ขันธ์ตามทัศนะของพระมงคลเทพมุนี
1. ประวัติพระมงคลเทพมุนี
พระมงคลเทพมุนี ( สด จนฺทสโร) หรือที่คนทั่วไปรู้จักกันในนามหลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ท่านมีชื่อเดิมว่า สด เกิดเมื่อ วันศุกร์ที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2427 ตรงกับวันแรม 6 ค่ำ เดือน 11 ปีวอก ณ หมู่บ้านเหนือ ฝังตรงข้าม วัดสองพี่น้อง ตำบลสองพี่น้อง อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี โยมพ่อชื่อเงิน แซ่จิ๋ว โยมแม่ชื่อสุดใจ มีแก้วน้อย ครอบครัวของท่านเป็นคหบดี ทำอาชีพค้าข้าวในคลองสองพี่น้องและอำเภอใกล้เคียง
ในวัยเด็กท่านมีใจคอเด็ดเดี่ยวมั่นคง เมื่อตั้งใจจะทำอะไรแล้วก็จะพยายามทำจนสำเร็จ ท่านคุมกิจการค้าขายแทนโยมพ่อซึ่งเสียไปตั้งแต่ท่านอายุได้ 14 ปี จนกระทั่งอายุได้ 19 ปี ท่านก็เกิดความคิดขึ้นว่า ชีวิตนี้มีทุกข์ ตายแล้วเงินทองที่หามาก็เอาติดตัวไปไม่ได้ ท่านจึงมีความตั้งใจว่า "ขออย่าให้เราตายเสียก่อน ขอให้ได้บวชเสียก่อนเถิด ถ้าบวชแล้วไม่สึกตลอดชีวิต"
ในที่สุดท่านก็ได้อุปสมบทในต้นเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2449 ขณะอายุได้ 22 ปี ณ วัด สองพี่น้อง อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี ได้รับฉายาว่า จนฺทสโร
เมื่อบวชแล้วหลวงปู่ก็ทุ่มเทให้กับการศึกษาเล่าเรียน และตั้งใจนั่งสมาธิทุกวันไม่ขาดเลยตั้งแต่ออกบวช จนได้เข้าถึงพระธรรมกายในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 พ.ศ. 2460 ในกลางพรรษาที่ 12 ณ วัดโบสถ์บน อำเภอบางคูเวียง จังหวัดนนทบุรี
ในช่วงเช้าของวันนั้น ท่านเข้าไปนั่งสมาธิเจริญภาวนาในพระอุโบสถ โดยตั้งใจว่าหากยังไม่ได้ยินเสียงกลองเพล จะไม่ยอมลุกจากที่ เมื่อตั้งใจแล้ว ก็หลับตาภาวนา "สัมมา อะระหัง" ไปเรื่อย ๆ ขณะนั่งไปความปวดเมื่อยค่อย ๆ เพิ่มทีละน้อย ๆ และมากขึ้นจนมีความรู้สึกว่า กระดูกทุกชิ้นแทบจะระเบิดหลุดออกมาเป็นชิ้น ๆ ท่านจึงคิดที่จะเลิกนั่งหลายครั้ง แต่เมื่อได้ตั้งสัจจะไปแล้วท่านก็ทนนั่งต่อไป ในที่สุดใจก็ค่อย ๆ สงบลงทีละน้อย แล้วใจก็รวมหยุดเป็นจุดเดียวกัน เห็นเป็นดวงใสบริสุทธิ์ขนาดเท่าฟองไข่แดงของไก่ ใจชุ่มชื่น เบิกบานอย่างบอกไม่ถูก ความปวดเมื่อยหายไปไหนไม่ทราบ ในเวลาเดียวกันนั้นเสียงกลอง
เพลก็ดังขึ้น
วันนั้นท่านมีความสุขตลอดทั้งวัน ดวงธรรมขั้นต้นซึ่งเป็นดวงใสก็ยังเห็นติดอยู่ตรงศูนย์กลางกายตลอดเวลา ในช่วงเย็นท่านได้เข้าไปในพระอุโบสถแล้วตั้งสัตยาธิษฐานว่า "แม้เลือดเนื้อจะแห้งเหือดหายไปเหลือแต่หนัง เอ็น กระดูกก็ตามที ถ้านั่งลงไปแล้วไม่บรรลุธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงเห็น จะไม่ยอมลุกขึ้นจากที่จนตลอดชีวิต"
