สุขภาพของคุณยาย

วันที่ 01 มิย. พ.ศ.2560

สุขภาพของคุณยาย

                 โดยปกติ คุณยายถือว่าเป็นผู้สูงอายุที่มีสุขภาพแข็งแรง กระฉับกระเฉง แคล่วคล่องว่องไว ขณะอายุ  ๘๓ ปี ของท่าน หลังยังตั้งตรง หูดี ตาดี กล้ามเนื้อผิวพรรณยังเต่งตึง ปฏิภาณไหวพริบในการพูดคุยโต้ตอบก็เป็นเยี่ยม หากไม่ทราบอายุของท่านมาก่อนอาจประมาณคาดเดาว่าส่านอายุ ๖๕-๗๐ ปีได้ช่วงที่ข้าพเจ้าเข้ามารับใช้ท่านจนเกือบปลายปี พ.ศ. ๒๕๓๙ ซึ่งในระหว่างนั้นคุณยายยังพักอยู่ที่กุฏิคุณยายหลังเดิม (ปรนิมมิตวสวัตดี) ข้าพเจ้ายังไม่เคยเห็นคุณยายเจ็บไข้ได้ป่วยถึงขนาดต้องเข้าโรงพยาบาลเลย จะมีก็แต่ไปเพื่อตรวจสุขภาพทั่วไป

                  แต่ภายใต้บุคลิกท่าทางอันแข็งแรงของท่านนี้ มักจะมีอาการไม่สบายเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เกิดขึ้นบ่อย ๆ ซึ่งเป็นปกติของผู้สูงอายุทั่วไป คือคุณยายมักจะมึนศีรษะ และปัสสาวะบ่อยสุขภาพของคุณยาย นอกจากนี้ยังมีปัญหาเกี่ยวกับความยืดหยุ่นและการทำงานของกล้ามเนื้อ เช่น ยกแขนไม่ค่อยขึ้น นั่งขัดสมาธิ นั่งพับเพียบไม่ค่อยถนัด

                  คุณยายท่านมักมึนศีรษะบ่อย ๆ เวลามึนศีรษะคุณยายมักบอกว่า "มันมึน ๆ ก๊ง ๆ" พร้อม ๆ กับบอกสาเหตุว่า "หมอเขาบอกว่ายายเลือดน้อย" เมื่อท่านมึนศีรษะ พวกเราก็มักชงยาหอมมาให้ท่านดื่ม และให้ท่านนอนพักนิ่ง ๆ นวดมือ นวดเท้าให้ท่าน อาการก็ทุเลาลง นอกจากนี้ยังมีการรักษาแบบใช้หมอนวดแผนโบราณในบางโอกาส

                  เมื่อถามถึงอาการของท่านว่า เป็นอย่างไรบ้างท่านก็จะมีมาตราวัดเปรียบเทียบของท่าน ที่ทำให้เข้าใจได้ง่าย เช่นบาทนึงเหลือสลึงนึง เป็นต้น

                  มีอยู่ช่วงหนึ่ง แขนคุณยายยกไม่ค่อยขึ้น คือพอยกได้แต่เวลายกแขนใส่เสื้อ หรือยกแขนชูขึ้น จะยกได้ไม่สูง คุณหมอแต่ละท่านได้แนะนำวิธีปฏิบัติ เพื่อการรักษาด้วยวิธีการที่แตกต่างกัน พี่อารีพันธุ์ได้นำวิธีรักษามาปฏิบัติกับคุณยายท่านก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ปฏิบัติตามด้วยความสม่ำเสมอ มุ่งมั่นพากเพียรที่จะให้หายเป็นปกติ

                  ในช่วงนั้นมีการติดตั้งชักรอกไว้ที่ห้องเลขา เพื่อให้คุณยายได้บริหารไหล่และแขน โดยที่เชือกทั้ง ๒ ข้างของชักรอกผูกห่วงยางนิ่ม ๆ ไว้ เพื่อให้คุณยายสอดมือเข้าไปจับ พอมือหนึ่งดึงชักรอกลง ข้างหนึ่งก็ชูสูงขึ้น แล้วดึงขึ้นลงสลับกัน คุณยายท่านขยันดึงชักรอกของท่านทุกวัน

