การพนันผันชีวิต

วันที่ 03 ตค. พ.ศ.2559

การพนันผันชีวิต,ที่นี่มีคำตอบ ฉบับมินิ เล่ม 4 รักนี้สีอะไร,บทความประจำวัน
 
 
การพนันผันชีวิต
 
 
ในวัยเด็ก ในหมู่บ้านที่ข้าพเจ้าอาศัยอยู่ ยังไม่มีถนนหนทางอย่างใดเลย จะไปที่ใดต้องเดินกันตามทางเท้าบ้าง เดินบนหัวคันนาบ้าง เรื่องรถยนต์ชนิดต่างๆ ไม่ต้องพูดถึง ไม่เคยเห็น แม้แต่จักรยานก็ไม่มีใครรู้จัก จะเห็นอยู่ก็แต่ขบวนรถไฟวิ่งผ่านทุ่งนาไปวันละ ๓-๔ ขบวน ใครจะไปธุระในเมือง ต้องเดินนับไม้หมอนรถไฟกันไปถึงครึ่งวัน กลับอีกครึ่งวัน พอดีหมดวัน การคมนาคมที่ทุกบ้านใช้กันอยู่นอกจากการเดินก็คือใช้ทางน้ำ บ้านที่พอมีฐานะดีอยู่บ้างจึงมีเรือใช้กันทุกบ้าน เรือที่นิยมใช้กันมากคือ เรือลํากลางๆ นั่งได้ประมาณ ๕ คนเป็นอย่างมาก ชาวบ้านเรียกชื่อว่า “เรือมาดกะสวย” เวลาพายไม่ใคร่โคลงเคลง ส่วนเรือสําปั้นไม่ใคร่นิยมใช้เพราะมันโคลง แต่พายได้เร็วกว่า คนจนหน่อยจะใช้เรือ “อีเป็ด” ลําเล็กๆ นั่งไม่เกิน ๓ คน ไม่โคลงมาก สําหรับเรือ “บด” เป็นเรือที่โคลงที่สุด ล่มง่าย แต่พายได้เร็วเป็นเยี่ยม ใช้นั่งคนเดียว พระภิกษุชอบมีไว้ใช้พายบิณฑบาต

เวลานั้นในประเทศของเรายังไม่มีเขื่อนกั้นลําน้ำ แม่น้ำหน้าบ้านข้าพเจ้าก็ไม่มีเขื่อน หน้าแล้งน้ำแห้ง ริมตลิ่งเป็นหาดทรายยาวเหยียดไปเป็นหลายกิโลเมตร กว้าง ๓๐๐-๔oo เมตร พอหน้าฝน ฝนตกหนักเป็นเดือนเข้าก็จะมีฤดูน้ำหลากตามมา สายน้ำจะไหลท่วมหาดทรายสูงถึง ๔-๕ เท่าความสูงของตัวคน น้ำล้นตลิ่งไหลผ่านหมู่บ้านเข้าท่วมไร่นา ในฤดูน้ำจึงต้องใช้เรือกันทุกบ้าน

บ้านของข้าพเจ้ามีเรือชนิดมาดกะสวย ในความรู้สึกของข้าพเจ้าขณะนั้นเห็นว่า เรือของข้าพเจ้ามีรูปร่างสวยที่สุด ไม่เล็กไม่โต (เราเรียกว่า “ไม่โป้งโล้ง” คืออ้วนๆ ป่องๆ พายได้ไม่คล่อง) ข้าพเจ้าพายเรือเป็นแต่เล็ก เพราะต้องช่วยพายทางหัวเรือ ในขณะที่พ่อพายทางท้ายเรือ ถ้ามีแม่ไปด้วย ข้าพเจ้าจะนั่งสบายอยู่กลางลําเรือ ไปไหนจึงมีกันเพียงสามคน พ่อแม่ลูก (น้องยังไม่มาเกิด)

การพายเรือที่สําคัญที่สุดคือพายท้ายเรือ เพราะต้องใช้ไม้พายต่างหางเสือเรือด้วย ถ้าให้เรือวิ่งไปตรงๆ ก็วางใบพายให้สันพายแนบข้างเรือนิ่งๆ ถ้าต้องการให้หัวเรือหันไปทางซ้ายมือ ในขณะที่เราพายทางซีกขวา ก็ต้อง “วาด” คือยกใบพายออกให้ห่างจากลําเรือแล้วดึงเข้าหาลําเรือ เท่ากับดึงสายน้ำเข้าหาเรือ หัวเรือจะเหออกทางซ้าย ส่วนจะมากหรือน้อยต้องอยู่ที่ความชํานาญในการคาดคะเนความเร็วของกระแสน้ำและกําลังข้อมือของเรา ในขณะเดียวกันถ้าจะให้เรือหันหัวไปทางขวาก็ ต้อง “คัด” คือแนบพายเข้าชิดตัวเรือแล้วงัดน้ำออก หัวเรือจะเหเข้าทางขวาในขณะที่ท้ายเรือเหไปทางซ้าย

ข้าพเจ้าพายเรือเก่งตั้งแต่ยังว่ายน้ำไม่เป็นด้วยซ้ำไป สามารถพายคนเดียวข้ามไปมาในแม่น้ำได้ และต้องพายบ่อยในฤดูน้ำหลากเพราะมักมีคนวานให้พายส่งข้ามฟากเสมอ เนื่องจากสมัยนั้นยังไม่มีเรือรับจ้างข้ามฟาก ผู้คนจึงมักใช้วิธีวานเจ้าของท่าน้ำที่มีเรือจอดอยู่