เมื่อท่านตั้งความปรารถนาแล้ว ก็เริ่มนั่งขัดสมาธิเข้าที่ภาวนา เมื่อนั่งเข้าที่ได้ประมาณครึ่งหรือค่อนคืน ใจจึงเริ่มหยุดเป็นจุดเดียวกัน มองเห็นดวงใสบริสุทธิ์ขนาดเท่าฟองไข่แดงของไก่ ซึ่งยังติดอยู่ที่ศูนย์กลางกายจากเมื่อเพล ยิ่งมองยิ่งใสว่างมากขึ้น และขยายใหญ่ขนาดเท่าดวงอาทิตย์ ดวงใสยังคงว่างอยู่อย่างนั้น โดยที่ท่านก็ไม่ทราบว่าจะทำอย่างไรต่อไป เพราะทุกสำนักที่ท่านได้ศึกษามาไม่เคยมีประสบการณ์เช่นนี้มาก่อน
ขณะที่ใจหยุดนิ่งอยู่ตรงนั้น ก็มีเสียงหนึ่งดังขึ้นมาจากจุดกลางดวงนั้นว่า "มัชฌิมา ปฏิปทา" แต่ขณะที่เสียงนั้นดังแผ่วขึ้นมาในความรู้สึก ก็เห็นจุดเล็ก ๆ เรืองแสง สว่างวาบขึ้นมาจากกลางดวงนั้น เสมือนจุดศูนย์กลางของวงกลม ความ ว่างของจุดนั้น สว่างกว่าดวงกลมรอบ ๆ ท่านมองเรื่อยไป พลางคิดในใจว่านี่กระมังทางสายกลาง จุดเล็กที่เราเพิ่งจะเห็นเดี๋ยวนี้อยู่กึ่งกลางพอดี ลองมองดูซิจะเกิดอะไรขึ้น
จุดนั้นค่อย ๆ ขยายขึ้นและโตเท่ากับดวงเดิม ดวงเก่าหายไป ท่านมองไปเรื่อย ๆ ก็เห็นดวงใหม่ลอยขึ้นมาแทนที่ เหมือนน้ำพุที่พุ่งขึ้นมาแทนที่กันนั่นแหละ ต่างแต่ใสยิ่งขึ้นกว่าดวงเดิม ในที่สุดก็เห็นกายละเอียดต่าง ๆ ที่ซ้อนอยู่ในตัวผุดซ้อนกันขึ้นมา จนกระทั่งเข้าถึงธรรมกาย เป็นพระปฏิมากรเกตุดอกบัวตูมใสบริสุทธิ์ยิ่งกว่าพระพุทธรูปบูชาองค์ใด เสียงพระธรรมกายกังวานขึ้นมาในความรู้สึกว่า "ถูกต้องแล้ว" เท่านั้นแหละ ความปีติสุขก็เกิดขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ท่านถึงกับรำพึงออกมาเบา ๆ ว่า
"เออ...มันยากอย่างนี้นี่เอง ถึงได้ไม่บรรลุกัน ความเห็น ความจำ ความคิด ความรู้ ต้องรวมเป็นจุดเดียวกัน เมื่อหยุดแล้วจึงดับ เมื่อดับแล้วจึงเกิด"
และท่านยังเคยคำนึงอีกว่า "คัมภีโรจายัง ธรรมเป็นของลึกถึงเพียงนี้ ใครจะไปคิดคาดคะเนเอาได้ พ้นวิสัยของความตรึกนึกคิด ถ้ายังตรึกนึกคิดอยู่ก็เข้าไม่ถึง ที่จะเข้าถึงได้ ต้องทำให้รู้ตรึก รู้นึก รู้คิดนั้น หยุดเป็นจุดเดียวกัน แต่พอหยุดก็ดับ แต่พอดับแล้วก็เกิด ถ้าไม่ดับแล้วไม่เกิด ตรองดูเถิดท่านทั้งหลายนี้เป็นของจริง หัวต่อมีเป็นอยู่ตรงนี้ ถ้าไม่ถูกส่วนดังนี้ ก็ไม่มีไม่เป็นเด็ดขาด"
เมื่อเข้าถึงพระธรรมกายแล้วหลวงปู่วัดปากน้ำก็ได้ฝึกสมาธิอย่างต่อเนื่องจนชำนาญ และได้ใช้พระธรรมกายในตัวศึกษาวิชชาธรรมกาย สืบต่อไป วิชชาธรรมกายคือ ความรู้แจ้งอันเกิดจากการเห็นแจ้งด้วยธรรมจักษุ หรือดวงตาของพระธรรมกาย ด้วยเหตุนี้หลวงปู่วัดปากน้ำจึงได้ชื่อว่าเป็นผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย นอกจากนี้ท่านยังสอนให้คนยุคนั้นเข้าถึงพระธรรมกายกันเป็นจำนวนมาก เมื่อได้รับมอบหมายให้มาเป็นเจ้าอาวาสวัดปากน้ำแล้ว ท่านก็ตั้งใจอบรมพระภิกษุสามเณร ให้การสนับสนุนการศึกษาทั้งภาคปริยัติและปฏิบัติ ทำให้ในยุคนั้นวัดปากน้ำภาษีเจริญมีพระภิกษุสามเณรมากที่สุดในประเทศไทย
