พระธรรมคุณ

วันที่ 19 กค. พ.ศ.2560

พระธรรมคุณ

พุทธธรรมทีปนี 1 , Dhamma , Pre-Degree , วัดพระธรรมกาย , DOU , ธรรมกาย , ปริญญาตรี , พรีดีกรี , พระพุทธศาสนา , พุทธศาสตร์ , พระไตรปิฎก , พระสัมมาสัมพุทธเจ้า , พระธรรมคุณ

      ในบทสรรเสริญพระธรรมคุณ ที่พวกเราสวดอยู่บ่อย ๆ ว่า
      " สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม สนฺทิฏิโก อกาลิโก เอหิป สฺสิโก โอปนยิโก ปจฺจตฺต เวทิตพฺโพ วิญฺญหิ

     พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว อันบุคคลผู้ปฏิบัติสามารถเห็นเองได้ ให้ผลไม่จำกัดกาล เป็นสิ่งที่ควรเรียกให้มาดู เป็นสิ่งที่ควรน้อมเข้ามาไว้ในใจ อันวิญญูชนพึงรู้ได้เฉพาะตน"

      สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว คือ ธรรมะที่พระองค์ได้ตรัสรู้แล้วนำมาสั่งสอนสัตวโลก ผู้ใดประพฤติปฏิบัติตามก็จะได้เข้าถึงธรรมอันประเสริฐ และได้รับรสแห่งอมตธรรมซึ่งเป็นเลิศกว่ารสทั้งปวง คือ มีแต่ความร่มเย็นเป็นสุขไม่มีทุกข์ใด ๆ ทั้งสิ้น

  หนทางแห่งความสุขที่พระพุทธองค์ทรงสอนไว้ว่า ให้มีความเห็นชอบ ความดำริชอบ กล่าววาจาชอบ ประกอบการงานชอบ หาเลี้ยงชีพโดยชอบ ทำความเพียรชอบ ตั้งสติไว้ชอบ และทำสมาธิชอบ ถ้าเราพิจารณาดูให้ดีจะเห็นว่าธรรมะเหล่านี้ ผู้ใดประพฤติปฏิบัติได้ จะอำนวยผลดีทั้งทางโลกและทางธรรม ดังนั้นธรรมะที่พระองค์ตรัสสอน จึงได้ชื่อว่า สวากขาตธรรม คือ พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว ไพเราะทั้งในเบื้องต้น ท่ามกลาง และเบื้องปลาย

     สนฺทิฏิโก พระธรรมคำสอนของพระองค์นั้น บุคคลใดลงมือปฏิบัติสมควรแก่ธรรม ย่อมได้บรรลุ และเห็นได้ด้วยตนเอง ไม่ต้องขึ้นต่อผู้อื่น ไม่ต้องเชื่อถ้อยคำของใคร เพราะธรรมะภายในไม่เหมือนสิ่งของที่คนมองเห็นแล้วชี้ให้ดูได้ ต้องอาศัยการหยุดใจ เมื่อหยุดก็สว่าง เมื่อสว่างก็เห็น เป็นการเห็นด้วยใจ เห็นด้วยธรรมจักษุ เห็นได้ถูกต้องตรงไปตามความเป็นจริงของสิ่งที่มีอยู่จริง

    อกาลิโก รู้ได้โดยไม่จำกัดกาลเวลา ใจหยุดเมื่อไรก็เข้าถึงได้เมื่อนั้น ใจละเอียดถึงสภาวธรรมใด ย่อมเข้าใจ ภาวธรรมนั้น และได้รับผลเสมอโดยไม่จำกัดเวลา

    เอหิปสฺสิโก ควรเรียกให้มาดู เพราะธรรมะของพระองค์เป็นของมีจริง และดีจริง ของสิ่งใดก็ตามถ้าไม่มีอยู่ หรือมีอยู่แต่ไม่ดีจริง ก็ไม่ใช่สิ่งที่ควรเรียกผู้อื่นมาดู แต่เพราะพระธรรมนี้ทั้งมีจริง และดีจริง เมื่อผู้ใดปฏิบัติได้แล้ว ย่อมเป็นสิ่งที่น่าจะเชิญชวนคนอื่นให้มาพิสูจน์ด้วยตนเอง

     โอปนยิโก เมื่อปฏิบัติตามคำสอนของพระองค์ และได้พบของดี ของจริงแล้ว ก็ควรน้อมเข้ามาไว้ในใจ และถือปฏิบัติยิ่ง ๆ ขึ้นไป

    ปจฺจตฺต เวทิตพฺโพ วิญฺญูหิ ธรรมะของพระพุทธองค์นั้น บุคคลจะพึงรู้ได้เฉพาะตน ข้อนี้คล้ายกับสนฺทิฏิโก ที่กล่าวแล้ว แต่ต่างกันที่สนฺทิฏิโก กล่าวถึงอาการเห็นส่วน ปจฺจตฺต เวทิตพฺโพ วิญฺญูหิ กล่าวถึงอาการรู้ คือ ผู้ปฏิบัติธรรม จะรู้ว่าธรรมะดีจริงอย่างไร เมื่อปฏิบัติแล้วจะได้ผลเป็นอย่างไร ย่อมเกิดจากการปฏิบัติอย่างถูกต้องด้วยตนเองเท่านั้น ผู้อื่นจะพลอยรู้ด้วยไม่ได้ เพราะเป็นรสทางใจ

