เส้นทางการสร้างบารมีของพระโพธิสัตว์
1) หน่วยเวลาในการสร้างบารมี
หน่วยเวลาในการสร้างบารมีคือ "กัป" เช่น แสนกัป หรือ อสงไขยแสนกัป
ได้กล่าวแล้วว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามี 3 ประเภท คือ พระปัญญาธิกพุทธเจ้า พระสัทธาธิกพุทธเจ้า และพระวิริยาธิกพุทธเจ้า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแต่ละประเภทใช้เวลาสร้างบารมีไม่เท่ากัน ดังนี้
พระปัญญาธิกพุทธเจ้า ใช้เวลาสร้างบารมี 20 อสงไขยแสนกัป
พระสัทธาธิกพุทธเจ้า ใช้เวลาสร้างบารมี 40 อสงไขยแสนกัป
พระวิริยาธิกพุทธเจ้า ใช้เวลาสร้างบารมี 80 อสงไขยแสนกัป
คำว่า "อสงไขยแสนกัป" หมายถึง อสงไขยกัป แสนกัป ดังที่บันทึกไว้ว่า "พระองค์ไม่สามารถบำเพ็ญทานบารมี 1 อสงไขย 2 อสงไขย 3 อสงไขยแห่งกัป แล้วเป็นพระพุทธเจ้าได้" หรือ ดังที่อรรถกถากล่าวถึงเวลาการสร้างบารมีของพระสารีบุตรหนึ่งอสงไขยแสนกัปไว้ว่า "ในที่สุดอสงไขยกัปยิ่งด้วยแสนกัป นับแต่กัปนี้ ท่านพระสารีบุตรบังเกิดในครอบครัวพราหมณมหาศาล ชื่อ สรทมาณพ"
คำว่า "กัป" เป็น "ชื่อหน่วยเวลา" ที่มีความยาวนานมากส่วนคำว่า "อ-สงไขย" เป็น "ชื่อตัวเลขที่นับไม่ได้หรือจำนวนที่นับไม่ได้"
ชื่อหน่วยเวลาที่เรารู้จักกันดี ได้แก่ วัน,สัปดาห์, เดือน และ ปี
ส่วนกัปนั้นก็เป็นหน่วยเวลาเหมือนกัน แต่เป็นหน่วยที่ยาวนานมาก จนไม่อาจกำหนดได้ว่าเป็นเวลาเท่าไร่ ดังพุทธดำรัสว่า "ดูก่อนภิกษุ กัปหนึ่งนานแล มิใช่ง่ายที่จะนับกัปนั้นว่า เท่านี้ปี เท่านี้ 100 ปี เท่านี้ 1,000 ปี หรือว่าเท่านี้ 100,000 ปี... เหมือนอย่างว่า ภูเขาหินลูกใหญ่ยาวโยชน์หนึ่ง กว้างโยชน์หนึ่งสูงโยชน์หนึ่ง ไม่มีช่อง ไม่มีโพรง เป็นแท่งทึบ บุรุษพึงเอาผ้าแคว้นกาสี มาแล้วปัดภูเขานั้น 100 ปีต่อครั้ง ภูเขาหินลูกใหญ่นั้น พึงถึงการหมดไปสิ้นไป เพราะความพยายามนี้ ยังเร็วกว่าแลส่วนกัปหนึ่งยังไม่ถึงการหมดไปสิ้นไป กัปนานอย่างนี้แล..."
อสงไขย แปลว่า นับไม่ได้ ดังบทว่า "อสงฺเขยฺยา ได้แก่ ชื่อว่าอสงไขย เพราะใคร ๆ ไม่อาจนับได้อธิบายว่า เกินที่จะนับ"
หากเรานับจำนวนไปเรื่อย ๆ ตั้งแต่หนึ่งไปจนถึงอสงไขยจะเป็นดังนี้คือ 1, 2, 3, 4, 5, 6, 7, 8, 9, 10, 11, 12, 13, 14, 15, 16, 17, 18, 19, 20, 21............... อสงไขย
ดังนั้นอสงไขยจึงเป็นตัวเลขที่นับไม่ได้ หรือ จำนวนที่นับไม่ได้ นั่นเองแต่ทั้งนี้ในไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา ระบุว่า 1 อสงไขย โกฏิ ยกกำลัง 20 10,000,000 ยกกำลัง 20 หรือ มีค่าเท่ากับ "เลข 1 ตามด้วยเลข 0 จำนวน 140 ตัว"
หากถือเอานัยนี้แล้ว "อสงไขยแสนกัป" จะหมายถึง 10,000,000 ยกกำลัง 20 กัป 100,000 กัป
20 อสงไขยแสนกัป จะหมายถึง 20 คูณ 10,000,000 ยกกำลัง 20 กัป + 100,000 กัป
40 อสงไขยแสนกัป จะหมายถึง 40 คูณ 10,000,000 ยกกำลัง 20 กัป + 100,000 กัป
80 อสงไขยแสนกัป จะหมายถึง 80 คูณ 10,000,000 ยกกำลัง 20 กัป + 100,000 กัป
นอกจากอสงไขยจะใช้นับจำนวนกัปแล้ว คำนี้ยังใช้นับจำนวนอื่น ๆ ได้อีกด้วย เช่น อสงไขยปี หากถือเอานัยของไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา อสงไขยปี 10,000,000 ยกกำลัง 20 ปี
2) การสร้างบารมีก่อนได้รับพุทธพยากรณ์
