8 คำตอบ ที่จะทำให้คุณเข้าใจเรื่องการทำบุญไปตลอดชีวิต ?
1. จุดประสงค์ของการทำบุญ คือ ทำเพื่อขจัดความตระหนี่และความโลภ แต่พอทำแล้วอธิษฐานอยากได้นั่น อยากได้นี่ ไม่จัดว่าเป็นความโลภหรือ ?
ตอบ ความโลภหรือความอยาก มี 2 แบบ คือ แบบไม่บริสุทธิ์ กับแบบบริสุทธิ์
แบบแรก แบบไม่บริสุทธิ์ เป็นความอยากของคนมีกิเลสตัณหาเป็นแรงกระตุ้น เช่น อยากจะมีภรรยาเพิ่มอีกสักคน หรืออยากยักยอกเงินของคนอื่น ฯลฯ เป็นความอยากที่เปรียบเสมือนคนทำงานหนักเพราะแรงกระตุ้นของยาเสพติด เช่น ยาม้า ยาบ้า คือกระตุ้นให้ทำงานไปชั่วระยะหนึ่ง พอหมดฤทธิ์ยาก็ทำให้ร่างกายอ่อนเพลียอย่างเดิม และมีสุขภาพแย่ลงทุกวัน และพอเสพครั้งต่อ ๆ ไปก็ต้องเพิ่มปริมาณยามากขึ้นเรื่อย ๆ จนสุดท้ายก็ต้องตายเพราะยานั้น
แบบที่สอง แบบบริสุทธิ์ เปรียบเสมือนน้ำกลั่นที่สะอาดแล้ว ไม่มีฝุ่นละอองหรือเชื้อโรคเลย ย่อมให้คุณแก่ร่างกายอย่างเดียว ยิ่งดื่มก็ยิ่งทำให้ร่างกายสดชื่น ระบบขับถ่ายดี ระบบการดูดซึมดี และร่างกายก็ดีขึ้นเรื่อย ๆ
เปรียบเสมือนกับการทำบุญแล้วอธิษฐานตั้งความปรารถนาในสิ่งที่ดี เช่น อยากบรรลุมรรค ผล นิพพาน ตามพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อให้หมดกิเลส ไม่ต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิดอีก ไม่ต้องกลับมาสร้างกรรมอีก หรือทำบุญแล้วอธิษฐานขอให้รวย เพื่อจะได้บริจาคทรัพย์ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ช่วยทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา และที่สำคัญหากเรารวย จะได้ไม่ต้องกังวลเรื่องการทำมาหากิน มีเวลามาสร้างบุญสร้างกุศล มีเวลานั่งสมาธิมาก ๆ เพื่อจะได้หมดกิเลสบรรลุมรรค ผล นิพพานเร็ว ๆ ซึ่งความอยากแบบที่กล่าวมานี้ถือว่าเป็นความอยากแบบบริสุทธิ์ (The purest form of desire)
2. ทำ บุญแล้ว..จำ เป็นต้องอธิษฐานด้วยหรือ การอธิษฐานเหมือนเป็นการทำ บุญแล้วหวังผลหรือเปล่า ?
