การหล่อหลอมลูกศิษย์ของคุณยาย
โดย พระมหาประพัฒน์ จิรวํโส
"ความเสียสละของคุณยาย
เป็นความเสียสละอันยิ่งใหญ่
ที่จะนำพาสรรพสัตว์ทั้งหลาย
ให้พ้นจากความทุกข์ไปสู่ฝังแห่งพระนิพพาน"
พระมหาประพัฒน์ จิรวํโส
อายุ ๓๙ ปี พรรษา ๑๓
เข้าวัด เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๒๙
การศึกษาางโลก วิทยาศาสตร์บัณฑิต (เคมี)
มหาวิทยาลัยมหิดล
การศึกษาทางธรรม นักธรรมเอก
เรียญธรรม ๔ ประโยค
งานพระศาสนา รับผิดชอบงานด้านการเผยแผ่ธรรมะ
ในวันนี้อาตมาขอนำประสบการณ์การสร้างบารมีมาถ่ายทอดให้พวกเราได้ฟังเกี่ยวกับความประทับใจในคุณธรรมของคุณยายอาจารย์ อาตมาคงถ่ายทอดได้เพียงบางส่วนเพราะมีเวลาจำกัด
คุณธรรมของคุณยาย ประการแรก คือความเสียสละอันยิ่งใหญ่
ถ้าเรามองดูในโลกนี้ ในระดับครอบครัว บุคคลที่มีความเสียสละก็คือบิดามารดา ที่เสียสละทำงานอย่างเหน็ดเหนื่อยเพื่อหาเลี้ยงครอบครัว ให้ความรักความอบอุ่นแก่ลูกๆ และ อบรมพร่ำสอนบ่มเพาะนิสัยที่ดีๆ เพื่อให้ลูกเติบโตเป็นคนดี ถ้าเป็นระดับชุมชน ผู้นำชุมชนจะเป็นบุคคลที่เสียสละความสุข ส่วนตัวเพื่อบำเพ็ญประโยชน์ให้กับชุมชนนั้นๆ ในระดับประเทศผู้นำของประเทศก็ยอมเสียสละตนเองมาช่วยทำประโยชน์ หรือบริหารประเทศให้ก้าวไปสู่ความเจริญก้าวหน้า ให้เป็นประเทศที่สงบร่มเย็น และถ้าเป็นระดับโลกก็มีองค์กรต่างๆ มากมายที่พยายามค้นหาวิธีการต่างๆ ที่จะสร้างโลกให้เกิดสันติสุข แต่สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นพวกเราก็ได้ยินได้ฟังมามาก แต่ปัญหาต่างๆ ก็ยังมีอยู่มากมาย ที่ยังแก้ไขไม่ได้ และก็ยังจะต้องแก้ไขกันต่อไป
แต่เมื่ออาตมาได้มีโอกาสมาพบคุณยาย คุณยายสร้างวัด คุณยายฝึกคนทั้งๆ ที่เป็นงานหนักและเหน็ดเหนื่อยมาก แต่คุณยายไม่เคยย่อท้อเลยทำให้รู้ว่าความเสียสละของคุณยายเป็นความเสียสละอันยิ่งใหญ่ ที่จะนำพาสรรพสัตว์ทั้งหลายให้พ้นจากความทุกข์ไปสู่ฝังแห่งพระนิพพาน
นี่คือประการแรกที่อาตมาประทับใจในมโนปณิธานอันยิ่งใหญ่ของคุณยาย
ประการที่ ๒ คือเรื่องกุศโลบายในการสั่งสอนลูกศิษย์ให้เป็นคนดี ให้รักการสร้างบารมี
จนกระทั่งมีความปรารถนาอย่างเต็มหัวใจที่จะสืบทอดมโนปณิธานตามพระเดชพระคุณหลวงพ่อวัดปากน้ำ ภาษีเจริญและบางท่านยอมบวชอุทิศชีวิตในพระพุทธศาสนา จุดนี้เป็นจุดที่ถือได้ว่าค่อนข้างยากสำหรับบุคคลทั้งหลายในโลก
คุณยายมีกุศโลบาย ในการหล่อหลอมลูกศิษย์ โดยย่อ มี ๓ ขั้นตอนด้วยกัน คือ
