.....พระอัญญาโกณฑัญญะเถระ เป็นบุตรของพราหมณ์มหาศาล ณ หมู่บ้านพราหมณ์ชื่อว่า “ โทณวัตถุ” อยู่ใกล้กับกรุงกบิลพัสดุ์ เดิมท่านมีชื่อว่า “ โกณฑัญญะ” เมื่อเจริญวัยขึ้นได้ศึกษาจนจบไตรเพท พร้อมทั้งเรียนรู้ลักษณะมนต์ ได้แก่ วิชาทำนายลักษณะ หรือในสมัยนี้เรียกว่า วิชานรลักษณ์ จนมีความเชี่ยวชาญ
ครั้นพระสิทธัตถะกุมารประสูติได้ ๕ วัน พระเจ้าสุทโธทนมหาราชตรัสสั่งให้เชิญพราหมณ์จำนวน ๑๐๘ คน เพื่อเลี้ยงข้าวมธุปายาสที่มีน้ำน้อยในพระราชนิเวศน์ ในวันทำนายลักษณะและขนานพระนามพระโอรสตามราชประเพณี พอเลี้ยงอาหารแล้วได้เลือกพราหมณ์ที่มีความรู้ความสามารถในการดูลักษณะ จากพราหมณ์ทั้งหมดนั้นเพียง ๘ คน ให้ได้รับเกียรติเป็นผู้ทำนายลักษณะของพระโพธิสัตว์ราชกุมาร
ในจำนวนพราหมณ์ ๘ คน ที่ได้ถูกคัดเลือกไว้แล้ว มีโกณฑัญญะพราหมณ์ร่วมอยู่ด้วย ซึ่งอายุน้อยที่สุดในหมู่พราหมณ์ทั้งหมด เมื่อคัดเลือกพราหมณ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงตกแต่งพระราชโอรสให้บรรทมบนเชิดผ้าทุกูลพัสตร์ แล้วอัญเชิญออกมาเพื่อให้พราหมณ์ทั้ง ๘ คน ได้พิจารณาดูลักษณะ และทำนายว่า ดี หรือ ร้าย อย่างไร
พราหมณ์ทั้ง ๗ คน ตรวจดูลักษณะของมหาบุรุษแล้วต่างชูนิ้วขึ้น ๒ นิ้วเหมือนกันหมด โดยทำนายว่าพระราชโอรสจะมีคติ ๒ ประการ คือ ถ้าอยู่เสวยพระราชสมบัติจักได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ แต่ถ้าเสด็จออกบรรพชาจักได้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ส่วนโกณฑัญญะพราหมณ์ พิจารณาพระลักษณะอันประเสริฐอย่างถี่ถ้วนแล้ว เห็นมีลักษณะมหาบุรุษครบถ้วนทุกประการ และพิจารณาสถานที่ประสูติว่าเป็นนิมิตหมายแห่งการบรรพชา ประกอบกับท่านโกณฑัญญะพราหมณ์ได้สร้างสมบุญบารมีมาเต็มเปี่ยมแล้ว ช่วยให้มีปัญญาพิจารณาเห็นคติของพระราชโอรส จึงยกนิ้วขึ้นเพียงนิ้วเดียว แล้วทูลทำนายว่า
“ พระลักษณะอันประเสริฐเช่นนี้ ไม่ใช่ลักษณะของผู้อยู่ครองเรือน พระราชกุมารจักเสด็จออกบรรพชาเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างแน่นอน” และคำนายนี้ก็ไม่มีพราหมณ์คนใดคนหนึ่งคัดค้าน เมื่อพราหมณ์ทั้งหลายกลับไปถึงบ้านของตนแล้ว ได้สั่งบุตรไว้ว่า “ ลูกเอ๋ย พ่อแก่มากแล้ว จักไม่ทันได้ชมพระราชโอรสของพระเจ้าสุทโธทนมหาราช ผู้จักสำเร็จพระสัพพัญญุตญาณ ฉะนั้น เมื่อพระราชกุมารนั้นสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว พวกเจ้าจงบวชในศาสนธรรมของพระองค์เถิด”
ฝ่ายพระเจ้าสุทโธทนมหาราช ทรงสดับคำทำนายเช่นนั้นแล้วจึงทรงเลี้ยงดูพระราชกุมารเป็นอย่างดี