ตอบ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านยังอธิษฐานเลย ท่านทำ บุญทีไรก็อธิษฐานตั้งความปรารถนาอยากจะเป็นพระพุทธเจ้า เพื่อจะได้มาช่วยสรรพสัตว์ให้หมดกิเลส
อีกทั้งการอธิษฐานจิตเป็น 1 ในบารมี 10 ทัศ ที่จำเป็นต้องทำอย่างยิ่ง เรียกว่า อธิษฐานบารมี เพราะหากทำบุญแล้วไม่อธิษฐาน เวลาบุญส่งผลก็อาจจะทำให้ชาติหน้าเกิดมาเป็นคนรวยที่ชั่ว ที่เอาทรัพย์ไปใช้ในทางเสื่อม ก่อเวรสร้างกรรมให้ตัวเองและผู้อื่นเดือดร้อน ดังนั้น เราจำเป็นต้องอธิษฐานเพื่อไม่ให้เอาผลบุญที่เราได้รับไปใช้ในทางเสื่อม เช่น อธิษฐานว่า ด้วยบุญกุศลนี้ ขอให้ข้าพเจ้ามีทรัพย์ไว้ใช้ในการสร้างบุญสร้างบารมีแต่ฝ่ายเดียว สามารถมีทรัพย์ไว้เลี้ยงพ่อแม่ ไม่ใช่นำทรัพย์ไปใช้ในทางเสื่อม และขอให้ทรัพย์ที่จะบังเกิดแก่ข้าพเจ้าไม่เกิดจากอาชีพมิจฉาวณิชชา 5 อย่าง ที่พระพุทธเจ้าทรงห้ามทำ คือ ค้าอาวุธ ค้ามนุษย์ ค้าสัตว์ให้เขานำไปฆ่า ค้าน้ำเมา ค้ายาพิษ และอธิษฐานกำกับตอนท้ายด้วยว่า ด้วยบุญนี้ขอให้ข้าพเจ้าบรรลุมรรค ผล นิพพาน และไปถึงที่สุดแห่งธรรมโดยเร็วพลันเทอญ
3. ทำ บุญมาก..ได้มากจริงหรือ ?
ตอบ จาก อรรถกถา ขุททกนิกาย อุทาน นันทวรรคที่ 3 มหากัสสปสูตร ได้พบหลักของการทำบุญว่า ทำแล้วจะได้บุญมากก็ต่อเมื่อต้องครบองค์แห่งทานสมบัติ 3 ประการ ได้แก่
1. เขตสมบัติ (บุคคลบริสุทธิ์) คือ ผู้รับทาน จะต้องเป็นผู้ประพฤติดี ปฏิบัติชอบ เป็นผู้มีศีล
2. ไทยธรรมสมบัติ (วัตถุบริสุทธิ์) คือ วัตถุที่นำมาถวายทาน ต้องเป็นของบริสุทธิ์ ได้มาอย่างสุจริต
3. จิตตสมบัติ (เจตนาบริสุทธิ์) คือ ผู้ให้ต้องมีเจตนาให้ทานด้วยจิตที่บริสุทธิ์เป็นบุญกุศล และต้องปลื้มทั้งก่อนทำทาน ขณะทำทาน และหลังจากทำทาน
ดังนั้น การทำบุญแล้วจะได้บุญมากน้อยขนาดไหน ก็ขึ้นกับทั้ง 3 ข้อที่กล่าวมาแล้วว่าบริสุทธิ์มากขนาดไหน
แต่ถ้าองค์แห่งทานทั้ง 3 ข้อเท่ากันหมด แต่ทำบุญด้วยทรัพย์ที่มากกว่า ย่อมได้บุญมากกว่า คือ “ยิ่งทำมาก..ยิ่งได้มาก”
เปรียบเหมือนกับมีชาวนา 2 คน มีเมล็ดพันธุ์คุณภาพเท่ากัน มีปุ๋ยเท่ากัน มีน้ำเท่ากัน สรุปคือ มีตัวแปรต่าง ๆ เหมือนและเท่ากันหมด แต่ถ้าชาวนาคนหนึ่งทำนาด้วยพื้นที่ที่มากกว่า ก็ย่อมได้ผลผลิตมากกว่าคนที่ทำนาด้วยพื้นที่ที่น้อยกว่า
ดังนั้นจากคำสอนที่ว่า...
ยิ่งทำบุญมาก..ยิ่งได้มาก...
ถือว่าสอนถูกต้อง เมื่อองค์แห่งทานสมบัติทั้ง 3 ข้อ เท่ากัน
4. หากไม่ทำ ทานจะมีสิทธิ์บรรลุมรรค ผล นิพพานไหม ?
