กาลัญญุตา (ความเป็นผู้รู้จักกาล)

วันที่ 29 กค. พ.ศ.2560

กาลัญญุตา
(ความเป็นผู้รู้จักกาล)

พุทธธรรม 2 , Dhamma , Pre-Degree , วัดพระธรรมกาย , DOU , ธรรมกาย , ปริญญาตรี , พรีดีกรี , พระพุทธศาสนา , พุทธศาสตร์ , พระไตรปิฎก , พระสัมมาสัมพุทธเจ้า , กาลัญญุตา (ความเป็นผู้รู้จักกาล) , มัตตัญญุตา  , กาลัญญุตา

    พระภิกษุต้องมีความรู้และความเข้าใจในสิ่งที่พระองค์ทรงสอนไว้เป็นอย่างดีจนกระทั่งสามารถนำไปฝึกฝนตนเองให้มีคุณธรรมก้าวหน้าขึ้นมา หลังจากนั้นก็ต้องประเมินคุณธรรมความก้าวหน้าของตนเองให้ได้อีก อีกทั้งพัฒนาปรับปรุงวิธีการฝึกของตนเองเรื่อยไปโดยผ่านทางกิจวัตรกิจกรรมประจำวัน และอาศัยปัจจัย 4 ที่พระภิกษุต้องเกี่ยวข้องทุกวันมาเป็นอุปกรณ์ในการฝึก เมื่อฝึกได้แล้ว จึงฝึกในขั้นตอนที่ 5 คือ กาลัญญู ต่อไป

      พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสถึงวิธีการฝึกตนเองให้เป็นกาลัญญูบุคคล ไว้ดังนี้

     "ก็ภิกษุเป็นกาลัญญูอย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมรู้จักกาลว่า นี้เป็นกาลเรียน นี้เป็นกาลสอบถาม นี้เป็นกาลประกอบความเพียร นี้เป็นกาลหลีกออกเร้น หากภิกษุไม่พึงรู้จักกาลว่า นี้เป็นกาลเรียน นี้เป็นกาลสอบถาม นี้เป็นการประกอบความเพียร นี้เป็นการหลีกออกเร้น เราไม่พึงเรียกว่าเป็นกาลัญญู แต่เพราะภิกษุรู้จักกาลว่า นี้เป็นกาลเรียน นี้เป็นกาลสอบถามนี้เป็นกาลประกอบความเพียร นี้เป็นกาลหลีกออกเร้น ฉะนั้น เราจึงเรียกว่าเป็นกาลัญญู ภิกษุเป็นธัมมัญญู อัตถัญญู อัตตัญญู มัตตัญญู กาลัญญู ด้วยประการฉะนี้."


คำแปลและความหมาย
     คำว่า "กาล" แปลได้หลายนัย คือ เวลา ยุคสมัย ครั้ง ภาพผู้บั่นทอน คือยังชีวิตสัตว์ให้สิ้นไป หรือ ภาพผู้ทำชีวิตของสัตว์ให้น้อยลงทุกวัน

    สำหรับคำว่า "กาลัญญู" ในที่นี้ หมายถึง การเป็นผู้รู้จักกาลเวลาอันสมควรในการทำกิจ 4 ประการ คือ การเรียน การสอบถาม การประกอบความเพียร และการหลีกออกเร้น


การบริหารเวลาให้เป็นกาลัญูบุคคล
1. หลักการบริหารเวลา

      ในการบริหารเวลา พระภิกษุควรมีความเข้าใจอย่างน้อยที่สุดใน 3 ประเด็นต่อไปนี้

     1) การมีทัศนคติในเรื่องเวลาอย่างถูกต้อง คือการเห็นว่าเวลาในชีวิตมีอยู่น้อย ชีวิตมีความไม่แน่นอน และจะต้องรีบใช้เวลาเพื่อการทำความดี ทัศนคติเหล่านี้ล้วนมีความสำคัญ เพราะจะทำให้พระภิกษุไม่ประมาทในเวลา ใจก็จะจดจ่ออยู่กับการบรรลุเป้าหมายของการบวชรวมกับการมีวินัยคือหมั่นฝึกฝนอบรมขัดเกลาตนเองอย่างต่อเนื่องเรื่อยไปสักวันหนึ่งย่อมจะได้บรรลุเป้าหมายคือบรรลุมรรคผลนิพพานแน่นอน

     2) รู้จักลำดับงานสำคัญสูงสุดก่อนหลัง คือการให้ความสำคัญกับทั้ง 4 กาล ได้แก่ การเรียน การสอบถาม การประกอบความเพียร และการหลีกออกเร้น

      3) เลือกทำงานสำคัญในชีวิตก่อน เมื่อไม่ประมาทในเวลา ก็จะเร่งขวนขวายกระทำในกิจที่ควรทำ


2. แนวทางปฏิบัติตามกาลทั้ง 4
    1) การเรียน แม้การเรียนรู้ธรรมะจะสามารถทำได้หลายวิธีการ เช่น อ่านจากตำรับตำรา หรือค้นคว้าด้วยตนเอง แต่หากต้องการความเข้าใจที่ลึกซึ้ง คงหนีไม่พ้นต้องอาศัยการฟังจากครูบาอาจารย์ โดยมีหลักการที่พระภิกษุสามารถนำมาเป็นแนวทางในการเรียนให้ได้ผลดี คือ

              1.1) อาศัยคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ตรัสแก่พระปุณณิยะ ถึงวิธีการเรียนธรรมะให้แจ่มแจ้ง ซึ่งมีลำดับขั้นตอนต่อเนื่องดังนี้

1. ภิกษุต้องเป็นผู้มีศรัทธา
2. ต้องเข้าไปหา
3. ต้องเข้าไปนั่งใกล้
4. ต้องสอบถาม
5. ต้องเงี่ยโสตลงสดับธรรม
6. ต้องฟังแล้วทรงจำไว้
7. ต้องพิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้
8. ต้องรู้อรรถรู้ธรรมแล้วปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม เมื่อนั้นธรรมเทศนาของตถาคตย่อมแจ่มแจ้ง

          1.2) อาศัยคำแนะนำของพระอานนท์ ผู้เป็นเลิศกว่าภิกษุสาวกทั้งหลายในทางพหูสูตที่กล่าวถึง วิธีเรียนให้ได้ผลดีกับพระสารีบุตร ดังนี้

      "ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเป็นผู้ฉลาดในอรรถ ฉลาดในธรรม ฉลาดในพยัญชนะ ฉลาดในนิรุตติ และฉลาดในเบื้องต้นและเบื้องปลาย ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล ภิกษุจึงจะเป็นผู้ใคร่ครวญได้เร็วในกุศลธรรมทั้งหลาย เรียนได้ดี เรียนได้มาก และสิ่งที่เธอเรียนแล้วย่อมไม่เลือนไป"

      ทั้งสองแนวทางที่กล่าวมานั้น ต้องอาศัยทั้ง
     (1) ตัวพระภิกษุเอง ที่ต้องมีความอุตสาหะในการเข้าไปฟังธรรม และพิจารณาทำความเข้าใจให้ลึกซึ้ง ก่อนที่จะได้นำไปฝึกหัดปฏิบัติจนกว่าจะเกิดผล และ

      (2) พระภิกษุนั้นต้องได้ครูบาอาจารย์ที่ดี มบูรณ์ทั้งภูมิรู้ ภูมิธรรมสามารถอธิบายขยายความธรรมะให้เข้าใจได้โดยง่าย ทั้งยังเป็นต้นแบบในการปฏิบัติได้เป็นอย่างดี

      2) การสอบถาม เป็นวิธีที่จะทำให้เข้าใจธรรมะได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น และช่วยขจัดความสงสัยให้หมดสิ้นไป เมื่อไม่สงสัย ก็ย่อมสามารถที่จะปฏิบัติได้ถูกต้อง แต่การถามเพื่อให้ได้รับคำตอบที่เป็นประโยชน์ พระภิกษุจะต้องฉลาดในการตั้งคำถามให้ดี ซึ่งคำถามที่ถามนี้ อย่างน้อยน่าจะมีอยู่ 3 ประเภท คือ

