ความเคารพและการบูชาพระรัตนตรัย
1. ความเคารพคืออะไร
ความเคารพ หมายถึง ความตระหนัก ซาบซึ้ง รู้ถึงคุณความดีที่มีอยู่จริงของบุคคลอื่น ยอมรับนับถือความดีของเขาด้วยใจจริง แล้วแสดงความนับถือต่อผู้นั้นด้วยการแสดงความอ่อนน้อม อ่อนโยนอย่างเหมาะสม ทั้งต่อหน้าและลับหลัง
ความเคารพยังหมายรวมถึงความตระหนักถึงคุณของสัตว์และสิ่งของต่าง ๆ ด้วย ความหมายของความเคารพที่สั้นที่สุดคือ การจับดี ไม่จับผิดบุคคลสัตว์ และสิ่งของต่าง ๆ
การที่เราจะจับดีหรือตระหนักซาบซึ้งในคุณความดีของบุคคลสัตว์ หรือสิ่งของใด ๆ ก็ตาม เราจำเป็นจะต้องตั้งใจศึกษา หมั่นสังเกต บุคคลสัตว์ หรือสิ่งของเหล่านั้นให้ดี ให้ละเอียดรอบคอบและต้องใช้เวลาพอสมควรจึงจะรู้เห็นซาบซึ้งในคุณของสิ่งนั้น ๆ
อีกนัยหนึ่งความเคารพหมายถึง การให้ความสำคัญต่อสิ่งต่าง ๆ โดยเฉพาะสิ่งที่มีความสำคัญบุคคลที่มีความสำคัญ และสถานที่สำคัญ ๆ เป็นต้น แต่การจะรู้ว่าสิ่งใดสำคัญหรือไม่ก็ต้องศึกษาจนรู้คุณของสิ่งนั้น ๆ ก่อน
การแสดงความเคารพ หมายถึง การแสดงความตระหนักในคุณความดีของสิ่งที่เราเคารพด้วยใจจริง ให้ปรากฏชัดแก่บุคคลทั่วไป ด้วยการแสดงออกทางกาย วาจา มีอยู่หลายวิธี เช่น หลีกทางให้ ลุกขึ้นยืนต้อนรับ การให้ที่นั่งแก่ท่าน การประนมมือเวลาพูดกับท่าน การกราบ การไหว้ การขออนุญาตก่อนทำกิจต่าง ๆ การวันทยาวุธ การวันทยหัตถ์ การลดธง ฯลฯ
การแสดงความเคารพที่ถูกต้องตามหลักธรรม หมายถึง การแสดงออกเพราะตระหนักในคุณความดีของสิ่งที่เคารพด้วยใจจริง นักเรียนที่คำนับครูเพราะเกรงว่าถ้าไม่ทำจะถูกตัดคะแนนความประพฤติทหารที่ทำวันทยหัตถ์ผู้บังคับบัญชาเพราะเกรงว่าถ้าไม่ทำจะถูกลงโทษ อย่างนี้ไม่จัดว่าเป็นความเคารพ เป็นแต่เพียงวินัยอย่างหนึ่งเท่านั้น
2. สิ่งที่ควรเคารพในพระพุทธศาสนา
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ในทสุตธารสูตรว่า "ภิกษุในธรรมวินัยนี้ มีความเคารพยำเกรงในพระศาสดา ในพระธรรม ในพระสงฆ์ ในการศึกษา ในความไม่ประมาท ในการปฏิสันถาร ธรรม 6 อย่างเหล่านี้เป็นไปในส่วนวิเศษ" ที่ว่า "เป็นไปในส่วนวิเศษ" หมายถึง เป็นเหตุให้ผู้มีความเคารพในธรรม 6 ประการ นี้มีความเจริญไม่เสื่อม
ในโลกนี้มีคนสัตว์สิ่งของ เหตุการณ์ การงาน และอื่นๆ อีกมากมายจนนับไม่ถ้วนที่เกี่ยวข้องกับตัวเรา แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแนะให้เรามีความเคารพ ไม่ดูเบา ตระหนักในสิ่งมีคุณค่าที่สำคัญเพียง 6 ประการ ได้แก่
1) ให้มีความเคารพในพระศาสดา คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
