โอวาทพระราชภาวนาวิสุทธิ์
(หลวงพ่อธัมมชโย)
วันอาทิตย์ที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๔๒
ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน
สรรพสัตว์ทั้งหลาย ล้วนปรารถนาความสุข มวลมนุษยชาติต่างก็ปรารถนาให้โลกมีสันติสุขที่แท้จริง แต่ก็ไม่มีใครรู้ว่าจะทำอย่างไร จนกระทั่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงค้นพบว่า วิธีการที่จะทำให้โลกเกิดสันติสุขที่แท้จริงนั้น จะต้องให้มนุษย์ทุกคนได้เข้าถึงสันติสุขภายใน คือเข้าถึงพระธรรมกาย ซึ่งมีอยู่ในตัวของพวกเราทุกคน
เมื่อเข้าถึงแล้ว จะเปลี่ยนจากโลกแห่งความสับสนวุ่นวายให้กลาบเป็นโลกแห่งสันติสุข เพราะพระธรรมกายเป็นแหล่งกำเนิดของความสุขทั้งมวล เพราะฉะนั้นทุกคนควรจะมุ่งแสวงหาพระธรรมกาย ซึ่งเป็นที่พึ่ง ที่ระลึก และเป็นแหล่งกำเนิดแห่งสันติสุขอย่างแท้จริง การที่จะเข้าถึงพระธรรมกายภายในได้นั้นจะต้องฝึกใจให้หยุดให้นิ่ง แต่วิธีที่จะฝึกใจให้หยุดนิ่งนั้นมีอยู่หลายวิธี ที่มีบันทึกเอาไว้ในคัมภีร์วิสุทธิมรรค ๔๐ วิธี นอกจากนี้ก็มีอีกมากมาย แต่จะเป็นวิธีใดก็ตาม มีวัตถุประสงค์ฝึกให้ใจหยุด พอใจหยุดนั่นแหละถูกตัวสมถะ สมถะ แปลว่า หยุด แปลว่า นิ่ง แปลว่า สงบ แปลว่า ระงับ คือฝึกใจให้หยุดนิ่ง หยุดนิ่งได้นั่นแหละ เป็นสมถะ และหลังจากนั้นก็หยุดในหยุด เข้าไปเรื่อยๆ ก็เห็นไปเรื่อยๆ พอหยุดถูกส่วนเข้าความสว่างเกิด พอความสว่างเกิดก็จะเห็นสิ่งที่มีอยู่แล้วในตัว คือดวงธรรมและกายภายใน
พอสว่างก็เห็น พอเห็นก็รู้แจ้ง การที่จะเข้าถึงธรรมกายได้นั้น ต้องหยุดอย่างเดียว แต่วิธีการฝึกให้หยุดมีอยู่หลายวิธี และทุกวิธีนั้น จะต้องใช้หลักการเดียวกันคือสบาย ฝึกใจให้สบาย ทำใจให้สบายๆ ให้บริสุทธิ์ ผ่องใส
ถ้าใจทิ้งทุกสิ่งก็จะหยุดนิ่งอยู่ครงกลาง กลับเข้ามาสู่ที่ตั้งดั้งเดิมที่ตั้งของใจที่แท้จริงนั้นอยู่ที่กลางกาย แต่ปัจจุบันนี้ ใจได้กระเจิงไปด้วยความอยาก อยากได้ อยากมี อยากเป็น เพราะความอยากนี่แหละ อยากแท้ๆ ทำให้แย่อยู่ทุกวัน ให้วุ่นวายกันอยู่ ใจก็กระเจิงไปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ กระเจิดกระเจิงกันไปหลายๆ ทาง ไปติดในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรสสัมผัสอะไรต่างๆ เพลิดเพลินกันไปอยู่อย่างนั้น จึงไม่พบความสุขที่แท้จริง วนๆ เวียนๆ เป็นชีวิตที่สับสนกันอยู่อย่างนั้น