                  ที่หลังห้องเลขา มีที่บริหารแขน ซึ่งพี่อารีพันธุ์ให้ช่างไม้ ของวัดช่วยทำให้ มีลักษณะเหมือนอุปกรณ์บริหารร่างกายที่มีในสวนสุขภาพ หรือ สวนสาธารณะต่าง ๆ เป็นแท่นไม้ มีไม้ท่อนกลม ๆ ขนาดพอสมควร วางพาดอยู่ตรงกลาง มีที่ให้เอามือ ๒ ข้างจับ แล้วยกเหยียดแขนทั้ง ๒ ชูขึ้น คุณยายท่านจะเดินออกไป ยกขึ้นยกลง ๆทุกวัน วันละประมาณ ๑๐ -๑๕ ครั้ง คุณยายท่านนับของท่านเอง ยกขึ้นยกลงนับเป็นหนึ่งครั้งท่านประมาณของ ท่านเองว่ากี่ครั้ง ถ้าปกติก็ยก ๑๕ ครั้ง แต่ถ้าท่านเหนื่อยก็ ประมาณ ๑๐ ครั้ง พร้อมกับบอกว่า "เอ้า! พอก่อน"

                  นอกจากนี้ในช่วงเย็น พี่อารีพันธุ์จะเอาลูกประคบมาประคบที่วงไหล่และแขนให้คุณยายทุกวัน

                  ด้วยความมุ่งมั่นสม่ำเสมอ และอยากให้อาการของคุณยายหาย จนในที่สุดแขนทั้ง ๒ ข้างก็หาย ยกชูได้สูงตามปกติ แม้ในช่วงวัยใกล้  ๙๐ ปี แขนท่านยังยกชูขึ้นได้สูง และยังออกกำลังกายท่ายกแขนขึ้นยกแขนลงได้วันละหลาย ๆ ครั้ง

                  คุณยายท่านเอาใจใส่ต่อสุขภาพของท่านเป็นอย่างดี ถ้าสิ่งไหนเป็นผลดีต่อสุขภาพท่านก็ทำสิ่งนั้น ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานอาหาร การบริหารร่างกายท่านทำอย่างสม่ำเสมอ

                   ในการรับประทานอาหาร พี่อารีพันธุ์จะดูแลในเรื่องคุณค่า ทางโภชนาการให้ครบหมู่ เหมาะสมกับวัยและสภาพร่างกายของท่าน ตอนเช้าเป็นข้าวต้มและกับข้าว มีอาหารเสริม พวกเลซิติน วีทเจอม รำข้าว งาดำ ฯลฯ ตอนเพลเป็นข้าวสวย

                   เมนูอาหารหลัก ๆ ของคุณยาย คือ ปลา ผัดผัก แกงจืด และผลไม้ท่านชอบเกลี่ยข้าวใส่ช้อนของท่านเอง พี่อารีพันธุ์จะคอยตักกับข้าวใส่ในช้อนข้าวให้คุณยาย คุณยายท่านก็จะยกช้อนข้าวใส่ปากทุกคำโดยไม่มีการปฏิเสธ ยกเว้นถ้าตักกับข้าวใส่ในช้อนให้ท่านมากเกินไปท่านจะเขี่ยออก บอกว่าเดี๋ยวมันจะเค็ม (คงเป็นเพราะคนรุ่นก่อน ๆ จะเน้นหนักไปทางรับประทาน ข้าวมากกว่ากับข้าว)

                   ข้าพเจ้าไม่เคยได้ยินคุณยายติชมในเรื่องรสชาติของอาหารว่า อันนี้อร่อย อันนี้ไม่อร่อย อันนี้ชอบ อันนี้ไม่ชอบเลย มีแต่บอกว่า "อะไรกินได้ ยายกินได้หมด" คุณยายท่านเป็นคนอยู่ ง่ายกินง่าย ตลอดเวลาที่ผ่านมาท่านไม่เคยบอกว่า อยากทาน สิ่งนั้นสิ่งนี้สุดแล้วแต่ลูกศิษย์ลูกหาจะจัดหาได้ ต้องอาศัยวิธี สังเกตเอาจึงจะทราบว่าคุณยายชอบอะไร ซึ่งไม่บ่อยนักที่คุณยายท่านจะถาม "อันแดง ๆ นี้เขาเรียกว่าอะไร" คุณยายชี้ไป ที่จานหมี่กรอบ ก็คาดเดาเอาว่าคุณยายท่านคงจะชอบ ก็จะตักหมี่กรอบให้ท่านอีก

