ธรรม ๕ ประการ ที่ทำให้พุทธสาวกเคารพพระพุทธองค์อย่างยิ่ง
สำหรับธรรม ๕ ประการ อันเป็นเหตุให้พุทธสาวกเคารพบูชา พระพุทธองค์เป็นอย่างยิ่งนั้น อาจจะขยายความโดยย่อได้ดังนี้
๑) อธิศีล
“อธิศีล” ตามรูปศัพท์ แปลว่า “ศีลยิ่ง” คือไม่ใช่ศีลปกติธรรมดา ดังเช่น ศีล ๕ ศีล ๘ สำหรับคฤหัสถ์ ศีล ๑๐ สำหรับสามเณร หรือศีล ๒๒๗ สำหรับพระภิกษุ ศีลเหล่านี้เป็นศีลของบุคคลที่ยังมีกิเลสอาสวะ
แต่อธิศีลเป็นศีลของพระอริยบุคคลผู้ปราศจากกิเลสอาสวะแล้วเพื่อให้เกิดความเข้าใจความหมายของ “ศีลยิ่ง” อย่างถ่องแท้ จึงใคร่ขอให้ผู้อ่านได้ทำความเข้าใจให้ถูกต้องเกี่ยวกับความหมายของศีลโดยทั่วไปให้ตรงกันเสียก่อนว่า
“ศีล (โดยทั่วไป) คือ เครื่องควบคุมกายกับวาจา ให้สงบ ไม่ทำร้ายใคร ๆ ไม่ว่าร้ายใคร ๆ” บุคคลที่รักษาศีลได้บริสุทธิ์บริบูรณ์ ย่อมสามารถควบคุมกายและวาจาของตนให้เป็นคนมีพฤติกรรมสุภาพเรียบร้อย ไม่เป็นพิษเป็นภัยกับทั้งตนเองและผู้อื่น หรือไม่ก่อเรื่องเลวร้ายใด ๆ ทั้งสิ้น
แต่ตามสภาพความเป็นจริงที่เราท่านได้ประสบกันอยู่เสมอก็คือ ในสังคมมนุษย์ การค้นหาบุคคล (แม้เป็นนักบวชซึ่งสังคมยกย่องว่าเป็นผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบ) ที่สามารถควบคุมกาย และวาจา ให้อยู่ในสภาพปกติอย่างสม่ำเสมอราวกับเส้นตรงตลอดเวลาชั่วนาตาปี หรือแม้แต่ตลอด ๒๔ ชั่วโมง ก็หาไม่ได้แล้ว ทั้ง ๆ ที่เจ้าตัวปรารถนา อย่างยิ่งที่จะรักษาสภาพปกติไว้เพราะเหตุใด ไม่เคยมีใครล่วงรู้สาเหตุที่แท้จริงมาก่อน
ตราบจนกระทั่งพระผู้มีพระภาคทรงบรรลุอาสวักขยญาณ (ญาณหยั่งรู้ในธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งกิเลสอาสวะ
ทั้งปวง) ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงทรงประจักษ์ว่า กิเลสแอบแฝงอยู่ในใจบุคคลนั่นเอง ที่คอยบีบคั้นบงการให้บุคคลเกิดความคิดร้าย ๆ แล้วส่งผลเป็นพฤติกรรมร้าย ๆ ทางกาย หรือวาจาหรือทั้ง ๒ ทาง พร้อม ๆ กัน
" จะหาบุคคลที่สามารถควบคุม กาย วาจา ใจ ให้อยู่ในสภาพปกติ
ตลอด ๒๔ ชั่วโมง ได้ยากยิ่ง เพราะต่างมีกิเลสที่แฝงอยู่ในใจ
คอยบีบคั้นบงการให้เกิดความคิดร้าย ๆ ส่งผลเป็นพฤติกรรมร้าย ๆ ทางกายหรือวาจา"
ซึ่งเป็นเหตุให้บุคคลไม่สามารถรักษาศีลได้บริสุทธิ์บริบูรณ์อย่างสม่ำเสมอ แม้จะตั้งใจดีเพียงใดก็ตาม ยิ่งถ้าคนที่ไม่คิดจะรักษาศีลด้วยแล้ว กิเลสในใจของเขาย่อมบีบคั้นบงการและชักนำให้เขาก่ออกุศลกรรมอย่างไม่มีเวลาว่างเว้น
สำหรับพระพุทธองค์ เพราะเหตุที่ทรงบรรลุอาสวักขยญาณ ทรงสามารถกำจัดกิเลสในพระทัยให้สูญสิ้นไปโดยเด็ดขาด ความคิดร้าย ๆ จึงไม่ปรากฏขึ้นในพระทัยของพระองค์เลย ซึ่งแน่นอนย่อมส่งผลให้ กาย วาจา ใจ ของพระองค์บริสุทธิ์ผุดผ่อง ปราศจากความคิดร้าย ปราศจากพฤติกรรมร้ายทั้งทางกายและวาจา สภาวะเช่นนี้เกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ เป็นปกติธรรมดาเป็นธรรมชาติของผู้หมดกิเลสแล้ว ดังที่พระพุทธองค์ตรัสแสดงไว้ในมหาจัตตารีสกสูตร๓ ว่า
“สัมมาวาจาที่เป็นอริยะ เป็นอนาสวะ เป็นโลกุตตระ เป็นองค์แห่งมรรค เป็นอย่างไร
คือ ความงด ๑ ความเว้น ๑ ความเว้นขาด ๑ เจตนางดเว้น ๑ จากวจีทุจริตทั้ง ๔ ของภิกษุผู้มีจิตไกลข้าศึก มีจิตหาอาสวะมิได้ พรั่งพร้อมด้วยอริยมรรค เจริญอริยมรรคอยู่นี้แล คือ สัมมาวาจาที่เป็นอริยะ เป็นอนาสวะ
เป็นโลกุตตระ เป็นองค์แห่งมรรค”
“สัมมากัมมันตะที่เป็นอริยะ เป็นอนาสวะ เป็นโลกุตตระเป็นองค์แห่งมรรค เป็นอย่างไร
คือ ความงด ๑ ความเว้น ๑ ความเว้นขาด ๑ เจตนางดเว้น ๑ จากกายทุจริตทั้ง ๓ ของภิกษุผู้มีจิตไกลข้าศึก มีจิตหาอาสวะมิได้ พรั่งพร้อมด้วยอริยมรรค เจริญอริยมรรคอยู่นี้แล คือ สัมมากัมมันตะที่เป็นอริยะ เป็นอนาสวะ เป็นโลกุตตระ เป็นองค์แห่งมรรค”
“สัมมาอาชีวะที่เป็นอริยะ เป็นอนาสวะ เป็นโลกุตตระ เป็นองค์แห่งมรรค เป็นอย่างไร
คือ ความงด ๑ ความเว้น ๑ ความเว้นขาด ๑ เจตนางดเว้น ๑ จากมิจฉาอาชีวะ ของภิกษุผู้มีจิตไกลข้าศึก มีจิตหาอาสวะมิได้ พรั่งพร้อมด้วยอริยมรรค เจริญอริยมรรคอยู่นี้แล คือ สัมมาอาชีวะที่เป็นอริยะ เป็นอนาสวะ เป็นโลกุตตระ เป็นองค์แห่งมรรค”
สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ และสัมมาอาชีวะที่เป็นอนาสวะ ก็คืออธิศีลนั่นเอง อันเป็นโลกุตตรศีลของพระองค์และของพระอริยเจ้าทั้งหลายด้วย แต่เพราะเหตุที่อธิศีลของพระองค์ เป็นองค์แห่งมรรค เกิดพร้อมกับอรหัตมรรคจิตอันนำคุณวิเศษทั้งปวงมาให้ และเป็นศีลปรมัตถบารมีที่อบรมบ่มมานานแสนนานกว่าอริยสาวกทั้งปวง
อริยสาวกทั้งปวง หาผู้ใดเสมอมิได้เลย ดังที่ทรงตรัสไว้ว่า๔
“ดูก่อนกัสสปะ มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งเป็นผู้กล่าวศีลสรรเสริญคุณแห่งศีลโดยอเนกปริยาย ดูก่อนกัสสปะ ศีลอันประเสริฐยอดเยี่ยมมีประมาณเท่าใด เรายังไม่เห็นผู้ใดทัดเทียมเราในศีลนั้น ผู้ที่ยิ่งกว่าจะมีที่ไหน ที่จริงเราผู้เดียวเป็นผู้ยิ่งในศีลนั้น คือ อธิศีล”
เพราะเหตุที่พระพุทธองค์ทรงมีอธิศีลที่บริสุทธิ์ยิ่งกว่าสาวกทั้งหลายนี่เอง จึงทรงดำรงอยู่ในฐานะเป็นที่เคารพบูชาอย่างยิ่งของเหล่าสาวกทั้งปวง
พระผู้มีพระภาคทรงมีอธิศีลได้อย่างไร ?
การเกิดขึ้นของอธิศีลของพระพุทธองค์ ย่อมมีพื้นฐานสืบเนื่องมาจากการรักษาศีลตามแบบของบุคคลที่ยังมีกิเลสอยู่ในใจนั่นเอง แต่จะพิเศษกว่าบุคคลทั่วไปตรงที่พระองค์ทรงตั้งใจมุ่งมั่นรักษาศีลให้บริสุทธิ์บริบูรณ์แบบไม่ให้ด่างพร้อย แม้ต้องสละชีวิตหลายครั้งหลายครา (ดังมีเรื่องราวปรากฏอยู่ในชาดก) ก็ทรงยอม คือรักศีลยิ่งกว่าชีวิตนั่นเอง
ยิ่งกว่านั้นพระองค์ยังทรงทุ่มเทมุ่งมั่นรักษาศีลข้ามภพข้ามชาติโดยไม่ย่อหย่อน ไม่หมดกำลังใจ ประกอบกับการสั่งสมบุญบารมีด้านต่าง ๆ ตลอดถึงการบำเพ็ญภาวนาอย่างอุกฤษฏ์ ผลแห่งการประพฤติ ปฏิบัติคุณความดีดังกล่าวมาแล้วทั้งหมด จึงรวมลงเป็นอธิศีลของพระผู้มีพระภาค
แม้พระพุทธเจ้าจะดำรงอยู่ในอธิศีลแล้ว ก็มิได้ทรงหยุดยั้งการปฏิบัติ ยังคงปฏิบัติสืบเนื่องไปโดยอัตโนมัติ ยิ่งกว่านั้น ยังทรงพร่ำสอนสาวกทั้งหลายถึงแนวทางปฎิบัติพื่อบรรลุอธิศีล ถึงคุณวิเศษของอธิศีล ซึ่งเป็นความรู้ใหม่เอี่ยมที่ยังไม่เคยมีอาจารย์เจ้าลัทธิใด ๆ ในสมัยนั้น นำมาสั่งสอนเลย เพราะอธิศีลอันเป็นคุณวิเศษของพระผู้มีพระภาคนี้เองจึงเป็นเหตุให้พุทธสาวกพากันสักการะ เคารพ นับถือ บูชา และอาศัยพระพุทธองค์อยู่มิว่างเว้น
จากหนังสือ ที่สุดแห่งธรรม ถึงได้ด้วยความเคารพ1
โดยคุณครูไม่เล็ก