หลุมพรางของความสำเร็จ
ในสังคมปัจจุบันมีการแข่งขันกันสูง ทำให้เราต้องรีบเร่งทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อเอาชนะ สิ่งนั้นนำความเครียดอย่างมหาศาลมาให้คนทุกเพศทุกวัย ความเครียดบ่อนทำลายทั้งสุขภาพจิต และสุขภาพกาย ตั้งแต่ในเด็กไปจนถึงคนชรา ส่งผลให้สังคมเกิดมลพิษ ดังนั้นเราทุกคนจึงควร “เอาชนะความเครียด”
เคล็ดลับเอาชนะความเครียด
คนในสมัยนี้มีความเครียดกันมากขึ้น เหตุผลหนึ่งคือการ “ตกหลุมพรางของความสำเร็จทางวัตถุ” ทุกวันนี้คนส่วนใหญ่มองความสำเร็จไปที่เรื่องวัตถุสิ่งของ ตำแหน่งหน้าที่การงาน กระทั่งผลตอบแทนที่เป็นตัวเงิน คนส่วนใหญ่จึงพยายามไขว่คว้าหาวัตถุกันมากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของตัวเองที่เพิ่มสูงขึ้น ๆ นั่นเอง
หากทุกอย่างเป็นไปตามที่เราหวังไว้ความเครียดก็จะลดน้อยลง แต่ความจริงไม่ได้เป็นอย่างนั้น เพราะส่วนใหญ่ความสมหวังมักจะมาพร้อมกับความผิดหวังเสมอ เนื่องจากเราอาจจะหวังมากเกินไป โดยเฉพาะการมุ่งประเด็นไปที่ความหวังทางด้านวัตถุที่มากเกินไป จนส่งผลให้เราเกิดความเครียดมากขึ้น ยิ่งไป
กว่านั้นความล้มเหลวทางด้านจิตใจก็ถูกสะสมมากขึ้นไปเรื่อย ๆ เช่นกัน
จริง ๆ แล้วคนส่วนใหญ่ที่มีความเครียดสูง มักไม่ใช่คนที่ประสบความล้มเหลวแต่เป็นคนที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งคนเหล่านี้มักจะมีความมั่นใจว่าตัวเองจะต้องประสบความสำเร็จ เพราะเขามีชีวิตที่สมบูรณ์แบบมาก เช่น เกิดในตระกูลที่ดี เรียนหนังสือดีมาโดยตลอด ทำกิจกรรมได้ดี เล่นกีฬาเก่ง เมื่อไม่ค่อยพบกับความผิดหวัง เขาจึงยังไม่คุ้นเคยกับความล้มเหลว
เมื่อคนกลุ่มนี้ต้องออกไปเผชิญหน้ากับสถานการณ์จริงในโลกแห่งการแข่งขัน ได้ไปพบกับคนมากมายที่มีทักษะในการใช้ชีวิตอยู่ในสังคม หรือมีทักษะในการทำงานมากกว่าตนเอง เขาจึงเกิดความเครียดสูง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่เกี่ยวข้องกับความเก่งกาจเลย แต่เป็นเรื่องของ “EQ” (ความฉลาดทางอารมณ์) มากกว่า “IQ” (ความฉลาดทางเชาวน์ปัญญา) สุดท้ายเมื่อคนกลุ่มนี้ต้องเจอกับความล้มเหลว พวกเขาจึงมักจะมีความเครียดสูงกว่าคนอื่น ๆ
สาเหตุของความเครียด
บางคนเวลามีปัญหาก็จะยิ้มสู้ แต่บางคนเลือกที่จะหลบหนีปัญหา บางคนเครียดถึงขั้นคิดฆ่าตัวตาย เพราะฉะนั้นความเครียดจึงแตกต่างกันออกไป โดยความเครียดเกิดจากปัจจัยใหญ่ ๆ 2 อย่าง ดังนี้
ปัจจัยที่ 1 ยึดติดกับอดีต
ชีวิตคนเราต้องเดินหน้าไปเรื่อย ๆ พร้อม ๆ กับเวลาที่เคลื่อนผ่านไป พบปะเจอะเจอสิ่งต่าง ๆ มากมาย ล้มบ้าง ลุกบ้าง หยุดอยู่กับที่บ้าง แต่ชีวิตก็ดำเนินไปได้เรื่อย ๆ ดังนั้น "อย่ามัวไปกังวลกับอดีต"