1. คำถามว่า "อะไร" เพื่อให้ได้คำตอบที่อธิบาย หรือสามารถให้คำจำกัดความของธรรมะที่ถามนั้นได้ชัดเจน
2. คำถามว่า "ทำไม" เพื่อให้ได้คำตอบที่อธิบายถึงเหตุและผล รวมทั้งนัยของธรรมะนั้น
3. คำถามว่า "อย่างไร" เพื่อให้ได้คำตอบที่อธิบายถึงวิธีการปฏิบัติให้เกิดผล

    การฉลาดถาม นอกจากจะทำให้พระภิกษุได้รับคำตอบที่เป็นประโยชน์อย่างมหาศาลต่อการฝึกฝนอบรมตนเองแล้ว ยังทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่สามารถนำไปถ่ายทอดเพื่อเป็นประโยชน์กับผู้อื่นได้อีกทางหนึ่ง ดังตัวอย่างของพระอานนท์ ด้วยความที่ท่านเป็นผู้ได้รับพรสำคัญจากพระบรมศาสดาสามารถเข้าเฝ้าเพื่อถามปัญหาที่สงสัยได้ เพราะพรข้อนี้ จึงทำให้ท่านเป็นผู้ที่มีความรู้แตกฉาน และมีคุณูปการกับพระพุทธศาสนานานัปการ นอกจากนั้นท่านยังเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุใดในทางพหูสูตด้วย ดังนั้นการสอบถามจากครูบาอาจารย์หรือท่านผู้รู้ทั้งหลาย จึงมีความสำคัญต่อความก้าวหน้าในการพัฒนาคุณธรรมของพระภิกษุโดยตรง

       3) การประกอบความเพียร หรือหมายถึงการเจริญสมาธิภาวนา แนวทางในการปฏิบัติโดยทั่วไป คือ

      3.1) พระภิกษุต้องไม่เป็นผู้เกียจคร้าน

      3.2) พระภิกษุต้องมีความคิดน้อมไปทางที่จะได้ปรารภความเพียร เช่น ไม่ว่าจะทำการงานจนเหน็ดเหนื่อย เดินทางไกลจนเมื่อยล้า หรือว่าจะหิวกระหายเพียงไหน จะทุกข์ทรมานจากความเจ็บไข้ได้ป่วยเพียงไร พระภิกษุต้องคิด อนตนเองให้ได้ ว่าถึงอย่างไรเราก็จะต้องทำความเพียร

    3.3) พระภิกษุต้องอยู่ใน ถานภาพและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม อย่างน้อยก็ไม่ได้อยู่ในยามที่พระพุทธองค์ตรัสเอาไว้ว่าไม่เหมาะสมแก่การทำความเพียร คือ

1. สมัยที่พระภิกษุมีอายุมาก เป็นคนแก่ ถูกความชราครอบงำ
2. สมัยที่เจ็บไข้ได้ป่วย มีโรคมาก
3. สมัยที่เศรษฐกิจไม่ดี อาหารบิณฑบาตหาได้ยาก
4. สมัยที่ผู้คนขาดความสามัคคี ทะเลาะเบาะแว้งกัน
5. สมัยที่ภิกษุสงฆ์แตกกัน ทะเลาะกัน ทำให้ผู้คนไม่เลื่อมใส

     3.4) พระภิกษุต้องประกอบด้วยคุณสมบัติของผู้มีความเพียร 5 ประการ คือ

1. มีความศรัทธาเชื่อในปัญญาตรัสรู้ธรรมของพระตถาคต
2. มีสุขภาพแข็งแรง ไฟธาตุสำหรับย่อยอาหารสม่ำเสมอ พอเหมาะแก่การทำความเพียร
3. ไม่โอ้อวด ไม่มีมารยา เป็นคนเปิดเผยตนเองตามความจริง
4. ปรารภความเพียรเพื่อละอกุศลธรรมอย่างจริงจัง ไม่ทอดธุระ
5. มีปัญญาของพระอริยเจ้า เห็นความเกิดและดับที่จะกำจัดกิเลสให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ

     3.5) พระภิกษุปรารภความเพียรอย่างจริงจัง ซึ่งที่สุดของการทำความเพียร คือการเอาชีวิตเป็นเดิมพัน