แต่ถ้าเมื่อไหร่ ใจนำกลับมาสู่ที่ตั้งที่ถูกต้อง ที่เที่ยงแท้ถาวรแล้ว ก็จะเข้าถึงกายธรรมได้ ซึ่งการปฏิบัติธรรมเพื่อให้เข้าถึงพระธรรมกายนี้ จะต้องใช้ อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแก่ตนเอง ต้องปฏิบัติกันด้วยตัวเอง ทำความเพียรให้กลั่นกล้า ปฏิบัติต่อเนื่องอย่างถูกวิธีต้องทำอย่างนี้ จึงจะเข้าถึงได้ เพราะฉะนั้นถ้าหากมีใครเขาได้กล่าวว่าธรรมกายสามารถอัดกันได้ คนอื่นสามารถบันดาลให้ใครเข้าถึงได้ เป็นการกล่าวตู่ เพราะความเป็นจริงนั้น ไม่ว่าหลวงพ่อวัดปากน้ำ หลวงพ่อ คุณยายอาจารย์ หรือใครก็ตาม เป็นแต่เพียงผู้บอก ผู้แนะนำวิธีการว่าจะปฏิบัติอย่างไร จึงจะเข้าถึงแล้วก็คอยประคับประคอง คอยให้กำลังใจในยามที่ท้อ เพราะว่าปฏิบัติไม่ถูกวิธีบ้าง ตั้งใจเกินไปบ้าง ย่อหย่อนไปบ้าง ก็คอยประคับประคอง คอยให้กำลังใจยามที่ติดขัดปัญหาเกี่ยวกับเรื่องประสบการณ์ภายในต่างๆ ก็จะช่วยแก้ไขแนะนำในฐานะที่ได้เดินทางผ่านในเส้นทางนี้มาก่อน ก็อาศัยประสบการณ์ที่ได้ผ่านมา แนะนำกันไป แบ่งปันความรู้กันไป
ส่วนการปฏิบัตินั้น ขึ้นอยู่กับตัวของเรา ถ้าเรารักที่จะเข้าถึงความสุขที่แท้จริง อยากจะพ้นทุกข์ทรมานจากภพชาติ จากการเวียนว่ายตายเกิด เราก็ต้องทำของเราเอง อยากจะรู้แจ้งเห็นจริงในสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับตัวเราหรือสรรพสิ่ง สรรพสัตว์ทั้งหลาย เราก็จะต้องฝึกฝน ศึกษาด้วยตัวเราเอง เพราะฉะนั้นใครที่ได้กล่าวเอาไว้ว่า มีการอัดธรรมกายนั้นถือเป็นการกล่าวตู่ เป็นการกล่าวเท็จ ความจริงไม่ได้เป็นกันอย่างนั้น
ถ้าสามารถอัดกันได้อย่างนั้น หลวงพ่อจะอัดให้ทั้งโลกเลย ให้เข้าถึงกันทุกคนทั้งโลกทีเดียว จะได้ไม่ต้องเสียเวลาในการปฏิบัติ พอมาถึงก็อัดธรรมกายให้เข้าถึงกันไปเลย ก็จบกันไป ต่างคนต่างก็ได้ กลับบ้านไปยิ้มแย้มแจ่มใส แต่ก็เพราะว่าตนเองต้องปฏิบัติเอง เข้าถึงเอง หลวงพ่อได้แต่เป็นผู้ชี้ทาง คอยแนะนำ ติดขัดปัญหาตรงไหนก็แก้ไขกันไป ในยามท้อก็ให้กำลังใจประคับประคองกันไปอย่างนี้ จนกว่าจะถึงฝั่งของธรรมกาย
อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ นี้เป็นธรรมที่เป็นจริง เราจะต้องพึ่งตัวของเราเอง อยากได้ความบริสุทธิ์ต้องทำด้วยตัวเอง และต้องทำให้ถูกวิธี จะไปอาบน้ำอาบท่าแล้วชำระล้างร่างกายให้สะอาด แล้วพลอยเข้าใจผิดไปว่า น้ำนั้นชำระใจให้สะอาดไปก็ให้แก้ไขความเข้าใจใหม่ เพราะว่า วิธีที่ถูกในการชำระมลทินของใจ ก็ต้องชำระด้วยใจ ด้วยวิธีสร้างความบริสุทธิ์ให้เกิดขึ้นมาในใจ
วิธีในการทำให้ใจบริสุทธิ์นั้น มีอยู่ตั้งหลายวิธี เรียกว่า บุญกิริยาวัตถุ คือทางมาแห่งบุญ ทางมาแห่งความบริสุทธิ์ ๑๐ อย่าง ถ้าย่นย่อลงมาก็เหลือบุญกิริยาวัตถุ ๓ คือ ทาน ศีล ภาวนา ย่อกว่านั้นลงมาทางลัดที่สุดก็คือทำใจหยุดนิ่ง ที่เรากำลังจะทำอยู่นี้ ฝึกใจให้หยุดให้นิ่ง
นี่คือวิธีที่ถูกต้อง เพราะฉะนั้นจะบริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์ขึ้นอยู่กับตัวของเรา ไม่ใช่ขึ้นกับสิ่งอื่นใดทั้งสิ้น
ศรัทธา เป็นทางมาแห่งความดีทั้งปวง
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า