2) ให้มีความเคารพในพระธรรม คือ คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
3) ให้มีความเคารพในพระสงฆ์ คือสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
4) ให้มีความเคารพในการศึกษา คือ ไตรสิกขา ได้แก่ ศีลสมาธิ ปัญญา และความรู้อื่น ๆ
ที่จำเป็นต่อการดำรงชีพและเพื่อสร้างบารมี
5) ให้มีความเคารพในความไม่ประมาท คือ ไม่ประมาทในการสร้างบุญบารมี และไม่ประมาทในการดำเนินชีวิต
6) ให้มีความเคารพในการปฏิสันถารหรือการต้อนรับแขก
ส่วนพ่อแม่ ครูบาอาจารย์ และผู้มีอุปการคุณอื่น ๆ หรือสิ่งอื่น ๆ ไม่จำเป็นต้องเคารพหรือ ความจริงคือ ต้องเคารพเหมือนกัน กล่าวคือ พ่อแม่ก็ดี ครูบาอาจารย์ก็ดี หรือผู้มีอุปการคุณต่าง ๆ จัดอยู่ในข้อ 2
คือ ให้เคารพในพระธรรม เพราะในคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าครอบคลุมเรื่องนี้อยู่แล้ว เช่น ใน สิงคาลกสูตรว่าด้วยการไหว้ทิศทั้ง 6 ดังนี้
1) ทิศเบื้องหน้า บิดามารดา
2) ทิศเบื้องหลัง บุตรธิดาและภรรยาหรือสามี
3) ทิศเบื้องขวา ครูบาอาจารย์
4) ทิศเบื้องซ้าย มิตร หาย
5) ทิศเบื้องบน สมณพราหมณ์หรือนักบวช
6) ทิศเบื้องล่าง ลูกน้องพนักงาน
การไหว้ทิศทั้ง 6 ตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าคือ ให้มีความเคารพในทิศทั้ง 6 และยังตรัสบอกหน้าที่ที่บุคคลแต่ละคนจะต้องปฏิบัติต่อทิศทั้ง 6 ด้วยความเคารพไว้อย่างละเอียดชัดเจนอีกด้วย
ความจริงหากจะย่อสิ่งที่ควรเคารพในพระพุทธศาสนาให้เหลือเพียง 3 ประการก็ได้เช่นกัน กล่าวคือ จัดข้อ 4 คือการศึกษา, ข้อ 5 คือความไม่ประมาท และข้อ 6 คือการปฏิสันถาร ไว้ในข้อ 2 คือพระธรรมเพราะทั้ง 3 ข้อนี้เกี่ยวข้องกับพระธรรม ดังนั้นสรุปแล้วสิ่งที่ควรเคารพในพระพุทธศาสนาจึงมีเพียง 3 ประการ คือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ หรือพระรัตนตรัย นั่นเอง
3. วิธีการแสดงความเคารพพระรัตนตรัย
1) ความเคารพในพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ ตระหนักซาบซึ้งถึงพระพุทธคุณ คือคุณความดีอันไม่มีประมาณพระพุทธองค์ เมื่อตระหนักแล้วก็แสดงออกซึ่งความเคารพต่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าดังต่อไปนี้
วิธีการแสดงความเคารพในสมัยพุทธกาล
(1) เข้าเฝ้าทั้ง 3 กาล คือ เช้า กลางวัน เย็น
(2) เมื่อพระองค์ไม่สวมรองเท้าจงกรม เราจะไม่สวมรองเท้าจงกรม
(3) เมื่อพระองค์จงกรมในที่ต่ำ เราจะไม่จงกรมในที่สูงกว่า
(4) เมื่อพระองค์ประทับในที่ต่ำ เราจะไม่อยู่ในที่สูงกว่า
(5) ไม่ห่มผ้าคลุมบ่าทั้งสองในที่ซึ่งทอดพระเนตรเห็น
(6) ไม่สวมรองเท้าในที่ซึ่งทอดพระเนตรเห็น
(7) ไม่กางร่มในที่ซึ่งทอดพระเนตรเห็น