หลวงปู่วัดปากน้ำมีศิษย์เอกอยู่ท่านหนึ่งคือ คุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง ซึ่งเป็นศิษย์ที่มีความเชี่ยวชาญในวิชชาธรรมกายมากที่สุด เมื่อหลวงปู่วัดปากน้ำมรณภาพแล้ว คุณยายก็ได้มาบุกเบิกสร้างวัดพระธรรมกายโดยมีพระเดชพระคุณพระราชภาวนาวิสุทธิ์เป็นกำลังสำคัญ ปัจจุบันวัดพระธรรมกายได้ทำหน้าที่เผยแผ่วิชชาธรรมกายที่หลวงปู่วัดปากน้ำค้นพบไปทั่วโลก ทั้งนี้เพื่อสนองมโนปณิธานที่หลวงปู่ท่านตั้งใจไว้ตั้งแต่ก่อนมรณภาพ และเพื่อให้ชาวโลกเข้าถึงสันติสุขภายในอันเป็นทางมาแห่งสันติภาพโลกอย่างแท้จริง
พระธรรมกายและวิชชาธรรมกายที่หลวงปู่วัดปากน้ำค้นพบนั้นเป็นพระพุทธศาสนาดั้งเดิมมีหลักฐานปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎก อรรถกถาและคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาอื่น ๆ ทั้งฝ่ายเถรวาทและมหายาน
2. ขันธ์ส่วนละเอียดทางธรรมปฏิบัติ
หลวงปู่วัดปากน้ำได้แสดงพระธรรมเทศนาเรื่องขันธ์ 5 ในส่วนละเอียดเอาไว้หลายกัณฑ์ด้วยกัน เช่น กัณฑ์ที่ 4 ว่าด้วยอาทิตตปริยายสูตร, กัณฑ์ที่ 9 ว่าด้วยเบญจขันธ์ทั้ง 5, กัณฑ์ที่ 45 ว่าด้วยสติปัฏฐานสูตร และกัณฑ์ที่ 42 ว่าด้วยติลักขณาทิคาถา เป็นต้น
ขันธ์ส่วนละเอียดนี้เป็นผลจากธรรมปฏิบัติที่หลวงวัดปากน้ำได้เข้าถึงพระธรรมกายแล้วไปเห็นแจ้งและรู้แจ้งขันธ์เหล่านี้ด้วยธรรมจักษุและญาณทั นะของพระธรรมกาย จากนั้นท่านก็ได้เมตตาเทศน์สอนเอาไว้ให้ชาวโลกได้ศึกษากัน
หลวงปู่วัดปากน้ำกล่าวไว้ว่า ขันธ์ 5 ที่เป็นส่วนละเอียดนั้นซ้อนเป็นชั้น ๆ อยู่ในร่างกายของมนุษย์ทุกคน กล่าวคือ นอกจากที่มนุษย์แต่ละคนจะมีกายหยาบที่เห็น ๆ กันอยู่นี้ ภายในร่างกายของมนุษย์แต่ละคนยังมีรูปขันธ์คือกายละเอียด และนามขันธ์ละเอียดซ้อนอยู่เป็นชั้น ๆ เข้าไปข้างในอีกด้วย ซึ่งสรุปได้ดังนี้
(1) ขันธ์ 5 ของกายมนุษย์หยาบ หรือกายเนื้อ
(2) ขันธ์ 5 ของกายมนุษย์ละเอียด หรือกายฝัน
(3) ขันธ์ 5 ของกายทิพย์หยาบ
(4) ขันธ์ 5 ของกายทิพย์ละเอียด
(5) ขันธ์ 5 ของกายรูปพรหมหยาบ
(6) ขันธ์ 5 ของกายรูปพรหมละเอียด
(7) ขันธ์ 5 ของกายอรูปพรหมหยาบ
(8) ขันธ์ 5 ของกายอรูปพรหมละเอียด
นอกจากนี้ยังมีขันธ์อื่นอีกแต่ไม่เรียกว่า "ขันธ์ 5" เรียกว่า "ธรรมขันธ์" ซึ่งซ้อนอยู่ภายในกายมนุษย์ของเรา โดยมีอีก 10 ขันธ์รวมทั้งหมดเป็น 18 ขันธ์ดังนี้