ตอบ ได้นะ... แต่ชีวิตก็ลำบากแบบสุด ๆ อย่างเช่นเรื่องที่เกิดขึ้นในสมัยพุทธกาลของพระโลสกติสสเถระที่อดีตชาติท่านเคยทำกรรมหนัก คือ ทำลายภัตตาหารของพระอรหันต์ ทำลายทานของชาวบ้าน ด้วยความอิจฉาและตระหนี่ หวงแม้กระทั่งของที่ไม่ใช่ของตัวเอง เมื่อตายจากชาตินั้น ท่านต้องไปตกนรกทุกข์ทรมานอย่างยาวนาน จากนั้นก็ไปเกิดเป็นยักษ์และสุนัขหลายร้อยชาติ และแต่ละชาติที่มาเกิดก็ต้องอดอยากมาก ๆ ไม่มีจะกิน ไม่เคยอิ่มเลยสักมื้อ แต่ละชาติได้กินอิ่มก่อนตายเพียงแค่มื้อเดียวเท่านั้น และด้วยความที่อดอยากมากถึงขนาดนี้ จึงไม่มีทรัพย์ อาหาร หรือสิ่งของใด ๆ ที่พอจะให้ทานได้เลย
แม้ชาติสุดท้ายที่บารมีเพียงพอที่จะบรรลุเป็นพระอรหันต์ ก็ยังอด ๆ อยาก ๆ ไม่มีจะกิน ต้องเก็บเศษข้าวที่เขาทิ้งแล้วกับพื้นมากินทีละเม็ด แม้บวชแล้ว เวลาบิณฑบาต ก็ได้ข้าวต้มเพียงกระบวยเดียว ไม่เคยอิ่มเลยสักมื้อ จนกระทั่งวันที่จะนิพพาน พระสารีบุตรท่านมีจิตเมตตาคิดจะอนุเคราะห์ จึงพาพระโลสกติสสเถระไปบิณฑบาต แต่ปรากฏว่าไม่ได้อะไรเลย จนสุดท้ายพระสารีบุตรต้องเอาบุญของท่านมาช่วย คือ บิณฑบาตมาให้ แล้วเอามือถือบาตรไว้ให้พระโลสกติสสเถระฉันในขณะที่ท่านอุ้มบาตรไว้ เพราะเกรงว่าด้วยวิบากกรรมทำลายลาภผู้อื่นและไม่มีโอกาสทำทานของพระโลสกติสสเถระ จะทำให้ภัตตาหารในบาตรหายไป ท่านจึงอิ่มเป็นมื้อสุดท้ายก่อนจะนิพพาน
เมื่อเราอ่านเรื่องนี้แล้ว..คุณจะอยากเป็นแบบนี้หรือที่อด ๆ อยาก ๆ จนถึงนิพพาน หากมีสิทธิ์ที่จะเลือก ขอรวยและก็บรรลุธรรมง่าย ๆ แบบนางวิสาขา หรือท่านโชติกเศรษฐีไม่ดีกว่าหรือ ???
5. ดูอย่างไรว่า เราทำบุญไปมากพอหรือยัง ?
ตอบ ถ้าบุญเรามากจนเต็มเปี่ยมแล้ว เราก็ไม่มานั่งอ่านหนังสือเล่มนี้อยู่ตรงนี้หรอก เราคงบรรลุมรรค ผล นิพพานไปแล้ว และที่สำคัญ ถ้าบุญเรามากพอ..ป่านนี้ เราต้องสมหวังในทุกสิ่งไปแล้ว ดังนั้นให้เราย้อนกลับไปทบทวนดูว่า ชีวิตเราตั้งแต่เกิดมาจนถึงปัจจุบันมีความพร่องหรือได้รับความทุกข์ในเรื่องใดมาบ้าง ก็ให้ทำบุญแล้วอธิษฐานเพื่อเติมเต็มแก้ไขในสิ่งนั้น ๆ
6. ต้องทำบุญขนาดไหน ถึงจะดี ?