(8) ไม่ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะในที่ซึ่งทอดพระเนตรเห็น
วิธีการแสดงความเคารพหลังพุทธปรินิพพาน
(1) ไปไหว้พระเจดีย์อันเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุตามโอกา
(2) ไปไหว้สังเวชนียสถาน คือ สถานที่ประสูติ ตรัสรู้ ปฐมเทศนา ปรินิพพานตามโอกาส
(3) เคารพพระพุทธรูป
(4) เคารพเขตพุทธาวาส คือเขตโบสถ์
(5) ไม่สวมรองเท้าในลานพระเจดีย์
(6) ไม่กางร่มในลานพระเจดีย์
(7) เมื่อเดินใกล้พระเจดีย์ ไม่เดินไปพูดไป
(8) เมื่อเข้าในเขตอุโบสถ ก็ถอดรองเท้า หุบร่ม ไม่ทำอาการต่าง ๆ ซึ่งแสดงถึงความกระด้าง
หยาบคาย
(9) ปฏิบัติตนตามพุทธโอวาทอยู่เป็นนิตย์
2) ความเคารพในพระธรรม คือ ตระหนักถึงคุณประโยชน์อันมหาศาลของพระธรรม แล้วแสดงออกซึ่งความเคารพ ดังนี้
(1) เมื่อมีประกาศแสดงธรรมก็ไปฟัง
(2) ฟังธรรมด้วยความ งบสำรวม ตั้งใจ
(3) ไม่นั่งหลับ ไม่นั่งคุยกัน ไม่คิดฟุ้งซ่าน ขณะฟังธรรม
(4) ไม่วางหนังสือธรรมะไว้ในที่ต่ำ
(5) ไม่ดูหมิ่นพระธรรม
(6) บอกธรรมสอนธรรม ด้วยความระมัดระวังไม่ให้ผิดพลาด
3) ความเคารพในพระสงฆ์ คือตระหนักถึงคุณความดีของพระสงฆ์ ผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบ เป็นผู้สืบอายุพระพุทธศาสนา แล้วแสดงออกซึ่งความเคารพ ดังนี้
(1) กราบไหว้ โดยกิริยาอาการเรียบร้อย
(2) นั่งเรียบร้อย ไม่นั่งกอดเข่าเจ่าจุก
(3) ไม่สวมรองเท้า ไม่กางร่ม ในที่ประชุมสงฆ์
(4) ไม่คะนองมือคะนองเท้าต่อหน้าท่าน
(5) เมื่อพระเถระไม่เชิญ ไม่แสดงธรรม
(6) เมื่อพระเถระไม่เชิญ ไม่อวดรู้แก้ปัญหาธรรม
(7) ไม่เดิน ยืน นั่งเบียดพระเถระ
(8) แลดูท่านด้วยจิตเลื่อมใส
(9) ต้อนรับท่านด้วยไทยธรรม
ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นการแสดงความเคารพต่อพระรัตนตรัยภายนอกส่วนวิธีการแสดงความเคารพพระรัตนตรัยภายในตามคำสอนของหลวงปู่วัดปากน้ำคือ ต้องปฏิบัติธรรมให้เข้าถึงพระรัตนตรัยในตัวให้ได้ ด้วยการน้อมนำใจมาหยุดนิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ 7 เมื่อเข้าถึงพระรัตนตรัยภายในแล้วก็เอาใจไปจรดหยุดนิ่งอยู่ที่พระรัตนตรัยนั้น การทำอย่างนี้ชื่อว่าเป็นการแสดงความเคารพคือให้ความสำคัญต่อพระรัตนตรัย กล่าวคือ เมื่อเข้าถึงแล้วก็ไม่ปล่อยวางเสีย เพราะการปล่อยวางหรือไม่ใส่ใจในไม่ช้าธรรมะที่เข้าถึงก็จะเลือนหายไป
4. อานิสงส์ของการมีความเคารพ