พระสมณโคดมพุทธเจ้าจัดอยู่ในประเภทปัญญาธิกพุทธเจ้าคือยิ่งด้วยปัญญา จึงใช้เวลาในการสร้างบารมีน้อยกว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประเภทอื่น นั่นคือ ใช้เวลา 20 อสงไขยแสนกัป ในเวลาดังกล่าวนี้แบ่งออกเป็น 3 ช่วงคือ
ช่วงแรก คือดำริในใจว่าปรารถนาพุทธภูมิ 7 อสงไขยกัป
ช่วงที่สอง คือเปล่งวาจาให้คนอื่นรับรู้ว่าปรารถนาพุทธภูมิ 9 อสงไขยกัป
ช่วงที่สาม คือหลังจากได้รับพุทธพยากรณ์แล้วอีก 4 อสงไขยแสนกัป
ดังนั้นระยะเวลาการสร้างบารมีก่อนได้รับพุทธพยากรณ์จึงมีทั้งหมด 16 อสงไขยกัป ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ยาวนานมากทีเดียว แต่ในที่นี้จะกล่าวถึงเพียง 2 ชาติคือ พระปฐมชาติที่ตั้งความปรารถนาเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระปฐมชาติที่เปล่งวาจาว่าปรารถนาพุทธภูมิ
2.1) พระปฐมชาติที่ตั้งความปรารถนาพุทธภูมิ
ชินกาลมาลีปกรณ์บันทึกเรื่องนี้เอาไว้ซึ่งสรุปความได้ว่า ในครั้งอดีตกาล ท่านเกิดเป็นคนยากจนอยู่ในเมืองคันธาระ เก็บผักหักฝนจากป่ามาขายเลี้ยงมารดา วันหนึ่งขณะแบกของหนักมาจากป่า ถูกแดดแผดเผา กระหายน้ำ จึงนั่งพักที่โคนต้นไทรแห่งหนึ่ง รำพึงว่า ขณะนี้เรายังมีเรี่ยวแรงอยู่ก็พอทนทุกข์ร้อนนี้ได้ เมื่อเวลาแก่เฒ่าลงไปแล้ว หรือในเวลาเจ็บไข้เราจะไม่อาจทนความทุกข์ร้อนได้ อย่ากระนั้นเลย เราควรไปเมืองสุวรรณภูมิขนเอาทองมาเลี้ยงมารดาให้มีความสุขเถิด เมื่อคิดดังนี้แล้ว จึงพามารดาไปลงเรือสำเภาและขอเป็นลูกจ้างประจำเรือ เพื่อไปสุวรรณภูมิพร้อมกับพ่อค้าทั้งหลาย
แต่เรือสำเภาได้อัปปางลงในวันที่ 7 ครั้งนั้นพวกพ่อค้าได้ถึงมหาวินาศกันสิ้นส่วนท่านได้แบกมารดาของตนไว้แล้วว่ายน้ำเพื่อข้ามมหาสมุทร ครั้งนั้น ท้าวมหาพรหมชั้นสุทธาวา ได้เล็งแลดูสัตว์โลกแล้วคิดว่า ล่วง 1 อสงไขยมาแล้วบุรุษใดที่จะบังเกิดเป็นพระพุทธแม้สักองค์หนึ่งสามารถตรัสรู้เป็นพระพุทธจะมีไหม จึงเห็นท่านกำลัง ละชีวิตพามารดาของตนว่ายน้ำข้ามมหาสมุทร อันลึกล้ำกว้างใหญ่หาที่สุดมิได้ ก็รู้ว่า มหาบุรุษผู้นี้ มีความเพียรมั่นคงนัก มีอัธยาศัยช่วยเหลือผู้อื่น
ในระหว่างที่ท่านแบกมารดาและแวกว่ายอยู่ท่ามกลางมหาสมุทรนั้น ท่านเกิดความคิดที่จะสร้างบารมีเพื่อเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าขึ้น และตั้งความปรารถนาไว้ในใจว่า " พุทฺโธ โพเธยฺยํ มุตฺโต โมเจยฺยํ ติณฺโณ ตาเรยฺยนฺติ " แปลว่า เราตรัสรู้แล้วจะให้ผู้อื่นตรัสรู้ด้วย เราพ้นแล้วจะให้ผู้อื่นพ้นด้วย เราข้ามได้แล้วจะให้ผู้อื่นข้ามได้ด้วย ดังนี้
หลังจากท่านตั้งความปรารถนาพุทธภูมิแล้ว ก็แบกมารดาว่ายน้ำต่อไปอีก 23 วัน ก็ถึงฝัง จากนั้นก็เลี้ยงดูมารดาจนสิ้นชีพ ละโลกแล้วก็ไปเกิดในเทวโลก ในชาตินี้เรียกว่า ปฐมจิตตุบาทกาล คือ กาลที่ตั้งความปรารถนาเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าขึ้นในใจเป็นครั้งแรก เพราะการตั้งความปรารถนาพุทธภูมินี้เอง ท่านจึงได้เนมิตกนามว่า "พระโพธิสัตว์" หลังจากชาตินั้นแล้ว ท่านก็สร้างบารมีรุดหน้าเรื่อยไปอีกนับภพนับชาติไม่ถ้วน ซึ่งการสร้างบารมี 7 อสงไขยกัปนับจากชาตินี้ไปถือเป็นช่วงการดำริในใจ
