วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ แนะแนวบัณฑิตใหม่

ข้อคิดรอบตัว
เรื่อง : พระครูปลัดสุวัฒนโพธิคุณ (สมชาย ฐานวุฑฺโฒ) จากรายการข้อคิดรอบตัว ออกอากาศทางช่อง DMC

 

แนะแนวบัณฑิตใหม่,เนื้อนาใน,อยู่ในบุญ

 

แนะแนวบัณฑิตใหม่

 

 ช่วงนี้นิสิตนักศึกษาจบใหม่หลายคนไม่แน่ใจว่าตัวเองถนัดอะไร จบแล้วจะทำงานอะไร มีคำแนะนำอย่างไรบ้าง ?
    เรื่องถนัดอะไร จริง ๆ น่าจะถามก่อนเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย พอเรียนจบส่วนใหญ่คงอยากทำงานในสาขาที่เรียนมา เพราะว่ามีพื้นฐาน แต่คนที่ได้งานไม่ตรงกับสาขาก็มีเหมือนกัน ซึ่งเรื่องเสียเปรียบคนอื่นก็คงมีบ้างแต่ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะถ้าดูดี ๆ แล้ว ความรู้๘๐-๙๐ เปอร์เซ็นต์ที่เราเรียนมา เรียนแล้วก็ลืมที่เหลืออยู่คือการวิเคราะห์ การแก้ปัญหาการจับประเด็น และทักษะในการดำรงชีวิต สิ่งเหล่านี้ยังติดตัวเราอยู่ ทักษะนี้พอติดตัวแล้วไม่ลืม แต่ความรู้ลืมได้ ดังนั้นถ้าเราต้องเปลี่ยนสาขาไปทำงานด้านอื่น ส่วนที่เสียเปรียบก็คือความรู้ประมาณ ๑๐-๒๐ เปอร์เซ็นต์ แต่ว่าทักษะชีวิตไม่ได้เสียเปรียบ พอมองอย่างนี้จะพบว่าที่จริงเสียเปรียบไม่มาก พอสู้ไหว และความรู้บางอย่างที่จำเป็นต้องใช้ถ้าเรายังมีไม่พอ เลิกงานก็ไปเรียนเพิ่มสัก ๒-๓ ชั่วโมงหรือหาความรู้ด้วยตัวเอง ถ้าทำอย่างนี้แค่ ๖เดือน หรือ ๑ ปี เราก็ทันคนอื่นแล้ว เอาเฉพาะความรู้ที่จะต้องใช้งานจริง อะไรที่เรายังมีความรู้ไม่พอก็ไปเสริมสิ่งนั้น เดี๋ยวความรู้ก็จะไล่ทันกัน เสียเปรียบไม่มากเท่าไร ตัวชี้ขาดจริง ๆ ในระยะยาวอยู่ที่ทักษะในการคิด การวิเคราะห์ การแก้ปัญหา และการทำงานร่วมกับผู้อื่น ถ้าทำตรงนี้ได้ดีเราจะประสบความสำเร็จในการทำงาน

