จีวรวรรค สิกขาบทที่ ๑๐ ถ้าใครๆ นำทรัพย์มาเพื่อเป็นค่าจีวรแล้วถามภิกษุ ว่า

วันที่ 07 เมย. พ.ศ.2565

จีวรวรรค สิกขาบทที่ ๑๐ ถ้าใครๆ นำทรัพย์มาเพื่อเป็นค่าจีวรแล้วถามภิกษุ ว่า

จีวรวรรค สิกขาบทที่ ๑๐

คำแปลพระบาลีที่เป็นพุทธบัญญัติ
       “อนึ่ง พระราชาก็ดี ราชอำมาตย์ก็ดี พราหมณ์ก็ดี คหบดีก็ดี ส่งทรัพย์เป็นค่าจีวรไปกับทูตเจาะจงภิกษุเท่านั้นว่า เจ้าจงสั่งจ่ายจีวรด้วยทรัพย์เป็นค่าจีวรแล้วยังภิกษุนี้ให้ครองจีวร ถ้าทูตนั้นเข้าไปหาภิกษุนั้นแล้วกล่าวอย่างนี้ว่า ทรัพย์เป็นค่าจีวรนี้นำมาเจาะจงพระคุณเจ้า ขอพระคุณเจ้าจงรับทรัพย์เป็นค่าจีวรไว้ ภิกษุนั้นพึงกล่าวต่อทูตนั้นอย่างนี้ว่าพวกเรารับทรัพย์เป็นค่าจีวรไม่ได้ พวกเรารับได้แต่จีวรอันเป็นกัปปิยะตามกาล ถ้าทูตนั้นกล่าวต่อภิกษุนั้นอย่างนี้ว่า ก็พระคุณเจ้ามีใครเป็นไวยาวัจกรไหม ภิกษุผู้ต้องการจีวรพึงแสดงคนงานวัดหรืออุบาสกให้เป็นไวยาวัจกรด้วยคำว่า คนนั้นแลเป็นไวยาวัจกรของภิกษุทั้งหลาย ถ้าทูตนั้นสั่งไวยาวัจกรให้เข้าใจแล้ว เข้าไปหาภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้ว่า คนที่พระคุณเจ้าแสดงเป็นไวยาวัจกรนั้นข้าพเจ้าสั่งให้เข้าใจแล้ว พระคุณเจ้าจงเข้าไปหา เขาจักให้พระคุณเจ้าครองจีวรตามกาล 

       ภิกษุผู้ต้องการจีวรพึงเข้าไปหาไวยาวัจกรแล้วพึงทวงพึงเตือน ๒-๓ ครั้งว่า อาตมาต้องการจีวร ภิกษุเมื่อทวงอยู่เตือนอยู่ ๒-๓ ครั้ง ให้ไวยาวัจกรนั้นจัดจีวรสำเร็จได้ การให้จัดสำเร็จได้ดังนี้ นั่นเป็นการดี ถ้าให้จัดสำเร็จไม่ได้ พึงยืนนิ่งต่อหน้า ๔ ครั้ง ๕ ครั้ง ๖ ครั้ง เป็นอย่างมาก เธอเมื่อยืนนิ่งต่อหน้า ๔ ครั้ง ๕ ครั้ง ๖ ครั้งเป็นอย่างมาก ให้ไวยาวัจกรนั้นจัดจีวรสำเร็จได้ การให้จัดสำเร็จได้ดังนี้ นั่นเป็นการดี ถ้าให้จัดสำเร็จไม่ได้ ถ้าเธอพยายามให้ยิ่งไปกว่านั้น จึงให้จัดสำเร็จได้ เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์

        ถ้าให้จัดสำเร็จไม่ได้ พึงไปเองก็ได้ ส่งทูตไปก็ได้ ในสำนักที่ส่งทรัพย์เป็นค่าจีวรมาเพื่อเธอ บอกว่า ท่านส่งทรัพย์เป็นค่าจีวรไปเจาะจงภิกษุใด ทรัพย์นั้นหาสำเร็จประโยชน์แก่ภิกษุรูปนั้นสักน้อยหนึ่งไม่ ท่านจงทวงเอาทรัพย์ของท่านคืน ทรัพย์ของท่านอย่าได้ฉิบหายเสียเลย นี้เป็นการปฏิบัติชอบในเรื่องนั้น”

เนื้อความย่อในหนังสือนวโกวาท
       “ถ้าใครๆ นำทรัพย์มาเพื่อเป็นค่าจีวรแล้วถามภิกษุ ว่า ใครเป็นไวยาวัจกรของท่าน ถ้าภิกษุต้องการจีวร พึงแสดงคนวัดหรืออุบาสกว่า ผู้นี้เป็นไวยาวัจกรของภิกษุทั้งหลาย ครั้นเขามอบหมายไวยาวัจกรนั้นแล้วสั่งภิกษุว่าถ้าต้องการจีวร ให้เข้าไปหาไวยาวัจกร ภิกษุนั้นพึงเข้าไปเขาแล้วทวงว่า เราต้องการจีวร ดังนี้ได้๓ ครั้ง ถ้าไม่ได้จีวร ไปยืนแต่พอเขาเห็นได้๖ ครั้ง ถ้าไม่ได้ยืนไปทวง ให้เกิน ๓ ครั้ง ยืนเกิน ๖ ครั้ง ได้มา ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์ถ้าไปทวงและยืนครบกำหนดแล้วไม ่ได้จีวรจำเป็นต้องไปบอกเจ้าของเดิมว่า ของนั้นไม่สำเร็จประโยชน์แก่ตน ให้เขาเรียกเอาของเขามาเสีย”