มีคำกล่าวไว้ว่า "เมื่อจะใช้ประโยชน์จากสิ่งใด เราจำเป็นต้องรู้ถึงคุณค่าของสิ่งนั้นก่อนฉันใด ผู้ที่จะรับประโยชน์จากบุคคลอื่นหรือสิ่งอื่นได้ ก็จำเป็นต้องมีความเคารพต่อบุคคลนั้นและสิ่งนั้นก่อนฉันนั้น"เมื่อครั้งที่หมอชีวกโกมารภัจจ์ไปเรียนวิชาแพทย์ ณ เมืองตักกสิลา ขณะที่เรียนผ่านไปได้ 7 ปี วันหนึ่งท่านถามอาจารย์ว่า "กระผมเรียนวิชาแพทย์สำเร็จตามหลักสูตรแล้วหรือยัง" อาจารย์ตอบว่า "พ่อชีวกถ้าเช่นนั้นเธอจงถือเสียมเที่ยวไปรอบเมืองตักกสิลา ระยะทาง 1 โยชน์ ตรวจดูสิ่งใดไม่ใช่ตัวยา จงขุดสิ่งนั้นมา" ชีวกโกมารภัจจ์จึงถือเสียมเดินไปรอบเมืองตักกสิลาระยะทาง 1 โยชน์ ไม่เห็นสิ่งใดที่ไม่เป็นตัวยาสักอย่างหนึ่ง จึงเดินทางกลับมารายงานอาจารย์ ท่านอาจารย์บอกว่า "พ่อชีวก เธอศึกษาสำเร็จแล้ว"
จากเรื่องนี้ทำให้ได้ข้อคิดว่า การที่หมอชีวกสามารถนำสิ่งต่าง ๆ รอบตัวในระยะทาง 1 โยชน์มาทำยาได้หมดนั้น แสดงว่าท่านศึกษาเรื่องยามาอย่างดี จนอาจกล่าวได้ว่ารู้คุณสมบัติความเป็นยาของทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวเลยทีเดียว ตรงข้ามหากให้บุคคลทั่วไปถือเสียมออกไปหาตัวยาเช่นท่านบ้าง คงพบสิ่งที่คิดว่าทำยาไม่ได้มากมาย ทั้งนี้เพราะไม่ได้ศึกษามาก่อนว่าจะนำสิ่งต่าง ๆ รอบตัวมาทำยาได้อย่างไร
จริง ๆ แล้ววัตถุทั้งหลายในโลก ต่างมีคุณสมบัติเฉพาะตัวของมัน ถ้าใครทราบคุณสมบัติเหล่านั้นตามความเป็นจริง ก็สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้มาก เช่น นักวิทยาศาสตร์รู้คุณสมบัติของแม่เหล็ก ก็นำไปใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าได้ รู้คุณสมบัติของแร่เรเดียม ก็นำไปใช้เป็นยาเพื่อรักษาโรคมะเร็งได้
แต่การที่จะรู้คุณสมบัติตามความเป็นจริงของสิ่งต่าง ๆ นั้น ทำได้ยากมาก เป็นวิสัยของนักปราชญ์ของผู้มีปัญญาเท่านั้น
เช่นกันคนทั้งหลายในโลกต่างก็มีคุณความดีในตัวต่าง ๆ กันไป มากบ้าง น้อยบ้างไม่เท่ากัน ผู้ใดทราบถึงคุณความดีของบุคคลทั้งหลายได้ตามความเป็นจริง ก็จะเป็นประโยชน์ ทำให้มีโอกาสที่จะถ่ายทอดคุณความดีนั้น ๆ จากผู้อื่นมาสู่ตนเอง หากเป็นผู้บริหารก็สามารถมอบหมายงานลูกน้องได้ตรงความสามารถและใช้งานลูกน้องได้เต็มความสามารถที่เขามีอยู่ส่งผลให้งานขององค์กรก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว
คนที่มีความเคารพจะเป็นประดุจทะเลที่รวมแห่งรัตนะคือความดีทั้งหลาย เพราะเขาจะเห็นสิ่งดีๆต่าง ๆ รอบตัว แล้วน้อมนำเข้ามาสู่ใจ ทำให้ความคิด คำพูด การกระทำ บุคลิกของเขาพันาไปในทางที่ดีโดยอัตโนมัติ เขาจะมีจิตใจผ่องใสเพราะเห็นอะไรก็สวยสดงดงามไปหมด แม้เจอปัญหาเจอวิกฤตก็สามารถพลิกเป็นโอกาสได้ เปรียบประดุจต้นไม้ที่สามารถเปลี่ยนก้อนอุจจาระเปลี่ยนใบไม้เน่า ๆ ให้เป็นอาหารบำรุงต้นได้ และที่สำคัญด้วยที่ใจที่ผ่องใสด้วยใจที่ดีนี้เอง จะช่วยดึงดูดสิ่งดี ๆ คนดี ๆ เข้ามาหาตัวดังคำกล่าวที่ว่า ฝูงนกเข้าฝูงนก ฝูงช้างเข้าฝูงช้าง คนดีก็สมาคมกับคนดี คนพาลคนขี้เหล้าเมายาก็สมาคมกับคนขี้เหล้า เป็นต้น
