ต้นไม้ดอกต้นที่สามที่จะเล่าไว้ต่อไปนี้ข้าพเจ้าได้ใช้เวลาปลูกไว้ ๑๙ ปี จึงมีดอก เช่นเดียวกับสองต้นแรก ต้นนี้พูดไปแล้วเหมือนมิได้ปลูกขึ้นกับมือตนเองอย่างที่เล่าผ่านมาข้างต้น เพียงแต่คล้ายหว่านเมล็ดไว้ทั่วๆไป แต่ผลที่ได้กลับกลายเป็นไม้ดอกอีกต้นที่มีดอกงดงามไม่น้อยหน้าต้นใด
ในปี ๒๕๑๐ คือ เมื่อ ๒๑ ปีมาแล้ว ในตําแหน่งผู้บริหารโรงเรียนที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นใหม่ นอกจากต้องไปที่ทํางานแต่เช้าแล้วยังกลับบ้านเย็นกว่าผู้อื่นแทบทุกวัน บางทีเกือบพลบค่ำ เพราะต้องคุมงานที่สั่งการให้ผู้ใต้บังคับบัญชาทำล่วงเวลาอยู่เสมอ
ทุกเย็น ข้าพเจ้ามักพบสตรีชาวจีนวัยเดียวกับข้าพเจ้าคือ สามสิบเศษๆ หาบเศษอาหารจากร้านขายอาหารในย่านใกล้เคียงโรงเรียน
“คุณเลี้ยงหมูหรือคะ” ข้าพเจ้าเคยถามเธอเมื่อเธอวางหาบลง ยกมือไหว้ทําความเคารพ
“เปล่าค่ะ ชั้นเอาไปขายให้กับคนเลี้ยงหมูอีกทีนึงน่ะค่ะ” อีกฝ่ายตอบ
เราคงทักทายตามมารยาทของคนเห็นหน้ากันดังนี้อยู่ทุกครั้งที่พบกัน จนอีกประมาณ ๒ เดือนต่อมา วันนั้นเธอทําความเคารพข้าพเจ้าผิดปกติ คือแทบจะกราบลงไปถึงพื้น ปากก็พร่ำพูดว่า
“ขอบคุณคุณครูที่สุดเลย ที่ให้ทุนลูกชายของชั้น ความจริงชั้นไม่อยากรบกวนครูเลย แต่ก็หารายได้ไม่พอจริงๆ มีเด็กๆ ถึง ๕ คน เตี๋ยเด็กก็มาเป็นไข้ตายเมื่อปีที่แล้วเอง ขายข้าวหมูนี่วันหนึ่งมีกําไรเพียง ๒๐-๓๐ บาท บางวันก็ไม่ถึง”
ข้าพเจ้าจึงนึกได้ว่าในรายชื่อนักเรียนรับทุนของโรงเรียน ครู ประจําชั้นชั้นหนึ่งส่งรายชื่อเด็กเชื้อชาติจีนเข้ารับการพิจารณาด้วยรายหนึ่ง กรรมการส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยเพราะโดยปรกติแล้วครอบครัวเด็กชาวจีนในโรงเรียนของเราไม่ใคร่มีรายใดขาดแคลน แต่ข้าพเจ้าเห็นในบันทึกของครูผู้ขอแจ้งว่า บิดาของเด็กถึงแก่กรรม มีพี่น้องกําลังเรียน ๓ คน มารดามีอาชีพค้าขาย เมื่อซักถามครูประจําชั้นถึงรายได้ของมารดาเด็ก เขาไม่ทราบ แต่รายงานเพิ่มเติมว่า ตัวเด็กขาดแคลนมาก อุปกรณ์การเรียนมีไม่ครบ เครื่องแต่งกายมีเพียงชุดเดียว ปัญหาความประพฤติไม่มี นิสัยดี สติปัญญาดี ประกอบกับเงินทุนของโรงเรียนในระยะนั้นได้รับมามาก ข้าพเจ้าจึงตัดสินใจให้เด็ก
ไม่นึกเลยว่าเป็นการตัดสินใจถูกต้อง อาชีพค้าขายของมารดาเด็ก คือ ขายข้าวเลี้ยงหมู เป็นเศษอาหารที่ส่งกลิ่นเหม็นตลอดทางเวลาหาบไป เมื่อประจักษ์ความขาดแคลนชัดเจนกับตนเอง ดังนั้นข้าพเจ้าจึงอนุมัติให้ช่วยลูกของเขาเพิ่มอีก ๒ คน
