การวางตัวในพิธีต่าง ๆ (งานศพ)
ในเวลาจุดธูปเทียนบูชา หรือในเวลานำอาหารคาวหวานไปวางไว้ใกล้หรือบนหีบศพ ให้ว่าเป็นภาษาไทย " พระคุณใดที่พระคุณพ่อได้เกื้อกูล สงเคราะห์อนุเคราะห์และชุบเลี้ยงมาจนตราบทุกวันนี้ ลูกขอบูชาพระคุณอันนั้น ด้วยเครื่องสักการะนี้ " ( กราบ )
ถ้าผู้ตายเป็นมารดา ปู่ ย่า ตา ยาย ลุง ป้า น้า อา พี่ ก็เปลี่ยนคำไปตามบุคคลนั้นๆ และเปลี่ยนคำแทนชื่อของตนให้ถูกต้อง ถ้าผู้ตายไม่เคยชุบเลี้ยงมาก่อนก็ให้ตัดคำว่า "และชุบเลี้ยงออก"
อนึ่งจะว่าเพียงสั้นๆ ก็ได้ดังนี้ "ลูกขอบูชาพระคุณของคุณพ่อด้วยเครื่องสักการะนี้ " ( กราบ )
ต้องเป็นชื่อผู้ที่เราเคารพ และเปลี่ยนชื่อตัวเราไปให้เหมาะสมดังที่กล่าวไว้ แล้วในตอนต้น เมื่อบูชาเสร็จแล้ว จะกล่าวคำขอขมาโทษต่อไปเลยก็ให้ว่าดังนี้
"กายกรรม ๓ วจีกรรม ๔ มโนกรรม ๓ ถ้าลูกได้ประมาทพลาดพลั้งล่วงเกิน ด้วยกายก็ดี ด้วยวาจาก็ดี ด้วยใจก็ดี ทั้งต่อหน้าและลับหลัง ขอคุณพ่อได่โปรดอโหสิกรรมให้แก่ลูกด้วย ตราบกระทั่งเข้าสู่พระนิพพานเทอญ " ( กราบ )
ถ้าเป็นญาติหรือบุคคลอื่นก็เปลี่ยนให้เหมาะสมกับฐานะของญาติและบุคคลนั้น ๆ
คำขอขมาโทษนี้ใช้ได้ทั่วไป แม้ท่านยังมีชีวิตอยู่ก็ใช้ได้ แต่ว่าผู้ใหญ่เมื่อผู้น้อยมาขอขมา ควรประนมมือหรือวางไว้ ในแล้วกล่าวตอบว่า "โทษอันใดที่เธอได้ล่วงเกินฉัน ฉันขออโหสิกรรมให้ทั้งสิ้น แต่ถ้าหากว่าฉันได้เคยล่วงเกินเธอ ขอเธอได้อโหสิกรรมให้แก่ฉันด้วยเทอญ" (เปลี่ยนคำที่ใช้แทนตัวไปตามฐานะของบุคคล)
คำภาวนาเวลารดน้ำศพ
อิทัง มะตะกะสะรีรัง อุทะกัง วิยะ สัญจิตัง อะโหสิ กัมมัง ฯ
ขอให้ร่างของผู้ตายนี้ จงอโหสิกรรมต่อกัน เหมือนน้ำที่รดแล้ว
คำภาวนาเวลาเผาศพ
อะยัมปิโม โข เม กาโย เอวัง ภาวี เอวัง ธัมโม เอวัง อะนะตีโต ฯ
แม้ร่างกายของเรานี้ ก็ต้องเป็นอย่างนี้ จะต้องมีอย่างนี้ เป็นธรรมดา จะไม่ล่วงพ้นความตายอย่างนี้ไปได้
คำภาวนาเวลาทอดผ้าศพให้พระบังสกุล
นามะรูปัง อะนิจจัง นามะรูปัง ทุกขัง นามะรูปัง อะนัตตา ฯ
นามรูป ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
คำภาวนาเวลาไปเยี่ยมศพ
อะวัสสัง มะยา มะริตัพพัง ฯ
เราก็ต้องตายแน่นอน
** อ้างอิงจากหนังสือสวดมนต์ ฉบับวัดพระธรรมกาย **
เหมาะสำหรับพระภิกษุสามเณรและพุทธศาสนิกชนทุกท่าน
รวบรวมและเรียบเรียงโดย กองวิชาการ (๐๑) วัดพระธรรมกาย