พุทธประวัติ
เมื่อ 2,500 กว่าปีที่ผ่านมา มีมหาบุรุษท่านหนึ่งอุบัติขึ้นบนโลก ท่านเป็นพระราชโอรสแห่งกรุงกบิลพัสดุ์พระบิดาพระนามว่า พระเจ้าสุทโธทนะ พระมารดาพระนามว่า พระนางสิริมหามายา ซึ่งเป็นเจ้าหญิงแห่ง
โกลิยะวงศ์จากกรุงเทวทหะ เมื่อพระนางสิริมหามายาทรงครรภ์ครบทศมาส ทรงขอลาพระสวามีเพื่อกลับไปมีพระประสูติกาลที่กรุงเทวทหะเมืองของพระองค์ตามธรรมเนียมในครั้งนั้น ครั้นเดินทางมาได้ครึ่งทาง
ถึงสวนสาธารณะใหญ่ชื่อ "ลุมพินี" พระนางเกิดประชวรพระครรภ์และได้ประสูติพระโอรส ณ ใต้ต้นรังใหญ่ในวันเพ็ญเดือนหกเวลาใกล้เที่ยงก่อนพุทธศักราช 80 ปี
หลังจากประสูติได้ 5 วัน พระเจ้าสุทโธทนะเชิญพราหมณาจารย์จำนวน 108 ท่านมาฉันโภชนาหารและให้เลือกเหลือเพียง 8 ท่านเฉพาะผู้เชี่ยวชาญในวิชาลักษณะพยากรณ์เพื่อทำหน้าที่พิจารณาทำนายลักษณ์ของพระโอรสและขนานพระนาม
พราหมณ์ 7 ท่านแรกเห็นลักษณะของพระโอร แล้วได้ทำนายเป็น 2 นัย คือ ถ้าพระโอรสอยู่เรือนจะได้เป็นพระจักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่ หากออกผนวชจะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าศาสดาเอกของโลก ส่วนโกญทัญญพราหมณ์ซึ่งมีอายุน้อยที่สุดในพราหมณ์ 8 ท่านนั้น ได้ทำนายชี้ชัดลงไปว่า พระโอรสนี้จะออกผนวชและตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างแน่นอน จากนั้นพราหมณ์ทั้งหมดก็มีความเห็นตรงกันที่จะขนานพระนามพระโอรสว่า "สิทธัตถะ" หรือ "สิทธารถ" ซึ่งแปลว่าสำเร็จดังปรารถนา หลังจากนั้น 2 วัน คือเมื่อพระโอรสมีพระชนมายุได้ 7 วัน พระนางสิริมหามายาก็สิ้นพระชนม์ เจ้าชายสิทธัตถะจึงอยู่ในการเลี้ยงดูของพระนางมหาปชาบดี ซึ่งเป็นพระน้านางและเป็นมเห สีองค์ที่ 2 ของพระเจ้าสุทโธทนะ
เจ้าชายสิทธัตถะมีพระอนุชาและพระขนิษฐาร่วมพระชนกที่ประสูติจากพระนางมหาปชาบดี 2 พระองค์คือ พระนันทะ และ พระนางรูปนันทา และยังมีลูกพี่ลูกน้องในศากยะวงศ์รุ่นราวคราวเดียวกันอีกหลายพระองค์คือ เจ้ามหานามะ เจ้าอนุรุทธะ ซึ่งเป็นโอรสของพระเจ้าอาสุกโกทนะ เจ้าอานนท์ โอรสของพระเจ้าอมิโตทนะ และเจ้าเทวทัต โอร ของอาหญิงอมิตาศากยะ กุมารที่มีอายุมากกว่าเจ้าชายสิทธัตถะ มีเพียงองค์เดียวคือ เจ้ามหานามะ ครั้นเมื่อเจ้าชายสิทธัตถะมีพระชันษาได้ 7 พรรษา ก็ได้รับการศึกษาวิชาศิลปศาสตร์จากพราหมณ์ในราชสำนัก จากนั้นพระชนกทรงเห็นว่ากุมารฉลาดปราดเปรื่องจึงส่งไปศึกษาต่อยังสำนักอาจารย์วิศวามิตร ผู้เป็นปราชญ์ที่ไม่มีใครทัดเทียมในสมัยนั้น เจ้าชายสิทธัตถะได้ศึกษาจนแตกฉานเชี่ยวชาญในวิชาต่าง ๆ อย่างรวดเร็วกระทั่งสิ้นความรู้ของอาจารย์ มีความรู้พรั่งพร้อมที่จะได้รับตำแหน่งเป็นราชาและเป็นจักรพรรดิปกครองชมพูทวีปในอนาคต
เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะมีพระชันษาได้ 16 พรรษา พระชนกเห็นว่าสมควรจะมีชายาได้แล้ว จึงไปสู่ขอเจ้าหญิงยโสธรา หรือ พิมพา พระธิดาของพระเจ้าสุปปพุทธะ ที่ประสูติจากพระนางอมิตามาอภิเษกเป็นชายาและต่อมาได้มีพระโอรสด้วยกันพระองค์หนึ่งนามว่า ราหุล ชีวิตการครองเรือนของเจ้าชายสิทธัตถะได้รับการปรนเปรอจากพระชนกและพระประยูรญาติอย่างดีที่สุดสิ่งใดที่คิดว่าจะทำให้สิทธัตถะพอใจพระชนกจะต้องรีบจัดหามาให้โดยหวังว่าจะให้เจ้าชายอยู่ครองเรือนไปตลอดชีวิต และหมายมั่นจะให้ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิในอนาคต
แต่ด้วยบุญบารมีที่ทรงสั่งสมมาอย่างดีแล้วบันดาลให้ทรงพบเทวทูตทั้ง 4 คือ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และบรรพชิต เป็นเหตุให้พระองค์ทรงเห็นว่า ชีวิตมีทุกข์และปรารถนาจะหาทางพ้นทุกข์ด้วยการออกบรรพชา ในที่สุดคืนหนึ่งเมื่อพระองค์มีพระชนมายุได้ 29 พรรษา ก็ได้เสด็จออกผนวชโดยทรงม้ากัณฐกะและมีมหาดเล็กชื่อฉันนะตามเสด็จ เมื่อไปถึงฝังแม่น้ำอโนมาทรงตัดพระเกศาสละเพศฆราวาผนวชเป็นบรรพชิต
เมื่อออกผนวชแล้วพระองค์เสด็จไปยังสำนัก อาฬารดาบ และ อุทกดาบ ได้ศึกษาวิชาความรู้จนเจนจบทุกอย่างเท่าที่อาจารย์ทั้งสองสามารถ อนได้ แต่พระองค์ทรงเห็นว่าความรู้เท่านี้ไม่สามารถตรัสรู้ได้จึงปลีกตัวไปบำเพ็ญเพียรตามลำพังด้วยวิธีการต่าง ๆ ที่เชื่อกันในยุคนั้นว่าจะเป็นทางแห่งการตรัสรู้ เช่น การทรมานพระวรกาย เป็นต้น แม้ปฏิบัติอยู่ถึง 6 ปีด้วยความวิริยอุตสาหะอย่างยิ่งยวด เมื่อทำจนถึงที่สุดแล้วแต่ก็ไม่นำไปสู่การตรัสรู้ธรรม พระองค์จึงหันมาบำเพ็ญเพียรด้วยการทำสมาธิดำเนินจิตไปตามหนทางสายกลาง ในที่สุดก็ได้บรรลุพระธรรมกาย แล้วตรัสรู้อริยสัจ 4 ประการสำเร็จเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในวันเพ็ญเดือน 6 ก่อนพุทธศักราช 45 ปี
วันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระพุทธองค์นั้นตรงกันเป็นอัศจรรย์คือ วันเพ็ญเดือน 6 ซึ่งชาวพุทธรู้จักกันในนาม "วันวิสาขบูชา" อันเป็นวันพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั่นเอง
เมื่อตรัสรู้แล้วพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสั่งสอนเวไนยสัตว์ทั้งกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร ตลอดจนพวกนอกวรรณะให้ตรัสรู้ธรรมตามพระองค์แล้วได้อุปสมบทเป็นพุทธสาวกมากมาย และหมู่ชนจำนวนมากก็ได้ประกาศตนเป็นพุทธมามกะขอถึงพระรัตนตรัยว่าเป็นที่พึ่ง พุทธวิธีการสอนของพระองค์มีหลากหลาย ทั้งนี้เพื่อให้เหมาะสมกับความรู้และอุปนิสัยของแต่ละบุคคล จึงทำให้ผู้ฟังมีความรู้ความเข้าใจและตรัสรู้ตามได้โดยง่าย พระองค์ทรงใช้เวลา 45 ปี เผยแผ่พุทธธรรมปักหลักพระศาสนาในชมพูทวีปและเสด็จขันธปรินิพพานในวันเพ็ญเดือน 6 เมื่อพระชนมายุได้ 80 พรรษา