อธิบายความโดยย่อ
         คำว่า ไวยาวัจกร คือ ผู้ทำกิจแทนภิกษุ, ผู้ทำหน้าที่จัดของที่สมควรให้ภิกษุบริโภคใช้สอย หมายถึงผู้ที่ช่วยขวนขวายทำกิจธุระหรือเป็นลูกศิษย์ช่วยเหลือรับใช้ภิกษุในด้านต่างๆ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า กัปปิยการก คือผู้ทำของให้สมควร

       ในปัจจุบัน คำว่า ไวยาวัจกร นี้ในกฎมหาเถรสมาคมกำหนดไว้ว่า “ไวยาวัจกร หมายถึงคฤหัสถ์ที่ได้รับแต่งตั้งให้มีหน้าที่เบิกจ่ายนิตยภัต และจะมีอำนาจหน้าที่ดูแลรักษาจัดการทรัพย์สินของวัดได้ ตามที่เจ้าอาวาสมอบหมายเป็นหนังสือ” และในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์กำหนดไว้ว่า ไวยาวัจกรเป็นเจ้าพนักงานตามความในประมวลกฎหมายอาญา
       ไวยาวัจกรสองประเภทข้างต้นนี้ สามารถเป็นไวยาวัจกรตามสิกขาบทนี้ได้ทุกคนไป
       สิกขาบทนี้เกิดจากการที่เจ้าภาพต้องการถวายปัจจัยเป็นค่าจีวรแก่ภิกษุ แต่ภิกษุรับไม่ได้จึงบอกเจ้าภาพให้ถวายไว้แก่คนวัดหรืออุบาสกซึ่งภิกษุระบุว่าเป็นไวยาวัจกร เจ้าภาพจึงมอบปัจจัยไว้ให้แล้วให้จ่ายเป็นค่าจีวรโดยสั่งว่า เมื่อภิกษุต้องการมาขอรับจีวรพึงถวายไป ต่อมาภิกษุไปทวงจีวรต่อไวยาวัจกรนั้นโดยขอให้ถวายจีวรเลย แต่ไวยาวัจกรไม่ว่างเพราะต้องรีบไปประชุม ภิกษุรบเร้าจะเอาให้ได้ในขณะนั้น ไวยาวัจกรจึงเสียเวลาจัดจีวรถวาย ทำให้ไปประชุมไม่ทัน จึงถูกปรับเป็นเงินโดยใช่เหตุ เมื่อเกิดเรื่องขึ้นทำให้ทรงบัญญัติพระวินัยข้อนี้ไว้เพื่อให้เวลาแก่ไวยาวัจกร และเพื่อมิให้ภิกษุแสดงอาการรบเร้าซึ่งไม่งาม

       ที่ทรงยืดเวลาให้ภิกษุทวงหรือเตือนไวยาวัจกรได้๓ ครั้ง และยืนนิ่งต่อหน้าได้๖ ครั้ง นั้นก็เพื่อให้ไวยาวัจกรจัดทำจีวรได้เสร็จตามต้องการเพราะสมัยนั้นจีวรสำเร็จรูปหายาก ต้องใช้เวลาทำพอสมควร หรือไวยาวัจกรไม่มีเวลาจัดทำให้เสร็จโดยเร็วตามต้องการ จึงกำหนดการทวงและการยืนได้หลายครั้ง

เจตนารมณ์ของสิกขาบทข้อนี้ 
        สิกขาบทนี้ทรงบัญญัติไว้เพื่อให้ภิกษุมีวิจารณญาณในการไปทวงจีวรที่มีเจ้าภาพถวายผ่านไวยาวัจกร โดยไม่แสดงอาการอันไม่งาม ไปรบเร้าเซ้าซี้บังคับกะเกณฑ์ว่าต้องได้ในขณะนั้นหรือในวันนั้น เพราะไวยาวัจกรตามสิกขาบทนี้นั้นเป็นคนที่ภิกษุระบุแก่เจ้าภาพว่าเป็นไวยาวัจกร อาจเป็นผู้มีศรัทธาจริงหรือไม่มีศรัทธาก็ได้ดังนั้น เขาอาจไม่พร้อม เช่นไม่มีเวลาจัดให้จึงทรงอนุญาตให้ทวงหรือเตือนได้ถึง ๓ ครั้ง และไปยืนนิ่งต่อหน้าได้ถึง ๖ ครั้ง ซึ่งเป็นการยืดหยุ่นที่ยาวนาน หากไม่ได้ด้วยเหตุใดก็ตาม ให้เลิกทวงและเลิกไปยืน แต่ให้บอกเจ้าภาพให้ไปเรียกของกลับคืนมาเสีย

อนาปัตติวาร
       ในสิกขาบทนี้ท่านแสดงภิกษุผู้ได้รับยกเว้นไม่ต้องอาบัติไว้คือ

        (๑) ภิกษุทวง ๓ ครั้ง ยืน ๖ ครั้ง

        (๒) ภิกษุทวงไม่ถึง ๓ ครั้ง ยืนไม่ถึง ๖ ครั้ง

        (๓) ภิกษุไม่ได้ทวง ไวยาวัจกรถวายเอง

        (๔) เจ้าของทวงเอามาถวาย

        (๕) ภิกษุผู้วิกลจริต

        (๖) ภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติหรืออาทิกัมมิกะ ได้แก่ พระอุปนันทศากยบุตร

 

 

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0058539191881816 Mins