พระภาวนาวิริยคุณ (หลวงพ่อทัตตชีไว) ได้วิเคราะห์เนื้อหาในชินกาลมาลีปกรณ์นี้ไว้ว่าสาเหตุสำคัญที่พระโพธิสัตว์ท่านนี้ตั้งความปรารถนาพุทธภูมิมี 4 ประการ คือ ตระหนักในความทุกข์ที่เผชิญอยู่เฉพาะหน้า, มีความเข้าใจถูกตามความเป็นจริงของโลกและชีวิต, มีจิตใจเด็ดเดี่ยวต่อการเผชิญปัญหา และมีความกตัญูกตเวทีคิดจะตอบแทนคุณมารดาและผู้มีพระคุณ
เพราะในระหว่างที่ท่านแบกมารดาแหวกว่ายอยู่ในมหาสมุทรนั้นสองข้างทางที่ว่ายผ่านไป ก็ได้เห็นผู้ที่เคยมีพระคุณมากมายพากันทยอยจมหายสู่ก้นมหาสมุทรไปต่อหน้าต่อตา เหตุการณ์นั้นได้กระตุ้นเตือนให้ท่านคิดสู้กับความทุกข์ในวัฏสงสาร ท่านจึงคิดหาทางกลางท้องทะเลว่า มีหนทางใดบ้างหรือไม่ที่จะย้อนกลับมาช่วยเหลือผู้มีพระคุณทุกคนให้รอดพ้นจากห้วงแห่งความทุกข์ไปได้ตลอดกาล
ในที่สุดก็พบว่า มีอยู่หนึ่งหนทาง ที่จะย้อนกลับมาช่วยทุกคนให้รอดพ้นจากความทุกข์ได้ นั่นคือการตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยเหตุนี้ท่านจึงตัดสินใจอธิษฐานสร้างบารมีไปเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในภายหน้า หรือที่เรียกว่า ปรารถนาพุทธภูมิ
นับตั้งแต่วินาทีนั้นเป็นต้นมา เส้นทางการเป็นพระโพธิสัตว์ของท่านก็เริ่มต้นขึ้น เริ่มต้นขึ้นในขณะที่สองบ่ายังแบกมารดาสองเท้าไม่จรดแผ่นดิน ผืนน้ำเต็มไปด้วยการถาโถมของคลื่นทะเล ผืนฟ้าเต็มไปด้วยฝนคะนองลมพายุร้าย ตนเองยังแหวกว่ายอยู่กลางมหาสมุทร
2.2) พระปฐมชาติที่เปล่งวาจาปรารถนาพุทธภูมิ
ในชาตินี้พระโพธิสัตว์จุติจากเทวโลก มาบังเกิดในตระกูลพราหมณ์มหาศาล ชื่อว่า พรหมกุมาร ได้ศึกษาไตรเพทอันเป็นคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาพราหมณ์ และได้เป็นอาจารย์ อนไตรเพทแก่ลูกศิษย์ 500 คน เมื่อมารดาและบิดาสิ้นชีพแล้ว ท่านได้บริจาคทรัพย์ทั้งหมดแก่ลูกศิษย์ จากนั้นจึงออกบวชเป็นดาบสบำเพ็ญพรตอยู่ใกล้ภูเขาบัณฑร ต่อมาลูกศิษย์ทั้ง 500 คน ก็ได้ออกบวชตามพระโพธิสัตว์ด้วย วันหนึ่งพระโพธิสัตว์และลูกศิษย์คนหนึ่ง เดินทางขึ้นไปบนยอดเขาเพื่อหาผลไม้
ในขณะที่หาผลไม้อยู่นั้น พระโพธิสัตว์มองลงไปที่เชิงเขาเห็นแม่เสือตัวหนึ่งพร้อมกับลูกน้อยที่พึ่งเกิดมาได้ไม่นาน แม่เสือตัวนั้นมีร่างกายที่ผอมโซ กำลังมองลูกของตนด้วยอาการดุร้าย พระโพธิสัตว์เห็นแล้วก็รู้ว่าแม่เสือนั้นจะกินลูก จึงรำพึงว่า โอหนอ! นี่หรือชีวิตของสัตว์โลก
พระโพธิสัตว์จึงให้ลูกศิษย์ไปหาเศษเนื้อมาโดยด่วน ระหว่างท่านรออยู่นั้น พลันคิดขึ้นว่า ร่างกายของเรานี้ปราศจากแก่นสาร ยังเกลือกกลั้วด้วยบาปอกุศลที่หมักดองใจมานานแสนนาน และร่างกายนี้เองเป็นเหตุแห่งทุกข์ทั้งหลาย จึงคิดอีกว่า จะมีวิธีใดที่จะปลดเปลื้องความทุกข์นั้นได้ จึงทราบชัดว่ามีแต่เพียงบารมีเท่านั้น ที่จะช่วยตนและสรรพสัตว์ให้พ้นทุกข์ได้
เมื่อพระโพธิสัตว์พิจารณาเห็นอย่างนี้แล้ว จึงคิดว่า บัดนี้ เราจักให้ รีรของเรากับทั้งชีวิตนี้เป็นทานแก่เเม่เสือตัวนั้น แล้วได้ตั้งจิตอธิษฐานว่า ด้วยอานุภาพแห่งบุญที่ข้าพเจ้าได้ทำในบัดนี้ ขอให้ข้าพเจ้าได้ตรัสรู้ธรรมเป็นเครื่องพ้นจากทะเลแห่งทุกข์ในอนาคต ขอให้ข้าพเจ้าได้ช่วย สรรพสัตว์ให้หลุดพ้นจากวัฏสงสาร และได้เปล่งวาจาว่า ข้าแต่ทวยเทพทั้งหลาย ผู้สถิตอยู่ ณ ทั่วทุกแห่งหน ขออัญเชิญมาประชุมรวมกัน ณ สถานที่แห่งนี้ เพื่อเป็นพยานแห่งการตรัสรู้ธรรมของข้าพเจ้าในภายภาคหน้าด้วยเถิด จากนั้นพระโพธิสัตว์ก็ทิ้งตัวลงจากยอดเขา เเม่เสือเห็นร่างพระโพธิสัตว์ที่ตกลงบนพื้นแล้ว ก็กระโจนเข้ามากินสรีรทานของท่านส่วนพระโพธิสัตว์ผู้ละโลกแล้วก็ได้ไปบังเกิดในเทวโลกด้วยกุศลกรรมนั้นเอง