เรือของบ้านอื่นๆ ถ้ามีใครจ้างให้พายข้ามฟากไปส่ง เขาจะตกลงราคาค่าจ้างก่อนลงเรือ สําหรับเรือของข้าพเจ้าไม่เคยเรียกร้องค่าจ้าง ถ้าถูกตามเรื่องราคา ข้าพเจ้าจะบอกว่า “แล้วแต่จะให้จ้ะ” ข้าพเจ้าคิดว่า เรียกราคาแบบนี้ย่อมทําให้คนข้ามฟากสบายใจ ส่วนข้าพเจ้าเองก็รู้สึกสบายใจไปด้วย ได้เงินซื้อขนมฟรีๆ

ส่วนมากมักจะได้เที่ยวละ ๑ สตางค์ต่อคน (สมัยโน้นไข่ฟองละ ๒ สตางค์ ก๋วยเตี๋ยวชามละ ๑ สตางค์)

ที่จําได้แม่นคือไม่เคยมีใครใจดีให้ราคาพิเศษ มีอยู่สองครั้งที่ประทับใจ เป็นความประทับใจในทางไม่ดี แต่กลับทําให้เกิดประโยชน์สอนให้ข้าพเจ้ารู้จักเห็นใจคนที่มีน้ำใจมาจนทุกวันนี้ ครั้งหนึ่งเมื่อพายส่งถึงฟากฝั่งตรงข้ามและบอกคนข้ามฟากว่า “แล้วแต่จะให้จ้ะ” ได้รับคําตอบว่า “งั้นอย่าเอาเลยนะ ขอข้ามฟรีเถอะ แล้วเดินจากไปได้ลงคอ

ส่วนครั้งที่สองมีคนข้ามพร้อมกันสองคน เมื่อถึงฝั่งเขาหยิบสตางค์ออกวางให้ ๒ สตางค์เรียบร้อย พร้อมกับถามราคา พอได้ยินคำตอบ เขากลับหยิบคืนไปเสีย ๑ สตางค์ เขาช่างไม่รู้เลยว่าแรงเด็กเพียง ๗-๘ ขวบ พายเรือข้ามแม่น้ำที่มีกระแสน้ำไหล ไม่ใช่น้ำนิ่ง กว้างประมาณ ๒๐๐-๓๐๐ เมตรราวๆ นั้น เหน็ดเหนื่อยจนเหงื่อท่วมตัว ค่าจ้างก็แล้วแต่จะเต็มใจให้ น่าจะรู้คุณค่าน้ำใจ กลับถือโอกาสเอาเปรียบ การกระทําของคนประเภทนี้ทําให้ข้าพเจ้าตั้งใจไว้ตั้งแต่เล็กว่าในชีวิตของตนเองแต่นั้น ต่อมาจะไม่ดูถูกน้ำใจผู้ใด จะไม่ยอมเห็นแก่ได้ทําลายน้ำใจของใคร

ข้าพเจ้ามีเรื่องเล่าเกี่ยวกับเรือของข้าพเจ้าลํานี้มาก รู้สึกต่อเรือลำนี้เหมือนเป็นเพื่อน เป็นคนรับใช้ที่ให้ความสุข เช่น เวลาได้นั่งกลางลำเรือ มีพ่อพายท้ายแม่พายทางหัวเรือ พร้อมด้วยอาหารต่างๆ พากันไปเยี่ยมญาติผู้ใหญ่ในต่างถิ่นคนละท้องทุ่งบ้าง พายเรือไปเก็บสายบัว เหง้าบัว กับพ่อบ้าง บางทีก็เก็บผักอ่อนๆ ชนิดที่ชอบขึ้นในน้ำ เช่น ผักบุ้ง ผักแพงพวย ผักกระเฉด จนกระทั่งใช้เรือจับปลาทําบาป ส่วนที่ใช้ทําบุญก็มีพายเรือไปทําบุญให้ทานรักษาศีลที่วัดในวันพระ ยิ่งเป็นวันพระในเทศกาลเข้าพรรษา ข้าพเจ้ายิ่งมีความสุขเป็นพิเศษเพราะแม่จะถือศีลอุโบสถต้องไปนอนค้างคืนที่วัด พ่อจะกลับมาบ้านในตอนเย็น ท่านนําน้ำตาลปี๊บมาเคี่ยวทําเป็นตังเม (คือ ทอฟฟี่เหนียวๆ พอมืดค่ำลงท่านก็ให้ข้าพเจ้าพายหัวเรือท่านพายทางท้าย นําน้ำตาลตังเมนั่นไปให้พวกคนถือศีลที่วัดรับประทาน เพราะคนเหล่านั้นอดอาหารมื้อเย็น แต่รับประทานทอฟฟี่ที่ว่านี้ได้)

มีอีกหลายเรื่องเกี่ยวกับเรือลํานี้ที่ให้ความสุขแก่ชีวิตวัยเด็กในครอบครัวข้าพเจ้า เวลาเย็นๆ เมื่อข้าพเจ้าลงไปอาบน้ำที่ท่าน้ำ หลังจากพายเล่นจนเหนื่อยแล้วมักทําความสะอาดเช็ดถูตลอดลําเรือ ใส่กุญแจไว้ กับเสาสะพานให้เรียบร้อย ก่อนจากกันขึ้นบ้านข้าพเจ้าจะเหลียวหน้าเหลียวหลัง เหมือนจะสั่งเรือว่า

“จอดนอนอยู่ที่ท่าน้ำนี่ก่อนนะ พรุ่งนี้จะมาเล่นด้วยใหม่ อยู่คนเดียวอย่าร้องไห้ล่ะ นอนหลับซะทั้งคืนเลยก็แล้วกัน เมื่อไหร่ถึงหน้าแล้งเราจะช่วยกันหามเธอขึ้นมานอนใต้ถุนบ้าน ทีนี้ได้พักหลายเดือนเลย แต่เราก็จะมาเล่นพายเรือขายของบนบกที่ใต้ถุนบ้าน เธอจะได้ไม่เหงาไงล่ะ”