  เกรดที่จบมามีความสำคัญมากน้อยเพียงใด ?
    ถ้าหากจบจากสถาบันที่เข้ายากและมีชื่อเสียง ก็เป็นการกรองไปในตัวว่าคนที่สอบเข้าได้ต้องมีความรับผิดชอบ และมีสติปัญญาใช้ได้ เพราะบางคนอาจจะหัวดี แต่ขี้เกียจอ่านหนังสือ ก็สอบเข้าไม่ได้ จะเข้าได้ต้องมีทั้งสติปัญญา ความวิริยอุตสาหะ และความรับผิดชอบเป็นการกลั่นกรองคนมาอีกชั้นหนึ่ง สถาบันเหล่านี้พอเข้าไปแล้วสิ่งแวดล้อมจะหนุนส่งเพราะมีแต่คนฉลาด ๆ คนขยัน ทำให้เราขยันไปด้วย แล้วครูบาอาจารย์ก็ป้อนให้เต็มที่เพราะว่าเด็กรับได้ สิ่งแวดล้อมก็เอื้อ ทำให้เราได้รับการฝึกฝนดีขึ้น พอจบมาก็เลยกลายเป็นเครดิตของสถาบัน ว่าจบสถาบันนี้ คณะนี้ เกรดขนาดนี้ ดูแล้วดี นั้นเป็นต้นทุนเบื้องต้น เพราะเวลาไปสัมภาษณ์เขายังไม่รู้จักเรา เขาจะดูจากโหงวเฮ้งก่อนว่าบุคลิกท่าทางเราเป็นอย่างไรการพูดการจาเป็นอย่างไร แล้วก็ดูเกรด สถาบันและคณะที่จบเป็นตัวประกอบ แต่ว่าพอทำงานจริง ๆ สิ่งเหล่านี้จะสำคัญน้อยลงไปเรื่อยๆเป็นแค่ First Impression หรือความประทับใจแรกพบเท่านั้น เวลาทำงานจรงิ จะกลายเป็นว่าคุณทำงานได้ดีขนาดไหน ต่อให้จบสถาบันธรรมดา เกรดก็ธรรมดา แต่ขยันขันแข็งมอบหมายงานอะไรก็ได้เรื่องตลอด อีกคนจบเกรดดี สถาบันดัง แต่จ่ายงานไปแล้วไม่ค่อยได้เรื่อง ไม่กี่เดือนเท่านั้นคนที่จบจากสถาบันธรรมดา ๆ จะมีเครดิตดีกว่าในสายตาของหัวหน้างาน ดังนั้นคณะที่จบ สาขาที่จบสถาบันที่จบ เกรดที่ได้ เป็นแค่ต้นทุนหนึ่งในชีวิตเท่านั้น

 หลายองค์กรระบุว่าต้องมีประสบการณ์ ในการทำงานมาก่อน บัณฑิตใหม่ที่ไม่มีประสบการณ์ควรทำอย่างไร ?
    ถ้าไม่มีก็เริ่มไปไปหาประสบการณ์ตั้งแต่วันนี้ ส่วนคนที่ยังเรียนอยู่ก็เตรียมการตอนนี้เลย ประสบการณ์ในการทำกิจกรรมก็ได้ เคยทำกิจกรรมชมรมมามีผลงานอย่างนั้นอย่างนี้ก็เตรียมเอาไว้ ถึงคราวไปพรีเซนต์ (Present)ก็เปิดให้ดูเลย เคยมีบัณฑิตจบใหม่มาพรีเซนต์ตัวเองให้ฟัง เขาเตรียมการมาดีมาก ว่าเขาเคย
ได้รับประกาศนียบัตรจากการทำกิจกรรมนั้นมีผลงานนี้ พรีเซนต์เป็นเรื่องเป็นราว ฟังแล้วประทับใจ ถ้าเวลาไปสมัครงานเราสามารถพรีเซนต์ประสบการณ์จากกิจกรรมที่เราทำผ่านมาได้ ซึ่งถือเป็นประสบการณ์ในการทำงานรูปแบบหนึ่งเหมือนกัน ไม่แน่ว่าเขาอาจจะให้น้ำหนักดียิ่งกว่าประสบการณ์ในการทำงานตามบริษัทต่าง ๆ เสียอีก เพราะแสดงว่าเราเป็นคนที่แอคทีฟ (Active)

มีความเห็นอย่างไรในเรื่องที่ว่าเรียนจบปริญญาตรีหรือโทแล้วก็ยังไม่เพียงพอ ?
   รู้สึกว่าสตีฟ จอบส์ก็ไม่จบปริญญาตรีแต่เขาตั้งบริษัทแอปเปิลได้ หรือแม้แต่มาร์กซักเคอร์เบิร์ก ก็ไม่จบปริญญา ส่วนคนที่ตั้งวอทส์แอป เขาตั้งบริษัทมา ๕ ปี มีพนักงาน๕๐ คน ขายบริษัทได้เงินมา ๖๐๐,๐๐๐ ล้านบาทก็ไม่จบปริญญา แม้แต่บิล เกตส์ ผู้ก่อตั้งไมโครซอฟท์ ก็ไม่จบปริญญาอีกเหมือนกันถามว่าทำไมเขาถึงประสบความสำเร็จในชีวิตเพราะเขาคิดเป็น ดังนั้นการจบปริญญาเป็นตัววัดแค่ชั้นหนึ่งเท่านั้นเอง พูดอย่างนี้ไม่ได้หมายถึงว่าไม่ต้องเรียนแล้ว การเรียนให้จบเป็นต้นทุนที่เป็นประโยชน์อยู่แล้ว แต่อย่าจบเพียงเพื่อเอาใบปริญญามาโชว์กัน
   ในประเทศญี่ปุ่นใครไปสมัครเรียนหรือสมัครงานก็ตาม เขาจะมีใบกรอกประวัติอย่างละเอียดว่า คุณเคยทำอะไรมาบ้าง แล้วเขาจะประเมินจากทุกอย่างที่คุณเคยทำมา เช่นคนนี้จบปริญญาโท คนนั้นจบโทแล้วมีบทความวิชาการที่เขียนขึ้นมากี่เรื่อง ลงตีพิมพ์ในวารสารวิชาการฉบับไหน ในประเทศหรือต่างประเทศ บางคนจบคอร์สเวิร์กแล้วก็ยังไปหาประสบการณ์เรียนต่อปริญญาเอกที่ต่างประเทศอีก เขาจะประเมินจากสิ่งเหล่านี้
บางคนจบคอร์สเวิร์กในญี่ปุ่นแล้วมาอยู่ที่จุฬาฯ ฝึกภาษาไทยเพิ่มให้ใช้งานคล่องขึ้นแล้วก็ไปฝังตัวในองค์กรต่าง ๆ เก็บข้อมูลศึกษาวิจัยเสร็จแล้วกลับประเทศญี่ปุ่น ซึ่งบ้านเราจะมองว่าเสียเวลามาก ถ้าเข้าเรียนชั้นไหน
จะต้องจบให้เร็วที่สุด เอาใบปริญญามาให้ได้คือความภาคภูมิใจ ถ้าไม่ได้ปริญญาคือสูญเปล่า แต่ของเขามุ่งไปที่ความรู้ ถ้าที่ไหนที่ให้ความรู้เขาได้ เขาก็ไป เวลา ๒ ปี ๓ ปีเขายอมให้ มีคนหนึ่งเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยโตเกียวซึ่งถือเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ จบคอร์สเวิร์กปริญญาเอก ๕ ปีไปแล้ว และเผอิญมีอาจารย์ที่เก่งมากอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์ เขาก็ไปสมัครเรียนปริญญาเอกที่สวิตเซอร์แลนด์อีกปีสองปีจะได้ถ่ายทอดความรู้จากอาจารย์ที่เก่งด้านนี้เป็นอันดับ ๑ ของโลก เขาไม่ได้คิดว่าไปแล้วต้องได้ปริญญา แล้วถ้ายังไม่จบปริญญาเอก
เป็นโปรเฟสเซอร์ได้หรือ เป็นได้ เพราะเวลาไปสมัครเป็นอาจารย์ที่ไหนเขาดูจากผลงานที่ผ่านมาทั้งหมด แล้วประเมินดูว่าฝีมือใช้ได้ก็รับเป็นอาจารย์ แล้วทำผลงานต่อไป สุดท้ายก็เป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์รองศาสตราจารย์
ศาสตราจารย์ พอความรู้แน่นพอเมื่อไรก็ทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก แล้วมาขอดอกเตอร์เขาประเมินคนจากความสามารถจริงๆไม่ได้ดูแต่เปลือก ในแง่นี้บ้านเรายังติดเปลือกอยู่นิดหน่อย จึงเอาปริญญามาโชว์กัน ถ้าเป็นไปได้ให้ดูว่าเราอยากจะเป็นอะไร อยากทำงานอะไรแล้วที่ไหนให้ความรู้เสริมเราได้ให้ไปที่นั่น งานอะไรช่วยเพิ่มทักษะและประสบการณ์ได้ให้ไปทำงานนั้นและทำอย่างทุ่มเท ถ้าไม่ได้อยู่ในสายวิชาการที่จำเป็นต้องมีวุฒิปริญญาโทหรือปริญญาเอก แค่ปริญญาตรีก็เหลือเฟือแล้ว หากจะเรียนปริญญาโทเพิ่มควรเรียนเพื่อเอามาใช้
ไม่ใช่เพื่อเอาใบปริญญามาโชว์ ขอให้ปรับทัศนคติตรงนี้ใหม่