จะเห็นว่าพระโพธิสัตว์มีน้ำพระทัยที่เด็ดเดี่ยว อาจหาญอย่างยิ่งยวด มิได้ทรงอาลัยใยดีต่อร่างกายและชีวิตเลยแม้แต่น้อย พระองค์ยอมสละชีวิตเข้าแลกกับพระโพธิญาณอย่างนี้มาจนนับครั้งไม่ถ้วนและนับจากชาตินี้เป็นต้นไปพระองค์ยังต้องใช้เวลาสร้างบารมีอีก 9 อสงไขยกัป จึงได้รับพุทธพยากรณ์ครั้งแรกจากพระทีปังกรพุทธเจ้า
3) พระปฐมชาติที่ได้รับพุทธพยากรณ์
เมื่อเวลาผ่านไป 16 อสงไขยกัป ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ยาวนานมากสุดจะนับประมาณเป็นชาติได้พระโพธิสัตว์ก็ได้เวียนว่ายตายเกิดในกำเนิดต่างๆ มาหลายภพหลายชาติ เพื่อสั่ง มบารมีให้เต็มเปียม จนถึงอสงไขยกัปที่ 17 ในกัปอันประเสริฐที่ชื่อว่าสารมัณฑกัป มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้น 4 พระองค์ คือ พระตัณหังกรพุทธเจ้า พระเมธังกรพุทธเจ้า พระสรณังกรพุทธเจ้า และพระทีปังกรพุทธเจ้า
พระโพธิสัตว์ของเราได้พบพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้ง 4 พระองค์ แต่ได้รับพุทธพยากรณ์ครั้งแรกในสมัยของพระทีปังกรพุทธเจ้าว่า ท่านจะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในอนาคต ซึ่งจะได้นำเสนอการได้รับพุทธพยากรณ์ดังนี้
นับย้อนหลังจากภัทรกัปนี้ไปอีก 4 อสงไขยแสนกัปที่เมืองอมรวดี ซึ่งเป็นเมืองที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยข้าวและน้ำ พระโพธิสัตว์ได้เกิดเป็นพราหมณ์ชื่อสุเมธ เป็นชายหนุ่มรูปงาม ศึกษาจบไตรเพท แตกฉานในศิลปะทุกประการ มารดาบิดาได้ถึงแก่กรรมตั้งแต่ท่านสุเมธยังเป็นหนุ่ม ผู้จัดการผลประโยชน์ได้นำบัญชีทรัพย์สินทั้งหมดของตระกูลมาให้ท่านสุเมธดู
ท่านสุเมธคิดว่า มารดาบิดา ปู่ย่า ตายาย ได้สะสมทรัพย์เหล่านี้ไว้มากมาย แต่เมื่อไปสู่ปรโลกก็ไม่สามารถนำทรัพย์เหล่านี้ไปได้ เราจะหาวิธีเอาทรัพย์ทั้งหมดนี้ติดตามเราไปในภพเบื้องหน้า ท่านพิจารณาเห็นว่า การเกิด การเจ็บ และการตายเป็นทุกข์ เราควรแสวงหาอมตธรรม ที่ไม่ต้องเกิด แก่ เจ็บ ตาย ไม่มีความทุกข์ มีแต่ความสุขล้วนๆ ความสุขย่อมเป็นปฏิปักษ์ต่อความทุกข์ ฉันใด เมื่อมีวัฏสงสารความหลุดพ้นจากวัฏสงสารก็ย่อมมีได้ ฉันนั้น เมื่อของร้อนมีอยู่ แม้ความเย็นอันเป็นเครื่องระงับความร้อนนั้นก็ย่อมมี ฉันใด แม้ความสงบเย็นอันเป็นเครื่องดับความร้อนด้วยไฟคือราคะ โทสะ โมหะ ก็พึ่งมี ฉันนั้นเมื่อความชั่วมีอยู่ ความดีก็ต้องมี ฉันใด เมื่อความเกิดมีอยู่ แม้ความไม่เกิดก็ย่อมมีได้ ฉันนั้น
ท่านสุเมธจึงตัดสินใจว่าจะออกบวชเพื่อแสวงหาทางพ้นทุกข์ ท่านจึงบริจาคทรัพย์ทั้งหมดแก่ชนในเมือง แล้วออกบวชเป็นดาบส อยู่ป่าหิมพานต์ ได้บำเพ็ญเพียรอยู่ 7 วัน ก็ทำ สมาบัติ 8 และอภิญญา 5 ให้บังเกิดขึ้นได้สุเมธดาบส มีความสุขกับการเข้าฌานสมาบัติเรื่อยมา จนกระทั่งพระทีปังกรพุทธเจ้าได้เสด็จ
อุบัติขึ้นในโลก
วันหนึ่ง พระทีปังกรพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระขีณาสพ 4 แสนองค์เสด็จไปรัมมนคร เมื่อชาวเมืองทราบข่าวจึงได้ร่วมมือกันเตรียมทางเสด็จ ในเวลานั้นสุเมธดาบสออกจากฌาน สมาบัติแล้วเหาะขึ้นไปบนอากาศ ผ่านไปยังรัมมนคร เห็นมหาชนกำลังตกเเต่งพระนคร จึงเหาะลงจากอากาศไปถาม และได้ทราบว่าชาวเมืองกำลังทำทางรับเสด็จพระทีปังกรพุทธเจ้า ทันทีที่ได้ยินคำว่า พุทโธ ก็เกิดความปีติใจเป็นอย่างยิ่งท่านจึงเข้าไปร่วมสร้างบุญกับชาวเมืองด้วย