ถ้าเรามัวไปยึดติดกับปัญหา ก็เหมือนกับเราเจอตอไม้ แล้วเอาหนังสติ๊กผูกตัวเราติดไว้กับตอไม้นั้น ในขณะที่เรากำลัง เดินถอยห่างออกจากตอไม้นั้นไปเรื่อย ๆ เราก็จะถูกดึงรั้งไว้ด้วยหนังสติ๊กที่เราผูกไว้เอง ถ้าถามว่าตอไม้นั้นทำอะไรเราได้หรือไม่ ก็ต้องตอบว่า "ไม่ได้" เพราะตอไม้เปรียบดังประสบการณ์ที่ผ่านไปแล้ว มันเป็นอดีตไปแล้วนั่นเอง
วิธีการแก้ปัญหาคือให้เราคลายหนังสติ๊กที่ผูกเอาไว้ออก คลายความยึดมั่นถือมั่นออกไป ตัวเราก็จะเบาโล่งแล้วเดินหน้า ต่อไปได้อย่างสบาย ๆ ต่อจากนั้นเราจะเดินชมนกชมไม้ แล้วมีโอกาสเจอสิ่งใหม่ ๆ อีกมากมาย โดยที่ไม่ต้องเอาตัวเองไปผูกติดกับตอไม้ หรือปัญหาที่ผ่านไปแล้วอีก ดังนั้น เราควรลืมอดีต ที่ผิดพลาดให้หมด
ปัจจัยที่ 2 กังวลกับอนาคต
บางคนพอนึกถึงอนาคตแล้วเกิดความกลัว มัวกังวลกับอนาคตเพราะเอาแต่เพ้อฝัน จริง ๆ แล้วมนุษย์ทุกคนต้อง มีความฝัน แต่ว่า "ความเพ้อฝัน" กับ "ความใฝ่ฝัน" นั้น แตกต่างกัน
"ความเพ้อฝัน" คือการคิดอะไรที่เกินตัวเกินเอื้อม คิด ลอย ๆ โดยไม่มีช่องทางแผนงานที่จะก้าวไปสู่ความสำเร็จนั้น แต่ "ความใฝ่ฝัน" คือการคิดถึงเป้าหมายที่เราจะสามารถก้าวไป ถึงได้จริง แล้วมุ่งมั่นแสวงหาหนทางที่จะไปให้ถึงความใฝ่ฝันนั้น
เพราะฉะนั้น ถ้าเรากังวลกับอนาคตมากจนเกินไป เราก็จะกลายเป็นคนที่มัวแต่เพ้อฝันว่าจะได้โน่นได้นี่ ชีวิตจะต้องได้อยู่ท่ามกลางความสุข มีสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย มีทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต แต่ถ้าไม่ได้อย่างที่คิดไว้ก็จะเกิดความเครียดว่า เราทำงานเต็มที่แล้วทำไมถึงยังไม่ได้ยังไม่มี แล้วระดับของความเครียดนี้ก็จะถูกฝังอยู่ในสมองของเรา โดยขึ้นกับระยะเวลาที่เราเอาใจไปผูกติด หรือปล่อยให้ความเครียด นั้นอยู่ในหัวของเรานานแค่ไหนนั่นเอง
ความเครียดนั้นเหมือนกระแสเงินสด ที่อยู่ในหัวเราได้นานแค่ไหนมันก็จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้ตัวเอง แล้วถ้ามูลค่าเพิ่มมากเกินขีดจำกัด จนกระทั่งในหัวของเรามีแต่ความเครียด สติปัญญาก็เข้ามาไม่ได้
การแก้ไขปัญหาทุกปัญหานั้นจะต้องใช้ "สติ" กับ "ปัญญา" ถ้าเราปล่อยให้กระแสความเครียดหมุนวนอยู่ในหัวหลายรอบ ความเครียดนั้นก็จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้ตัวมันเอง สติปัญญาจะลดลงจนทำให้เราไม่สามารถแก้ไขปัญหาอะไรได้เลย
ก่อนอื่นเราจึงต้องดึงความเครียดออกไปให้ได้ ถ้าเรารู้แล้วว่ามีแค่ 2 เหตุผลที่ทำให้เกิดความเครียด คือ “การยึดติดกับอดีต" และ "กังวลกับอนาคต" เราก็ควรอยู่กับปัจจุบัน เห็มไหมง่ายนิดเดียว
