ปรากฏการณ์มหาปีติ "อัศจรรย์...ตะวันแก้ว"
ปัญญามี ๓ ระดับ
การมองเหตุการณ์ และคิดไปในแง่มุมต่างๆ ของคนเรา มีพื้นฐานมาจากระดับสติปัญญาในจิตใจของแต่ละคน ใครมีปัญญาน้อยย่อมคิดสิ่งใดแคบๆ ตื้นๆ ในระยะสั้นๆ ส่วนผู้มีปัญญามากจะคิดไปในทางตรงกันข้าม รวมทั้งคาดการณ์ในระยะยาวได้ถูกต้อง
ที่กล่าวนี้เป็นเพียงสติปัญญาในจิตใจของกายมนุษย์เท่านั้น ซึ่งมีที่เกิดได้ ๒ อย่างคือ เกิดจากการสัมผัสด้วยประสาททั้ง ๕ ตา หู จมูก ลิ้น กาย เรียกว่า สุตมยปัญญา อีกอย่างหนึ่งคือ เกิดจากการนำข้อมูลของอย่างแรก มาทำการคิด ไตร่ตรอง ใคร่ครวญ เรียกว่า จินตามยปัญญา
ปัญญาทั้งสองอย่างนี้ ผิดพลาดคลาดเคลื่อนได้มาก เพราะเป็นปัญญาของจิตใจในระดับของกายมนุษย์ ซึ่งเต็มไปด้วยอำนาจของกิเลสห่อหุ้มอยู่ ยากที่จะรู้ทุกสิ่งตามความเป็นจริง
สำหรับปัญญาระดับที่ดีกว่าสองอย่างแรกคือ ปัญญาที่เกิดจากการ บำเพ็ญเพียรทางจิต ที่เรียกว่า ภาวนามยปัญญา ถ้าบำเพ็ญได้สำเร็จ จะเป็นปัญญาที่ถูกต้องแท้จริง หากปฏิบัติไม่บรรลุผลก็อาจได้เพียงความสงบของจิตใจ
วิชชาธรรมกาย เป็นปัญญาประเภทที่สามของพระพุทธศาสนา คือ เกิดปัญญาด้วยการเจริญจิตภาวนา มุ่งให้ผู้ปฏิบัติพบเห็นกายภายในของตนเอง ตั้งแต่ต้นจนสูงสุด นั้นแต่กายมนุษย์ กายทิพย์ กายพรหม กายอรูปพรหม และกายธรรมระดับต่างๆ
กายแต่ละระดับมีสติปัญญาแตกต่างกัน กายที่สูงขึ้น กิเลสย่อมลดลง ปัญญายิ่งเพิ่มมาก ในกายที่ไม่มีกิเลสหุ้มห่อจิตใจเลย เช่น กายธรรมพระอรหัตต์ สติปัญญาของจิตในกายนั้น ย่อมถูกต้องบริบูรณ์ถึงที่สุด เมื่อนำปัญญาระดับกายนั้น มามองเหตุการณ์ใดๆ ย่อมถูกต้องตามความเป็นจริง สามารถทำกิจการต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลครบถ้วนเต็มเปี่ยม
อย่างไรก็ดี ใช่ว่าทุกคนจะสามารถดำเนินจิตใจของตนให้อยู่ในกายธรรมพระอรหัตต์ได้ตลอดเวลา ทั้งนี้เพราะยังเป็นปุถุชนอยู่บ้าง กัลยาณชนบ้าง มีบุญมีบารมีไม่พอที่จะเป็นอริยบุคคล จึงสามารถเห็นทางเดินของจิตว่าไปได้ถึงที่ใด เช่น จิตของกายธรรมในระดับต่างๆ หรือแม้สภาวะธรรมในพระนิพพาน ประเภทนั้นประเภทนี้ แต่ยังไม่สามารถไปเป็นสภาวะตามที่เห็นได้ทันที ต้องกลับมาสั่งสมบุญและบารมีให้ครบถ้วนตามคุณสมบัติเสียก่อน จึงจะเป็นสภาวะธรรมนั้นๆ อย่างถาวรได้
เหมือนการท่องเที่ยวไปยังสถานที่รื่นรมย์น่าพอใจ เมื่อมีค่าพาหนะ ย่อมไปยังที่เหล่านั้นได้ แต่จะอยู่ประจำถาวรเลยนั้นไม่ได้ เพราะไม่มีทุนทรัพย์ เป็นค่าใช้จ่าย ต้องกลับมาทำมาหากินให้มีเงินพอเพียง จึงจะไปอยู่ประจำได้
การปฏิบัติธรรมตามหลักพระพุทธศาสนา ก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน ผลการปฏิบัติทำให้รู้เห็นตามความเป็นจริง สภาวะของพระอรหันต์เป็นอย่างไร พระนิพพานเป็นอย่างไร ต้องรู้ต้องเห็น แล้วปฏิบัติเพื่อเข้าถึง ไม่ใช่ทำตามคำพูดของใครโดยไม่พิสูจน์ด้วยตนเอง เหมือนเดินทางไม่รู้จักจุดหมาย