สทฺธีธ วตฺตํ ปุริสสฺส เสฏฐํศรัทธาเป็นทรัพย์อันประเสริฐของคนในโลกนี้
สทฺธา สาธุ ปติฏฐิตาเมื่อศรัทธาแน่วแน่แล้วย่อมยังประโยชน์ให้สำเร็จ
สทฺธาย ตรติ โอฆํบุคคลจะข้ามโอฆะได้ด้วยศรัทธา
ความศรัทธา เป็นทางมาแห่งความดีทั้งหลาย ผู้ใดมีความศรัทธาเลื่อมใสในพระรัตนตรัย ผู้นั้นก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้มีทรัพย์อันประเสริฐ ถ้าหากว่ามีศรัทธาตั้งมั่นไม่หวั่นไหว บัณฑิตทั้งหลายกล่าวว่า เป็นผู้ไม่ขัดสน จะปรารถนาสิ่งใด ก็จะสำเร็จประโยชน์ทุกเรื่อง จะเป็นผู้ที่เจริญอยู่ในกุศลธรรม ย่อมสามารถข้ามพ้นห้วงน้ำ คือกิเลสอาสวะทั้งหลายไปสู่ฝั่งพระนิพพานได้
เหมือนอย่างปุรพันธะอุบาสก หลังจากที่ได้ฟังธรรมจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จนได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันแล้ว พญามารได้เนรมิตกายให้เหมือนกับพระบรมศาสดา จากนั้นก็ได้ไปยืนใกล้ประตูเรือนของปุรพันธะอุบาสก
ส่วนปุรพันธะอุบาสก เมื่อเห็นพระทศพลเสด็จกลับมาอีก จึงคิดว่า ธรรมดาการเสด็จไปอย่างไม่แน่นอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมไม่มี เหตุไรหนอวันนี้พระองค์จึงเสด็จกลับมาอีก ดังนี้แล้วจึงรีบเข้าไปกราบทูลถามว่า เพราะเหตุใดพระองค์จึงเสด็จกลับมาอีก มารก็กล่าวว่า ดูก่อน ปุรพันธะ เราเมื่อแสดงธรรมไม่ทันได้พิจารณา จึงแสดงธรรมแก่เธอขาดไปข้อหนึ่ง
ครั้งนั้น ปุรพันธะอุบาสกคิดว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องประหลาดอย่างยิ่ง เพราะธรรมดาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมมีวาจาเป็นหนึ่ง ไม่ตรัสวาจาผิดพลาด จึงเกิดความเฉลียวใจคิดใคร่ครวญว่า มารทั้งหลายย่อมเป็นข้าศึกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บุคคลผู้นี้จะต้องเป็นมารเป็นแน่ จึงได้ถามกลับไปว่า ท่านเป็นมารหรือ ถ้อยคำที่อุบาสกผู้เป็นอริยสาวกกล่าวนั้น เป็นเสมือนหนึ่งขวานอันคมกริบฟาดฟันมาร เพราะเหตุนั้นมารจึงดำรงอยู่ในภาวะของตนไม่ได้ จึงกล่าวว่า ใช่แล้ว ปุรพันธะ เราคือมาร
ปุรพันธะอุบาสกจึงถามว่า เพราะเหตุใด ท่านจึงมาที่นี่ มารก็ตอบว่าเรามาเพื่อทำศรัทธาของท่านให้หวั่นไหว อุบาสกจึงชี้นิ้วพร้อมกับกล่าวว่า เจ้ามารผู้มีใจอำมหิต อย่าว่าแต่เจ้าผู้เดียวเลย แม้พวกมารเช่นเจ้าตั้งร้อยตั้งพัน ก็ไม่อาจทำศรัทธาของเราให้หวั่นไหวได้ เจ้าจงไปให้พ้นประตูเรือนของเรา เขาจึงได้ขับไล่มารออกไป เมื่อมารฟังคำของปุรพันธะอุบาสกแล้ว ก็ถอยห่างออกไป ไม่อาจจะพูดจาโต้ตอบอะไร จึงได้อันตรธานหายไปในที่นั้นเอง