ขณะที่ทางเสด็จยังไม่ทันเสร็จพระทีปังกรพุทธเจ้าก็เสด็จมาถึงสุเมธดาบสเห็นดังนั้นจึงได้ยอมสละชีวิต ใช้ร่างกายของตนทอดเป็นสะพานเหนือเปือกตมให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพร้อมกับพระขีณาสพ 4 แสนองค์เสด็จผ่านไป ขณะที่นอนทอดร่างอยู่บนพื้นดินนั้นสุเมธดาบสมีความคิดว่า ถ้าเราปรารถนาความ
เป็นพระสาวกของพระทีปังกรพุทธเจ้า ก็จักสามารถเผากิเลสทั้งหลายของเราได้ในวันนี้ แต่จะมีประโยชน์อะไรแก่เราผู้เดียว โดยที่คนอื่นไม่รู้ ด้วยบุญกุศลอันยิ่งใหญ่ที่เราได้บริจาคชีวิตนี้ ขอเราจงบรรลุพระสัพพัญสุตญาณเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในอนาคต เราจะขนสรรพสัตว์ข้ามฝังไปด้วย
เมื่อพระทีปังกรพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระขีณาสพสาวก สี่แสนเสด็จมาถึง ทรงย่างพระบาทข้างขวาเหยียบบนร่างของสุเมธดาบส เสด็จผ่านไปพร้อมทั้งพระสาวก เมื่อเสด็จผ่านไปแล้ว ก็ทรงหยุดพระดำเนินหันพระวรกายกลับมาทอดพระเนตรดูสุเมธดาบ แล้วทรงพยากรณ์ท่ามกลางพุทธบริษัททั้ง 4 ว่า ดาบสท่านนี้ ตั้งความปรารถนาเพื่อเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในอนาคตกาลอีก สี่อสงไขยยิ่งด้วยแสนกัป ดาบสนี้จักเป็นพระพุทธเจ้าพระนามว่าโคดม จะมีพระนครเป็นที่อยู่อาศัยชื่อว่า กบิลพั ดุ์ มีพระมารดาพระนามว่า พระนางสิริมหามายา มีพระราชบิดาพระนามว่า พระเจ้าสุทโธทนะ จักออกบวชตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่โคนต้นศรีมหาโพธิ์ จักมีพระอัครสาวกเบื้องขวา ชื่อว่า พระสารีบุตร พระอัครสาวกเบื้องซ้ายชื่อว่า พระโมคคัลลานะ มีพุทธอุปัฏฐากชื่อว่า พระอานนท์ พระอัครสาวิการูปที่หนึ่ง ชื่อว่า พระเขมาเถรี พระอัครสาวิการูปที่สอง ชื่อว่า พระอุบลวรรณาเถรี
เมื่อสิ้นพุทธพยากรณ์ พระอริยสาวกทั้ง 4 เเสนองค์กระทำการอนุโมทนาต่อสุเมธดาบส แล้วทำการเวียนประทักษิณพระโพธิสัตว์ จากนั้นพระทีปังกรพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระอริยสาวก สี่แสนองค์ ก็ได้เสด็จเข้าเมืองไป เมื่อสุเมธดาบส ได้ฟังพุทธพยากรณ์แล้วก็เกิดโสมนัสรื่นเริงบันเทิงใจยิ่งนัก มีความรู้สึกประหนึ่งจะได้เป็นพระพุทธเจ้าในวันรุ่งขึ้น จากนั้นจึงค้นหาพุทธการกธรรมคือ บารมี 10 ทัศดังกล่าว แล้วได้ มาทานพุทธการกธรรมนั้น และได้ไปบำเพ็ญภาวนาอยู่ในป่าจนตลอดชีวิต เมื่อหมดอายุขัยก็ได้ไปบังเกิดในพรหมโลก
ในชาตินี้สุเมธดาบสจึงได้ปรากฏเนมิตกนามว่า นิยตโพธิสัตว์ คือ พระโพธิสัตว์ที่เที่ยงแท้แน่นอนแล้วว่า จะได้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในอนาคต แต่ก็ยังคงต้องสร้างบารมีอีก 4 อสงไขยแสนกัป เพื่อการฝึกฝนตนเองในการทำหน้าที่เป็นครูของโลก และเมื่อสร้างบารมีครบตามระยะเวลาแล้วก็จะได้มาตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
4) การสร้างบารมีหลังได้รับพุทธพยากรณ์