                   ในจานผลไม้ที่ครัวมักจัดให้หลายชนิด หั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ ให้พอดีคำเคี้ยวได้ คุณยายท่านจะเอา ส้อมจิ้มรับประทานของท่านเอง ก็ต้องคอยสังเกตว่า อย่างไหนท่านจิ้มบ่อยสังเกตว่า ท่านชอบจิ้มไปที่ชิ้นขาว ๆ คือสาลี่

                   ในเรื่องการบริหารร่างกาย นอกจากท่าแกว่งแขนยกแขน ที่พี่อารีพันธุ์พาคุณยายออกเป็นประจำแล้ว ยังมีท่ากายบริหารที่ท่านชอบทำ เช่นท่านั่งเอาขาเหยียดไปข้างหน้า แล้วก้มลงเอา นิ้วมือแตะที่ปลายเท้า ซึ่งคุณยายท่านทำได้ดี ชนิดที่ว่าคนหนุ่มสาวยังสู้ไม่ได้เลย กล้ามเนื้อของท่านยืดหยุ่นดีมากท่านจะค่อย ๆ เอามือไถไปที่หน้าขา แล้วโน้มตัวลงไปเรื่อย ๆ จนเอามือแตะที่ปลายเท้า ไม่ใช่แค่นั้น คุณยายยังเอามือทั้งมือจับที่นิ้วเท้า ได้เลยท่านเรียกท่านี้ว่า "โยกเยก"

                   นอกจากนี้ ยังมีอุปกรณ์เพื่อสุขภาพที่มีสาธุชนนำมาถวาย คุณยายท่านก็หมั่นใช้เป็นประจำ

                   ที่บนกุฏิตรงระเบียง มีที่นวดฝ่าเท้าทำจากปล้องไม้ไผ่ผ่าครึ่งซีก เวลาคุณยายขึ้นไปบนกุฏิ ก่อนลงจากกุฏิทุกครั้งคุณยายมักเดินแวะไปเหยียบปล้องไม้ไผ่อันนี้ โดยเอามือจับที่ราวระเบียง ใช้ฝ่าเท้าวางบนส่วนนูน ๆ ของปล้องไม้ไผ่ผ่าซีกแล้วขยับเท้าไปมา

                   ที่ห้องเลขา จะมีกะลาตัวผู้หัวแหลมขัดมันอยู่ ๑ คู่ วางคว่ำอยู่บนผ้าขนหนูผืนหนา คุณยายจะเอามือจับที่โต๊ะทานข้าว แล้วขึ้นไปเหยียบบนกะลา หัวแหลม ๆ ของกะลาก็ช่วยนวดเท้าให้

                  ไม่ว่าคุณยายจะทำอะไรท่านจะทำด้วยความสม่ำเสมอ ไม่ละทิ้งไปง่าย ๆ ข้าพเจ้าประทับใจในความสม่ำเสมอของท่านมาก ช่วงนั้นคุณยายเอามือแช่น้ำทะเลทุกวันเพราะที่เล็บมือของคุณยายบางเล็บ มีลักษณะเห็นเป็น สีขาวกินเข้าไปในเนื้อเล็บทำ ให้ระหว่างเนื้อเล็บเป็นโพรงเล็ก ๆ อยู่ มีลักษณะคล้ายเป็นเชื้อราแต่เมื่อแพทย์ตรวจหาเชื้อแล้วลงความเห็นว่าไม่มีเชื้อรา

                  คุณยายบอกว่า " สมัยอยู่นครชัยศรี ยายทำนา เล็บมันก็เลยไม่ค่อยดี" รักษามานานแล้วแต่ไม่หายสักที มีคนแนะนำให้เอานิ้วไปแช่น้ำทะเล จะรักษาให้หายได้ท่านจึงได้ลองใช้วิธีนี้ดู ที่ใต้ถุนกุฏิมีแกลลอนน้ำทะเลอยู่ เวลาจะใช้ก็ไปรินน้ำทะเลใส่ขันมา คุณยายท่านขยันเอานิ้วแช่น้ำทะเลเป็นประจำทุกวันในระหว่าง เวลาที่ท่านนั่งพักช่วงสาย ๆ

