื่อเกิดขึ้นแล้วมีที่ตั้งอยู่ที่ใด หลวงปู่วัดปากน้ำกล่าวไว้ว่า บุญก็ดี บาปก็ดี จะเก็บอยู่ในกลาง "ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์" หรือดวงมนุษยธรรม เป็นดวงที่ใสบริสุทธิ์เท่าฟองไข่แดงของไก่ดวงธรรมนี้ตั้งอยู่ ณ ศูนย์กลางกายฐานที่ 6 ซึ่งฐานนี้ตั้งอยู่กลางท้องในระดับสะดือของแต่ละคน ดวงธรรมดวงนี้จึงเปรียบประดุจห้องสำหรับเก็บบุญและบาป เป็นห้องที่มีความพิเศษคือเก็บบุญและบาปได้มากใส่เข้าไปเท่าไร ๆ ก็ไม่เต็ม
(1) ความหมายของบุญ
" ภาวะที่ชื่อว่า บุญ เพราะชำระกรรมอันเป็นการกระทำของตน และยังภพอันน่าบูชาให้เกิดขึ้น" ชำระกรรมในที่นี้คือการชำระล้างบาปอันเกิดจากอกุศลกรรมที่มีอยู่ในจิตใจนั่นเองส่วนภพอันน่าบูชา ได้แก่สุคติภูมิ เช่น สวรรค์ ซึ่งบุคคลจะได้เข้าถึงก็เพราะบุญที่ทำไว้แล้วนอกจากนี้ บุญ "ยังเป็นเครื่องปรากฏแห่งตระกูล รูป มหาโภคะและความเป็นใหญ่" หมายความว่า บุญที่เกิดขึ้นจากกุศลกรรมนั้นจะส่งผลให้บุคคลที่เป็นเจ้าของบุญได้เกิดในตระกูลที่ดี มีรูปสมบัติที่ดี มีโภคทรัพย์มาก และได้เป็นใหญ่ เช่น หากมีบุญมากก็จะได้เป็นผู้นำประเทศ หรือ ผู้นำในระดับโลก เป็นต้น
หลวงปู่วัดปากน้ำกล่าวไว้ว่า บุญนั้นมีลักษณะเป็นดวงกลมรอบตัว ใสสว่างบุญเป็นธาตุละเอียดเรียกว่า "บุญธาตุ" มองไม่เห็นด้วยตาเนื้อ แต่จะเห็นได้ก็ต่อเมื่อได้ฝึกสมาธิ ทำใจให้ละเอียด จนความละเอียดของใจอยู่ในระดับเดียวกับบุญ จึงจะมองเห็นบุญได้ แม้เราจะมองไม่เห็นบุญด้วยตาเนื้อ แต่บุญก็ยังคงมีอยู่ของมันอย่างนั้น เพราะสิ่งที่เรายังมองไม่เห็นไม่ได้เป็นข้อสรุปว่าสิ่งนั้นจะไม่มี เปรียบเสมือนกระแสไฟฟ้า เราก็รู้ว่ามันมีอยู่ แต่เรามองไม่เห็น หรือ พวกเชื้อโรคต่าง ๆ เราก็รู้ว่ามันมีอยู่ แต่เรามองไม่เห็นด้วยตาเปล่า จะเห็นได้ก็ต่อเมื่อได้ใช้กล้องจุลทรรศน์ส่องดู
อีกนัยหนึ่งว่า บุญ คือ "พลังงานบริสุทธิ์ที่เกิดขึ้นในใจมนุษย์ทุกครั้งที่ตัดใจไม่คิดชั่ว พูดชั่ว
ทำชั่ว และคิดดี พูดดี ทำดี เช่น ให้ทาน รักษาศีล และเจริญภาวนา"
ความจริงพลังงานกับธาตุคืออย่างเดียวกัน โดยพลังงานเป็นส่วนที่ละเอียดที่สุดของธาตุหรือสาร ดังสมการ E - mc2 ที่แสดงให้เห็นว่าสารหรือธาตุกับพลังงานคืออย่างเดียวกันสามารถแปลงกลับไปกลับมาได้
