เขมาเขมสรณคมน์

วันที่ 19 กค. พ.ศ.2560

เขมาเขมสรณคมน์

 

พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) , พระผู้ปราบมาร , หลวงพ่อวัดปากน้ำ , วัดปากน้ำภาษีเจริญ , หลวงปู่สด , หลวงพ่อสด , ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย , วิชชาธรรมกาย , ธรรมกาย , ตามรอยพระมงคลเทพมุนี , วิสุทธิวาจา , ประวัติหลวงพ่อสด , ประวัติพระมงคลเทพมุนี , รวมพระธรรมเทศนา หลวงพ่อวัดปากน้ำ ,  สมาธิ , วิปัสสนา , สัมมาอะระหัง , เขมาเขมสรณคมน์

 

(ที่พึ่งอันเกษม)

๓ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๗ 

นโม.....
พหํ เว สรณํ ยนฺติ.....

 

                     "มนุษย์ทั้งหลาย" เป็นอันมาก อันภัยคุกคามเข้าแล้ว ย่อมถึงภูเขาทั้งหลายบ้าง ถึงป่าทั้งหลายบ้าง ถึงอารามและต้นไม้ และเจดีย์ทั้งหลายบ้าง ว่าเป็นที่พึ่ง นั่นหาใช่ที่พึ่งอันเกษมไม่

                     "มนุษย์ทั้งหลาย" ในที่นี้หมายรวมหมดทั้งสากลโลก ชมพูทวีป แสนโกฏิจักรวาล อนันตจักรวาล นิพพานถอดกาย รวมทั้งทิพย์ รูปพรหม อรูปพรหม เพราะเมื่อมาฟังธรรมก็จัดอยู่ในพวกมนุษย์ เช่นกัน

                    เมื่อมีภัยมา บางพวกกราบไหว้ภูเขาใหญ่ป่าใหญ่ อารามน้อยใหญ่หรือที่ศักดิ์สิทธิ์ แต่ที่ไหว้เพราะกลัวฤทธิ์เดชพญามารจะลงโทษ ยังหาใช่บูชาพระพุทธเจ้าโดยตรง พระพุทธเจ้าจึงทรงปฏิเสธว่าไม่ใช่ที่พึ่งอันเกษม

                   เนตํ โข สรณํ เขมํ ภูเขาก็ดีป่าก็ดี อารามก็ดี ต้นไม้ก็ดี นั่นไม่ใช่ที่พึ่งอันผ่องใสไม่ใช่ที่พึ่งอันเกษม

                   "ถ้าอาศัยอันนั้นเป็นที่พึ่งแล้ว ย่อมหาหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวงไปได้ไม่" เพราะต้องติดอยู่ใน ภพทั้ง ๓ จนไปนิพพานไม่ได้


วิธีเข้าถึงที่พึ่งอันเกษมให้ถูกทาง

                  เพื่อหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวง 

๑. ต้องเข้าถึงพระรัตนตรัย

                 ซึ่งอยู่ในกายเราเป็นชั้นๆ ไปทุกคน

                 กายธรรม เป็น "พุทฺโธ" (พุทธรัตนะ)

                 ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายธรรม เป็น "ธมฺโม" (ธรรมรัตนะ)

                 กายธรรมละเอียดอยู่ในดวงธรรมที่ทำให้เป็นธรรมกาย เรียก " สงฺโฆ" (สังฆรัตนะ)

                 พุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ นั่นแหละเป็นตัวจริงที่เราจะต้องถึง จะไปถึงสิ่งอื่นไม่ได้เมื่อถึงแล้วจึงเห็นอริยสัจ ๔ ตามปัญญาอันชอบที่ถูก


๒. เห็นอริยสัจ ๔ (สัจธรรมทั้ง ๔)

                  ทุกข์ คือ การเกิด

                 สมุทัย คือ เหตุให้เกิด

                 นิโรธ คือ ความดับเหตุให้เกิด

                 มรรค คือ ข้อปฏิบัติหนทางมีองค์ ๘  ไปจากข้าศึก ให้ถึงนิพพาน

                 เมื่อเห็นสัจธรรมทั้ง ๔ เป็นที่พึ่งดีเช่นนี้แล้ว พระองค์ทรงรับสั่งว่า 

                 เอตํ โข สรณํ เขมํ  นี้เป็นที่พึ่งอันเกษม อันผ่องใสนี้เป็นที่พึ่งอันอุดมสูงสุด มาอาศัยอันนี้เป็นที่พึ่งแล้ว ย่อมหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้