                  แต่มีอยู่วันหนึ่งช่างมาซ่อมถนนที่ทรุด โดยยกถนนขึ้นแล้วพ่นทราย เครื่องพ่นทรายเสียงดังมาก จึงต้องย้ายไปอยู่บ้านที่ครัวหลังเป็นการชั่วคราว ข้าพเจ้านึกว่าวันนี้คุณยายคง งดแช่น้ำทะเลทันทีที่สิ้นสุดความคิด คุณยายบอกว่า "ให้ถือเอาขันน้ำทะเลไปด้วย จะได้แช่ให้มันหาย ๆ"

                   ข้าพเจ้าได้แต่นึกชื่นชมท่าน ถ้าท่านทำสิ่งใดแล้วท่าน ต้องทำอย่างสม่ำเสมอ เปี่ยมด้วยความมุ่งมั่นและเอาจริงท่านจึงได้ชื่อว่า "คนจริง"

                   แม้ว่าคุณยายท่านดูแลสุขภาพสังขารของท่านเป็นอย่างดี แต่ข้าพเจ้าเห็นว่า เวลาท่านทำงานท่านจะทำแบบทุ่มชีวิต อย่างเต็มที่เต็มกำลัง โดยไม่เห็นแก่ความเหนื่อยยากลำบาก ไม่ว่าจะเหน็ดเหนื่อยเพียงใดท่านไม่เคยย่อท้อ ไม่มีสิ่งใดมาหยุดยั้งความมุ่งมั่นแน่วแน่ของท่านได้ นอกจากความสำเร็จ

                   คุณยายท่านเริ่มมีอาการมึนศีรษะบ่อยขึ้น โดยเฉพาะช่วงที่ฝนตก อากาศมักจะชื้นอยู่เสมอเพราะที่กุฏิคุณยายมีต้นไม้ปกคลุมหนาแน่น จึงมีการย้ายที่พักจากกุฏิมาที่อาคารดาวดึงส์

                   อาคารดาวดึงส์ในขณะนั้นเป็นที่ทำงานของแผนกเสียง มีอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมืออยู่หลายอย่าง แต่ยังมีห้องที่ว่าง พอให้คุณยายใช้เป็นห้องนอนได้ จึงใช้เป็นที่พักชั่วคราวก่อนที่ จะย้ายมาอยู่ที่บ้านธรรมบาล

                   ช่วงหลัง ๆ นี้สังเกตว่าคุณยายท่านบ้วนน้ำลายบ่อย จนต้องหากระโถนบ้วนน้ำลายมาให้ท่านใช้เป็นประจำ นอกจากนี้ คุณยายยังมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นจากเดิมมากทั้ง ๆ ที่รับประทาน อาหารเป็นปกติเท่าเดิม ใบหน้าของท่านดูอิ่มเอิบ เปล่งปลั่งและผ่องใสมากท่านอารมณ์ดี เบิกบาน แจ่มใสอยู่ตลอดเวลา ผู้ใดที่เข้าใกล้ท่านก็มักจะมีแต่รอยยิ้มและความอบอุ่น แต่ในขณะเดียวกันเรี่ยวแรงของท่านก็ถดถอยลงท่านมักจะพูดว่า "ยายไม่ค่อยมีแรง" และบางครั้งท่านก็พูดถึงการจากไป

 

"ยายอายุเยอะแล้ว

ยายเตรียมพร้อมทุกอย่าง

ทำบุญทำทาน ทอดกฐิน ทอดผ้าป่า

ถึงเวลาก็ไป"

 

                   ท่านมักพูดถึงการเตรียมพร้อมของท่านอยู่บ่อย ๆ "ถึงคราวหมดอายุขัยก็ขอให้ไปโดยง่ายสบาย" ข้าพเจ้าก็ได้ แต่นึกว่าที่ คุณยายชอบพูดเพราะท่านเป็นผู้ไม่ประมาท แต่คงอีกนาน กว่าจะถึงเวลาที่ท่านจะจากไป เพราะคุณยายท่านยังดูสดชื่น แจ่มใส เหมือนคนมีสุขภาพดี แม้จะไม่ค่อยมีแรงในบางครั้ง