E คือ พลังงาน, คือ มวลแห่งสารหรือธาตุ และ c คือ ความเร็วแสง
สรุปบุญ คือ ธาตุบริสุทธิ์หรือพลังงานบริสุทธิ์และมีความละเอียด มีลักษณะเป็นดวงกลมรอบตัว ใสสว่าง เกิดขึ้นจากการทำความดี ได้แก่ การให้ทาน รักษาศีล และเจริญสมาธิภาวนา ฯลฯ บุญเมื่อเกิดขึ้นแล้วจะค่อย ๆ ชำระล้างใจให้บริสุทธิ์จากกิเลสไปเรื่อย ๆ จนหมดในที่สุด และบุญนั้นจะบันดาลความสุขความสำเร็จให้เกิดขึ้นแก่ผู้ที่เป็นเจ้าของเมื่อถึงคราวละโลกบุญก็จะส่งผลให้ไปเกิดในสุคติภูมิ
อีกคำหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับบุญคือคำว่า "บารมี" ซึ่งมาจากคำว่า "ปรม" แปลว่า "อย่างยิ่งหรือยิ่ง" หมายความว่าดำเนินไปในทางที่ดียิ่งขึ้นไป บารมีนั้นก็คือบุญ แต่เป็นบุญที่เข้มข้นมาก กล่าวคือบุญที่เราทำในแต่ละวันจะค่อย ๆ รวมตัวกันมากขึ้นเรื่อย ๆ และจะกลั่นตัวเป็นบารมี หลวงปู่วัดปากน้ำกล่าวไว้ว่า "บารมีก็มีลักษณะเป็นดวงกลมรอบตัวเช่นเดียวกัน ดวงบุญขนาด 1 คืบ เมื่อกลั่นเป็นดวงบารมีแล้วจะเหลือขนาด 1 นิ้ว"
(2) ความหมายของบาป
คำว่าบาปมาจากภาษาบาลีว่า "ปาป" พระอรรถกถาจารย์กล่าวไว้ว่า ชื่อว่าเป็นบาป เพราะเป็นของลามก บาปนั้นชื่อว่าเป็นความเศร้าหมอง เพราะทำจิตที่เคยประภั รและผ่องใสให้หม่นหมองบาปนั้นชื่อว่า มีทุกข์เป็นวิบาก เพราะให้ผลเป็นทุกข์อย่างเดียว บาปนั้นชื่อว่าเป็นเหตุให้มีการเกิด ชรา และมรณะต่อไปในอนาคตตลอดกาลนานไม่มีกำหนด
บาปนั้นหลวงปู่วัดปากน้ำกล่าวไว้ว่า มีลักษณะเป็นดวงกลมรอบตัวเหมือนดวงบุญ แต่ขุ่นมัว ไม่ใสเหมือนดวงบุญส่วนจะขุ่นมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับว่าบาปที่ทำนั้นหนักหรือเบา ดวงบาปนั้นตั้งอยู่ในดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ ซึ่งอยู่บริเวณกลางท้องของมนุษย์ทุกคนเช่นเดียวกับดวงบุญ โดยซ้อนทับกันอยู่เป็นชั้น ๆ ลับกับดวงบุญ เพราะในแต่ละวันมนุษย์แต่ละคนจะทำบาปบ้างบุญบ้างสลับกันไป
(3) การส่งผลของบุญและบาป
บุญและบาปอันเกิดจากกรรมที่เราทำจะติดตามเราไปข้ามภพข้ามชาติเปรียบประดุจเงาที่ตามตัวเราไปทุกที่และจะส่งผลให้เรามีวิถีชีวิตไปตามกรรมที่ทำไว้ และด้วยเหตุที่บุคคลแต่ละคนทำกรรมมาแตกต่างกัน จึงส่งผลให้มีชีวิตที่แตกต่างกัน ทั้งด้านรูปร่าง หน้าตา อายุ ผิวพรรณ ตำแหน่งหน้าที่การงาน ทรัพย์สมบัติ รวมทั้งความสุขและความทุกข์ด้วย