ส่วนคนไม่มีความเคารพและมีอุปนิสัยจับผิดคนอื่นนั้น ใจของเขาไม่ต่างอะไรกับ "ถังขยะ" ซึ่งเป็นแหล่งรวมแห่งสิ่งไม่ดีทั้งหลาย ไม่ต่างอะไรกับแม่น้ำที่เน่าเสียเป็นที่รวมของสิ่งไม่ดีที่คนนำไปทิ้งเอาไว้บุคคลเหล่านี้จะมีเรื่องให้หงุดหงิดหดหู่ได้ทั้งวัน เพราะเห็นอะไรรอบตัวก็ไม่ดีไปหมด ใน สมัยพุทธกาลมีหลายคนมีบุญได้เจอพระสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งเป็นมหาบุรุษที่ดีที่สุด ไม่มีใครจะดีกว่านี้อีกแล้ว แต่กลับไม่เห็นคุณความดีของพระองค์ แถมยังไปสร้างบาปกับท่านอีก จนเป็นเหตุให้ไปหมกไหม้อยู่ในอเวจีมหานรก เช่น พระเทวทัต เป็นต้น
นอกจากนี้คนที่มีความเคารพอ่อนน้อม มีปกติกราบไหว้อยู่เป็นนิตย์ ย่อมจะได้รับความรัก ความเอ็นดู ยกย่องสรรเสริญสนับสนุนส่งเสริมให้มีความเจริญยิ่ง ๆ ขึ้น คนมีความเคารพ เปรียบเสมือนต้นไม้ที่ยังมีชีวิตอยู่ เพราะไม่แข็งกระด้าง อ่อนไหวไปตามลม ย่อมได้รับการเอาใจใส่ดูแล ใส่ปุ๋ย รดน้ำ พรวน ดินเป็นอย่างดี ทำให้มีโอกาสเจริญเติบโตแผ่กิ่งก้านสาขาผลิดอกออกผลเป็นที่พึ่งแก่นกกาทั้งหลาย คนที่ขาดความเคารพ มีปกติไม่ก้มหัวให้ใคร ๆ จะแข็งทื่อเหมือนต้นไม้ที่ตายแล้ว จะไม่มีใครเอาใจใส่ดูแล ใส่ปุ๋ยรดน้ำ พรวนดินอีกต่อไป ไม่มีทางเจริญเติบโตอีกแล้ว มีแต่จะถูกโค่นอย่างเดียวเท่านั้น
สำหรับอานิสงส์หลักของการมีความเคารพต่อพระรัตนตรัยคือ ช่วยให้บุคคลนั้น ๆ น้อมนำคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาปฏิบัติจนหลุดพ้นจากความทุกข์ได้ หากยังกำจัดกิเลส ไม่หมดคือต้องเวียนว่ายตายเกิดต่อไป อานิสงส์แห่งการมีความเคารพต่อพระรัตนตรัยจะทำให้ได้เกิดในตระกูลสูงและได้รับการเคารพยกย่องจากคนทั้งหลาย เพราะพระรัตนตรัยเป็นสิ่งที่สูงส่ง การเคารพต่อพระรัตนตรัยจึงทำให้ได้เกิดเป็นผู้สูงศักดิ์ ได้แก่ ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิราช ได้เป็นพระราชามหากษัตริย์ ได้เป็นเจ้าคนนายคน เป็นต้น
5. การบูชาคืออะไร
การบูชา หมายถึง การยกย่อง เชิดชู เลื่อมใสด้วยความบริสุทธิ์ใจ จริงใจ ไม่เสแสร้งแกล้งทำ หมายถึง กิริยาอาการสุภาพที่เราแสดงต่อผู้ที่ควรบูชาทั้งต่อหน้าและลับหลัง การแสดงต่อหน้า เป็นการแสดงให้ท่านทราบว่า เรามีความเคารพและตระหนักในคุณธรรมความดีที่มีอยู่ในตัวของท่านอย่างจริงใจการแสดงลับหลังเป็นการเตือนใจตัวเราเองให้ผูกใจไว้กับคุณธรรมอันสูงส่งของท่าน ก่อให้เกิดความรู้สึกอยากกระทำตาม ใจเราจะได้ยกสูงขึ้นเสมอ ๆ ไม่เลื่อนไหลไปในทางชั่วร้าย