(9) ธรรมขันธ์ ของกายธรรมโคตรภูหยาบ หรือโคตรภูมรรค
(10) ธรรมขันธ์ ของกายธรรมโคตรภูละเอียด หรือโคตรภูผล
(11) ธรรมขันธ์ ของกายธรรมพระโสดาบันหยาบ หรือโสดาปัตติมรรค
(12) ธรรมขันธ์ ของกายธรรมพระโสดาบันละเอียด หรือโสดาปัตติผล
(13) ธรรมขันธ์ ของกายธรรมพระ กทาคามิหยาบ หรือ กทาคามิมรรค
(14) ธรรมขันธ์ ของกายธรรมพระ กทาคามิละเอียด หรือ กทาคามิผล
(15) ธรรมขันธ์ ของกายธรรมพระอนาคามิหยาบ หรืออนาคามิมรรค
(16) ธรรมขันธ์ ของกายธรรมพระอนาคามิละเอียด หรืออนาคามิผล
(17) ธรรมขันธ์ ของกายธรรมพระอรหัตหยาบ หรืออรหัตตมรรค
(18) ธรรมขันธ์ ของกายธรรมพระอรหัตละเอียด หรืออรหัตตผล
ขันธ์ 5 ละเอียดและธรรมขันธ์ต่าง ๆ ที่ซ้อนอยู่ในร่างกายของเรานี้ประกอบขึ้นจากธาตุละเอียดซึ่งเราไม่อาจจะมองเห็นได้ด้วยตาเนื้อเพราะมีความละเอียดประณีตมาก แม้จะถ่ายเอกซเรย์ก็จับไม่ติดหาไม่เจอ ถ้าจะอุปมาในเชิงวิทยาศาสตร์ ก็พอจะเทียบเคียงได้กับ "แสงของดวงอาทิตย์" ปกติเรามองเห็นเป็น สีใสๆ ดูแล้วไม่น่าจะมี สีอื่นใดปนอยู่เลย แต่เมื่อให้แสงผ่านเข้าไปในแท่งแก้วสามเหลี่ยมที่เรียกว่าปริซึม ก็จะเกิดการหักเหของแสง ทำให้เห็นว่าแสงนั้นประกอบด้วย สีต่าง ๆ ถึง 7 สีทีเดียวคือ สีม่วง ครามน้ำเงิน เขียว เหลือง แสด แดง
ไม่น่าเชื่อว่าแสงใสๆ ของดวงอาทิตย์ที่เราเห็นด้วยตามนุษย์อยู่ทุกวัน จะประกอบด้วย สีที่ต่างกันซ้อนกันอยู่ถึง 7 สีสาเหตุที่เรามองไม่เห็น สีที่ซ้อนอยู่ได้เพราะตามนุษย์ของเรามีความละเอียดไม่พอที่จะเห็นได้นั่นเอง ขันธ์ 5 และธรรมขันธ์ต่าง ๆ ที่ซ้อนอยู่ในกายมนุษย์ก็เช่นกัน เราไม่อาจมองเห็นได้ด้วยตาเนื้อ แต่จะเห็นได้ด้วยวิธีพิเศษคือ การเจริญสมาธิภาวนา ทำใจของเราให้มีความละเอียดในระดับเดียวกับขันธ์ต่าง ๆ เหล่านี้ เราจึงจะเห็นได้
กายมนุษย์ละเอียดนั้นคือ กายฝัน เวลาเรานอนหลับแล้วฝันไปว่า ไปเที่ยวที่นั่นที่นี่พอตื่นมาก็จำได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ว่าเราฝันว่าไปไหนมาบ้าง ขณะที่เรานอนหลับแล้วฝันว่าไปเที่ยวในที่ต่าง ๆ นั้น ก็คือ กายมนุษย์ละเอียดที่ซ้อนอยู่ในร่างกายของเราออกจากร่างไปนั่นเอง เมื่อฝันเสร็จกายมนุษย์ละเอียดก็กลับมาเข้าร่างใหม่ กายมนุษย์ละเอียดนี้คือกายที่ไปเกิดมาเกิด นั่นคือก่อนเรามาเกิดก็เป็นกายเช่นนี้มาก่อน จะไปเกิดคือตายก็กายมนุษย์ละเอียดนี้แหละออกจากร่างมนุษย์หยาบไป หากมีบุญมากก็จะไปเกิดบนสวรรค์ กลายเป็นกายทิพย์ไป หากมีบาปมากก็จะไปเกิดในอบายภูมิ ได้แก่สัตว์ดิรัจฉาน เปรต อสุรกาย หรือสัตว์นรก