บัณฑิตจบใหม่จะไปสมัครงานอย่างไรให้ได้ผล ?
   เตรียมตัวให้พร้อมที่สุด อย่าไปกังวลกับสถาบันที่จบ เกรดที่มีอยู่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ คิดไปก็เปล่าประโยชน์ ให้ทำในสิ่งที่เตรียมตัวได้เช่น ฝึกบุคลิก ตัดผมให้เรียบร้อย แต่งตัวให้ถูกกาลเทศะ ให้ดูดีมีมารยาท ฝึกบุคลิก
การเดิน การนั่ง การพูด การแนะนำตัวเองบางคนตื่นเต้นกังวลจะไปสัมภาษณ์ไม่รู้จะทำอย่างไร พอเขาถามก็ตอบผิดตอบถูก ให้ลองร่างว่าจะแนะนำตัวเองอย่างไรบ้าง ร่างแบบกระชับและเข้าเป้า สามารถเอาจุดเด่นมา
นำเสนอได้ ร่าง เกลา แก้เสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็ซ้อมพูด ๑๐๐ รอบหน้ากระจก อย่างนี้ถึงจะใช้ได้ ผู้ที่เตรียมตัวพร้อมที่สุดคือผู้ที่ได้เปรียบแล้วจะเป็นผู้ชนะ

เมื่อเรียนจบแล้วนอกจากเป็นมนุษย์เงินเดือน จะไปทำอย่างอื่นได้หรือไม่ ?
   ต้องบอกว่าไร้ขีดจำกัด คนไหนที่เริ่มทำงานตั้งแต่เรียนจะไม่กังวลเรื่องนี้ แต่คนที่เรียนอย่างเดียว พอจบแล้วจะกังวล ไปสมัครงานแล้วเขาจะรับไหม จะทำอาชีพส่วนตัวก็ไม่มีประสบการณ์ แต่คนไหนเคยทำงานตั้งแต่
เด็กจะไม่กังวลเลย ประสบการณ์จะหล่อหลอมให้ทำงานเป็น ขอเล่าเรื่องตัวเองนิดหน่อย ตอนอยู่ชั้นมัธยมต้นที่จังหวัดสกลนคร อายุ ๑๒ ปีเศษ ๆ ตอนนั้นที่บ้านมีแผงอยู่ในตลาดสดทิ้งว่างๆอยู่ เด็กอายุ ๑๒ เลยคิดการณ์ใหญ่ว่าจะทำธุรกิจส่วนตัว จึงไปขอคุณพ่อใช้แผงตอนนั้นที่บ้านทำร้านอาหารก็คิดจะทำธุรกิจที่สอดคล้องกับที่บ้าน คือ ขายน้ำแข็งบดมีลูกค้าประจำแน่เพราะที่บ้านซื้อน้ำแข็งอยู่แล้ว จากนั้นก็เริ่มทำที่เก็บน้ำแข็ง เอาไม้ต่อขึ้นมาแล้วก็เอาโฟมบุกันความร้อน แล้วเอาอลูมิเนียมบุทับอีกชั้นหนึ่ง แล้วสั่งน้ำแข็งจากโรงน้ำแข็งมาลง พอลูกค้าต้องการน้ำแข็งก็เอาเลื่อยมาเลื่อย ตอกให้เป็นชิ้นเล็กลง แล้วใส่ไปในที่บดน้ำแข็ง พอบดเสร็จก็ใส่ปี๊บไปส่งลูกค้าอายุ ๑๒ เป็นเจ้าของกิจการแล้ว จ้างลูกจ้าง๑ คน ให้ช่วยที่บ้านด้วย ถึงเวลาจะบดน้ำแข็งก็มาช่วยบด กลางวันมีลูกค้าประจำ ๑ ราย คือที่บ้าน ตอนเย็นสัก ๔ โมงกว่า ๕ โมง ก็มาดูแลร้านน้ำแข็ง เพราะว่าพอช่วงเย็น ๆ คนที่เขาขายหมู ขายกุ้ง ขายปลา ขายอาหารทะเลต่าง ๆ ต้องเอาของที่เหลือมาแช่น้ำแข็ง เราก็จะไปถามเขาว่าจะเอาน้ำแข็งเท่าไร แล้วก็บดไปส่ง ตอนเย็นลูกจ้างกลับบ้านแล้ว เราก็บดไปส่งเอง แต่ปี๊บน้ำแข็งมันใหญ่ แรกๆยกขึ้นบ่าไม่ไหวก็อุ้มไป พอ ๒-๓ เดือนกล้ามเนื้อแข็งแรงขึ้น คราวนี้เอาขึ้นบ่าได้ ผ่านไปปีสองปีแบกได้ทีละ ๒ ปี๊บ กิจการเรามีรายรับเข้ามาหักต้นทุนแล้วยังมีกำไร เพราะฉะนั้นพอผ่านอย่างนี้มาแล้วจะไปทำงานอะไรไม่กลัวเลยช่องทางในการทำงานมีอยู่ทั่วไป ไม่ได้ตีบตันอยู่แค่ว่าต้องไปสมัครงานกินเงินเดือนอย่างเดียว แต่การเป็นเจ้าของกิจการต้องแบกรับความเสี่ยง เศรษฐกิจไม่ดีกระเทือนเศรษฐกิจดีรายรับอาจจะเพิ่มขึ้นถึง ๒ เท่า ๓ เท่า ฉะนั้นจะต้องมีความสุขุมรอบคอบ มีการเก็บข้อมูล มีการสร้างความสัมพันธ์ และทุ่มเทมากกว่าคนทำงานกินเงินเดือน เพราะว่าตัวเองต้องรับผิดชอบต่อความอยู่รอดของธุรกิจนั้น ๆ จึงต้องเค้นศักยภาพมากเป็นพิเศษ บางคนจบแค่ชั้นประถมขายก๋วยเตี๋ยวรายรับอาจจะสูงกว่าจบปริญญาโทปริญญาเอกอีกนะ เพราะฉะนั้นขอให้เรากล้าที่จะลงมือทำ แล้วไม่ต้องไปรอตอนเรียนจบ อยู่ชั้นไหนก็เริ่มได้ จะเป็นงานอาชีพ งานกิจกรรม งานจิตอาสาก็ตาม ขอให้ลงมือทำ เพราะว่าในวัยเรียนเรามีเวลาเหลืออย่าไปใช้กับเรื่องไร้สาระ เอามาเพิ่มทักษะประสบการณ์ในชีวิตดีกว่า แล้วเราจะเป็นคนที่ทำงานเป็น มีคุณค่าในตัวเองมากขึ้น