ส่วนปรพันธะอุบาสก เมื่อถึงเวลาเย็นก็ได้ไปเข้าเฝ้าพระบรมศาสดาและกราบทูลเรื่องราวที่มารได้กระทำดังกล่าวนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าครั้นทรงสดับเรื่องราวทั้งหมดแล้ว จึงทรงสรรเสริญอุบาสก และได้สถาปนาปุรพันธะอุบาสกไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะผู้เป็นเลิศกว่าเหล่าอุบาสกผู้เลื่อมใสในพระรัตนตรัย ไม่หวั่นไหว
ดังนั้นอุบาสกที่แท้จริง หรือที่เรียกว่าอุบาสกแก้ว ต้องเป็นผู้ไม่หวั่นไหวอย่างนี้นะ มีศรัทธาเชื่อมั่นในพระรัตนตรัย ซึ่งข้อนี้เป็นคุณสมบัติประการแรกของอุบาสกในพระพุทธศาสนา คือจะต้องไม่คลอนแคลนในคำสอนของพระบรมศาสดา รู้จักใช้สติและปัญญาพิจารณาไตร่ตรองทุกสิ่งให้รอบคอบก่อนที่จะตัดสินใจทำอะไรลงไป เพราะถ้าหากไม่ใคร่ครวญให้ดีก่อนทำแล้ว อาจจะก่อให้เกิดความเสียหายตามมาภายหลังได้
การที่จะเป็นอุบาสกที่สมบูรณ์ตามพุทธประสงค์นั้น นอกจากจะเป็นผู้มีความศรัทธามั่นในพระรัตนตรัยแล้วยังจะต้องเป็นผู้มีศีล มีความบริสุทธิ์กาย วาจา ใจ มีศีลเป็นอาภรณ์อันประเสริฐ บุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยศีล ย่อมหอมฟุ้งไปทั่วสารทิศ ผู้นั่งใกล้พระรัตนตรัยที่แท้จริง จะต้องมีจิตใจหนักแน่น มั่นคงในการสร้างความดี ไม่เป็นผู้ถือมงคลตื่นข่าว เมื่อมีเรื่องราวเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นทั้งดีหรือไม่ดีก็ตาม ต้องทำใจให้เป็นกลางๆ ไม่มีอคติ ไม่ยินดียินร้ายหรือหวั่นไหวไปในโลกธรรมทั้งแปด เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นธรรมดาของโลก
เราเกิดมาสร้างบารมี ก็ต้องสร้างบารมีกันต่อไป หมั่นสั่งสมบุญในเนื้อนาบุญอันเลิศ พระธรรมกายคือเนื้อนาบุญ ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ เป็นฆราวาสหรือนักบวช ถ้าหากได้เข้าถึงธรรมกาย เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับธรรมกาย ก็ได้ชื่อว่าเป็นเนื้อนาบุญชั้นยี่ยมในเขตบุญพระพุทธศาสนา แหล่งบุญที่บริสุทธิ์บริบูรณ์ มีอยู่ในพระพุทธศาสนา ถ้าเราแสวงหาบุญเขตนอกจากนี้ เราก็ได้บุญ แต่อาจจะได้ผลบุญไม่เต็มที่ เหมือนการหว่านพืชลงในนาดอน ย่อมได้ผลผลิตไม่เป็นที่น่าปลื้มใจ
ดังนั้นพระพุทธองค์จึงทรงแนะนำให้เราบำเพ็ญบุญในพระพุทธศาสนา แล้วก็ทำโดยพิจารณา เหมือนบุคคลผู้มีปัญญา หว่านพืชแม้น้อยลงในนาดี ก็ย่อมมีผลไพบูลย์ นำมาซึ่งความปลาบปลื้มใจ เพราะฉะนั้นในวันที่ ๒๙ ถึง ๓๑ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๔๒ ปลายเดือนนี้ จะมีการบวชอุบาสกแก้ว ก็ให้ช่วยกันบอกข่าวบุญนี้ให้ทั่วถึงกัน เชิญชวนหมู่ญาติของเรา ให้มาร่วมกันสร้างมหากุศล เอาบุญใหญ่นี้ให้แก่พ่อผู้บังเกิดเกล้าของเรา และน้อมเกล้าถวายเป็นพระราชกุศลแด่พ่อแก้วแห่งชาติ ในวาระที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระชนมพรรษาครบ ๖ รอบ ๗๒ พรรษา ให้ทำหน้าที่กัลยาณมิตร ชักชวนกันมาเก็บเกี่ยวบุญใหญ่นี้ให้มากๆ นะ