สภาวะความจริงที่ต้องพัฒนานิสัย

วันที่ 13 เมย. พ.ศ.2559

 

 

สภาวะความจริงที่ต้องพัฒนานิสัย
            พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ได้ เพราะมองเข้าไปในกายของพระองค์เอง แล้วสอนให้เราเริ่มพิจารณาจากตนเองเป็นหลัก จากการมองเข้าไปในตัวเอง จะพบว่ามนุษย์มีปัญหา 4 อย่างนี้

 

สภาวะความจริงที่ต้องพัฒนานิสัย

 

ประการที่1 ทุกข์จากสรีระ
    พระองค์ทรงสั่งไว้ว่า "ให้พวกเธอดูแลตัวเองให้ดี เดี๋ยวหนาว เดี๋ยวร้อน เดี๋ยวหิว เดี๋ยวกระหาย เดี๋ยวปวดหนัก ปวดเบา นี่เป็นทุกข์ในสรีระจากร่างกายของเราเอง ไม่มีใครช่วยเราได้ ต้องหมั่นสังเกตตัวเอง ควบคุมตัวเองให้ดีจะบรรเทาทุกข์ได้พอควร "

             จากพุทธดำรัสนี้เป็นการเตือนให้รู้ว่า มนุษย์ทุกคนมีทุกข์จากร่างกายตนเอง หากดูแลร่างกายไม่ถูกหลักวิชชา สุขภาพจะเสื่อมโทรม ทุกข์จากสรีระ จะเพิ่มขึ้น 

ประการที่ 2 ทุกข์จากการอยู่ร่วมกัน
            พระองค์ทรงสอนว่า "จงสำรวมกายให้ดี ระมัดระวังการใช้ร่างกายให้ดี และพึงระวังวาจาให้ดี"

         จากพุทธดำรัสนี้แสดงให้รู้ว่า มนุษย์อยู่คนเดียวไม่ได้ต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน หากไม่สำรวมกายวาจา ไม่ระมัดระวังตน ทำสิ่งใดเอาแต่ใจตนเองไม่ค่อยนึกถึงวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของสิ่งที่ทำ ทำให้เกิดการกระทบกระทั่งกัน บรรพบุรุษของเรา ปู่ย่าตาทวด จึงผูกกลอนสอนใจไว้ว่า 

"อยู่คนเดียวให้ระวังความคิด
อยู่กับมิตรให้ระวังคำขาน"

 เป็นการเตือนว่า "มนุษย์หากไม่ระวังจะมีทุกข์จากการอยู่ร่วมกันในสังคม"

ประการที่3 ทุกข์จากการเลี้ยงชีพ
              การดำรงชีวิต มนุษย์ส่วนใหญ่ต้องขวนขวายทำงานในอาชีพต่างๆเพื่อหาปัจจัย 4 มาหล่อเลี้ยงชีวิต
 และต้องทำงานให้ดีเพราะถ้าทำไม่ดีจะเหนื่อยเปล่า ภาษาปัจจุบันเรียกว่า ทุกข์จากเศรษฐกิจ คือทุกข์จากการต้องประกอบการงานอาชีพ ถ้าไม่สำรวมระวังไปทำมาหากินบนความทุกข์ยากของชาวบ้าน ไปประกอบอาชีพที่บ่อนทำลายทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ย่อมเกิดทุกข์ตามมาอย่างแน่นอนทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น

ประการที่ 4 ทุกข์จากกิเลสครอบงำ
           ทุกข์จากกิเลสเป็นทุกข์จากการเวียนว่ายตายเกิด เพราะกิเลสปิดบังให้เกิดความเข้าใจผิด ความจริงเรื่องโลกและชีวิตเป็นเรื่องใหญ่ มีความซับซ้อนอยู่มาก เราจึงต้องมารู้จัก "โลก"มารู้จัก"ชีวิต"ให้ดี

             ก่อนอื่นต้องรู้จักคำว่า"คอก"กับคำว่า"คุก" คอกคือที่ขังสัตว์ทำให้หมดอิสระ ส่วนคุก เป็นที่ขังคนทำให้หมดอิสรภาพ คอกที่มีคันคอก เช่นกรงหรือคอกเล็กๆ สัตว์จะรู้ว่ามันถูกขัง แต่ถ้าเป็นคอกที่ไม่มีคันรั้ว เช่นลานบ้าน ไก่และหมูที่เลี้ยงปล่อยไว้ที่ลานบ้านมันไม่รู้สึกเลยว่ามันถูกขัง แล้วจริงๆ มันถูกขังหรือเปล่า มันถูกขังแต่มันไม่รู้ตัว มันคิดว่ามันมีอิสระแต่มันถูกขังด้วยบริเวณที่กว้าง จะรู้ตัวต่อเมื่อเวลามันถูกขังในคอกเล็กๆ หรือกรงเล็กๆ ถ้ากรงใหญ่คอกใหญ่ มันก็ไม่รู้ตัว