    หากใจของผู้ปฏิบัติเยือกเย็นเป็นสุขเพียงใด แม้จะนำไปเล่าให้ผู้อื่นฟัง ใจของผู้ฟังก็ไม่เย็นเป็นสุขตามที่เขาบอกเล่าได้ อุปมาเหมือนคนได้กินแกงชนิดหนึ่ง และมาเล่าให้เราฟังว่า อร่อยอย่างนั้นอย่างนี้ เราก็นึกไม่ออกว่า แกงที่เขาว่านั้นรสชาติเป็นอย่างไร จนกว่าจะได้ชิมด้วยตนเองพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์นั้น นำประโยชน์สุขอันแท้จริงมาสู่ผู้ที่เลื่อมใสศรัทธา และปฏิบัติตามได้เสมอ ดังเรื่อง พระปิณฑปาติกเถระ

     เมื่อครั้งพุทธกาล พระภิกษุจำนวน 30 รูป เข้าจำพรรษาอยู่บนเนินแห่งหนึ่งชื่อว่าควรวาฬะ และทุก ๆ ครึ่งเดือนที่เป็นวันอุโบสถ ท่านจะมาประชุมรวมกัน เพื่อฟังธรรม และสนทนาธรรมเรื่องมหาอริยวงศ์ ที่ รรเสริญการอยู่อย่างสันโดษด้วยปัจจัย 4 และการยินดีในการทำภาวนา

     วันหนึ่ง ขณะมีการแสดงธรรม พระปิณฑปาติกเถระเข้ามาฟังทีหลัง ท่านก็นั่งฟังอยู่ในที่กำบัง โดยไม่รู้ว่ามีงูพิษนอนขดอยู่ งูพิษได้ฉกกัดพระเถระที่ลำแข้งจนเนื้อหลุด ทำให้ท่านได้รับทุกขเวทนาแสนสาหั แต่ท่านคิดว่า หากเราบอกเรื่องนี้แก่ภิกษุทั้งหลาย การฟังธรรมและการแสดงธรรมก็จะยุติลง เราเองและภิกษุทั้งหลายก็จะไม่ได้ฟังธรรม จึงไม่ได้บอกใคร เพียงแต่จับงูใส่ย่าม ผูกปากย่ามวางไว้ และนั่งฟังธรรมต่อด้วยความเคารพเลื่อมใสไม่ได้สนใจต่อความเจ็บปวดของร่างกาย และไม่ได้กลัวว่าพิษงูจะทำอันตรายถึงแก่ชีวิต

    ท่านนั่งฟังธรรมด้วยใจสงบนิ่งเยือกเย็น ดำรงสติตั้งมั่นอยู่ในกลางกาย มีปีติสุข ดื่มด่ำรสแห่งพระธรรมเทศนาอยู่ภายใน ถึงแม้ร่างกายภายนอกจะประสบกับทุกขเวทนา แต่จิตใจก็ไม่หวั่นไหว ได้หลบอยู่ในหลุมหลบภัยที่ดีที่สุด คือศูนย์กลางกายฐานที่ 7 มีธรรมปีติตลอดเวลาด้วยความเลื่อมใสในพระธรรม จวบจนรุ่งเช้าเมื่อพระเถระแสดงธรรมจบลง พิษงูในร่างกายของพระปิณฑปาติกเถระก็พลันสงบลง และไหลออกจากบาดแผลลงสู่พื้นดิน เพราะจิตที่เลื่อมใสในพระธรรมคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านจึงได้บอกเรื่องนี้แก่เพื่อนภิกษุแล้วปล่อยงูไป

     จะเห็นได้ว่า บัณฑิตในกาลก่อน ท่านตระหนักและซาบซึ้งในพระธรรมคุณ มีจิตใจฝักใฝ่ในการฟังธรรม และปฏิบัติธรรม รักธรรมะยิ่งกว่าชีวิต และในที่สุดชีวิตก็ได้รับความปลอดภัยพ้นจากอันตราย ดังพระพุทธพจน์ที่ว่า

"เย จ โข สมฺมทกฺขาเต    ธมฺเม ธมฺมานุวตฺติโน
 เต ชนา ปารเมสฺสนฺติ      มจฺจุเธยฺยํ สุทุตฺตรํ

     ชนเหล่าใดประพฤติธรรม ในธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสดีแล้วชนเหล่านั้น จักข้ามแดนมฤตยู ที่ข้ามได้แสนยาก"

    การแสดงความเคารพในพระธรรม ซึ่งเป็นคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นทางมาแห่งดวงปัญญาอันบริสุทธิ์ เมื่อมีการแสดงธรรม ณ ที่ใด ให้มีความกระตือรือร้นอยากจะไปฟัง ฟังธรรมด้วยความสงบสำรวม และตั้งใจ ไม่นั่งหลับ ไม่คุย และไม่คิดฟุ้งซ่านขณะฟังธรรม จะวางหนังสือธรรมะก็วางไว้ในที่สูง ที่เหมาะสม ปฏิบัติธรรมก็ปฏิบัติให้ สม่ำเสมอมีความเคารพในพระธรรม และเมื่อรู้ธรรมะแล้ว ก็ควรบอกกล่าวหรือสอนธรรมะนั้นด้วยความระมัดระวังไม่ให้ผิดพลาด จะได้นำแสงประทีปแห่งธรรมไปจุดให้สว่างไสวในกลางใจของบุคคลรอบข้างต่อไป

 

 

*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือ PD 007 พุทธธรรมทีปนี 1
หนังสือเรียน DOU หลักสูตร Pre-Degree

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0248215675354 Mins