                  ช่วงปี พ.ศ. ๒๕๓  อาการเหนื่อย ไม่มีแรงของคุณยายปรากฏชัดมากขึ้น บางครั้งคุณยายท่านจะมีอาการเหมือนคน เป็นลมช่วงปลายปี พ.ศ. ๒๕๓๙  และปี พ.ศ. ๒๕๔๐ จึงเป็นช่วงที่คุณยายเข้า ๆ ออก ๆ โรงพยาบาลอยู่หลายครั้ง โดยเฉพาะช่วงเดือนกันยายนถึงพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๐ เป็นช่วงที่คุณยาย ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ที่โรงพยาบาล ในการพัก ตรวจเช็คร่างกายและดูอาการ เพราะที่โรงพยาบาลจะมีเครื่องมือและบุคลากรทางการแพทย์ครบทุกอย่าง การไปโรงพยาบาลของคุณยายมักจะไปแบบเงียบ ๆ เพราะไม่ต้องการให้ผู้ใดทราบ เพื่อที่ท่านจะได้พักรักษาตัวอย่างเต็มที่

                  ในระหว่างที่นอนพักอยู่ที่โรงพยาบาล พระเดชพระคุณหลวงพ่อธัมมชโยได้ไปเยี่ยมคุณยายที่ห้องพัก ขณะนั้นคุณยายกำลังนอนให้น้ำเกลืออยู่ที่เตียง เมื่อคุณยายเห็นหลวงพ่อ มือทั้ง สองของคุณยายก็ค่อย ๆ ขยับยกพนมมือไหว้ พระเดชพระคุณหลวงพ่อบอกคุณยายว่า "ยายนอนดิ่งธรรมะ  ซ้อนองค์พระไปเรื่อย ๆ เลยนะยาย"

                   คุณยายพยักหน้ารับ นอกจากนี้พระเดชพระคุณหลวงพ่อยังได้เล่าเรื่องเก่า ๆ ให้คุณยายฟังถึงตอนที่ท่านเจอคุณยายตอนอยู่บ้านธรรมประสิทธิ์ และตอนทีหลวงพ่อไปเยี่ยมคุณยาย เมื่อคุณยายอายุ ๕๓ ปี ขณะนั้นคุณยายป่วยหนักอยู่แถวสุขุมวิทท่าน เล่าว่าท่านไปเยี่ยมคุณยายซึ่งนอนป่วยอยู่ ไปนั่งสมาธิอยู่หน้าเตียง และถามคุณยายว่า "อย่างนี้แล้วทำอย่างไรต่อ"

                   คุณยายตอบ หลวงพ่อถาม คุณยายก็ตอบอยู่อย่างนี้ท่านมุ่งมั่นอยู่แต่กับการเรียนธรรมะกับคุณยาย คุณยายนอนลืมตาฟังหลวงพ่อเล่า ในแววตาของท่านเหมือนกำลังย้อนระลึกถึงภาพในอดีต มีรอยยิ้มน้อย ๆ ปรากฏที่ริมฝีปากของท่าน

                   ก่อนพระเดชพระคุณหลวงพ่อจะกลับท่านได้ให้กำลังใจ กับอุปัฏฐากทุกคน และให้ทุกคนทำหน้าที่และเอาบุญกับคุณยายอย่างเต็มที่ "เพราะกายคุณยายเปรียบเหมือนที่สถิตของพระธรรมกายนับพระองค์ไม่ถ้วน"

                    อาการของคุณยายดีขึ้นเป็นลำดับ เมื่ออาการดีขึ้น คุณยายท่านก็มักจะบอกว่า "ยายจะกลับบ้าน" "ยายจะกลับวัด" ต้องช่วยกันโน้มน้าว ให้ท่านพักรักษาตัวให้หายดีก่อนแล้วถึงกลับ

                   เมื่ออาการดีขึ้นจนเป็นที่น่าพอใจแล้ว จึงพาคุณยายกลับมาพักที่วัด "ณ บ้านธรรมบาล" แต่น่าแปลกใจว่า แม้จะกลับมาอยู่วัดแล้ว แต่ในบางครั้งคุณยายก็ยังพูดว่า "ยายจะกลับบ้าน" อยู่เช่นเดิม

