คุณยายรับแขก
ตามปกติคุณยายท่านจะมารับแขกทุกวันอาทิตย์ในช่วงบ่าย ถ้าเป็นวันอาทิตย์ธรรมดาจะรับที่ห้องเล็กในครัวยามา ส่วนวันอาทิตย์ต้นเดือนคนเยอะจะรับที่ห้องโถงใหญ่ของครัวยามา และทุกวันเสาร์ที่ ๓ ของเดือน คุณยายจะนำนั่งสมาธิ คุมบุญ ปล่อยปลาให้กลุ่มบุญแก้วที่ศาลาดุสิต
แขกที่เข้าไปกราบคุณยายจะมีทุกอาชีพทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่เด็กแบเบาะ ที่คุณพ่อคุณแม่อุ้มพามา
"คุณยายขาช่วยตั้งชื่อให้ลูกหนูด้วยนะคะ"
"คุณยายขาช่วยตัดผมไฟให้ลูกหนูด้วยค่ะ" ฯลฯ
ไปจนถึงผู้สูงอายุที่เดินไม่ไหว ลูกหลานต้องช่วยพยุงหรือพานั่งรถเข็นมา
ทุกคนที่มีโอกาสเข้ามากราบคุณยาย คงประทับใจในภาพที่คุณยายเดินตัวตรงก้าวเท้าเข้ามาในห้อง พร้อมด้วยใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใสมีมิตรไมตรี ยกมือพนมทักทายกับทุกคนอย่างเป็นกันเอง ก่อนที่จะนั่งลงบนเก้าอี้ ข้างหน้าท่านจะมีโต๊ะ ที่เหลี่ยมจตุรัส ขนาดเล็ก ความสูงประมาณหัวเข่าตั้งอยู่
คุณยายจะต้อนรับพูดคุยกับทุกคนด้วยความเมตตาเสมอกันหมด โดยไม่ถือตน ไม่เลือกชั้นวรรณะ เพศ วัย คำพูดของคุณยายที่พูดคุยกับแขกนั้น ล้วนแสดงให้เห็นถึงดวงปัญญาอันสว่างไสวของท่าน เป็นคำพูดง่าย ๆ เป็นกันเอง เต็มไปด้วยความปรารถนาดี ให้กำลังใจและตรงใจผู้ที่ได้เข้าไปกราบประดุจว่า คุณยายมองเห็นทุกท่านที่เข้ามากราบได้อย่างทะลุปรุโปร่ง
คุณยายมักจะแนะนำให้ทุกคนทำแต่ความดี ให้รักบุญกลัวบาปท่านมักจะพูดเสมอว่า
"เกิดเป็นมนุษย์นี้ประเสริฐสุด ให้รู้จักทำบุญทำทาน คนเราตายไปแล้วเอาอะไรไปไม่ได้ เอาไปได้แต่บุญกับบาปทำบุญ ก็แบกบุญเอาไปทำบาปก็แบกบาปเอาไป คนเราตายไปแล้ว ไม่สูญ มีดวงบุญ ดวงบาป"
บางครั้งท่านก็ทักทายกับผู้มาใหม่ด้วยประโยคที่วนให้คิด
"...ดีแล้วที่รู้จักเข้าวัด ถ้าเราไม่เข้าวัดตอนนี้ ตอนตายเขาก็หามเข้าอยู่ดี จะเข้าตอนเป็นหรือตอนตาย"
คุณยายท่านจะเมตตากับเด็ก ๆ มาก บางครั้งเด็ก ๆ ตามคุณพ่อคุณแม่มากราบคุณยาย คุณยายก็จะจับมือจับแขนดึงตัวเข้ามาหาบ้าง จับแก้มบ้าง เอามือลูบหัว เสยผมหรือดึงหางจุกหางเปียเบา ๆ บ้างในบางครั้งด้วยความเอ็นดู พร้อมทั้งยิ้มเบิกบาน อารมณ์ดี คุณยายมักจะพูดกับเด็ก ๆ ว่า "อย่าซนนะ เดี๋ยวพ่อแม่จะเฆี่ยนเอา"
บางคนคุณยายก็บอกว่า "ต้องเอามายกให้เป็นลูกยายจะได้เลี้ยงง่าย" คุณยายเล่าให้ฟังว่า "คนโบราณบอกว่าเด็กที่มีบุญมาเกิดพ่อแม่จะเลี้ยงยาก ต้องเอาไปยกให้เป็นลูกคนอื่น ยายก็เหมือนกัน ตอนเด็ก ๆ เลี้ยงยาก พ่อแม่ต้องเอาไปยกให้เป็นลูกคนอื่น"