     4) การหลีกออกเร้น คือการหลีกออกจากหมู่คณะ เพื่อการเจริญสมาธิภาวนาอย่างต่อเนื่อง แนวทางในการหลีกออกเร้น พระภิกษุควรจะพิจารณา ว่าสถานที่นั้น ๆ เหมาะสมมากน้อยเพียงไร เป็น ถานที่ที่มีความสงบสงัด พอจะทำให้เกิดกายวิเวก และจิตใจไม่วอกแวกไม่กระสับกระส่าย ใจรวมเป็นสมาธิได้ง่ายหรือไม่ เป็นต้น


3. เหตุที่ทำให้บริหารเวลาไม่ได้
     เหตุที่ทำให้พระภิกษุไม่สามารถบริหารเวลาเพื่อกาลทั้ง 4 ได้ อาจมาจากหลายสาเหตุได้แก่

    1) การไม่สันโดษในปัจจัย 4 ซึ่งทำให้พระภิกษุไม่รู้จักความพอดี และไม่รู้จักประมาณในการรับปัจจัย 4 ไปด้วย ปัจจัย 4 ที่ได้มานั้นแทนที่จะเป็นผลดี ก็กลายมาเป็นภาระให้กับพระภิกษุ ต้องเสียเวลาดูแลรักษา และถ้าไม่ระมัดระวังก็จะเป็นเหตุให้ตัณหาเจริญ เวลาที่ควรจะนำไปใช้เพื่อกาลทั้ง 4 ก็ลดน้อยลงไป เพราะความไม่สันโดษ

    2) การอยู่ประจำที่ใดที่หนึ่งนานเกินสมควร ก็เป็นเหตุให้พระภิกษุบริหารเวลาได้ยากขึ้น เพราะเป็นเหตุให้เกิดการสะสม เกิดความคลุกคลี และมีความห่วงใยในสถานที่ที่อยู่นั้น ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ใน อภินิวาสูตร ว่า

1. ภิกษุอยู่ประจำที่ย่อมมีสิ่งของมาก มีการสะสมสิ่งของมาก
2. มีเภสัชมาก มีการสะสมเภสัชมาก
3. มีกิจมาก มีกรณียะมาก ไม่ฉลาดในกิจที่จะต้องทำ
4. ย่อมอยู่คลุกคลีด้วยคฤหัสถ์และบรรพชิต ด้วยการคลุกคลีกับคฤหั ถ์อันไม่สมควร
5. เมื่อจะหลีกไปจากอาวาสนั้น ย่อมมีความห่วงใย

    3) เป็นผู้ที่ประกอบด้วยธรรม 6 ประการ ที่ทำให้เสื่อมจากกุศลธรรม ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายืนยันไว้ใน "สามกสูตร" ว่า

1. ความเป็นผู้ชอบการงาน
2. ความเป็นผู้ชอบคุย
3. ความเป็นผู้หลับ
4. ความเป็นผู้ชอบคลุกคลีด้วยหมู่คณะ
5. ความเป็นผู้มีมิตรชั่ว

     ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่งในอดีตกาล...ในอนาคตกาล...ในปัจจุบันกาล เสื่อมจากกุศลธรรมชนเหล่านั้น ทั้งปวง ก็เสื่อมแล้วจากกุศลธรรม เพราะธรรม 6 ประการนี้แล

    เพราะประกอบด้วยธรรมเหล่านี้ จึงเป็นเหตุให้พระภิกษุไม่รู้จักกิจที่ควรทำ เสียเวลาไปกับการทำกิจอันไม่เป็นสาระแก่นสาร คุณธรรมความดีงามที่ควรเจริญก้าวหน้า ก็เสื่อมถอยลงมาอย่างน่าเสียดาย