วัดพระธรรมกายเกิดขึ้น เพื่อสนับสนุนให้คนที่พึงรับคำสอน ได้พิสูจน์คำสอนของพระพุทธศาสนาด้วยตนเอง แล้วสั่งสมเสบียงบุญ เพื่อเดินทางไปให้ถึงจุดหมายที่ตนเองทราบด้วยตนเองแล้วนั้น
บุญจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งยวดของชีวิตที่ต้องแสวงหา คำว่าบุญหมายถึงสิ่งที่ใช้ชำระสันดานเลวของตนเองให้หมดไป การอยากได้บุญ ไม่ใช่โลภะ เพราะโลภะหมายถึงความอยากได้ในกามคุณอารมณ์ รูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัส อันพึงใจ
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ว่า สิ่งที่สันโดษไม่ได้มี ๒ ประการ คือ กุศลกรรมและความเพียร บุญคือกุศลกรรม ต้องหมั่นประกอบตลอดไป แม้กระทั่งเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือพระอรหันต์เจ้าทั้งหลาย หากดำรงพระชนม์อยู่ ก็ยังทรงปฏิบัติ เพียงแต่ไม่เรียกว่า บุญกุศล เรียกว่า กิริยาไปเสีย เพราะเป็นผู้ไม่มีสันดานเลวๆ อะไรเหลืออยู่ให้ชำระแล้ว
ดังนั้นใครที่กล่าวว่า การทำบุญต้องรู้จักหยุดจักพอ จึงเข้าใจไม่ถูกต้อง ทั้งนี้เพราะผู้กล่าว เข้าใจแต่เพียงการทำบุญด้วยการบริจาคทรัพย์ที่เรียกว่า ทำทานเพียงอย่างเดียว การทำบุญอย่างอื่นที่ไม่ต้องใช้ทรัพย์สินเงินทองมีอีกหลายวิธี และยิ่งกล่าวว่าควรละความชั่วก่อนทำทานก็ยิ่งกล่าวผิดหนักยิ่งขึ้นไปอีก เพราะการทำทานนี่แหละ คือการละความชั่ว คือความตระหนี่ เป็นอันดับต้น คนที่ละความตระหนี่ไม่ได้ ทำความดีอย่างอื่นยากนัก
สำหรับผลพลอยได้ของการทำบุญ ที่ทำให้เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสุคติภพ เช่นสวรรค์ หรือผลของบาปทำให้ตกนรก ก็เป็นเรื่องที่พิสูจน์ได้ด้วยการปฏิบัติธรรมของตนเอง ไม่ใช่เป็นเรื่องการสอนโดยวิธีเอาสวรรค์ มาล่อ เอานรกมาขู่ ภพภูมิเหล่านั้นเป็นของจริงมีอยู่ ไม่ใช่เรื่องคำล่อ คำขู่ ใครปฏิบัติธรรมได้ผลก็ไปดูเองเห็นเอง แล้วก็รักบุญกลัวบาป (มีหิริ โอตตัปปะ) ด้วยตัวของเขาเอง ไม่ต้องมีใครบังคับ การปฏิเสธคำสอนเรื่องนรกสวรรค์ ก็เท่ากับว่าปฏิเสธคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เมื่อวัดพระธรรมกายปรารถนาให้ผู้คนเกิดปัญญารู้แจ้งตามความเป็นจริงดังกล่าวแล้ว จำต้องสนับสนุนให้คนเหล่านั้นเต็มใจปฏิบัติเจริญสมาธิภาวนาให้เต็มที่ที่สุด เพราะเมื่อพวกเขามีปัญญาในระดับกายธรรม ย่อมนำปัญญาระดับนั้น มาแก้ปัญหาได้หมดทุกสิ่งทุกประการ ไม่ว่าจะเป็นปัญหายิ่งใหญ่ระดับไหน หรือปัญหาส่วนตัว ครอบครัว สังคม ประเทศชาติ และโลก ที่สุดแก้ไขได้หมด เพียงแต่ต้องรวมพลังเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว มุ่งมั่นร่วมใจกัน ไม่ใช่ปล่อยให้ปฏิบัติเพียงกลุ่มย่อย ส่วนกลุ่มใหญ่กลับทำเรื่องตรงข้าม
