ไม้ดอกต้นที่สองที่ข้าพเจ้าปลูกไว้นี้ ใช้เวลาถึง ๑๙ ปี เหมือนต้นแรก ปีที่ลงมือปลูกเป็นปี พ.ศ. ๒๕๑๐ เช่นเดียวกัน
วันนั้นเป็นเช้าวันหนึ่งในฤดูร้อน ข้าพเจ้ายังรับราชการอยู่ในตำแหน่งและสถานที่เดิม มีครูประจําชั้นประถมปีที่ ๓ ห้องที่หนึ่ง (ชั้นประถมปีที่ ๓ เวลานั้นมี ๘ ห้องเรียน) เดินเข้ามาพบข้าพเจ้า เธอกล่าวว่า
“อาจารย์คะ หนูอยากให้อาจารย์เอาเด็กชายจิระที่ห้องหนูออกจากโรงเรียน หรือไม่ก็ให้ผู้ปกครองเด็กจัดการย้ายไปเรียนที่อื่นเสียเถอะค่ะ อยู่ชั้นของหนูยังงี้ถ่วงคะแนนรวมของห้องเรียน ทําคะแนนเฉลี่ยของห้องประถมปีที่ ๓ ของหนูต่ำลงมาก”
ข้าพเจ้าฟังครูสตรีผู้นั้นกล่าวจบลงแล้ว นั่งนิ่งอยู่ครู่ใหญ่ ยอมรับว่าขณะนั้นคําพูดของเธอสะเทือนใจข้าพเจ้าหลายประการ ประการแรกข้าพเจ้าไม่ต้องการได้ยินคําพูดแสดงความรังเกียจเด็กจากครูประจําชั้น ไม่ว่าเด็กนั้นจะมีปัญหาหนักหนาสาหัสแค่ไหน ถ้าเด็กพึ่งผู้ปกครองของเขาที่บ้านไม่ได้แล้ว มาโรงเรียนยังจะมาถูกครูทิ้งเสียอีก ชีวิตนี้เขาจะพึ่งใครช่วยกล่อมเกลาแก้ไขให้เขาเป็นคนที่สมบูรณ์ ข้าพเจ้ารัก ห่วงใยและหวังดีต่อลูกศิษย์ทุกคนโดยไม่เลือกที่รักมักที่ชัง เด็กคนใดเป็นเด็กดีอยู่แล้วก็จะรู้สึกพลอยยินดีกับตัวเขา ยินดีกับครูผู้สอน ตลอดไปจนถึงผู้ปกครองของเด็ก เด็กคนใดมีปัญหา ข้าพเจ้าจะถือว่าเป็นหน้าที่ของโรงเรียนที่จะต้องหาวิธีแก้ไขให้จนสุดความสามารถ จะตั้งสมมติฐานเบื้องต้นไว้ว่า ข้อบกพร่องที่มีในตัวเด็กไม่ว่าเรื่องใดๆ ก็ตาม สาเหตุมิใช่เกิดจากตัวเด็ก แต่เกิดเพราะสังคมและสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ทําให้เด็กกลายสภาพจากเดิม ซึ่งเป็นสิ่งที่มีคุณภาพดีกลายเป็นของเสียหายไปได้ ข้าพเจ้าคิดรังเกียจเด็กไม่เป็น พอได้ยินคําพูดจากครูดังนี้ จึงนึกไม่ถึงว่าทําไมเขาจึงคิดรังเกียจได้ลง เขาอาจมีปัญหาเหลืออดเหลือทนจริงๆ
ความจริงครูผู้ใต้บังคับบัญชาของข้าพเจ้าทุกคนรู้อัธยาศัยอันนี้ของข้าพเจ้าดี คนใดฉลาด จะไม่แสดงความรังเกียจเด็กออกมาต่อหน้าให้ข้าพเจ้ารู้เห็น เพราะเป็นการเสี่ยงต่อการที่ผู้บังคับบัญชาจะนึกตําหนิ ลดความดีและคุณค่าของตนเอง
