โพชฌังคปริตร : มหัศจรรย์แห่งพุทธมนต์ ช่วยพ้นจากโรคภัย

วันที่ 20 กย. พ.ศ.2562

: : โพชฌังคปริตร : :

มหัศจรรย์แห่งพุทธมนต์ ช่วยพ้นจากโรคภัย

       โพชฌังคปริตร ซึ่งเริ่มต้นด้วยคำว่า "โพชฌังโค สะติ สังขาโต ธัมมานัง วิจะโย" เป็นบทกล่าวถึงองค์ธรรมสำหรับความรู้แจ้ง ๗ ประการ คือ สติ ธรรมวิจัย วิริยะ ปีติ ปัสสัทธิสมาธิ และอุเบกขา

       บทสวดนี้นิยมสวดให้ผู้ป่วยฟัง

       เมื่อผู้ป่วยส่งจิตไปตามเสียงสวดมนต์อย่างมีสมาธิ จะเกิดอานุภาพในการช่วยบรรเทาโรคภัยให้หายไปอย่างน่าอัศจรรย์

       เป็นพระสูตรที่นิยมสวดต่อจากองคุลิมาลปริตร ซึ่งมีอานุภาพคล้ายกันในด้านช่วยรักษาอาการเจ็บป่วย

ตำนานบทสวดมนต์

       ครั้งหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับอยู่ในเวฬุวัน ใกล้กรุงราชคฤห์ครั้งนั้น พระมหากัสสปะอาพาธหนักได้รับทุกขเวนาแสนสาหัสโดยพักอาศัยอยู่ในถ้ำ พระพุทธเจ้าจึงได้เสด็จไปเยี่ยมตรัสถามถึงอาการไข้ ทรงทราบว่าพระเถระมีอาการหนัก ยังไม่ทุเลาลงจึงได้มีพระเมตตาแสดงโพชฌงค์ ๗ ให้ฟังว่า "โพชฌงค์ ๗ ประการเหล่านี้ เราได้ตรัสไว้ชอบแล้ว ผู้ใดหมั่นฝึกฝนอบรมเจริญภาวนาเป็นประจำ ย่อมเป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้และนิพพาน" 

       เมื่อพระมหากัสสปะตั้งใจฟังส่งจิตไปตามเสียงสวด พร้อมน้อมรำลึกพระมหากรุณาธิคุณว่า พระธรรมคำสอนของพระศาสดาเปรียบดังธรรมโอสถวิเศษ สามารถช่วยนำสัตว์ออกจากทุกข์ได้ผลปรากฏว่าเลือดของท่านก็เปลี่ยนสีเป็นปกติ ร่ายกายสดชื่นสร่างไข้ถึงความสะอาดหมดจดปราศจากโรคภัย เหมือนหยาดน้ำตกบนใบบัว ฉะนั้น

       อีกคราวหนึ่ง พระมหาโมคคัลลานะไม่สบายเป็นไข้หนักพระพุทธเจ้าจึงได้เสด็จไปเยี่ยมอาการไข้ ทรงทราบว่าพระเถระมีอาการหนัก ยังไม่ทุเลาลง จึงได้ทรงเมตตาแสดงโพชฌงค์ ๗ ให้ฟังเช่นกัน เมื่อพระมหาโมคคัลลานะตั้งใจฟังส่งจิตไปตามเสียงและน้อมถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ ผลปรากฏว่าร่างกายก็สดชื่นสร่างไข้ถึงความสะอาดหมดจดปราศจากโรคภัยเช่นกัน

       ส่วนอีกคราวหนึ่ง พระพุทธเจ้าทรงประชวรเอง พระมหาจุนทะได้เข้าไปเฝ้าและสวดสาธยายโพชฌงค์ ๗ ถวาย เป็นเหตุให้พระพุทธเจ้าทรงหายจากอาการประชวรเช่นกัน

       พระโบราณาจารย์จึงได้นำเอาเนื้อความของโพชฌงคสูตรที่  ๑ - ๓ มาประพันธ์รวมเป็นคาถาสำหรับสวด

      จึงเรียกว่า "โพชฌังคปริตร"