การที่กายมนุษย์ละเอียดกับกายมนุษย์หยาบหลุดพรากจากกันคือตายนั้นก็คล้าย ๆ กับการฝันแต่เป็นการฝันที่ไม่ตื่นขึ้นอีกแล้ว เพราะกายทั้งสองแยกขาดจากกันแล้ว เหมือนมะขามกะเทาะล่อนออกจากเปลือก เราลองนึกถึงมะขามสด เนื้อกับเปลือกของมันจะติดกันเป็นอันหนึ่งอันเดียว แยกไม่ออก เขย่าไม่ดัง แต่เมื่อแก่จัดและแห้ง เนื้อมะขามข้างในจะล่อนออกจากเปลือก ถ้าเราเขย่าก็จะมีเสียงดังขลุก ๆ เป็นเสียงของเนื้อมะขามที่หลุดออกจากเปลือกนั่นเอง ซึ่งอุปมาเหมือนกายมนุษย์ละเอียดส่วนเปลือกของมะขามก็อุปมาเหมือนกายมนุษย์หยาบหรือกายเนื้อของเรา
ส่วนกายทิพย์ทั้งหยาบและละเอียดคือกายแบบเดียวกันกับกายเทวดาบนสวรรค์ ผู้ที่จะไปเกิดเป็นเทวดานั้น เมื่อถึงวันละโลกคือตาย กายมนุษย์ละเอียดจะหลุดออกจากร่างก่อน หากผู้ตายมีบุญมากบุญก็จะส่งผลให้กายทิพย์ที่ซ้อนอยู่ในกายมนุษย์ละเอียดของบุคคลนั้น ๆ ออกจากร่างไปเกิดบนสวรรค์
กายรูปพรหมและกายอรูปพรหมทั้งหยาบและละเอียดก็เหมือนกันก็คือกายแบบเดียวกับรูปพรหมและอรูป-พรหมที่อยู่ในพรหมโลก ในสมัยที่เป็นมนุษย์บุคคลเหล่านี้จะหมั่นเจริญสมาธิภาวนาจนได้ฌานและอรูปฌานนั่นคือ ได้เข้าถึงกายรูปพรหมและอรูปพรหมในตัว ละโลกแล้วก็ถอดกายที่เข้าถึงออกไปเกิดบนพรหมโลกในชั้นที่เหมาะ มกับกำลังฌานของตนเอง
ส่วนกายธรรมต่าง ๆ ได้แก่ ธรรมกายโคตรภู เป็นต้น นั้นเป็นกายตรัสรู้ธรรมของมนุษย์ทุกคน เป็นกายแบบเดียวกันกับที่พระสมณโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เข้าถึงหรือตรัสรู้ กายธรรมหรือธรรมกายนี้เป็นบ่อเกิดแห่งพระรัตนตรัย
ในอรรถกถาโสณสูตรและหนังสือทิพยอำนาจของมหามกุฏราชวิทยาลัยกล่าวถึงเรื่องกายที่ซ้อน ๆ กันอยู่ภายในของพระพุทธองค์และมนุษย์ทั่วไปไว้น่าสนใจคือ อรรถกถาโสณสูตรกล่าวไว้ว่า "...พระผู้มีพระภาคเจ้าเราได้ฟังมาว่า เห็นปานนี้ ๆ คือ ทรงประกอบด้วย 'นามกายสมบัติ' และ 'รูปกายสมบัติ' เห็นปานนี้ และประกอบด้วย 'ธรรมกายสมบัติ' เห็นปานนี้"
ในหนังสือทิพยอำนาจซึ่งเรียบเรียงโดยพระอริยคุณาธารผู้เชี่ยวชาญทั้งปริยัติและปฏิบัติแห่งวัดเขาสวนกวาง จังหวัดขอนแก่น ท่านกล่าวไว้ว่า ปกรณ์ของฝ่ายทักษิณนิกายหรือเถรวาท ท่านโบราณาจารย์แบ่งพระกายของพระพุทธเจ้าเป็น 3 ภาคคือรูปกาย นามกาย ธรรมกายดังนี้
(1) พระรูปกาย เป็นพระกายซึ่งเอากำเนิดจากพระพุทธบิดาพระพุทธมารดา ที่เป็นมนุษย์ธรรมดาประกอบด้วยธาตุทั้ง 4 เหมือนกายของสามัญมนุษย์
(2) พระนามกาย ได้แก่ กายชั้นใน ปราชญ์บางท่านเรียกว่า กายทิพย์ และว่าเป็นกายที่มีรูปร่างสัณฐานเหมือนกายชั้นนอก เป็นแต่ว่องไวกว่าและสามารถกว่ากายชั้นนอกหลายร้อยเท่าสามารถออกจากร่างหยาบไปในที่ไหน ๆ ได้ตามต้องการ เมื่อกายหยาบ ลายแล้ว กายชั้นนี้ยังไม่สลาย จึงออกจากร่างไปหาที่เกิดใหม่ต่อไป นามกายเป็นของที่มีทั่วไปแม้แต่สามัญมนุษย์