บัณฑิตจบใหม่ควรจะบริหารรายรับรายจ่ายอย่างไร ?
 ไม่ว่าจะมีเงินเดือนเท่าไรก็ตาม ต้องรู้จักเก็บออม คนทั่วไปเวลาจะออมทรัพย์จะใช้เงินไปก่อนสิ้นเดือนเหลือเท่าไรถึงเอาไปฝากธนาคารไว้ อันนั้นผิดหลัก เพราะมักจะไม่ค่อยเหลือ บางทีจะขาดด้วย หลักการออมทรัพย์
ที่ดีคือ พอรับเงินเดือนมาแล้วต้องหักส่วนหนึ่งออมไว้เลย รับเงินมาแล้วเอาเข้าธนาคารก่อนส่วนที่เหลือค่อยมาวางแผนว่าจะใช้อะไรเท่าไรแบ่งงบเป็นส่วนๆ วางแผนแล้วใช้จ่ายตามนั้นโดยแต่ละวันควรทำบัญชีรายรับรายจ่ายด้วยถ้าอย่างนี้ไม่มีปัญหา จะมีเงินพอใช้แล้วจะมีเงินเก็บด้วย พอมีเงินสะสมอยู่ก้อนหนึ่งจะเริ่มลงทุนทำธุรกิจก็ได้ ฉะนั้นขอให้วางแผนการใช้จ่าย อย่าเป็นลักษณะรับเงินเดือนมาก็ใช้ไปเรื่อย ๆ เดี๋ยวไม่ทันสิ้นเดือนก็หมดก่อน แล้วไปรูดบัตรเครดิตเป็นหนี้เขา ชีวิตจะมีปัญหามากเลย ฉะนั้นต้องมีการวางแผนการเงินที่ดี

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

บทความอยู่ในบุญทั้งหมด ฉบับที่ ๑๗๔ เดือนมิถุนายน ๒๕๖๐

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล