ลืมสัญญา
ถัดจากเรื่องเวทนา ก็เป็นเรื่องสัญญา สังขาร และวิญญาณรวมเป็น ๕ อย่าง (รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ) ทางธรรมเรียกของ ๕ อย่างรวมกันว่า ขันธ์ ๕ (ขันธ์แปลว่ากอง) ขันธ์ ๕ ถ้าจะย่อให้สั้นเหลือเพียง ๒ คือ กายและใจ กายคือรูปขันธ์ ส่วนใจคืออีก ๔ ขันธ์ที่เหลือ
ขันธ์ที่ ๓ ที่เรียกว่าสัญญา แปลว่า การกําหนดหมายและความจำได้หมายรู้
หมายรู้เอาไว้ว่านี่รูป เสียง กลิ่น รส การสัมผัสถูกต้องทางกายและอารมณ์ที่เกิดขึ้นทางใจว่า สีเขียว ขาว ดํา แดง เสียงดัง ค่อย เสียงคน เสียงสัตว์ กลิ่นกุหลาบ กลิ่นทุเรียน รสเปรี้ยว ฯลฯ
ส่วนจําได้ คือเมื่อเคยหมายรู้ไว้แล้ว พอพบสิ่งเหล่านั้นอีก ก็จดจำสิ่งเหล่านั้นว่าเป็นอย่างนั้นๆ เหมือนเป็นเครื่องหมายเป็นที่สังเกตความสำคัญ ของที่เคยพบไว้แต่เดิมกับของที่พบใหม่ให้มีความสําคัญต่อเนื่องกัน ผู้ใดมีปัญญาดีย่อมทําให้เป็นผู้มีสติและปัญญาดีตามไปด้วยโดยปริยาย
ส่วนคําว่าสัญญาในภาษาไทยที่ใช้กันอยู่ ไม่แปลเหมือนภาษาทางธรรม แต่แปลว่า ข้อตกลงหรือคํามั่น ซึ่งเป็นคนละความหมายกัน
เรื่องสัญญาคือความจําอะไรๆ ได้นั้น คนปกติอย่างเราๆ มีกันอยู่ทุกคน แต่จําได้แม่นมากหรือน้อยเป็นลักษณะเฉพาะตัวของแต่ละคน อย่างไรก็ตาม สัญญาก็เหมือนกับขันธ์ชนิดอื่นๆ คือแปรปรวนเสื่อมสลายได้ ใครจําอะไรไม่แม่น หลงๆ ลืมๆ เราก็เรียกว่า คนหลง เช่น คนแก่มีอายุมากๆ บางคนจําอะไรไม่ได้ พอจําได้อยู่บ้างก็เป็นคนที่อยู่ใกล้ตัว ส่วนคนที่เลิกจําอะไรโดยสิ้นเชิง เราเรียกว่าเป็นคนสัญญาวิปลาส เป็นคนบ้า บางทีก็เรียกคนสติวิปลาส คือสัญญายังพอมีแต่ไม่รู้อะไรควรไม่ควร ขาดสติ
ครั้งหนึ่งเป็นปีพ.ศ. ๒๕๐๘ ข้าพเจ้าเพิ่งคลอดลูกชายคนเล็กได้ไม่นาน ได้ให้ลูกกินนมของตนเอง จึงไม่ใคร่ออกไปธุระนอกบ้าน กลับจากการทํางานก็จะรีบมาเลี้ยงลูก ข้าพเจ้าได้สั่งให้หญิงชาวสวนคนหนึ่งซึ่งทําสวนผลไม้และดอกไม้อยู่ไม่ห่างจากบ้านข้าพเจ้านัก นําผลไม้ที่สวนของเขามาขายให้ข้าพเจ้าที่บ้านบ่อยๆ ข้าพเจ้าจะได้ไม่ต้องเดินไปซื้อที่ตลาดให้เสียเวลา
วันหนึ่ง หญิงผู้นั้นนํากล้วยหอม มะละกอ และชมพู่มาขายข้าพเจ้าเหมือนเช่นเคย พร้อมทั้งบ่นเรื่องแม่ของสามีให้ข้าพเจ้าฟังว่า
“พี่ พี่ ชั้นจะทํายังไงดีเนี่ย ตอนนี้อาม้าที่บ้านแกหลงไม่รู้เรื่องซะแล้ว ขี้ออกมาบนที่นอนนั่นแหละแล้วก็เอามือขยำเล่นสนุกไปเลยไปโม้ด...มุ้งหมอนที่นอนเปื้อนเปรอะเลอะเทอะเหม็นหึ่งไปหมด ต้องซักกันไม่เว้นแต่ละวัน”อาม้าหรือยายที่สตรีนั้นกล่าวถึงมีอายุประมาณ ๘๐ ปี
เวลานั้นข้าพเจ้ายังไม่มีความรู้เรื่องศาสนามากนัก จึงรู้สึกสงสัยเป็นกําลังว่า คนเราหลงลืมได้อย่างไร ประกอบกับหญิงชราอาม้าเป็นคนที่ข้าพเจ้าเคยคุยด้วยทุกครั้งที่ไปซื้อของในสวน จึงได้เดินไปเยี่ยมและสนทนาไต่ถามเรื่องราว
“อาม้าจ๋า... จําหนูได้มั้ยคะ หนูมาเยี่ยมค่ะ”
“ฮ่อ ฮ่อ อั๊วะจํา...ล่าย... อาคุง...อา...จาง...งาย... (คุณอาจารย์)”
ข้าพเจ้าเห็นหญิงชราจําได้ ก็คุยถามเรื่องสุขภาพร่างกายและเรื่องอาหารการกินก็ได้รับคําตอบด้วยดี แต่พอข้าพเจ้าถามถึงเรื่องการเอามือขยำอุจจาระเล่น อาม้าก็ชี้แจงว่า
“ม่...า...ย ช่...า...ย น่อ อั๊วะไม่ไล่ คาหยำอึนา...มันเป็นตัวกา...ป๊อ...นา มังขึ้นมาบงที่นอนอั๊วะ ตัวมันนิ่งๆ อุ่งๆ อั๊วะก็ชอบจักเล่นน่อ...” (ไม่ใช่นะ ฉันไม่ได้ขยำอุจจาระ มันเป็นตัวอึ่งอ่างขึ้นมาบนที่นอน ตัวมันนิ่มๆ อุ่นๆ ฉันก็ชอบจับเล่นนะ)
ท่านผู้เฒ่าก็เถียงข้าพเจ้าไปเสียอีกเรื่องหนึ่งอย่างนั้น ข้าพเจ้าพลอยเห็นใจว่า คนแก่ สายตามองเห็นอะไรไม่ชัดเจน ก็มองเห็นก้อนอุจจาระเป็นตัวอึ่งอ่าง เมื่อจําได้ว่าอึ่งอ่าง ตัวของมันนิ่ม จึงได้จับขยำเสียเต็มมือ
การยึดถือในความจําได้หมายรู้ ยึดสิ่งใดเป็นเหตุให้ความทุกข์เกิดได้เสมอ เช่นจําได้ว่านี่เป็นเงินทองข้าวของทรัพย์สมบัติของเรา ใจก็ยึดถือผูกพัน เกิความหวงแหนทําให้ต้องเป็นทุกข์เพราะการดูแลรักษา หรือแม้จำได้ว่าเป็นสิ่งมีค่าอยากได้ ก็ต้องเป็นทุกข์ด้วยการแสวงหา ดูเอาเถิด ชีวิตของเราทุกคนทุกวันนี้ เพราะจำได้ว่าสิ่งนี้ดีควรมี สิ่งนั้นไม่ดีไม่ควรมี แล้วก็ต้องพยายามหามาหรือกําจัดออกไม่รู้จบ
ความจําหรือสัญญานั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นและดํารงอยู่ก็จริง แต่ก็ไม่ถาวรตลอดไป ไม่ช้าก็เร็วจะต้องแปรปรวนเสื่อมสลาย ใครยึดถือ เอาเป็นจริงจังก็จะต้องไม่สบายใจ ไม่ว่าสัญญานั้นจะเป็นของตน ของคนอื่น สัญญาอย่างดี สัญญาอย่างเลว เกิดขึ้นแล้วในอดีต ปัจจุบันหรือที่จะเกิดต่อไปในอนาคต
ครั้งเมื่อข้าพเจ้าทํางานอยู่ในกระทรวงศึกษาธิการใหม่ๆปี พ.ศ.๒๕๐๔ มีเพื่อนสตรีทํางานร่วมกันผู้หนึ่ง ดูเหมือนจะชื่ออรศรี เช้าวันหนึ่งเธอมาทํางานด้วยใบหน้าซูบซีดอิดโรย ดวงตาแดงช้ำ ลักษณะของคนอดนอน ข้าพเจ้าถามสาเหตุก็ได้รับคําตอบว่า
“โธ่...อดนอนมาหลายคืนเต็มที ก็...ยายของชั้นนะซิ ทำไมหลงลืมใหญ่โตก็ไม่รู้ คอยแต่วิ่งหนีอยู่เรื่อย ร้องโวยวายว่ามีคนมาไล่จับตัว เอ้า... พอมีลูกหลานมานั่งล้อมหน้าล้อมหลัง อาการหวาดกลัวค่อยยังชั่ว แต่เอาเรื่องอื่นมาพูดใหม่ อย่างเมื่อเย็นวานชั้นกลับไปถึงบ้านเท่านั้น ยายก็เรียกลั่นบ้านให้เอาปลาช่อนตัวโต ๒ ตัว ไปแกงให้กินทีเถิด
พอชั้นเข้าไปหา ถามว่าปลาอยู่ที่ไหน ยายก็งัดเอานมยานสองข้างออกมา บอกว่า นี่ไง...ปลาช่อนตัวโตอยู่นี่ เอาไปที...ชั้นบอกว่าไม่ใช่ปลา นั่นมันนมของยาย ยายก็เถียงใหญ่ ด่าเอาด้วยซิ ด่าไปด่ามาก็ลุกขึ้นวิ่งหนี บอกว่ามีคนจะจับตัวอีกแล้ว วิ่งเข้าไปแอบอยู่ในที่เก็บถ่าน (สมัยโน้นยังไม่มีแก๊สใช้) กว่าจะไปเอาตัวออกมาได้ ตัวเลอะเทอะดำปิ๊ดปี๋ ต้องอาบน้ำฟอกสบู่กันโกลาหล เหนื่อยจัง...”
เวลานั้นข้าพเจ้ายังไม่สนใจหลักธรรมของศาสนา จึงไม่เข้าใจภาพนิมิตของคนใกล้ตาย ก็ไม่ทราบจะให้คําแนะนําแก่เพื่อนอย่างไร ได้แต่แสดงความเสียใจด้วยที่ยายของเขาลืมความจํา
Cr. อุบาสิกาถวิล(บุญทรง) วัติรางกูล
จากความทรงจำ เล่ม๔