กิจวัตรเพื่อฝึกสติสัมปชัญญะ

วันที่ 17 มค. พ.ศ.2565

650117_BB.jpg

กิจวัตรเพื่อฝึกสติสัมปชัญญะ

          ทุกครั้งที่ใจแวบออกไปนอกกาย ใจย่อมไม่อาจควบคุมตัวเองได้ เพราะตาก็จะฉุดให้ไปดูรูปที่น่าพอใจบ้าง ไม่น่าพอใจบ้าง หูก็จะฉุดให้ไปฟังเสียง จมูกก็จะฉุดให้ไปดมกลิ่น ลิ้นก็จะฉุดให้ไปลิ้มรส กายก็ฉุดให้ไปสัมผัสสิ่งของ และใจก็จะฉุดไปคิดเรื่องที่น่าพอใจบ้าง ไม่น่าพอใจบ้าง จึงมีทั้งรูป-เสียง-กลิ่น-รส-สัมผัส-เรื่องราวที่น่าพอใจและไม่น่า
พอใจแย่งกันมากระทบกระทั่งใจ ใจจึงขุ่น มีสภาพล้มลุกคลุกคลาน คือ ยินดีเมื่อได้ ยินร้ายเมื่อเสียต่อสิ่งที่มากระทบ และคร่ำครวญเมื่อสิ่งที่ตนพอใจต้องเปลี่ยนแปรผันเป็นอื่นไปตามกฏอนิจจัง คือ อะไรก็ตาม เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ย่อมตั้งอยู่ได้ชั่วระยะหนึ่งเท่านั้น สุดท้ายก็ต้องดับไป เพราะแม้แต่ตัวเราเองยังต้องแก่ เจ็บ ตาย

           ขอเพียงไม่ดูเบา ตั้งใจเจริญสมาธิภาวนาเพิ่มพูนสติ ไม่ยอมว่างเว้น ใจที่เคยแวบหนีออกเที่ยวก็จะกลับเชื่องลงอยู่กลางกายนานขึ้น แล้วจะรู้สึกเองว่าใจสดชื่นขึ้น ผ่องใสขึ้นไปตามลำดับๆ ด้วยกิจวัตร เก็บใจไว้กลางกาย ๓ ประการ

           ๑. กิจวัตรสวดมนต์ เช้า-เย็น เป็นประจำ

           ๒. กิจวัตรเจริญสมาธิภาวนา เช้า-เย็น เป็นประจำ ใครถนัดกำหนดใจให้หยุดนิ่งในกายด้วยวิธีไหนก็ใช้วิธีนั้น เช่น กำหนดลมหายใจเข้า-ออก หรือกำหนดนิมิตเป็นดวงแก้วใส หรือพระพุทธรูปใสไว้กลางกายอย่างน้อยครั้งละ ๑๕-๓๐ นาที

           ๓. กิจวัตรเก็บรักษาใจไว้กลางกายเป็นประจำ ตั้งแต่ตื่นนอนกระทั่งกลับเข้านอน คือ ไม่ว่าจะอาบน้ำ ล้างหน้า แปรงฟัน รับประทานอาหาร ล้างจาน ซักผ้า ขัดห้องน้ำ กวาดบ้าน ถูบ้าน ออกกำลังกาย ว่ายน้ำ ขับรถ ทำการงาน เลี้ยงชีพ ขณะทำงานเหล่านั้นไป ก็ทำใจว่างโปร่งโล่งเบาไป พร้อมกับประคองเก็บรักษาใจไว้กลางกายอาจประคองด้วยการกำหนดลมหายใจเข้า-ออก กำหนดนิมิตเป็นดวงแก้วหรือพระพุทธรูปใสๆ ก็ได้