ขั้นตอนแรก คุณยายตระหนักถึงความสำคัญของบุคคลว่า จะทำอย่างไรให้ทุกคนที่มาวัดแล้วเกิดความประทับใจและสบายใจ เพื่อใจจะได้เปิดกว้างที่จะรับธรรมะจากพระอาจารย์
ประการแรกก็คือ เรื่องความสะอาดของวัดสิ่งนี้คุณยายได้ปลูกฝัง และฝึกฝนลูกศิษย์ลูกหามาอย่างดีตลอด ซึ่งพวกเราก็คงได้ยินได้ฟังที่คุณยายสอนเรื่องการทำความสะอาดสุขพิมาน (ห้องน้ำ) ด้วยตัวของท่านเอง
ประการที่ ๒ คือ เรื่องการต้อนรับ การทักทายปราศรัยด้วยการสวัสดี ประนมมือด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตนด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้ม แจ่มใสซึ่งท่านเป็นแบบอย่างในการปฏิสันถารกับผู้มาใหม่ทำให้ผู้มาวัดเกิดความอบอุ่นใจ และสบายใจ
ประการที่ ๓ คือ เรื่องความสงบร่มรื่น ซึ่งนำพาให้จิตใจของเราเกิดความสงบและรักที่จะประพฤติปฏิบัติธรรมมากขึ้น ความสงบนี้เกิดขึ้นได้เพราะกฎระเบียบพื้นฐานทั้ง ๑๐ ประการของวัดพระธรรมกาย ที่คุณยายวางไว้ให้บุคคลผู้มาวัดได้ถือปฏิบัติ เช่น ไม่ควรนำ สื่อต่างๆ หรือวิทยุหรือการละเล่นต่างๆ เข้ามาในวัดทำให้วัดเกิดความสงบเหมาะสมต่อการประพฤติปฏิบัติธรรม
ขั้นตอนที่ ๒ คือ คุณยายได้ปลูกฝังให้พวกเราทุกๆ คนรักบุญกลัวบาปและรักการนั่งธรรมะ โดยอาศัยกิจกรรมของวัด บำเพ็ญบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ประการ คือ
ข้อแรกทานมัย คือบุญที่เกิดจากการทำทาน คุณยายปลูกฝังให้พวกเราชอบและรักที่จะถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุสามเณร ได้ถวายไทยธรรมที่จุดอธิษฐานธรรม
ข้อที่ ๒ สีลมัย คือการรักษาศีล พวกเรามาวัดทุกวันอาทิตย์ ได้มีโอกาสตั้งใจรักษาศีลอย่างบริสุทธ์บริบูรณ์ บางท่านอยู่บ้านตั้งใจรักษาศีล ๕ มาวัดก็รักษาศีล ได้บุญกันไป
ข้อที่ ๓ ภาวนามัย คือเรื่องการเจริญภาวนา วัดของเราไม่ว่าจะทำบุญอะไรก็ตามสิ่งที่เราทำสม่ำเสมอเป็นรากฐานที่สำคัญ คือการปฏิบัติธรรมเจริญสมาธิภาวนา กลั่นจิตกลั่นใจของเราให้ผ่องใสสะอาด บริสุทธิ์เสมอ
ข้อที่ ๔ อปจายนมัย คือบุญที่เกิดจากการอ่อนน้อมถ่อมตน เรามีโอกาสได้ฝึกฝนเรื่องนี้จากการกราบไหว้ พระพุทธรูป พระภิกษุสงฆ์ และไม่ว่าใครจะมีอายุมากกว่า หรือน้อยกว่าเรา เราก็ยกมือไหว้ผู้อื่นก่อนได้อย่างสนิทใจ เพราะเรามีคุณยายเป็นต้นแบบ