เด็กบางคนพอคุณยายบอกว่า "เอามายกให้เป็นลูกยายนะ" ก็ร้องแงขึ้นมา คุณยายก็ยิ้มอย่างเมตตาและบอกกับเด็กว่า "ยกให้เป็นลูกยายเฉย ๆ แต่ฝากให้พ่อแม่เขาเลี้ยงไว้"
ครั้นมีเด็กรุ่นหนุ่ม ๆ มากราบคุณยาย คุณยายก็มักจะชอบถามว่า "เคยบวชกันแล้วหรือยัง" เด็กหนุ่มบางคนก็ตอบว่า "เคยบวชธรรมทายาทมาแล้วครับ" บางคนก็ตอบว่า "ยังครับ" คุณยายท่านก็เมตตาแนะนำว่า "เกิดเป็นผู้ชายต้องบวช ถ้าไม่บวชเขาเรียกว่าเป็นคนดิบ ไปบวชให้ได้พรรษารับผ้ากฐินก่อน แล้วค่อยสึก" จะมีเด็กหนุ่มกลุ่มหนึ่งชอบมากราบคุณยายเป็นประจำ คุณยายก็มักจะถามเป็นประจำเช่นกัน
บางคนมากราบคุณยาย พร้อมด้วยรูปภาพของพ่อแม่ พี่น้อง ญาติสนิทมิตรสหายที่ตนเองรัก ซึ่งจากโลกไปด้วยสาเหตุ นานาประการ เพื่อขออำนาจบุญบารมีของคุณยายช่วยคุ้มครองฉุดดึงให้บุคคลทั้งหลายเหล่านั้นได้ไปอยู่ในที่สบายไม่ต้องทนทุกข์
"คุณยายคะ พ่อหนูเสียชีวิตเมื่อวันเสาร์ที่แล้ว หนูเอารูปคุณพ่อมาขอให้คุณยายช่วยด้วยค่ะ" บางท่านก็มาพร้อมด้วยรูปภาพขาวดำเก่าเก็บ เหมือนผ่านกาลเวลามาหลายสิบฤดูกาล "คุณยายครับ ผมเอารูปคุณพ่อมาขอให้คุณยายช่วยดู ไม่ทราบว่าท่านอยู่ที่ไหนสุขสบายดีหรือเปล่าท่านเสียชีวิตไป นานแล้วตั้งแต่ผมยังเด็ก"
พร้อมทั้งส่งรูปภาพที่เขียนรายละเอียดต่าง ๆทั้งหลายไว้ ที่หลังภาพให้คุณยาย แล้วหันมาบอกกับพี่อารีพันธุ์ว่า มีรูปอยู่แผ่นเดียวจะขอคืนด้วย
อาทิตย์ถัดมาเขากราบคุณยายอีกครั้งพร้อมทั้งบอกชื่อ นามสกุลเพื่อขอรับภาพคืน พี่อารีพันธุ์ก็หยิบรูปภาพส่งให้คุณยาย คุณยายมองดูรูปภาพก่อนที่จะยื่นส่งให้แขกผู้นั้น พร้อมกับบอก ว่ายายช่วยให้ไปอยู่ที่สบายแล้ว แล้วชายหนุ่มผู้นั้นก็กราบลา คุณยายไป
บางท่านมาพร้อมโฉนดที่ดินแผ่นใหญ่ที่ถ่ายเอกสารมาอีกที เขียนรายละเอียดต่าง ๆ ใส่ไว้ในโฉนดอย่างเรียบร้อยครบถ้วน พับโฉนดแผ่นใหญ่ใส่ในถาด มาถึงก็วางถาดไว้ที่โต๊ะคุณยาย แล้วก็พนมมือ "คุณยายตอนนี้ลูกเดือดร้อนเรื่องการเงิน มีที่ดิน อยู่ผืนหนึ่งอยู่แถว... ขอบุญบารมีคุณยายช่วยให้มีคนมา ซื้อ ให้ลูกขายที่ดินได้จะได้เอาเงินมาใช้หนี้ใช้สินทำบุญทำทาน" คุณยายก็รับมาพร้อมทั้งบอกว่า "แล้วยายจะช่วย"
ไม่นานต่อมาเขากลับมากราบคุณยายอีกครั้ง พร้อมทั้งซองปัจจัยในถาด หน้าซองนั้นเขียนว่า
เมื่อวันที่...ลูกมากราบขอบุญบารมีคุณยายให้ช่วยขายที่ได้ ตอนนี้ขายที่ได้แล้ว ลูกและครอบครัว ขอกราบขอบพระคุณคุณยาย และนำปัจจัยมาร่วมทำบุญกฐินกับคุณยายจำนวน...