ความรู้สึกของข้าพเจ้าที่มีต่อสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ แม้แต่กับสัตว์เลี้ยงทุกชนิดเป็นอย่างนี้จริงๆ คือรู้สึกเหมือนเขาเป็นเพื่อนมีชีวิตเติบโตเป็นผู้ใหญ่แล้วก็ยังไม่หายสนิท ยังฝังอยู่ลึกๆ ในใจ เช่น มีรถยนต์ขับก็ให้นึกสงสาร เวลาจะจอดที่ใดก็มักต้องหาร่มไม้ ร่มตึกบังแสงแดดให้กลัวเขาจะร้อน คอยเอาใจใส่ดูแลเหมือนเพื่อนคนหนึ่งเหมือนกัน

ข้าพเจ้าบรรยายความหลังเรื่องเรือลํานี้ให้ท่านฟังเพื่อเป็นตัวอย่างให้เห็นว่า ทรัพย์สมบัติของใครก็ตาม คนที่เป็นเจ้าของจะรักใคร่ของเขาทั้งนั้น นอกจากรักแล้วยังอาจมีความรู้สึกผูกพันมากมายเหมือนความรู้สึกของข้าพเจ้าที่เล่าไว้นี้

แล้วท่านลองคิดดู วันหนึ่งตอนเช้าเมื่อข้าพเจ้าอุ้มขันข้าวไปที่ท่าน้ำ เพื่อรอใส่บาตรหลวงตาซึ่งพายเรือบดมาบิณฑบาตเป็นประจํา แล้วมองไม่เห็นเรือจอดอยู่ที่ท่าน้ำ ข้าพเจ้ารู้สึกตกตะลึง ยืนตัวแข็งไปชั่วครู่ ขันข้าวแทบหลุดหล่นจากมือ จ้องท่าน้ำ ตรงหัวสะพานที่โซ่เรือเคยคล้องอยู่ ตาเบิ่งโพลงไม่กะพริบ ทั้งเนื้อทั้งตัวรู้สึกหนาวจนเย็นชา ในใจร้องว่า “เรือหาย เรือหาย ถูกขโมย เพราะข้าพเจ้าเป็นคนแรกที่เปิดประตูรั่วบ้านออกมา พ่อกับแม่อยู่บนบ้าน พอได้สติก็หันหลังกลับวิ่งร้องไห้เข้าบ้านไปบอกท่านทั้งสอง ร้องเสียงดังลั่นบ้านไปหมด “โฮ โฮ โฮ” ไม่เป็นอันคิดจะใส่บาตรแล้ว หลวงตาท่านก็พายเรือมาเทียบท่าน้ำคอยอยู่ แม่ต้องไปใส่บาตรแทน ข้าพเจ้าทั้งร้องไห้ไปรําพันไป

“พ่อจ๋า เรือของเราหายไปแล้ว ขโมยใจร้ายมันเอาเรือของเราไป ฮือ ฮือ ฮือ ฮือ หนูไม่มีเรือพายเล่นอีกแล้ว ฮือ ฮือ เราจะไปบ้านใครๆ ได้ย...า...ง ง...า...ย ฮือ ฮือ”

แม่ใส่บาตรแล้วมากอดข้าพเจ้าไว้แน่น ท่านจะพูดปลอบอย่างไรบ้าง ข้าพเจ้าฟังไม่รู้เรื่อง รู้สึกเหมือนหัวใจถูกของหนักๆ บีบกดทับจนเจ็บปวด ในหน้าอกแน่นอึดอัดด้วยแรงสะอื้นฮักๆ ได้ยินเสียงพ่อพูดกับแม่ว่า

“พี่นึกอยู่แล้วไม่มีผิด หมู่บ้านของเราไม่เคยมีเรื่องเรือหายมาเลยหลายปีดีดัก ของในไร่ในกงบ้านใครก็ไม่เคยหาย นี่ไอ้กํานันมันให้พวกของมันติดบ่อนเถื่อนทางท้ายคลองโน่น นึกแล้วว่าพอพวกมันเสียการพนันกันเข้า ก็จะต้องออกหาลักเล็กขโมยน้อย สองสามวันมานี่ของในไร่หายกันจนกระทั่งมะพร้าว แล้วนี่เรือลําหนึ่งราคาตั้งชั่ง (๘๐ บาท) มันต้องเอาแน่”

“แหมพี่ เราเป็นครูของคนทั้งตําบลนะ สอนกันมาหลายปี สอนพวกมันด้วย สอนลูกมันด้วย ไม่น่าทํากะเรายังงี้เลย

เสียงแม่พูดไปพร้อมกับปลอบข้าพเจ้าซึ่งขณะนั้นร้องครางฮือๆ อย่างเดียว ไม่ดังแรงนัก เพราะอยากฟังท่านคุยกัน เพื่อรู้ตัวขโมย

“เธอไม่รู้อะไร คนเสียการพนันน่ะ มันหน้ามืด ความอยากได้เงินคืน หรือบางที่อยากได้เงินไปเล่นใหม่ มันไม่รู้ดีรู้ชั่ว ไม่รู้บุญรู้บาปหรอก ทําได้ทุกอย่าง อย่าว่าแต่ลักขโมยเลย จี้ปล้นมันก็เอา หรือกระทั่งขายลูกขายเมียก็ทําได้ เรื่องนี้มีมาแต่โบราณแล้ว บางทีเสียพนันกันถึงหมดบ้านหมดเมือง เรื่องคุณธรรม ความกตัญญรู้คุณ รึอะไรๆ อย่าพูดถึงเสียให้ยาก นี่มันบังอาจมาลูบลายเสือ มึงนึกรึว่ากูจะยอมมึง”