ข้อที่ ๕ เวยยาวัจจมัย คือบุญที่เกิดจากการขวนขวายทำกิจที่ชอบ ในสมัยสร้างวัดใหม่ๆ หรือสมัยที่พวกเราประกอบพิธีบุญที่สภาธรรมกาย (หลังคาจาก) ก็ดี ญาติโยมทุกคนที่มาวัดจะมีโอกาสรับบุญในการรักษาสมบัติพระศาสนา เราได้กวาดถูสภาหลังคาจาก เช็ดเสื่อ เก็บเสื่อให้เรียบร้อย จนกระทั่งมีโอกาสแบ่งบุญกันไปทำความสะอาดสุขพิมานรอบๆสภาธรรมกายสากล (หลังคาจาก) หรือแม้กระทั่งช่วยกันเก็บเพชรพลอย (ขยะ)สิ่งเหล่านี้ คือบุญที่เกิดจากการขวนขวายในกิจที่ชอบ
ข้อที่ ๖ ปัตติทานมัย คือบุญที่เกิดจากการเฉลี่ยส่วนแห่งความดีให้แก่ผู้อื่น ซึ่งพวกเราก็ได้ทำกันทุกวันอาทิตย์และยังได้มีโอกาสแผ่อุทิศส่วนกุศลไปยังบุคคลผู้ละโลกไปแล้วด้วย
ข้อที่ ๗ ปัตตานุโมทนามัย คือบุญที่เกิดจากการอนุโมทนาบุญสิ่งนี้พวกเราคงเห็นอยู่เป็นประจำ ตั้งแต่สมัยเข้าวัดใหม่ๆ จนกระทั่งปัจจุบันนี้ เมื่อเราได้ยินได้ฟังบุคคลอื่นสร้างความดี เราก็ชื่นชม ยินดีในความดีของผู้อื่น แล้วก็อนุโมทนาบุญ
ข้อที่ ๘ ธัมมัสสวนมัย คือบุญที่เกิดจากการฟังธรรมพวกเราได้มีโอกาสฟังธรรมกันทุกวันอาทิตย์ การฟังธรรมนั้นทำให้เราเข้าใจธรรมะลึกซึ้งมากขึ้น และนำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวัน
ข้อที่ ๙ ธัมมเทสนามัย คือการแสดงรรม เมื่อพวกเราได้ฟังธรรมแล้วเข้าใจในธรรมนั้น เมื่อมีโอกาสก็เป็นผู้ให้ธรรมทาน แนะนำสิ่งดีๆ แก่ผู้อื่น บุญก็เกิดกับเรา
ข้อที่ ๑๐ ทิฏฐุชุกัมม์ คือบุญที่เกิดจากการทำความเห็นของตนให้ถูกต้องทุกครั้งที่เราได้มีโอกาสมาวัด ได้ฟังธรรมเราจะเกิดกำลังใจในการสร้างความดี และรักการสร้างบารมียิ่งขึ้นไป นี่ก็เป็นบุญอีกประการหนึ่ง
ทั้งหมดนี้คือบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ที่คุณยายได้ปลูกฝังและหล่อหลอมให้พวกเรารักบุญ รักการสร้างความดี และรักการนั่งธรรมะ
ส่วนสุดท้ายที่สำคัญอย่างยิ่งก็คือ กุศโลบายที่คุณยายฝึกให้พวกเรามีความเสียสละเช่นเดียวกับท่าน ให้มีความเสียสละอันยิ่งใหญ่ที่จะสืบทอดมโนปณิธานของพระเดชพระคุณหลวงพ่อวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ในการเผยแผ่วิชชาธรรมกายออกไปให้ทั่วโลก แล้วนำพาสรรพสัตว์ทั้งหลายให้พ้นทุกข์เข้าไปสู่ฝังพระนิพพานให้หมด ซึ่งจะต้องอาศัยการสร้างบุญบารมีี่ยิ่งใหญ่ และต่อเนื่องยาวนาน
เหตุที่ต้องสร้างบุญใหญ่ และสร้างบุญให้ต่อเนื่องเพื่อจะได้เป็นเครื่องช่วยย่นระยะทางและเวลาอันมีคุณค่าของพวกเราให้ไปถึงจุดหมายปลายทางที่เราตั้งใจไว้