ประการที่สองที่ข้าพเจ้าสะเทือนใจ คือได้เห็นข้อบกพร่องในการบริหารงานของตนเอง การที่มีผู้ใต้บังคับบัญชาเป็นจํานวนร้อย เวลาพิจารณาความดีความชอบประจําปี จะต้องใช้ผลการปฏิบัติงานมา เปรียบเทียบกัน ผลงานชนิดหนึ่งคือ เปรียบเทียบคะแนนเฉลี่ยของเด็กในห้องเรียน ห้องใดมีคะแนนเฉลี่ยของนักเรียนในห้องสูง ถือว่าครูเอาใจใส่ในการอบรมสั่งสอนวิชาการ นึกไม่ถึงว่าจะเกิดผลร้าย ทําให้ครู รังเกียจนักเรียนโง่ นักเรียนมีปัญหา ดังเรื่องที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า
อย่างไรก็ดี ข้าพเจ้าจะไม่รีบร้อนตัดสินใจอะไรง่ายๆ จึงต้อง ชักถามรายละเอียดจากครูผู้นั้นให้ถ่องแท้ว่าเรื่องราวของเด็กเป็นปัญหาแก่ เธออย่างไร
“แกเป็นเด็กขี้เกียจมากค่ะอาจารย์ การบ้านไม่เคยทํามาเลยสักวันเดียว มาโรงเรียนก็ไม่ยอมเรียน นอนหลับแทบทุกเช้า ดุก็แล้ว ติก็แล้วก็ยังหลับ ตอนบ่ายก็ง่วงแล้วง่วงอีก ตั้งใจมานอนไม่ใช่มาเรียน ถามว่าไปอดนอนเรื่องอะไรมาก็ไม่ตอบค่ะ”
“คุณอดทนไปก่อนหน่อยนะคะ ขอเวลาให้พี่สืบสาวราวเรื่องสักวันสองวัน แล้วจะตัดสินใจให้ว่าจะทํายังไงกันดี ตอนนี้อย่าเพิ่งดุด่าว่ากล่าวหรือขับไล่ไสส่งอะไร เขาอยากมานอนก็ปล่อยให้นอนไป ขอให้คุณถือว่าเด็กกําลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของพี่ก็แล้วกัน”
ข้าพเจ้ารีบพูดป้องกันเหตุไว้ล่วงหน้าเกรงว่าถ้าจะตัดสินช้าไป ครูผู้นี้อาจแสดงอารมณ์รังเกียจขึงเครียดเอากับเด็ก จนถึงไล่ไม่ให้มาโรงเรียนก็เป็นได้ เพราะเป็นครูมีโรคเรื้อรังประจําตัวทําให้มีอารมณ์หงุดหงิดอยู่เสมอ
ข้าพเจ้าขอให้เขาจดชื่อและนามสกุลเด็กให้เพื่อเวลาเรียกเด็กมาคุยด้วย ข้าพเจ้าเรียกชื่อเด็กถูก เด็กจะรู้สึกอบอุ่นใจว่าครูรู้จักเขาดี พอเห็นนามสกุลก็รู้สึกประหลาดใจและไม่สบายใจขึ้นมาทันที สกุลนี้เป็นสกุลใหญ่ สังคมรู้จักกันดี เป็นสกุลของอดีตแม่ทัพเรือท่านหนึ่ง
เพราะนามสกุลทําให้นึกเฉลียวใจ โดยปกติครูประจําชั้นทุกๆ ชั้น จะเป็นผู้ที่นักเรียนในชั้นสนิทสนมมากที่สุด ถ้าครูประจําชั้นไต่ถามสิ่งใดเด็กจะเล่าให้ฟังตามความเป็นจริง หรือว่าเด็กชายจิระจะมีเรื่องความลับสิ่งใดที่เด็กเห็นว่าไม่เหมาะกับชื่อเสียงวงศ์สกุลของเขา จึงนิ่งเงียบทุกครั้งที่ถูกครูถาม ข้าพเจ้าพูดเรื่องนี้กับอาจารย์สตรี ๒ ท่าน ที่มีตําแหน่งเป็นผู้ช่วยของข้าพเจ้าเพื่อขอความคิดเห็น ทั้งสองคนก็นึกเหตุผลไม่ออก คนหนึ่งกล่าวว่า
