แนวทางการฝึกตัวของผู้รักที่จะเป็นคนดี

วันที่ 04 มค. พ.ศ.2565

650104_B.jpg

แนวทางการฝึกตัวของผู้รักที่จะเป็นคนดี

          การฝึกตนให้รู้จักตนเองอย่างแท้จริง รู้จริงถึงคุณและโทษของสิ่งแวดล้อมทั้ง ๕ ชนิด เป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่ง ท่านผู้รู้จริงจึงให้แนวทางในการฝึกตนไว้เป็นเชิงอุปมาเปรียบเทียบว่า

          "เมื่อน้ำขุ่นมัว ไม่ใส บุคคลย่อมไม่เห็น หอยกาบ หอยโข่ง กรวด ทราย และฝูงปลาฉันใด เมื่อจิตขุ่นมัว บุคคลย่อมไม่เห็นประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นฉันนั้น
          ในทางตรงข้าม เมื่อน้ำไม่ขุ่นมัว ใสบริสุทธิ์ บุคคลย่อมแลเห็น หอยกาบ หอยโข่ง กรวด ทราย และฝูงปลาฉันใด เมื่อจิตไม่ขุ่นมัว บุคคลก็ย่อมเห็นประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นฉันนั้น"  จาก ขุ.ชา. ๕๗/๒๑๙-๒๒๐/๑๙๖ (ไทย.มมร)

          จากแนวทางฝึกตัวตามที่อุปมาไว้ข้างต้นนี้ แสดงว่าผู้ที่รักจะเป็นคนดีจริงจำเป็นต้องปฏิบัติตนดังนี้

๑. ศึกษาและฝึกงานวิชาการต่างๆ ทางโลกให้มากพอ โดยเฉพาะเรื่องที่เราตั้งใจจะทำ

๒. ตั้งความปรารถนาอย่างแรงกล้าว่า ชาตินี้ต้องเป็นคนดีให้ได้ในระดับใดระดับหนึ่ง ไม่ว่าจะระดับครอบครัว ประเทศชาติ หรือระดับโลก

๓. ตั้งใจศึกษาเจาะลึก เพื่อหยั่งเห็นสภาวธรรมตามความเป็นจริงของสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำความดีนั้นๆ ของตน สภาวธรรมดังกล่าวนั้นมี ๒ ลักษณะ ได้แก่

          ๓.๑ สภาวลักษณะ เป็นลักษณะเฉพาะตัวของวัตถุ สิ่งของ รวมถึงเรื่องราวเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับวัตถุ สิ่งของนั้น แต่ไม่มีในสิ่งของอื่นๆ เมื่อเรารู้จริงลักษณะเฉพาะของสิ่งนั้นๆ แล้ว จะสามารถใช้ประโยชน์ในการทำความดีได้อย่างเต็มที่และป้องกันภัยที่จะเกิดขึ้นได้ด้วย เช่น

               กรด ย่อมมีลักษณะของกรดโดยเฉพาะ เป็นคุณเป็นโทษต่อร่างกาย และสิ่งของเครื่องใช้
               ด่าง ย่อมมีลักษณะของด่างโดยเฉพาะ เป็นคุณเป็นโทษต่อร่างกาย และสิ่งของเครื่องใช้
               ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ย่อมมีลักษณะเฉพาะ ต่างกันไป
               ลม แดด ฝน ย่อมมีลักษณะเฉพาะ ต่างกันไป
               ความโลภ ย่อมมีลักษณะเฉพาะ คือ กำหนัด พอใจ อยากได้ ทะยานอยาก
               ความโกรธ ย่อมมีลักษณะเฉพาะ คือ ไม่พอใจ
               ความฟุ้งซ่าน ย่อมมีลักษณะเฉพาะ คือ ทำให้ใจซัดส่ายไปมา
               สมาธิ ย่อมมีลักษณะเฉพาะ คือ ทำให้ใจตั้งมั่นในอารมณ์
               ฯลฯ

          ๓.๒ สามัญลักษณะ เป็นความเสมอกัน เหมือนกัน และเท่ากัน ๓ ประการ ซึ่งมีอยู่ในทุกสรรพสัตว์และสรรพสิ่ง มีทั้งในตัวของเราและในสิ่งแวดล้อมทุกชนิด ได้แก่

๑) อนิจจัง ความไม่เที่ยงแท้แน่นอนของสรรพสัตว์และสรรพสิ่ง คือ มีแล้วกลับไม่มี เสื่อมสิ้นไป เปลี่ยนแปลงละสภาวะปกติของตนไปทุกอนุวินาที

