หลวงพ่อสอนอะไร (ตอนที่ ๕๓)
นายของเงิน
เมื่อเรายังอยู่ในสังคมที่จำเป็นจะต้องมีการแลกเปลี่ยนสิ่งของด้วยเงิน จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า เงิน เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างหนึ่งในการดำรงชีวิต เพราะมนุษย์จำเป็นต้องกินต้องอยู่
แม้ในทางธรรม เงินก็เป็นสิ่งที่จำเป็นในการที่จะทำให้การสั่งสมบุญเป็นไปได้โดยสะดวก แต่สิ่งที่แตกต่างกันคือ วิธีใช้เงินของคนทางโลกกับคนทางธรรม หากไม่เข้าใจในประเด็นนี้ก็จะเกิดความสับสนอย่างที่เป็นปัญหาอยู่ทุกวันนี้ เพราะชาวโลกมองการใช้เงินหรือปัจจัยของพระ โดยเอาความรู้สึกหรือเอาวิธีการของตนมาคิด
กล่าวคือ การใช้เงินของคนทางโลกนั้น เป็นไปเพื่อการเติมเต็มในเรื่องของปัจจัย ๔ หรือภาษาพระใช้คำว่า เพื่อบำรุงกาม (คำว่า กาม ในที่นี้หมายถึง วัตถุอันน่าใคร่ เช่น ซื้อบ้าน ซื้อรถ ซื้อทีวี ของใช้อะไรต่าง ๆ ตามที่ต้องการ)
แต่การใช้เงินของพระนั้น ต้องเป็นไปเพื่อการสร้างบารมี แม้อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่จัดหามาก็ไม่ใช่ของส่วนตัว ไม่ว่าจะเป็นยานพาหนะ อุปกรณ์ไฟฟ้า โทรศัพท์หรือคอมพิวเตอร์ต่าง ๆ
หลวงพ่อทัตตชีโว ท่านเคยให้โอวาทพระลูกชายไว้ว่า
“ อุปกรณ์ทุกอย่างที่มีอยู่ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม ได้มาด้วยอานิสงส์จากการเข้ามาบวช จึงเป็นสมบัติของพระศาสนา ดังนั้นใครก็มีสิทธิมาใช้ได้ หากใครคิดว่าเป็นของตนเอง หวงไว้ ไม่ให้ใครใช้ ใครแตะต้องไม่ได้ ก็ช่วยเอาของนั้นออกไปจากวัด แล้วตัวก็ตามไปด้วย ”
และสิ่งนี้หลวงพ่อทั้งสองก็ทำเป็นตัวอย่างมาตลอด ซึ่งอาตมาได้ยินกับหูเมื่อตอนเป็นพระพี่เลี้ยงสามเณร ทั้งหลวงพ่อธัมมชโยและหลวงพ่อทัตตชีโว ท่านย้ำเลยว่า
" หากสามเณรเจ็บป่วย ฉุกเฉินหารถไม่ได้ ให้รีบมาเอารถหลวงพ่อพาสามเณรไปโรงพยาบาล "
อาตมายังจำได้ดีว่า วันแรกที่เข้าไปฝึกงานที่อาศรมบัณฑิต เมื่อรายงานชื่อเสียงเรียงนามเสร็จ ประโยคแรกที่หลวงพ่อทัตตชีโวถามคือ
“ เอ็งมีเงินฝากส่วนตัวในธนาคารเท่าไรวะ ”
ตอนนั้นอาตมางงมาก เพราะจะมาฝึกงานอยู่กับท่าน แต่ท่านมาถามเรื่องบัญชีเงินฝากทำไม
“ ไม่มีครับหลวงพ่อ ปิดบัญชีทำบุญกฐินยายไปเรียบร้อยหมดแล้วครับ พอดีวันก่อนหลวงพี่ตักกะ ท่านมาเทศน์เรื่องกฐินยาย ทำให้นึกได้ว่ายังมีเงินในธนาคารอยู่ เลยไปปิดบัญชีมาทำบุญหมดแล้วครับ ”
“ ดีมาก เป็นพระมีเงินเป็นส่วนตัวก็อายโยม ”
ตรงนี้ขออธิบายสักนิด คำว่า เงินส่วนตัว ที่หลวงพ่อกล่าวถึง หมายถึง เงินที่เอาไว้ใช้จ่ายสำหรับตนเองโดยเฉพาะ ไม่ได้เอามาใช้ในงานพระพุทธศาสนา