บทสวดและคำแปล

      โพชฌังโค สะติสังขาโต             ธัมมานัง วิจะโย ตะถา

วิริยัมปีติปัสสัทธิ                            โพชฌังคา จะ ตะถาปะเร

สะมาธุเปกขะโพชฌังคา                  สัตเตเต สัพพะทัสสินา

มุนินา สัมมะทักขาตา                      ภาวิตา พะหุลีกะตา

สังวัตตันติ อะภิญญายะ                   นิพพานายะ จะ โพธิยา

เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ                     โสตถิ เต โหตุ สัพพะทาฯ

       โพชฌงค์ ๗ ประการ คือ สติสัมโพชฌงค์ ธรรมวิจยะสัมโพชฌงค์ วิริยะสัมโพชฌงค์ ปีติสัมโพชฌงค์ ปัสสัทธิ สัมโพชฌงค์ สมาธิสัมโพชฌงค์ และอุเบกขาสัมโพชฌงค์เหล่านี้ เป็นธรรมอันพระมุนีเจ้า ผู้ทรงเห็นแจ้งธรรมทั้งปวงตรัสไว้ชอบแล้ว อันบุคคลภาวนาเป็นประจำ ทำบ่อยๆ ย่อมเป็น

ไปเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ และเพื่อนิพพาน ด้วยการกล่าวคำสัตย์นี้ ขอความสุขสวัสดี จงบังเกิดมีแก่ท่านตลอดกาลทุกเมื่อ

      เอกัส๎มิง สะมะเย นาโถ               โมคคัลลานัญจะ กัสสะปัง

คิลาเน ทุกข์เต ทิส๎วา                       โพชฌงเค สัตตะ เทสะ

เต จะ ตัง อะภินันทิต๎วา                    โรคา มุจจิงสุ ตังขะเณ

เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ                      โสตถิ เต โหตุ สัพพะทา ฯ

      ในสมัยหนึ่ง พระโลกนาถเจ้า ทอดพระเนตรเห็นพระโมคคัลลานะ และพระมหากัสสปะกำลังเจ็บป่วย ได้รับความลำบาก จึงทรงแสดงโพชฌงค์ ๗ ประการ ให้ท่านทั้งสองฟัง ท่านทั้งสองนั้น ชื่นชมยินดียิ่งซึ่งโพชฌงคธรรมโรคก็หายได้ในบัดดล ด้วยการกล่าวคำสัตย์นี้ ขอความสุขสวัสดีจงบังเกิดมีแก่ท่าน ตลอดกาลทุกเมื่อ

      เอกะทา ธัมมะราชาปิ                  เคลัญเญนาภิปีฬิโต

จุนทัตเถเรนะ ตัญเญวะ                  ภะณาเปต๎วานะ สาทะรัง

สัมโมทิต๎วา จะ อาพาธา                ต้มหา วุฏฐาสิ ฐานะโส

เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ                   โสตถิ เต โหตุ สัพพะทาฯ

      ครั้งหนึ่ง พระพุทธเจ้า ผู้เป็นธรรมราชา ทรงประชวรเป็นไข้หนัก รับสั่งให้พระจุนทะเถระสวดโพชฌงค์นั่นแลถวายโดยเคารพ ก็ทรงบันเทิงพระหฤทัย หายจากพระประชวรนั้นได้โดยพลันด้วยการกล่าวคำสัตว์นี้ ขอความสุขสวัสดีจงบังเกิดมีแก่ท่าน ตลอดกาลทุกเมื่อ

      ปะหีนา เต จะ อาพาธา         ติณณันนัมปิ มะเหสินัง

มัคคาหะตะกิเลสาวะ                  ปัตตานุปปัตติธัมมะตั้ง

เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ                โสตถิ เต โหตุ สัพพะทาฯ

      ก็อาพาธทั้งหลายนั้น ของพระผู้ทรงคุณอันยิ่งใหญ่ทั้ง ๓ องค์นั้น หายแล้วไม่กลับเป็นอีก ดุจดังกิเลส ถูกอริยมรรคกำจัดเสียแล้ว ถึงซึ่งความไม่เกิดอีกเป็นธรรมดา ด้วยการกล่าวคำสัตว์นี้ขอความสวัสดีจงบังเกิดมีแด่ท่านตลอดกาลทุกเมื่อเทอญ

 

ธรรมะจากบทสวดมนต์

      บทสวดโพชฌงค์นี้ นับว่าเป็นบทสวดที่มีความมหัศจรรย์

      ใครที่ไม่เคยประสบด้วยตัวเองจะไม่รู้ว่ามีดีอย่างไร

      ผู้ป่วยหลายคน พอได้ฟังบทสวดนี้ ด้วยจิตที่สมาธิและน้อมตามบทสวด อาการของโรคก็หายไปอย่างอัศจรรย์