๒) ทุกขัง เป็นทุกข์ มีลักษณะบีบคั้นอึดอัดขัดข้อง ลำบาก ทนได้ยาก เพราะทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้

๓) อนัตตา ไม่ใช่ตัวตน คือ ไม่มีอิสระไม่สามารถควบคุมให้อยู่ในอำนาจของตนเอง เช่น ทุกคนต้องตาย ใครๆ ก็ไม่สามารถต้านทานขัดขืนไม่ให้ตัวเองตายได้

          ลักษณะสามัญ ๓ ประการนี้ ผู้ทำความดีทุกท่านต้องหมั่นพิจารณาเป็นประจำ เพื่อเตรียมใจรับทุกสภาพ

          - เมื่อได้สิ่งที่ชอบใจ ก็อย่าหลงดีใจเกินไป เพราะมันก็มีอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาอยู่ในตัว ถ้ามันต้องจากเราไป ก็อย่าเป็นทุกข์กับมัน เพราะมันเป็นธรรมดาของมันอย่างนั้น

          - เมื่อได้สิ่งที่ไม่ชอบใจ ก็อย่าหลงเสียใจเกินไป เพราะมันมีอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาอยู่ในตัว ไม่ช้าความเดือดเนื้อร้อนใจ อุปสรรคใดๆ ย่อมหมดไป ถ้าเรายังยืนหยัดสู้ต่อไป

๔. ตั้งใจฝึกฝนตนเองให้มีใจผ่องใส มั่นคงเป็นนิจ เพื่อสามารถควบคุมจิตใจตนเอง ไม่ให้หวั่นไหวเมื่อเผชิญอุปสรรครู้จักระแวงภัยที่น่าระแวง และสามารถป้องกันภัยนั้นไม่ให้เกิดขึ้นได้ โดยเริ่มต้นจากการเรียนรู้ที่จะป้องกันรักษาชีวิตของตนเองก่อน ซึ่งชีวิตมีองค์ประกอบ ๔ ประการ คือ ๑) กาย ๒) อายุ ๓) ไออุ่น ๔) ใจ

          ๔.๑ กาย หมายถึง ร่างกายของเรา ประกอบด้วย ธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ผสมกัน สัดส่วนของแต่ละธาตุ ที่ผสมกันเป็นกาย ก็มีแตกต่างกันเป็นกลุ่มก้อนน้อยใหญ่ คือ เกิดเป็นเซลล์เล็ก ๆ ลักษณะต่างกันไป กลุ่มเซลล์แต่ละกลุ่มรวมกันเป็นอวัยวะ แบ่งออกเป็น

๑) อวัยวะภายนอกเห็นได้ตั้งแต่ปลายผมจรดฝ่าเท้า เช่น ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ฯลฯ
๒) อวัยวะภายใน เช่น ตับ ไต ไส้ พุง หัวใจ ปอด ฯลฯ

          เซลล์และอวัยวะต่าง ๆ ทำงานร่วมกันเป็นระบบอย่างแข็งขัน ซึ่งระบบในร่างกายของเรามีหลายส่วน ได้แก่ ระบบประสาท ระบบหายใจ ระบบย่อยอาหาร ระบบหมุนเวียนโลหิต ระบบขับถ่าย ระบบผิวหนัง ระบบกล้ามเนื้อ ระบบต่อม ระบบโครงกระดูก และระบบสืบพันธุ์ ทั่วทั้งกาย ทั้งหมดนี้ย่อมมีลักษณะเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ปรากฏอยู่เสมอ

          ๔.๒ อายุ คือ ช่วงเวลาที่ดำรงชีวิตอยู่จนถึงก่อนตาย โดยเฉลี่ยแต่ละคนอายุประมาณ ๗๕ ปี อย่างมากไม่เกินร้อยปี หรือเกินก็ไม่นานนัก หากใครใช้ชีวิตด้วยความประมาท ก็อาจป่วย พิการ หรือเสียชีวิตก่อนวัยอันควรได้ ดังนั้น ควรรีบทำความดีตั้งแต่เดี๋ยวนี้จะได้มีความดีติดฝังใจไปภพหน้าเพราะทุกคนต้องตาย แต่จะตายเมื่อไร ที่ไหนอย่างไร ก็ไม่มีใครรู้ล่วงหน้าได้เลย