ด้วยความเคารพอย่างสูง
ลูก...
จากปากต่อปากของคนที่มาให้คุณยายช่วยแล้วสำเร็จเล่าต่อ ๆ กันไป ก็เลยมีคนเอาโฉนดที่ดินบ้าง เอาแผนที่บ้านบ้าง ตึกแถวบ้าง มาให้คุณยายช่วยอยู่บ่อย ๆ ใครเอามาให้คุณยาย ช่วยท่านก็เมตตารับไว้ทุกคนและมักมีเหตุอัศจรรย์เกิดขึ้นกับผู้ที่มาขออย่างคาดไม่ถึงอยู่เสมอ
บางคนมากราบคุณยายด้วย สีหน้ามีวิตกกังวล มีความทุกข์ อย่างไม่รู้จะไปหาที่พึ่งที่ไหนแล้ว เข้ามากราบคุณยายพร้อมด้วยรูปภาพ
"คุณแม่หนูเป็นมะเร็ง คุณหมอบอกว่าเป็นขั้นสุดท้ายแล้ว" คุณยายรับภาพขึ้นมาดู แล้วค่อย ๆ พูดว่า
"มะเร็งนี้ใครเป็นแล้วหายยากนะ ให้แม่เขาสวดมนต์ไหว้ พระทำบุญทำทาน จะได้เป็นบุญติดตัวไป ถ้าแม่เขาสวดไม่ ไหวเราก็สวดให้แม่เขาฟัง" พร้อมทั้งพูดให้กำลังใจผู้ที่เข้ามา กราบว่า "ช่วยตอนเป็นไม่ได้ช่วยตอนตายก็ได้"
คุณยายมักพูดอยู่เสมอว่า มะเร็งนี้ใครเป็นแล้วหายยาก แล้วท่านก็จะพนมมือยกขึ้นอธิษฐานอยู่เสมอ ๆ ว่า "ไอ้โรคนี้ อย่าให้ข้าพเจ้าหรือใคร ๆ ได้พบเจอเลย ให้มันสูญหายไปจากโลก ตกขอบทะเลไปเลย"
บางคนมาหาคุณยายด้วยความเร่งรีบ "คุณยายคะ วันนี้ คุณแม่จะผ่าตัดหัวใจ คุณแม่อายุเยอะแล้วเกรงว่าจะเป็นอันตราย หนูเลยมากราบเรียนคุณยาย ขอบุญบารมีคุณยายคุ้มครองให้ แม่หนูปลอดภัยด้วยค่ะ"
คุณยายท่านตอบไปว่า "ให้แม่คุณนึกถึงแต่บุญกุศล มันมีหยาบกับละเอียด พวกหมอก็รักษาแบบหยาบที่เราเห็นกันอยู่ (คือการรักษาด้วยยาหรือเครื่องมือทางการแพทย์ทั้งหลาย) ต้องมีส่วนละเอียดช่วยด้วย คือ บุญกุศลที่เราได้ทำมา ให้แม่คุณ นึกถึงบุญ แล้วยายจะช่วย"
แล้วแขกผู้นั้นก็กราบลาคุณยาย เพื่อที่จะรีบไปเฝ้าคุณแม่ที่โรงพยาบาลต่อ
บางคนถูกคนใกล้ชิดโกงมา ไม่ทราบว่าทำอย่างไรจึงจะ ได้เงินคืน ก็มาหาคุณยาย กราบขอให้คุณยายช่วย คุณยายท่านก็รับฟังและให้คำพูดที่เป็นข้อคิด ข้อเตือนใจ ด้วยประโยคสั้น ๆ แต่เก็บไว้ใช้ได้ตลอดว่า "เชื่อก็เชื่อได้ แต่อย่าเพิ่งไว้ใจ"