“หรือว่า เด็กไปดูลิเกที่เขาเปิดวิกอยู่ทุกคืนกระมังคะ ทําให้ง่วงนอน”
อีกคนก็ค้านว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะการดูลิเกต้องเสียสตางค์ถึง ๓ บาท ผู้ปกครองคงไม่ยอม ทั้งลิเกเลิกเล่นดึกมากถึง ๖ ทุ่ม และตนเองในฐานะเป็นผู้ช่วยฝ่ายปกครอง ได้ส่งภารโรงไปตรวจตราแถวโรงลิเกทุกคืน เพื่อคอยจับดูว่าจะมีนักเรียนไปดูบ้างหรือเปล่า จนไม่มีเด็กกล้าไปดู
ปัญหาเรื่องลิเกหมดไป ยังเหลือเรื่องการเที่ยวเตร่ตามหน้าโรงภาพยนตร์ ข้าพเจ้าจึงตามตัวเด็กนักเรียนชั้นโตที่ชอบไปเที่ยวเล่นดังนี้บ่อยๆ ให้ผู้ช่วยพาไปดูหน้าเด็กชายจิระ เด็กชั้นโตผู้นั้นยืนยันว่าไม่เคยเห็นเด็กผู้เป็นปัญหาไปตามหน้าโรงภาพยนตร์ใดๆ ในย่านนั้น
ที่ข้าพเจ้าต้องพยายามหาข้อมูลต่างๆ ประกอบการพิจารณาไว้ก่อน เพื่อใช้พูดดักคอเวลาเรียกเด็กมาพบ ถ้าเด็กไม่ตอบหรือปฏิเสธ เวลาถูกทักขึ้นด้วยเรื่องความจริง อาจยินยอมเล่าเรื่องทั้งหมด
เมื่อหาข้อมูลใดๆ ไม่ได้ ข้าพเจ้าจําต้องตัดสินใจขอพบตัวเด็ก ทันทีที่เด็กมายืนทําความเคารพอยู่ตรงหน้า ทําให้ต้องประหลาดใจเป็นทวีคูณ ลักษณะอาการกิริยาเรียบร้อย อ่อนน้อม แววตาซื่อและสุภาพ แต่ลักษณะเครื่องแต่งกายแม้จะสะอาดแต่เก่าขาดเต็มที รูปร่างผ่ายผอม ตัวดําเกร็ง หัวโต ผิดเด็กในวัยเดียวกันที่มีความเจริญเติบโตตามปกติ
เมื่อเห็นตัวเด็กก็สามารถตัดสินใจทันทีว่า ต้องมีปัญหาความขาดแคลนในครอบครัวแน่นอน ข้าพเจ้าเลียบเคียงถามความเป็นอยู่ในครอบครัว เด็กอ้างว่ามีความสมบูรณ์ทุกประการ ตรงข้ามสภาพทางร่างกาย และรายงานจากครูประจําชั้นที่กล่าวว่า ขาดอุปกรณ์การเรียนทุกชนิด เมื่อถูกซักถี่เข้า ชี้แจงเหตุผลไม่ได้ แม้ข้าพเจ้าจะพูดด้วยความอ่อนโยนเพียงใด เด็กคงใช้วิธีก้มหน้านิ่ง เช็ดน้ำตาที่หลากไหลออกมาไม่ขาดสาย นานๆ จึงจะมีเสียงสะอื้นขึ้นเล็กน้อย
ในที่สุดข้าพเจ้ายอมแพ้ ให้เด็กกลับไปชั้นเรียนและให้ครูประจําชั้นแอบพานักเรียนคนอื่นที่มีบ้านอยู่ใกล้บ้านของเด็กชายจิระมาพบ ฝากจดหมายขอเชิญผู้ปกครองของจิระมาพบข้าพเจ้า สั่งเด็กผู้ถือจดหมายไว้ว่าห้ามบอกจิระเป็นอันขาด ในจดหมายมิได้บอกสาเหตุของการขอพบ ระยะนั้นผู้ปกครองจึงไม่รีบร้อนมาหาเท่าที่ควร
อีก ๒ - ๓ วันต่อมา ผู้ช่วยของข้าพเจ้าผู้เคยให้ข้อสันนิษฐานว่าเด็กคงอดนอนเพราะไปดูลิเก มาพบข้าพเจ้าแต่เช้า กล่าวว่า