คําตอนท้ายนั้นพ่อปรารภกับตนเอง เสียงของพ่อดุดัน แววตากร้าวแข็ง ทําให้ข้าพเจ้ารู้ทันทีว่า การแก้แค้นจะเริ่มต้นขึ้นอีกแล้ว ในใจข้าพเจ้าเวลานั้นเห็นดีกับพ่อด้วยเพราะความเกลียดชังขโมย

ยิ่งพ่อเห็นข้าพเจ้าเหงาหงอยที่ไม่มีเรือพาย เห็นลูกนั่งมองเพื่อนๆ พายเรือของเขาแล้วทําตาแดงๆ พ่อก็ยิ่งสงสาร ครั้นจะไปซื้อเรือลําใหม่ให้ก็ไม่มีเงินพอ ราคาเรือเท่ากับเงินเดือนของพ่อแม่รวมกันถึง ๒ เดือน แต่ด้วยความรักลูก พ่ออุตส่าห์เจียดเงินที่เก็บไว้ไปซื้อเรือเป็ดท้องแบนมาให้ข้าพเจ้าลําหนึ่ง เป็นเรือเล็กนั่งได้แค่ ๒ คน กราบเรือก็ปริ่มน้ำเสียแล้ว ข้าพเจ้าไม่กล้าพายข้ามฟาก และไม่ใคร่นึกรักมันเหมือนลําที่หายไป ลําโน้นอยู่เป็นเพื่อนข้าพเจ้ามาตั้งแต่จําความได้ ลํานี้เพิ่งมาอยู่ยังไม่คุ้นเคย

อีกไม่กี่วันต่อมาข้าพเจ้าได้ยินพ่อพูดกับแม่ว่า

“พี่ให้ไอ้...ขี้เมามันไปสืบ มันแกล้งทําเป็นไปเล่นในบ่อนแล้วสืบได้ความมาแล้วว่า ก่อนเรือเราหายใครเล่นพนันเสียมาก ได้เค้าพอดี แหมมันน่าเจ็บใจไอ้คนข้างบ้านเรานี่เอง พูดคุยพึ่งพาอาศัยกันอยู่ทุกวันมันทำได้ มิน่าตอนเรือเราหาย มันหายหน้าไป ๒-๓ วัน เมียมันบอกว่ามันไปเยี่ยมญาติที่สวนโน่น (สวนหมายถึงท้องถิ่นย่านอําเภอทางปากแม่น้ำ ที่นั่นประชาชนมีอาชีพทําสวนผลไม้กันเป็นส่วนใหญ่) ที่แท้มันพายเรือของเรา เอาไปขายพร้อมเลย”

จากนั้นในวันโรงเรียนหยุด พ่อเดินทางไป “สวน” บ้าง เพราะท่านก็มีญาติสนิทอยู่ที่ท้องถิ่นนั้นหลายคน พ่อไปสืบจนได้ความแน่ชัดไม่ผิดตัว กลับมาบอกให้ข้าพเจ้าและแม่ฟัง

“คนรับซื้อเรือของเราไว้ มันเรียกค่าไถ่เหมือนราคาเรือซื้อใหม่ๆ จากโรงต่อเลย เอา ๒๐๐ บาทแน่ะ ราคาเรือทางสวนโน่นมันแพงกว่าบ้านเราถึง ๒-๓ เท่าตัวอยู่แล้ว พ่อจึงไม่ยอมซื้อคืน เราเอาเงินซื้อของใหม่ดีกว่า”

พ่อพูดตามเหตุผลที่ถูกต้อง แต่ข้าพเจ้ากลับรู้สึกตรงข้าม ข้าพเจ้าไม่นึกถึงเรื่องเรือใหม่มีคุณภาพดีกว่า ข้าพเจ้านึกถึงความเป็นเพื่อนเก่า ความคุ้นเคย ข้าพเจ้าจําได้หมดทุกอย่างในเรือลํานั้นที่หายไป ตรงไหนกระทงเรือบิ่น ตรงไหนชันที่ยาหลุดไป ข้าพเจ้าเอาดินเหนียวยาไว้แทน ซี่ไม้พื้นรองนั่งในเรือตรงไหนสีอะไร มีลายยังไง ตรงไหนดี ตรงไหนผุ

ถึงจะคิดถึงเรือเพื่อนเก่าเต็มที่แค่ไหน ข้าพเจ้าก็ไม่ร่ำร้องให้พ่อไปเอามันคืน จะกลายเป็นเด็กไม่มีเหตุผลไป

เวลาผ่านไปอีกไม่กี่วัน บ้านของเจ้าคนขโมยเรือ เริ่มขุดดินเป็นบ่อใหญ่เพื่อจะทําบ่อน้ำซึม จะได้ใช้กระป๋องตักน้ำขึ้นมาใช้ได้สะดวก ทั้งน้ำบ่อจะสะอาดกว่าน้ำแม่น้ำมาก เพราะซึมผ่านพื้นทรายมาหลายชั้น แต่การทําบ่อชนิดนี้สําหรับชีวิตชาวบ้านยุคโน้น ต้องเสียค่าท่อปูนซีเมนต์ใหญ่ๆ หลายท่อ เป็นเงินถึงร้อยบาทเศษ ทั่วทั้งหมู่บ้านมีเพียงบ้านข้าพเจ้าและบ้านลุงเหมือนผู้มีอันจะกินของหมู่บ้านเท่านั้น นอกจากนั้นมีฐานะไม่พอกระทํา ต้องหาบน้ำจากแม่น้ำมากินมาใช้กันทุกบ้าน