(3) พระธรรมกาย ได้แก่ พระกายธรรมอันบริสุทธิ์... หมายถึง พระจิตที่พ้นจากกิเลสอาสวะแล้วเป็นพระจิตที่บริสุทธิ์ผุดผ่อง มีพระรัศมีแจ่มจ้า เปรียบเหมือนดวงอาทิตย์อุทัยไขแ สงในนภากาศฉะนั้น พระธรรมกายนี้เป็นพระพุทธเจ้าที่แท้จริง เป็นพระกายที่พ้นเกิด แก่ เจ็บ ตาย และทุกข์โศกทั้งหลายได้จริง เป็นพระกายที่เที่ยงแท้ถาวรไม่สูญ ลายเป็นอยู่ชั่วนิรันดร เป็นที่รวมแห่งธรรมทั้งปวง
จากที่ข้อมูลกล่าวมานี้จะเห็นว่ามีความสอดคล้องกับที่หลวงปู่วัดปากน้ำได้เทศน์สอนเอาไว้คือ ในกายมนุษย์ของเรายังมีกายอื่น ๆ ซ้อนอยู่เป็นชั้น ๆ เรื่องธรรมกายนี้มีหลักฐานยืนยันอยู่ในคัมภีร์ต่าง ๆ ทางพระพุทธศาสนา
3. ทัศนะเรื่องใจทางธรรมปฏิบัติ
3.1) องค์ประกอบของใจ
"ใจ" ประกอบด้วย 4ส่วนคือ เห็น จำ คิด และรู้ 4 อย่างนี้รวมซ้อนเข้าเป็นจุดเดียวกัน เรียกว่า ใจ ทั้งเห็น จำ คิด รู้ นั้นมีลักษณะหรือสัณฐานเป็น "ดวงกลมใส" โดยดวงรู้ซ้อนอยู่ข้างในดวงคิดดวงคิดซ้อนอยู่ข้างในดวงจำ ดวงจำซ้อนอยู่ข้างในดวงเห็น
องค์ประกอบของใจทั้ง 4 อย่างนี้ก็คือนามขันธ์ทั้ง 4 ได้แก่ เวทนาสัญญาสังขาร และวิญญาณนั่นเอง โดยเวทนา คือ เห็น หรือรู้สึก หรือรับ,สัญญา คือ จำ,สังขาร คือ คิด และวิญญาณ คือ รู้ ทั้ง 4 อย่างนี้รวมกันเรียกว่าใจ
พระเดชพระคุณพระภาวนาวิริยคุณหรือหลวงพ่อทัตตชีโว รองเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย อุปมาโครงสร้างและขนาดของใจที่ซ้อนกันเป็นชั้น ๆ 4 ชั้นว่า คล้าย ๆ กับผลมะพร้าวที่แบ่งเป็นชั้น ๆ ตั้งแต่เปลือกแข็ง เปลือกอ่อน กะลา และเนื้อมะพร้าว โดยขนาดแต่ละชั้นของใจก็มีขนาดไม่เท่ากัน และยังมีหน้าที่เฉพาะแตกต่างกันอีกด้วย
เนื้อใจชั้นที่ 1 หรือชั้นนอกของแต่ละคนมีขนาดเท่า "เบ้าตา" ของตัวเอง ทำหน้าที่เห็น หรือรับเปรียบได้กับเปลือกแข็งของมะพร้าว
เนื้อใจชั้นที่ 2 โตเท่ากับ "ลูกนัยน์ตา" ของเรา ทำหน้าที่จำ เปรียบได้กับชั้นเปลือกอ่อน
เนื้อใจชั้นที่ 3 โตเท่ากับ "ลูกนัยน์ตาดำ" ของเรา ทำหน้าที่คิด เปรียบได้กับกะลา
เนื้อใจชั้นที่ 4 โตเท่า "แววตาดำ" ของเราทำหน้าที่รู้ เปรียบได้กับชั้นเนื้อมะพร้าว
ปกติแล้วใจนั้นรวมกันก็ได้ แยกกันก็ได้ ถ้ารวมกันเป็นจุดเดียวก็จะซ้อนกันเป็น 4 ชั้นดังภาพในหัวข้อที่ผ่านมา เมื่อใจรวมกันจะมีที่ตั้งอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ 6 กล่าวคือ หากนำเส้นด้ายมา 2 เส้นเส้นหนึ่งขึงจากสะดือทะลุหลัง เส้นที่สองขึงจากด้านขวาทะลุด้านซ้ายของลำตัว ขึงให้ตึง ให้เส้นด้ายทั้งสอง ตัดกันเป็นกากบาท ตรงจุดตัดกันนั้นเรียกว่า กลางกัก ณ ตรงนั้นมีดวงธรรมอยู่ดวงหนึ่ง เรียกว่าดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ หรือ ดวงมนุษยธรรม มีลักษณะใสบริสุทธิ์เท่าฟองไข่แดงไก่ ใสแบบกระจกขาวก็แบบกระจกคันฉ่องส่องเงาหน้า