ในหัวข้อนี้จะแสดงการสร้างบารมีของพระโพธิสัตว์ด้วยตารางตั้งแต่สมัยพระทีปังกรพุทธเจ้าซึ่งท่านได้รับพุทธพยากรณ์ครั้งแรกว่า จะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในอีก 4 อสงไขยแสนกัปข้างหน้าหลังจากนั้นพระองค์ก็ตั้งใจบำเพ็ญบารมีอย่างยิ่งยวดมาทุกชาติ และได้รับพุทธพยากรณ์จากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ต่อมาอีก 23 พระองค์ จนได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า สมณโคดมในชาติสุดท้าย
สรุปใน 24 พุทธวงศ์สุดท้ายแห่งการสร้างบารมีนั้นพระโพธิสัตว์ได้ออกบวชในศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า 8 ชาติ เป็นนักบวชนอกพระพุทธศาสนา 6 ชาติ คือ เป็นชฎิลบ้าง เป็นดาบสบ้างเป็นพญานาคราช 2 ชาติ เป็นราชสีห์ 1 ชาติ เป็นท้าวสักกเทวราช 1 ชาติ เป็นยักษ์ 1 ชาติ ที่เหลือเป็นโยมอุปัฏฐากในพระพุทธศาสนา 5 ชาติ ในแต่ละชาติก็ได้สร้างบารมีทั้ง 10 ทัศอย่างยิ่งยวดดังนี้คือ
(1) ทานบารมี คือ ได้สละราชทรัพย์ออกบวช หรือ ได้ถวายทานในฐานะเป็นโยมอุปัฏฐากของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระภิกษุสงฆ์
(2) ศีลบารมี คือ ชาติที่ออกบวชก็รักษาศีลของนักบวช ชาติที่ไม่ได้ออกบวชก็รักษาศีลของคฤหัสถ์ ได้แก่ เบญจศีล หรือ ศีล 5 เป็นต้น
(3) เนกขัมมบารมี คือ ได้ออกบวชในศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบ้าง ออกบวชเป็นดาบสบ้าง เป็นฤๅษีบ้าง เป็นชฎิลบ้าง
(4) ปัญญาบารมี คือ ได้ศึกษาพุทธพจน์คือพระสูตรและพระวินัยทั้งปวงในศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ต่าง ๆ ได้เจริญสมาธิอันเป็นภาวนามยปัญญาจนสำเร็จอภิญญามาหลายชาติรวมทั้งได้เรียนศาสตร์อื่น ๆ จนเจนจบอีกด้วย
ส่วนบารมีที่เหลือคือ วิริยบารมี ขันติบารมี สัจจบารมี อธิษฐานบารมี เมตตาบารมี และอุเบกขาบารมี เป็นบารมีที่ได้บำเพ็ญไปพร้อม ๆ กับบารมี 4 ประการข้างต้นคือ การจะให้ทาน รักษาศีล ออกบวชศึกษาเล่าเรียน และเจริญสมาธิภาวนาให้สำเร็จสมบูรณ์ ก็ต้องอาศัยวิริยะคือความเพียร ขันติคือความอดทนสัจจะคือความเอาจริงเอาจัง อาศัยการอธิษฐานเพื่อตอกย้ำเป้าหมายให้มั่นคง และในแต่ละชาติพระโพธิสัตว์ก็ได้อธิษฐานเพื่อบำเพ็ญบารมีให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไปดังพระดำรัสว่า "พระมุนีกุกกุสันธะผู้เป็นนายกชั้นพิเศษพระองค์นั้นก็ทรงพยากรณ์เราว่า ในภัทรกัปนี้ผู้นี้จักได้เป็นพระพุทธเจ้าในโลก... เราก็ยังจิตให้เลื่อมใสอย่างยิ่ง... เราอธิษฐานวัตรในการบำเพ็ญบารมี 10 ประการยิ่งขึ้น" สำหรับเมตตาบารมีและอุเบกขาบารมีนั้นสังเกตเห็นว่าพระโพธิสัตว์มักสำเร็จอภิญญาแล้วไปเกิดพรหมโลกด้วย "การเจริญพรหมวิหารภาวนา" คือเมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา จึงเป็นการบำเพ็ญเมตตาบารมีและอุเบกขาบารมีโดยตรงและการให้ทานในชาติต่าง ๆ นั้นก็เป็นการบำเพ็ญเมตตาบารมีไปในตัวด้วย
5) ความผิดพลาดในเส้นทางการสร้างบารมี
ในเส้นทางการสร้างบารมีของพระโพธิสัตว์นั้น ท่านได้ทำผิดพลาดมาไม่น้อยเหมือนกัน เพราะท่านก็ยังไม่หมดกิเลสถึงแม้จะได้รับพุทธพยากรณ์แล้วก็ยังมีโอกาสทำผิดได้ จะเห็นได้จาก อภัพพฐานะ 18 ข้อที่จะไม่เกิดขึ้นกับพระโพธิสัตว์ผู้ได้รับพุทธพยากรณ์แล้ว มีอยู่ 5 ข้อที่น่าสนใจคือ หากท่านทำผิดศีลจนต้องไปเกิดเป็นสัตว์เดียรัจฉาน ก็จะเป็นสัตว์ประเภทที่มีร่างกายไม่เล็กกว่านกกระจาบ แต่จะไม่โตกว่าช้าง, หากต้องไปเกิดเป็นเปรตจะไม่เกิดเป็นขุปปิปาสิกเปรตและนิชฌามตัณหิกเปรต, หากต้องไปเกิดเป็นอสุรกายก็จะไม่เกิดเป็นกาลกัญชิกาสูร, หากทำผิดหนักจนต้องตกนรก ก็จะไม่ไปเกิดในอเวจีนรกและโลกันตนรก