“ไอ้นี่มันรวยมาจากไหนกัน จึงจะมาทําบ่อน้ำ มันขายเรือเราได้เงินตั้ง ๒๐๐ บาท ใช้หนี้ไปไม่กี่ตําลึง เงินยังเหลืออีกแยะซีจึงมาคิดทําบ่อ ลําพังข้าวในนามันแค่ ๖ ไร่ ได้ข้าวไม่ถึงสองเกวียนเพราะปีนี้ฝนแล้ง ขายข้าวโดยไม่ต้องกินเลยทั้งปีก็ไม่พอทําบ่อ เสียงพ่อข้าพเจ้าพูดกับแม่

เย็นวันที่บ้านของขโมยมีการขุดดิน เวลาประมาณ ๕ โมงเย็น มีเรือแจวลําใหญ่แจวมาจอดที่ท่าน้ำบ้านนั้น เป็นเรือของร้านขายท่อปูนซีเมนต์ทําบ่อ คนงานขนท่อลงวางไว้ริมน้ำ จํานวนถึง ๑๔ ท่อใหญ่ๆ แล้วแจวกลับไป

ข้าพเจ้าสังเกตเห็นพ่อเดินขึ้นเดินลงที่ท่าน้ำหลายเที่ยว จึงตามออกไปดู มองไม่เห็นท่านทําอะไรนอกจากเดินไปมองท่อซีเมนต์กองนั้นแล้วกลับมา ท่านทําอยู่อย่างนี้จนมืดสนิทแล้วเรียกข้าพเจ้าไปกระซิบที่หูว่า

“พ่อได้โอกาสแก้แค้นไอ้คนขโมยเรือเราแล้วลูก เมื่อเย็นนี้มันไม่มีคนช่วยขนท่อเข้าบ้าน คืนนี้พ่อจะไปทุบให้มันแตกใช้การไม่ได้ทีเดียว แก้เผ็ดที่มันขโมยเรือเราไป ลูกต้องไปช่วยพ่อนะ”

ข้าพเจ้าฟังพ่อพูดแล้วตกใจมาก หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ ถึงจะเกลียดคนที่มาขโมยเรือสักแค่ไหน ก็ไม่ถึงกับคิดลงมือแก้แค้น อย่างมากก็พอใจถ้าเห็นคนเลวๆ มีเรื่องเดือดร้อน ให้เป็นการเดือดร้อนที่คนอื่นทํา กับเขา ไม่ใช่เราเป็นคนไปลงมือทําเสียเอง

“นี่พ่อบอกให้เราไปช่วยลงมือกะพ่อด้วย แย่จริงๆ เราไม่ชอบเลย รู้สึกว่าทํายังงี้มันไม่ถูกนะ” ข้าพเจ้าคิดอย่างนี้จริงๆ โดยที่ไม่เคยรู้ถึงคำสอนของพระบรมศาสดาที่ว่า เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร อยากจะห้ามพ่อ แต่ก็ไม่ทราบจะทําอย่างไร

ตกเวลากลางคืน เดือนมืดสนิท พ่อนุ่งกางเกงผ้าฝ้ายเนื้อหยาบ สีกรมท่าขาสั้น ไม่ใส่เสื้อ ใช้ผ้าขาวม้าพันรอบศีรษะ มือหนึ่งมีหัวขวานด้ามใหญ่ชนิดเอาไว้ใช้ผ่าฟืน อีกมือหนึ่งมีกระสอบขาดใบหนึ่ง พ่ออธิบายว่า

“พ่อจะเอาหัวขวานทุบท่อให้เป็นรูโหว่รูโตๆ แค่นั้นท่อก็เสียหมดแล้ว เพราะขืนเอาฝังดินทรายก็จะพากันไหลทะลักเข้าบ่อทางรูโหว่ บ่อก็จะตื้อใช้ไม่ได้ แต่ถ้าจะใช้ขวานทุบตรงๆ เสียงขวานกระทบท่อปูน อาจจะดังจนเจ้าของมันได้ยิน พ่อจะเอากระสอบเก่าๆ ผืนนี้รองที่ท่อ  แล้วจึงทุบไปบนกระสอบ เสียงก็จะไม่ดังมาก”

“ไป๊! ไปกันเถอะลูก ดึกมากแล้ว ใครๆ ก็นอนกันหมดทั้งหมู่บ้าน”

พ่อชวนพร้อมกับเดินนําหน้า ข้าพเจ้ารู้สึกกลัว หัวใจเต้นโครมคราม เสียงเหมือนจะดังตึ้กตั้ก ตึ้กตั้ก ออกมาข้างนอกอก แข็งใจเดินตามพ่อไปได้แค่ท่าน้ำบ้านของตนเอง ต่อจากนั้นข้าพเจ้าก็พูดกับพ่อว่า

“พ่อ หนูกลัว หนูไปไม่ได้แล้ว ขามันไม่ยอมก้าวเดินจ๊ะ”

ขาทั้งสองของข้าพเจ้าเป็นอย่างนั้นจริงๆ มันกลัวขนาดหนัก จนดูเหมือนมันเกร็งแข็ง ก้าวเดินไม่ออก

นี่เองอธิษฐานบารมีที่ข้าพเจ้าเคยกระทําไว้ในชาติปางก่อนตามมาปกปักรักษา ข้าพเจ้าได้เคยอธิษฐานไว้หลายประการ โดยเฉพาะเพื่อให้ได้มรรคผลนิพพาน แต่มีข้อความหนึ่งในชาตินี้คือ เมื่อได้พบ คุณยายแล้ว ก็ชอบอธิษฐานตามที่คุณยายสอนอยู่ประโยคหนึ่งที่ว่า

“เจ้าประคุณ ด้วยอํานาจบุญบารมีที่ข้าพเจ้าได้กระทําแล้วนี้ ขอให้ข้าพเจ้าได้บุญ ได้บารมี ได้รัศมี ได้กําลัง ได้ฤทธิ์ ได้อํานาจ ได้วาสนา ได้ดวงตาเห็นธรรม บรรลุมรรคผลนิพพาน ให้สิ้นอาสวกิเลส...ให้บริสุทธิ์ กายวาจาใจ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปจนกว่าจะถึงมรรคผลนิพพาน...ให้ทําแต่ความดีรุดหน้าฝ่ายเดียว ความชั่วแม้แต่น้อยนิดเดียวก็ไม่ให้ทํา...

