บรรพชิตควรพิจารณาเนือง ๆ ว่า
เรามีกรรมเป็นของตัว เราทำดีจักได้ดี ทำชั่วจักได้ชั่ว
บรรพชิตพึงพิจารณาเนือง ๆ ว่า เราเป็นผู้มีกรรมเป็นของของตนเป็นทายาทของกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย เราจักทำกรรมใด ดีหรือชั่วก็ตาม เราจักต้องเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น
กมฺมสฺสโกมฺหิ กมฺมทายาโท กมฺมโยนิ กมฺมพนฺธุ กมฺมปฏิสรโณ ยํ กมุมํ กริสฺสามิ กลฺยาณํ วา ปาปกํ วา ตสฺส ทายาโท ภวิสฺสามิ
กรรม แปลว่า การกระทำ ซึ่งการกระทำนี้จะเกิดขึ้นโดยเจตนากรรม๓๘ มีทั้งเจตนาที่ดีหรือไม่ดีเป็นตัวกระตุ้นให้เราคิด พูดและทำตามเจตนานั้น ๆ โดยแสดงออกมาเป็นพฤติกรรมทางกายคือ กายกรรม ทางวาจาคือ วจีกรรม และทางใจคือ มโนกรรม มีทั้งพฤติกรรมที่ดีและชั่วปะปนกันไป
กรรมที่เป็นของตน มี ๒ ประเภท คือ กรรมดีและกรรมชั่ว
เรามีกรรมเป็นของตน หมายถึง การกระทำของเรานั้นมีจิตของเราเองเป็นตัวสั่งการให้ร่างกายทำ ที่เรียกว่า ใจเป็นนายกายเป็นบ่าว ดังนั้น พฤติกรรมที่เราแสดงออกทางกายและวาจาล้วนเกิดจากการสั่งการของจิตเราทั้งสิ้น
จึงกล่าวได้ว่า จิตของเรานั่นเองที่เป็นเจ้าของการกระทำทางกาย วาจา และใจ ไม่ได้เกิดจากการสั่งการจากคนอื่น เพราะแม้คนอื่นสั่งให้ทำ แต่สุดท้ายคนที่ตัดสินใจว่าจะทำหรือไม่ คือ ตัวเราเอง
เป็นทายาทของกรรม หมายถึง เรามีกรรมเป็นมรดก เป็นสมบัติของเรา๓๙ สืบเนื่องจากเรามีกรรมเป็นของตน เมื่อเราตัดสินใจทำเรื่องใด ๆ การกระทำนั้นย่อมเกิดจากเจตนาของเราอย่างแน่นอน ไม่ได้เกิดจากผู้อื่น ดังนั้น ผู้เป็นทายาทหรือผู้ที่ต้องรับผลจากการกระทํานั้นคือตัวของเรา๔๐ อย่างไม่ต้องสงสัย หากทํากรรมฝ่ายดี ย่อมได้รับผลเป็นความสุข ความเจริญ และความสําเร็จในชีวิต แต่ถ้าทำกรรมฝ่ายชั่ว ย่อมได้รับผลเป็นความทุกข์ความเดือดร้อน ความพินาศ เป็นต้น ผู้อื่นจะมารับผลกรรมแทนเราไม่ได้
มีกรรมเป็นกำเนิด มาจากคำบาลีว่า กมฺมโยนิ แปลว่า เป็นแดนเกิด หรือเป็นเหตุเกิดแห่งกรรม กล่าวคือ เหตุที่สัตว์ทั้งหลายในโลกนี้เกิดมามีความแตกต่างกัน บ้างเกิดในครรภ์ บ้างเกิดในฟองไข่ สัตว์บางชนิดเกิดในน้ำ บางชนิดเกิดบนบก แม้ได้เกิดเป็นมนุษย์แล้วก็ยังมีความแตกต่างกันอีก เช่น บางคนร่ำรวย บางคนยากจนบางคนมีการศึกษาดี ในขณะที่บางคนขาดโอกาสทางการศึกษา
ทั้งนี้เป็นเพราะกรรมที่แต่ละคนทำไว้ในอดีตแตกต่างกันเมื่อเกิดมาในชาตินี้จึงมีรูปร่างและคุณสมบัติที่ดีบ้าง ไม่ดีบ้างปะปนกันไปตามสัดส่วนของกรรมดีและกรรมชั่วที่ตนเคยทำไว้ ตราบใดที่ยังกำจัดกิเลสไม่หมดก็ต้องเกิดใหม่อยู่ร่ำไป ตามแต่กรรมที่ตนสั่งสมไว้จะนำไปเกิด หากชาติใดทำกรรมชั่วไว้มากก็ส่งผลให้ชาติถัดไปต้องเกิดในทุคติภูมิ หากชาติใดทำกรรมดีไว้มากก็จะส่งผลให้ชาติถัดไปได้เกิดในสุคติภูมิ เป็นต้น
มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มาจากคำบาลีว่า กมุมพันธุ์ คำว่า พนฺธุ หมายถึง ผูกพัน พัวพันไปจนกว่าจะหมดกำลัง เป็นเทือกเถาเหล่ากอ พี่น้องท้องเดียวกัน
เป็นธรรมดาว่า พี่น้องเผ่าพันธุ์เดียวกันย่อมยินดีอุปถัมภ์ช่วยเหลือกัน แต่อาจขัดข้องด้วยระยะทางใกล้-ไกล สุขภาพดี-ไม่ดี อยู่ในวิสัย-พ้นวิสัย ถูก-ผิดกฎหมาย ฯลฯ
ส่วนพี่น้องเผ่าพันธุ์ที่ไม่เคยมีข้อแม้ และอยู่กับเราตลอดเวลาทั้งยามหลับ ตื่น นั่ง นอน พร้อมช่วยเหลืออุปถัมภ์เราทุกอย่างตลอดชีวิต คือ กรรมของเราเอง กรรมจึงเป็นเผ่าพันธุ์พี่น้องตัวจริงของเรา
ฉะนั้น กรรมดีน้อยใหญ่เราต้องทุ่มทำไว้เป็นเผ่าพันธุ์ กรรมดีเหมือนญาติพวกพ้องที่คอยให้ความสนับสนุน ให้ประสบความสุขความเจริญ กรรมชั่วเหมือนญาติพวกพ้องเลว คอยจองล้างผลาญให้ประสบทุกข์เดือดร้อน
มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย มาจากคำบาลีว่า กมุมปฏิสรโณ มีความหมายว่า มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย เป็นที่ประชุม เป็นที่รวมลงเราทำกรรมใดไว้กรรมนั้นย่อมไม่สูญเปล่า ย่อมติดตามให้พึ่งได้ตลอดไปตามควรแก่กรรมนั้น ๆ คือ
๑. ให้พึ่งในการดำรงชีวิต โดยกรรมดีให้ฟังด้วยการส่งผลให้ได้รับความสุข ความเจริญ คอยประคับประคองในยามตกทุกข์ได้ยาก ให้พลิกจากร้ายกลายเป็นดีที่ดีอยู่แล้วก็ให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป ส่วนกรรมชั่วให้ฟังด้วยการบีบคั้นให้เป็นทุกข์ ตกต่ำ คอยบีบคั้น ตัดรอนจากดีให้กลายเป็นร้าย ยามทุกข์ยามร้ายก็ยิ่งเติมให้ตกทุกข์ได้ยากร้ายแรงยิ่งขึ้นไปอีก ถือเป็นการเตือนสติให้หลาบจำ ไม่กล้าที่จะทำความชั่วอีก เพราะกรรมต่างให้พึ่งตามคราว ให้พึ่งในชาตินี้ก็มี ต้องรอให้พึ่งชาติหน้าที่มี ให้พึ่งชาติต่อ ๆ ไปก็มีให้พึ่งจนกว่าจะหมดฤทธิ์กรรมนั้น ๆ ก็มี
๒. ให้พึ่งในการเกิด-การตาย กรรมใดทำให้ใจผ่องใส กรรมนั้นให้พึ่งไปเกิดในสุคติ กรรมใดทำให้ใจขุ่นมัว กรรมนั้นบีบคั้นให้ไปเกิดในทุคติ
อานิสงส์ของการพิจารณาความมีกรรมเป็นของตน
ผู้ที่หมั่นพิจารณาความมีกรรมเป็นของตนอยู่เนือง ๆ จะสามารถละความชั่วทางกาย วาจา และใจได้ แม้ผู้ที่เป็นพระอริยบุคคลแล้ว เมื่อพิจารณาความมีกรรมเป็นของตนให้มากเข้าก็จะสามารถทำกิเลสอาสวะให้หมดสิ้นไปได้ ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในฐานสูตรว่า
