ปัตตวรรค สิกขาบทที่ ๕
คำแปลพระบาลีที่เป็นพุทธบัญญัติ
“อนึ่ง ภิกษุใดให้จีวรแก่ภิกษุเองแล้วโกรธ ไม่พอใจ ชิงเอามาก็ดี ให้ชิงเอามาก็ดี เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์”
เนื้อความย่อในหนังสือนวโกวาท
“ภิกษุให้จีวรแก่ภิกษุอื่นแล้ว โกรธ ชิงเอาคืนมาเองก็ดีให้ผู้อื่นชิงเอามาก็ดีต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์”
อธิบายความโดยย่อ
การชิงเอาจีวรคืนมาในสิกขาบทนี้ท่านปรับเป็นนิสสัคคิยาปาจิตตีย์ไม่จัดเป็นอวหารคือการลัก ซึ่งมีโทษหนัก เพราะเจ้าของยังถือว่าจีวรยังเป็นของตน และท่านยังรับรองกรรมสิทธิ์แห่งเจ้าของเดิมว่ายังมีอยู่ในจีวรนั้น
เจตนารมณ์ของสิกขาบทข้อนี้
สิกขาบทนี้ทรงบัญญัติไว้เป็นการเตือนใจภิกษุทั้งหลายว่าการให้จีวรหรือบริขารอื่นใดแก่ภิกษุหรือบุคคลอื่น ควรให้ด้วยความเสียสละ ไม่คิดยึดคืนอีกเมื่อไม่พอใจ จะได้ไม่ต้องเสียมารยาทแย่งชิงคืน หรือไม่ทำให้เกิดเรื่องน่าละอายอื่นๆ เช่น กิริยาที่แย่งชิง การพูดจาโต้เถียงกัน เป็นต้น
อนาปัตติวาร
ในสิกขาบทนี้ท่านแสดงภิกษุผู้ได้รับยกเว้นไม่ต้องอาบัติไว้คือ
(๑) ภิกษุผู้ได้รับไปนั้นให้คืนเองก็ดีถือวิสาสะกับผู้ที่ได้รับไปนั้นเอามาเองก็ดี
(๒) ภิกษุผู้วิกลจริต
(๓) ภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติหรือภิกษุอาทิกัมมิกะ ได้แก่พระอุปนันทศากยบุตร