          หลังจากปฏิบัติกิจวัตรเก็บใจไว้กลางกาย ๓ ประการ อย่างต่อเนื่อง ๓ สัปดาห์ ย่อมรู้ตัวเองว่าใจผ่องใสขึ้นมาตามลำดับ แม้มีเรื่องวุ่นวายใดมากระทบระหว่างวันก็สามารถปล่อยผ่านและแก้ไขเหตุการณ์ได้ง่าย ใจก็กลับผ่องใส ได้รวดเร็ว สิ่งใดที่เคยรู้สึกว่าเข้าใจยากก็กลับเข้าใจง่ายเพราะความผ่องใสของใจที่เพิ่มขึ้น ที่สำคัญคือ เมื่อปฏิบัติต่อเนื่องต่อไป ไม่ช้าย่อมเข้าใจถูกวัตถุประสงค์แท้จริงของการใช้ปัจจัย ๔ แต่ละชนิด ตรงตามที่ท่านผู้รู้จริงได้กล่าวไว้ อันเป็นต้นทางของความมีสติระลึกถึงความจริงสิ่งที่ต้องทำ คำที่ต้องพูด และมีสัมปชัญญะรู้ตัวว่า

          ๑. ก่อนใช้พึงมีสติระลึกได้ว่า เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม แท้จริงมีไว้เพื่อ

๑) ป้องกันบำบัดความร้อน ความหนาวจากภายนอกและโรคร้อน โรคหนาวภายในกาย

๒) ป้องกันบำบัด เหลือบ ยุง ริ้น ไร สัตว์เลื้อยคลานไต่ตอม และลมกระโชกแรง แสงแดดแผดเผา

๓) ปกปิดอวัยวะกันอาย มีสัมปชัญญะรู้ตัวว่า เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม ไม่ได้มีไว้โชว์ความร่ำรวย สวย หล่อ หรือยั่วกามราคะใคร

           ๒. ก่อนใช้พึงมีสติระลึกได้ว่า ที่อยู่อาศัย ไม่ว่าจะเป็นกระต๊อบเล็กหรือคฤหาสน์ใหญ่ แท้จริงมีไว้เพื่อ

๑) ป้องกันบำบัดความร้อนความหนาวจากภายนอก และโรคร้อนโรคหนาวจากภายในกาย ทำนองเดียวกับเสื้อผ้า

๒) ป้องกันบำบัดเหลือบ ยุง ริ้น ไร สัตว์เลื้อยคลานทั้งน้อยใหญ่ และลมแดด

๓) ป้องกันบำบัด ฝน ฟ้า อากาศคะนองกระหน่ำทำอันตรายคนให้ป่วยไข้และทรัพย์สินให้เสียหาย

๔) เป็นที่ทำงาน ประกอบกิจส่วนตัว ร่วมอยู่เป็นสุขกับครอบครัว พอสบาย มีสัมปชัญญะ รู้ตัวว่าที่อยู่อาศัยไม่ได้มีไว้อวดอำนาจวาสนา ให้เปลืองค่าใช้จ่าย

           ๓. ก่อนกิน ดื่มจึงมีสติระลึกได้ว่า อาหารและเครื่องดื่ม แท้จริงก็

๑) กินเพื่อแก้โรคหิว ดื่มแก้โรคกระหาย ให้ร่างกายแข็งแรงเจริญเติบโตสมวัย ไม่หาโรคมาใส่กาย ผลิตพลังงานเลี้ยงกายให้อบอุ่น มีอายุขัยยืนยาว

๒) เพื่อให้มีเรี่ยวแรงประกอบอาชีพ และประพฤติปฏิบัติธรรมได้เต็มที่ มีสัมปชัญญะรู้ตัวว่าอาหาร เครื่องดื่ม ไม่ได้มีไว้เพื่อความเมามันทรงพลัง ประดับตกแต่งให้สวยให้งาม บำรุงกาม อวดเด่น อวดรวย อวดกล้า ผลาญทรัพย์ ทำลายศีล เหยียบธรรมให้เสียผู้เสียคน