ในชาดก 500 กว่าเรื่องอันเป็นประวัติการสร้างบารมีในอดีตชาติของพระโพธิสัตว์นั้นมีอยู่หลายชาติที่ท่านไปเกิดเป็นสัตว์เดียรัจฉาน นอกจากนี้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสถึงวิบากกรรมในชาติสุดท้ายของพระองค์ อันเป็นผลมาจากอกุศลกรรมในอดีตไว้ในพุทธาปทาน 13 ประการ ซึ่งจะยกตัวอย่าง เพียง 6 ประการดังนี้
(1) ชาติหนึ่งพระโพธิสัตว์เกิดเป็นนักเลงชื่อปุนาลิได้กล่าวตู่พระปัจเจกพุทธเจ้าชื่อว่าสุรภีด้วยกรรมนั้นท่านจึงตกนรกเป็นเวลายาวนาน และในภพสุดท้ายก็ถูกนางสุนทริกากล่าวตู่ว่าพระองค์ทรงร่วมอภิรมณ์กับนาง
(2) ชาติหนึ่งพระโพธิสัตว์ได้บริภาษพระสาวกของพระพุทธเจ้าพระนามว่าผุสะว่า "พวกท่านจงเคี้ยว จงกินแต่ข้าวแดง อย่ากินข้าวสาลีเลย" ด้วยกรรมนั้นในภพชาติสุดท้ายพระองค์จึงต้องเสวยข้าวแดงอยู่ตลอด 3 เดือน เมื่อครั้งที่พระองค์ประทับอยู่ที่เมืองเวรัญชา
(3) ชาติหนึ่งพระโพธิสัตว์ได้ฆ่าพี่น้องชายต่างมารดาเพราะเหตุแห่งทรัพย์ จับโยนลงในซอกเขาและบดด้วยหิน ด้วยวิบากแห่งกรรมนั้น พระเทวทัตจึงทุ่มก้อนหินกลิ้งลงมากระทบนิ้วพระบาทของพระองค์จนห้อเลือด
(4) ชาติหนึ่งพระโพธิสัตว์เป็นนายควาญช้าง ได้ไสช้างให้เข้าไปจับมัดพระปัจเจกพุทธเจ้ารูปหนึ่ง ขณะที่ท่านกำลังเที่ยวบิณฑบาตอยู่ ด้วยวิบากแห่งกรรมนั้น ในภพสุดท้ายจึงถูกนายควานช้างไสช้างนาฬาคิรีอันดุร้ายเพื่อหมายทำร้ายพระองค์
(5)ชาติหนึ่งพระโพธิสัตว์เป็นนายทหารราบ ได้ฆ่าคนตายจำนวนมาก ด้วยวิบากแห่งกรรมนั้นพระองค์จึงถูกไฟไหม้อย่างเผ็ดร้อนอยู่ในนรก ในภพสุดท้ายพระองค์ก็ยังถูกไฟไหม้ผิวหนังที่บริเวณพระบาท
(6) เมื่อพุทธันดรที่ผ่านมาพระโพธิสัตว์เกิดในตระกูลพราหมณ์ชื่อโชติปาละ ได้กล่าวสบประมาทพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า "จักมีโพธิมณฑลแต่ที่ไหน โพธิญาณท่านได้ยากอย่างยิ่ง" ด้วยกรรมนั้น พระโพธิสัตว์จึงต้องบำเพ็ญทุกรกิริยาอยู่ถึง 6 ปี กว่าจะรู้ว่าเป็นหนทางที่ผิดและหันมาปฏิบัติในหนทางสายกลาง จนกระทั่งตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ข้อคิดจากความผิดพลาดของพระโพธิสัตว์
(1) จากเนื้อหาที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นว่า แม้จะเป็นนิยตโพธิสัตว์คือผู้ที่สั่ง สมบารมีมามากจนเที่ยงแท้แน่นอนแล้วว่า จะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในอนาคต มีบารมีมากถึงระดับที่สามารถบรรลุเป็นพระอรหันต์ได้ในครั้งที่ได้รับพุทธพยากรณ์ครั้งแรก แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีโอกาสทำผิดศีลผิดธรรมจนต้องไปเกิดเป็นสัตว์เดียรัจฉานได้ ยังมีโอกาสไปเกิดเป็นเปรตและอสุรกายพวกอื่นนอกจากอภัพพฐานะได้ และยังมีโอกาสตกมหานรกขุมที่ 1-7 ได้