หลวงพ่อทั้งสองท่านจะมีวิธีบริหารปัจจัยที่ญาติโยมถวายมา แม้จะระบุถวายท่านเป็นการส่วนตัวก็ตาม แต่ทุกบาททุกสตางค์ท่านจะเอาไว้ใช้เพื่อการทำงานทั้งนั้น ที่อาตมากล้ายืนยันก็เพราะว่า ในช่วงที่ไปฝึกงานนั้นจะช่วยกันดูแลปัจจัยส่วนนี้
เวลาที่โยมมาถวายปัจจัย อาตมาก็จะเก็บซองโดยหลวงพ่อไม่เคยทราบเลยว่า โยมถวายมามากน้อยแค่ไหน ทีมงานก็จะไปทำบัญชีไว้ เมื่อหลวงพ่อจะใช้ทำงานอะไร ท่านก็จะมาถามพวกเรา
“ เฮ้ย มีตังไหม หลวงพ่อจะเอาไปทำบุญ ”
อาตมาก็จะถามว่าท่านต้องการเท่าไร แล้วก็ไปจัดมาให้ท่าน นั่นคือ สิ่งที่หลวงพ่อได้ทำไว้ให้เป็นตัวอย่าง
สิ่งหนึ่งที่อาตมาประทับใจหลวงพ่อทัตตชีโวคือ ความรักบุญ ขอให้รู้ว่าที่วัดไหนมีการก่อสร้างหรือกำลังต้องการปัจจัยในการขยายงาน ท่านจะรีบทำทันที จนหลวงพี่สินทบที่เป็นพระเลขาของหลวงพ่อ ต้องคอยกำชับอาตมาว่า
“ เวลาตามหลวงพ่อไปไหน อย่าเอาปัจจัยใส่ย่ามไปเยอะ เพราะหลวงพ่อเราท่านใจใหญ่ ใครขอหรือเดือดร้อนมาท่านให้หมด ”
ไม่ใช่เฉพาะที่เมืองไทยเท่านั้น แม้แต่ที่ต่างประเทศ เวลาท่านมีโอกาสไปร่วมงานที่วัดไหนก็ตามที่เขากำลังก่อร่างสร้างตัว ท่านจะหันมาถามเลย
“ มีตังเท่าไร ”
“ ติดมาห้าร้อยเหรียญครับ เพราะคิดว่าไม่น่าจะใช้จ่ายอะไรครับ ”
“ ไปหามาให้ได้พันเหรียญ หลวงพ่อจะถวายเจ้าอาวาสเขา ”
“ ห้าร้อยก็พอมังครับหลวงพ่อ เยอะแล้วครับ ”
“ ไม่พอหรอก เจ้าอาวาสเขาอุตส่าห์มาซื้อโบสถ์เก่า มาทำวัด เขาต้องมีค่าใช่จ่ายในการปรับปรุงอีกเยอะ นี่หากมีมากกว่าพันก็เอามา ”
คำสอนของหลวงพ่อที่อาตมาจำได้ชัดเจนคือ
“ ชาวโลกที่เขามีปัญหาความไม่รู้จักพอ เพราะเขาปล่อยให้เงินมันเป็นนาย แต่วิถีชีวิตของพระ เมื่อหลีกเลี่ยงการใช้เงินไม่ได้ เราก็ต้องใช้เงินแบบเป็นนายของมัน คือ เอามันมาสร้างบุญสร้างบารมี ”
เพราะได้ต้นแบบเช่นหลวงพ่อทั้งสอง อาตมาจึงเดินตามสิ่งที่ครูบาอาจารย์ทำ จึงกล้ากล่าวได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่า ตลอดชีวิตของการบวชไม่เคยคิดจะสะสมเงินทองเพราะไม่มีความจำเป็นที่จะต้องทำอย่างนั้น
แม้อาตมาซึ่งเป็นพระลูกวัดยังคิดอย่างนี้ได้ แล้วหลวงพ่อทั้งสองที่มีเป้าหมายของการบวชชัดเจนยิ่งกว่าอาตมาไม่รู้กี่ร้อยเท่าพันเท่า ท่านจะคิดสะสมเพื่ออะไร หากคนที่คอยหาเรื่องท่านเรื่องเงินทอง เข้าใจตรงจุดนี้ เรื่องรับของโจรหรือฟอกเงินจะไม่มีวันเกิดขึ้นเลย
หยุดเอาใจของผู้บริโภคกาม มาวัดใจของพระผู้แสวงหาทางหลุดพ้นเถิด
ขอขอบคุณบทความดี ๆ จาก
อาสภกันโต ภิกขุ
๑๕ ก.ย. ๕๙
anacaricamuni.blogspot.ae