          ๔. ก่อนใช้พึงมีสติระลึกได้ว่ายารักษาโรค แท้จริงก็เพื่อ

๑) ป้องกันบำบัดทุกข์จากโรคภัยไข้เจ็บทั้งหลายอันเกิดจากสิ่งแวดล้อมภายนอก

๒) ป้องกันบำบัดโรคภัยไข้เจ็บทั้งหลายอันเกิดจากความประมาทในการป้องกันบำบัดโรคอันเกิดจากภายในทั้งโรคร้อน โรคหนาว โรคหิว โรคกระหาย โรคปวดอุจจาระ โรคปวดปัสสาวะ มีสัมปชัญญะรู้ตัวว่า ยารักษาโรคไม่ได้มีไว้บำรุงกาม บำเรอความสุขต่างๆ ให้หลงใหลมัวเมา

           เมื่อใจผ่องใสเพิ่มขึ้นมากเท่าไร ยิ่งเห็นชัดขึ้นมาในใจด้วยตนเองว่า ขุมทรัพย์ทางปัญญาของมนุษย์ ไม่ได้อยู่ที่โรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาใดๆ แต่เก็บไว้มากมายมหาศาลที่ศูนย์กลางกายของตนเอง มีปริมาณมากยิ่งกว่าความรู้จากห้องสมุดทั้งโลกมากองรวมกัน รอเวลาให้ผู้นั้น ตั้งสติมั่นเก็บใจไว้ในกายนิ่งๆ นานๆ อย่างสบายๆ ได้ชำนาญพอ แล้วความจริงอย่างลึกซึ้งในสรรพสิ่งทั้งหลาย ย่อมหลั่งไหลออกมาให้รู้แจ้งแจ่มชัด ตรงตามที่ท่านผู้รู้จริงได้กล่าวไว้อย่างแน่นอน

650117_%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E1.jpg

******

กิจวัตรเพื่อฝึกสติสัมปชัญญะ
สวดมนต์เช้า-เย็นเป็นประจำทุกวัน
เจริญสมาธิภาวนาเช้า-เย็นเป็นประจำทุกวัน
เก็บรักษาใจไว้กลางกายเป็นประจำ
ตั้งแต่ตื่นนอนจนกระทั่งกลับเข้านอน

******

 

ความสำคัญของการฝึกสติสัมปชัญญะในระดับครอบครัว

          พ่อแม่ผู้ปกครองที่ใจใส ในระดับที่ตระหนักเห็นคุณประโยชน์ของการเจริญสมาธิภาวนาเพิ่มพูนสติสัมปชัญญะว่า ก่อให้เกิดปัญญาจากภายในมากเช่นนี้ ย่อมตัดใจสละเวลาระหว่างวัน เพื่อเจริญสมาธิภาวนาแม้เพียงชั่วโมงละ ๑ นาที โดยนั่งเจริญสมาธิภาวนาหรือน้ำใจมาเก็บรักษาไว้ที่กลางกายขณะที่ทำภารกิจต่างๆ ทั้งที่บ้านและที่ทำงาน แม้ขณะอยู่ในห้องน้ำเป็นประจำ ไม่ช้าพ่อแม่ผู้ปกครองท่านนั้น ย่อมเห็นได้ด้วยตนเองอีกว่า การที่ตนตั้งหน้าตั้งตาอบรมสั่งสอนลูกหลานให้รักความสะอาด จัดระเบียบสิ่งของอย่างถูกวิธีและทำทันทีนั้น เป็นสิ่งที่ถูกต้องอย่างยิ่ง เพราะเป็นการปลูกฝังให้ลูกหลานไม่มักง่าย ซึ่งถือว่าเป็นการละชั่วขั้นต้น และเป็นการทำความดีขั้นพื้นฐานของมนุษยชาติอีกด้วย ซึ่งการฝึกสติสัมปชัญญะนั้นทำได้โดยการสอนลูกให้อาบน้ำ ล้างหน้า แปรงฟัน ทำความสะอาดร่างกายทุกซอกมุมอย่างนุ่มนวลถูกวิธี
• การสอนลูกให้ทำความสะอาดของเล่นและของใช้ส่วนตัวให้ถูกวิธี
• การสอนลูกให้จัดเก็บ เรียงซ้อน ของที่ทำความสะอาดแล้ว เป็นแถว เป็นแนว เป็นชั้นอย่างถูกวิธี
• การสอนลูกให้รีบล้างถ้วย จาน ช้อน ชาม ทันทีที่รับประทานอาหารเสร็จให้ถูกวิธี
• การสอนลูกให้กิน นอน ตื่น ขับถ่ายเป็นเวลาตั้งแต่ยังเล็ก ฯลฯ