ตรงนี้ชี้ให้เห็นว่าพระโพธิสัตว์ก็เป็นมนุษย์ธรรมดาคือมีโอกาสทำผิดพลาดได้เหมือนพวกเราเพราะท่านก็ยังมีกิเลสอยู่ แต่ท่านต่างจากคนทั่วไปตรงที่มีใจที่ยิ่งใหญ่ปรารถนาจะตรัสรู้ธรรมด้วยตนเองและสอนให้ผู้อื่นรู้ตาม จะได้ไม่ต้องมาทนทุกข์ทรมานอยู่ในวัฏสงสารอีกต่อไป เมื่อนักศึกษาทราบอย่างนี้ แล้วจึงต้องระมัดระวังตนเองให้มาก อย่าประมาทเด็ดขาด เพราะต้นทุนของเราน้อยกว่าท่านมาก คือเรายังไม่ได้รับพุทธพยากรณ์ จงตระหนักว่าชีวิตในสังสารวัฏเปรียบเสมือนเดินอยู่บนปลายหอกปลายดาบพลาดเมื่อไรเจ็บตัวเมื่อนั้น
(2)สาเหตุสำคัญของความผิดพลาดทั้งหลายคือ กิเลสซึ่งคอยบังคับใจให้ทำชั่ว ความประมาทและสิ่งแวดล้อม ฯลฯ สาเหตุ 2 ประการแรกนักศึกษาคงเข้าใจกันดีแล้วส่วนสิ่งแวดล้อมในที่นี้หมายเอาบุคคลเป็นหลัก เช่น ในพุทธันดรที่แล้ว โชติปาละโพธิสัตว์เกิดในตระกูลพราหมณ์ ทุกคนในครอบครัวเคารพพรหมและติเตียนเกลียดชังบรรพชิตทั้งหลาย พระโพธิสัตว์เกิดในเบ้าหลอมอย่างนี้ จึงทำให้ความคิดคำพูดการกระทำเป็นไปตามเบ้าหลอมด้วย
ในเรื่องสิ่งแวดล้อมนี้สามารถแก้ได้ด้วยการทำหน้าที่กัลยาณมิตรมาก ๆ ชวนคนทำความดีในพระพุทธศาสนาให้มากยิ่ง ๆ ขึ้นไป ด้วยบุญนี้จะส่งผลให้เราได้เกิดในสิ่งแวดล้อมที่ดี มีคนดี ๆ อยู่รอบตัวเรา และทุกครั้งที่สั่งสมบุญต้องอธิษฐานจิตเสมอว่า ให้ได้เกิดในตะกูลสัมมาทิฏฐิ ให้มีศรัทธาในพระพุทธศาสนา ให้มีกัลยาณมิตรช่วยชี้แนะหนทางสว่างให้แก่เรา และที่สำคัญคือขออย่าให้ทำบาปใด ๆ โดยเฉพาะต่อผู้ที่มีคุณมากอย่างเช่นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระปัจจเจกพุทธเจ้า และพระอรหันตเจ้าทั้งหลาย เป็นต้น
(3) จะเห็นว่าแม้ในอดีตพระโพธิสัตว์จะทำผิดพลาดมามาก แต่สุดท้ายแล้วท่านก็ได้ตรัสรู้ธรรมเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ ตรงนี้ชี้ให้เห็นว่าท่านมีจิตใจที่เข้มแข็งแน่วแน่มั่นคงมุ่งตรงต่อเป้าหมายคือการตรัสรู้พระสัพพัญุตญาณอย่างเดียว แม้จะพลาดพลั้งไปตกอยู่ในมหานรก เมื่อพ้นกรรมแล้วก็สร้างบารมีต่อไป หรือเมื่อไปเกิดเป็นสัตว์เดียรัจฉานก็ไม่ละทิ้งการสร้างบารมี ยังคงเดินหน้าต่อไปอย่างเต็มกำลังเท่าที่อัตภาพนั้นจะทำได้
พระโพธิสัตว์จึงเป็นคนประเภทไม่มัวมานั่งเสียใจกับความพลั้งพลาดเมื่อวันวาน แต่จะนำสิ่งผิดไปแล้วมาพิจารณาสาเหตุและหาทางป้องกันเพื่อไม่เกิดขึ้นอีก เมื่อทำบ่อยเข้าความพลั้งพลาดก็จะลดลงไปตามลำดับ จึงไม่สำคัญว่าเราจะล้มลงกี่ครั้ง แต่ทุกครั้งที่ล้มเราต้องกล้าที่จะเหยียนตัวยืนขึ้นใหม่เสมอจากนั้นให้หันกลับไปดูว่าทำไมเราจึงล้ม เมื่อพบสาเหตุแล้วก็ให้ระมัดระวังตัวและก้าวเดินต่อไปอย่างองอาจจนกว่าจะถึงจุดหมายปลายทาง
ใครที่มักนำชีวิตและความคิดคำนึงไปจมอยู่กับความผิดในอดีต ไม่มีทางที่จะก้าวหน้าและประสบความสำเร็จได้เลย ขอให้ทราบว่า ในพระศาสนาของพระสมณโคดมพุทธเจ้านี้ ไม่มีใครทำผิดร้ายแรงกว่าพระเทวทัตคือถึงขนาดส่งคนไปปลงพระชนม์พระศาสดา ถึงกระนั้นท่านก็ยังกลับตัวได้ แม้ตอนนี้จะยังรับโทษอยู่ในอเวจีมหานรก แต่ต่อไปเมื่อบุญเก่ารวมกับบุญใหม่จะส่งผลให้ท่านตรัสรู้เป็นพระปัจจเจกพุทธเจ้าพระนามว่าอัฏฐิสสระ พระเจ้าอชาตศัตรูก็เช่นกันแม้จะเคยทำชั่วขนาดปลงพระชนม์พระราชบิดา และตอนนี้รับกรรมอยู่ในโลหกุมภีนรก แต่เพราะการที่ท่านกลับตัวได้และทำบุญไว้มากก่อนสวรรคต ต่อไปท่านก็จะตรัสรู้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าพระนามว่า ชีวิตวิเสส
หนังสือ GB 101 ความรู้พื้นฐานทางพระพุทธศาสนา
กลุ่มวิชาความรู้ทั่วไปทางพระพุทธศาสนา