มีปราสาท ๓ ฤดู มีหมู่นางสนมกำนัลเคยปฏิบัติบำรุงบำเรอ ทั้งนี้เพราะพระราชบิดาทรงมุ่งหวังให้พระราชโอรสได้เสวยราชสมบัติเป็น พระเจ้าจักรพรรดิ แต่เมื่อพระปรีชาญาณของพระสิทธัตถะแก่กล้าขึ้น ได้ทรงเห็นโทษในกามารมณ์ ทรงเห็นอานิสงส์ในการออกบวช ทำให้ในวันที่พระราหุลกุมารประสูติ ทรงตัดสินพระทัยเสด็จออกทรงผนวช โดยมีนายฉันนะ คนรับใช้เป็นผู้ติดตาม ทรงม้ากัณฐกะบ่ายหน้าออกจากประตูพระราชวังไป เสด็จล่วงเลยพระราชอาณาจักรมาถึง ๓ ประเทศ ได้เวลาเพียงราตรีเดียวเท่านั้น แล้วทรงบรรพชา ณ ริมฝั่งแม่น้ำ อโนมานที เมื่อทรงรับธงชัยของพระอรหันต์ที่ฆฎิการพราหมณ์นำมาถวายแล้ว ดูเหมือนพระเถระผู้มีพรรษาตั้ง ๑๐๐ แล้วเสด็จไปสู่กรุงราชคฤห์ด้วยพระอิริยาบถอันน่าเลื่อมใส
เสด็จจาริกบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์นั้น และไปเสวยบิณฑบาตที่เงื้อมภูเขาปัณฑวะ พระเจ้าพิมพิสาร กษัตริย์แห่งแคว้นมคธ ทรงทราบเสด็จไปเชื้อเชิญให้เสวยราชสมบัติ แต่พระองค์ทรงปฏิเสธแล้วเสด็จต่อไปยังตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ทรงพอพระทัยในภูมิประเทศนั้นว่า “ สมควรเป็นที่กระทำความเพียร” จึงทรงพักอยู่ ณ ที่นั้น ในครั้งนั้น พราหมณ์ทั้ง ๗ คน ยกเว้นท่านโกณฑัญญะพราหมณ์ ได้ตายไปตามกรรมของตน ส่วนท่านโกณฑัญญะ ได้ติดตามข่าวพระมหาบุรุษมาโดยตลอด ได้ทราบว่าเสด็จออกบรรพชาแล้ว จึงไปหาบุตรของพราหมณ์เหล่านั้น ชักชวนไปติดตามหาพระบรมศาสดาด้วยกัน เพื่อขอบวชในสำนักของพระพุทธองค์
บุตรของพวกพราหมณ์ทั้ง ๗ คนนั้น ไม่อาจที่จะทำความเห็นให้ตรงกันได้ ไม่ยอมออกบรรพชาเสีย ๓ คน ส่วนอีก ๔ คน คือ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และอัสสชิ ยินดีที่จะเดินทางร่วมกับท่านโกณฑัญญะ เพื่อตามหาพระบรมศาสดา แล้วทูลขอบวชในครั้งนี้
ปัญญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ออกเดินทางตามหาพระมหาบุรุษจนกระทั่งพบในที่สุด และขออนุญาตอุปัฏฐากบำรุงพระพุทธองค์จนกว่าจะบรรลุธรรม เมื่อพระพุทธองค์ทรงอนุญาติ ปัญญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ได้ตั้งใจอุปัฏฐากบำรุงอย่างดียิ่ง ตลอดระยะเวลา ๖ พรรษา ที่พระพุทธองค์ทรงปรารภความเพียร บำเพ็ญทุกกรกิริยา เช่นเสวยอาหารลดลงเรื่อยๆ จนเหลือเท่าเมล็ดงา จึงทรงเห็นว่าการทรมานตนไม่ใช่หนทางแห่งการหลุดพ้น จึงทรงเลิกเสีย แล้วกลับมาเสวยพระกระยาหารตามปกติ
เป็นเหตุให้พระปัญจวัคคีย์ เข้าใจผิดว่าพระพุทธองค์ทรงคลายความเพียรเวียนมาเป็นผู้มักมากเสียแล้ว จึงหมดความเลื่อมใส พากันละทิ้งพระมหาบุรุษไปอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี ครั้งนั้น พระมหาบุรุษเสวยพระกระยาหารตามปกติ ทำให้พระวรกายสมบูรณ์ขึ้น จนกระทั่งสุขภาพแข็งแรงดี แล้วได้เสวยข้าวมธุปายาสในถาดทองคำของนางสุชาดาที่ได้ถวายในวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ เรียกว่า “ วิสาขปุรณมี” ทรงบำเพ็ญเพียรภาวนาใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์จนบรรลุพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ณ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม