4. นึกถึงความจริงของสรรพสิ่งว่าตกอยู่ในกฎของไตรลักษณ์ จะทำให้ใจของเราปลอดโปร่งตัดเครื่องผูกพันในใจให้หมดสิ้นไป
ตัวอย่างที่ 1 "นึกถึงความจริงของสรรพสิ่งทั้งหลาย ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอนเอาไว้ว่าสรรพสิ่งทั้งหลายทั้งมวล จะเป็นสิ่งมีชีวิตก็ตามหรือไม่มีชีวิตก็ตาม ท่านใช้คำว่าสังขารที่มีวิญญาณครองหรือไม่มีวิญญาณครองก็ตาม ทุกสิ่งในโลกนี้จะเป็นคนเป็นสัตว์เป็นสิ่งของทั้งหมด ต้นหมากรากไม้ภูเขาเลากา ตึกรามบ้านช่อง โลกของเรา ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดวงดาวในอากาศ ผู้คนอะไรต่างๆ ทั้งหมดพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ญาติพี่น้องสรรพสิ่งทั้งหลายทั้งมวลเหล่านี้ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็เสื่อมสลายไปเปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดเวลา ไม่เที่ยง ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เป็นตัวเป็นตน เพราะว่าไม่คงที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ถ้าเป็นตัวตนจริงๆ เป็นสาระเป็นแก่นสารจริงๆ แล้วต้องคงที่ ต้องไม่เปลี่ยนแปลง หรือถ้าจะเปลี่ยนแปลงก็ดีขึ้นไป ยิ่งเปลี่ยนแปลงก็ยิ่งดีขึ้นไปตามลำดับเหมือนเพชรยิ่งแก่ยิ่งแข็ง เหมือนธรรมยิ่งสุขยิ่งใสยิ่งสว่างอย่างนั้น แต่ว่าสิ่งทั้งหลายทั้งมวลไม่เป็นอย่างนั้นมันเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเสื่อมสลายอยู่ตลอดเวลา
ให้เราคิดอย่างนี้สักหนึ่งหรือสองนาทีก่อนที่เราจะปฏิบัติธรรม พิจารณาในสิ่งทั้งหลายทั้งมวลแม้กระทั่งร่างกายที่เราอาศัยนั่งปฏิบัติธรรมอยู่นี้ ก็มีสภาพเช่นเดียวกัน คือเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็เสื่อมสลายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา เคลื่อนออกมาจากครรภ์มารดา เปลี่ยนแปลงเรื่อยมาจนกระทั่งบัดนี้ แล้วก็จะเปลี่ยนแปลงต่อไปจนกระทั่งไปสู่เชิงตะกอน เปลี่ยนกันไปอย่างนี้หนึ่งหรือ สองนาทีที่เราพิจารณาในสิ่งเหล่านี้ก่อนการฝึกใจให้หยุดให้นิ่ง จะช่วยให้ใจเราปลอดกังวล จะไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งหลายทั้งปวง เพราะว่าเราพิจารณาให้เห็นไปตามความเป็นจริง การพิจารณาอย่างนี้จะได้ใจที่ปลอดโปร่ง เป็นใจที่เหมาะต่อการปฏิบัติธรรม และไม่ช้าจะเข้าถึงธรรมะได้"
ตัวอย่างที่ 2 "ก่อนที่เราจะปฏิบัติธรรมเพื่อให้เข้าถึงพระธรรมกาย เราต้องทำใจของเรานี่ให้ปลอดกังวล ไม่ติดในคน ในสัตว์ ในสิ่งของ โดยพิจารณาด้วยปัญญาบริสุทธิ์ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านสอนเอาไว้และที่เป็นสัจธรรม คือมันเป็นความจริงว่าสรรพสัตว์และสรรพสิ่งทั้งหลาย ล้วนมีการเปลี่ยนแปลงเป็นปกติ ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ มีเชื้อแห่งความทุกข์ เป็นบ่อเกิด เป็นแหล่งกำเนิดแห่งความทุกข์ เพราะความไม่เที่ยงนั้นยังไม่ใช่เป็นตัวเป็นตนที่แท้จริง เป็นสิ่งที่ไม่ได้มีสาระแก่นสาร เป็นเพียงแค่เครื่องอาศัยชั่วคราวเท่านั้น จะเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นสิ่งของ จะเป็นของกิน ของใช้อะไรก็แล้วแต่ มีชีวิตหรือไม่มีชีวิตมีวิญญาณครอง หรือว่าไม่มีวิญญาณครอง ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ดำรงอยู่ชั่วคราว เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาบังคับบัญชาก็ไม่ได้ จะให้ได้ดังใจเราก็ไม่ได้ อย่าดูอื่นไกล ดูของที่อยู่ในตัวเรา ตั้งแต่เส้นผมบนศีรษะ จะให้มันสวยมันงาม เหมือนเราอยู่ในวัยเจริญ ไม่ให้เปลี่ยนแปลง ไม่ให้มันเปลี่ยนสี ไม่ให้มันหลุดร่วง ให้มันสวยงามคงอยู่ ดั้งเดิมเหมือนวัยเจริญ มันก็ไม่เชื่อฟังเรา มันก็เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และในที่สุดมันก็หลุดร่วงไป ฟันในปากก็ดี ในทำนองเดียวกัน ดวงตาก็ดี แต่เดิมนั้นก็ดู สดใสสดสวย ดูอะไรก็ชัดเจนตอนหลัง ก็เปลี่ยนแปลงไปสู่ความไม่ชัดเจน เป็นฝ้าเป็นฟางดูแล้วไม่สวยงาม ผิวพรรณวรรณะแต่เดิมก็เต่งตึงตอนหลังก็เหี่ยวย่น เราเห็นสัจธรรมตรงนี้ว่ามันตกอยู่ในไตรลักษณ์ อยู่ในสภาวะที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาจึงเป็นเพียงแค่เครื่องอาศัย จึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรจะยึดมั่นถือมั่นว่านี่คือสาระ คือแก่นสาร คือของจริงของแท้
เมื่อเรารู้ว่ามันเป็นเพียงแค่อาศัยและมีคุณสมบัติดังกล่าว ของอยู่ในตัวเราก็ดี เสื้อผ้า ปากกา แว่นตาทุกอย่างเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาไปสู่จุด ลายทั้งสิ้น เสื้อผ้าแต่เดิมก็มาจากต้นไม้ มาจากดินมาจากต้นไม้ จากต้นไม้ก็มาสู่โรงงาน จากโรงงานก็มาสู่ร้านค้า จากร้านค้าก็มาสู่ตัวเรา จากตัวเราอยู่ไปนานๆเข้า เกิดการเปลี่ยนแปลงชำรุดก็ลงไปสู่ที่พื้นบ้าน ไปเป็นผ้าขี้ริ้วเช็ดเท้าบ้าง เช็ดโน่นเช็ดนี่อะไรต่างๆแล้วในที่สุดก็ลงไปสู่ถังขยะ จากถังขยะก็แปรสภาพออกไปสู่ดิน แยกย้ายสลายกันไป ไปสู่จุดสลายทั้งสิ้น
ปากกา แว่นตา อะไรต่างๆ ทรัพย์สินเงินทอง จะเป็นตึกรามบ้านช่อง รถราอะไรต่างๆ ต้องย้อนกลับไปสู่จุดสลายทั้งหมด มันมา มันอยู่ แล้วมันก็ไป เกิดขึ้น ตั้งอยู่แล้วเสื่อมสลาย เมื่อเราเข้าใจอย่างนี้ใจเราจะได้เบาสบาย ปลอดกังวล เสื้อเรา แต่ไม่ใช่เสื้อของเรา ร่างกายเราแต่ไม่ใช่ร่างกายของเราบ้านเราแต่ก็ไม่ใช่บ้านของเรา เพราะฉะนั้นเราจะบังคับบัญชาอะไรให้ได้ดังใจปรารถนาของเรามันเป็นไปไม่ได้ นึกคิดก็ทุกข์เปล่า
พอเราคิดอย่างนี้เข้าใจ ก็จะได้ปลอดโปร่งสบาย เมื่อเราเห็นว่าสรรพสิ่งทั้งหลายเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา พระพุทธเจ้าสอนอย่างนี้เพื่อให้มองมุมกลับตรงกันข้ามว่า เมื่อเราอยู่ในสิ่งแวดล้อมอยู่กับสิ่งแวดล้อม ที่เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่เป็นสาระแก่นสาร เราก็ควรจะมุ่งแสวงหาสิ่งที่เป็นสาระแก่นสาร ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นนิจจังสุขัง อัตตา คงที่ไม่เปลี่ยนแปลง เป็นอมตะ เป็นแหล่งกำเนิดแห่งความสุขแล้วก็เป็นอิสระจากกิเลส เป็นชีวิตที่แท้จริงของเรา เป็นตัวจริงของเรา"
จากหนังสือ DOU
วิชา MD102 สมาธิ 2 หลักการเจริญสมาธิภาวนา