               เช้าขึ้นมาไก่โต้ง ไก่แจ้ขัน เอ้ก อี เอ้ก เอ้ก ประกาศความอิสระของมันว่า มันเกิดมาแสนอิสระเสรี
 เช้าขึ้นมาก็ขันอย่างอิสระ ไม่มีใครจับมันใส่กรง มันวิ่งเล่นสบาย มีลูกหลายตัว มีตัวผู้ตัวเมียหากินปนกัน เป็นฝูง พอใกล้สงกรานต์ใกล้ตรุษจีน เช้ายังส่งเสียงขันเหมือนเดิม ตกสายกลายเป็นไก่ย่างส้มตำหรือไก่ไหว้เจ้าไปแล้ว นี่คือความจริงของชีวิต

               หมูที่ชาวบ้านเขาเลี้ยงไว้ แม่หมูพาลูกหมูวิ่งเล่นกันน่ารัก มันแสนอิสระอยู่ลานบ้าน สายหน่อยเริ่มหิว
เจ้าของรีบเอาอาหารมาให้มันกิน ลูกมันแย่งกันกินอร่อย มันมีอิสระ แต่พอใกล้ตรุษจีน ลูกหมูหายไปไหนหมด
 เรียงเสียบกันเป็นแถวในเตาย่าง บางตัววางอยู่ในจานบนโต๊ะ กลายเป็นหมูหันไปเรียบร้อยแล้ว มันจึงรู้ว่ามันหมดอิสระ มันมิได้มีอิสระ แต่ความที่ลานบ้านมันกว้าง ทำให้ไม่รู้สึกตัวว่าถูกขังคอก เพราะคอกมีทั้งที่เห็นผนังกั้นหรือแนวรั้ว และคอกกว้างๆที่ไม่เห็นคันกั้นไม่เห็นรั้วกั้น
               คุกก็เหมือนกัน เอาไว้ขังคน ทำให้คนหมดอิสระ เคยรู้ไหมเมื่อก่อนคุกในประเทศไทย มีคุกประเภทไม่มีกำแพงอยู่ 2 แห่ง แห่งหนึ่งอยู่บนเกาะสีชังเป็นคุกขังนักโทษคดีอุกฉกรรจ์ อีกแห่งอยู่ที่เกาะตะรุเตา เป็นคุกนักโทษการเมืองมีทะเลล้อมรอบเต็มไปด้วยปลาฉลามจำนวนมากมาย ต่อมายกเลิกไปกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว ปลาฉลามก็หายไปถูกคนกินหมดแล้ว
              คุกที่ทำให้คนหมดอิสระ มีทั้งประเภทมีกำแพงและไม่มีกำแพงถ้ามีกำแพงจะรู้ตัวว่าติดคุก ถ้าไม่มีกำแพงจะรู้ตัวยาก ลองพิจารณาดูโลกที่เราอาศัยอยู่นี้ไม่มีใครออกได้ เกิด แก่ เจ็บ ตาย อยู่ในโลก เพราะฉะนั้น"โลกก็คือคุกนี่เอง" พวกเราติดคุกอย่างไม่รู้ตัว ดังพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ในขุททกนิกาย ธรรมบท ว่า 

"ท่านทั้งหลายจงมาดูโลกอันตระการดุจราชรถ
ที่พวกคนเขลาหมกอยู่ แต่ผู้รู้หาข้องอยู่ไม่"