หลักการนี้ถือเป็นยุทธการชิงพื้นที่ในใจว่า เราจะใส่อะไร ลงไปในใจบ้าง ถ้าเราใส่เรื่องเครียดลงไปในใจเราก็จะเครียด ถ้าเราใส่เรื่องไม่เครียดลงไปในใจ เราก็ไม่เครียด ดังนั้น ถ้ายังไม่รู้ว่าจะนึกถึงอะไรเมื่อเกิดปัญหา ก็ให้เรานึกถึงพระรัตนตรัยในตัวก่อน
เครียดดี" กับ "เครียดไม่ดี"
ทางวิทยาศาสตร์ในต่างประเทศแยกความเครียด (Stress) ออกเป็น "เครียดดี" กับ "เครียดไม่ดี" ความเครียดดี เรียกว่า "ยูสเตรส" (Eustress) ซึ่งเป็นความเครียดที่ทำให้เกิดการสร้างสรรค์ เช่น เด็กนักเรียนรู้สึกเครียดมากเพราะต้องสอบ เขาจึงตั้งใจอ่านหนังสือจนสอบผ่าน นี่คือความเครียดดีที่ทำให้เกิดการตื่นตัวและเตรียมความพร้อม
เพราะฉะนั้น ความเครียดประเภทนี้ทำให้เราเกิดความตื่นตัว ไม่ประมาท มีวิริยะอุตสาหะทำให้เกิดความมุ่งมั่นว่า เราจะต้องเตรียมความพร้อมจนประสบความสำเร็จในที่สุด
ส่วนความเครียดไม่ดี เรียกว่า "ดิสเทรส" (Distress) ซึ่งเป็นความเครียดที่บั่นทอนจิตใจ ทำให้รู้สึกผิดหวัง เศร้าใจ สะเทือนใจ และเสียสุขภาพ เช่น อกหักแล้วเครียด หรือดูข่าวสะเทือนใจแล้วรู้สึกกับสังคมในทางไม่ดีก็เกิดความเครียดได้เหมือนกัน
ไม่ว่าจะเครียดดีหรือเครียดไม่ดีนั้นขึ้นอยู่กับการจัดลำดับทางความคิด หรือทัศนคติของแต่ละคน เพราะเหตุการณ์เดียวกัน บางคนอาจจะเครียดแล้วดี ในขณะที่บางคนเครียดแล้วไม่ดีก็เป็นได้
ความเครียดส่งผลต่อร่างกาย
คนที่เกิดความเครียดสะสมอันดับแรกเลยจะเป็นโรคปวดศีรษะ และปวดตาเรื้อรัง ปวดท้องบ่อยครั้ง เส้นเอ็นยึด ปวดเนื้อปวดตัว โดยสังเกตอาการได้จากเวลาที่เครียดเรามักจะมี อาการปากแห้ง คอแห้ง น้ำลายเหนียว และมีกลิ่นปากเพราะ ร่างกายถูกเผาตลอดเวลา พอมีอาการมาก ๆ กล้ามเนื้อก็โดน เผาไปด้วย ในที่สุดกล้ามเนื้อของเราก็แห้งจนแข็ง พอเส้นเอ็นแข็งยึดก็จะเกิดอาการปวดไปทั่วทั้งตัว
ความเครียดนั้นกระทบกับทั้งร่างกายและจิตใจ ผลกระทบทางจิตใจ คือเมื่อเราเครียดจะเกิดอาการตื่นเต้นง่าย ใจสั่น หงุดหงิดง่าย ใครทำอะไรนิดหน่อยก็ตีโพยตีพาย เกิดอารมณ์ แปรปรวน นอนไม่หลับ เป็นต้น
เทคนิคแก้อาการเครียด
วิธีแก้อาการเครียดมีเทคนิคง่าย ๆ คือ "ละทิ้งอดีต ไม่หมกมุ่นกับอนาคต แต่มีชีวิตอยู่กับปัจจุบัน" โดยมีหลักง่าย ๆ ดังนี้
- รู้สาเหตุของความเครียด
ก่อนอื่นเราควรรู้สาเหตุของความเครียดก่อนด้วยหลักวิเคราะห์ "ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค" โดยข้อแรกเราต้อง วิเคราะห์ก่อนว่า ที่เรามีความทุกข์หรือความเครียดนั้นเกิดจากเหตุอะไร เมื่อค้นหาเหตุได้แล้วเราจึงวิเคราะห์ต่อไปว่า เหตุต่าง ๆ นั้นมีต้นตอมาจากอะไร และเราควรจะแก้ไขอย่างไรต่อไป โดยมีหลักสำคัญว่า ให้เราสงบสติอารมณ์ อย่าให้ความเครียดเพิ่มขึ้นจากเดิมไปอีก
- มีจิตเป็นบวก
มีจิตเป็นบวก คือให้เรามองว่าทุกสิ่งทุกอย่างมีทางออกเสมอ ปัญหาทุกอย่างมีทางแก้ไข แล้วสร้างพฤติกรรมแบบนักแก้ไขปัญหา ไม่คิดท้อถอยเอาแต่หลบหนีปัญหา
ปัญหาทุกปัญหาไม่ได้อยู่กับเราไปตลอดชีวิต ดังนั้นไม่มีปัญหาใดที่แก้ไขไม่ได้ เราควรค่อย ๆ คิดหาทางออก ค่อย ๆ ปลดปล่อยความเครียดออกไป แล้วสติปัญญาจะเข้ามาแทนที่ ที่สำคัญถ้าเกิดความเครียดขึ้น อันดับแรกเราต้องทำใจให้นิ่ง โดยทำจิตให้ผ่องใสด้วยการนั่งสมาธิ
- ความเครียดคือความท้าทาย
อีกเทคนิคลดความเครียด คือให้เรามองว่าความเครียด เป็นความท้าทาย ความเครียดคือคู่แข่งของเรา ความเครียดเป็นสิ่งท้าทายความสามารถในการแก้ไขปัญหาของเรา ยิ่งมีปัญหามากเรายิ่งเก่งขึ้น เพราะฉะนั้น เราจะต้องเอาชนะให้ได้ด้วยการสู้กับปัญหา
- ไม่เอาใจไปผูกกับปัญหา
การไม่เอาใจไปผูกกับปัญหา คือถ้าเกิดปัญหาขึ้นเราก็ ควรแก้ไขอย่างเป็นลำดับขั้นตอน แต่เมื่อใดที่เราเอาใจไปผูกกับปัญหา ก็เหมือนกับเราเอาตัวเองไปผูกติดไว้กับตอไม้ แล้วเริ่มปรุงแต่งให้เกิดปัญหามากขึ้น เกิดความเครียดมากขึ้นจนเกิดกระแสความเครียดท่วมหัว
เพราะฉะนั้น เราต้องหยุดตัวเองให้ได้ก่อน ถ้าเรายังทำอะไรไม่ได้ก็ให้นั่งสมาธิ ถ้าฟุ้งซ่านมากจนนั่งสมาธิไม่ได้ก็ให้สวดมนต์แผ่เมตตา สุดท้ายเราก็จะนั่งสมาธิได้แล้วทำใจนิ่ง ๆ จนเกิดสติปัญญาได้เอง
- หมั่นดูเเลสุขภาพกายใจ
เมื่อใดที่มีความเครียดเกิดขึ้นอย่าลืมดูแลสุขภาพกายและสุขภาพใจให้ดี ถ้าเราดูเเลสองสิ่งนี้ให้ดีเเล้ว ไม่ว่าเราจะมีปัญหามากแค่ไหนก็ย่อมหาทางออกได้เนื่องจากเรามีพื้นฐานที่ดี พอมีพื้นฐานสุขภาพกายดี พื้นฐานใจดี เรื่องร้ายใด ๆ ก็ไม่สามารถเข้ามาทำลายกายและใจของเราได้
เมื่อใดก็ตามที่มีความเครียดเกิดขึ้น อันดับแรกเราต้องให้อภัยตัวเองก่อน ด้วยการไม่เพิ่มความเครียดให้กับตัวเอง ไม่ซ้ำเติมหรือต่อว่าตัวเองว่า ทำไมเราต้องมานั่งหมกมุ่นอยู่กับเรื่องนี้ ทั้ง ๆ ที่รู้อยู่เเล้วว่าต้องทำอย่างไร แต่ทำไมถึงปล่อยวางไม่ได้ เป็นต้น
อันดับสองให้ใจของเราระลึกถึงบุคคลที่เราเคารพบูชาเป็นสรณะ เช่น ระลึกถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือพระมหาเถระที่เราคุ้นเคยเคารพนับถือ เราเคารพบูชาหลวง (พระมงคลเทพมุนี หลวงปู่สด จันทสโร) ก็ให้เรานำดอกมะลิไปกราบบูชา ขอพรจากท่าน เเล้วนั่งสมาธิอยู่กับท่านให้ใจนิ่งมากขึ้นๆ ค่อยๆ น้อมใจให้พลังบารมีท่านมาสถิตอยู่กับเรา
ความเครียดจริง ๆ แล้ว 90% มาจากใจของเรา ความคิดปรุงแต่งของเรา พอเราคิดปรุงแต่งมากขึ้นความเครียดก็งอกเงยยิ่งกว่าดอกเบี้ย ดอกเบี้ยที่ไหน ๆ ก็น้อยกว่าดอกเบี้ยในใจของเรา เพราะฉะนั้น หากต้องการจะพิชิตความเครียดให้ได้ เราต้องพิชิตใจตัวเองก่อน
จากหนังสือ เนรมิตจิตใจ
โดย พระครูปลัดสุวัฒนโพธิคุณ (สมชาย ฐานวุฑโฒ)