“ตัวอุบาทว์” หรือ “ตัวบ่าง”

วันที่ 04 กพ. พ.ศ.2559

 

“ตัวอุบาทว์” หรือ “ตัวบ่าง”

 

สังคมไทยกำลังเป็นอะไร
ทำไมถึงชอบใส่ร้ายป้ายสีกัน
หรือว่าอุบาทว์กำลังลง

 

.....สังเกตว่า มีการใส่ร้ายป้ายสีและจับผิดกันมากมายในสังคมไทย  เลยสงสัยจริงๆ นะคะ ว่าเรากำลังเป็นอะไรกัน ถึงได้มองเห็นคนไทยด้วยกันเองเป็นศัตรู ต้องคอยจ้องหาเรื่องห้ำหั่นกันเองด้วย พอไปอ่าน นิทานสอนใจเรื่อง “ตัวอุบาทว์” จึงคิดว่า เราคงถูกตัวอุบาทว์ลงแล้วละค่ะ อยากทราบว่า “ตัวอุบาทว์” เป็นอย่างไร อ่านต่อเลยนะคะ...

 

.....มีเรื่องเล่าอยู่เรื่องหนึ่ง กาลครั้งหนึ่งมีกษัตริย์อยู่ที่เมืองหนึ่ง เป็นกษัตริย์ที่เอาใจใส่พสกนิกรดีมาก มักจะปลอมตัวเป็นคนธรรมดาไปตรวจดูทุกข์สุขอยู่ตลอดสม่ำเสมอ คราหนึ่งปลอมตัวไปตรวจดูบ้านเมืองว่าอยู่กันเป็นสุขดีไหม ไปถึงที่ตำบลแห่งหนึ่ง มีบ้านหลังใหญ่หลังหนึ่งเป็นบ้านร้างไม่มีคนอยู่เลย นึกแปลกใจว่าบ้านหลังใหญ่โต ทำไมปล่อยให้หยากไย่ ฝุ่นจับเปรอะ ไม่มีคนดูแลเลย จึงถามชาวบ้านแถวนั้นว่าทำไม เขาก็บอกว่าไม่มีใครกล้าอยู่ เพราะอุบาทว์ลง อยู่แล้วแย่ พระราชาชักงงเลยกลับมาถึงวัง นั่งคิดนอนคิดว่าอุบาทว์เป็นอย่างไร คิดไม่ออก เช้าขึ้นมาประชุมราชการเสนาอำมาตย์พร้อมหน้าก็ไล่ถามจากมหาอำมาตย์ลงไปอัคร เสนาบดี ไล่ลงไปเรื่อยว่าตัวอุบาทว์เป็นอย่างไร ถามไล่ทีละคนก็ไม่มีคนรู้จักเลย

 

.....พระราชาเกิดขัตติยมานะอยากจะรู้ให้ได้ว่าอุบาทว์เป็นอย่างไร จึงชี้ไปทางเสนาคนหนึ่งแล้วบอกว่า หามาให้ได้ว่าอุบาทว์เป็นอย่างไร หามาให้ได้ภายใน 7 วัน หาไม่ได้จะตัดคอ เสนาเที่ยวถามทั่วบ้านทั่วเมืองว่าอุบาทว์เป็นอย่างไร ก็ไม่มีใครรู้ ผ่านไปได้ 6 วันก็ไม่ได้คำตอบ ก็นึกว่าคราวนี้ข้าพเจ้าต้องตายแน่นอน ถ้าถูกประหารตายในเมืองก็อับอายเขา ขอไปตายในป่าหิมพานต์เพื่อไม่ให้ใครเห็น จึงเลยเดินเข้าป่า ไปถึงกลางป่าได้พบฤๅษีตนหนึ่งพักอยู่ที่บรรณศาลา เห็นเขาเดินหน้าหมองมา ฤๅษีถามว่าเป็นอะไรมา เขาบอกว่ามาหาตัวอุบาทว์แต่หาไม่เจอ คงถูกพระราชาประหารแน่ เลยมาหาที่ตายกลางป่า ฤๅษีก็หัวเราะและบอกว่า “หาตัวอุบาทว์ไม่ยาก ไปตัดกระบอกไม้ไผ่มา”

 

.....เสนาก็ไปตัดไม้ไผ่มาลำหนึ่ง เปิดฝาไว้ข้างหนึ่ง ฤๅษีมาถึง ก็หายไปในบรรณศาลา เอาชานหมากที่เคี้ยวใส่ลงไปกระบอกไม้ไผ่แล้วปิดไว้ กระบอกไม้ก็ลึกพอสมควร แล้วบอกว่า “เอาตัวอุบาทว์ใส่ลงไปแล้วให้ระวังให้ดี เวลาเปิดฝาให้ค่อย ๆ แง้มดู แต่ห้ามเท ถ้าเท เดี๋ยวตัวอุบาทว์จะหนีออกมาได้”

 

.....เสนาก็รับคำอย่างแข็งขัน ทำหน้าชื่นมา คิดว่ารอดตายแล้วคราวนี้ กลับเข้าเมืองไปเข้าเฝ้าเช้าวันที่ 7 พอดี บอกว่า พระพุทธเจ้าข้าได้มาแล้ว ตัวอุบาทว์อยู่นี่เอง แต่ให้ระวัง อย่ารีบเปิดและอย่าเท เดี๋ยวมันจะหนี กว่าจะหาได้ เลือดตาแทบกระเด็น

 

.....พระราชาดีใจที่ได้เห็นตัวอุบาทว์ รับมาถึงแง้มดู กระบอกไม้ไผ่ลึกพอสมควร แสงเข้าไม่ถึงก้น เห็นพอรำไร ก็คอยเล็ง ไม่กล้าเท กลัวมันหนี พระราชาก็ว่าคล้ายกบ ให้มหาอำมาตย์มาว่าเหมือนอะไร มหาอำมาตย์มาเล็งดู ก็บอกว่าพระพุทธเจ้าข้าว่าเหมือนอึ่งอ่าง ส่งต่อเสนาอำมาตย์รอง ๆ ลงไป ข้าพเจ้าว่าเหมือนจิ้งจก เหมือนคางคก ว่าไปเรื่อย พักเดียวดูกันทั่วท้องพระโรง เสียงเถียงกันขรม ทะเลาะกันในวัง ไม่ว่าผู้ใหญ่ผู้น้อยเลิกคิดกัน จะต่อยกันอย่างเดียว บ้างก็คิดไปว่าเป็นผู้น้อยเพิ่งเป็นอมาตย์ได้ไม่กี่วันเถียงผู้ใหญ่หรือนี่ ข้าว่าเหมือนอึ่งอ่างเอ็งมาว่าเหมือนจิ้งจกได้อย่างไร ผู้น้อยก็ว่าผู้ใหญ่ตาฝ้าฟางดูไม่ชัด ต้องเชื่อข้าพเจ้ายังหนุ่มยังแน่น เห็นชัดกว่า ทะเลาะกันให้อุตลุดวุ่นวายไปหมด ฯลฯ

 

.....พระราชาเห็นท่าไม่ดี ขืนเอาเจ้าตัวอุบาทว์อยู่ต่อไป ท้องพระโรงท่าจะแตกแน่ คิดว่ามันจะหนีก็เป็นหนี เทมันเลยอย่าเก็บไว้เลย พอเทออกมา เห็นว่าที่แท้เป็นชานหมากนี่เองทะเลาะกันเกือบตาย แท้จริงแล้วเจ้าตัวอุบาทว์ก็คือ ความรั้นในตัว ความถือรั้น ไม่ยอมกัน คือ ตัวอุบาทว์ ที่ต้องทำให้ทะเลาะเบาะแว้งกัน มีเรื่องมีราว เพราะความถือรั้น 

 

.....เพื่อนฝูงคบกันมานานแสนนาน ทะเลาะกัน แตกหักกันไปก็เพราะความถือรั้น ไม่ยอมกัน บางทีรู้ทั้งรู้ว่าเราผิด แต่ไม่ยอมรับผิด กลัวเสียหน้า เสียเหลี่ยม จะไว้เหลี่ยม ซึ่งมีดีตรงไหนก็ไม่รู้ กลัวเสียเหลี่ยมเลยยอมทะเลาะกันและยอมมีความทุกข์อยู่อย่างนั้น ก็เพราะความถือรั้น นี่คือตัวอุบาทว์ของแท้

 

ขอบคุณที่มา :: https://prakal.wordpress.com/...

           

.....นอกจากจะมี “ตัวอุบาทว์” แล้ว ดิฉันชักสงสัยแล้วว่าจะมี “ตัวบ่าง” ที่คอยยุคนไทยให้ทะเลาะกันเองด้วยหรือเปล่า เลิกจ้องจับผิดกันเอง แล้วหันมาร่วมมือกันพัฒนาประเทศชาติดีกว่านะคะ...


#อย่าจ้องจับผิดกันเลยสามัคคีดีกว่า #ตัวอุบาทว์ที่แท้คือความถือดี #ข้อคิด #พัฒนาตนเอง #ความสุข #ชุลีพรช่วงรังษี #OhLifeStory …...

 

ขอให้โชคดีและมีความสุขนะคะ
ชุลีพร ช่วงรังษี

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0064743995666504 Mins