      เมื่อเราเจ็บกาย ก็พยายามไปหาหมอเพื่อรักษา โรคบางอย่างเกิดจากอาหาร บางอย่างเกิดจากอากาศหรือฤดูกาลเปลี่ยนแปลง บางอย่างเกิดจากจิต งอย่างเกิดจากกรรม

      บางครั้งเจ็บป่วยใจแต่รักษากาย รักษาอย่างไรก็ไม่หายสักที หมดเงินไปก็เยอะ

      แต่พอทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้เจ้ากรรมนายเวร หรือได้มาปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ก็หายได้อย่างน่าอัศจรรย์

      บทสวดโพชฌงค์นี้ เป็นการแสดงถึงธรรมะที่เป็นหัวใจหลักของการบรรลุธรรม ผู้จะบรรลุธรรมเกิดปัญญาญาณรู้แจ้งเห็นจริงต้องมี ๗ สิ่งนี้เป็นองค์ประกอบ คือ ความระลึกรู้เท่าทันอารมณ์มากระทบ รู้ทันปัจจุบัน (สติ) ต้องแตกฉานในธรรมรู้แจ้งในธรรมเอง (ธัมมวิจัย)

      เกิดจากจิตที่หมั่นภาวนาจนรู้แจ้ง ไม่ใช่จากการอ่านค้นคว้า มีความพากเพียรพยายามในการปฏิบัติอย่างต่อเนื่องจนสุกงอมเต็มที่พร้อมให้ผล (วิริยะ)

      เกิดปีติความเอิบอิ่มในธรรม (ปีติ) มีความสงบระงับเป็นสุขอย่างยิ่ง (ปัสสัทธิ) มีความแน่วแน่ตั้งมั่นไม่หวั่นไหว (สมาธิ) และมีความวางเฉยต่ออารมณ์ที่มากระทบไม่ว่าดีหรือร้าย (อุเบกขา)

      บทสวดโพชฌงค์นี้ มีพุทธานุภาพช่วยขจัดโรคภัย เกิดความสุขสวัสดี จนมีธรรมเนียมว่า เมื่อใครเจ็บป่วยไม่สบายก็สวดโพชฌงค์ให้ฟัง ซึ่งเป็นทั้งโอสถและเป็นพุทธมนต์ ผู้ป่วยจะสวดเอง นิมนต์พระสงฆ์มาสวด หรือจะให้ลูกหลานหรือใครๆสวดให้ฟังก็ได้

      ขณะสวดต้องมีเมตตาจิต ผู้ฟังก็ควรตั้งใจฟังและน้อมจิตไปตามบทสวด ก็จะเกิดอานุภาพในการรักษาโรคภัย จิตใจสดชื่นเบิกบาน

      เมื่อใจสงบระงับดับความเร่าร้อนทางใจอันเกิดจากกิเลสได้ โรคภัยก็หายไปเอง

      พระสูตรนี้จึงถือว่าเป็นมนต์ต่ออายุ ใช้สวดต่ออายุคนเจ็บป่วยให้หายจากโรคภัย

      การสวดมนต์บทนี้ ทั้งผู้สวดและผู้ฟัง ต้องน้อมใจตาม เพื่อส่งผลให้เกิดอานิสงส์คือช่วยดับความทุกข์ทางกาย เมื่อจิตสงบสมาธิเกิดขึ้น ปีติย่อมมีกำลัง

      เมื่อนั้นย่อมทำให้เกิดความสุขใจอย่างบอกไม่ถูก

      ขณะนั้นเอง โรคที่เกิดจากอกุศลกรรมก็เบาบางลงและ

หายไปในที่สุด

      ขณะที่ร่างกายยังแข็งแรงและมีกำลังอยู่นี้ ควรให้เวลากับการสวดมนต์ นั่งสมาธิบ้าง เพื่อเพิ่มพลังให้แก่จิตของเรา

      หากจิตของเราอ่อนแอ ไม่ได้สั่งสมบุญไว้เลย ย่อมพ่ายแพ้ต่อกำลังของบาปอกุศล

ถึงตอนนั้น แม้มนต์บทใดก็ช่วยเราไม่ได้

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.01557613213857 Mins