ผู้เป็นศูนย์รวมใจ
วันนี้เป็นวันทำบุญบำเพ็ญกุศลสวดพระอภิธรรมถวายแด่...คุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง ผู้ให้กำเนิดวัดพระธรรมกาย เป็นครั้งที่ ๒๖๖ อาตมาก็ขอบรรยายธรรม ถึงประวัติ คุณธรรม คำสอนของคุณยายตามที่ได้เห็น ได้ยินหรืออยู่ในเหตุการณ์มาเล่าสู่กันฟัง
คุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง เป็นตัวอย่างนักสร้างบารมีที่เลิศและเป็นมหาปูชนียาจารย์ที่ทรงคุณค่าแห่งยุค งานที่ได้รับมอบหมายจากพระเดชพระคุณหลวงพ่อวัดปากนํ้า ทั้งขณะที่หลวงพ่อยังมีชีวิตอยู่ และที่ได้ฝากฝังไว้ก่อนท่านจะละโลกก็ทำได้สำเร็จสมบูรณ์ ไม่มีที่ติ สมกับที่หลวงพ่อวัดปากนํ้าชมไว้ว่า ลูกจันทร์ เป็นหนึ่งไม่มีสอง
ในช่วงใกล้วาระที่หลวงพ่อวัดปากนํ้าจะละโลก ท่านได้ฝากงานสำคัญไว้กับคุณยาย ๕ ประการ คือ
๑. ให้คุณยายไปตามนักสร้างบารมีอีกทีมหนึ่งมาเกิด
๒.ให้รออยู่ที่วัดปากน้ำก่อน จนกว่าทีมนักสร้างบารมีชุดนี้จะมาถึง
๓.ให้ถ่ายทอดวิชชาธรรมกายให้กับชุดนี้
๔. ให้รวมหมู่คณะสร้างวัด และสอนธรรมปฏิบัติเรื่อยไปอย่าหยุด เพราะคนที่มีอินทรีย์แก่กล้าพอจะเข้าถึงธรรมกายยังมีอยู่
๕. งานสุดท้าย ก็คือให้ขยายวิชชาธรรมกายไปทั่วโลก
ทั้งหมดนี้ คุณยายก็ทำได้อย่างสมบูรณ์ ก่อนถึงวาระที่ท่านละโลกไป ทำได้ครบทุกเรื่อง แม้งานสุดท้าย ดูเหมือนว่ายังทำไม่เสร็จ แต่ท่านก็ได้กำหนดแผนการต่างๆ ไว้ให้อย่างสมบูรณ์ ไม่มีอะไรน่าห่วงอีก
หลังจากที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อวัดปากนํ้าละสังขารไปแล้ว กลุ่มอุบาสิกาที่ร่วมกันทำวิชชากันในสมัยนั้นซึ่งมีหลายท่าน ก็อยากได้บุญพิเศษ แต่ละท่านก็ออกไปสร้างวัด สร้างสำนักของตัวเอง ได้อาราธนาพระภิกษุที่สนใจการประพฤติปฏิบัติธรรม รวมทั้งอุบาสก อุบาสิกา ไปสร้างวัดในท้องที่ต่างจังหวัดอยู่หลายวัด
มีคุณยายทองสุขแล้วก็มีอีกหลายๆ ท่านและมีพระอีกหลายๆ รูปที่อยูในทีมทำวิชชาสมัยนั้น แต่ละท่าน เมื่อไปเยี่ยมวัดของตนเองก็กลับมาเล่าสู่กันฟัง มาเล่าให้คุณยายฟังบ้าง เล่าให้ท่านโน้นท่านนี้ฟังบ้าง เออ วัดโน้นวัดนี้มีพระกี่รูป มีเนื้อที่กี่ไร่ มีสาธุชนผู้สนใจมาประพฤติปฏิบัติธรรมกันกี่คน ท่านฟังแล้วก็นึกอนุโมทนา
แต่ในใจลึกๆ คุณยายนึกว่า สักวันหนึ่ง เมื่อทีมงานของเรามาพร้อม เราจะสร้างวัดให้ใหญ่ ให้สวยที่สุด สร้างวัดให้เป็นวัด สร้างพระให้เป็นพระ เอาคนมานั่งธรรมะ ปฏิบัติธรรมเยอะๆ เราจะทำให้ดีที่สุด แล้วก็เอาส่วนละเอียดไปถวายพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในอายตนนิพพาน เพื่อเอาบุญละเอียดยิ่งๆ ขึ้นไป เป็นความปรารถนาของคุณยายมานานแสนนาน แต่ในช่วงที่คุณยายรอทีมงานอยู่ที่วัดปากน้ำ ท่านก็สอนธรรมะไปด้วยตามคำสั่งของหลวงพ่อวัดปากนํ้า สอนให้ประพฤติปฏิบัติธรรมไป ช่วงแรกก็อยู่ในอาคารทำวิชชาหลังเดิมของวัดปากน้ำ แต่หลังจากคุณยายทองสุขท่านละสังขารไป คุณยายก็ สอนธรรมะที่บ้านคุณยายทองสุขเรื่อยมา ซึ่งหลวงพ่อธัมมชโยมักจะเรียกบ้านหลังนั้นว่า บ้านกัลยาณมิตรหมายเลข ๑