         เมื่อฝึกอย่างนี้แล้ว จึงมั่นใจได้ว่าลูกหลานจะมีสุขภาพดี แข็งแรง เจริญเติบโตสมวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะที่สอนให้ลูกทำกิจวัตร ทำความสะอาด และจัดระเบียบไป ก็ชี้เหตุแสดงผล ติชมไปแบบสบายๆ อารมณ์ดี ลูกย่อมรู้สึกอบอุ่นใจ ใจลูกจึงไม่แล่นออกไปนอกตัว ไม่ไปติดเกม ไม่ไปติดเรื่องไร้สาระต่าง ๆ และการได้ทำความสะอาด จัด
ระเบียบด้วยมือของตนเอง จะเป็นเครื่องดึงดูดใจ ให้พอใจ สบายใจ มีสติดึงใจให้หยุดมั่นอยู่กลางกายตามพ่อแม่ไปโดยอัตโนมัติ

          แน่นอนว่า หากพ่อแม่ผู้ปกครองทั้งหลาย ตื่นตัวขึ้นมาปฏิบัติกิจวัตรเก็บใจไว้กลางกาย ๓ ประการ คือ ๑) กิจวัตรสวดมนต์ ๒) กิจวัตรเจริญสมาธิภาวนา ๓) กิจวัตรเก็บรักษาใจไว้กลางกายเป็นประจำ อย่างทั่วหน้า มั่นใจได้ว่าลูกหลานทุกคนเมื่อโตขึ้น ย่อมรู้ด้วยใจว่าพ่อแม่ผู้ปกครองรักตนมากขนาดไหน พี่ก็รู้ว่าน้องรักตน น้องก็รู้ว่าพี่รักตน โดยรู้จากคำติชม ความเหนื่อย ความสนุกไปด้วยกัน ขณะทำความสะอาด จัดระเบียบ การเอาใจเขาใส่ใจเรา เอาใจเราใส่ใจเขา แล้วกลายเป็นความเห็นใจ ถนอมใจกัน ที่สำคัญเมื่อโตขึ้น ลูกหลานทุกคนย่อมรู้จักถนอมใจพ่อแม่ผู้ปกครอง ไม่ยอมทำอะไรที่ไม่เหมาะสม ไม่ดีงามให้พ่อแม่ผู้ปกครองช้ำใจ เกิดหิริโอตตัปปะ มีความละอายและเกรงกลัวต่อบาป กลัวพ่อแม่ผู้ปกครองจะเสียใจเพราะความประพฤติไม่เหมาะสมของตน เมื่อเป็นดังนี้ลูกจะเป็นคนช่างสังเกต มีความเคารพต่อพ่อแม่ผู้ปกครอง มีระเบียบวินัย มีความอดทน และมีความเสียสละเพิ่มมากขึ้น

          พ่อแม่ ผู้ปกครองที่ยอมสละเวลาอันมีค่าขณะประกอบอาชีพประจำวันเพียง ๑ นาทีต่อชั่วโมง เจริญสมาธิภาวนาเพื่อเพิ่มพูนสติสัมปชัญญะเป็นประจำอย่างไม่ลดละ ต่อไปไม่นานท่านเหล่านั้น ย่อมเห็นความจริงน่าตระหนกประจำโลก ๔ ประการที่ถูกมองข้ามมานานแสนนาน และจะทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองเหล่านั้น ยิ่งต้องเร่งฝึกสติเก็บใจไว้ในกายให้หยุดนิ่งมั่นคงยิ่งขึ้น และรีบเตือนสติให้ชาวโลกตระหนักถึงอันตรายเหล่านั้น เร่งรีบฝึกสติตามมาด้วย

 

จากหนังสือ สติ สัมปชัญญะ รากฐานการศึกษาของมนุษยชาติ

เผด็จ ทตฺตชีโว

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.025770950317383 Mins