ตอบ ต้องทำถึงขนาดที่ใจเราปลื้มสุด ๆ หากทำแล้วยังไม่ปลื้ม ก็ต้องทำอีกจนกระทั่งรู้สึกปลื้มให้ได้ เพราะบุญที่ทำแล้วเกิดความปลื้มสุด ๆ จะส่งผลได้เร็วกว่า และแรงกว่าบุญที่ทำแล้วรู้สึกเฉย ๆ หรือทำไปเพราะความเกรงใจ
และที่สำคัญ หากเราทำ บุญแล้วปลื้ม อีกทั้งยังสามารถระลึกนึกถึงบุญที่เคยทำไปได้บ่อยครั้งมากเท่าไร ก็จะมีผลต่อจำนวนชาติที่บุญจะส่งผลมากขึ้นเท่านั้น
และมากไปกว่านั้น หากตามระลึกนึกถึงบุญที่ทำไปแล้วบ่อย ๆ ด้วยความปลื้มปีติ บุญที่เราตามระลึกถึงนี้ ก็จะไปดูดบุญเก่า ๆ ที่เคยทำผ่าน ๆ มาตั้งแต่อดีตชาติ ทั้งบุญเล็กบุญน้อย หรือบุญที่อ่อนกำลังไปแล้ว ให้ตามมาส่งผล ให้ตามมาหล่อเลี้ยงชีวิตเราให้ดีขึ้น
7. ต้องทำอย่างไรถึงจะปลื้มปีติ ?
ตอบ ปกติโดยทั่วไป ความปลื้มปีติเกิดจากเหตุหลายอย่าง เช่น ความปีติที่เกิดจากอำนาจสมาธิ การย้อนนึกถึงความดีที่ทำได้ยาก การทำบุญอย่างสุดกำลัง หรือการตัดใจจากความตระหนี่ที่ตัดได้ยากแบบเอาชีวิตเป็นเดิมพัน อย่างเช่น นายติณบาล ที่ทำบุญด้วยทรัพย์ชิ้นสุดท้าย หรืออดีตชาติของเมณฑกเศรษฐีที่ทำบุญด้วยอาหารมื้อสุดท้าย ทำจนหมดตัว แต่กลับปลื้มโดยไม่นึกเสียดาย อีกทั้งยังมีความปลื้มครบทั้ง 3 ระยะ คือ ก่อนทำ ขณะทำ หลังทำ ความปลื้มจะทำให้เราประทับใจจดจำสิ่งนั้นไปได้นานแสนนาน อีกทั้งยังสามารถนึกถึงได้เป็นสิ่งแรก โดยไม่เคยลืมไปความทรงจำเลย และนึกถึงทีไรก็น้ำหูน้ำตาไหล ขนลุกชูชัน เพราะความปลื้มปีติ...
8. อะไรเป็นเหตุที่ทำ ให้บุญส่งผลช้า ?
ตอบ คงเคยได้ยินว่า ทำบุญแล้ว บุญไม่เห็นส่งผลสักที หากเรากำลังประสบปัญหานี้ หรือเจอใครที่พบปัญหานี้ ก็ให้ลองมาสำรวจกันว่า เป็นเพราะเหตุผลบางประการเหล่านี้หรือไม่...
1. ทำบุญด้วยความไม่ศรัทธา
2. ทำบุญด้วยความเกรงใจ
3. ทำแล้วไม่ปลื้ม
4. ทำแล้วไม่ตามตรึกระลึกนึกถึงบุญอย่างต่อเนื่อง
5. ทำไม่เต็มกำลัง
6. ทำบุญช้า เวลาได้อะไรก็ได้ช้า
7. เวลาจะทำบุญคิดแล้วคิดอีก มีเงื่อนไขในการทำบุญ เวลาได้อะไรก็เลยได้ยาก มีเงื่อนไขมาก กว่าจะได้ทรัพย์มาก็ต้องเหนื่อย ต้องแลกมาด้วยความยากลำบาก
8. ก่อนทำบุญ ขณะทำบุญ หลังทำบุญ ใจไม่ใส มีเรื่องหงุดหงิด กังวล โมโหจนทำให้ใจหมอง
9. วัตถุหรือเงินที่นำมาทำบุญเป็นวัตถุไม่บริสุทธิ์ ได้มาจากความไม่สุจริต ได้จากอาชีพไม่บริสุทธิ์
Cr. ร.ลิ่วเฉลิมวงศ์ สำนักสื่อธรรมะ
dhamma-media.blogspot.com