แขกบางท่านก็มาแลกแบบเหนือความคาดหมายแต่ไม่เกินความจริง มีสุภาพสตรีท่านหนึ่งดูจากหน้าตาคาดว่าอายุประมาณ ๔๐ กว่าปีท่าทางเป็นคนโฉ่งฉ่าง พูดจาฉะฉานเข้ามา กราบคุณยายสตรีผู้นั้นเล่าให้คุณยายฟังว่า "เมื่อก่อนดิฉันปวดหลัง ไปหาหมอมาทั่ว ใครเขาว่าที่ไหนดีก็ไปมาหมด แต่ก็ยังไม่หายปวดหลังสักทีจนได้มากราบคุณยาย มาคราวที่แล้วคุณยาย เอามือลูบหลังให้ พอดิฉันกลับบ้านไปแล้วหายปวดหลังเลย มาคราวนี้อยากจะขอให้คุณยายช่วยนวดที่ไหล่ที่แขนให้อีก"
คุณยายท่านก็หัวเราะเล็กน้อยและตอบแขกผู้นั้นไปว่า "ยายนวดไม่เป็น" โดยไม่ฟังเสียงสตรีท่านนั้นก็กระเถิบตัวหลบ โต๊ะตัวเตี้ย ๆ ที่ตั้งอยู่หน้าคุณยาย อ้อมไปด้านข้างเข้ามาหาคุณยายใกล้ ๆ แล้วก็พูดว่า "คุณยายช่วยจับ ๆ ให้ก็ได้ค่ะ" พร้อม ๆ กับกุลีกุจอ หันหลังในท่าเตรียมพร้อมให้คุณยายนวดให้เต็มที่ มือก็ยังพนมไว้ หน้าก็หันไปทางแขกผู้อื่นซึ่งรอกราบคุณยายอยู่ คุณยายท่านก็เมตตาหัวเราะน้อย ๆ แล้วเอื้อมมือไปบีบเบา ๆ ที่หัวไหล่ของสตรีผู้นั้นแล้วก็พูดว่า "เอ้า! ขอให้หาย" เขาก็ปีติกราบขอบพระคุณ แล้วยิ้มหน้าบานเดินออกจากห้องไป
ข้าพเจ้านึกขำในกิริยาท่าทางที่เอาจริงเอาจังของสตรีท่าน นั้นที่เข้ามากราบคุณยาย แต่สิ่งที่เขาพูดนั้นไม่เกินจริงเลย มือของคุณยายมีพลังมากมายมหาศาลทั้งพลังภายนอกและพลังภายใน ผู้ใดที่เคยประสบด้วยตัวเองจะสัมผัสถึงพลังอันนี้ได้ดี แค่เพียงคุณยายจับมือหรือลูบหัวเบา ๆ พลังแห่งความชุ่มเย็น ความเป็นสิริมงคลก็แผ่ไปทุกขุมขนทุกส่วนของร่างกาย
แขกที่มากราบคุณยายมีสารพัดทุกประเภททุกรูปแบบ คุณยายท่านก็พูดคุยได้กับคนทุกประเภททุกรูปแบบ โดยที่ทุกคนจะสัมผัส ได้ถึงความบริสุทธิ์จริงใจ ความเมตตา ปรารถนาดี ที่ท่านมีต่อทุกคนโดยเสมอกัน เขาจะกลับไปพร้อมกับความหวัง และกำลังใจ ด้วยความคิดที่ว่าบุญเท่านั้นเป็นที่พึ่งของเรา เพราะคุณยายท่านจะสอนให้คิดถึงแต่บุญกุศลและสิ่งที่ดีงาม ทุกสิ่งสำเร็จได้ด้วยอำนาจของบุญกุศลท่านมักจะให้พรเสมอ ๆ ว่า "คิดปรารถนาสิ่งใดก็ขอให้สำเร็จทุกประการ ด้วยอำนาจแห่งบุญกุศล"
