ผู้เป็นศูนย์รวมใจ ตอนที่ ๒

วันที่ 23 ธค. พ.ศ.2564

641223_%E0%B9%80%E0%B8%99%E0%B8%B7%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%AB%E0%B8%B2-1.jpg

ผู้เป็นศูนย์รวมใจ ตอนที่ ๒

         หลังจากที่คุณยายมาอยู่ที่วัดพระธรรมกายแล้ว วันอาทิตย์จะเป็นวันบุญที่ญาติโยมมาวัดกันมาก คุณยายจึงวางนโยบายเอาไว้ว่า เช้าวันอาทิตย์ ก่อนที่สาธุชนจะมา ทุกอย่างต้องสะอาดเรียบร้อย ใครจะเตรียมงานแผนกไหนจะเตรียมงานอย่างไร เท่าไหร่ ก็ทำไปเถอะ แต่ว่าไม่ใช่เตรียมไปจนกระทั่งไม่มีจุดสิ้นสุด ท่านขีดเส้นใต้เอาไว้ว่า เช้ามืดวันอาทิตย์ต้องเรียบร้อยพร้อมใช้งาน

          เพราะฉะนั้น ทุกคนก็ต้องทำอย่างมีแผน ทุกแผนกถึงเช้ามืดวันอาทิตย์ต้องสะอาดสมบูรณ์ แล้วก็เรียบร้อย แล้วท่านยังสั่งอีกว่า เมื่อเรียบร้อยแล้ว ไม่ใช่หยุดอยู่เท่านั้นนะ ทุกคนต้องมาช่วยกันยืนยิ้มหรือนั่งยิ้ม ต้อนรับแขกด้วย แล้วหลังเสร็จงานบุญตอนเย็นให้ช่วยกันเก็บงานให้เรียบร้อย อย่าให้ข้ามวัน

641223_%E0%B9%80%E0%B8%99%E0%B8%B7%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%AB%E0%B8%B2-2.jpg

          ผู้ที่เป็นหัวหน้างาน ไม่ว่าจะเป็นอุบาสกผู้ใหญ่ หรือพระผู้ใหญ่ในวัดที่รองๆ ลงมา ท่านก็มักจะบอกเสมอว่า พอจะถึงวันอาทิตย์หรือว่าก่อนจะถึงวันอาทิตย์ ก็มาช่วยกันตรวจตราดูว่า มีอะไรที่ยังบกพร่อง ถูกหลงลืม หรือยังไม่ได้ทำ ต้องรีบแก่ไขเสียให้ทัน อย่ามัวนั่งจมอยู่แต่ในห้องมาช่วยกันดู ช่วยกันทำ อย่าปล่อยให้ลูกน้องทำงานอยู่ฝ่ายเดียว หรืออย่ารอให้หลวงพ่อธัมมะต้องมาสั่ง เรารีบขวนขวายดูแลกันเสียก่อนให้สำเร็จ

           เพราะฉะนั้น กว่าจะเตรียมงานบุญใหญ่ หรืองานวันอาทิตย์เสร็จแต่ละครั้งได้ เจ้าหน้าที่แต่ละท่านแต่ละแผนกต้องบอกว่า เหนื่อยทีเดียวคุณโยม แต่ทุกคนก็หวังจะเอาบุญที่จะให้ญาติโยมผู้ที่มาวัดนั้น ได้รับความสะดวกในการประพฤติปฏิบัติธรรม 

          แล้วยุคนั้น (ช่วง พ.ศ. ๒๕๑๗-๒๕๒๘) ในวัดของเราก็แปลก เราเริ่มสร้างวัดใหม่ๆ ภัยธรรมชาติมักจะเกิดวันเสาร์หรือก่อนงานบุญ ๑ วันเสมอ ราวกับตั้งใจมาเพิ่มขันติบารมีให้ เดี๋ยวฝนตกบ้าง เดี๋ยวไฟฟ้าดับ ลมพายุมา ต้นไม่โค่น เต็นท์โค่นล้มกระจุยกระจาย ท่อประปาแตก ทำให้เราต้องรีบแก้ไข รีบซ่อม รีบจัดการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ก่อนที่จะถึงวันอาทิตย์ อย่าให้ญาติโยมมาเห็นสภาพที่ไม่น่าดู

641223_%E0%B9%80%E0%B8%99%E0%B8%B7%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%AB%E0%B8%B2-4.jpg