ใจของเราจะอยู่ในกลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์นั้น กล่าวคือ ดวงธรรมนั้นแหละเป็นที่ตั้งของเห็น ของจำ ของคิด ของรู้ ดวงเห็นก็อยู่ในกลางดวงนั้น ดวงจำก็อยู่ในกลางดวงนั้น แต่อยู่ข้างในดวงเห็น ดวงคิดก็อยู่ในกลางดวงนั้น แต่ว่าอยู่ข้างในดวงจำ ดวงรู้ก็อยู่ข้างในกลางดวงนั้น แต่ว่าอยู่ในกลางของดวงคิดอีกทีหนึ่ง
เมื่อใจแยกกันคือไม่ซ้อนเป็นจุดเดียวกัน หลวงปู่วัดปากน้ำกล่าวไว้ว่า "เห็นน่ะดวงมันอยู่ศูนย์กลางกาย (ฐานที่ 6) จำน่ะดวงมันอยู่ศูนย์กลางเนื้อหัวใจ มันย่อมกว่าดวงเห็นลงมาหน่อย คิดน่ะอยู่ในกลางดวงจำ นั่นย่อมลงมาหน่อย รู้น่ะอยู่ในกลางดวงคิด นั่นย่อมลงมาเท่าดวงตาดำข้างใน นั่นมีหน้าที่รู้..."
จะเห็นว่าคำสอนของหลวงปู่วัดปากน้ำเรื่องที่ตั้งส่วนหนึ่งของใจที่ว่า "ศูนย์กลางเนื้อหัวใจ" นั้นสอดคล้องกับในอรรถกถาที่ว่า ใจหรือจิตตั้งอยู่ในหทัยวัตถุ คือ หัวใจนั่นเอง
3.2) ฐานที่ตั้งของใจ
แม้ใจของเราจะซัดส่ายไปมาไม่อยู่นิ่ง ณ ที่ใดนาน แต่ทั้งนี้ใจก็มีฐานที่ตั้งเหมือนกัน กล่าวคือ นอกจากจะมีที่ตั้งอยู่ในหัวใจดังกล่าวแล้ว ฐานที่ตั้งของใจตามที่พระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี สอนไว้ยังมีอีก 7 ฐาน คือ
ฐานที่ 1 ปากช่องจมูก ถ้าเป็นท่านหญิงก็อยู่ตรงปากช่องจมูกข้างซ้าย ถ้าเป็นท่านชายก็อยู่ตรงปากช่องจมูกข้างขวา
ฐานที่ 2 เพลาตา หญิงอยู่ซีกข้างซ้าย ชายอยู่ซีกข้างขวาตรงหัวตาที่มูลตาออก
ฐานที่ 3 จอมประสาท ได้ระดับพอดีกับตา แต่อยู่ข้างในนึกเอาเส้นด้าย 2 เส้น ขึงให้ตึงจากกึ่งกลางระหว่างหัวตาทั้ง องข้างทะลุท้ายทอย กกหูซ้ายทะลุหูขวา ตรงจุดตัดคือ จอมประสาท
ฐานที่ 4 ช่องเพดานปาก บริเวณเหนือลิ้นไก่ ตรงที่รับประทานอาหารแล้วอาหารสำลัก
ฐานที่ 5 ปากช่องลำคอ อยู่เหนือลูกกระเดือก อยู่ตรงกลางช่องคอพอดี
ฐานที่ 6 ศูนย์กลางกายระดับสะดือ อยู่ข้างในตรงกลางตัวปกติใจของมนุษย์จะตั้งอยู่ที่ฐานที่ 6 นี้คือ อยู่ในกลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อที่ผ่านมาส่วนฐานที่ 15 เป็นที่ตั้งชั่วคราวของใจ แต่สำหรับฐานที่ 7 นั้นเป็นที่ตั้งสำคัญที่สุดของใจ เพราะเป็นประตูสู่การบรรลุมรรคผลนิพพาน
ฐานที่ 7 ศูนย์กลางกายเหนือฐานที่ 6 สองนิ้วมือ โดยย้อนกลับขึ้นมาข้างบน 2 นิ้ว คำว่า 2 นิ้วมือในที่นี้ หมายถึง การนำนิ้วชี้กับนิ้วกลางวางซ้อนกัน