สตรี บุรุษ คฤหัสถ์ หรือบรรพชิตควรพิจารณาบ่อย ๆ ว่าเรามีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิดมีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่ง เราทำกรรมใด ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม เราจักเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น เมื่อพิจารณาอย่างนี้บ่อย ๆ แล้ว จะทำให้กายทุจริต วจีทุจริต และมโนทุจริตเบาบางลง หรือหมดไปอย่างสิ้นเชิงได้
... พระอริยสาวกย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ไม่ใช่แต่เราเท่านั้นที่มีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่ง เราทำกรรมใด ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม เราจักเป็นผู้รับผลของกรรม แม้สัตว์ทั้งปวงที่ยังเวียนว่ายตายเกิดอยู่นี้ ล้วนมีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งเราทำกรรมใด ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม เราจักเป็นผู้รับผลของกรรมนั้นด้วยกันหมดทั้งสิ้น เมื่อพระอริยสาวกพิจารณาให้มากดังนี้แล้วย่อมทำกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ให้หมดสิ้นไปได้ในที่สุด๔๑
ดังนั้น บรรพชิตควรพิจารณาว่า ภพชาติปัจจุบันของเราคือผลแห่งกรรมที่ตัวเราเองได้ทำไว้ในอดีต จึงทำให้เรามีรูปร่างและคุณสมบัติอย่างนี้ มีครอบครัวอย่างนี้ ต้องอยู่ในสิ่งแวดล้อมอย่างนี้
เพราะฉะนั้น ภิกษุควรหมั่นตรวจสอบดูว่า คุณสมบัติใดของเราที่ยังไม่ดี ให้แก้ไขปรับปรุงให้ดี หมั่นสร้างบุญกุศลในเรื่องนั้น ๆ ให้มาก ส่วนคุณสมบัติอะไรที่ดีอยู่แล้ว ก็สั่งสมบุญในเรื่องนั้น ๆ ให้ประณีตยิ่งขึ้นไป และงดเว้นจากการทำกรรมชั่ว มุ่งทำแต่กรรมดี หมั่นกลั่นใจให้ผ่องใส
เมื่อทำได้ดังนี้ กรรมดีที่เราทำไว้จะส่งผลได้อย่างต่อเนื่องประคับประคองให้ชีวิตของเราราบรื่นรุ่งเรือง แต่ถ้ายังประมาททำกรรมชั่วอยู่ การดำเนินชีวิตจะสะดุดติดขัด ขึ้นบ้างลงบ้าง ไม่ราบรื่น จึงกล่าวได้ว่า กรรมทั้งดีและชั่วเป็นที่พึ่งอาศัยของตนทั้งในโลกนี้และโลกหน้า
"พี่น้องเผ่าพันธุ์ที่ไม่เคยมีข้อแม้
และอยู่กับเราตลอดเวลา
ทั้งยามหลับ ตื่น นั่ง นอน
พร้อมช่วยเหลืออุปถัมภ์เรา
ทุกอย่างตลอดชีวิตคือกรรมของเราเอง"
๓๘ เจตนากรรม คือ เจตนาที่ประกอบกับกุศลจิตและอกุศลจิต ส่วนเจตนาที่ประกอบกับจิตที่เหลือ ไม่จัดเป็นกรรม แต่เป็นเจตนาวิบากบ้าง ซึ่งเป็นผลของกรรมอยู่แล้ว ไม่ใช่เป็นตัวเหตุ และเจตนากิริยาบ้าง คือเจตนาในการกระทำดีของพระอรหันต์ แต่ก็ไม่มีผลเป็นวิบากให้ไปเกิดหรือได้รับผลกรรมต่อไป จึงไม่จัดเป็นกรรม
๓๙ องฺ.ปญฺจก.อ. (ไทย.มมร) ๓๖/๑๔๓
๔๐ หมายความถึง ตสฺส ทายาโท ภวิสฺสามิ (องฺ.ปญฺจก.อ. (ไทย.มมร) ๓๖/๑๔๔)
๔๑ องฺ.ปญฺจก. ฐานสูตร (ไทย.มมร) ๓๖/๕๗/๑๔๐, ๑๔๒
บทความจากหนังสือ บรรพชิตมหาพิจารณา สำนึกของพระเเท้
ดาวน์โหลดหนังสือเล่มนี้ (ไฟล์ PDF) ได้ที่นี่