พุทธประวัตินั้นมีความพิเศษหลายประการ เช่น มีความชัดเจนไม่คลุมเครือ มีหลักฐานยืนยันการมีอยู่จริงของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามากมายทั้งเอกสารทางวิชาการรวมทั้งโบราณสถานและโบราณวัตถุ ก่อนออกผนวชพระองค์ก็ถึงพร้อมด้วยความสุขสูงสุดในทางโลกคือพร้อมทั้งรูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติ และคุณสมบัติสามารถเป็นพระเจ้าจักรพรรดิปกครองโลกและทวีปที่เหลืออีก 3 ทวีปได้ รูปสมบัติของพระองค์นั้นเลอเลิศกว่าใคร ๆ ในโลกและเทวโลก เพราะทรงได้ลักษณะมหาบุรุษซึ่งเป็นลักษณะร่างกายที่สมบูรณ์ที่สุด ผู้ที่จะได้ลักษณะเช่นนี้ในกัปหนึ่ง ๆ อย่างมากมีเพียง 5 พระองค์เท่านั้น
ความพิเศษที่กล่าวมาโดยย่อนี้หาได้ยากในศาสดาของศาสนาอื่น โดยเฉพาะศาสดาผู้มีลักษณะมหาบุรุษนั้นไม่มีในศาสนาอื่นใดในโลก แต่เป็นเรื่องปกติของศาสดาในพระพุทธศาสนา ไม่ว่าจะเป็นสมัยใดหากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้น ก็จะทรงได้ลักษณะมหาบุรุษและสมบูรณ์พร้อมด้วยสิ่งต่าง ๆ ดังกล่าว
และที่สำคัญการตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นไม่ได้ตรัสรู้ด้วยการคิดแบบการค้นพบทฤษฎีของนักวิทยาศาสตร์โดยทั่วไป แต่ตรัสรู้ด้วยภาวนามยปัญญาคือ การนั่งสมาธิทำใจหยุดนิ่ง ปลอดจากความคิดดังพระดำริของพระพุทธองค์ว่า "ธรรมที่เราได้บรรลุแล้วนี้ เป็นคุณอันลึกเห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก เป็นธรรมสงบ ประณีต ไม่หยั่งลงสู่ความตรึก ละเอียดเป็นวิสัยที่บัณฑิตจะพึงรู้แจ้ง..." ประโยคที่ว่า "ไม่หยั่งลงสู่ความตรึก" มาจากบทว่า "อตกฺกาวจโร" ในภาษาบาลี อธิบายว่า จะพึงค้นพึงหยั่งลงโดยการตรึกไม่ได้พึงค้นได้ด้วยญาณเท่านั้น คำว่า "ตรึก" แปลว่า " นึก หรือ คิด" คำว่า "พึงค้นได้ด้วยญาณเท่านั้น" คือญาณอันเกิดจากภาวนามยปัญญานั่นเอง
ตอนที่หลวงปู่วัดปากน้ำได้เข้าถึงพระธรรมกายนั้น ท่านก็เคยคำนึงอย่างเดียวกันว่า "คัมภีโรจายังธรรมเป็นของลึกถึงเพียงนี้ ใครจะไปคิดคาดคะเนเอาได้ พ้นวิสัยของความตรึกนึกคิด ถ้ายังตรึกนึกคิดอยู่ก็เข้าไม่ถึง ที่จะเข้าถึงได้ ต้องทำให้รู้ตรึก รู้นึก รู้คิดนั้น หยุดเป็นจุดเดียวกัน แต่พอหยุดก็ดับ แต่พอดับแล้วก็เกิด ถ้าไม่ดับแล้วไม่เกิด นี่เป็นของจริง หัวต่อมีเป็นอยู่ตรงนี้ ถ้าไม่ถูกส่วนดังนี้แล้ว ก็ไม่มีไม่เป็นเด็ดขาด"
หนังสือ GB 101 ความรู้พื้นฐานทางพระพุทธศาสนา
กลุ่มวิชาความรู้ทั่วไปทางพระพุทธศาสนา