          ๔.๓ ไออุ่น คือ พลังงานที่ร่างกายสร้างขึ้น เพื่อให้ชีวิตดำเนินไปได้ โดยอาศัยวัตถุดิบสำคัญ ๓ ประการจากสิ่งแวดล้อมภายนอกเข้ามาป้อน ได้แก่ อาหาร น้ำ และอากาศที่สะอาดบริสุทธิ์ มีคุณภาพ ได้สัดส่วนกัน และมีปริมาณมากพอ โดยอาหารและน้ำต้องได้ตรงเวลา อากาศต้องมีตลอดเวลา เพื่อประคองร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอที่อุณหภูมิราว ๓๗ องศาเซลเซียส หากอุณหภูมิสูงหรือต่ำกว่านี้ ย่อมก่อให้เกิดโรคร้อน โรคหนาวกำเริบขึ้นในร่างกาย หากป้อนอาหารและน้ำผิดเวลา ย่อมก่อให้เกิดโรคหิว โรคกระหายกำเริบ เมื่อป้อนอาหารและน้ำเข้าสู่ร่างกายแล้ว ก็จะมีกาก ของเสียจากอาหารและน้ำที่ต้องกำจัดออกจากร่างกาย ก่อให้เกิดโรคปวดอุจจาระ โรคปวดปัสสาวะกำเริบ

          โรคทั้ง ๖ ประการนี้ เราต้องเผชิญตั้งแต่เกิดจนตายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากร่างกายมีเซลล์ มีอวัยวะ มีระบบต่างๆ ทำงานร่วมกันและมีอายุเป็นองค์ประกอบร่วม กายจึงสามารถ

๑) สร้างพลังงานไออุ่น หล่อเลี้ยงชีวิตได้เอง
๒) สร้างพลังงานให้ร่างกายเคลื่อนไหวทำการงานได้
๓) ซ่อมแซมร่างกายตนได้
๔) ต่อสู้เชื้อโรคยามเจ็บไข้ได้

          ๔.๔ ใจ เป็นธรรมชาติพิเศษชนิดหนึ่ง มีอำนาจรู้ คิด และสั่งการได้ เมื่อใจคิดและสั่งการให้กายทำงาน เช่น สั่งให้ยืน เดิน นั่ง นอน พูด อ่าน เขียน ฯลฯ กายจึงจะเคลื่อนไหวทำตามคำสั่งนั้น หากใจไม่สั่งการ แม้ร่างกายแข็งแรงปานใด ย่อมอยู่เฉยๆ ไม่อาจขยับเขยื้อนทำงานใดๆ ได้

          กายเป็นรูปธรรมสามารถมองเห็นจับต้องได้ ขณะที่ใจเป็นนามธรรมมองไม่เห็นแต่รู้ได้ว่ามี อาการที่แสดงออกให้รู้ได้ว่าเรามีใจ คือ การมีอารมณ์ความรู้สึก มีความจำ มีความคิด และมีความรู้ เมื่อใดที่คนมีแต่กายไม่มีใจอยู่ร่วมด้วย จะเรียกกายนั้นว่า ศพ

          ใจถูกบังคับให้ต้องมีกายเป็นบ้านไว้อยู่อาศัย ทุกคนมีกายจึงต้องมีใจ มีใจก็ต้องมีกาย ความมีชีวิตจึงจะเกิดขึ้นและดำรงอยู่ได้ ที่สำคัญ ใจทำหน้าที่เป็นนาย กายเป็นบ่าว การงานทุกชนิดจึงสำเร็จได้ด้วยใจ

          ถ้าใจไม่ดี ขุ่นมัว การทำ การพูด ก็พลอยไม่ดีไปด้วย เพราะความไม่ดีนั้นเป็นเหตุ ความทุกข์ย่อมติดตามมา เหมือนล้อเกวียนหมุนตามรอยเท้าโค ถ้าใจดี ใจผ่องใส การทำ การพูดก็พลอยดีไปด้วย เพราะความดีนั้น ความสุขย่อมติดตามมาเหมือนเงาตามตน เราจึงต้องศึกษาธรรมชาติของใจ เพื่อการดำเนินชีวิตของเราจะได้ถูกต้องเป็นสุขตลอดทาง

*****

ทุกคนมีกายจึงต้องมีใจ
มีใจก็ต้องมีกาย
ความมีชีวิตจึงจะเกิดขึ้นและดำรงอยู่ได้
ที่สำคัญ ใจทำหน้าที่เป็นนาย กายเป็นบ่าว
การงานทุกชนิดจึงสำเร็จได้ด้วยใจ

*****

จากหนังสือ สติ สัมปชัญญะ รากฐานการศึกษาของมนุษยชาติ

เผด็จ ทตฺตชีโว

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.025306300322215 Mins