ถ้าผู้ใดสร้างอกุศลกรรมไว้มากและก่อนตายมีจิตเศร้าหมองเพราะบาปเหล่านั้น จะต้องไปอบายภูมิ ได้แก่ นรก เปรต อสุรกาย หรือสัตว์ดิรัจฉาน ต้องทุกข์ทรมานอยู่ในอบายภูมิยาวนาน เมื่อได้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีกเศษกรรมใดยังเหลืออยู่ก็จะส่งผลให้ชีวิตเป็นไปในลักษณะต่าง ๆ เช่น พิการ ตาบอด หูหนวก เป็นใบ้ ปัญญาอ่อน ฯลฯ นี้เป็นผลมาจากบาปทั้งสิ้น
ส่วนบุคคลใดที่สั่งสมกุศลกรรมไว้มากสร้างบุญไว้มาก และก่อนตายมีจิตผ่องใสเพราะนึกถึงบุญได้ ก็จะได้ไปเกิดยังสวรรค์ หรือพรหมโลกก่อน และจะมีความแตกต่างกันทั้งเรื่องทิพยสมบัติ รัศมีผิวพรรณ อำนาจ และอายุ ฯลฯ คล้าย ๆ กับในโลกมนุษย์ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับกุศลกรรมที่ทำไว้ในอดีตนั่นเองเมื่อหมดบุญที่จะอยู่ในเทวโลกหรือพรหมโลกแล้วก็จะจุติมาเกิดในกำเนิดอื่นต่อไป แต่จะไปเกิดเป็นอะไรนั้นก็แล้วแต่กรรมจะจัดสรรอย่างไร เช่น อาจจะได้มาเกิดเป็นมนุษย์ หรือเป็นสัตว์ดิรัจฉาน ฯลฯ ขึ้นอยู่กับว่าบุญหรือบาปจะมีโอกาสได้ส่งผลก่อน
การเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารนี้ทุกคนถูกกิเล คืออวิชชาครอบงำทำให้ไม่รู้ว่า มีการเกิดตายหลายชาติ มีการเสวยกรรมที่ทำด้วยโลภะ โทสะ โมหะ พวกเราเหมือนถูกหลอกกันตั้งแต่ลืมตาดูโลกว่า ชีวิตนี้มีครั้งเดียว เพราะฉะนั้นอยากได้อะไรก็รีบ ๆ โกยเสียจากชีวิตนี้ อย่ารีรอ อย่าเห็นใจใครมากกว่าตนเอง
ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ชอบ เต็มใจหรือไม่เต็มใจ แต่ชาวโลกทั้งหลายกำลังเล่นเกมแห่งความไม่รู้กันอยู่ ในเกมนั้นเต็มไปด้วยกฎ เต็มไปด้วยเงื่อนสลับซับซ้อน และเต็มไปด้วยการให้รางวัลและการลงโทษทุกแบบทุกระดับ
ความไม่รู้ว่ากรรมดีทำให้เป็นสุข กรรมชั่วทำให้เป็นทุกข์ส่งผลให้เราทำกรรมดีบ้างชั่วบ้างเพียงเพื่อตอบโต้ ถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นเฉพาะหน้า เหมือนเด็กไร้เดียงสาที่อาจเอาตะปูแหย่รูปลักได้ทุกเมื่อ โดยไม่ทราบว่ามหันตภัยชนิดใดรออยู่ในนั้น
หนังสือ GB 101 ความรู้พื้นฐานทางพระพุทธศาสนา
กลุ่มวิชาความรู้ทั่วไปทางพระพุทธศาสนา