เด็กทั้ง ๓ ราย ไม่มีปัญหาใดๆ ข้าพเจ้าจึงมิได้รู้จักเป็นส่วนตัว เวลาให้การอบรมสั่งสอน ก็สั่งสอนรวมๆ กันไป
นึกไม่ถึงว่า ข้าพเจ้าพบมารดาของเด็กอีกครั้งในปี ๒๕๒๙ ที่หลังอาคารดาวดึงส์ในเขตวัดพระธรรมกาย เขาจําข้าพเจ้าได้ ส่วนข้าพเจ้าเพียงแต่ฉงนใจคลับคล้ายคลับคลา
“เพราะเด็กๆ ได้รับทุนเมื่ออยู่ในโรงเรียนของอาจารย์นั่นแหละค่ะ แกจึงมีกําลังใจ เรียนได้เก่ง ชั้นได้อดทนส่งเสียเค้า ตอนนี้เรียนจบ ๔ คนแล้ว มีงานทําแล้ว ๓ คน อีกคนหนึ่งกําลังถูกบริษัทเรียกตัวให้เข้าทำงาน เหลือคนเล็กเรียนชั้นปริญญาตรีอีก ๒ ปีคงจบ คนเล็กเรียนไม่ค่อยเก่งนักหรอกค่ะ”
พูดจบแล้ว เธอทําสีหน้าครุ่นคิดอยู่ครู่หนึ่งแล้วตัดสินใจพูดต่อ
“พอพบกัน ชั้นก็มีเรื่องรบกวนขอคําแนะนําจากอาจารย์อีกแล้ว ตอนนี้ลูกชายคนโตบวชเป็นพระธรรมทายาทอยู่ที่นี้ในพรรษานี้แหละค่ะ ท่านขอร้องชั้นว่าจะขอไม่สึก จะช่วยงานพระเดชพระคุณหลวงพ่อ อยากอยู่ในเพศสมณะไปตลอดชีวิตบ้าง”
“แล้วคุณตอบท่านไปว่ายังไงคะ” ข้าพเจ้าถามหยั่งใจคู่สนทนา
“ชั้นบอกว่า อยากให้สึกไปช่วยทางบ้านก่อน เพราะงานบริษัทที่ทำอยู่รายได้ดี เถ้าแก่ก็รักท่านมาก ท่านลาบวชเค้าก็จ่ายเงินเดือนให้เต็มทุกเดือน ไม่คิดหาคนใหม่แทน สึกกลับไปทํางานเก็บเงินชักพักนึงพอน้องเรียนจบมีงานทำแล้ว จะกลับมาบวชใหม่ก็ได้”
ตอบแสดงความคิดเห็นออกมา ข้าพเจ้าจึงถามต่อ
“ลูกชายที่บวชเป็นพระของคุณนี่ หน้าตาดีไหม คือหล่อมั้ย”
“ค่ะ หน้าตาดีกว่าบรรดาลูกชายทุกคน”
“แล้วลูกที่เหลือที่ทํางานแล้ว เค้าให้เงินเดือนคุณทุกคนมั้ย”
“ให้ค่ะ ให้ทุกคน”
“ถ้าไม่รวมเงินเดือนของลูกคนโตที่ให้คุณ คุณพอใช้เลี้ยงครอบครัวหรือไม่”
“ก็พอค่ะ” ตอบหลังจากหยุดคิดสักครู่
“คุณฟังนะคะ ฟังแล้วค่อยๆ นําไปคิดใคร่ครวญดู คิดตอนนี้ไม่ทันก็นําไปคิดต่อที่บ้าน คือถ้าตอนนี้ลูกคนโตของคุณไม่ได้ทํางาน ครอบครัวของคุณก็อยู่ได้ไม่ถึงกับเดือดร้อนอะไร ลูกคนเล็กเดี๋ยวก็เรียนจบ ทํางานได้อีกคน ยิ่งไม่มีปัญหาอะไรเหลือเกิน ถ้าเป็นใจของดิชั้นการที่ลูกขอบวชอุทิศชีวิตให้กับศาสนานั้น ถือว่า ลูกนอกจากจะแสวงบุญให้กับตัวเองแล้ว ยังสร้างบุญกุศลให้เราผู้เป็นแม่อีกมากมายนับไม่ถ้วน เรา เป็นผู้หญิงไม่มีโอกาสบวชได้อย่างท่าน แต่การอนุญาตให้ท่านบวช เราก็มีส่วนบุญนั้นอย่างแท้จริง เพราะเราเป็นผู้ให้ชีวิต เป็นผู้เลี้ยงดูท่านมา”
“คุณก็บอกแล้วว่า ท่านเป็นหนุ่มหน้าตาดี ดิชั้นว่าถ้าท่านสึกไปทํางาน ไม่ช้าก็ต้องแต่งงาน มีหลานให้คุณเลี้ยงอีกแน่ๆ คุณก็ต้องเหน็ดเหนื่อยไม่มีที่สิ้นสุดต่อไป โอกาสจะสร้างบุญกุศลอื่นๆ ก็พลอยหมดไปด้วย ดีไม่ดีเวลาตาย ใจยังนึกห่วงลูกห่วงหลาน เลยตายเป็นเปรตอยู่ในบ้าน คอยนั่งเฝ้าลูกเฝ้าหลานอยู่นั่นแหละ” อธิบายเสียค่อนข้างยาว
“น่ากลัวจะเป็นอย่างที่อาจารย์พูดนั่นแหละค่ะ เพราะมีผู้หญิงมาชอบอยู่หลายคนล้วนแต่คนดีๆ ทั้งนั้น ตอนนี่พระลูกชายของชั้นไม่ยอมสนใจใคร แต่ต่อไปก็ไม่แน่นะคะอาจารย์” ตอบอย่างเริ่มเห็นคล้อยตาม
“คุณอนุญาตให้ท่านบวชไปเรื่อยๆ เถอะค่ะ ท่านหาเงินให้คุณต่อไปไม่ได้ แต่ท่านจะหาบุญให้คุณได้ไม่มีที่สิ้นสุด แม้คุณตายไปแล้วคุณก็ยังได้บุญต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าลูกจะสิ้นชีวิต”
จากนั้นก็อธิบายต่อไปให้ฟังถึงอานิสงส์ของการบวชว่า ผู้บวชจะได้อานิสงส์ไปถึง ๖๔ กัป คือจะได้มีโอกาสในการสร้างสมบุญกุศลในพระพุทธศาสนาไปทุกภพทุกชาติที่เกิดไป เป็นเวลายาวนานถึงเพียงนั้น และอธิบายต่อว่า กัปหนึ่งหมายถึงเวลายาวนานนับประมาณไม่ได้ โดยเปรียบว่าเหมือนเอาเมล็ดพันธุ์ผักกาดมาใส่ในบ่อที่กว้าง ยาว ลึกอย่างละ ๑ โยชน์ (ประมาณ ๑๖ กิโลเมตร) พอถึงเวลาหนึ่งร้อยปี หยิบออกทิ้งเสีย เมล็ดหนึ่ง เมื่อใดเมล็ดพันธุ์ผักกาดหมดบ่อ เรียกว่าเป็นเวลาหนึ่งกัป
“คุณรู้มั้ย คุณเป็นแม่อนุญาตและอนุโมทนาในการบวชของลูก คุณได้อานิสงส์ถึงครึ่งหนึ่งคือ ๓๒ กัป บุญยังงี้คุณหาที่ไหนได้ จะเอาเงินเท่าไรซื้อหาก็ทําไม่ได้ นี่ลูกชายจะทําให้ ถ้าคุณไม่ยอมก็น่าเสียใจจริงๆ” ข้าพเจ้าพูดย้ำในตอนท้ายอย่างหนักแน่น
สตรีคู่สนทนาดูหน้าแจ่มใสขึ้นมาเรื่อยๆ ในขณะที่เราพูดคุยกัน จนในที่สุดเธอก็กล่าวขึ้นว่า
“โชคดีจัง วันนี้เจออาจารย์ ทําให้ตัดสินใจเด็ดขาดลงไปได้ ตกลงเดี๋ยวเย็นนี้จะไปบอกลูกชายว่าชั้นอนุญาตตามที่ท่านขอแล้ว”
ความดีใจทําให้ข้าพเจ้าลืมถามชื่อ นามสกุลของพระภิกษุท่านนั้น แต่นั่นไม่ใช่เรื่องสําคัญอะไร แม้เราต่างคนต่างจํากันไม่ได้ เพราะจากกันมาเป็นเวลานาน แต่เราย่อมทราบเรื่องของกันและกันว่า ชีวิตของเราไม่ไร้ค่า ไม่เสียประโยชน์ไปเปล่า