            เราเป็นใคร เป็นนักโทษชนิดไหน ชนิดที่รอวันประหาร รู้ว่าตายแน่ๆ แต่ไม่รู้วันตาย เป็นนักโทษทั้งนั้นไม่เว้นแม้แต่คนเดียว ท่องไปเถอะตายแน่ๆ แต่ไม่รู้ว่าตายเมื่อไหร่ ตกลงเราคือนักโทษรอประหาร ส่วนโลกคือคุกมหึมาถ้าตายเมื่อไหร่ จบไหม ไม่จบ เพราะตายแล้วถ้ายังไม่หมดกิเลสจะต้องกลับมาเกิดอีก กลับมาติดคุกอีก ไม่รู้เวียนว่ายตายเกิดกันมากี่รอบแล้ว เอาเป็นว่าเจอกันวันแรกแต่ละคนรู้สึกคุ้นๆ ก็แสดงว่าติดคุกด้วยกันมาหลายรอบ นี่คือความจริงของโลกและชีวิตที่ต้องระมัดระวัง
             ยุคในอดีต ปู่ ย่า ตา ทวด ฝึกสมาธิมากๆ พอฝึกสมาธิมากเข้า สวดมนต์มากเข้า ซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับความรู้ จะอ่านหนังสือออกหรือไม่ออก เขียนหนังสือได้หรือไม่ได้ เมื่อใจนิ่ง ใจขยาย จนกระทั่งคลุมบ้าน คลุมวัด คลุมไปทั้งหมู่บ้าน คลุมไปทั้งตำบล คลุมไปทั้งโลก รู้เลยว่าโลกเป็นคุก ตัวเองติดคุก แล้วจะต้องเวียนว่ายตายเกิดจนกว่าจะหมด โลภ โกรธ หลง ถ้ายังโลภ ยังโกรธ ยังหลง ยังทำอะไรไม่คำนึงถึงวัตถุประสงค์ ก็ไม่ได้ออกจากคุกไปหรอก ตราบใดที่ยังไม่หมดกิเลสก็เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในคุกนี้ ยังออกไม่ได้เมื่อออกไม่ได้แล้วเป็นอย่างไร ก็ต้องมีทุกข์อยู่ในสรีระนี้ต่อไป ไม่รู้จบ ต้องกระทบกระทั่งกันไปไม่รู้จบ จะมีปัญหาเรื่องการงานอาชีพไปไม่รู้จบ
             ถ้าใครดูแลทุกข์ 4 อย่างนี้ไม่ดี จะเกิดอะไรขึ้น มนุษย์มีความจำเป็นต้องมีปัจจัย 4 มาหล่อเลี้ยงร่างกายไม่อย่างนั้นร่างกายอยู่ไม่ได้ ต้องมีเสื้อผ้า ต้องมีอาหาร ต้องมีที่อยู่อาศัย ต้องมียารักษาโรค เอามาหล่อเลี้ยงเราจึงจะอยู่ได้

               คราวนี้ถ้าเลือกเสื้อผ้าไม่เป็น เลือกหาปัจจัย 4 ไม่เป็น รักษาดูแลสุขภาพไม่เป็น จะเกิดอะไรขึ้น จะขี้โรค เพราะเรื่องส่วนตัวแต่เริ่มทำสกปรกตั้งแต่ที่บ้าน เสื้อ ผ้า หน้า ผม ที่หลับที่นอน ที่ทำงาน ขับรถไปถึงไหน บนถนนก็ทำสกปรก ถ้าดูแลสรีระไม่ดี ปัจจัย 4 ที่เอามาใช้สอยก็ดูไม่ดี กลายเป็นคนขี้โรค สุขภาพไม่ดีเกิดจากความสกปรกทำให้เสียทรัพย์ ใช้เท่าไร หาเท่าไรไม่พอใช้ยิ่งสกปรกมากยิ่งใช้ปัจจัย 4 มาก เงินเดือนเท่าไหร่ไม่พอ กลายเป็นหิวทั้งชาติ หิวปาก หิวท้อง หิวค่าใช้จ่ายอย่างอื่นอีกสารพัด กลายเป็นปัญหาของครอบครัว ปัญหาของที่ทำงาน เพราะดูแลตัวเองไม่เป็น มองทุกข์จากสรีระไม่เป็น กลายเป็นผู้ไม่รู้จักพอ
กลายเป็นคนเริ่มเบียดเบียนชาวบ้าน
    เงินในกระเป๋ามีจำกัด แต่ยังสูบบุหรี่ทุกวันถือเป็นการเผาสมบัติตนเอง สมบัติใหม่ยังไม่เข้ามา กลับมานั่งเผาสมบัติที่อยู่ในกระเป๋าทุกวัน เหล้าที่กินเข้าไปก็กรอกทิ้งลงปากทุกวัน ทั้งเสียทรัพย์ ขี้โรค สกปรก ไม่รู้จักพอ แม้เป็นเรื่องส่วนตัวของแต่ละคน แต่มนุษย์อยู่คนเดียวไม่ได้ ต้องอยู่ร่วมกับคนอื่น เพราะฉะนั้นกลิ่นเหล้ากลิ่นบุหรี่คลุ้งไปหมด กลายเป็นคนไม่สำรวมกายไม่สำรวมวาจา

 

 


- ควันบุหรี่ ทำความเดือดร้อนรำคาญให้ผู้อยู่รอบตัว
- กลิ่นเหล้า ทำความเดือดร้อนให้คนในครอบครัว ความสำรวมวาจาเสียไปแล้วเมื่อเหล้าเบียร์เข้าปาก

สิ่งที่ตามมา คือ ความไม่เคารพสิทธิและหน้าที่ ของกันและกัน ย่อมเกิดขึ้น
- พ่อแม่ไม่เคารพสิทธิของลูก
ลูกไม่เคารพสิทธิของพ่อแม่ 
- พ่อแม่ไม่เคารพหน้าที่ของตัวเอง
- ลูกไม่เคารพหน้าที่ของตัวเอง พ่อแม่ลูกเริ่มอยู่ร่วมกันไม่ได้ 
- สามีภรรยาไม่เคารพสิทธิและหน้าที่ ของกันและกัน ครอบครัวเริ่มแตกแยก บวกกับความสกปรกโสโครกที่มีอยู่ในตัวคนจำนวนมากต้องแยกกัน ต้องหย่าร้างกัน