ต่อมา เมื่อคุณยายได้พบกับหลวงพ่อธัมมชโย ซึ่งชณะนั้นท่านยังเป็นฆราวาส เป็นนักเรียน นักศึกษา คุณยายได้สอนธรรมะจนกระทั่งหลวงพ่อธัมมชโยแตกฉานในวิชชาธรรมกาย จึงได้ไปชวนพี่ๆ น้องๆ ในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มา มีหลวงพ่อทัตตชีโว แล้วก็มีทีมงานอีกหลายๆ ท่านเพี่อที่จะมารวมกลุ่มปฏิบัติธรรมกัน และได้มาช่วยกันสร้างบ้านธรรมประสิทธิ์วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ซึ่งหลวงพ่อธัมมชโยมักจะเรียกว่า บ้านกัลยาณมิตรหมายเลข ๒
ครั้นกลุ่มปฏิบัติธรรมใหญ่ขึ้น มีจำนวนหลายสิบ จนกระทั่งเป็นร้อย และหลายๆ ร้อยคน พื้นที่ปฏิบัติธรรมที่นั่น คือที่บ้านธรรมประสิทธิ์ก็เริ่มจะแคบลง เวลารวมกลุ่มปฏิบัติธรรมในวันอาทิตย์แต่ละครั้ง โดยเฉพาะในวันอาทิตย์ต้นเดือนคนก็มาก จนกระทั่งล้นออกมาทางเดินหน้าบ้าน และนอกรั้วบ้าน คุณยายก็มาพิจารณาว่า กลุ่มของเราเริ่มใหญ่แล้วถึงเวลาสมควรที่จะขยับขยายพื้นที่ไปสร้างวัดได้แล้ว ก็เริ่มมีความคิดที่จะหาพื้นที่สร้างวัดตามที่หลวงพ่อวัดปากนํ้าเคยชี้ช่องทางเอาไว้ ก็ได้ป้าหวิน (อุบาสิกาถวิล วัติรางกูล ปัจจุบันถึงแก่กรรมแล้ว) เป็นผู้นำบุญไปบอกบุญกับคุณหญิงประหยัด แพทยพงศาวิสุทธาธิบดี ซึ่งเป็นแม่ของอาจารย์วรณี สุนทรเวช เราก็เลยได้ที่ดิน ๑๙๖ ไร่มาสร้างวัดพระธรรมกายกันที่คลองสาม ปทุมธานีนี้แหละ
คุณยายทุ่มสุดชีวิตที่จะสร้างวัดใหม่ด้วยเงินทุน ๓,๒๐๐ บาทที่มีอยู่ทั้งหมดในขณะนั้น สร้างวัดไป สอนธรรมะไป ชักชวนคนทำบุญไป คุณยายสอนธรรมะอยู่ที่บ้านธรรมประสิทธิ์จนกระทั้งวันที่ ๑๘ เมษายน พ.ศ. ๒๕๑๘ ท่านก็ย้ายจากวัดปากนํ้ามาอยู่ที่คลองหลวง วัดพระธรรมกาย ซึ่งสมัยนั้นใช้ชื่อว่า ศูนย์พุทธจักรปฏิบัติธรรม
ส่วนอาตมาเองเข้าวัดมาปี พ.ศ. ๒๕๑๗ ยังโชคดีที่เป็นปีสุดท้ายก่อนที่คุณยายจะย้ายมาจากบ้านธรรมประสิทธิ์ เคยได้ไปร่วมปฏิบัติธรรมกับคุณยายที่บ้านธรรมประสิทธิ์ ในช่วงปีสุดท้ายอยู่หลายครั้ง ยังทันได้เห็นวัตรปฏิบัติของคุณยายอย่างใกล้ชิดที่วัดปากนํ้า เห็นกิจกรรมที่ท่านทำในแต่ละวัน จนกระทั้งได้เห็นถึงวิธีทำความสะอาดที่ดีเยี่ยมของท่าน
ในการสร้างวัด นโยบายหลักของคุณยายคือต้องมี ๑. ความสะอาด ๒. ความมีระเบียบ และ ๓. การสอนธรรมะภาคปฏิบัติ ตามวิธีการของหลวงพ่อวัดปากนํ้า พระมงคลเทพมุนี (สดจนฺทสโร) ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย ญาติโยมทั้งหลายมาวัดก็จะชื่นชมกันในเรื่องของความสะอาด ความมีระเบียบ และการปฏิบัติธรรม ซึ่งตรงตามนโยบายทุกประการ
คุณยายมักจะบอกบ่อยๆ ว่า ถ้าเราทำวัดให้สะอาดแล้ว คนเห็นก็จะสบายใจ คนที่จิตใจยุ่งเหยิง พอมาเห็นความมีระเบียบ ใจเขาก็จะมีระเบียบตาม ซึ่งจะเป็นต้นทางในการเข้าถึงธรรม แม้พวกเราอุบาสก อุบาสิกาที่ช่วยกันทำความสะอาด ท่านจะสอนว่า เวลาทำความสะอาดวัด ใจเราจะสะอาดตาม วิมานเราก็จะสะอาดไปด้วย เมื่อใจเราสะอาด เวลาเราหลับตาจะนั่งธรรมะ ท่านใช้คำว่า ใจมันดิ่งเข้ากลางคล่องดี เพราะฉะนั้นคุณยายจึงชอบมากในเรื่องการทำความสะอาดเสนาสนสงฆ์
จากหนังสือ เกิดด้วยสองมือยาย
พระรังสฤษดิ์ อิทฺธิจินฺตโก