                    พระเดชพระคุณหลวงพ่อทั้งสอง มักจะหาโอกาสมาเยี่ยมคุณยายเสมอ

                    เมื่อพระเดชพระคุณหลวงพ่อธัมมชโยมาเยี่ยมคุณยายท่านมักจะมีแต่เรื่องบุญกุศล มีแต่ถ้อยคำที่เป็นสิริมงคลมาเล่าให้คุณยายฟัง และมักจะอวยพรให้คุณยายมีอายุยืน มีสุขภาพแข็งแรง หายจากโรคภัยไข้เจ็บ คุณยายท่านจะพนมมือรับคำ

                    พระเดชพระคุณหลวงพ่อเป็นระยะ ๆ ด้วยดวงตาที่สว่างสุกใสในช่วงงานบุญต่าง ๆ เช่น งานกฐิน ผ้าป่า หรือวันคล้ายวันเกิดของพระเดชพระคุณหลวงพ่อ คุณยายมักจะเตรียมซองปัจจัยไว้เพื่อ นำมาถวายทำบุญกับพระเดชพระคุณหลวงพ่อด้วยพระเดชพระคุณหลวงพ่อทัตตชีโวก็เช่นเดียวกัน เวลาท่านมาเยี่ยมคุณยายท่านมักจะเดินตรวจตรารอบ ๆ ห้องก่อนเป็นอันดับแรก ดูว่าปิดเปิดหน้าต่างเป็นอย่างไร อากาศถ่ายเทระบายพอหรือเปล่าท่านจะเป็นผู้ที่รอบรู้ในทุก ๆ เรื่องท่านจะสอนอยู่เสมอ ในเรื่องการจัดการดูแลให้ ภาพห้องของคุณยายมีอากาศถ่ายเทได้ดี ตอนไหนควรเปิดหน้าต่าง ตอนไหนควรเปิดแอร์ ลมจะเข้าทางไหน ออกทางไหนท่านจะสอน ให้สังเกตทุกอย่าง เวลาท่านพบหน้าคุณยายท่านจะมาพร้อมด้วยรอยยิ้ม และเสียงที่ดังฟังชัดท่านมักจะถามคุณยายว่า "ยาย วันนี้รับข้าวได้เยอะหรือเปล่า" "ยาย วันนี้นอนหลับดีหรือเปล่า" ฯลฯ

                     เมื่อดูจากภายนอก ลักษณะของคุณยายจะดูเหมือนว่า คุณยายท่านมีสุขภาพแข็งแรงเป็นปกติ ใบหน้าอิ่มเอิบ ผ่องใสมาก แต่เมื่อท่านลุกเดิน จึงจะทราบว่าเรี่ยวแรงของท่านถดถอยลงไป

                     คุณยายพูดถึงการกลับบ้านบ่อยขึ้น "ยายจะกลับบ้าน ๆ" พี่อารีพันธุ์จะขอคุณยายวันละหลาย ๆ รอบทุกวันว่า "ขอให้คุณยายแข็งแรง อยู่ไปจนถึงฉลองพระเจดีย์นะคะยาย"

                     เมื่อฉลองพระเจดีย์ครั้งที่ ๑ ผ่านไป พี่อารีพันธุ์ก็ขอกับคุณยายอีกว่า "ขอให้คุณยายแข็งแรง อยู่จนฉลองพระเจดีย์ครบ ๓ ครั้งเลยนะคะยาย"

                     แต่สิ่งที่ไม่มีใครหนีพ้นกำลังคืบคลานใกล้เข้ามา ๆทุกขณะโดยที่คำร้องขอใด ๆ ก็ไม่สามารถทัดทานไว้ได้

                     เพื่อความไม่ประมาท คุณยายได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดมากขึ้นและอยู่ในสายตาตลอด ๒๔ชั่วโมง มีพยาบาลวิชาชีพมาช่วยเฝ้าในตอนกลางคืน และในกลางวันเป็นบางวัน มีอุปัฏฐาก เพิ่มขึ้นเป็นทีมงานใหญ่ คอยผลัดเปลี่ยนกันรับบุญ ผลัดละ ๓-๔ คนเป็นอย่างน้อย เมื่อใดที่คุณยายมีอาการผิดปกติแม้เพียงเล็กน้อย ก็จะรีบเชิญคุณหมอมาตรวจดูอาการทันที

                       ข้าพเจ้าประทับใจความทุ่มเทในการทำหน้าที่ของแต่ละคนมากทุกคนจะตั้งใจและเต็มใจดูแลปรนนิบัติรับใช้คุณยายอย่างดีที่สุด ไม่ใช่เพียงเพราะเป็นหน้าที่ แต่ด้วยหัวใจที่เต็มเปี่ยมไป ด้วยความเคารพรักท่านอย่างที่สุด อะไรที่คิดว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สุด สำหรับท่าน ไม่ว่าจะต้องเสียเวลาหรือมีรายละเอียดปลีกย่อยเพิ่มเติมมากขึ้นเพียงไรทุกคนก็เต็มใจพร้อมที่จะทำทุกคน เข้าใจความหมายของคำว่า "ความอดทนไม่มีขีดจำกัดทุกคน สามารถปรับเพดานของความอดทนขึ้นไปได้ไม่มีสิ้นสุด ขอเพียงแต่มีใจที่เปี่ยมด้วยความรักและศรัทธา"

                       "คุณยายคือศูนย์รวมใจ และอยู่ในใจของทุก ๆ คน" คุณยายเมื่อท่านยังมีสุขภาพแข็งแรงท่านเป็นสุดยอด ของครูบาอาจารย์ หาผู้ใดเสมอเหมือนมิได้ท่านเป็นตัวอย่างด้วยการทำให้ดู และคอยบอกคอยสอนลูกศิษย์ลูกหาให้ทำแต่ ความดีสั่งสมบุญบารมีท่านจะคอยชี้แนะสิ่งที่ถูก แก้ไขสิ่งที่ผิดให้อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย

                      เมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ คุณยายก็เป็นผู้สูงอายุที่มีเมตตา ผ่องใสอารมณ์ดี อบอุ่น และน่าเข้าใกล้ที่สุดท่านจะเกรงใจทุกคนที่อยู่รอบข้างท่านชอบที่จะพึ่งพาตนเองมากกว่าที่จะเรียกขอให้ใครช่วย ผู้ใดได้เข้าใกล้คุณยายจะรู้สึกอบอุ่นและรักคุณยายอย่างที่สุดทุกคน

                     เมื่อท่านอยู่ใน ภาวะที่เจ็บไข้ได้ป่วย คุณยายคือคนช่วย ที่น่าเข้าไปปรนนิบัติรับใช้ท่านอย่างที่สุด เพราะคุณยายเป็นคนช่วยที่มีความอดนอย่างยากจะหาผู้ใดเสมอเหมือน พวกเราก็รู้สึกเหมือนกันว่า ไม่ว่าจะเป็นของเสียใด ๆ ที่ออกมาจากร่างกายของท่าน ก็เป็นเหมือนของสะอาด ไม่มีใครรังเกียจทุกคนมีแต่รีบเข้าไปรับใช้ทำให้คุณยายอย่างดีที่สุด คุณยายจึงเป็นคนช่วยที่มีกลิ่นหอม และสะอาดอยู่ตลอดเวลา

                      แต่เหนือสิ่งอื่นใด คุณยายคือบุคคลที่ยิ่งใหญ่ด้วยคุณงามความดี บุคคลที่ยิ่งใหญ่ด้วยอำนาจกับยิ่งใหญ่ด้วยคุณงามความดีนั้นต่างกัน บุคคลผู้ยิ่งใหญ่ด้วยอำนาจนั้น พอหมดอำนาจทุกอย่างก็พลอยเสื่อม สลายหายไป แต่บุคคลผู้ยิ่งใหญ่ด้วยคุณงาม ความดีนั้นไม่มีวันเปลี่ยนแปลง ยังคงงดงามอยู่ในใจของทุกคน ตลอดไปทุกคนพร้อมที่จะทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อท่าน โดยที่ท่านไม่ต้องร้องขอ

 

แม้วันเวลาจะผ่านไป

สังขารของท่านจะเสื่อมไปตามกาลเวลา

แต่ความมีอำนาจและทรงพลังอันยิ่งใหญ่

จากคุณงามความดีของคุณยายไม่เคยเสื่อมไป

ยังคงงดงามส่องประกายอยู่ในใจของทุก ๆ คน

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.001482617855072 Mins