ฐานที่ 7 นี้เป็นฐานที่สำคัญที่สุด บุคคลจะบรรลุมรรคผลนิพพานได้ จะต้องทำสมาธิโดยนำใจมารวมหยุดนิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ 7 นี้เท่านั้น
3.3) กลไกการทำงานของใจ
พระเดชพระคุณพระภาวนาวิริยคุณ รองเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ได้ขยายความกลไกการทำงานของใจตามคำสอนของหลวงปู่วัดปากน้ำ 4 ขั้นตอนคือ เห็น หรือรับ, จำ, คิด และรู้ จะเริ่มจากประสาทสัมผัสต่าง ๆ ของร่างกายก่อน ดังนี้
เมื่อมีรูปมากระทบตา ประสาทตาก็ส่งต่อไปให้ใจ ใจรับเอาไว้เรียกว่า เห็น
เมื่อมีเสียงมากระทบหู ประสาทหูก็ส่งต่อไปให้ใจ ใจก็รับเอาไว้เรียกว่า ได้ยิน
เมื่อมีกลิ่นมากระทบจมูก ประสาทจมูกก็ส่งต่อไปให้ใจ ใจก็รับไว้เรียกว่า ได้กลิ่น
เมื่อรสมากระทบลิ้น ประสาทลิ้นก็ส่งต่อไปให้ใจ ใจรับเอาไว้เรียกว่า ลิ้มรส
เมื่อมีสิ่งใดมากระทบร่างกาย ประสาทกายก็ส่งต่อไปให้ใจ ใจรับเอาไว้เรียกว่า โผฏฐัพพะหรือสัมผัสทางกาย
นี้เป็นกลไกการทำงานขั้นตอนที่ 1 คือ รับ ซึ่งเกิดขึ้นที่เนื้อใจชั้นนอกสุด แต่แปลกอยู่ตรงที่ว่าไม่ว่าอะไรก็ตามที่มาสัมผัสประสาทในตัวแล้ว เมื่อถูกส่งต่อไปให้ใจ ก็ถูกเปลี่ยนไปเป็นภาพให้ใจรับไว้ทั้งหมดเสียงก็ถูกเปลี่ยนให้เป็นภาพได้ กลิ่นก็ถูกเปลี่ยนให้เป็นภาพได้ รสก็ถูกเปลี่ยนให้เป็นภาพได้สัมผัสทางกายก็ถูกเปลี่ยนให้เป็นภาพได้ อุปมาเหมือนกับคลื่นไฟฟ้า ภาพที่เปลี่ยนเป็นคลื่นไฟฟ้า เมื่อเข้าไปในจอทีวี มันก็เปลี่ยนไปเป็นรูป เสียงที่เปลี่ยนเป็นคลื่นไฟฟ้า เมื่อเข้าไปในเครื่องทีวี เข้าไปในวิทยุก็กลับมาเป็นเสียงได้อีกคือสามารถเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาได้ เพราะฉะนั้น รูป รส กลิ่น เสียงสัมผัส และธรรมารมณ์ทั้งหลายจึงเปลี่ยนไปเป็นภาพได้ทั้งหมด ดังนั้นหลวงปู่วัดปากน้ำ จึงใช้คำว่า "เห็น" แทนคำว่า "รับ"
เนื้อใจชั้นที่ 1 เมื่อรับแล้ว ก็ส่งต่อไปยังเนื้อใจชั้นที่ 2 ซึ่งอยู่ลึกกว่า เบา โปร่ง โล่ง และประณีตมากกว่า ทำหน้าที่บันทึกไว้เป็นภาพทั้งหมด เหมือนกับวิดีโอที่สามารถบันทึกภาพไว้ได้ การบันทึกนี้ก็คือ จำทำให้มนุษย์สามารถจำสิ่งต่าง ๆ ได
เมื่อเนื้อใจชั้นที่ 2 จำไว้ได้แล้ว ก็ส่งต่อไปยังเนื้อใจชั้นที่ 3 ซึ่งทำหน้าที่คิด แยกแยะหาเหตุหาผลตามแต่ข้อมูลที่ได้รับเข้ามา
เมื่อคิดแยกแยะหาเหตุผลแล้วก็ส่งต่อไปยังเนื้อใจชั้นที่ 4 ที่อยู่ลึกกว่า เบา โล่ง และประณีตมากยิ่งขึ้นไปอีก ทำหน้าที่ตัดสินใจ รุปข้อมูลที่ได้รับมาทั้งหมดเป็น "รู้" ซึ่งความรู้นี้ จะถูกนำไปใช้เป็นความเชื่อต่อไปข้างหน้า
หนังสือ GB 101 ความรู้พื้นฐานทางพระพุทธศาสนา
กลุ่มวิชาความรู้ทั่วไปทางพระพุทธศาสนา