“ท่านคงไม่รู้นะ เวลาที่ครูพนมมือแสดงคารวะต่อบรรดาพระภิกษุสงฆ์ธรรมทายาทที่ลานธุดงค์ ครูนึกในใจอยู่เสมอว่า ในเหล่าผู้ครองผ้ากาสาวพัสตร์เหล่านี้ มีอดีตลูกศิษย์ของครูรวมอยู่ด้วยรูปหนึ่ง สําหรับท่านเองก็คงจําครูคนนี้ไม่ได้เหมือนกัน สมัยโน้นท่านยังเล็กมาก ครูเองก็ไม่ได้ใกล้ชิดเป็นส่วนตัว คงสอนลูกศิษย์ทุกๆ คนรวมกันไปทั้งโรงเรียน ไม่นึกเลยว่าเพชรพลอยจากคําพูดของครู ท่านสามารถเก็บเอาไว้ในใจ มาให้ผลเป็นคุณที่นับประมาณค่าไม่ได้ เป็นประโยชน์ต่อตนเองและสังคมถึงเพียงนี้”
สีเหลืองของผ้ากาสาวพัสตร์ตัดกับสีเขียวขจีของพื้นสนามหญ้าลานธุดงค์ ช่างเป็นประดุจสีทองคําบริสุทธิ์ผุดผ่องงดงามสุกใส สว่างไสว เบิกบานอยู่กลางใจข้าพเจ้าทุกครั้งที่ได้พบเห็นในบรรดาดอกไม้ทิพย์เหล่านี้ มีดอกไม้ดอกหนึ่งที่ข้าพเจ้าเคยหว่านเมล็ดไว้เมื่อ ๑๙ ปี ในอดีตโน้น
ข้าพเจ้าตั้งชื่อเรื่องนี้ว่า “ถึง ๑๙ ปี จึงมีดอก” เพื่อสอนใจตนเองด้วย หรือท่านผู้ใดจะนําไปคิดเตือนใจท่านเอง ก็ไม่ขัดข้องว่า
การกระทำคุณงามความดีใดๆ นั้น ควรลงมือทำเพราะเป็นสิ่งน่าทำ เป็นสิ่งที่ควรทำ ทำแล้วทำให้จิตใจเกิดความเคยชิน เป็นการพัฒนาใจให้มีคุณภาพสูงขึ้น สูงขึ้น ทำให้จิตใจพ้นจากการอยากทำความชั่ว มุ่งทำความดีทั้งปวง เพื่อเก็บภาพเหล่านั้นไว้ในใจเหมือนถ่ายภาพยนตร์ชีวิตที่เป็นเรื่องดีๆ เก็บไว้ ถ้าทำดีเพราะสาเหตุดังนี้เป็นความดีที่บริสุทธิ์ เป็นวัตถุประสงค์ที่ถูกต้อง ตรงตามแนวทางของบัณฑิตพึงกระทำ
ส่วนผลของการกระทําดีที่ปฏิบัติไปแล้ว ไม่ควรพะวงนึกถึง เราควรมีหน้าที่เป็นเพียงผู้สร้างเหตุ ผลที่เกิดตามมาเป็นเรื่องของผล เราไม่สามารถกําหนดได้ สร้างขึ้นได้ให้เกิดผลอย่างนั้นอย่างนี้ เกิดผลเมื่อนั่น เมื่อนี่ ซึ่งไม่ใช่หน้าที่ ไม่ใช่สิ่งที่อยู่ในความสามารถของเรา
ข้าพเจ้ายึดถือในหลักการดังกล่าวนี้เสมอมา เมื่อเห็นว่าตนเองทําสิ่งใดๆ ดีที่สุด ทําหน้าที่ที่ควรทําจนเต็มที่ที่สุด ก็จะพอใจเพียงแค่นั้น ไม่เคยคิดต่อหรือหวังต่อว่า เมื่อทําไปแล้วจะต้องได้รับผลตามมาตามที่บุพึงประสงค์ โดยเฉพาะที่คนส่วนใหญ่ประสงค์ เช่น ให้มีคนชมเชย ยกย่อง ได้รับเกียรติ ได้ลาภ ได้พวกพ้อง ได้รับความเห็นใจ มีคนรู้เห็นหรือรู้บุญคุณอะไรต่างๆ
เมื่อกระทําความดีไปโดยปราศจากความหวังใด ต่อมาจะเป็นเวลาเร็วหรือช้าก็ตาม เมื่อผลการกระทําดีปรากฏ เราย่อมรู้สึกว่าผลนั้นช่างยิ่งใหญ่ไพศาล ชื่นอกชื่นใจอย่างที่คาดคิดไม่ถึง ตรงข้ามถ้าเราทําไปอย่างหวังผลตอบแทน เช่น หวังความเจริญทางโลก คือ หวังว่าทําดีแล้ว จะได้ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เมื่อได้ผลตอบแทนไม่ทันใจ ก็จะพาลน้อยอกน้อยใจ ไม่เชื่อมั่นในกฎของกรรม มีความคลางแคลงใจในการกระทําคุณงามความดี
ปรารถนาจะมีผลไม้อร่อยๆ ไว้รับประทานจึงลงทุนเพาะเมล็ด ปลูกต้นผลไม้ไว้ บางทีกว่าต้นไม้จะออกดอกออกผลต้องใช้เวลาหลายๆ ปี คนปลูกยังต้องคอย คอยเสียตายไปก่อนก็ยังมี การบําเพ็ญคุณงาม ความดีต่างๆ ก็เป็นไปในทํานองเดียวกัน
ที่น่านํามาคิดคือ ยิ่งเรากระทําเหตุไว้เร็วเท่าไร โอกาสผลจะเกิดย่อมเร็วตามไปในตัว ถ้าเราทําความดีไว้ในวัยเด็ก ผลความดีอาจปรากฏในวัยหนุ่มสาว ทําไว้ตอนเป็นหนุ่มสาว ผลอาจปรากฏตอนเป็นผู้ใหญ่ ทำไว้ตอนเป็นผู้ใหญ่ ผลอาจปรากฏในตอนชรา ถ้าจะมัวรอทําตอนเราชรา คงปรากฏผลเอาชาติหน้า ฉะนั้นผู้ใดฉลาดย่อมจะไม่ผัดวันประกันพรุ่งในการบําเพ็ญคุณงามความดีไม่มัวประมาท จะทําตลอดเวลาเมื่อมีโอกาส ไม่ละเลยเพิกเฉยเห็นเป็นเรื่องเล็กน้อย
ชั่วชีวิตที่ผ่านมา ๕๐ ปีเศษของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าทราบดีว่าตนเอง หว่านเมล็ดพืชแห่งความดีไว้ไม่น้อยในปัจจุบันก็ยังไม่เพียงพอต้องกระทําต่อไปอยู่เรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด แม้จะเกิดใหม่ในภพชาติเบื้องหน้า ก็ต้อง บำเพ็ญต่อไปจนตราบเท่าเข้าสู่พระนิพพาน
แต่กระนั้นในฐานะที่ยังเป็นปุถุชน คนผู้ยังมีกิเลส เมื่อเมล็ดพืชที่หว่านไว้ออกดอกผล ดังเรื่องที่เล่าเป็นความเปรียบไว้ข้างต้นก็ยังไม่วายให้รู้สึกชื่นชมยินดี
ที่เล่าไว้นั้น เป็นแต่เพียงกระทําการช่วยเหลือแก่เยาวชนผู้ที่ขาดแคลน ยากจน มิได้คํานึงถึงคุณความดีในตัวผู้รับแต่อย่างใด มาบัดนี้ เมื่อต้องทํางานอยู่ในวงการของพระพุทธศาสนา ได้มาพบเยาวชนผู้ขาดแคลน แต่เป็นผู้ที่มีคุณธรรมประจําตัว ให้ทานตามกําลังของตน ถือศีลมั่นคง และเจริญภาวนาด้วยศรัทธาอันไม่หวั่นไหว ช่วยงานพระพุทธศาสนาโดยไม่ย่อท้อ ข้าพเจ้าก็ให้นึกเมตตาเป็นพิเศษทวีคูณยิ่งขึ้นไปอีก ใคร่จะทําโครงการให้ทุนอุดหนุนอุปการะชีวิตของพวกเขา เหมือนที่เคยกระทําต่อเด็กๆ ในอดีตเหล่านั้น
ใครจะรู้ว่า ดอกไม้ดอกใหม่ๆ ที่จะเบิกบานอยู่กลางใจข้าพเจ้าและท่านทั้งปวง ไม่จําเป็นต้องใช้เวลานานถึง ๑๙ ปีอย่างนั้นอีก แต่จะบานให้ความชื่นใจทันตาเห็นในขณะปลูกอยู่ทีเดียว
ชื่อเรื่องเดิม ลูกคนขายข้าวขาหมู
Cr. อุบาสิกาถวิล(บุญทรง) วัติรางกูล
จากความทรงจำ เล่ม1