                ในกัณฑ์นี้ หลวงพ่อวัดปากน้ำ มุ่งเน้นอธิบายเรื่อง "อริยสัจ ๔"

                ในทางปริยัติอริยสัจ ๔ นั้น คือความจริงที่พระองค์ตรัสรู้ที่ใต้ต้นโพธิ์ เป็นธรรมที่ทำให้เป็น พระพุทธเจ้า พระอรหันต์

                ในทางปฏิบัติ การเห็นอริยสัจ ๔ นี้ ไม่อาจเห็นได้ด้วยตาของพระสิทธัตถะ หรือกายไหนๆ แต่ท่านเห็นด้วยตาธรรมกายโคตรภู รู้ด้วยญาณของกายธรรม เพราะกายมนุษย์ถึงกายอรูปพรหมละเอียด มีแต่ดวงวิญญาณ ดวงญาณไม่มี ยังติดภพอยู่ จึงไม่อาจเห็นอริยสัจได้

               ดวงวิญญาณในกลางกายมนุษย์ทิพย์ พรหม อรูปพรหม ไม่อาจเห็นอริยสัจได้ ต่อเมื่อถึง กายธรรม ดวงวิญญาณจะขยายส่วนออกไปเป็น "ดวงญาณ" หน้าตักธรรมกายโตเท่าไหน ดวงญาณ ก็กว้างแค่นั้น

               ดวงญาณนั้นแหละสำหรับรู้เห็นตามปัญญาอันชอบ เมื่อดวงญาณของธรรมกายขยายออกไปธรรมกายต้องเข้าสมาบัติ ใจหยุดนิ่งที่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นธรรมกาย ถูกส่วนเข้าที่ธรรมกายนั่นแหละเกิดเป็นดวงฌานขึ้น

               พอถึงปฐมฌาน ก็มีการไตร่ตรอง ปีติ มีความสุขเต็มส่วนนิ่งอยู่กลางฌานสุขในฌานสุขลืมสมบัติ รู้เห็นว่าต่างคนต่างมา ไม่มีสองเลย ต่างเกิดต่างตาย เห็นดิ่งลงไปว่ามีที่ละเอียดกว่านี้ ใจหยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นธรรมกาย ปฐมฌานจางไปทุติยฌาน มาแทนที่รองนั่ง ไปไหนคล่องแคล่วยิ่งขึ้น พอเห็นว่าฌานที่ ๒ ใกล้ฌานที่ ๑ เสื่อมง่าย ใจก็หยุดนิ่ง ถูกส่วนหนึ่งเข้าอีก ถึงตติยฌาน จตุตถฌาน อากาสานัญจายตนฌาน วิญญาณัญจายตนฌาน อากิญจัญญายตนฌาน เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน เรียกว่า "เข้าฌานโดยอนุโลม"

                เมื่อถอยจากฌานที่ ๘  มาฌานที่ ๑ เรียกว่า "ปฏิโลม" ถอยกลับ

               เมื่ออนุโลมปฏิโลมถูกส่วน ตาธรรมกายก็เห็นว่าสัตว์โลกนี้เป็นทุกข์ เห็นอายตนะที่ดึงดูดของสัตว์โลกให้มาเกิด เขาเรียกว่า โลกายตนะทำให้เราติดอยู่กับอายตนะนั้น

               อายตนะ แปลว่า บ่อเกิด

               บ่อเกิดอยู่ที่ไหน นั่นแหละเป็นตัวอายตนะของมนุษย์ทีเดียว


อายตนะ กำเนิดของสัตว์มี ๔ คือ

                ๑. อัณฑชะ  เกิดด้วยฟองไข่ ๒.สังเสทชะ  เกิดด้วยเหงื่อไคล

                ๓. ชลาพุชะ  เกิดด้วยน้ำ ๔. โอปปาติกะ  ลอยขึ้นบังเกิด

                เช่น อายตนะของทิพย์ ( สวรรค์ ๖ ชั้น) อายตนะที่ทรามลงไป ก็เป็นกำเนิดของสัตว์เดรัจฉานอสุรกาย เปรต นรก (อบายภูมิทั้ง ๔) ประกอบด้วยนรก   ขุมใหญ่ ขุมหนึ่งๆ มีอุสสทนรกเป็นบริวารล้อมรอบ ๔ ด้านๆ ละ ๔ ขุม เป็น ๑๖ ขุม และมียมโลกนรก ๔ทิศๆ ละ ๑๐ ขุมเป็น ๔๐ ขุมรวมนรก ๔๕๖ ขุม