“อาจารย์คะ ดิชั้นรู้แล้วค่ะเรื่องของจิระ เมื่อคืนนี้ตอน ๔ ทุ่มกว่า ดิชั้นออกมาจากบ้านพัก ร้องเรียกเด็กที่วิ่งขายหนังสือพิมพ์ จะซื้ออ่านซักฉบับหนึ่ง พอเด็กยื่นมือส่งหนังสือให้และจะรับเงินค่าหนังสือพิมพ์ กลับไป ดิชั้นร้องเรียกชื่อแกว่า จิระนี่เธอเองหรือขายหนังสือพิมพ์ แกตกใจไม่รับเงินเลยค่ะ วิ่งหนีไปเลย”
ข้าพเจ้าเดาเหตุการณ์ทั้งหมดได้ทะลุปรุโปร่ง เด็กชายจิระต้องรู้สึกว่าอาชีพวิ่งขายหนังสือพิมพ์ตามบ้านในตอนกลางคืน เป็นเรื่องของเด็กยากจน เขาไม่อยากให้ครูและเพื่อนๆ รู้จักฐานะของเขา เด็กต้องเคยมีฐานะดีมาก่อน มีความทระนงในศักดิ์สกุลและฐานะของตนเอง ยอมรับความเปลี่ยนแปลงในทางตกต่ำลงไม่ได้ รู้สึกอับอายขายหน้า จึงพยายามปิดบังทุกวิถีทาง
ข้าพเจ้าส่งจดหมายตามผู้ปกครองของเด็กไปอีกเป็นฉบับที่สอง คราวนี้แจ้งเหตุผลไปด้วยว่า การเรียนของจิระมีปัญหามาก วันรุ่งขึ้นมารดาของจิระมาพบข้าพเจ้าในตอนสายๆ หลังจากนักเรียนเข้าชั้นเรียน หมดแล้ว มีลูกเล็กๆ ซึ่งเป็นน้องของจิระมาด้วยถึง ๓ คน เป็นชายหนึ่ง หญิงอีกสอง คนสุดท้องซึ่งเป็นหญิงนั้นยังเล็กมาก อายุเพียง ๔-๕ เดือน เราคุยกันเป็นส่วนตัวและเพื่อให้ดูคุ้นเคยเป็นกันเอง ข้าพเจ้าจึงซื้อขนมปังที่โรงเรียนทําเองให้เด็กๆ ซึ่งเป็นน้องของจิระรับประทานเพราะดูลักษณะแล้วคงอดอยากไม่แพ้พี่ชาย มารดาของเด็กผอมจนตาลึก ซูบซีดอิดโรย แต่งกายสะอาดทั้งแม่ลูก แต่เสื้อผ้าเก่ามาก
เรื่องต่างๆ ภายในครอบครัวของจิระ ที่มารดาของเด็กเล่าให้ข้าพเจ้าทราบมีดังนี้
พ่อของเด็กมีความรู้เป็นอาจารย์ชั้นโทที่วิทยาลัยเทคนิคแห่งหนึ่ง รายได้จากเงินเดือนสามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้อย่างสบาย จิระเป็นลูกคนโต มารดาเรียนจบเพียงชั้นมัธยม มิได้ทํางาน อยู่บ้านเลี้ยงลูก ต่อมาเมื่อมารดาตั้งท้องน้องคนสุดท้าย บิดาได้ประพฤตินอกใจ ไปรักใคร่ผูกพันกับอาจารย์ในที่ทํางานเดียวกันถึงกับย้ายหนีไปอยู่ด้วยกันที่อื่น ทิ้งภรรยาและลูกทั้ง ๔ คนไว้ตามลําพัง เมื่อหมดหนทาง มารดาจิระเคยตามไปขอความช่วยเหลือถึงสถานที่ทํางาน กลับถูกขับไล่ด่าว่าจากชายหญิงคู่นั้น
ข้าพเจ้าเล่ามาถึงตอนนี้ หลายๆ ท่านอ่านพบเข้าคงนึกถึงงานชิ้นหนึ่งของวัดพระธรรมกาย คือ งานอบรมบัณฑิตที่เรียนจบปริญญา สถาบันการศึกษาต่างๆ เราใช้คํา “สโลแกน” กันว่า “ความรู้ต้องคู่คุณธรรม” อาจารย์ที่เป็นบิดาของจิระ มีความรู้ มียศมีตําแหน่ง แต่ไร้คุณธรรมประจําใจ เมื่อจะเบื่อภรรยาเพราะเห็นเป็นคนไม่มีความรู้ หมดสวย หมดงาม ไม่คู่ควรกับตน ก็ไม่ควรเบื่อลูกๆ ที่สร้างให้เขาเกิดขึ้นมา โดยเฉพาะเวลาที่ภรรยามีครรภ์แก่หรือคลอดลูกใหม่ๆ ต้องเลี้ยงลูกอ่อนอีกนาน จึงจะไปรับจ้างหรือทํามาหากินเลี้ยงลูกได้ ทําไมคนที่มีวิชาความรู้เป็นอาจารย์สอนคนอื่นได้ แต่สอนตนเองให้มีความรับผิดชอบไม่ได้ นี่เป็นเพราะ “ความรู้ไม่คู่คุณธรรม” จิระลูกศิษย์ของข้าพเจ้ามีอายุเพียง ๑๑ ขวบ ต้องหากินเลี้ยงครอบครัว แม่คลอดน้อง ต้องเลี้ยงน้องอยู่กับบ้าน ประกอบอาชีพได้อย่างเดียว คือ พับถุงกระดาษขาย โรงเรียนเลิกแล้วจิระไปรับหนังสือพิมพ์วิ่งขายตามบ้าน ได้ส่วนแบ่งฉบับละ ๑ สลึงในสมัยนั้น วิ่งขายตั้งแต่ตอนเย็นถึง ๔-๕ ทุ่ม ขายได้ ประมาณ ๕๐-๘๐ ฉบับ น้องคนถัดไปอายุย่างเข้า ๘ ขวบ ต้องไปเก็บผักตามชายทุ่ง มีผักบุ้ง ตําลึง มาให้แม่ทํากับข้าวทุกวัน น้องสาวคนรองสุดท้องยังเล็ก ๕-๖ ขวบ อยู่บ้านกับแม่ ครอบครัวนี้ ๕ ชีวิต มีรายได้เฉลี่ย วันละไม่เกิน ๒๐ บาท ต้องเสียค่าเช่าบ้านเดือนละ ๒๐๐ บาท ชีวิตทุกคนจึงผจญต่อความแร้นแค้นอย่างหนัก อาหารประจําวันที่เป็นหลักอยู่ คือข้าวกับผักที่ลูกเก็บได้มาต้ม มีปลาทูตัวเล็กๆ หรือไข่ทอดบ้างเป็นบางวัน
จิระไม่เคยมีข้าวมากินกลางวัน เงินจะนํามาซื้ออาหารที่โรงเรียนกินก็ไม่มี เวลาเพื่อนๆ หยุดพักไปรับประทานอาหาร จิระจะวิ่งไปดื่มน้ำที่ก๊อกประปา แล้วไปนอนฟุบหลับที่โต๊ะเรียนจนถึงเวลาโรงเรียนเข้า เด็กอดนอนทุกคืน ขาดอาหาร จะให้เป็นเด็กมีสติปัญญาดีได้อย่างไรกัน
ข้าพเจ้าดีใจที่ค้นหาสาเหตุต่างๆ ได้ นี่ถ้าหากเชื่อครูประจําชั้นให้เด็กออกจากโรงเรียนไป ข้าพเจ้าคงจะเป็นครูที่ใจร้ายจริงๆ ต่อจากนั้น ข้าพเจ้าได้แก้ไขปัญหาต่างๆ ไปตามขั้นตอน ทําเรื่องเป็นหนังสือราชการ ร้องเรียนไปยังผู้บังคับบัญชาของบิดาเด็ก เพื่อขอความกรุณาตักเตือน ให้ช่วยแบ่งรายได้เลี้ยงครอบครัว แนะนําทนายความที่มีใจเมตตา ยื่นจดหมายฟ้องร้องอีกเป็นการส่วนตัวให้แม่ของจิระ เพราะเป็นภรรยา ถูกต้องตามกฎหมาย ทนายท่านนั้นไม่คิดค่าป่วยการใดๆ
