เทคนิคการอ่านภาษาบาลี
ภาษาบาลี หรือ ภาษามคธ เป็นภาษาที่บันทึกคำสอนของพระพุทธเจ้า
เป็นภาษาที่ใช้ในการเผยแผ่พุทธศาสนาในประเทศอินเดียสมัยครั้งพุทธกาล
หลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว คำสอนได้ถูกถ่ายทอดจากปากต่อปากด้วยการท่องจำเป็นภาษาบาลี จนกระทั่งมีการจดจารึกลงในใบลานเป็นลายลักษณ์อักษร และถูกบันทึกเก็บรักษามาจนถึงทุกวันนี้
ชาวพุทธที่อยากสวดมนต์แต่ไม่เข้าใจภาษาบาลี อ่านไม่ออกหรือออกเลียงไม่ถูกบ้าง ทำให้เกิดความท้อใจในการสวด
เมื่อเราสวดบ่อยๆ ก็จะรู้จังหวะวรรคตอนในแต่ละบทด้วย เช่น ตรงไหนควรเน้นเสียงหนัก (ครุ) ตรงไหนควรออกเสียงเบา (ลหุ) ตรงไหนควรออกเสียงยาว (ทีฆะ) ตรงไหนควรออกเสียงสั้น (รัสสะ) สิ่งเหล่านี้เกิดจากการเรียนโดยการฝึกสวดมนต์
ถ้าไม่เคยสวดก็จะสวดติดๆ ขัดๆ แต่ฝึกนานๆ ไปก็ชำนาญเอง ไม่ต้องเปิดหนังสือ เป็นการฝึกอ่านภาษาบาลีไปในตัว
ในบทนี้จะขอแนะนำคำสวดที่เรามักสวดผิดกัน และคำที่ควรจะสวดให้ถูกต้อง เช่น คำว่า "ส๎วากขาโต'' ให้อ่านว่า "สะ-หวาก-ขาโต'' แต่เรามักสวดกันผิดเสมอว่า "สะ-หวา-ขา-โต''
คำว่า "กัต๎วา'' ให้อ่านว่า กัต-ตะ-วา โดยเสียง ตะ ให้ออกเสียงสั้นกึ่งมาตรา อ่านเร็วๆ ไม่ออกเต็มเสียง คำอื่นๆ เช่น ขิต๎วา ปูเรต๎วา ก็เช่นกัน
คำว่า "วิญญูหีติ'' ในบทสรรเสริญพระธรรมคุณ ให้อ่านว่า "วิญ-ญ-ฮี-ติ'' เนื่องจากเป็นภาษาสำหรับสวด โบราณาจารย์ท่านจึงนิยมให้ออกเสียง "ห'' เป็น "ฮ" แทน เฉพาะตรงนี้เท่านั้น
คำว่า ''มะหีตะเล'' ในคาถาชินบัญชร ให้อ่านว่า ''มะ-ฮี-ตะ-เล" เช่นกัน
คำว่า ''ทิสวา'' ให้อ่านออกเสียงว่า ''ทิด-สะ-หวา'' เสียง ''สะ'' ให้ออกเสียงสั้น เร็วๆ คำว่า ''เอกัสมิง'' ก็ออกเสียง ''สะ'' คล้ายกัน มีข้อน่าสังเกต หลัง ''สะ'' จะไม่ออกเสียงธรรมดา ให้มี ''ห'' นำหน้า คือ อ่านว่า ''เอ-กัด-สะ-หมิง'' คำอื่นๆ มีที่ลักษณะคล้ายกัน ก็ออกเสียงเหมือนกัน
คำว่า ''อาหุเนยโย'' ให้อ่านว่า ''อา-หุ-ไน-โย'' เพราะในภาษาบาลีไม่มีสระ ''เอย'' คำอื่นๆ เช่น ปาหุเนยโย ทักขิเณยโย ก็ออกเสียงเหมือนกัน คือ เป็นสระ ''ไอ''
คำว่า ''ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ'' เมื่อต้องการสวดให้ตนเอง ให้เปลี่ยนจาก เต เป็น เม คือสวดว่า ภะวะตุ เม ชะยะมังคะลานิ บทว่า สะทา โสตถี ภะวันตุ เต ก็ให้เปลี่ยนเป็น เม เช่นเดียวกัน
คำ ว่า ''ต๎วัง'' ในบทมหาการุณิโกว่า ''เอวัง ต๎วัง วิชะโย โหหิ'' ให้อ่านว่า ตะวัง โดยเสียง ตะ ออกเสียงกึ่งหนึ่งเร็วๆ
วิธีการสวดใหถูกต้องเหล่านี้ ไม่ใช่เรื่องยากแต่อย่างใดเราฟังเสียงพระสวดหรือคนอื่นสวดเพียงครั้งเดียวก็สามารถ ออกเสียงได้ถูกต้อง เมื่อเป็นเช่นนี้ ความกังวลใจก็จะหายไป ใจก็อยากสวดมนต์มากขึ้น
เมื่อสวดได้จนชำนาญ ใจก็จะเป็นสมาธิได้เร็ว
และได้รับประโยชน์จากการสวดมนต์อย่างแท้จริง