ประมาณว่าแขกที่มากราบคุณยายส่วนใหญ่จะมากราบขอพร ขอบุญบารมี ให้คุณยายช่วยเป็นส่วนใหญ่ อีกส่วน หนึ่งก็เป็นพวกที่มากราบขอบคุณคุณยายที่ช่วยให้สมปรารถนา ในสิ่งที่ขอและทำให้เขามีชีวิตที่ร่มเย็นเป็นสุข และแขกอีกส่วนหนึ่ง คือ คนที่มากราบคุณยายเป็นประจำแทบทุกอาทิตย์ เอา โน่นเอานี่มาถวายบ้าง บางคนไม่มีเรื่องอะไรก็ขอให้ได้มากราบ มาเห็นหน้าคุณยาย บางท่านกราบคุณยายเสร็จแล้วก็ยังไม่กลับ ถอยไปนั่งอยู่หลังห้อง นั่งเฝ้าฟังคุณยายคุยกับแขกจนหมดห้อง แล้วจึงกลับอย่างนี้ก็มี
ช่วงอาทิตย์หลังงานกฐินผ้าป่า คุณยายท่านก็จะแจก ล็อคเก็ตรูปคุณยายให้แก่ผู้ที่ร่วมทำบุญกฐินผ้าป่า ที่นำบัตรมารับ คุณยายจะหยิบ "ล็อคเก็ตยาย" วางใส่มือผู้รับและมักจะพูด กับผู้นั้นว่า "เอายายไปอยู่ด้วยนะ" ผู้ใดที่เอายายไปอยู่ด้วย (ที่ใจ) เสมอ ๆ ก็มักจะพบกับอานุภาพความศักดิ์สิทธิ์ของล็อคเก็ตยายอยู่เสมอ
คุณยายจะรับแขกด้วยความยิ้มแย้มสดชื่นเบิกบานแจ่มใส ไม่ว่าอากาศจะร้อนเพียงใด โดยเฉพาะวันอาทิตย์ต้นเดือนจะมี คนมากราบคุณยายเยอะแยะมากมาย ต่างคนก็มานั่งรุมล้อมรอ กราบคุณยายแน่นห้องเต็มไปหมด ข้าง ๆ ที่นั่งคุณยายแม้มีพัดลมตัวเล็ก ๆ เปิดให้ลมพัดผ่านระบายอากาศ แต่ก็ไม่ช่วยทำให้คุณยายคลายร้อน
กระดาษทิชชูแผ่นแล้วแผ่นเล่าที่ข้าพเจ้าส่งให้พี่อารีพันธุ์ เพื่อซับเหงื่อที่ซึมออกมาอย่างไม่ขาดสาย ตามหน้าผากและข้างหูให้คุณยาย ถ้วยยาหอมที่ชงเสร็จแล้ว ถูกนำมาตั้งไว้ข้าง ๆ เพื่อรอจังหวะให้พี่อารีพันธุ์เอาให้คุณยายดื่ม บางครั้งตั้งไว้จนยาเย็น ต้องไปชงเปลี่ยนแก้วใหม่มา
แต่คุณยายก็ยังรับแขก ด้วยความยิ้มแย้มแจ่มใสด้วยความยินดีในหน้าที่นี้ยิ่งนัก...หน้าที่ของการเป็นกัลยาณมิตร เป็นผู้นำบุญ และเป็นเนื้อนาบุญให้แก่ทุก ๆ คน
จนเมื่อแขกคนสุดท้ายเดินออกไป คุณยายจึงลุกขึ้น เดินออกจากห้องไปพร้อมพี่อารีพันธุ์ ก่อนที่จะออกจากประตูไป คุณยายไม่ลืมที่จะหันหลังกลับมาบอกข้าพเจ้าซึ่งกำลังเก็บข้าวของ ดูความเรียบร้อยของห้องอยู่ว่า "อย่าลืมปิดไฟและดึงปลักพัดลมออกด้วยนะ" คุณยายท่านจะประหยัดและละเอียดรอบคอบใน การใช้สิ่งของอย่างนี้เสมอ