                 ใครทำดีชั่วอย่างไร อายตนะดึงดูดไปเกิดมาเกิดในภพภูมินั้นๆ

                 ตาธรรมกายเห็นว่าสัตว์โลกติดอยู่ เพราะอายตนะเหล่านี้ เห็นทีเดียวว่าใครทำให้เกิด

                 "ตัณหานี่แหละเป็นแดนให้เกิดพร้อมทีเดียว"ทุกฺข สมุปฺาทํ ตณฺหา


ตัณหา คืออะไร

                  กามตัณหา อยากได้รูป เสียง กลิ่น รสสัมผัส อายตนะของกามตัณหานำไปสู่อบายภูมิทั้ง ๔ มนุษย์ สวรรค์ ๖ชั้น

                 ภวตัณหา ติดสุขในฌาน ๘  ดวง เป็นเหตุให้เกิดในรูปภพ ๑๖ชั้น

                วิภวตัณหา เมื่อไม่พบศาสนาของพระบรมศาสดา ก็เข้าใจเองว่า อรูปภพทั้ง ๔ เป็นนิพพาน จึงติดอยู่แค่นี้

                 ตาธรรมกายมองเห็นหมดทั้งฌานทั้งรูปพรรณสัญฐานของตัณหาว่า ถ้าละตัณหาไม่ได้ จะหลุดพ้นไม่ได้ เข้าสมาบัติตรวจทบทวนทุกประการว่า ต้องละตัณหานี้ให้ได้

                 เราจะละกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา อย่างไร


วิธีละตัณหา

                  ใจต้องหยุด หยุดที่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ ผ่านดวงต่างๆทั้ง ๖ ดวงสลับ กายต่างๆ จนถึงกายธรรมอรหัตละเอียด เข้าถึงแล้วหลุดหมดทั้ง ๓ ตัณหา ถึงพระนิพพานเป็นที่ดับแห่งทุกข์

                  แต่ละชั้นของธรรมกาย เดินสมาบัตินิ่งอยู่ในฌานทั้งหลายแบบเดียวกัน เห็นทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ครบ ๔ ก็ปล่อยเข้ากายต่อไปจนถึงกายอรหัตละเอียด หมดกิเลสเป็นสมุทเฉทปหาน เรียกว่า สำเร็จโสฬสกิจ คือ เสร็จกิจ ๑๖ ไม่ตกกันดารเรียกว่านิพพานก็ได้

                  เสร็จกิจ ๑๖ คือทุกขสัจ สมุทัยสัจ นิโรธสัจ มรรคสัจ ในกายมนุษย์ ๔ กายทิพย์ ๔ กายรูปพรหม ๔ กายอรูปพรหม ๔ รวมเป็น ๑๖ นี้เสร็จกิจทางพุทธศาสนาทางพระอรหัตแค่นี้ ปริยัติเป็น ตอนต้น เดินสมาบัตินั้นเป็นปฏิบัติแท้ๆ เมื่อเข้าถึงกายธรรมพระโสดาก็เริ่มเป็นปฏิเวท ไปเป็นลำดับศาสนาจึงมีทั้งปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวท ถ้าเข้าไม่ถูกก็เอาอะไรไม่ได้

                   "ถึงอายุจะแก่ปานใด จะโง่เขลาเบาปัญญาปานใด ถ้าเข้าถึงทุกขสัจ สมุทัยสัจ นิโรธสัจ มรรคสัจไม่ได้ ดังแสดงมาแล้วนี้ จะปฏิบัติศาสนาเอาเรื่องเอาราวไม่ ได้ ถ้าว่าคนละโมฆชินโณ แก่เปล่า เอาอะไรไม่ได้ เอาเรื่องไม่ได้ เหตุนี้แหละทาง พุทธศาสนาจึงนิยมนับถือนักในเรื่องสัจธรรมทั้ง ๔ นี้"

                   ธรรมกายเป็นผู้เห็น เป็นผู้รู้ทุกขสัจ สมุทัยสัจ นิโรธสัจ มรรคสัจ นี่แหละเป็นธรรมสำคัญในพุทธศาสนา มาอาศัยธรรมอันนี้เป็นที่พึ่งแล้ว ย่อมหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.014797349770864 Mins