           ยิ่งถ้าสมัยก่อนอยู่ที่ ๑๙๖ ไร่ เราต้องเช่าเต็นท์มากางเสริม ถ้าฝนตกนํ้านองล่ะก็ หลวงพ่อทัตตชีโว หลวงพี่ฐิตสุทโธ ก็ต้องรีบนำทีมเรียกเด็กวัดอุบาสกทุกคน ถือจอบถือเสียมคนละอัน ไปขุดร่องดินปล่อยนํ้าไหลออกไป อย่าให้เจิ่งนอง บางจุดต้องเอาหินเกล็ดหรือทรายมาโรยเสริม เพราะรุ่งขึ้นญาติโยมมาต้องใช้พื้นที่ตรงสนามดิน สนามหญ้าเป็นพื้นที่นั่งธรรมะ ถ้าพื้นที่แฉะก็จะนั่งไม่ได้ เดี๋ยวเสื้อผ้าเขาจะเปรอะเลอะเทอะ นี่แหละ คือการเตรียมงานของเราในสมัยนั้น ต้องเตรียมพื้นที่ให้พร้อม สำหรับญาติโยมมานั่งปฏิบัติธรรม ทุกอย่างต้องเสร็จก่อนญาติโยมมาถึงในตอนเช้า ซึ่งบ่อยครั้งก็เสร็จกันแบบเฉียดฉิวเลยทีเดียว

           ยังดีที่สมัยนี้ เรามีสภาธรรมกายสากลหลังใหม่ และก็หลังใหญ่ ปัญหาเรื่องนี้ก็น้อยลง สามารถสร้างบุญบารมีจากพื้นที่นี่ได้อีกเยอะ คุณยายเองท่านก็เข้าใจดีว่า ลูกศิษย์ลูกหาเด็กวัดในสมัยนั้นเหนื่อยกันจริงๆ ในการเตรียมงานวันอาทิตย์ เพราะฉะนั้น เย็นวันอาทิตย์ เมื่อเสร็จจากงาน แขกเริ่มทยอยกลับ คุณยายไม่ได้อยู่กุฏิเปล่าๆ นะ ท่านจะเดินออกมาตรวจว่า งานอะไรยังเก็บไม่เรียบร้อย แล้วก็คอยสั่งงานให้กำลังใจเด็กๆ เจ้าหน้าที่ที่ยังไม่ได้กลับบ้าน รอเก็บงานอยู่

641223_%E0%B9%80%E0%B8%99%E0%B8%B7%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%AB%E0%B8%B2-5.jpg

           ท่านจะมาพูดให้กำลังใจ เออ อย่างนี้สิดี ไอ้หลานกู ทำงานแล้วก็ต้องเก็บงาน เก็บบุญไปให้หมดอย่าให้มีซากของเหลือให้หลวงพี่หลวงพ่อท่านต้องมาเก็บงานตามหลัง พวกเราก็จะได้บุญที่สมบูรณ์บริบูรณ์ แล้วก็สอนเทคนิคการทำงาน ทำอย่างนี้สิไอ้หลาน ทำอย่างนี้สิคุณ ทำอย่างนี้มันจะเสร็จ ทำอย่างนี้มันจะง่ายเรียบร้อย มักผ้าขี้ริ้วอย่างนั้น แล้วตากให้ขนาดมันเรียงลำดับเข้าแถวกันอย่างนี้ ของทั้งหลายจัดเรียงกันอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วจะทั้งสะอาด ทั้งเรียบร้อย จะหยิบก็ง่าย หายก็รู้ ดูก็งามตา

641223_%E0%B9%80%E0%B8%99%E0%B8%B7%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%AB%E0%B8%B2-6.jpg

           คุณยายมาให้ทั้งความรู้ ให้ทั้งธรรมะ แล้วก็มาให้ทั้งบุญกับเจ้าหน้าที่ทุกคน ความเป็นอยู่ของพวกเราสมัยนั้นจึงอบอุ่น และตอนท้ายก่อนที่จะส่งเด็กๆ กลับบ้าน คุณยายก็ยังไม่ลืมที่จะชวนทิ้งท้ายไปว่า "เสาร์อาทิตย์หน้า มาเอาบุญกับยายอีกนะไอ้หลานนะ" จะเป็นคำพูดที่เจ้าหน้าที่ทุกคนในสมัยนั้นได้ยินจนชินหู ตอนที่จะลา คุณยายกลับบ้านในตอนเย็นวันอาทิตย์

641223_%E0%B9%80%E0%B8%99%E0%B8%B7%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%AB%E0%B8%B2-7.jpg