การบูชา เป็นกุศโลบายอย่างหนึ่งสำหรับฝึกใจที่ยังหยาบกระด้าง เพราะไม่อาจยอมรับคุณความดีของผู้อื่นให้ละเอียดอ่อนลง แต่หากได้เคยชินกับการบูชาแล้ว ในที่สุดย่อมสามารถเห็นถึงคุณธรรมความดีที่มีอยู่ในตัวของผู้ที่เราบูชาได้อย่างแจ่มชัด จนเกิดความเลื่อมใสกลายเป็นการบูชาอย่างแท้จริง อยากทำความดีตามท่านบ้าง ผู้ใหญ่จึงควรสอนบุตรหลานให้รู้จักสวดมนต์บูชาพระรัตนตรัยเป็นการปลูกศรัทธาตั้งแต่เล็ก ๆ
6. ประเภทและวิธีการบูชาพระรัตนตรัย
การบูชาในทางปฏิบัติมี 2 ประเภท คือ
1) อามิสบูชา คือ การบูชาด้วยสิ่งของ กรณีการบูชาพระพุทธ ได้แก่ การจัดแจกันดอกไม้ไว้ที่โต๊ะหมู่บูชา, การบูชาด้วยธูปเทียน, การบูชาข้าวพระพุทธหน้าโต๊ะหมู่บูชาในงานมงคล, การบูชาข้าวพระทุกวันอาทิตย์ต้นเดือนของวัดพระธรรมกาย, การบูชาพระเจดีย์ด้วยดอกไม้ พวกมาลัย และรัตนชาติต่างๆ, การสร้างพระพุทธรูป การสร้างเจดีย์เพื่อเก็บพระบรมสารีริกธาตุ เช่น เจดีย์บรมพุทโธ, เจดีย์ชเวดากอง ฯลฯ
การบูชาพระธรรม ได้แก่ การสร้างศา น ถานของพระเจ้าอโศกมหาราช กล่าวคือ พระองค์ทรงบริจาคทรัพย์สำหรับสร้างวิหารและเจดีย์ 84,000 องค์ ทั่วชมพูทวีป เพื่อบูชาพระธรรม 84,000พระธรรมขันธ์ นอกจากนี้การบูชาพระภิกษุผู้เป็นพหูสูตคือผู้ศึกษาพระธรรมมามากก็ถือเป็นการบูชาพระธรรมเช่นกัน ดังพุทธดำรัสที่ตรัสแก่พราหมณ์ท่านหนึ่งว่า "ดูก่อนพราหมณ์ แม้หากว่าเธอใคร่จะบูชาพระธรรมรัตนะ ก็จงบูชาภิกษุผู้เป็นพหูสูตรูปหนึ่ง"
การบูชาพระสงฆ์ ได้แก่ การถวายปัจจัยไทยธรรมเพื่อบูชาท่าน, การถวายพวงมาลัยแก่ท่าน, การสร้างสถูปสำหรับเก็บพระธาตุของพระอรหันต์ทั้งหลาย หรือการสร้างอนุสรณ์สถานและศา สนวัตถุเพื่อบูชาก็ได้ เช่น การสร้างอนุสรณ์ ถานเพื่อประดิษฐานรูปหล่อทองคำของหลวงปู่วัดปากน้ำภาษีเจริญ ณ บ้านเกิดของท่านที่จังหวัดสุพรรณบุรี, การสร้างมหาวิหารพระมงคลเทพมุนีเพื่อประดิษฐานรูปหล่อทองคำของท่าน ณ วัดพระธรรมกาย ฯลฯ
นอกจากนี้ยังมีศาสนสถานบางแห่งที่สร้างขึ้นเพื่อบูชาทั้งพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ได้แก่ มหาธรรมกายเจดีย์ ณ วัดพระธรรมกาย โดยส่วนบนและด้านในขององค์เจดีย์เป็นที่ประดิษฐานองค์พระธรรมกายประจำตัวถึง 1 ล้านองค์ อันเป็นสัญลักษณ์ของพุทธรัตนะ ด้านนอกขององค์เจดีย์ถัดลงมาจากโซนพุทธรัตนะก็เป็นส่วนของธรรมรัตนะ และสังฆรัตนะตามลำดับ โซนสังฆรัตนะนั้นใช้เป็นที่นั่งประกอบพิธีกรรมของพระภิกษุนับ 10,000 รูป