เริ่มต้นจากอะไร เริ่มต้นจากความสกปรก ความไม่รู้จักพอ กลายเป็นคนปากเสีย เป็นมนุษย์ไม่เกรงใจใคร ปัญหาทั้งหมดนี้ ออกมาจากตัวของแต่ละคนมาอยู่รวมกัน เอาปัญหาของแต่ละคนมารวมกัน นับตั้งแต่
- เป็นคนขี้โรค
- เป็นคนสกปรก
- เป็นคนหาเท่าไหร่ไม่พอใช้ 
- เป็นคนดีแต่พูด 
- เป็นคนไม่เคารพสิทธิหน้าที่ผู้อื่น

    เป็นการทำลายทุกอย่างหมด

             ใครมาทำลายอย่าเพิ่งไปโทษคนอื่น ตื่นเช้าขึ้นมามัวแต่มองออกไปข้างนอกไม่มองเข้าหาตัว สิ่งเหล่านี้เลยไม่ค่อยได้คิด เพราะมองตัวเองไม่เป็น บางคนเลยประกอบอาชีพทุจริตหรือมีการทำงานไม่เต็มแรง อาชีพดีแต่ทำงานไม่เต็มแรงเท่ากับโกงเขากิน หรือลูกจ้างทำงานหนักขนาดนั้นแต่ให้ค่าแรงไม่เหมาะสม เท่ากับโกงลูกน้อง แม้ว่าจะไม่มีเครื่องชั่งตวงวัด ก็ต้องเอาใจมาวัดกัน
             ถ้าเป็นใจขี้โรค ใจที่ไม่รู้จักพอ ตัวเองก็สกปรก ย่อมวัดไม่ตรงกันแน่นอน ปัญหาจะเกิดคู่กับโลกต่อไป เดินขบวนประท้วงให้ตายแก้ไขไม่ได้ ถ้าจะแก้ไขให้ได้ทุกคนต้องย้อนมามองตัวเอง แล้วแก้ไขจากทุกข์สรีระตัวเองเป็นพื้นฐานก่อน ไม่อย่างนั้นแก้ไขยาก ถ้ายังกินเหล้า สูบบุหรี่ ยังปากเสียอยู่ จะเปลี่ยนรัฐบาลกี่คณะคงช่วยไม่ได้ 
              พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเตือนให้มองตัวเองให้เป็น มองแบบมีสติตั้งมั่น ดังนั้นหมั่นทำสมาธิให้มาก การกระทบกระทั่งจะลดลง แต่ถ้าไม่มองตัวเอง กิเลสจะกำเริบขึ้น อคติคือความลำเอียงจะเกิด ใครเป็นพ่อแม่ต้องระวังลูกจะหาว่าเราลำเอียง เรารักไม่เท่ากัน ผู้บังคับบัญชา ลูกน้องจะว่าเจ้านายลำเอียง วันใดวันหนึ่งลูกน้องเติบโตมาเป็นหัวหน้า ต้องเจอข้อหาเดียวกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะใจใสไม่เท่ากันจึงมองได้ไม่เท่ากัน
            อคติ คือ ความลำเอียง จะเกิดความเห็นผิดต่างๆ การไม่เจริญสมาธิภาวนาจะทำให้ทุกข์ทั้ง 4 กำเริบในที่สุดจะฟุ้งซ่านจะชอบทำลาย และจะต้องเวียนว่ายตายเกิดติดอยู่ในคุกยังจะต้องเจอกันอีกไม่รู้กี่ชาติ

            ดังนั้น ต้องรีบดูว่าความสกปรกที่มีอยู่ในโลกนี้มีแหล่งผลิตขยะ แหล่งผลิตความสกปรกอยู่ที่ไหน คำตอบ อยู่ที่ตัวเอง ตอนเช้าเสื้อผ้ายังมีกลิ่นหอมอยู่เลย พอตกเย็นลองดมดูนั่นแหละคือหลักฐานมัดตัวว่า ปัญหาทั้งหมดมันออกมาจากตัวเราแต่ละคน เราจึงต้องฝึกฝนอบรมตนเองให้มีนิสัยดีๆ เพื่อควบคุม ปัญหาจากตัวเราและพัฒนาชีวิตให้ดียิ่งขึ้นนั่นเอง

 

    

................................................................................................................

จากหนังสือ ความดีสากล
โดย " พระราชภาวนาจารย์ (เผด็จ ทตฺตชีโว)

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0059235811233521 Mins