วิราคธรรม
ผู้เทศน์เองก็ได้ค้นคว้าหาเหตุผลเหล่านี้นักหนา แต่ว่ายังไปไม่ถึงสุด ไปยังไม่สุดในวิราคธาตุวิราคธรรม ถ้าไปสุดเวลาไรละก็ วิชชาของผู้เทศน์นี่ สำเร็จเวลานั้น ภิกษุสามเณรจะต้องเหาะเหินเดินอากาศได้ทันทีทีเดียว ไม่ต้องไปสงสัยละ เวลานี้กำลังไปอยู่ ทั้งวันทั้งคืน วินาทีเดียวไม่ได้หยุดเลย ตั้งใจจะไปให้สุดวิราคธาตุวิราคธรรมนี่แหละ ตั้งแต่ต้นจนกระทั่งบัดนี้ นับปีได้ ๒๒ ปี กับ ๖ เดือนเศษเกือบครึ่งละ จะไปให้สุดวิราคธาตุวิราคธรรม ถ้าว่าสุดแล้ว ก็รู้ดอกไม่ต้องสงสัยละ รู้กันหมดทั้งสากลโลก ถ้าสุดเข้าแล้ว รบราฆ่าฟันเลิกกันหมด มนุษย์ในสากลโลกร่มเย็นเป็นสุขหมด ไม่ต้องทำมาหาเลี้ยงชีพ มีผู้เลี้ยงเสร็จ เป็นสุขเหมือนอย่างกับพระ เหมือนอย่างกับเทวดา เหมือนกับพระนิพพาน สุขวิเศษไพศาลอย่างนั้น
พวกเราทั้งหลายนี้ไม่ได้ไปกันเลย ยังเฉย ๆ อยู่ มัวชมสวนดอกไม้ในโลกอยู่นี่เอง ชมรูปบ้าง เสียงบ้าง กลิ่นบ้าง รสบ้าง ก็อยู่ที่เดียวนั่นเอง ไม่ได้ไปไหนกับเขาเลย นี่พวกจะไปก็มีภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา จะไปให้สุดวิราคธาตุวิราคธรรม แต่อ้าว...พอไปก็เลี้ยวกลับเสียแล้ว ไม่ไปกันจริง ๆ ไปชมสวนดอกไม้อีกแล้ว ไปเพลิดเพลินในบ้านในเรือนกันอีกแล้ว กลับกลอก ๆ อยู่อย่างนี้แหละจะเอาตัวไม่รอดชีวิตไม่พอ
เหตุนี้ให้พึงรู้ว่า สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตัวของเรา จึงจะเข้าถึงวิราคธาตุวิราคธรรมได้ ที่จะเข้าถึงวิราคธาตุวิราคธรรมน่ะ ต้องปล่อยชีวิตจิตใจนะไปรักไปห่วงอะไรไม่ได้ ปล่อยกันหมดสิ้นทีเดียว ต้องทำใจหยุดนั่นแหละ จึงจะไปถึงวิราคธาตุ วิราคธรรมได้ ต้องทำใจหยุด หยุดในหยุด ไม่มีถอยกัน ไม่มีกลับกันละ นั่นแหละจึงจะไปสุดได้ ถ้าใจอ่อนแอไปไม่ได้ดอก ต้องใจแข็งแกร่งทีเดียวจึงไปได้”
พระมงคลเทพมุนี ธรรมนิยามสูตร (๓๑ มกราคม ๒๔๙๗)