ถ้าร่วมมือกันปฏิบัติธรรมอย่างแท้จริงทั่วโลกแล้ว สันติภาพ สันติสุขอันถาวรย่อมเกิดขึ้นในโลกนี้ได้อย่างแน่นอน จะสามารถแก้ไขได้แม้กระทั่งสภาพดินฟ้าอากาศ มลพิษ และทรัพยากรบุคคล ทรัพยากรธรรมชาติทุกชนิด ให้เกิดคุณประโยชน์แก่ส่วนรวม สงคราม ความขัดแย้ง การเอารัดเอาเปรียบ จะสูญหายไป แม้กระทั่งความแตกต่างทางศาสนาก็จะไม่มี
แต่การชักชวนผู้คนทั้งโลกให้มาสนใจการเจริญสมาธิภาวนานั้น ไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้ง่ายๆ แต่ละบุคคลก็ต่างกันด้วยบุญและบาปที่ติดตัวมาจากอดีต ต่างกันด้วยความเป็นอยู่ สิ่งแวดล้อม เชื้อชาติ ศาสนา ลัทธิประเพณี ความเชื่อ การศึกษา ฯลฯ จะให้เห็นคุณค่าของการบำเพ็ญเพียรทางจิตด้วยความศรัทธาอย่างเต็มเปี่ยมนั้นเป็นเรื่องยาก คนส่วนใหญ่คิดอยู่แต่เรื่องของความเจริญทางวัตถุนิยมมากกว่าการศึกษาค้นคว้าในเรื่องของจิตใจคือการทำสมาธิจิตภาวนา
ด้วยเหตุนี้วิธีการที่ดีที่สุดที่จะสามารถชักชวนคนให้มาสนใจเรื่องของสมาธิ จะต้องทำให้ผู้คนนั้นเกิดความศรัทธา เชื่อมั่นในบุญ หันมาทำทาน รักษาศีลเสียก่อน
ความศรัทธา แปลว่า ความเชื่อ ความเลื่อมใสในสิ่งที่ควร เป็นองค์ธรรมเดียวกับคำว่า ฉันทะ ซึ่งแปลว่า ความรัก ความพอใจ คนเราเมื่อพอใจในสิ่งใด ย่อมเต็มใจทำในสิ่งนั้น
การชักชวนให้ผู้คนเกิดความศรัทธา สามารถทำได้ ๒ ประการ คือ
ประการแรก เอาชนะด้วยเหตุผลข้อเท็จจริง หรือข้อพิสูจน์ที่เห็นเป็นรูปธรรม ให้เข้าใจ คิดได้ หายสงสัย และประการที่สอง เอาชนะด้วยความสามารถหรือพลังที่เหนือกว่า เมื่อจะชักชวนให้สนใจในเรื่องของอำนาจใจ หรือเรื่องบุญ ซึ่งเป็นนามธรรม ผู้ชวนก็จำต้องแสดงพลังใจและพลังบุญที่เหนือกว่า เพื่อเอาชนะความมานะเย่อหยิ่งถือตัวของอีกฝ่าย ให้เกิดความสลดใจ ยอมรับความสามารถของผู้ที่เหนือกว่า อันเป็นที่ตั้งของศรัทธาดังในสมัยพุทธกาล
ความศรัทธาเมื่อเกิดขึ้นแล้ว จะทำให้ง่ายต่อการอบรมสั่งสอน
ปาฏิหาริย์ เมื่อนำมาใช้ในทางที่ดี จะเป็นที่ตั้งของศรัทธามหาชน ให้มาร่วมกันทำความดี เพื่อความร่มเย็นเป็นสุขของชาติบ้านเมือง จนถึงสันติสุขของโลก และยิ่งเป็นปาฏิหาริย์ที่เกิดจากอำนาจแห่่งบุญบันดาลของสาธุชนเรือนแสนแล้ว ไม่ควรว่าเป็นเรื่องร้ายแรงเสียหาย
เช่นเดียวกับปาฏิหาริย์อัศจรรย์ตะวันแก้วที่เกิดขึ้นมาด้วยพลังแห่งบุญบันดาลอย่างแท้จริง มหาชนนับแสนคนเป็นพยานในการเกิดสิ่งมหัศจรรย์นี้ บังเกิดความปีติ เลื่อมใสศรัทธาอย่างแรงกล้าในพระรัตนตรัย จนมีความเชื่อมั่นในเรื่องผลบุญและบาปว่ามีจริง จึงเห็นสมควรที่จะนำประสบการณ์ของผู้ที่ได้พบเห็นเหตุการณ์มาเสนอ เพื่อเป็นพยานยืนยันแก่ผู้ที่ไม่ได้พบเห็น ให้พิจารณา ใคร่ครวญว่า ปาฏิหาริย์ในพุทธศาสนานั้นมีอยู่จริง และเกิดประโยชน์ต่อผู้พบเห็น คือทำให้เกิดศรัทธาในพุทธศาสนาและเชื่อมั่นในเรื่องบุญบาป ดังตัวอย่างต่อไปนี้
อัศจรรย์ตะวันแก้ว วันที่ ๑๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๔๑
คุณจินตนา มะแก้ว บ้านอยู่พระโขนง กรุงเทพฯ เล่าว่า วันที่ ๑๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๔๑ ได้เดินทางไปวัดพระธรรมกาย
ตอนเย็นเมื่อร่วมพิธีถ่ายภาพประวัติศาสตร์ เมื่อทุกคนโบกธงก็ทำตาม สักครู่มีคนตะโกนว่า "มาแล้ว มาแล้ว" ก็เงยหน้ามองท้องฟ้า ได้เห็นดวงแก้วใสสว่างกว่าดวงอาทิตย์ ซ้อนอยู่กลางดวงอาทิตย์ ดวงแก้วหรือดวงธรรมดวงนั้น หมุนได้ตลอดเวลา แถมเคลื่อนตัวเข้าออกจากดวงอาทิตย์ได้ด้วย และยังมีแสงเปล่งออกมารอบตัวตลอดเวลา เป็นสีชมพูอ่อนบ้าง สีชมพูแก่บ้างงามกระจ่างสลับกัน
ปรากฏการณ์นี้เกิดอยู่เป็นเวลานาน ครั้นเมื่อมองมาที่พระภิกษุสงฆ์ที่ท่านนั่งอยู่ จีวรของท่านเปลี่ยนสีได้ สีชมพูบ้าง ม่วงบ้าง เป็นแถบๆ ไปไม่เหมือนกัน
เมื่อมองไปที่ดวงอาทิตย์อีกครั้ง เห็นดวงธรรมซ้อนอยู่ในดวงอาทิตย์เป็นประกายเจิดจ้ากว่าเดิม แต่สิ่งที่ทำให้ดีใจถึงขีดสุดคือ ได้เห็นหลวงพ่อวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ นั่งสมาธิอยู่กลางดวงธรรม เห็นอยู่เป็นเวลานานมาก
กลับมาดูที่มหาธรรมกายเจดีย์อีกครั้ง มองตั้งแต่ยอดโดมลงมา มีแสงสีทองอาบไล้มหาธรรมกายเจดีย์ สวยงามสุดบรรยาย
แล้วหันไปดูดวงอาทิตย์อีกครั้ง ดวงธรรมที่ซ้อนดวงอาทิตย์เปล่งประกายเจิดจ้า และมีอีกดวงเป็นสีทองสุกปลั่งวิ่งออกมาจากดวงอาทิตย์ วนไปทางขวา อ้อมไปด้านหลังมหาธรรมกายเจดีย์ แล้ววิ่งเป็นวงกลมกลับไปที่ดวงอาทิตย์ใหม่ วนอยู่อย่างนี้มากกว่า ๕ รอบ ในขณะที่ดวงอาทิตย์ก็ยังมีดวงธรรมซ้อนอยู่อย่างเดิม
คุณจินตนากล่าวสุดท้ายว่า "สิ่งอัศจรรย์ที่เห็นนี้ นับว่าเป็นบุญของตนเอง ไม่เสียทีที่ได้อยู่ร่วมพิธี จนถึงเวลาเย็นเป็นครั้งแรก"
ส่วนอีกรายหนึ่ง คุณนิตยา อรรคลีพันธุ์ เล่าว่าตนเองได้สร้างพระธรรมกายประจำตัวที่แกนกลางมหาธรรมกายเจดีย์เรียบร้อยแล้ว และยังชวนคนที่นับถือกันจากจังหวัดเชียงใหม่ ชื่อคุณอ้าย ทิพย์ดวง ให้มาร่วมงานที่วัดพระธรรมกายในวันที่ ๑๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๔๑
เย็นวันนั้นเวลาประมาณ ๑๖.๓๐ น. นั่งสมาธิและร่วมพิธีอยู่นานพอสมควร ที่ลานมหาธรรมกายเจดีย์ คุณอ้ายบอกว่า มีความรู้สึกว่าให้มองไปที่ดวงอาทิตย์ จึงได้เงยหน้าขึ้นมอง ได้เห็นเรื่องที่ไม่สามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ คือมีดวงแก้วใสสว่างทับอยู่กลางดวงอาทิตย์ ดวงแก้วหมุนวนไปมาพร้อมด้วยเปล่งรัศมีหลากสี เช่น ชมพู ม่วง บานเย็น และสีฟ้า เป็นต้น เปล่งออกมาเป็นระยะๆ สลับกันตลอดเวลา เวลานั้นมองดวงอาทิตย์ได้ไม่แสบตาเลย และที่สำคัญที่สุดคือ ได้เห็นภาพของหลวงพ่อวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ นั่งสมาธิอยู่ในกลางดวงอาทิตย์ด้วย