          ทำให้พวกเราในยุคนั้นเป็นคนที่ค่อนข้างจะติดวัดทีเดียว เราอยากได้บุญ อยากได้ธรรมะ แล้วก็อยากได้สมบัติไปในภพเบื้องหน้า ฟังดูเหมือนเป็นเรื่องธรรมดา การเตรียมงานแบบนี้ แต่ว่าถ้าทุกท่านสองค่อยๆ พิจารณาสักนิดหนึ่งว่า เราต้องทำกิจกรรมนี้ทุกสัปดาห์ ทุกเดือน แล้วก็ทุกปี ซึ่งอย่างน้อยปีละ ๕๒ ครั้ง ไม่รวมงานบุญใหญ่ งานบุญพิเศษ มันจะไม่เหมือนกับวัดอื่น วัดอื่นๆ เขามีงานกันก็ปีละครั้ง สองครั้ง แต่เราเป็นวัดที่กำลังก่อสร้าง แล้วก็เป็นวัดที่มุ่งเน้นเรื่องการสอนปฏิบัติภาวนา เราจึงต้องทำกิจกรรมบุญบ่อยๆ ทุกสัปดาห์อย่างต่อเนื่อง

641223_%E0%B9%80%E0%B8%99%E0%B8%B7%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%AB%E0%B8%B2-8.jpg

           เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องไม่ง่ายเลยที่จะทำให้เจ้าหน้าที่เหล่านั้นเกิดความต่อเนื่องในการมาวัด มีศรัทธาที่จะมาช่วยงาน ต้องมีคนที่มีกำลังใจอันสูงส่งทีเดียว จึงจะสามารถผูกใจเด็กๆ เหล่านั้นเอาไวัได้ ซึ่งในสมัยนั้นก็มีอุบาสกอยู่น้อย หรืออาสาสมัครก็มีอยู่น้อย และแต่ละคนที่มาช่วยงานนั้นก็มาจากหลายๆ ที่ มีพื้นเพความรู้มาไม่เท่ากัน มีประสบการณ์ มีสติปัญญามาไม่เท่ากันบางคนก็ได้หน้าลืมหลัง ได้หลังลืมหน้า ทำให้ในยุคนั้นมีเรื่องให้คุณยายต้องอบรมได้เกือบทุกวัน คุณยายก็ไม่เบื่อที่จะอบรมให้กำลังใจอุบาสก และเจ้าหน้าที่อาสาสมัครทั้งหลาย

641223_%E0%B9%80%E0%B8%99%E0%B8%B7%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%AB%E0%B8%B2-10.jpg

          คุณยายมักจะบอกเสมอๆ ว่ายายจะพูดบ่อยๆ บ่นบ่อยๆ อย่าเพิ่งเบื่อยายก็แล้วกัน คุณยายไม่เบื่อที่จะสอนพวกเรา แต่ท่านกลับมาถามพวกเราว่า พวกเราเบื่อที่จะฟังยายสอนหรือยัง เราทุกคนต่างก็ยกมือพนมกัน อยากได้ยินคุณยายสอนเรื่อยๆ อยากได้ธรรมะอย่างคุณยายอยากฝึกตัวเองได้อย่างคุณยาย คุณยายบอก เออ ดีแล้ว เพราะฉะนั้น ต้องอดทนนะ อดทนใหได้อย่างยาย ขยันให้ได้อย่างยายนะไอ้หลาน 

          คุณยายเคยบอกอาตมาว่า อุบาสกชุดแรกๆ นี้ยายจะต้องเข้มงวดเป็นพิเศษ ต้องอบรมหนักหน่อย เพราะว่าต่อไปชุดนี้จะต้องบวช จะได้เป็นพระที่ดีไปอบรมสั่งสอนคนอื่น รุ่นต่อไปให้ด้ได้ ทำให้อาตมานึกถึงพุทธพจน์ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสกับพระอานนท์ว่า "อานนท์ เราจักไม่พยายามกระทำกับพวกเธออย่างทะนุถนอม เหมือนพวกช่างหม้อทำกับดีนปั้นหม้อที่ยังเปียกยังดิบอยู่ อานนท์ เราจะขนาบแล้วขนาบอีกไม่มีหยุด เราจะชี้โทษแล้วชี้โทษอีกไม่มีหยุด ผู้ใดมีมรรคผลเป็นแก่นสาร ผู้นั้นจะทนอยู่ได้" นี้แหละในยุคสมัยพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ท่านก็ทรงสอนอย่างนี้

จากหนังสือ เกิดด้วยสองมือยาย 

พระรังสฤษดิ์ อิทฺธิจินฺตโก

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0016528487205505 Mins