ส่วนเรื่องทางโรงเรียนข้าพเจ้าได้จัดหาทุนอุปการะเด็ก ทั้งเรื่องอาหาร เครื่องแต่งตัว อุปกรณ์การเรียน และขอให้ลดการขายหนังสือพิมพ์ลง พอพลบค่ำให้เลิกขายกลับบ้านเพื่อพักผ่อนและทําการบ้าน น้องชายคนถัดไปของจิระมีอายุเข้าเรียนได้ ข้าพเจ้าให้เข้าเรียนทันที โดยรับทุนจากโรงเรียนเหมือนพี่ชาย เมื่อมีการประชุมคณะกรรมการมูลนิธิของโรงเรียน ข้าพเจ้าได้เสนอเรื่องนี้เข้าที่ประชุม เพื่อนผู้มีฐานะดีคนหนึ่งของกรรมการท่านหนึ่งทราบเรื่องเข้า ได้ติดต่อกับข้าพเจ้าจะขอเด็กไปเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม เพราะเขาแต่งงานมาหลายปีไม่มีบุตร มารดาของเด็กยินยอมตกลงด้วยน้ำตานองหน้าเพราะคิดถึงลูก แต่จําเป็นต้องยอมตัดใจเพื่ออนาคตของเด็ก
ครั้นวันมารับตัวเด็ก ผู้ขอกลับเปลี่ยนใจขอตัวน้องชายไปแทน รับไปเลี้ยงอยู่ระยะหนึ่งก็นํามาคืน แจ้งว่าเด็กร้องไห้คิดถึงแม่และพี่ๆ น้องๆ อยู่เสมอ เขาขอส่งเงินช่วยอุปการะเป็นงวดๆ ไปจนกว่าเด็กจะเรียนจบ
เมื่อน้องๆ ของจิระโตขึ้นก็เป็นนักเรียนรับทุนของโรงเรียนทุกคน มารดารับจ้างเป็นแม่บ้านในครอบครัวชาวต่างชาติ มีรายได้ดีขึ้น บิดาของเด็กเกรงใจผู้บังคับบัญชา ส่งเงินเลี้ยงดูครอบครัวอยู่ระยะหนึ่ง แล้วเพิกเฉยไป ครอบครัวของจิระเลี้ยงตัวอยู่ได้พอสมควร
ตลอดเวลาที่ผ่านมา มารดาของเด็กจะกล่าวถึงบุญคุณที่ทางโรงเรียนมีต่อครอบครัวของเธอให้ใครๆ ฟังอยู่เสมอ ข้าพเจ้าได้ดูแลเด็กๆ ๔ พี่น้องนี้อยู่ ๑๐ ปี จิระเรียนจบชั้นมัธยมแล้ว ไม่เรียนต่อ ออกทํางานรับจ้างหารายได้ช่วยมารดาส่งน้องๆ เรียน ข้าพเจ้าจากพวกเขาทุกคนไป ในปี ๒๕๒๐
อีก ๙ ปีต่อมา ขณะที่กําลังเดินไปขึ้นรถเพื่อจะกลับจากวัดพระธรรมกายมายังบ้านพัก มีสตรีสูงอายุผู้หนึ่งวิ่งมากราบข้าพเจ้าละล่ำละลักพูด
“อาจารย์ อาจารย์ชื่อถวิล ใช่มั้ยคะ ดีใจเหลือเกินที่ได้พบ” เธอคือมารดาของจิระนั่นเอง เธอเล่าว่า
“เพราะกําลังใจต่างๆ ที่ได้จากอาจารย์ ทําให้ดิชั้นและลูกฮึดสู้ชีวิต เด็กๆ พากันประพฤติตัวดี ขยันเรียน ไปอยู่ที่ใดก็สอบชิงทุนการศึกษาได้ทุกคน ปัจจุบันนี้ ลูกชายคนที่สองเรียนจบปริญญาในประเทศแล้ว ได้ทุนไปเรียนต่อจนจบปริญญาเอกจากต่างประเทศ ลูกสาวอีกสองคน คนหนึ่งจบปริญญาโท คนเล็กจบปริญญาตรี มีงานทําเป็นหลักฐานแล้ว ทุกคนมีความประพฤติดี ไม่มีใครเหลวไหล โดยเฉพาะอย่างยิ่งแม้ทุกคนจะมีอายุมาก เป็นหนุ่มสาวเต็มที่แล้ว ไม่มีใครคิดจะมีชีวิตครอบครัวเลย ทุกคนดูตัวอย่างชีวิตพ่อแม่ของตนเองแล้ว มีความเข็ดหลาบ ยืนยันแต่ว่าในชีวิตนี้จะไม่มีครอบครัว”
“โอ้โฮเรียนเก่งกันทุกคน แล้วพ่อจิระของดิชั้นล่ะคะ” ข้าพเจ้าถามถึงตัวละครเอกของครอบครัวนี้
“เมื่อน้องๆ มีงานทําเป็นหลักฐานแล้ว จิระขออนุญาตดิฉันออกบวชเป็นพระภิกษุไปอยู่จังหวัดทางภาคอีสานขอไม่สึกไปจนตลอดชั่วชีวิต เขานึกถึงเมื่อตอนเด็กๆ เคยเรียนทําสมาธิกับอาจารย์น่ะค่ะ เขาระลึก ถึงความสงบนั้นได้ เห็นว่าชีวิตอย่างนั้นมีค่า และรู้ข่าวว่าอาจารย์ก็ยังลาออกจากราชการ บวชเป็นแม่ชี จึงคิดถือเอาเป็นตัวอย่าง แต่ไหนแต่ไรไม่เคยสนใจเรื่องผู้หญิงมาเลย คงกลัวจะต้องเลี้ยงลูก แค่เลี้ยงน้องมาก็คงเข็ดกระมังคะ”
เธอหยุดมองหน้าข้าพเจ้าครู่หนึ่ง จึงกล่าวต่อ
“เวลานี้ดิชั้นสบายมาก ไม่ต้องทํามาหากิน ลูกๆ ให้เงินเดือนทุกคน ดิชั้นคิดถึงอาจารย์น่ะค่ะ ทราบจากลูกว่าอาจารย์เป็นคนช่วยสร้างวัดพระธรรมกาย เค้าว่าถ้าแม่ไปที่วัดนี้ แม่อาจจะได้พบอาจารย์ ดิชั้นจึงพยายามมาอยู่หลายครั้งแล้ว อยากจะเล่าเรื่องของลูกๆ ให้อาจารย์ทราบด้วย ว่าชีวิตครอบครัวดิชั้นสุขสบาย ราบรื่น เพราะบุญคุณของอาจารย์”
ข้าพเจ้ายิ้มพร้อมทั้งกล่าวคําแสดงความยินดีด้วยใจจริง
“แม้จะได้เจอกันแล้ว ก็ต้องมาที่นี่อีกต่อไปนะ มาเอาบุญใส่ตัวคุณเอง ให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา จะได้เป็นเสบียงติดตัวเรา เวลาจะตายลูกๆ ก็ไปกับเราไม่ได้ ทรัพย์อื่นๆ ก็เอาไปไม่ได้มีแต่บุญเท่านั้นไปกับเรานะคะ”
สตรีนั้นรับคําข้าพเจ้าแล้วเราก็จากกัน นี่ ๒ ปีแล้ว ยังไม่พบหน้ากันอีกเลย อาจจะไปอยู่กับพระภิกษุลูกชายก็ได้
การพบกันกับมารดาของจิระเมื่อปี ๒๕๒๙ นั้น แม้จะนานล่วง เลยมาถึง ๒ ปีเศษแล้ว ยังไม่วายสุขใจที่นึกถึง
...ท่านจิระของครู แม้ท่านจะมิได้เล่าเรียนเป็นดอกเตอร์เหมือนน้องชายของท่าน แต่เมื่อครูรู้ว่าผ้ากาสาวพัสตร์จะห่อหุ้มคลุมร่างท่านไปชั่วชีวิตแล้ว ครูก็ภูมิใจว่า ดอกไม้ที่ครูปลูกไว้เมื่อ ๑๙ ปีโน้นได้ออกดอก งามสะพรั่งเหลืองอร่าม ท่ามกลางใจครูไปนานแสนนานตลอดไป
ชื่อเรื่องเดิม จิระ
Cr. อุบาสิกาถวิล(บุญทรง) วัติรางกูล
จากความทรงจำ เล่ม1