คุณยายท่านว่า “เรื่องให้บริสุทธิ์กายวาจาใจนี่ต้องอธิษฐานเอาไว้ทุกครั้ง ไม่งั้นมันอาจเผลอทําผิดได้ พอพลั้งพลาดทําชั่วอะไรเข้าก็ต้องเสียเวลาใช้หนี้ ต้องอธิษฐานหนีความชั่ว ทําแต่ความดีเรื่อยไป”

ด้วยเหตุที่เคยอธิษฐานไว้อย่างนี้ คงจะนับชาติไม่ถ้วนมาแล้ว ดังนั้นข้าพเจ้าจึงสอนตนเองเป็นตั้งแต่จําความได้ว่า สิ่งใดควรทํา สิ่งใดควรเว้น ตัวอย่างเช่น แม่ให้ใส่บาตร ให้นําสิ่งของไปให้คนโน้นคนนี้ ให้ช่วยเหลือการงานของหมู่ญาติในวิสัยที่ตนทําได้ข้าพเจ้าไม่เคยขัด แต่ถ้าท่านให้ทําเรื่องบาปๆ แล้ว ข้าพเจ้าเป็นหาเรื่องแกล้งจนท่านต้องเลิกให้ทําสิ่งเหล่านี้ เป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นเอง ไม่ต้องมีใครมาชักชวนหรืออบรมสั่งสอน ถ้าไม่ใช่อธิษฐานบารมีตามคุ้มครอง ก็ไม่ทราบว่าเป็นสิ่งใด

เมื่อพ่อเห็นข้าพเจ้ากลัวมาก ท่านก็คงใจอ่อนสงสาร พูดว่า

“หนูไม่ไปกับพ่อก็ไม่เป็นไร คอยเฝ้าต้นทางให้พ่ออยู่บนตลิ่งนี้ก็แล้วกัน ถ้ามีใครบังเอิญเดินมาตามทางเดิน พอโผล่มาที่ริมรั้วโน้น ลูกก็เอาก้อนดินก้อนโตๆ แถวนี้โยนลงไปในน้ำโน่น มันจะดังจ๋อมเหมือนปลาโดดน้ำ พ่อได้ยินจะได้หยุดทุบ คอยระวังตัว ถ้าแค่นี้ทําได้มั้ยลูก”

“แค่นี้ทําได้จ้ะ” ข้าพเจ้ารับคําแล้วก็นั่งแอบอยู่ในพงหญ้าสูงท่วมหัวริมตลิ่ง

ข้าพเจ้านั่งใจหายใจคว่ำอยู่ตรงนั้น พ่อเดินจากไป ความจริงจากไปไม่เกิน ๒-๓ นาที แต่ความหวาดกลัวที่ต้องนั่งอยู่คนเดียวมืดสนิทเหมือนเวลาช่างนานเหลือจะกําหนด ไหนจะกลัวความมืด ความจริงคือกลัวผี ไหนจะกลัวสัตว์ร้ายโดยเฉพาะงู ไหนจะกลัวคนเดินมาตอนดึกๆ คือพวกนักเลงที่ชอบไปเที่ยวต่างถิ่น ยิ่งพอได้ยินเสียงพ่อทุบท่อดังมาเป็นจังหวะ ก็ยิ่งใจเต้นหนักขึ้นไปอีก เสียงดังโป๊ง โป๊ง ป้อก ป้อก เป็นจังหวะ แม้จะไม่ดังมาก แต่ก็สามารถได้ยินชัดเจนทีเดียว เสียงนั้นเหมือนมันตอกลงไปในหน้าอกของข้าพเจ้า ทําให้ทั้งเจ็บทั้งแน่นอึดอัด

เป็นเวลาพักใหญ่ซึ่งในความรู้สึกของข้าพเจ้านั้นเหมือนมันนานเป็นปีๆ เสียงทุบเงียบหายไป มีเงาคนตะคุ่มๆ เดินมา ข้าพเจ้ารีบปาก้อนดินลงไปในน้ำ ปาก้อนแล้วก้อนเล่ากว่าจะถึงน้ำ เพราะมือมัวแต่สั่นและไม่มีแรง

“ไม่ต้องปาก้อนดินแล้วลูก พ่อเอง เสร็จแล้ว” พ่อพูดเสียงเบาๆ ข้าพเจ้าดีอกดีใจรีบลุกพรวดพราดตามพ่อกลับบ้าน แม่ยังจุดตะเกียงนั่งคอยเราสองคนพ่อลูก เสียงพ่อรายงานให้แม่ฟัง

“ไม่มีเหลือ พี่ทุบมันหมดทุกใบเลย ที่นี้มันก็ใช้ได้แค่ปลูกต้นไม้เท่านั้น ทําบ่อน้ำไม่ได้แล้ว ให้มันต้องเอาปี๊บไปตักน้ำที่แม่น้ำขึ้นไปใช้จนตายเถอะ มันไม่มีสิทธิ์เอาเงินค่าขายเรือที่ขโมยจากเราไปทําบ่อหรอก”

ตอนเช้าข้าพเจ้าตื่นขึ้นด้วยได้ยินเสียงด่าเอ็ดตะโรของภรรยา และพี่สาวภรรยาของเจ้าขโมย เสียงของผู้หญิงสองคนนั้นเอ็ดอึงลั่นไปหมด จับความได้ว่าเป็นคําแช่งชักคนที่ไปทุบท่อ แต่ไม่ได้ยินเสียงของเจ้า คนขโมยเลยแม้แต่คําเดียว มันคงจะรู้ดีว่า ถูกแก้ลําอย่างหนักทันกัน ได้ยินเสียงเขาห้ามปรามภรรยาซึ่งไม่รู้เรื่องการขโมยเรือ เข้าใจว่าสามีได้เงินมาจากการเล่นพนัน

ภรรยาไม่ฟังเสียง กลับตะเบ็งเสียงทุ่มเถียงเอ็ดอึงหนักยิ่งขึ้น จนถึงพาพี่สาวไปนิมนต์พระภิกษุที่วัดมา ๔ รูป มาทําพิธีบังสุกุล ข้าพเจ้าเห็นเหตุการณ์รู้สึกใจเสีย

“นี่เขานิมนต์พระมาแช่งเรากระมัง” ข้าพเจ้ากลัว เพราะถือว่าพระเป็นผู้มีบุญมาก เดี๋ยวคําสาปแช่งจะเป็นจริง จึงวิ่งไปบอกพ่อ พ่อของข้าพเจ้าหัวเราะอย่างอารมณ์ดี ปลอบว่า

“พระไม่ได้มาแช่งเราหรอกลูก คนเขานิมนต์ท่านมาท่านก็มา คําสวดของพระมีแต่ถ้อยคําดีๆ เป็นสิริมงคลทั้งนั้น เช่น เวลาชักบังสุกุล ก็สวดว่า อะนิจจา วะตะ สังขารา อุปปาทะวะยะธัมมิโน อุปปัชชิตตะวา นิรุชฌันติ เตสัง วูปะสะโม สุโข แปลว่า สังขารทั้งหลาย ไม่เที่ยงแท้หนอ มีความเกิดขึ้นและเสื่อมไปเป็นธรรมดา เกิดขึ้นแล้วย่อมดับไป ความสงบระงับสังขารทั้งหลายเหล่านั้นเสียได้เป็นความสุข”

แล้วพ่อก็อธิบายให้เป็นภาษาง่ายๆ ที่ข้าพเจ้าฟังรู้เรื่องว่าคนเราเกิดมาแล้วก็ต้องตาย เวลาตายแล้วก็มีความสุข ข้าพเจ้าฟังพ่ออธิบายแล้วก็เข้าใจ ไม่ใช่เรื่องสาปแช่งอะไร

“ท่านมาเอาสตางค์ที่เขาถวายน่ะ ไม่ได้แช่งเราซักหน่อย”

ข้าพเจ้าบอกตัวเองดังนี้ เพราะเห็นผู้หญิงปากจัดสองคนนั่น ถวายเงินพระภิกษุทั้ง ๔ รูป ก่อนท่านจะเดินกลับวัด

ต่อมาไม่ทราบว่าจะเป็นด้วยหวาดกลัวที่พ่อรู้ตัวคนขโมยเรือหรือเปล่าก็ไม่ทราบ คนขโมยเรือคนนั้นหนีออกจากบ้านละทิ้งครอบครัวไปอยู่ที่อื่นระยะหนึ่ง แล้วบวชเป็นพระภิกษุจนตายในผ้าเหลือง เรียกว่า
กลัวถูกแก้แค้นจนได้บวช ก็ดีเหมือนกัน

ข้าพเจ้าเล่าตัวอย่างจริงๆ เรื่องอทินนาทานที่ข้าพเจ้าอยู่ในเหตุการณ์ด้วยให้ท่านฟัง ให้ท่านเห็นโทษเห็นทุกข์ของคนที่ทําชั่วทําบาปด้วย ให้ท่านใช้สติปัญญาพิจารณาเหตุการณ์ในเรื่องที่เล่าไว้นี้ด้วยว่า สิ่งใดควรทํา สิ่งใดควรเว้น

พฤติกรรมการแก้แค้น แก้เผ็ดอย่างเช่นพ่อของข้าพเจ้า ที่ทําไปแล้วนั้น ไม่ใช่มีเพียงแค่นี้ มีร้ายๆ กว่านี้อีกหลายเรื่อง ไม่ได้เล่าไว้ ท่านไม่ควรนึกเห็นดีเห็นงามตามไปด้วยเลยเป็นอันขาด จริงอยู่มันดูสาสมต่อความชั่วของคนทําชั่ว และดูสะใจดีในชาติปัจจุบันนี้ เพราะเห็นผลกรรมตามทันเร็วดี ทําชั่วเสร็จรอไม่กี่วันก็ได้รับผลทันที

แต่ผลร้ายที่สุดที่เกิดตามมาก็คือ “การจองเวร” และ “การผูกเวร” ซึ่งจะไม่เกิดขึ้นเฉพาะชาตินี้ แต่จะต่อเนื่องไปนับภพชาติไม่ถ้วน จะต้องไปล้างผลาญกันไม่มีที่สิ้นสุด ตรงข้ามถ้าเราไม่จองเวร ไม่คิดแก้แค้น ให้อโหสิกรรมต่อคนทําชั่ว เราจะไปเกิดในที่ใดๆ ก็ปราศจากศัตรูหมู่เวรภัย สําหรับคนทําชั่วต่อเรานั้น แม้เราไม่คิดจองเวรตอบ พวกเขาก็ต้องรับผลกรรมของเขาอยู่ดี ต้องมีอันเป็นไปด้วยเหตุเภทภัยต่างๆ ตัวอย่างเช่น ถ้าเราผูกเวรว่าคนนี้ขโมยของเราไป เราต้องแก้แค้นเอาคืน เมื่อเราทำสําเร็จ ทรัพย์สมบัติของขโมยก็พินาศเพราะเรา เราเองอาจถูกบ้านเมืองลงโทษ แต่ถ้าเราให้อภัยทาน เราก็ไม่ได้รับอันตราย อยู่เย็นเป็นสุข ส่วนคนขี้ขโมยคนนั้น เมื่อผลกรรมตามทัน กรรมก็อาจบันดาลให้เกิดอุบัติเหตุเภทภัย เช่น น้ำท่วม ไฟไหม้ เรือล่ม ฯลฯ ให้ทรัพย์สมบัติเขาวิบัติย่อยยับโดยไม่มีผู้ใดไปลงมือกระทํา