ประโยชน์ที่ได้จากการฝึกตามธัมมัญญูจนถึงกาลัญญู
    เมื่อพระภิกษุฝึกฝนอบรมตนเองจนเป็นธัมมัญญู เป็นอัตถัญู เป็นอัตตัญญู เป็นมัตตัญญู และเป็นกาลัญูได้แล้ว เท่ากับว่าท่านสามารถเป็นกัลยาณมิตรให้กับตนเองได้ เพราะความที่ท่านรู้คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นอย่างดี (ธัมมัญญู) มีความเข้าใจในนัยที่พระพุทธองค์หมายถึง และน้อมนำมาประพฤติปฏิบัติอย่างจริงจัง (อัตถัญญู) ทั้งยังสามารถประเมินคุณธรรมที่เกิดจากการฝึกนั้นได้ (อัตตัญญู) และเข้มงวดกวดขันในการรับปัจจัย 4 ซึ่งทำให้นิสัยดี ๆ เกิดขึ้นมา ความเจริญก้าวหน้าก็ยิ่งมีมากขึ้น (มัตตัญู) และตอกย้ำด้วยการบริหารเวลา คือการนำเวลาไปใช้ศึกษาทั้งปริยัติและปฏิบัติให้เข้มข้นขึ้น (กาลัญู) เมื่อทำได้อย่างนี้ กาย
วาจา ใจ ของท่านก็ยิ่งมีความบริสุทธิ์บริบูรณ์ คุณธรรมความดีงามมีแต่จะก้าวหน้า คุณวิเศษและความหลุดพ้นจากอา วกิเลสย่อมเกิดขึ้นแก่พระภิกษุนั้นสักวันหนึ่งอย่างแน่นอน เพราะเหตุนั้นพระภิกษุจึงได้ชื่อว่า ทำตัวของท่านให้เป็นที่พึ่งให้กับตนเองได้อย่างสมบูรณ์

สรุปว่า การจะเป็นกาลัญญูบุคคล (ความเป็นผู้รู้จักกาล) ได้นั้น ต้องประกอบด้วย

     1. เห็นคุณค่าของเวลาสามารถบริหารเวลาที่มี ให้เกิดประโยชน์กับตนเองได้สูงสุด

   2.สามารถจัดสรรเวลาตามลำดับความสำคัญ โดยต้องแบ่งเพื่อทำงานสำคัญที่สุดของชีวิตก่อน 4 ประการ คือ การเรียน การ อบถาม การนั่งสมาธิทำความเพียร และการหลีกออกเร้น เพื่อปฏิบัติธรรมให้ต่อเนื่อง

เมื่อพระภิกษุฝึกได้อย่างนี้แล้ว พระพุทธองค์จึงจะทรงรับรองว่า

"ภิกษุเป็นธัมมัญญู อัตถัญญู อัตตัญญู มัตตัญญู กาลัญญู ด้วยประการฉะนี้"


การฝึกให้เป็นกาลัญญูสำหรับฆราวาส
    สำหรับฆราวาสผู้ครองเรือน ก็ควรนำหลักการจากกาลัญญูมาใช้ในชีวิตประจำวัน โดยหลักการบริหารเวลาในเบื้องต้นก็คงคล้าย ๆ กับของพระภิกษุเช่นกัน คือเริ่มจากการมองเห็นคุณค่าของเวลาที่มีว่าสำคัญ และต้องใช้ให้เกิดประโยชน์กับตนเองให้ได้มากที่สุด

   เมื่อมีแนวคิดอย่างนี้ จะทำให้เวลาที่มีอยู่ถูกใช้ไปกับเรื่องที่สำคัญที่สุดก่อนเสมอ เช่น เดียวกับหลักการบริหารเวลาในทางโลก ที่มักจะใช้วิธีแบ่งภารกิจการงานที่ต้องทำออกเป็น 4 รูปแบบ คือ

     1. ภารกิจที่สำคัญ และต้องทำเร่งด่วน เช่น ภารกิจฉุกเฉินทั้งหลาย หรืองานเฉพาะหน้าสำคัญที่จำเป็นต้องรีบทำอย่างเร่งด่วน เป็นต้น

    2. ภารกิจที่สำคัญ แต่ไม่เร่งด่วน เช่น งานในด้านการวางแผน หรือกำหนดนโยบายที่จะส่งผลกระทบต่อชีวิต หน่วยงาน หรือองค์กรในระยะยาว เป็นต้น

      3. ภารกิจไม่สำคัญ แต่เร่งด่วน ได้แก่เรื่องเล็กน้อยทั่ว ๆ ไป เช่นการรับโทรศัพท์ที่กำลังดัง เป็นต้น

