การฝึกสมาธิ (ในที่ทำงาน)

วันที่ 09 กพ. พ.ศ.2559

 

การฝึกสมาธิ (ในที่ทำงาน)

 

การฝึกสมาธิ (ในที่ทำงาน) ภาพลักษณ์ใหม่ของพระพุทธศาสนาในสายตาชาวตะวันตก

           หนังสือพิมพ์ THE TIMES ของอังกฤษพาดหัวข่าวเมื่อวันเสาร์ (6 ก.พ.) ที่ผ่านมาว่า "การทำสมาธินำทางพระพุทธศาสนาสู่การแสวงหาพระนิพพาน”(Mindfulness takes lead over Buddhism in quest for nirvana)เนื้อหาวิเคราะห์ความสำเร็จของพระพุทธศาสนาในการปรับตัวให้เข้ากับโลกสมัยใหม่ไว้สั้นๆ แต่น่าสนใจ โดยมองว่า "เทรนด์การฝึกสมาธิที่นิยมอย่างแพร่หลายในสังคมตะวันตก โดยเฉพาะในที่ทำงาน กำลังเป็นก้าวสำคัญแห่งพัฒนาการของพระพุทธศาสนา" และเชื่อว่า "ศาสนาในรูปแบบใหม่ที่ปรับตัวทันโลกอย่างที่ท่านทะไลลามะกำลังส่งเสริมอยู่นี้ จะช่วยให้ผู้คนบนโลกอีกหลายล้านคนมีความเจริญก้าวหน้าทางด้านจิตใจ" การเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ดังกล่าวนี้ กำลังก่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนวิธีเผยแผ่พระพุทธศาสนาแนวใหม่ที่ปรับเข้ากับสังคมโลกปัจจุบัน ซึ่งล่าสุด "ท่านภิกขุโพธิ” พระนักวิชาการชาวอเมริกาผู้มีชื่อเสียง ก็ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า

             "พระพุทธศาสนาได้มาถึงจุดผันเปลี่ยนที่สำคัญของกระแสธารแห่งพุทธศาสนาสองสายที่แตกต่างกันคือ...จาก พระพุทธศาสนาแนวดั้งเดิม ไปสู่ พระพุทธศาสนาแนวใหม่ที่ปรับเข้ากับโลกสมัยใหม่” ... โดยที่พระพุทธศาสนาแนวดั้งเดิมนั้น เป็นมรดกธรรมทางพุทธศาสนาที่ยังคงอยู่ในประเทศแถบเอเชีย ดังเช่นในพุทธนิกายเถรวาท พุทธนิกายธิเบต พุทธนิกายเซ็น และพุทธนิกายสุขาวดี แต่ในขณะที่พุทธศาสนาแบบหลังนั้น เป็นการส่งเสริมการมองคำสอนพุทธศาสนาดั้งเดิมในมุมมองใหม่ ซึ่งเป็นแนวทางการปรับพระพุทธศาสนาให้เหมาะสมกับวัฒนธรรมของโลกตะวันตก


             ผุ้เขียนรู้สึกเสียดายว่า ขณะที่ชาวโลกอีกฝากหนึ่งกำลังสนใจจับตามองพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะเมื่อชาวตะวันตกเหล่านั้น มองเห็นประโยชน์อันน่าดึงดูดใจของการทำสมาธิ แต่ชาวไทยอีกไม่น้อยที่ยังยึดติดอยู่ในกรอบวัฒนธรรมประเพณีเดิมๆ โดยลืมไปว่า โลกมีพลวัตเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เมื่อตีกรอบความคิดและเข้าใจว่าพระพุทธศาสนาต้องเป็นไปในแนวทางที่เราเคยเข้าใจเท่านั้น จึงไม่แปลกใจที่จะมองไม่เห็นความจำเป็นของ "การเผยแผ่เชิงรุก” ซึ่งเป็นวิถีทางของพระพุทธศาสนาเพื่อสังคม (Engaged Buddhism ) อย่างเช่นการเผยแผ่ที่วัดพระธรรมกาย ประเทศไทย ทำมาอย่างต่อเนื่อง