2) ปฏิบัติบูชา คือ การบูชาด้วยการปฏิบัติตามพระธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือปฏิบัติตามคำสอนของพระสงฆ์สาวก โดยเฉพาะการเจริญสมาธิภาวนาเพื่อกำจัดกิเลสให้หมดสิ้นไปจากใจการปฏิบัติบูชานี้เป็นสิ่งที่พระพุทธองค์ทรงเน้นเพราะช่วยให้พ้นทุกข์ได้อย่างแท้จริงส่วนอามิส บูชานั้นยังไม่อาจช่วยให้พ้นทุกข์ได้อย่างถาวร
มหาธรรมกายเจดีย์นั้นนอกจากสร้างเพื่อเป็นอามิสบูชาแล้ว ยังสร้างไว้สำหรับการปฏิบัติบูชาของชาวโลกนับล้านคนอีกด้วย เพราะรอบองค์เจดีย์นั้นได้สร้างมหารัตนวิคดไว้เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมและนั่งสมาธิเจริญภาวนาของพุทธบริษัททั่วโลก มหาธรรมกายเจดีย์จึงไม่ได้สร้างเอาไว้โชว์แต่สร้างไว้ใช้งานพระศาสนาและสร้างเพื่อมวลมนุษยชาติอย่างแท้จริง
7. อานิสงส์การบูชาพระรัตนตรัย
อานิสงส์สูงสุดของการปฏิบัติบูชาคือ การได้เข้าถึงพระรัตนตรัยในตัวและสามารถกำจัดกิเลสให้หมดสิ้นไปจากใจ ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏอีกต่อไป เมื่อดับขันธ์แล้วก็จะได้ไปเสวยสุขอยู่ในอายตนนิพพาน
ส่วนอานิสงส์ของอามิสบูชานั้นจะทำให้ได้เสวยทิพยสมบัติอันโอฬารบนสรวงสวรรค์ เมื่อได้มาเกิดยังโลกมนุษย์ก็จะเป็นที่เคารพของชนทั้งหลาย ได้เกิดในตระกูลสูง ถึงพร้อมด้วยรูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติคุณสมบัติ และเป็นปัจจัยเกื้อหนุนให้ปฏิบัติบูชาได้อย่างสะดวก ในพระไตรปิฎกบันทึกตัวอย่างอานิสงส์ของอามิสบูชาไว้จำนวนมาก ในที่นี้จะกล่าวถึงเพียงหนึ่งตัวอย่างคือ เรื่องของพระกัสสปเถระ
พระกัสสปเถระเล่าไว้ว่า หลังจากพระปทุมุตรพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว ท่านได้ประชุมญาติและมิตรแล้วกล่าวว่า "พระมหาวีรเจ้าปรินิพพานแล้ว เชิญเรามาทำการบูชากันเถิด" พวกเขารับคำว่า "สาธุ" จากนั้น ก็ได้บูชาพระพุทธองค์ด้วยการสร้างเจดีย์สูง 100 ศอกเพื่อเก็บพระบรมสารีริกธาตุ และได้สร้างกุศลอื่น ๆ เป็นอันมาก ละโลกแล้วก็ได้ไปเสวยทิพยสมบัติอันโอฬารในเทวโลก เมื่อจุติมาเกิดในโลกมนุษย์ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ 33 ครั้ง
ภพชาติสุดท้ายนี้ได้มาเกิดในตระกูลพราหมณ์มหาศาลมีทรัพย์ 80 โกฏิ ต่อมาท่านได้ ละทรัพย์เหล่านั้นออกบวชแล้วปฏิบัติบูชาจนได้คุณวิเศษ คือ ปฏิสัมภิทา 4 วิโมกข์ 8 และอภิญญา 6 ได้เป็นพระอรหันตสาวกองค์สำคัญในพระพุทธศาสนา ได้เป็นประธานการสังคายนาพระธรรมวินัยครั้งแรกหลังพุทธปรินิพพานได้ 3 เดือนส่งผลให้ชาวพุทธมีพระธรรมคำสอนที่เป็นหมวดหมู่ได้ศึกษาเพื่อเป็นแสงสว่างนำทางชีวิตตราบกระทั่งปัจจุบัน
หนังสือ GB 101 ความรู้พื้นฐานทางพระพุทธศาสนา
กลุ่มวิชาความรู้ทั่วไปทางพระพุทธศาสนา