    4. ภารกิจไม่สำคัญ และไม่เร่งด่วน เช่น การไปเที่ยวเา หรือการไปชมภาพยนตร์ ที่ไม่ได้มีผลดีต่อตนเอง เป็นต้น

    ในภารกิจเหล่านั้น หากจัดตามลำดับความสำคัญ คนในทางโลกคงให้ความสำคัญกับภารกิจที่ 2 คือ "สำคัญ แต่ไม่เร่งด่วน" เป็นอันดับแรกส่วนภารกิจสำคัญและเร่งด่วนก็อยู่ในลำดับรองลงมา ทั้งนี้เนื่องจากว่า ภารกิจสำคัญที่ไม่เร่งด่วนนั้น แม้จะยังไม่ส่งผลกระทบในระยะสั้นแต่อย่างใด แต่ถ้าหากนิ่งนอนใจไม่รีบทำไว้ โดยเฉพาะเรื่องการวางแผนและนโยบายก็จะส่งผลกระทบอย่างมากมายต่อความก้าวหน้าของงาน หรือต่อองค์กรนั้น ๆ ในอนาคตสำหรับภารกิจสำคัญและเร่งด่วนนั้น แม้จะมีความสำคัญต้องรีบทำก็จริง แต่ก็มักส่งผลในระยะสั้น และนาน ๆ จึงจะมีให้ทำสักครั้งหนึ่ง

     จากเหตุปัจจัยดังกล่าว แม้หลักการบริหารเวลาในทางโลก ก็ยังให้ทุ่มเวลาไปกับภารกิจสำคัญก่อนเช่นกัน ดังนั้นหากจะนำกาลัญูมาปรับใช้ให้เหมาะกับวิถีชีวิตของฆราวาสก็สามารถทำได้ไม่ยาก โดยเริ่มต้นจากการแบ่งกาลทั้ง 4 ออกเป็น 2 ภารกิจ ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น คือ

      1. การเรียนและการสอบถาม ก็คือ การศึกษาในด้านปริยัติ

      2. การประกอบความเพียรและการหลีกออกเร้น ก็คือ การศึกษาในด้านปฏิบัติ

    ในเมื่อฆราวาสก็ต้องบริหารเวลาเพื่อการสร้างบารมี เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของชีวิตเช่นกัน แต่การจะบรรลุเป้าหมายได้นั้น คงต้องฝึกปฏิบัติด้วยวิธีที่เหมาะกับเพศภาวะของตนเองซึ่งในที่นี้ก็คือ การฝึกฝนตนเองผ่านการทำทาน รักษาศีล และเจริญสมาธิภาวนา ดังนั้นจึงต้องฝึกบริหารเวลาไปเพื่อใช้ในการ

      1. ศึกษาให้มีความรู้ความเข้าใจในเรื่อง ทาน ศีล และภาวนา อย่างจริงจัง

      2. นำมาฝึกปฏิบัติตามที่ได้ศึกษามานั้น และหมั่นตอกย้ำซ้ำเดิมเรื่อยไป

   ด้วยวิธีนี้ ผู้เป็นฆราวาสก็ย่อมจะได้รับประโยชน์อันยิ่งใหญ่ คือการได้นำชีวิตของตนเองให้เข้าใกล้กับเป้าหมายชีวิตอย่างแท้จริง


ตัวอย่างการนำความรู้เรื่องกาลัญญูไปใช้ปฏิบัติในชีวิตประจำวันสำหรับบุคคลทั่วไป
     ฝึกแบ่งเวลาให้เป็น (เป็นหลัก) ซึ่งเป็นพื้นฐานที่สำคัญสุดในการบริหารเวลา ให้จัดกิจกรรมกิจวัตรประจำวันให้ลงตัว ไล่ไปจนถึงประจำอาทิตย์ เดือน ปีสำหรับในช่วงที่มีเรื่องพิเศษ ๆ เข้ามาอาจปรับให้สมดุลได้ แต่สุดท้ายชีวิตก็กลับมามีระเบียบเหมือนเดิม ชีวิตไม่สับสนอาจมีบ้างที่บางครั้งทำได้เพียง 2-3 วัน ก็มีเหตุมาทำให้ชีวิตแต่ละวันเปลี่ยนแปลงไปเราก็ต้องไม่ปล่อยให้เลยตามเลย ต้องมีกำลังใจที่เข้มแข็ง แม้มีเหตุให้เปลี่ยนแต่เราก็ต้องทำให้ชีวิตของเรากลับมามีระเบียบเหมือนเดิมได้ เป็นต้นว่า ตนมีหน้าที่การงานจะพึงทำหลายอย่างด้วยกันจะเป็นกิจการทางโลกหรือทางธรรมก็ตาม จะต้องแบ่งเวลาให้เหมาะแก่กิจที่จะต้องทำนั้น ๆ การงานจึงจะดำเนินไปโดยเป็นระเบียบเรียบร้อยดี ไม่ยุ่งเหยิง ไม่คั่งค้าง

     ฝึกให้รู้กาล คือ รู้จักเวลา เช่น รู้ลำดับ ระยะ จังหวะ ปริมาณ ความเหมาะของเวลาว่าเรื่องนี้จะลงมือตอนไหน เวลาไหน จะทำอะไรอย่างไร จึงจะเหมาะ ดังจะเห็นว่าแม้แต่การพูดจาก็ต้องรู้จักกาลเวลา ตลอดจนรู้จักวางแผนงานในการใช้เวลา ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ เช่น วางแผนว่าสังคมมีแนวโน้มจะเป็นอย่างนี้ในเวลาข้างหน้าเท่านั้น และเหตุการณ์ทำนองนี้จะเกิดขึ้น เราจะวางแผนรับมือกับสถานการณ์นั้นอย่างไร

     ฝึกความเป็นผู้รู้จักกาลเวลา หมายความว่า ความรู้จักกำหนดจดจำว่า กาลเวลาไหนควรปฏิบัติกรณียะอันใด แล้วปฏิบัติให้ตรงต่อเวลานั้น ไม่ช้าเกินควร ไม่ด่วนเกินกาล และรู้จักกรณียะบางอย่างบางคราว บางแห่ง ต้องทำให้เสร็จต่อเวลาก็ต้องรีบ จะชักช้าอยู่ไม่ได้ ถ้าช้าอยู่ก็จัดว่าไม่รู้จักกาลเวลา และอาจเสียประโยชน์ได้ หรือบางอย่างต้องทำหลังเวลาจึงจะดี ถ้ารีบทำเสียก่อนเวลาก็ไม่ดี จัดว่าไม่รู้จักกาลเหมือนกัน อนึ่ง กาลเวลาที่ควรทำกิจนี้ แต่เอากิจอื่นมาทำหรือเวลาที่ควรทำกิจอื่น แต่เอากิจนี้มาทำ อย่างนี้ก็ชื่อว่า ไม่รู้จักกาล เหมือนไก่บางตัวที่ขันไม่รู้จักเวลา ย่อมเสียหายและน่าติเตียนมาก คนดีย่อมไม่ทำอย่างนี้ เขารู้กาล มัย ทำราชการได้ดี มีพระพุทธสุภาษิตสอนว่า กาลญฺญู สมยญฺญู จ ส ราชวสติงฺ วเส ผู้รู้กาลสมัย พึงอยู่ในวงราชการได้ เพราะทางราชการถือเวลาเป็นกวดขัน ผิดเวลาไม่ได้

     ฝึกการรู้จักบริหารเวลาในการทำกิจกรรมต่าง ๆ และรู้จักปฏิบัติตนให้ถูกกับกาลเทศะกล่าวคือ เป็นผู้รู้จักจัดเวลาทำงาน วางแผนงานเหมาะสม ระยะใดควรทำงานใด ระยะใดควรพักผ่อน ระยะใดควรเร่ง ระยะใดควรรอ การรู้จักกาลเวลาจะทำให้ไม่ดำรงตนอยู่ในความประมาทไม่ทำให้เสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์ ทำให้ได้ผลงานตามวัตถุประสงค์ของงานในแต่ละวัน

 

 

*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือ PD 008 พุทธธรรม 2
หนังสือเรียน DOU หลักสูตร Pre-Degree

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.070446352163951 Mins