             อันที่จริง งานเผยแผ่ทุกๆโครงการของวัด ล้วนเป็นการส่งเสริมพุทธประเพณีและวัฒนธรรมแนวพุทธดั้งเดิม เพียงแต่ปรับเปลี่ยนมุมมองและรูปแบบนำเสนอใหม่เพื่อให้เหมาะสมกับบริบทสังคมโลก กล่าวง่ายๆ ว่า “วิธีการเปลี่ยนแต่หลักการไม่เปลี่ยน” โดยคิดโจทย์ว่า จะทำอย่างไรให้พระพุทธศาสนานั้นเกิดประโยชน์ต่อผู้คนบนโลก โดยยังคงแก่นแท้คือการปฏิบัติธรรมที่ช่วยให้ผู้ปฏิบัติพ้นทุกข์และค้นพบความสุขแท้จริง ซึ่งหากชาวพุทธในเมืองไทยมองอย่างเป็นกลาง ขยายใจให้กว้าง มองภาพรวม และไม่มามัวจับผิดกันด้วยเรื่องเล็กน้อย ประเทศไทยจะได้รับประโยชน์จากโครงการดีๆ เช่นนี้อีกมากมายนัก

              ผู้เขียนมองว่า ความเข้าใจดังกล่าวเกิดจากการที่พระพุทธศาสนาในเมืองไทยได้ถูกตีกรอบด้วยแนวคิดของ "พุทธกระแสหลัก” มานาน คำว่าพุทธกระแสหลักหรือพุทธแนวจารีต ก็คือรูปแบบของพุทธศาสนาที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของไทย ที่แม้จะมีความเป็นเถรวาทเหมือนอย่างประเทศอื่นๆ เช่น ศรีลังกาและพม่า เป็นต้น แต่ก็มีแนวคิดเชื่อถือและวิถีปฏิบัติที่ยอมรับเป็นแบบแผนเดียวกันในประเทศไทย ซึ่งจริงๆ แล้ว พุทธกระแสหลักในไทยเป็นความพยายามที่เกิดขึ้นในช่วงรัชกาลที่ 5 เพื่อปรับให้พุทธศาสนาในไทยให้เป็นเอกภาพและมีมาตรฐานเดียวกัน

               ถ้าเรามองพระพุทธศาสนาโดยภาพรวม การทำให้พระพุทธศาสนามีมาตรฐานเดียวกันก็คือเป็นมาตรฐานแบบไทย ดังนั้นจึงไม่ได้หมายความว่า ความเข้าใจและการปฏิบัติตามแบบจารีตไทยนี้ จะถูกต้องสมบูรณ์เสียทั้งหมด เพราะพระพุทธศาสนามีหลายบริบทหลายด้าน ฉะนั้นทุกอย่างจึงมิใช่มีคำตอบที่ตายตัว เช่น ด้านการเผยแผ่ ก็จำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสถานการณ์และความสนใจของโลก หรือด้านคัมภีร์ต้องมีการศึกษาเทียบเคียงคัมภีร์ระหว่างต่างนิกาย หรือด้านการปฏิบัติธรรมก็ต้องยอมรับความหลากหลายในแนวทางการปฏิบัติที่ต่างกันในรายละเอียด เป็นต้น

           ... หากชาวพุทธไทยยังคงยึด "พุทธศาสนาแบบจารีต” โดยไม่ยอมปล่อย เป็นไปในทำนอง "ยึดมั่นในความเชื่อเดิม แต่กลับละเลยการนำไปปฏิบัติจริง" ไม่ช้าพระพุทธศาสนาก็คงถึงคราวต้องหมดสิ้นไปจากสังคมไทย และอาจไปเจริญรุ่งเรืองในโลกตะวันตกแทน

 

 

(ทิพย์ปัญญา 释聖達 @Wat_Benelux)

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.003181799252828 Mins