ข้าพเจ้ายังจำได้ มีหลายครั้งที่ภาพของคุณยายในวัย ๘๐ กว่า จะย่างเข้า ๙๐ ก่อนที่จะออกไปรับแขก หรือหลังจากรับแขก ท่านต้องฉันยาหอมและนอนอยู่บนเตียง เพราะหน้ามืดมึนศีรษะ แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เป็นอุปสรรคสำหรับท่านเลย ด้วยความเป็น นักสู้ผู้ทรหดอดทน ด้วยความที่เป็นผู้ทำอะไรก็ทำอย่างสม่ำเสมอ ถ้าไม่มีเหตุสุดวิสัยจริง ๆท่านจะลงรับแขกเป็นประจำทุกวันอาทิตย์ ท่านมักถามด้วยความเมตตาว่า "เขามาคอยยายนานแล้วหรือยัง" "ไม่อยากให้คนที่ตั้งใจมากราบยายผิดหวังกลับไป ลงไปให้เขาเห็นสักหน่อยก็ยังดี"
นอกจากคุณยายจะรับแขกในวันอาทิตย์แล้ว ในวันธรรมดาก็มักมีคนมากราบคุณยาย บางคนมีเรื่องเดือดเนื้อร้อนใจ บางคนมีเรื่องปัจจุบันทันด่วนต้องรีบมาก่อนวันอาทิตย์ส่วน ใหญ่จะมาดักรอ เวลาคุณยายท่านเดินออกมาจากที่พักเพื่อไปตรวจครัวหรือไปที่ไหนก็จะตรงเข้ามากราบ ถ้าคุณยายพบท่านก็ จะเมตตาพูดคุยและช่วยเหลือทุกคนไป
ครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน ขณะที่คุณยายจะเดินข้ามฝังจาก กุฏิกลับมาที่ห้องเลขา มีน้องผู้หญิงคนหนึ่ง อายุคงประมาณ ๒๐ ปีต้น ๆ ไม่ทราบว่ามาจากทางไหน เดินตรงดิ่งเข้ามาหา คุณยาย คุณยายถามช้า ๆ ว่า "มีอะไร" น้องคนนั้นตอบคุณยาย ด้วยคำถามว่า " คุณยายว่างหรือเปล่าคะ อยากขอเชิญคุณยาย ไปคุยทางโน้น (ศาลาดุสิต)" พร้อมทั้งทำตาแดง ๆ เนื่องจากคุณ ยายไม่ค่อยสบายเป็นหวัดยังไม่หายดี ข้าพเจ้าจึงรีบเข้าไปกระซิบบอกน้องผู้นั้นไปว่า คุณยายไม่ค่อยสบาย คงไม่สะดวกที่จะไป ขอให้คุยสั้น ๆ ตรงนี้ก็แล้วกัน
แต่คุณยายซึ่งท่านมีปกตินิสัยเป็นผู้ที่มีเมตตาสงสารแก่ทุกผู้คนอยู่แล้ว จึงเดินไปที่ศาลาดุสิตเพื่อนั่งรับฟังเรื่องราวจาก น้องผู้นั้น ข้าพเจ้าอดเป็นห่วงสุขภาพท่านไม่ได้ ได้แต่นึกในใจว่า คุณยายท่านคงออกมาโรดน้องคนนี้ที่เขามีความทุกข์อยาก จะมาพึ่งคุณยาย น้องผู้หญิงคนนั้นมีปัญหาครอบครัว อยู่ในครอบครัวที่แตกแยกต้องอยู่กับแม่เลี้ยง เล่าเรื่องให้คุณยายฟังไปร้องไห้ไป