เขาทําร้ายร่างกายเรา เราไม่จองเวรด้วย เราก็อยู่อย่างปลอดภัย ส่วนผู้ทําร้ายเรา เวลากรรมให้ผล เขาก็อาจได้รับอันตรายโดยไม่มีใครทําอีกเหมือนกัน เช่น ให้บังเอิญไม้โค่นทับ ตนเองขับรถตกถนน ฟ้าผ่า ฯลฯ อะไรๆ เหล่านี้เป็นต้น เราจึงไม่ควรเอาตัวเข้าไปเสี่ยงในการจองเวร ยิ่งเราเป็นคนดีมีคุณธรรม ให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา เป็นคนกระทําแต่คุณงามความดี ใครมาทําชั่ว ทําผิดด้วย น้ำหนักของกรรมยิ่งมากเป็นพิเศษ มักเห็นผลกรรมทันตาเห็น

เรื่องการไม่จองเวร คือเราให้อภัยคนทําผิดไปแล้ว แต่คนทําผิด ทําไมยังต้องรับกรรมนั้น ข้าพเจ้าขอยกตัวอย่างดังนี้ เช่นมีคนทําร้ายเรา เราแจ้งให้ตํารวจทราบแล้วว่าเราไม่เอาความ คือไม่เรียกค่าเสียหายอะไรๆ ก็จริง แต่ตํารวจก็ยังต้องจับคนทําผิดนั้นไปให้ศาลตัดสินลงโทษในคดีอื่นๆ ได้ เช่น ทําให้สะเทือนขวัญประชาชน เป็นภัยต่อสังคม ฯลฯ เรียกว่าหนีไม่พ้นโทษกรรมก็ในทํานองเดียวกัน

ผลกรรมของอทินนาทานจะหนักเบาต่างกัน ขึ้นอยู่กับ
๑. คุณธรรมของผู้ที่เราไปทําผิดด้วย
๒. จํานวนทรัพย์สินที่เราเอามาโดยทุจริตกรรมนั้น
๓. ความพยายามนั้นรุนแรงมากน้อยเพียงใด
๔. ทําความเดือดร้อนให้ส่วนบุคคลหรือส่วนรวม

การกระทํา ๔ ข้อ ที่ทําให้น้ำหนักของกรรมหนักเบาต่างกัน คือ

ข้อ ๑. ถ้าทําผิดต่อคนมีศีลมีธรรม เช่น คนถือศีล พระภิกษุ สามเณร มีบาปหนักกว่าคนที่ไม่มีศีลอื่นๆ ยกเว้นบิดามารดาท่านจะมีศีลหรือไม่ก็ตาม ถือเป็นผู้มีคุณเทียบเท่าพระอรหันต์สําหรับลูก ทําผิดด้วยมีโทษหนัก

ข้อ ๒. จํานวนทรัพย์ ต้องถือเอาความรู้สึกของเจ้าของเป็นเกณฑ์ เงิน ๑๐ บาทของคนจนอาจมีค่าเท่ากับเงินจํานวนพันจํานวนหมื่นของเศรษฐี ต้องดูว่าเจ้าของเดือดร้อนมากหรือน้อยเป็นสําคัญ และต้องคำนึงถึงทั้งสองด้าน คือเดือดร้อนทั้งทางกายและทางใจ

ข้อ ๓. เรื่องความพยายาม ถ้าเก็บตกได้ หยิบเอาเวลาเผลอก็ยังบาปน้อยกว่าขู่เข็ญ จี้ปล้น ทําร้ายร่างกายซ้ำเติม

ข้อ ๔ ถ้าทรัพย์สิ่งของนั้นเป็นของสาธารณประโยชน์ เช่น ไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ ศาลา สถานพยาบาล เหล่านี้เป็นของใช้สําหรับส่วนรวม ผลบาปก็ต้องหนักกว่าเอาของเอกชนไปเพียงรายเดียว

ข้าพเจ้าคุยเรื่องศีลข้อสองนี้มาให้ท่านฟังเนิ่นนานพอสมควร จุดประสงค์เพื่อเชิญชวนท่านรักษาศีลข้อนี้กัน หรือถ้าท่านรักษาอยู่แล้วก็ช่วยชักชวนคนอื่นๆ ที่อยู่ในวิสัยชวนได้ให้ช่วยกันรักษา ถ้าผู้คนนิยมรักษากันแพร่หลายเท่าไร สังคมของเราก็อยู่เย็นเป็นสุขยิ่งขึ้นเท่านั้น ถ้ารักษากันได้ทุกคน เราก็ไม่ต้องเสียเงินสร้างเครื่องป้องกันที่อยู่ เช่น ติตประตูเหล็ก ใส่ลูกกรงหน้าต่าง สร้างกําแพงเหมือนขังตัวเองอยู่ในคุก ดังที่เราเห็นกันอยู่ทุกวันนี้ เอาเงินนั้นมาทําประโยชน์ให้เป็นทานบารมี ติดตัวเราข้ามภพข้ามชาติจะดีกว่า
 
 
ชื่อเรื่องเดิม ล้างเเค้นโจรขโมยเรือ
Cr. อุบาสิกาถวิล(บุญทรง) วัติรางกูล
จากความทรงจำ เล่ม2 
 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.027905531724294 Mins