คุณยายท่านก็นั่งรับฟังนานพอสมควร และได้เมตตาเตือนสติ ให้กำลังใจว่า "การได้เกิดเป็นคนเป็นของยาก ที่เป็นอย่างนี้เพราะเป็นกรรมเก่า เป็นผลเนื่องจากอดีตที่เราทำมาเพราะฉะนั้นเราต้องอดนำความดีเรื่อยไป อดทนไปเถอะอีก ไม่กี่ปีก็ตายแล้ว"
น้องผู้นั้นยังเล่าให้คุณยายฟังอีกว่า เคยมีแม่ชีมาดูให้และบอกว่าเมื่อชาติก่อนเขาเคยเกิดเป็นลิง
คุณยายรีบบอกว่า "อันนั้นไม่สำคัญชาติก่อนเราเกิดเป็นอะไรไม่สำคัญ ที่สำคัญตอนนี้เราเกิดมาเป็นคน ให้เร่งทำความดีจะได้เป็นบุญกุศลติดตัวไป ให้รีบ ๆ เรียนให้จบแล้วหา งานทำจะได้มีเงินเดือนไม่ต้องไปพึ่งคนอื่นเขา ยายหนังสือตัวเดียวก็ไม่รู้แต่ได้มาสร้างวัดให้เขาอยู่ ยายสู้มาตลอด กว่าจะได้ ไปอยู่วัดปากน้ำต้องไปทำงานอยู่ที่บ้านเขาทำทุกอย่าง กวาดบ้าน ถูบ้าน รีดผ้าของคนนั้นคนนี้ ยายไม่ท้อเลย เกิดเป็นคนมันต้องอดทน ใครจะพูดจะว่าอะไรก็อดทนเอา"
คุณยายท่านทั้งปลอบทั้งให้กำลังใจ และชี้ทางสว่างแก่น้องผู้นั้น แล้วน้องคนนั้นก็ลากลับไป ข้าพเจ้าไม่ทราบว่าปัจจุบัน น้องคนนี้มีชีวิตเป็นอยู่อย่างไร แต่ข้าพเจ้ามั่นใจว่า ถ้าน้องคนนั้น ได้ประพฤติปฏิบัติตามที่คุณยายชี้แนะ น้องคนนั้นจะประสบความสำเร็จ ฝ่าฟันเอาชนะอุปสรรคต่าง ๆ ของชีวิตไปได้อย่างแน่นอน
แม้ว่าคุณยายจะไม่ค่อยสบาย
แต่ท่านไม่ได้กังวลใจกับเรื่องความเจ็บป่วย
มากไปกว่าเรื่องที่ว่า
ทำอย่างไรจึงจะช่วยเหลือผู้คน
ที่มาขอพึ่งให้พ้นทุกข์ได้
ความเมตตาของคุณยายนี้
ยิ่งใหญ่สุดที่จะประมาณ
มีให้โดยถ้วนทั่วแก่ทุกผู้คน
โดยไม่เลือกชั้นวรรณะ
ไม่ว่าเขาผู้นั้นจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ เศรษฐี หรือยาจก
เมื่อได้มาพบท่านแล้วจะได้รับความเมตตาจากท่าน
โดยถ้วนหน้าเสมอกัน... สมดังชื่อคุณยายจันทร์
ดวงจันทร์วันเพ็ญ...
สาดแสงเหลืองนวลเย็นตาเย็นใจแก่ทุกคนที่ได้พบเห็น
ไม่ว่าเขาผู้นั้นจะเป็น พระราชา
คหบดี คนสามัญธรรมดา ยาจก หรือขอทาน
ก็มีสิทธิได้ยลแสงอร่ามเหลืองนวลงดงามแห่งดวงจันทร์
โดยถ้วนทั่วเสมอกัน...
ถ้าเขาผู้นั้นต้องการ